- Details
- Category: กกต.
- Published: Sunday, 05 August 2018 11:46
- Hits: 4850
ที่ประชุม กกต.ลงมติเลือก อิทธิพร บุญประคอง นั่งประธานฯคนใหม่
รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมากเลือก นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดำรงตำแหน่งประธาน กกต.คนใหม่ ภายหลังใช้เวลาหารือเกือบ 1ชั่วโมง
หลังจากนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะนำผลการเลือกประธาน กกต.ส่งไปให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบ เพื่อดำเนินการนำรายชื่อ กกต.และประธาน กกต.ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ด้านนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า กระบวนการการเลือกประธาน กกต. เป็นไปโดยการลงคะแนนลับ โดยให้สิทธิว่าที่ กกต.ทุกคนเขียนรายชื่อบุคคลที่ตนเองต้องการให้ดำรงตำแหน่งประธาน กกต. ลงบนบัตรออกเสียง
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่รับทราบว่านายอิทธิพร ได้รับเลือกเป็นประธาน กกต.แล้ว ว่าที่ กกต.ได้หารือกันถึงแนวทางการทำงานร่วมกันจากนี้อีก 7 ปี รวมถึงการจัดการเลือกตั้งที่ต้องรับบทบาทหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อรับทราบผลดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ทำลายบัตรออกเสียง สำหรับขั้นตอนต่อไปจะทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำรายชื่อ ประธาน กกต. และ กกต.ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
รายงานข่าว ระบุว่า เหตุผลที่นายอิทธิพรได้รับเลือกเป็นประธาน กกต.เนื่องจากนายอิทธิพร มีอายุเพียง 62 ปี สามารถดำรงตำแหน่งประธาน กกต.จนครบวาระ 7 ปี ต่างกับ กกต.คนอื่นที่จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ครบวาระ 7 ปี เนื่องจากจะมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ก่อน ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อายุ 65 ปี หรือนายธวัชชัย เทอดเผ่าไท อายุ 66 ปี
อินโฟเควสท์
ประวัติ อิทธิพร บุญประคอง’แหกโผนั่งประธานคนใหม่
ว่าที่ประธานกกต. อิทธิพร บุญประคอง ได้รับเลือกเนื่องจากเคยเป็นอดีตทูตทำหน้าที่สำคัญในต่างประเทศมามาก จะช่วยสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศได้ดี
ตามที่ ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. 5 คน ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้การประชุมกันเอง เพื่อเลือก “ประธาน กกต.” โดยประะานคนใหม่ อยู่นอกเหนือจากโผที่มีการเก็งไว้ก่อนหน้านี้
ว่าที่กกต.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย
นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นายอิทธิพร บุญประคอง อดัตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
สำหรับ ตัวเต็ง ประธานกกต. ขณะนี้มี 2 รายชื่อ คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จากสายศาลฎีกา กับ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย จากสายสรรหา
โดย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จบการศึกษาจากนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2519 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปี 2519 มีประสบการณ์การทำงานเป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2551- ก.ย.2554 เป็น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.ย.2556 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตั้งแต่เดือน ต.ค.2556-ก.ย.2558 และเป็น ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558-ก.ย. 2560 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ก่อนเป็น ว่าที่กกต.
ส่วน นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปี 2518 จบปริญญาโทจากคณะการเมืองเปรียบเทียบและการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ปี 2522 มีประสบการณ์การทำงานเป็นผู้ว่าราชการหลายจังหวัด สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ตั้งแต่ปี 2558-2560 และกรรมการองค์กรการตลาดกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2559-2560 เป็นข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย และเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนเป็น ว่าที่กกต.
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกกันเองของว่าที่ กกต.5 คน กลับเลือก’อิทธิพร บุญประคอง’ ซึ่งไม่อยู่ในโผมาก่อน เป็นประธานเหนือความคาดหมาย ซึ่งการเลือก เป็นการประชุมลับ และเลือกโดยวิธีการลับ โดยว่าที่กกต.คนที่มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งการเลือก ‘อิทธิพร’ เนื่องจากจบกฎหมายมาจากต่างประเทศ มีความรู้เรื่องกฎหมาย และมาจากอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมมองว่า จะประสานได้กับทุกฝ่าย รวมถึงการต่างประเทศที่อาจจะต้องทำความเข้าใจในการเลือกตั้ง ที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร
สำหรับ นายอิทธิพร บุญประคอง เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2499 จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2522 นิติศาสตร์มหาบัณฑิต Tulane สหรัฐอเมริกา ปี 2527
รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาตลอด เคยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รองตัวแทนของประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุธิธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ปี 2553 เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ในปี 2555 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทยในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนเข้ารับการเลือกตั้งของไทย ในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปี 2559
Thaiquote คิดล้ำ นำเทรนด์