- Details
- Category: กกต.
- Published: Saturday, 03 March 2018 23:27
- Hits: 12371
กกต.ย้ำพรรคการเมืองจะลงสมัครเลือกตั้ง ปี 62 ต้องยื่นจดภายใน มี.ค.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง การจดแจ้งขอจัดตั้งพรรคเมืองใหม่วันแรก เมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีกลุ่มการเมืองที่สนใจ 42 กลุ่ม หลังจากนี้ กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติ รายชื่อผู้ที่มาขอจดแจ้งพรรคการเมือง คาดว่าจะใช้เวลา 30 วัน ซึ่งกลุ่มการเมืองที่ต้องการจดแจ้งพรรค สามารถเดินทางมาจดแจ้ง โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่หากกลุ่มการเมืองใดต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งที่จะถึง จะต้องยื่นจดแจ้งพรรคการเมืองภายในเดือนมีนาคมนี้ เพราะต้องใช้เวลา 180 วัน ในการจัดหาสมาชิกพรรคและทุนประเดิมพรรค
"ขณะที่พรรคการเมืองใดมีความพร้อมที่จะประชุมสมาชิกพรรค หรือทำกิจกรรมในพรรค จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ผ่านทาง กกต. และต้องแจ้งความจำนง 6 ข้อที่จะต้องปฏิบัติ คือ ทำกิจกรรมอะไรบ้าง มีเหตุผลใด จัดประชุมเมื่อใด สถานที่ใด จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดประชุม โดยจะต้องทำเอกสารขออนุญาตล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 20 วัน" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่กังวลหากมีบางพรรคการเมืองต้องการเงินสนับสนุนจากกองทุนพรรคการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากกฎหมายใหม่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกในการจัดตั้ง 500 คน รวมทั้งมีทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่ากฎหมายฉบับเก่า และจะต้องมีกิจรรมทางการเมือง จะต้องหาสมาชิกเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต่างจากเดิมที่บางพรรคมีถึง 500 คน หรือบางพรรคมีสมาชิก 6-10 คน แต่ไม่เคยมีความเคลื่อนไหวหรือกิจกรรม ก็สามารถได้รับเงินสนับสนุนพรรคการเมือง
ส่วนที่บางกลุ่มการเมืองเปิดตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ไม่ได้ผิดกติกา ซึ่งสุดท้ายในการเสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา จะมีพรรคการเมืองเดียวที่จะสามารถเสนอชื่อได้อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันในวันที่ 28 มีนาคมนี้ กกต. จะเชิญพรรคการเมืองเดิม 69 พรรค มาประชุมเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ ก่อนที่พรรคการเมืองจะเริ่มดำเนินการเรื่องสมาชิกพรรค ในวันที่ 1 เมษายน ตามคำสั่งคสช. ที่ 53/2560
พรรคใหม่แห่เข้าขอจัดตั้งกับ กกต.วันแรก สมชัยแนะรีบยื่นก่อนสิ้น มี.ค.ให้ทันพรรคเก่าเริ่มกิจกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันทำการแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้มีจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ปรากฏว่าบรรดากลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเดินทางมายื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคเป็นจำนวนมาก อาทิ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน พรรคประชาชาติ พรรคชาวนาไทย พรรคพัฒนาไทย พรรคเครือข่ายประชาชนไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยเอกภาพ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคสหประชาไทย พรรคทางเลือกใหม่ พรรคชาติพันธุ์ไทย พรรครักษ์แผ่นดินไทย พรรคแผ่นดินธรรม พรรคเพื่อชาติไทย พรรคกรีน พรรคประชานิยม พรรคพลังสยาม พรรคสยามธิปัตย์ พรรคของประชาชน พรรคพลังอีสาน พรรครวมใจไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชามติ และพรรคพลังไทยยุคใหม่
ทั้งนี้ หากดำเนินการตามขี่นตอนในวันนี้ครบถ้วนแล้วจะสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 180 วัน และเมื่อผ่านกระบวนการนี้กลุ่มบุคคลที่แสดงความจำนงจะตั้งพรรคการเมืองจะต้องไปหาสมาชิกและเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองให้ครบตามเงื่อนไข จากนั้นต้องขออนุญาตกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขออนุญาตประชุมพรรคการเมือง เพื่อจัดทำรายละเอียดต่างๆ รวมถึงข้อบังคับพรรคตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงจะสามารถกลับมาจดทะเบียนพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการตอ่ไป
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคเมืองใหม่ที่มาจดจัดตั้งพรรคในวันนี้สะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมือง แต่ยังไม่แน่ว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ครบทั้งหมดหรือไม่ เนื่องจากยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน ทั้งการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน ซึ่งสมาชิกต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินทุนประเดิมพรรครวม 1 ล้านบาท และต้องจัดการประชุมพรรค ซึ่งจะต้องขออนุญาต คสช.ผ่าน กกต. โดยจะต้องระบุ วัน เวลา สถานที่ และกิจกรรมที่จะดำเนินการ รวมถึงจำนวนผู้ร่วมประชุมและผู้รับผิดชอบในการประชุม จากนั้น กกต.จะนำส่งไปยัง คสช. ซึ่งเสนอให้เผื่อเวลา 20 วัน เพื่อให้ทันตามกรอบเวลา
"การจดจองชื่อและเครื่องหมายพรรค จะเปิดให้ดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดเวลา แต่หากพรรคการเมืองใด มีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนก.พ.62 ก็ควรรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อให้ทันต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองเก่าที่จะเริ่มหาสมาชิก 1 เม.ย.นี้"
ทั้งนี้ นายสมชาย ได้เตือนให้กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มเคลื่อนไหวในกรอบของกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย มีเพียงการสร้างสีสันให้คนจดจำพรรคได้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ พรรคเพื่อชาติไทยของนางอัมพาพันธ์ ธนเดชสุนทร อดีตภรรยาของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เดินทางมายื่นเอกสารขอจัดตั้งพรรคพร้อมด้วยกองเชียร์สวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนรูปของนางอัมพาพันธ์ พร้อมข้อความ"ย่ายุ้ย อำพาพันธ์"เพื่อชาติไทย ส่วนด้านหลังเสื้อสกรีนรูปภาพหน้าของนักการเมืองที่ขัดแย้ง เช่น นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. มาสร้างสีสัน ส่วนกลุ่มการเมืองอื่นก็มีการขนกองเชียร์มาชูป้ายและช่อดอกไม้อย่างคึกคัก
สำหรับ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งถูกจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากนายธานี เทือกสุบรรณ ระบุว่าจะเดินทางมาจดแจ้งขอตั้งพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ปรากฎว่ายังไม่เดินทางมาแต่อย่างใด ส่วนพรรคพลังพลเมืองไทยของนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ได้เดินทางมาพร้อมกับนายเอกพร รักความสุข และคณะผู้ร่วมจัดตั้ง
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้กำชับให้สำนักงาน กกต. อำนวยความสะดวกให้กับผู้มายื่นจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองอย่างเต็มที่ รวมถึงขอให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย และคำสั่งคสช.อย่างเคร่งครัด ซึ่งภายหลังจากที่พรรคการเมืองใหม่มายื่นจดแจ้งชื่อพรรคแล้ว ทางกกต.จะตรวจสอบเอกสารที่นำมาซึ่งบางเรื่องทาง กกต. ต้องขอให้หน่วยงานอื่นช่วยตรวจสอบ เช่น เรื่องล้มละลาย หรือต้องคำพิพากษาหรือไม่ โดยต้องไปสอบถามที่ศาลล้มละลาย หรือถามสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กกต. สรุป 42 พรรคยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่วันแรก ประธานกกต.พอใจภาพรวม
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังเดินทางมาตรวจสอบความเรียบร้อยใน
การเปิดให้มีการยื่นคำขอจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นวันแรกว่า พอใจในภาพรวมของการดำเนินการ หลังมีกลุ่มการเมืองเดินทางมายื่น
ลำดับที่ ชื่อพรรคการเมือง ผู้ยื่นคำขอ
1 พรรคพลังชาติไทย นางกิ่งฟ้า อรพันธ์
2 พรรคประชาไทย นายบุญยงค์ จันทร์แสง
3 พรรคพลังประชารัฐ นายชวน ชูจันทร์
4 พรรคประชาชนปฏิรูป นายธนพัฒน์ สุขเกษม
5 พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ
6 พรรคประชาชาติ นายสุรพล นาควานิช
7 พรรคชาวนาไทย นายสัมฤทธิ์ แก้วทน
8 พรรคพัฒนาไทย นายโสภณวิชญ์ สีมาสกุลชัย
9 พรรคเครือข่ายประชาชนไทย นายธนานินทร์ ชะฎาแก้ว
10 พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายสุภดิช อากาศฤกษ์
11 พรรคพลังพลเมืองไทย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัติ
12 พรรคพลังธรรมใหม่ นพ.ระวี มาศฉมาดล
13 พรรคไทยเอกภาพ นายโสรัจจ์ ดาศรี
14 พรรคประชาภิวัฒน์ พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมพลี
15 พรรคสหประชาไทย นายสพันธ์นัณ เยี่ยมเมธากร
16 พรรคทางเลือกใหม่ นายราเชน ตระกูลเวียง
17 พรรคชาติพันธุ์ไทย นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์
18 พรรครักษ์แผ่นดินไทย นายวิริยะ ช่วยบำรุง
19 พรรคแผ่นดินธรรม นายกรณ์ มีดี
20 พรรคเพื่อชาติไทย ว่าที่พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
21 พรรคกรีน นายพงศา ชูแนม
22 พรรคประชานิยม นางสาวภิญญาดา ไพรัช
23 พรรคพลังสยาม นายวิษณุ อินทรพยุง
24 พรรคสยามธิปัตย์ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล
25 พรรคของประชาชน นายสุรวัชร สังขฤกษ์
26 พรรคพลังอีสาน นายทนงศักดิ์ วงศ์ณรัตน์
27 พรรครวมใจไทย นายนพดล อมรเวช
28 พรรคไทยศรีวิไลย์ นายมงคล สุขสินธารานนท์
29 พรรคประชามติ นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย
30 พรรคพลังไทยยุคใหม่ นายมนัส คงสะอาด
31 พรรคไทยรุ่งเรือง นายฉัตรชัย แนวพญา
32 พรรคเพื่อสตรีไทย นางสาวรวิภา กองแก้ว
33 พรรครากแก้วไทย นายรักษิต ศักดิ์ผิวฝาด
34 พรรคน้ำใจไทย นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ
35 พรรคไทยเสรีประชาธิปไตย นายมณฑล บุญวรรณ
36 พรรคคนสร้างชาติ นายล้วน นามสอน
37 พรรครวมไทยใหม่ นายบุญสวยโสภณ สกุลกิจเจริญชัย
38 พรรคสามัญชน นายปธานิน กล่อมเอี้ยง
39 พรรคสยามไทยแลนด์ นายสยามบารมี บารมีสยาม
40 พรรคปฎิรูปประเทศไทย นายนันธวัฒน์ ปรารภกุล
41 พรรคเห็นแก่ตัว นายกริช ตรรกบุตร
42 พรรคภาคีเครือข่ายไทย นายกิตติศักดิ์ กุนอก
อินโฟเควสท์