- Details
- Category: ประชาธิปัตต์
- Published: Tuesday, 29 July 2014 15:29
- Hits: 13362
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8644 ข่าวสดรายวัน
ศาลนัด 28 สค. ชี้คดี 99 ศพ เป็นอำนาจสอบ ของปปช.หรือไม่
เลื่อนชี้ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพระสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางมา ขึ้นศาลอาญาในคดี 99 ศพ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ก่อนศาลสั่งเลื่อนวินิจฉัยข้อกฎหมาย ว่าจะให้โอนคดีไปยังป.ป.ช.หรือไม่ในวันที่ 28 ส.ค. |
ศาลอาญานัดชี้ 28 ส.ค. ดีเอสไอมีอำนาจสอบ"อภิสิทธิ์ -สุเทพ"คดี 99 ศพหรือไม่ หลัง อดีตนายกฯกับอดีตผอ.ศอฉ.อ้างเป็นอำนาจป.ป.ช. ทนายความญาติผู้เสียชีวิตปี 53 ชี้ตามหลักกฎหมาย เรื่องที่ร้องป.ป.ช. ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับการทุจริต แต่คดีที่สั่งฟ้องมาร์ค-เทือกเป็นข้อหาฆาตกรรม เผยมาร์คมาขึ้นศาลตามนัด ขณะที่เทือกห่มเหลืองเป็นพระมาตามนัดเช่นกัน
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 28 ก.ค.ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ศาลนัดพร้อมสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และคดีหมายเลขดำที่ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์เดินทางมาศาลตามนัด ขณะที่พระสุเทพอยู่ระหว่างบวชเป็นภิกษุก็เดินทางมาศาลตามนัดเช่นกัน โดยพระสุเทพกล่าวก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า ขณะนี้สบายดี จิตใจสงบขึ้น แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะลาสิกขาเมื่อใด ส่วนจะลาสิกขาหลังออกพรรษาหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ อีกครั้ง
ต่อมาเวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์สอบคำให้การตามคำฟ้องกับพระสุเทพ แต่พระสุเทพให้การปฏิเสธ ส่วนที่อัยการยื่นคำร้องขอให้อนุญาตรวมพิจารณาคดีของนายอภิสิทธิ์กับพระสุเทพเป็นคดีเดียวกันนั้น ศาลเห็นว่าคดีของนายอภิสิทธิ์และพระสุเทพมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว จึงอนุญาตให้รวมสำนวนเป็นสำนวนเดียวกัน โดยให้สำนวนของนายอภิสิทธิ์เป็นสำนวนคดีหลัก มีนายอภิสิทธิ์เป็นจำเลยที่ 1 และพระสุเทพเป็นจำเลยที่ 2
พร้อมกันนี้ พระสุเทพยื่นคำร้องคัดค้านว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน เช่นเดียวกับคำร้องของนายอภิสิทธิ์ที่ยื่นก่อนหน้านี้ แต่ฝ่ายโจทก์ขอคัดค้าน ศาลเห็นว่าต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ จึงนัดชี้และตรวจพยานหลักฐานวันที่ 28 ส.ค. เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้น นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพเดินทางกลับทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 กล่าวว่า กรณีพระสุเทพยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนตามรูปคดีคิดว่าจำเลยคงจะยื่นอยู่แล้ว เพราะพระสุเทพเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกับนายอภิสิทธิ์ แต่อัยการแยกฟ้องภายหลัง เนื่องจากพระสุเทพมอบตัวทีหลัง สำหรับคดีที่เกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องก็ได้ แต่คาดว่าฝ่ายจำเลยจะโยงว่าการสอบสวนไม่ชอบ โดยอ้างว่าอำนาจสอบสวนอยู่ที่ป.ป.ช.
นายโชคชัย กล่าวต่อว่า ตามข้อเท็จจริงในหลักกฎหมาย เรื่องที่ยื่นร้องป.ป.ช. ต้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับการทุจริต ตามมาตรา 157 แต่คดีที่อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และพระสุเทพ ตามสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอเป็นข้อหาฆาตกรรม เพราะการฆาตกรรมไม่ใช่หน้าที่ของนายอภิสิทธิ์หรือพระสุเทพ ไม่ว่าคุณจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดก็ไม่ควรสั่งการให้เกิดการฆ่าคนตาย เช่นเดียวกับกรณีของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม คดีอัลรูไวลี่ ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สำนวนก็มาจากพนักงานสอบสวนและส่งฟ้องศาลอาญา
"ในคำฟ้องของอัยการระบุตอนหนึ่งว่า การสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริงและกระสุนจริงหรือการอนุญาตให้ใช้พลซุ่มยิง ถือเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักสากล ซึ่งเล็งเห็นผลจากการสั่งปฏิบัติ หรือหากไม่ประสงค์ต่อผลว่าจะให้ใครตาย แต่การสั่งการดังกล่าวทำให้เกิดการตายขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีเจตนา 2 อย่าง คือ จุดประสงค์ต่อผล และเล็งเห็นผล ส่วนตัวเชื่อว่า พยานหลักฐานคดีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ทั้งคำสั่งในสำนวนการไต่สวนหลายสำนวน ข้อเท็จจริงจากการสืบพยาน การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน่าที่และการสั่งการ และมั่นใจว่าอัยการมีอำนาจฟ้องคดีนี้ และดีเอสไอมีอำนาจสอบสวน แต่หากศาลมีคำสั่งว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน คงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อไป" ทนายความญาติ ผู้เสียชีวิตกล่าว
วันเดียวกันนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า อนุมัติให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่จำนวน 22 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังชาย 20 คน ผู้ต้องขังหญิง 2 คน กลับไปควบคุมยังเรือนจำตามภูมิลำเนาตามที่นาย สรสิทธิ์ จงเจริญ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เสนอ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องขังในเรือนจำดังกล่าว เป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลและมีกำหนดโทษชัดเจนแล้ว ส่วนใหญ่ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน เพราะก่อคดีที่มีโทษสูง เช่น วางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัด หรือเผาสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมพิสูจน์แล้วว่า ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่เป็นผู้ต้องขังคดีอาญาทั่วไป นอกจากนี้เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ใช้คุมขังผู้ต้องขังจำนวนน้อยมาก แต่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจ โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบาท ในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงอนุมัติให้ย้ายได้ ส่วนสถานที่เดิมจะปิดการใช้งานเนื่องจากขณะนี้ไม่มี ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาล
รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันนี้เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทยอยย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำภูมิลำเนาแล้วล็อตแรก 6 คน ที่เหลืออีก 16 คนจะทยอยย้ายให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้
ยืดวัน"พระเทือก"แจงบุกก.คลัง
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคำร้องที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร อายุ 64 ปี เลขาธิการ กปปส. ขอขยายเวลายื่นคำให้การต่อสู้คดีหมายเลขดำ 4844/2556 ที่กระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพเป็นจำเลย เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2556 เรื่องขับไล่ที่ พร้อมเรียก ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่บุกเข้าไปในพื้นที่กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง 536,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายอีกเดือนละ 500,000 บาท หากพวกจำเลยไม่ออกจากพื้นที่
ศาลพิเคราะห์ตามคำไต่สวนของโจทก์ ประกอบเอกสารและคำซักค้าน ได้ความว่าเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำหมายเรียกสำเนาคำฟ้องไปปิดที่พักจำเลย ที่บ้านเลขที่ 1/1 ม.2 ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวแต่พักอยู่ที่กรุงเทพฯและไม่มีผู้ใดแจ้งให้จำเลยทราบว่าถูกฟ้อง พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายใน 15 วันนับจากวันนี้ และเลื่อนนัดชี้ 2 สถานหรือนัดตรวจพยานหลักฐาน เป็นวันที่ 29 ก.ย.เวลา 13.30 น.
นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทนายความของพระสุเทพ กล่าวภายหลังว่า คดีนี้ทนายความได้เตรียมคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรปฏิเสธข้อกล่าวหาไว้แล้วว่าพระสุเทพไม่ได้ละเมิดนำมวลชนไปบุกยึดกระทรวงการคลังตามที่ฟ้อง แต่รายละเอียดในคำให้การต้องตรวจสอบอีกครั้ง ศาลนัดชี้สองสถานในวันที่ 29 ก.ย.