วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8676 ข่าวสดรายวัน


บิ๊กโด่ง-ผบ.ทบ. ทูลเกล้า โผทหาร-ครม.ด้วย '
บิ๊กต๊อก'มว.ยุติธรรม 'อดุลย์'คุมพัฒนาสังคม'คสช.'เร่งเงินเดือนขรก. คาดทันจ่าย-งวด 1 ตุลาฯ จ้อนชิงสปช.ไม่สนปชป.


ลงตัว - พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ซ้าย) มีชื่อได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นผบ.ทบ. ขณะที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ขวา) คู่ชิง ไปนั่งเก้าอี้รมว.ยุติธรรม โดยทั้งบัญชีโยกย้ายทหารและรายชื่อครม. นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว เมื่อวันที่ 29 ส.ค.

       ทูลเกล้าฯแล้วทั้งรายชื่อคณะรัฐมนตรี-บัญชีแต่งตั้งโยก ย้ายนายพลทหาร 'บิ๊กโด่ง'นั่งผบ.ทบ.ไม่มีพลิก ส่วน'บิ๊กต๊อก'นั่งรมว.ยุติธรรม'พล.ต.อ.อดุลย์'ดูแลกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ขรก.ลุ้นขึ้นเงินเดือน 7 เปอร์เซ็นต์ทันงวดวันที่ 1 ต.ค.เผย คสช.สั่งปรับลดงบฯ หน่วยงานราชการกว่า 400 แห่ง ลุ้นให้ได้เงิน 4 หมื่นล้านนำมาเกลี่ยให้'บิ๊กตู่'วอนชาวสวนยางอย่าออกมาเคลื่อนไหว ระบุปัญหาเกิดจากหลายปัจจัย แนะลดต้นทุนการผลิต อย่าวิจารณ์ทหารเข้ามาเป็นรัฐมนตรีมากหรือน้อย เนื่องจากต้องดูแลเรื่องความมั่นคง พร้อมแนะกำลังพลอย่าดูละครมาก เพราะทำให้คนทะเลาะกัน จี้ผู้จัดใส่เนื้อหาประวัติศาสตร์จูงใจให้คนรักชาติมากๆ

 

บิ๊กตู่ทำบุญเปิดใช้บก.ทบ.ครบ 28 ปี
      เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 29 ส.ค. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผบ.ทบ. เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 83 รูป เนื่องในโอกาสครบรอบวันเปิดใช้กองบัญชาการกองทัพบก 28 ปี มีคณะนายทหารระดับสูงของทบ. อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผบ.ทบ. พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก และกำลังพลของกองทัพบกเข้าร่วมอย่างคึกคัก ขาดเพียงพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. เนื่องจากติดภารกิจ พร้อมกันนี้ยังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบบก.ทบ. มาเข้าพบเพื่อมอบของที่ระลึกและให้กำลังใจพล.อ.ประยุทธ์ด้วย 
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณและอวยพรให้ทุกคนมีความสุขและความเจริญด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดใสและอารมณ์ดี พร้อมมอบพระพุทธเมตตาเสนานาถ ที่กองทัพบกจัดสร้างขึ้นและย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกัน และถ่ายภาพหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึก
     จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลข้าราชการดีเด่นประจำหน่วยแก่กำลังพลของกองทัพบกด้วย โดยกล่าวให้โอวาทขอบคุณกำลังพลทุกระดับที่ทำงานให้กองทัพบกด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้ตลอด 105 ปีของกองทัพบก มีความยั่งยืน ประวัติศาสตร์ที่ดี มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และต้องมีการลงโทษหากพบผู้กระทำผิด ดังนั้นอยากให้ทุกคนประพฤติดี และให้ทุกหน่วยร่วมกันทำงานเพราะถือเป็นกองทัพบก ขอให้ภูมิใจทำงานเพื่อรับใช้ชาติ ทำเพื่อประชาชน และต้องเป็นแบบอย่างความเข้มแข็ง ความสามัคคี ตลอดจนความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เตือนกำลังพลอย่าดูละครกันมาก
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้กำลังพลเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้สึกภูมิใจในความเป็นชาติไทยที่มีทั้งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีมายาวนาน เป็นเอกลักษณ์ที่ต่างชาติได้รู้จัก และขอชื่นชมกำลังพลที่ได้รับรางวัลที่มีความมุ่งมั่นเป็นทหารที่ดี ลูกน้องที่ดีและ ผู้บังคับบัญชาที่ดี ขอให้รักษาความดีเอาไว้ และร่วมช่วยกันทำให้เกิดสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับกองทัพบก
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเริ่มต้นรับราชการก็มาจากโรงเรียนเตรียมทหาร จนมาถึง จปร. ก็ใช้สถานที่แห่งนี้ศึกษาเล่าเรียน มีความรักและผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มาตลอด ซึ่งสถานที่ทรุดโทรมไปมาก อยากให้กำลังพลช่วยกันดูแลให้เป็นเหมือนบ้าน ตนต้องเกษียณจากสถานที่แห่งนี้ไปก็รู้สึกใจหายและอาลัย นอกจากเรียนที่นี้และกลับเข้ามาทำงานที่นี้ 6 ปี ตั้งแต่เป็นเสนาธิการทหารบก จนมาถึงผบ.ทบ.
      "ทุกวันนี้ที่ทำก็ทำเพื่อประเทศชาติ ตอนนี้ยอมรับว่าทหารทุกคนเหนื่อยมาก แต่เราจะต้องทำเพื่อประเทศชาติ การแก้ไขปัญหาของประเทศ ถ้าเราทำไม่สำเร็จก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นผบ.ทบ.จะพยายามทำให้เต็มที่และขอให้ทหารทุกคนปฏิบัติตัวให้ดี เป็นแบบอย่างให้กับประชาชน อย่าท้อ อย่าเหนื่อย ผบ.ทบ.ยังเป็นผบ.ทบ.คนเดิม ไม่ว่าจะก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 หรือหลังวันที่ 22 พ.ค.2557 ผบ.ทบ.ก็ยังคงเป็นพล.อ.ประยุทธ์ อยู่เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือที่ใด กำลังพลอย่าเพิ่งเบื่อรายการคืนความสุขให้คนในชาติ อาจดูละครดึกหน่อย อย่าไปดูละครกันมาก ละครไทยมีแต่เรื่องทะเลาะกัน อยากให้สอดแทรกประวัติศาสตร์ และความรักชาติ เข้าไปด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หนุนเอสเอ็มอีผลักดันเศรษฐกิจ
      ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น.พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ครั้งที่ 2/2557 โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดประชุมว่า การปรับปรุงและพัฒนาเอสเอ็มอีมีความสำคัญ ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่เป็นห่วงโซ่สัมพันกับธุรกิจเอสเอ็มอี จึงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกัน ซึ่งการส่งเสริมเอสเอ็มอีจะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในด้วยกันเอง แต่ปัญหาขณะนี้ยังพบว่าบางธุรกิจไม่ทราบว่าตนเองมีสถานะเป็นเอสเอ็มอีหรือไม่ จึงต้องสร้างความเข้าใจประชาชนและส่งเสริมแหล่งเงินทุน เพื่อให้สัดส่วนระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ กับธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเหมาะสม ทั้งนี้ ต้องปรับปรุงและพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีไปให้ได้ 
       พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมขอให้ติดตามฟังรายการคืนความสุขให้คนในชาติทุกคืนวันศุกร์ เพราะจะมีความคืบหน้าและสั่งการในเรื่องต่างๆ ไปด้วย รวมทั้งต้องการให้ประชาชนและข้าราชการได้ปรับตัวเข้าหากัน

ปีติสูงสุดในชีวิต-ได้เป็นนายกฯ
      เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ตนดำรงตำแหน่งนายกฯ ตนรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น นับเป็นเกียรติยศอันสูงสุดในชีวิตและวงศ์ตระกูล ตนตระหนักดีถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ขอขอบคุณสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชนที่ให้การสนับสนุนอย่างดี และมอบความไว้วางใจให้ตนบริหารประเทศต่อไป ขอบคุณแรงสนับสนุนต่างๆ ตนยินดีรับภาระ ทำทุกอย่างให้ประเทศก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน 
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากนี้ตนต้องรับผิดชอบนำประเทศและประชาชนให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ร่วมกันพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของทุกคนในชาติต่อไปในระยะที่ 2 ซึ่งการบริหารประเทศทุกด้าน ในบทบาทของรัฐบาล นายกฯ ครม. ควบคู่กับการขับเคลื่อนงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องการความรวดเร็วโดยคสช. ต้องหารือในการปฏิบัติและวิธีการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องระวังการก้าวล่วงกัน แต่ต้องตรวจสอบและถ่วงดุลกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สุจริตและยุติธรรม ขอให้ทุกคนอย่ากังวลกับตัวบุคคลให้มากนัก วันนี้เราต้องสร้างทุกระบบให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านการทุจริตให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะในระบบข้าราชการ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

เร่งรัดสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
      นายกฯ กล่าวว่า เราต้องทำให้ฝ่ายการเมืองมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ จะได้ร่วมกันนำประเทศชาติสู่อนาคต ซึ่งปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญหน้ามีปัญหาสะสมสำคัญมาก ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว แต่บางเรื่องเราได้แก้ปัญหาบางส่วนไปแล้ว ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวการณ์ของโลกด้วย ทั้งนี้ เราสำรวจพบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับ ปานกลาง มีจุดด้อยที่สำคัญในด้านระบบราชการ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ระบบการศึกษา กฎหมาย และกระบวนการที่ยังเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของ นักธุรกิจต่างชาติ จากศักยภาพเราในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีกกว่า 12 ปี เพื่อก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เข้าสู่ประเทศรายได้สูง ขณะที่เพื่อนบ้านบางประเทศจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูงด้วยเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น ซึ่งเราต้องเร่งรัด
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล วันนี้ยังไม่จบ มีปัญหาทับซ้อนมาก ยืนยันคสช.ไม่ต้องการผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้ใคร มันติดขัดข้อปัญหาบางประการ วันนี้เราพยายามใช้กฎ ใช้อำนาจ คสช. ที่ผ่านมาเห็นว่าช้าเพราะต้องตั้งคณะกรรมการใหม่ ตั้งผู้บริหารใหม่ นำเข้าที่ประชุม ตนพยายามให้เข้าในระบบให้มากที่สุด หากใช้อำนาจไปแล้วผิดขึ้นมาก็เดือดร้อนอีก วันนี้ค่อยๆ แก้ทีละปัญหา วันนี้เพิ่มโควตาให้ ทำสีแยกแยะให้ชัดเจน แต่ต้องมีคนเดือดร้อนแน่นอนเพราะเคยตัวกันมานาน เราต้องมีกติกากันบ้าง ต้องอดทนวันนี้ เดี๋ยววันหน้าต้องดีแน่นอน วันนี้ถ้าเรากำลังปรับแล้วมาบอกไม่ได้ ไม่จบแล้วใครจะแก้ได้ ไม่มีใครแก้ได้ ขอร้องร่วมมือกันทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้ให้เช่าสถานที่ขายสลาก มี 2 อย่าง อันหนึ่งขายได้ 80 บาท อันหนึ่งจำเป็นต้องขายเกิน 80 บาท ตนไม่อยากระบุราคาเดี๋ยวเป็นเรื่องอีก เขามีกติกาออกมาแล้วไปดูกันเอง

แนะลดต้นทุนผลิตยาง-อย่างเร่งรัด
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาราคายางว่า เราพยายามแก้ปัญหามาตั้งแต่ต้น พร้อมผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ แต่เรื่องเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง วันนี้อยากให้มองในภาพใหญ่ด้วย ไม่ใช่มองในพื้นที่อย่างเดียว ราคายางต้องเท่านี้เท่านั้นมันเป็นไปได้ยาก เกษตรกรต้องลดต้นทุนให้ได้ เมื่อลดต้นทุนได้จะสอดคล้องกับราคาในปัจจุบัน ซึ่งวันนี้มีการแข่งขันมากขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น การรับซื้อของพ่อค้ายางในพื้นที่ก็กดราคา ต่างประเทศก็รอเก็บสต๊อกไว้และรอเมื่อไรราคาตกต่ำ ดังนั้น เราต้องแก้ปัญหาด้วยการลดต้นทุนการผลิต ลดพื้นที่การผลิต ให้ปริมาณยางลดลง เราผลิตได้มากที่สุดในโลกขยายพื้นที่ไปสิบกว่าล้านไร่ ซึ่งเกินความจำเป็นและขายไม่ได้ ซึ่งราคาตลาดขึ้นกับปริมาณยางที่มีอยู่ทั้งโลก ทุกประเทศรู้ว่าเรามียางมากเดี๋ยวราคาก็ตก เราประท้วงกันเองอีกแล้วจะไปแก้กันตรงไหน ดังนั้น ทำอย่างไรให้ราคาไม่ตกหรือต้นทุนลดลง ต้องดูตรงนั้นและหาทางว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรอย่างยั่งยืน ลดพื้นที่หรือไม่ จะปลูกอะไรแทน ทุกเรื่องเราก็รู้ปัญหาอยู่ จึงควรช่วยกันคิดในภาพใหญ่ เราจะได้แก้ปัญหาได้
      นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการจำหน่ายยาง คณะกรรมการกำลังพิจารณาอยู่ ไม่ใช่ไม่ขาย เราต้องดูตลาดโลก ดูตลาดในอาเซียน และเราต้องร่วมมือกับต่างประเทศด้วย ถ้าเขาแข่งกับเราต่อไป ราคาเราก็ตกอย่างนี้ ฉะนั้น ต้องช่วยกัน "อย่าเพิ่งมาเดินขบวนเลย และถ้าเราต้องอุดหนุนราคาและปีหน้าก็เอาอีก เป็นแบบนี้ทุกปี อย่างอื่นก็ไปไม่ได้ ขยับไม่ได้หมด ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ ไม่ได้โทษใคร ปัญหานี้สะสมมาหลายปี แก้ภายใน 3 เดือนแก้ไม่ได้ ภายใน 1 ปียังแก้ไม่ได้เลย เพียงแต่จะมีมาตรการเร่งด่วน เงินกู้ เงินดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย แล้วปล่อยมาตรการเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ เป็นระยะยาวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ดังนั้น ต้องช่วยเรา อย่าเร่งรัดมากนัก ขอร้อง ราคาผลิตผลการเกษตรมันยาก เราควบคุมไม่ได้ทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ครม.ต้องมีทหารร่วม-แก้มั่นคง
      นายกฯ กล่าวว่า การจัดตั้งครม. ทุกคนก็เป็นกังวลว่ามีทหารมากทหารน้อย ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่ปัญหา ควรดูว่าปัญหาเกิดที่ไหนแล้วเราจะแก้อะไร วันนี้เราต้องการให้มีประชาธิปไตยและตรารัฐธรรมนูญ ฉะนั้น อย่ามาดูว่าทหารมาก ทหารน้อย 
      "ผมใคร่ครวญดูแล้ว ถ้าไม่มีทหารเลยก็ไม่ได้ เพราะความมั่นคงยังมีปัญหา ความสงบเรียบร้อยก็มีปัญหา บางคนบอกว่าต้องไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง แล้วถ้าผมไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เพื่อนที่ไว้ใจเข้ามาทำงานก็ไม่ได้อีก ผมพยายามจะเกลี่ยสัดส่วนต่างๆ ให้ดี อย่าระแวงจนเกินไปและเถียงกันจนหาคนดีไม่ได้เลยในวันนี้ ผมไม่เข้าใจ ทุกอย่างผมเป็นคนตัดสินใจทั้งสิ้น ใครจะว่า ใครจะเสนอ ใครจะพูดกับใคร เดี๋ยวดูกันต่อไป ถ้าเขาทำงานไม่ดีก็ปรับใหม่ได้หมด รัฐบาลปรับได้ไม่รู้กี่ครั้ง ใครไม่ดีก็ออกไป ใครทำทุจริตก็ติดคุก มีแค่นั้น จะกลัวอะไร ใช้กระบวนการประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปไล่ล่าฆ่าฟัน วันนี้ผมไม่ใช่พรรคไหน เป็นพรรคของคนไทยเดินหน้าประทศไทย ฉะนั้นไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลไม่มี ผมต้องการให้ทุกคนมองชาติเป็นหลัก อย่าสนใจตัวบุคคลให้มากนัก" นายกฯ กล่าว

ลั่นไม่ทุจริตเองใครก็ทุจริตไม่ได้
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เราคงไม่ปล่อยให้ใครมาขัดขวางการทำหน้าที่ มีแต่อยากให้มาสนับสนุนเรามากขึ้น ทุกคนมาแสดงความคิดเห็น ตนก็รับฟังทุกคน ที่ทำงานวันนี้ได้ตนฟังทุกคนมา บางครั้งก็ปวดหัวเหลือเกิน เพราะข้อเสนอมาก เป็นร้อยเป็นพันเรื่องก็รับทุกเรื่อง นำมาใคร่ครวญไตร่ตรอง สั่งการ หารือ ที่ปรึกษามีไม่รู้กี่คณะไม่ใช่คณะเดียว มีทั้งในระบบ นอกระบบ นักวิชาการมีมาก ตนต้องดูทั้งหมดแล้วมาย่อยให้ตรงกัน อะไรทำได้ก็ทำ นั่นคือการทำงานของตน 
    "วันหน้าก็ต้องเป็นแบบนี้ ไม่ต้องกังวลกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ เพราะทั้งหมดต้องเข้าครม.อยู่แล้ว และนายกฯเป็นคนอนุมัติหลักการจะนำเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ยังไม่นำเข้า ใครจะรับอะไรมาก็แล้วแต่ ผมต้องใช้การตรวจสอบที่ดี ซึ่งวางแผนตรงนี้ไว้แล้ว ผมคงไม่ให้มีการอนุมัติที่เรียกว่ายัดไส้ ไม่ได้ ผมไม่ยอมอยู่แล้ว ผมตั้งมั่นว่าเราไม่ทุจริตและใครก็ทุจริตไม่ได้ แต่สำคัญเราจะรู้ได้อย่างไร ซึ่งต้องช่วยผมด้วย" หัวหน้าคสช.กล่าว

ยันจะบริหารราชการอย่างโปร่งใส
      นายกฯ กล่าวว่า สรุปแล้ว ประเทศไทยมีปัญหามากเหมือนกัน ทุกเรื่องตนพูดมา 11 ครั้งแล้ว ครั้งที่ 12 ก็ยังพูดเรื่องปัญหาอีก เพราะรู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ท่ามกลางความขัดแย้ง ปัจจัยจากภายในภายนอก ประเด็นหลักคือความเข้าใจในนโยบายของรัฐ การบริการของหน่วยงาน แผนงานด้านเศรษฐกิจต้องชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาเกษตรกรรมแก้ปลายเหตุมาตลอด ต้องกลับไปแก้กลางเหตุและต้นเหตุ ถ้าเราแก้ปลายเหตุอย่างเดิมก็แก้เหมือนเดิม ปัญหาก็กลับมาทับใหม่ ปัญหาใหม่ก็เกิด ปัญหาเก่าก็ทับซ้อนอยู่ มันจะไปแก้อะไร ต้องสร้างระบบใช้เวลา ถ้าเดือดร้อนก็เดือดร้อนทุกอย่าง ทุกอย่างเดือดร้อนหมดถ้าไม่ช่วยกัน
     "ผมฝากความหวัง อนาคตของประเทศชาติอย่างยั่งยืน กับสปช. และคณะยกร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องช่วยกันวางรากฐานบ้านเมืองในอนาคต ในทุกประเด็นที่เราเป็นปัญหาอยู่ ความขัดแย้งทั้งการพัฒนาประเทศชาติ สร้างความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ อะไรที่อยู่ในสภาปฏิรูปก็ถกแถลงกันไป ตั้งหัวข้อให้ดี เรียงลำดับให้ได้ อะไรจะทำก่อนทำหลัง และที่เหลือก็เสนอเข้ามาตามลำดับ ตามห้วงเวลาที่มีอยู่ ระหว่างนี้เราจะบริหารราชการด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างเต็มที่ พยายามลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด" นายกฯ กล่าว

เปิดโผครม.ตู่ 1'อดุลย์'นั่งพม.
       สำหรับโผครม.ประยุทธ์ 1 มีดังนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาคสช. เป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ควบรมว.กลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายความมั่นคง เป็นรองนายกฯ ควบรมว.ต่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช.ฝ่ายกฎหมาย เป็นรองนายกฯฝ่ายกฎหมาย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นรองนายกฯฝ่ายสังคม และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช. เป็นรอง นายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ 
       พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นรมว.คมนาคม นายสมหมาย ภาษี เป็นรมว.คลัง นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นรมช.ต่างประเทศ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)
       พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา เป็น รมว.ศึกษาธิการ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงษ์ เป็น รมช.ศึกษาธิการ

'กอบกาญจน์'ท่องเที่ยว'สุธี'มท.2
       พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็น รมว.พาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ เป็นรมช.พาณิชย์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็น รมว.ยุติธรรม พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรมว.แรงงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ปรึกษา คสช.เป็นรมว.มหาดไทย นายสุธี มากบุญ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรมช.มหาดไทย 
       พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรมว.พลังงาน นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรมว.สาธารณสุข นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เป็นรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 
      นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรมว.วัฒนธรรม

มท.แจงสรรหาครบถ้วน 81 อปท.
      ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่คสช.มีประกาศฉบับที่ 85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ในกรณีสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ โดยในกรณี ผู้บริหารท้องถิ่น ให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท. ส่วนกรณีสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่คัดเลือกโดยมีผู้ว่าฯเป็นประธานนั้น ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาจังหวัดต่างๆ ได้คัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นอย่างรอบคอบ พิจารณาทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์เรียบร้อยแล้ว จำนวน 44 จังหวัดจำนวน 81 อปท. ประกอบด้วยเทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 75 แห่ง อบต. 4 แห่ง รวมสมาชิกอปท. จากการสรรหา 956 คน เป็นชาย 804 คน หญิง 152 คน 
       นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่อายุ 56-65 ปี สำเร็จปริญญาโท 594 คน ปริญญาตรี 341 คน ปริญญาเอก 21 คน ในจำนวนนี้เป็นข้าราชการ 696 คน รวมทั้งผู้ที่ทำงานในภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในประกาศ คสช. ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิดกับประชาชน พบปะ เยี่ยมเยือน สอบถามปัญหาต่างๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ จึงมีความพร้อมนำปัญหาและความต้องการของประชาชนมากำหนดเป็นกรอบแนวทางและนโยบายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ตามความต้องการของประชาชน 

สนช.เหลือ 192-องค์ประชุม 96
      เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมด้วยองค์ประชุม 172 คน ก่อนเข้าสู่วาระ นายพรเพชร แจ้งต่อสมาชิกว่า พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกสนช. ทำให้สมาชิกสนช.เหลือ 192 คน ดังนั้น องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งการเปิดประชุมต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 96 คน
      จากนั้น จึงเข้าสู่การพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และร่างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยหลังอภิปรายกว่า 2 ชั่วโมง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงให้ที่ประชุมลงมติรับหลักการวาระแรก ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 173 งดออกเสียง 3 ส่วนร่างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง ที่ประชุมเห็นชอบ 172 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 1 ก่อนจะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียด 15 คน และกำหนดให้แปรญัตติภายใน 7 วันต่อไป

ถกพ.ร.บ.ทวงหนี้-มติเอกฉันท์
      ต่อมา ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ โดยนายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ยังมีจุดบกพร่องที่ไม่ครอบคลุมหนี้นอกระบบ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หาก ผู้ใช้กฎหมายเป็นผู้กระทำผิดเอง และหากมีการทวงถามหนี้ในโลกโซเชี่ยลจะทำอย่างไร เนื่องจากวิธีการทวงถามหนี้ไม่อยู่กับที่ แต่ก้าวหน้าไปตามเทคโนโลยี ดังนั้น ควรพิจารณาด้วยว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมาก แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ 
     ด้านนายสุธรรม พันธุศักดิ์ สมาชิกสนช. กล่าวเห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้ แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในเนื้อหายังครอบคลุมธุรกิจติดตามทวงหนี้หรือการรับมอบอำนาจจากนิติบุคคล ซึ่งส่วนมากหนี้นอกระบบจะใช้นักเลงทวงถามหนี้ เพื่อบังคับให้ลูกหนี้ใช้หนี้ด้วยความกลัวจะถูกทำร้าย ซึ่งคิดว่าเป็นส่วนที่ดีของร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ควรปรับปรุงกรรมการส่วนกลางในการรับร้องเรียนทวงถามหนี้ให้สะดวกแก่ประชาชน 
      จากนั้น ประธานขอมติจากที่ประชุมรับหลักการวาระแรก ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 168 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน และแปรญัตติ 7 วัน 

'พ่อตั๊น-พะจุณณ์-ผาณิต'ชิงสปช.
      ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ของการเปิดรับการเสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตลอดทั้งวันมีองค์กรนิติกรบุคคลไม่แสวงหากำไรยื่นเสนอรายชื่อใน 11 ด้านจำนวน 413 คน โดยยื่นที่สำนักงาน กกต. 325 คน และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 88 คน เสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด 135 คน รวมวันนี้มีผู้เข้ารับการเสนอชื่อ 548 คน ทั้งนี้ รวม 16 วัน มีนิติบุคคลเสนอชื่อ 2,123 คน และเสนอชื่อระดับจังหวัด 2,138 คน รวมทั้งหมด 4,261 คน โดยด้านที่มีการเสนอชื่อมากที่สุดได้แก่ ด้านการศึกษา 355 คน รองลงมาคือด้านสังคม 303 คน ส่วนด้านที่เสนอชื่อน้อยที่สุดคือด้านสื่อสารมวลชน 100 คน
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลผู้มีชื่อเสียงที่เข้ารับการเสนอชื่อในวันนี้ ได้แก่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ส่งโดยสมาคมชาวสงขลา เข้าสรรหาด้านกฎหมาย นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) ในนามสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยฯ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอชื่อนายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 

'หมอตุลย์-รสนา-กวีเนาวรัตน์'ก็มา
     มูลนิธิพัฒนางานอัยการเสนอชื่อนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกกต. สมาคมตลาดตราสารหนี้ เสนอชื่อนายพิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิติบุคคลปาล์มพาวิลเลี่ยมคอนโด เสนอชื่อ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี สมาคมวู้ดบอลแห่งประเทศไทย เสนอชื่อ นายวิจิตร เกตุแก้ว อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เสนอชื่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว. มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน เสนอชื่อ นายธัญญา ชุนชฎาธาร อดีตนักเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ 
      สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอชื่อ พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการปปง. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เสนอชื่อ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มูลนิธิสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เสนอชื่อ น.ส.อารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทย สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอชื่อ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เสนอชื่อ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ 
      นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสปช. 2 คน คือ นายวุฒิชัย วัชรีรัตน์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ด้านการบริหารงานราชการแผ่นดิน และนายไพโรจน์ โพธิไสย รองเลขาธิการวุฒิสภา ในด้านการเมือง

มาร์ค ลั่นตัดสิทธิ์อลงกรณ์ลงส.ส.
     ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งครม.ว่า ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย เป็นดุลพินิจของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องตัดสินใจจะให้ใครเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคสช.ต่อไป ขณะนี้คนคาดหวังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และให้แก้ปัญหาของประเทศนำสู่การปฏิรูป ซึ่งต้องติดตามว่าจะทำได้หรือไม่ 
    นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะสมัครเป็นสปช.ในนามมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยว่า ยังไม่ได้คุยกับนายอลงกรณ์ แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรค เป็นสิทธิ์ของนายอลงกรณ์ พรรคไม่ได้ห้าม แต่พรรคเคยบอกว่าพรรคจะสงวนสิทธิ์การส่งผู้สมัคร เพราะเกรงจะเป็นปัญหา ผลประโยชน์ขัดกัน
     "เมื่อนายอลงกรณ์จะไปสมัคร พรรคก็จะสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาส่งลงรับเลือกตั้งในคราวต่อไป เพราะผมเคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการส่งบุคคลลงสมัคร สปช. เนื่องจากมองว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองจะเข้าไป นักการเมืองควรเป็น ผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น เมื่อนายอลงกรณ์ตัดสินใจเข้าไปแล้วจะทำให้มีอำนาจอนุมัติรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาต่อว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว
     เมื่อถามว่าคนส่วนใหญ่อาจมองว่านายอลงกรณ์คือพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกมองว่าพรรคเหยียบเรือสองแคมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคไม่มีสิทธิ์ห้ามใคร และการ กล่าวหาว่าเหยียบเรือสองแคมถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพรรคกำหนดจุดยืนชัดเจนแต่ไม่มีสิทธิ์ไปละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น จึงไม่มีตรงไหนที่แสดงว่าเหยียบเรือสองแคม การสมัครของนายอลงกรณ์ก็ชัดเจนว่าในนามองค์กรอื่นและหากจะมีสมาชิกคนอื่นไปสมัคร ทุกคนต้องไปในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค

'จ้อน'วอน 3 พรรคใหญ่ทบทวน
     ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ให้สัมภาษณ์ว่า ตนส่งชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. ทางไปรษณีย์ ในนามมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกประเทศไทย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีสิทธิ์จะไม่ส่งตัวแทนเป็นสปช.ได้ แต่สมาชิกพรรคก็มีสิทธิ์ลงสมัคร สปช.ได้ ส่วนที่พรรคอาจพิจารณาไม่ส่งคนที่ลงสมัครสปช.ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ส่งความเห็นผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่มของพรรค ขอให้ทบทวนเรื่องนี้ 
      เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าพรรคจะไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า นายอลงกรณ์กล่าวว่า ได้ไตร่ตรองแล้วว่าพรรคมีแนวทางอย่างไร และจะได้รับการลงโทษอย่างไร แต่อนาคตสำคัญกว่า หากพรรคไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ตนจะกลับไปทำงานเพื่อสังคมด้านต่างๆ อาทิ เป็นอาจารย์ หรือทำงานด้านพลังงานต่อไป 
      นายอลงกรณ์ กล่าวถึงการตั้งพรรคใหม่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ตนยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ จะทำงานวันนี้ให้ดีที่สุด ถึงเวลาแล้วที่ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง จึงอยากให้ 3 พรรคใหญ่ทบทวนท่าทีเรื่องไม่ส่งตัวแทนเป็น สปช. ด้วย เพื่อเป็นสัญญาณความร่วมมือสร้างความปรองดอง อยากให้ตระหนักว่าวิกฤตของชาติที่เกิดขึ้นเกิดจากนักการเมืองและพรรคซึ่งมีส่วนรับผิดชอบ จึงควรร่วมผลักดันการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ

ทูลเกล้าฯทั้งครม.-ย้ายทหาร
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกันนี้ ได้มีการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ และรายชื่อการโยกย้ายแต่งตั้งนายทหารประจำปีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว โดยพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.เป็นผบ.ทบ., พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสธ.ทบ.เป็นเสธ.ทบ.,พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทหาร เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ.เป็นรองผบ.ทบ. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผบ.สส.เป็นผบ.สส. พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ หน.ฝสธ.ประจำผบช. เป็นประธานที่ปรึกษาทบ.

สภาอุตฯใต้แนะโซนนิ่งปลูกยาง
      วันที่ 29 ส.ค. นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยถึงนโยบายการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ยังมีทิศทางไม่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่เห็นตัวบุคคลด้านเศรษฐกิจ และรองนายกฯ ที่ดูแลนโยบายโดยรวมก็คงเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจปัญหาราคายางพารามากน้อยแค่ไหน เพราะพยายามแก้มาหลายรัฐบาลแล้วแต่ยังไม่สัมฤทธิผล เนื่องจากปัญหาราคายางมีความซับซ้อนมาก ต้องใช้เวลานานและความต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการอย่างจริงจัง
      นายวิถี กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรรีบเร่งทำคือ การเพิ่มมูลค่ายางพารานำมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว จากเดิมที่มีสัดส่วน 10-15% เป็นไม่น้อยกว่า 20-30% จะส่งผลให้ราคายางค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการแม้จะมีผลกระทบบ้างแต่อยู่ในภาระที่ยอมรับได้ และต้องเปลี่ยนมาทำตลาดในประเทศแทนการส่งออกแทน ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยต่อนโยบายแทรกแซงราคายาง เพราะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ทำให้กลไกตลาดเสียหาย เสี่ยงต่อการทุจริต ผลประโยชน์ตกสู่นายทุนเพียงกลุ่มเดียว แต่เห็นด้วยเรื่องการจัดโซนนิ่งยางพาราแม้จะยากมากแต่รัฐบาลชุดใหม่ต้องพยายาม ไม่เช่นนั้นปัญหาราคายางตกต่ำจะวนไปวนมาไม่รู้จบ 
       นายทวีศักดิ์ ไทรงาม ประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่างจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การจำหน่ายหมูย่างเมืองตรังขณะนี้เงียบเหงา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ภาพรวมยอดขายลดลงไปกว่า 20% สาเหตุหลักมาจากราคายางพาราตกต่ำอย่าง ต่อเนื่อง ราคาน้ำยางสดกิโลกรัมละ 45-48 บาทเท่านั้นและมีแนวโน้มตกต่ำลงอีก ทำให้กำลังซื้อของชาวสวนยางซึ่งเป็นลูกค้าหลักลดลงมาก

ลุ้นขึ้นเงินเดือนขรก 7%มีผล 1 ตค.
      เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เตรียมอนุมัติให้ปรับขึ้นเงินเดือนมีผลวันที่ 1 ต.ค.นี้ทันที โดยให้รอฟังประกาศจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น มีรายงานกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางฝ่ายนโยบาย กำลังรอดูการผลการตัดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ กว่า 400 แห่งที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ โดยมีคำสั่งจากคสช.ให้ปรับลดงบประมาณประจำปี 2558 ลงอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท หากตัดงบได้แค่นี้จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการในวันที่ 1 เม.ย. 2558 แต่ทางคสช.อยากให้ตัดงบให้ได้ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อขึ้นเงินเดือนทันทีในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการ พร้อมทั้งเป็นการต้อนรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
      "คสช.ต้องการให้เร่งปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทันทีเดือนตุลาคม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 2% ดังนั้นควรมีเม็ดเงินจากภาครัฐอัดลงสู่เศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจปีนี้ซบเซาเกินไป โดยขณะนี้กำลังรอดูว่าการตัดงบของหน่วยงานราชการนั้นจะได้เท่าไหร่ ทุกหน่วยงานโดนหมดคนละ 1-2 ล้านไปจนถึง 100 ล้าน" รายงานข่าวระบุ
      ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของกรมบัญชีกลางพบว่า หากขึ้นเงินเดือน 7% ใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าขึ้น 8% ใช้เงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นน่าจะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 7% ให้ข้าราชการทุกระดับชั้น รวมถึงข้าราชการบำนาญ ครู ทหาร ตำรวจ โดยในส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เงินเดือนต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนนั้นจะได้รับการปรับอัตราสูงสุดถึง 10% แต่ถ้าเงินเดือนสูงๆ ก็จะปรับให้ต่ำกว่าฐานเฉลี่ย 7% อาจจะอยู่ที่ 5-6%

เปิดโผแต่งตั้ง-ย้ายนายพลทหาร
       วันที่ 29 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2557 ตำแหน่งสำคัญ คาดว่ามีดังนี้ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผบ.สส. ขึ้นเป็น ผบ.สส. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทหาร เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สมหมาย เกาฎีระ ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ตท.15) เป็น รองผบ.สส. (อัตราจอมพล) พล.อ.อักษรา เกิดผล เสธ.ทบ. (ตท.14) เป็น รองผบ.ส.ส. (อัตราจอมพล) พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ รองเสธ.ทหาร (ตท.15) เป็นเสธ.ทหาร (อัตราจอมพล) พล.อ.วิเชียร ศิริสุนทร ผอ.ศูนย์ประสานงานโครงการพระราช ดำริฯ (ตท.15) เป็นผบ.นทพ.
     กองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. (ตท.14) ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผบ.ทบ. เป็นรองผบ.ทบ. พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสธ.ทบ. ขึ้น เป็นเสธ.ทบ. พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.14) กับพล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.15) ขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. 
     พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสธ.ทบ.ฝ่ายยุทธการ (ตท.16) เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.เทพพงษ์ ทิพยจันทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.18) เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.ปราการ ชลยุทธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 
    กองทัพเรือ คาดว่า พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้ช่วยผบ.ทร. (ตท.13) ขึ้นเป็นผบ.ทร. พล.ร.อ.พิจารณ์ ธีรเนตร ผบ.กองเรือยุทธการ (ตท.14) รองผบ.ทร. พล.ร.อ.อภิชัย อมาตยกุล ที่ปรึกษาพิเศษทร. เป็น เสธ.ทร.
     กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสธ.ทอ (ตท.14) เป็นผบ.ทอ. พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธ์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผบ.ทอ. (ตท.15) เป็นรองผบ.ทอ. (อัตราจอมพล) พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทอ. (ตท.15) เป็นประธานคณะที่ปรึกษาทอ.(อัตราจอมพล) พล.อ.ท.สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. (ตท.16) เป็นเสธ.ทอ. พล.อ.ท.จอม รุ่งสว่าง รองเสธ.ทอ. (ตท.16) และพล.อ.ท.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ ผู้ทรงคุณพิเศษทอ. เป็นผู้ช่วยผบ.ทอ.

กมธ.ตัดงบ 19 กระทรวง 4,100 ล.
       วันที่ 29 ส.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการประชุม ครั้งที่ 10/2557 โดยมี พล.อ.โสภณ ศีลพิพัฒน์ รองประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม มีวาระพิจารณางบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี งบกลาง หน่วยงานของรัฐสภา ทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หน่วยงานของศาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนแต่ละหน่วยงานเข้าชี้แจง
      พล.ท.ชาตอุดม ติตถะศิริ โฆษกกมธ. แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 ว่า เบื้องต้นปรับลดงบฯ ไปแล้ว 19 กระทรวง จำนวนกว่า 4,100 ล้านบาท ซึ่งจะปรับลดในส่วนของคณะอนุ กมธ.อีก แต่ต้องนำเข้าที่ประชุม กมธ.ชุดใหญ่ก่อนในวันที่ 2-3 ก.ย.นี้ 
      โฆษก กมธ.กล่าวต่อว่า ในการพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 28 ส.ค. มีการพิจารณาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5 จากงบประมาณปี 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบฯ ด้านบุคลากร เป็นไปตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ทุกเหล่าทัพมีกำลังปฏิบัติภารกิจ ส่วนกระทรวงมหาดไทย งบฯ ส่วนใหญ่อยู่ที่กรมการปกครองท้องถิ่น เน้นกระจายอำนาจลงท้องถิ่น โดยจะเพิ่มงบให้ส่วนหนึ่งและให้จัดสรรกันอย่างทั่วถึงตามข้อบัญญัติที่วางกรอบไว้ ส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองมีการกระจายงบให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เน้นการซ่อมแซม ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญ

โผทหารถึง'องคมนตรี''โด่ง'ผบ.ทบ. ประยุทธ์ทูลเกล้าฯครม.บิ๊กป้อมควบรมว.กห. อนุพงษ์นั่งมหาดไทย'บิ๊กอู๋'ก.พัฒนาสังคม บิ๊กต๊อกคุมยธ.พ้นทบ.

เรื่องด่วน - นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. ลุกขึ้นอภิปรายระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเร่งด่วน ตามที่ คสช.เสนอจำนวน 5 ฉบับ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 

 

      'นายกฯตู่'แจงเหตุทหารพรึบนั่ง ครม. ยันต้องมีรุ่นพี่รุ่นน้อง-เพื่อนที่ไว้ใจช่วยทำงาน บอกอย่าระแวงเกินไป ให้มองชาติเป็นหลัก

 

'บิ๊กตู่'ใจหายเกษียณผบ.ทบ.

 

       เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี กล่าวให้โอวาทกำลังพลในโอกาสวันครบรอบ 28 ปี วันเปิดกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ว่า ตนเริ่มต้นรับราชการก็มาจากโรงเรียนเตรียมทหาร จนมาถึง จปร. ก็มาใช้สถานที่แห่งนี้ในการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งมีความรักและความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มาโดยตลอด หากต้องเกษียณจากสถานที่แห่งนี้ไปก็รู้สึกใจหาย และอาลัยที่แห่งนี้ นอกจากเรียนที่นี้และกลับเข้ามาทำงานที่นี่ 6 ปี ตั้งแต่เป็นเสนาธิการทหารบกจนมาถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

 

    "ทุกวันนี้ที่ทำก็ทำเพื่อประเทศชาติ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าทหารทุกคนเหนื่อยมาก แต่เราจะต้องทำเพื่อประเทศชาติ การแก้ไขปัญหาของประเทศ ถ้าเราทำไม่สำเร็จก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผบ.ทบ.จะพยายามทำให้เต็มที่ และขอให้ทหารทุกคนปฏิบัติตัวให้ดีเป็นแบบอย่างให้กับประชาชน อย่าท้อ อย่าเหนื่อย ผบ.ทบ.ยังเป็น ผบ.ทบ.คนเดิม ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์อยู่เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

แจงทหารพรึบ'ครม.ตู่1'

 

     ต่อมาค่ำวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกฯ กล่าวผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า "การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ทุกคนก็เป็นกังวล มีปัญหา มีทหารมาก ทหารน้อย แต่ว่าไม่ใช่ปัญหา ดูว่าปัญหาเกิดที่ไหนแล้วเราจะแก้อะไร วันนี้เราต้องการให้มีประชาธิปไตย และตรารัฐธรรมนูญชั่วคราว 

 

     เพราะฉะนั้นอย่ามาดูตรงทหารมาก ทหารน้อย ผมใคร่ครวญดูแล้วถ้าไม่มีทหารเลยก็ไม่ได้ เพราะว่าความมั่นคงก็มีปัญหา ความสงบเรียบร้อยก็มีปัญหา บางคนบอกว่า เดี๋ยวต้องเอารุ่นพี่รุ่นน้อง ถ้าผมไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เพื่อนที่ไว้ใจเข้ามาทำงานก็ไม่ได้อีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

 

บอกอย่าระแวงกันเกินไป

 

    "ผมพยายามจะเกลี่ยสัดส่วนต่างๆ ให้ดี อย่าระแวงกันจนเกินไปนัก เถียงกันไปจนหาคนดีไม่ได้เลยในวันนี้ ผมไม่เข้าใจ ใครจะว่า ใครจะเสนอ ใครจะพูดกับใคร เดี๋ยวดูกันต่อไป ถ้าเขาทำงานไม่ดีก็ปรับใหม่ได้หมด รัฐบาลปรับได้ไม่รู้กี่ครั้ง ใครไม่ดีก็ออกไป ใครทำทุจริตก็ติดคุกไป ก็มีแค่นั้นจะกลัวอะไร ใช้กระบวนการประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปไล่ล่าฆ่าฟัน วันนี้ผมไม่ใช่พรรคไหนเลย เป็นพรรคของคนไทยเดินหน้าประเทศไทย เพราะฉะนั้นไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผมต้องการให้ทุกคนมองชาติเป็นหลัก อย่าสนใจตัวบุคคลให้มากนัก เพราะฉะนั้นเราคงไม่ปล่อยให้ใครมาขัดขวางการทำหน้าที่ มีแต่อยากให้มาสนับสนุนเราให้มากขึ้น ทุกคนมาแสดงความคิดเห็น ผมรับฟังความคิดเห็นทุกคนที่ทำงาน" หัวหน้า คสช.กล่าว

 

ลั่นไม่ให้ยัดไส้วาระเข้าครม.

 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บางครั้งก็ปวดหัวเหลือเกินเพราะข้อเสนอเป็นร้อยเป็นพันเรื่องก็นำมาใคร่ครวญ นำมาไตร่ตรอง นำมาสั่งการ นำไปหารือ ที่ปรึกษามีไม่รู้กี่คณะไม่ใช่คณะเดียว มีทั้งในระบบ นอกระบบ เอาต์ซอร์ซ ต่างๆ มากมายไปหมด นักวิชาการมีมากมาย ต้องดูทั้งหมดแล้วมาย่อยให้ตรงกัน นั่นคือการทำงานของตน วันหน้าก็ต้องเป็นแบบนี้ ไม่ต้องไปกังวลกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ เพราะทั้งหมดต้องเข้า ครม.อยู่แล้ว และนายกฯเป็นคนอนุมัติหลักการจะนำเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ยังไม่นำเข้า ใครจะรักใคร่อะไรมาก็แล้วแต่ "เพราะผมต้องตรวจสอบให้ดี ต้องวางแผนตรงนี้ไว้แล้ว คงไม่ให้มีการอนุมัติโดยที่เรียกว่ายัดไส้อะไรทำนองนี้ ไม่ได้หรอก ผมไม่ยอมอยู่แล้ว ผมตั้งมั่นว่าเราไม่ทุจริต แต่ใครก็ทุจริตไม่ได้ 

 

      ผมฝากความหวัง อนาคตของประเทศชาติอย่างยั่งยืนกับ สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) และคณะที่ร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องช่วยกันทำวางรากฐานบ้านเมืองในอนาคต ในทุกประเด็นที่เราเป็นปัญหาอยู่ ความขัดแย้งทั้งการพัฒนาประเทศชาติ สร้างความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ อะไรที่อยู่ในสภาปฏิรูปก็ถกแถลงกันไป ตั้งหัวข้อให้ดี เรียงลำดับให้ได้ อะไรจะทำก่อนทำหลัง และที่เหลือก็เสนอเข้ามาตามลำดับ ตามห้วงเวลาที่มีอยู่ ระหว่างนี้เราจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างเต็มที่ พยายามลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

 

'อดุลย์'พม.'อาคม'สำนักนายกฯ

 

      ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล "บิ๊กตู่ 1" รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในส่วนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษที่ตามโผเดิมจะนั่งรองนายกฯควบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้มีการปรับใหม่โดยให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทน ส่วน พล.ต.อ.อดุลย์จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

 

'รัชตะ'ระบุรับตำแหน่งใหม่

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นหนังสือลาออกรวม 5 คน ได้แก่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ซึ่งไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการลาออกในหนังสือ มีเพียง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เท่านั้นที่ระบุสาเหตุการลาออกว่าเนื่องจาก "ได้รับตำแหน่งใหม่" คาดว่า นพ.รัชตะจะไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

    นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิก สนช.ทยอยลาออกจากตำแหน่งว่า ไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน ขณะนี้เหลือสมาชิก 192 คน ดังนั้น องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งสำหรับการประชุมคือต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 96 คน ถือว่าครบองค์ประชุมอยู่ สามารถทำงานได้ เชื่อว่าจะมีแต่งตั้ง สนช.เพิ่มเติม แต่อยู่ที่ดุลพินิจของ คสช.ว่าจะแต่งตั้งเพิ่มเติมเท่าไร 

 

ว่าที่รมต.แห่ลาออกบอร์ดบริษัท

 

      ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลายแห่ง แจ้งการลาออกของคณะกรรมการ (บอร์ด) อาทิ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ แจ้งลาออกจากกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยระบุเหตุผลว่ามีภารกิจอื่น พร้อมกับยื่นลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ด้วยเหตุผลเดียวกันและมีผลตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 

 

     ขณะที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แจ้งเรื่อง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ลาออกจากกรรมการบริษัท ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมเป็นต้นไป เนื่องจากมีภารกิจอื่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แจ้งเรื่อง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ลาออกจากกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) แจ้งเรื่อง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ลาออกจากกรรมการอิสระและกรรมการกำกับดูแลกิจการ มีผลตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม

 

นอกจากนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร แจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการอิสระและกรรมการทรัพยากรบุคคลและกำหนดอัตราค่าตอบแทนของธนาคาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายวิษณุ เครืองาม แจ้งลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งรองประธานกรรมการ และกรรมการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งกรรมการอิสระ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการของบริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด ตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งกรรมการอิสระ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และตำแหน่งรองประธานกรรมการ และกรรมการบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) มีผลวันที่ 29 สิงหาคม

 

    ขณะที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช แจ้งลาออกจากตำแหน่ง กรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จํากัด (มหาชน) ส่วนนายณรงค์ชัย อัครเศรณี แจ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งประธานกรรมการ ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งกรรมการอิสระและประธานคณะกรรมการ บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของบริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) 

 

    ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย แจ้งลาออกจากกรรมการอิสระ และกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนบริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการตรวจสอบบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 

 

โผ'ครม.ประยุทธ์1'ลงตัว

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดโผ'ครม.ประยุทธ์ 1'ลงตัวเกือบหมดแล้ว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา คสช.เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายต่างประเทศ เป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมาย เป็นรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองนายกฯฝ่ายสังคม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธานคณะที่ปรึกษา คสช.เป็นรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ

 

      พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

 

ส่งชื่อว่าที่รมต.นำทูลเกล้าฯ

 

     พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ปรึกษา คสช. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

 

     ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศัักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรชัย รุจิประภา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายสุธี มากบุญ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

 

      ข่าวแจ้งว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ติดต่อให้บุคคลที่มีชื่อจะเป็นรัฐมนตรีไปลาออกจากตำแหน่งอื่นๆ และมากรอกประวัติเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้วและส่งรายชื่อรัฐมนตรีทั้งหมดเข้าสู่ขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเย็นวันเดียวกัน

 

โผทหารถึงมือองคมนตรี

 

    รายงานข่าวแจ้งว่าวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารส่งให้องคมนตรี ตามขั้นตอน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ

 

     ทั้งนี้ ตำแหน่งสำคัญแต่ละเหล่าทัพ อาทิ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล (ตท.13) เสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม โดยได้แรงสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะมาดำรงตำแหน่งรองนายกฯควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงอยากให้ พล.อ.ศิริชัย มาช่วยงานในกระทรวงกลาโหม ส่วน พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (ตท.12) รอง ผบ.สส.ได้ขึ้นเป็น ผบ.สส. ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะถูกย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม

 

    ขณะที่กองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) รอง ผบ.ทบ.ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) ผช.ผบ.ทบ. ที่ไม่ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ย้ายข้ามไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ในอัตราจอมพล ขณะเดียวกันก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลชุดใหม่ด้วย

 

      ส่วนกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ (ตท.13) ผช.ผบ.ทร.เพื่อนร่วมรุ่น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ส่วนกองทัพอากาศ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง (ตท.14) เสธ.ทอ.ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. เนื่องจากมีอาวุโสสูงสุดในกองทัพอากาศ

 

สนช.เห็นชอบร่างกม.2 ฉบับ 

 

   ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม โดยมีการพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ มีสาระสำคัญคือ เพื่อให้มีกฎหมายกลางกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต และจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียวเพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขออนุญาต และร่าง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีสาระสำคัญ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำคำสั่งทางปกครองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ และอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ 

 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังอภิปรายกว่า 2 ชั่วโมง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รอง สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ให้ลงมติรับหลักการวาระแรก ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 173 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ส่วน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง เห็นชอบ 172 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ก่อนจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คน พิจารณารายละเอียดและกำหนดให้มีการแปรญัตติภายใน 7 วัน

 

'จ้อน'แจงหักปชป.ชิงสปช. 

 

     นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า วันเดียวกันนี้ส่งชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทางไปรษณีย์ ในนามมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกประเทศไทย พรรค ปชป.มีสิทธิจะไม่ส่งตัวแทนลงรับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช.ได้ แต่สมาชิกพรรคแต่ละคนมีสิทธิลงสมัคร สปช.ได้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนส่งความเห็นผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่มของพรรค เพื่อขอให้พรรคทบทวนเรื่องจะไม่ส่งตัวแทนลงสรรหาเป็น สปช. 

 

    นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การที่พรรคบอกว่านักการเมืองมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเป็น สปช.นั้น ทำไมเพิ่งระบุเหตุผลดังกล่าวในครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้พรรค ปชป.เคยส่งตัวแทนเป็นกรรมาธิการให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคควรเข้าไปเป็นผู้นำในการเสนอแนวทางและข้อเสนอแนะการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากเป็นพรรคเก่าแก่ มีบุคลากรจำนวนมาก อีกทั้งพรรคก็เคยบอกว่าจะสนับสนุนการปฏิรูป จึงไม่มีเหตุผลจะไม่เข้าร่วมปฏิรูปประเทศ และไม่ควรอยู่เพียงข้างเวทีและส่งความเห็นเป็นกระดาษเท่านั้น การไม่เข้าร่วมเป็น สปช. ของ 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรค ปชป. พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เป็นสัญญาณถึงความขัดแย้งในอนาคต เมื่อเห็นพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศก็จะปฏิเสธว่าเป็นผลพวงจากรัฐประหาร เท่ากับว่าการปฏิรูปประเทศใช้เวลากว่า 2 ปี สูญเปล่า 

 

วอน 3 พรรคใหญ่ส่งร่วมสปช.

 

    นายอลงกรณ์ กล่าวว่า พรรค ปชป.จึงควรเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นที่พึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นต้นไม้เล็กๆ เพราะประชาชนมีความคาดหวังให้พรรคเป็นที่พึ่งในยามบ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนผ่าน หากไม่เข้าร่วมเป็น สปช. จะทำให้การปฏิรูปขาดความสมบูรณ์ได้

 

   เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าพรรคจะไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า นายอลงกรณ์กล่าวว่า ไตร่ตรองแล้วว่าพรรคมีแนวทางอย่างไร และจะได้รับการลงโทษอย่างไร แต่อนาคตสำคัญกว่า หากพรรคไม่ส่งลงสมัครก็จะกลับไปทำงานเพื่อสังคมด้านต่างๆ อาทิ เป็นอาจารย์ หรือทำงานด้านพลังงานต่อไป 

 

    "ส่วนจะไปตั้งพรรคใหม่หรือไม่นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ผมยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ จะทำงานวันนี้ให้ดีที่สุด โดยใช้ประสบการณ์ความรู้ในสภากว่า 20 ปี ให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง จึงอยากให้ 3 พรรคการเมืองใหญ่ทบทวนท่าทีเรื่องการไม่ส่งตัวแทนลงสมัครเป็น สปช.ด้วย เพื่อเป็นสัญญาณความร่วมมือสร้างความปรองดอง อยากให้ตระหนักว่าวิกฤตของชาติที่เกิดขึ้นจากนักการเมือง และพรรคการเมืองล้วนมีส่วนรับผิดชอบ เมื่อเกิดวิกฤตจึงสมควรรับผิดชอบต่อความผิดพลาด โดยร่วมผลักดันการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ" นายอลงกรณ์กล่าว

 

'มาร์ค'ยัน'จ้อน'ไม่เกี่ยวปชป.

 

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป.กล่าวถึงกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร สมัครเป็น สปช.ว่ายังไม่ได้คุยกับนายอลงกรณ์ แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรค เป็นสิทธิของนายอลงกรณ์ พรรคไม่ได้ห้ามสมาชิกไปสมัครเป็น สปช. เพียงแต่พรรคสงวนสิทธิส่งผู้สมัคร เกรงว่าจะเป็นปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน เพราะนักการเมืองควรเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น เมื่อนายอลงกรณ์ตัดสินใจไปแล้ว จะทำให้มีอำนาจในการอนุมัติรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาต่อว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

    เมื่อถามว่า คนอาจมองว่านายอลงกรณ์คือพรรค ปชป. และมองว่าพรรคเหยียบเรือสองแคมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคไม่มีสิทธิไปห้ามใคร การกล่าวหาว่าเหยียบเรือสองแคมถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพรรคมีจุดยืนชัดเจน แต่ไม่มีสิทธิไปละเมิดสิทธิของคนอื่น จึงไม่มีตรงไหนที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการเหยียบเรือสองแคม การสมัครของนายอลงกรณ์ก็ชัดเจนว่าเป็นในนามองค์กรอื่นส่งไป หากจะมีสมาชิกคนอื่นไปสมัครก็ต้องไปในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค

 

แกนกปปส.ย้ำไม่ร่วมสปช. 

 

   นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวถึงการสมัครสมาชิก สปช.ว่า ในส่วนของ กปปส.มีตัวแทนไปสมัครหลายคน ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด หากตัวแทนของ กปปส.ได้รับคัดเลือก จะได้นำแนวทางปฏิรูปที่เคยเสนอไว้ผลักดันให้บรรจุในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่ได้รับการคัดเลือก ก็ยังคงเสนอแนวความคิดไปยัง สปช.ได้ สำหรับตนไม่ลงสมัครแน่นอน เพราะอาจถูกกล่าวหาได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน 

 

   นายอิสสระ สมชัย อดีตแกนนำ กปปส.กล่าวว่า ตนจะไม่ไปสมัคร สปช. เพราะไม่พร้อมเข้าไปร่วมในกระบวนการนี้ และเกรงจะถูกมองว่า กปปส.ต้องการเข้าไปทำงานให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายของตัวเอง

 

'พะจุณณ์'สมัครสปช.ด้วย 

 

    วันเดียวกัน ที่ลานอเนกประสงค์ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเปิดรับเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. 11 ด้าน ว่ามีองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรทยอยเสนอรายชื่อกันอย่างต่อเนื่อง 

 

    ขณะเดียวกัน ก็มีผู้มีชื่อเสียงมาสมัคร อาทิ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสนอชื่อโดยสมาคมชาวสงขลา เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) เสนอชื่อโดยสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ ขณะที่มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เสนอชื่อนายสกุล สื่อทรงธรรม เลขาฯมูลนิธิ เข้าสรรหาด้านการเมือง และนายประพจน์ ศรีเทศ ประธานพีเน็ตภาคเหนือ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 

 

   ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอชื่อนายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เข้าสรรหาด้านการเมือง และนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าสรรหาด้านบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนมูลนิธิพัฒนางานอัยการเสนอชื่อนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต.เข้าสรรหาด้านการเมือง สมาคมตลาดตราสารหนี้เสนอชื่อนายพิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ ส่วน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ยื่นสมัครในนามนิติบุคคลปาล์มพาวิลเลี่ยนคอนโด เข้าสรรหาด้านสังคม 

 

'หมอพรทิพย์'ก็สมัครสปช.

 

    ต่อมา เวลา 16.15 น.พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เดินทางมายื่นเอกสารลงสรรหา สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วยตัวเอง ในนามของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมกับระบุว่า ที่ตนเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. เนื่องจากทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จึงอยากนำความรู้ด้านนิติเวชศาสตร์เข้าไปพัฒนา เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเกี่ยวกับนิติเวชศาสตร์ไม่เคยได้รับการแก้ไขเลย การเปิดสภาปฏิรูปครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม

 

   นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. 2 คน คือ นายวุฒิชัย วัชรีรัตน์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ เข้ารับการสรรหาด้านการบริหารงานราชการแผ่นดิน และนายไพโรจน์ โพธิไสย รองเลขาธิการวุฒิสภา เข้ารับการสรรหาด้านการเมือง

 

อดีตส.ส.พท.สมัครสปช.ด้วย

 

     นอกจากนี้ สมาคมอิสานเพื่อการพัฒนา เสนอชื่อนายประเกียรติ นาสิมมา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าสรรหาด้านกฎหมายกระบวนการยุติธรรม สภาทนายความเสนอชื่อ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความฯ เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เสนอชื่อ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขา ป.ป.ง.เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เสนอชื่อ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เสนอชื่อ นายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท. เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอชื่อนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 

 

     สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เสนอชื่อนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เสนอชื่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล

 

    อดีต ส.ว. เข้าสรรหาด้านพลังงาน สมาคมคนพิการคลองเตย เสนอชื่อ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านนโยบายพลังงาน เข้าสรรหาด้านพลังงาน มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เสนอชื่อ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เข้าสรรหาด้านสังคม มูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ เสนอชื่อ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. เข้าสรรหาด้านสังคม 

 

    ส่วนองค์กรนิติบุคคลภายใต้การนำของหลวงปู่พุทธอิสระ ที่นำบุคคลมายื่นเสนอชื่อประกอบด้วย มูลนิธิวัดอ้อน้อย เสนอชื่อนายมหัศจักร โสดี กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม อดีตแนวร่วมกปปส. เข้าสรรหาด้านอื่น ๆ และนายมงคล นาฏกระสูตร เข้าสรรหาด้านการศึกษา มูลนิธิธรรมอิสระ เสนอชื่อ นายปริญญา ศรีสุคนธ์ เข้าสรรหาด้านสังคม มูลนิธิอโรคยาศาลา เสนอชื่อนายวิวัฒน์ โลหิตหาญ เข้าสรรหาด้านการศึกษา และเสนอชื่อณัฐฐา หิรัญชุณหะ เข้าสรรหาด้านสื่อสารมวลชน

 

สมัครสปช.16 วันยอด 4,261 คน 

 

    ต่อมา สำนักงาน กกต.สรุปยอดการเสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ในวันที่ 29 สิงหาคม มีเสนอชื่อที่สำนักงาน กกต.กลาง รวม 413 คน เป็นองค์กรนิติบุคคลยื่นเอง 325 คน และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 88 คน ส่วนที่เสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดมี 135 คน รวมทั่วประเทศมีผู้เสนอชื่อ 548 คน สรุป 16 วันของการเปิดรับการเสนอชื่อตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม-29 สิงหาคม มีองค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อ 2,123 คน เสนอชื่อในส่วนจังหวัด 2,138 คน รวมทั้งสิ้น 4,261 คน 

 

     ทั้งนี้ ตลอด 16 วันมีผู้ถูกเสนอชื่อด้านการศึกษามากที่สุด 355 คน รองลงมาคือด้านสังคม 303 คน ด้านอื่นๆ 291 คน การปกครองท้องถิ่น 232 คน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 160 คน ด้านเศรษฐกิจ 157 คน ด้านการเมือง 152 คน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 143 คน ด้านพลังงาน 119 คน ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 111 คน และน้อยที่สุดคือด้านสื่อมวลชน 100 คน