- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 29 August 2014 17:38
- Hits: 4522
ดีเอสไอไร้อำนาจ'99 ศพ'ศาลสั่งยก 'อภิสิทธิ์-พระสุเทพ'โล่ง ชี้ผิดต่อหน้าที่-ส่งปปช. ศาลฎีกาการเมืองสอบ 'อธิบดีอาญา'เห็นแย้ง อัยการเตรียมอุทธรณ์
ศาลอาญาสั่งยกฟ้องคดี'มาร์ค-สุเทพ'สั่งสลายม็อบ นปช. ปี 53 ชี้จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่ทำโดยส่วนตัว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 สิงหาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดประชุมคดีและฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกฯ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84
กรณีการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือนเมษายน-19 พฤษภาคม 2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิต บริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพ เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความและคณะ ขณะที่มีกลุ่มอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ กปปส. มาร่วมฟังคำสั่ง และให้กำลังใจด้วย
ศาลพิจารณาพฤติการณ์จำเลยทั้งสองตามคำฟ้องของอัยการโจทก์ ประกอบข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองออกคำสั่ง ศอฉ.ที่ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวเกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกฯและรองนายกฯ รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการ
กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง ส่วนญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม คดีนี้นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังมีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วยว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายสามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา จากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่หากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสอง ก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยนายอภิสิทธิ์เดินทางกลับพรรคประชาธิปัตย์ทันทีเพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ และจะแถลงข่าวอีกครั้ง
ด้านนายบัณฑิตกล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนจะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐาน นำสืบคดีที่ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอกับพวกซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของฝ่ายอัยการโจทก์ ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอนกฎหมาย
ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด จะขอคัดคำพิพากษาขององค์คณะและความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในรายละเอียดประกอบการตัดสินใจว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ภายใน 30 วันต่อไป
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถามไปยังนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด และอดีตอัยการสูงสุด ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า "ขอให้ไปสอบถามผู้รับผิดชอบสำนวนขณะนี้ดีกว่า"
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต ในฐานะโจทก์ร่วมที่ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีด้วยนั้น กล่าวว่า จะตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลอาญาต่อไป
รายงานข่าวแจ้งถึงขั้นตอนภายหลังศาลมีคำสั่งไม่มีอำนาจพิจารณาคดีว่า เรื่องนี้ต้องรออัยการสูงสุดว่าจะอุทธรณ์คดีหรือไม่ ถ้าไม่อุทธรณ์คดีนี้ก็จะส่งกลับไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางอาจมี อาทิ อาจยุติคดี โดยอ้างว่าไม่เคยมีบรรทัดฐานคดีทำนองนี้มาก่อน หรืออาจส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ ถ้า ป.ป.ช.รับเรื่อง ก็ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนทำสำนวนใหม่ โดยอาจมี 3 แนวทางในการพิจารณาคดีคือ 1.ชี้มูลความผิดตาม ม.157 ส่งอัยการฟ้อง 2.มีความผิดตาม ม.157 และ 288 ส่งอัยการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกอาญาคดีการเมือง แต่ก็ไม่น่าทำได้ เพราะไม่เคยมีมาก่อน และ 3.หากเห็นว่าไม่มีมูลก็ยุติเรื่อง
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ในฐานะคนทำคดีต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวยังมีขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อไป เชื่อว่าจะมีการอุทธรณ์ฎีกาคดี ส่วนเรื่องความรู้สึกคงตอบแทนญาติผู้สูญเสียไม่ได้ บุคคลเหล่านี้จะตอบคำถามเรื่องความรู้สึกได้ดีกว่าตน เพราะตนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
ส่วนนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือแม่น้องเกด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ผู้ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม กล่าวว่า เคารพในคำตัดสินของศาลอาญา แต่ยืนยันว่าในฐานะครอบครัวที่สูญเสียจะยังเดินหน้าทวงถามหาความยุติธรรมให้กับลูกสาวต่อไป โดยเตรียมทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ป.ป.ช. คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปยื่นหนังสือ อย่างไรก็ตาม ญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมากในปี 2553 ต่างเสียใจต่อคำตัดสินนี้ ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ และอัยการคดีพิเศษ ต่างรวบรวมพยานหลักฐานไว้ชัดเจน หลายเรื่องศาลวินิจฉัยไปแล้วว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำให้ตาย
นางสุริยันต์ พลศรีลา ภรรยาของนายชาญณรงค์ พลศรีลา อดีตแนวร่วม นปช.ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 กล่าวว่า คิดไม่ถึงว่าศาลอาญาจะชี้คดีดังกล่าวเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นคดีฆาตกรรมที่เป็นการสั่งการของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ให้ทหารเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมโดยสงบของคนเสื้อแดง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
"อย่างไรก็ตามในฐานะผู้สูญเสียจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามีต่อไป ไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรช่วงนี้ เพราะรู้ๆ กันอยู่ ใครออกมาเคลื่อนไหวจะถูกจับ ขอเวลาหารือกับทนายความก่อนว่าจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างไรต่อไป เชื่อว่าญาติผู้เสียชีวิตหลายคนคงจะช็อกกับคำสั่งของศาลอาญา และไม่รู้จะทำอย่างไร คงได้แต่นั่งภาวนาให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นโดยเร็ว เชื่อว่าใครทำอะไรไว้ผลกรรมที่ทำคงจะตามทัน" นางสุริยันต์กล่าว
วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8675 ข่าวสดรายวัน
ยกฟ้อง 99 ศพ ยุติคดีฆ่า มาร์ค-เทือกโล่ง ระบุผิดต่อหน้าที่ ต้องส่งให้ปปช. ยื่นศาลการเมือง แต่อธิบดีอาญา มีความเห็นแย้ง ญาติคนตายลุ้น อัยการอุทธรณ์
ยกฟ้อง - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพระสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากศาลอาญา รัชดาฯ หลังศาลมีคำสั่งยกฟ้องคดีสลายการชุมนุม 99 ศพเมื่อปี"53 โดยเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เมื่อวันที่ 28 ส.ค. |
จ่อยุติคดีฆาตกรรม ศาลอาญายกฟ้องมาร์ค-เทือก คดี 99 ศพ ชี้เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกฯ และรองนายกฯ แม้เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบก็ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งราชการ จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องส่งให้ป.ป.ช.ชี้มูลก่อน เผยหากป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิดคดีก็สิ้นสุด ด้านอธิบดีผู้พิพากษาเห็นแย้ง ระบุเป็นความผิดถึงแก่ความตายที่ศาลอาญาสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ จนอัยการสั่งฟ้อง จึงไม่มีปัญหาด้านเขตอำนาจศาล ญาติเหยื่อปืนปี"53 ช็อก เตรียมหารือขอความเป็นธรรมต่อไป เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ให้ญาติต้องตายเปล่า แม่เกดจ่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ บิ๊กตู่
ศาลอาญาสั่งคดี 99 ศพ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ส.ค. ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดประชุมคดีและตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะ ผอ. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ และพระสุเทพ เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความและคณะ โดยมีกลุ่มอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ และ กปปส. เช่น นายเทพไท เสนพงศ์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข มาร่วมฟังคำสั่ง และให้กำลังใจทั้งสองด้วย
ชี้ไม่ใช่อำนาจศาลอาญา
ศาลอ่านคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้ชุมนุม ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
คดีนี้มีข้อที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยทั้ง 2 มีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ระบุให้ คณะกรรมการป.ป.ช.เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และหากป.ป.ช. ชี้มูลความผิดต้องยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง
ยกฟ้อง-ส่งเรื่องป.ป.ช.
เมื่อวิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 เห็นได้ว่ามูลเหตุแห่งคดีเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่
ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
อธิบดีศาลอาญาเห็นค้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วยโดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็น ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา จากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการกล่าว หาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. ตามพ.ร.บว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ซึ่งป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดในการใช้หรือก่อให้ฆ่า ผู้อื่นตามฟ้องของอัยการโจทก์ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
แจงเหตุความเห็นแย้ง
"แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสอง เป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฎที่มา ของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง
นอกจากนี้ ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี แต่คดีที่ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนนั้นเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น ความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่น จึงเป็นบทหนัก โทษสูงกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก
แม้ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่องค์กรศาล ไม่มีอำนาจชี้ขาดหรือพิพากษาลงโทษผู้ใดได้ เพียงแต่ให้อำนาจตามมาตรา 66 ในการใช้ดุลยพินิจว่าสมควรไต่สวนหรือไม่เท่านั้น ซึ่งความผิดฐานฆ่าผู้อื่นดังกล่าวก็สืบเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ แล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงผู้ตาย โดยจำเลยทั้งสองเป็น ผู้ก่อหรือใช้ให้กระทำความผิด จึงเป็นความผิดคนละฐานและแตกต่างอย่างสิ้นเชิง หากป.ป.ช.เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูล ก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับป.ป.ช.ทำหน้าที่ศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมายป.ป.ช.มาตรา 66"นายธงชัยกล่าว
เตรียมฟ้องกลับดีเอสไอ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายหลังฟังคำสั่งนายอภิสิทธิ์และพระสุเทพไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด โดยนายอภิสิทธิ์เดินทางกลับพรรคทันที เพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ
ด้านนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจตนจะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐานนำสืบคดีที่ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ กับพวก ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์ฝ่ายอัยการโจทก์ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย
เดินหน้ายื่นอุทธรณ์
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายญาติผู้ตาย กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้เหนือความคาดหมาย เพราะเท่าที่ดูข้อกฎหมายเชื่อว่าอยู่ในอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณา ตามความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เนื่องจากการฆ่าคนตายไม่ใช่อำนาจหน้าที่ หลังจากนี้ตนในฐานะทนายของญาติผู้เสียชีวิตจะยื่นอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญา ส่วนอัยการก็มีอำนาจฟ้อง และดีเอสไอมีอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา คาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน แต่ไม่ทราบว่าทางอัยการจะยื่นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่
ทนายความญาติผู้ตายกล่าวอีกว่า สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหรือคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้จะยื่นฟ้องเองนั้น คงไม่สามารถกระทำได้แล้ว จึงต้องรอผลคำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์หรือคำสั่งว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีหรือไม่ หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดี อำนาจการไต่สวนจะไปอยู่ที่ป.ป.ช. และอำนาจพิจารณาคดีจะอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีวิธีพิจารณาแตกต่างจากศาลอาญา สำนวนที่ดีเอสไอทำไว้ก็จะใช้ไม่ได้ ดังนั้น ป.ป.ช.จะเป็นผู้ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบ รวมพยานหลักฐาน หากเห็นว่ามีมูลก็จะสรุปสำนวนส่งให้อัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
อัยการขอคัดสำนวนจ่ออุทธรณ์
ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ที่ไม่ค่อยได้เกิด ดังนั้นตนยังกล่าวอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลาคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนดังกล่าว ปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุป จะแถลงให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้แนวทางปฏิบัติ คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด จะขอคัดคำพิพากษาขององค์คณะและความเห็นแย้งของอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในรายละเอียดประกอบการตัดสินใจว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ภายใน 30 วันต่อไป
ญาติเหยื่อพร้อมสู้คดีต่อ
นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมศาลถึงมีคำพิพากษาเช่นนี้ หากเรื่องไปอยู่ที่ป.ป.ช. ก็กังวลว่าจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่ตนถูกยิงจนพิการ ก็จะขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อให้เอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่ก็ต้องปรึกษาทนายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ขณะที่พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ชุมจันทร์ พี่ชายของนายอัฒชัย ชุมจันทร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 กล่าวว่า เกินความคาดหมายเมื่อศาลบอกว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี โดยใช้เทคนิคของข้อกฎหมาย ย่อมค้านต่อความรู้สึกของญาติเหยื่อ เพราะการสั่งการที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริงเข้าสลายการชุมนุม ถือว่าเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าจะมีผู้เสียชีวิต เท่ากับเป็นการเจตนาฆ่าประชาชน แต่เราคงทำอะไรไม่ได้ หลังจากนี้คงต้องรอผลการยื่นอุทธรณ์ของอัยการและทนายก่อน แล้วจึงจะปรึกษากับทนายว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะยังอยากให้คนผิดได้รับการลงโทษ
ยื่น"บิ๊กตู่"ขอความเป็นธรรม
ขณะที่นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือ แม่น้องเกด 1 ใน 6 พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม กล่าวว่า ตนเคารพในคำตัดสินของศาลอาญาที่โอนคดีดังกล่าวไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ผู้วินิจฉัย แต่ยืนยันว่าในฐานะครอบครัวที่สูญเสีย จะยังคงเดินหน้าทวงถามหาความยุติธรรมให้กับลูกสาวต่อไป โดยเตรียมที่จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และป.ป.ช. คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปยื่นได้ อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลอาญาในวันนี้ญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมากในปี"53 ต่างก็เสียใจต่อคำตัดสินนี้ ไม่คาดคิดมาก่อนจะมันจะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ และอัยการคดีพิเศษ ต่างก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้อย่างชัดเจน และหลายเรื่องศาลก็วินิจฉัยไปแล้วว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำให้ตาย แต่มาวันนี้กลับเป็นตรงกันข้าม
ภาวนาขอความเป็นธรรม
นางสุริยันต์ พลศรีลา ภรรยาของนายชาญณรงค์ พลศรีลา อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 กล่าวว่า คิดไม่ถึงว่าศาลอาญาจะโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ สามีตนนั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นคดีฆาตกรรม ที่เกิดจากการสั่งการให้ทหารเข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในฐานะผู้สูญเสียก็คงจะเดินทางเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามีต่อไป และไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรช่วงนี้เพราะรู้ๆ กันอยู่ ใครออกมาเคลื่อนไหวก็จะถูกจับ ซึ่งคงขอเวลาหารือกับทนายก่อนว่าจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างไรต่อไป ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ญาติผู้เสียชีวิตหลายคนคงจะช็อกกับคำวินิจฉัยของศาลอาญาวันนี้ และไม่รู้จะทำอย่างไร คงได้แต่นั่งภาวนาให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นโดยเร็ว และตนเชื่อว่าใครทำอะไรไว้ผลกรรมที่ทำคงจะตามทัน
ลั่นเหยื่อต้องไม่ตายฟรี
นายผัน คํากอง พี่ชายของนายพัน คำกอง อดีตคนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตกลางดึกของวันที่ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา และเป็นคดีแรกที่ศาลจะอ่านคำสั่ง กล่าวว่า หลังทราบข่าวว่าศาลอาญายกฟ้อง นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในคดีร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยแทนตนก็รู้สึกเสียใจที่ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ตามคงเคารพในคำวินิจฉัยของศาล และคงต้องขอหารือกับนักกฎหมายก่อนว่าจะมีแนวทางใดบ้างในการฟ้องร้องเพื่อนำตัวผู้สั่งการมาลงโทษได้ ซึ่งขณะนี้ก็คงเหลือที่พึ่งอีกแห่งคือ ป.ป.ช. แต่ก็คงต้องทำใจ และเชื่อว่าญาติผู้เสียชีวิตหลายครอบครัวคงจะพูดอะไรไม่ถูก หากมีการไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ก็พร้อมที่จะไปด้วย ขอยืนยันว่าน้องชายของตนต้องไม่ตายฟรี
วอนรัฐบาลเห็นใจผู้สูญเสีย
นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ อายุ 56 ปี บิดาของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ เหยื่อกระสุนปืนจากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว กล่าวว่าจนถึงขณะนี้ตนและครอบครัวยังคงรอความยุติธรรม ซึ่งคดีของลูกชายตนทราบว่ายังอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการฯ ยังไม่ได้ส่งศาลเนื่องจากกำลังรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ ซึ่งก็ไม่เป็นไรจะกี่ปีกี่ชาติก็จะรอ อย่างไรก็ตามส่วนคดีที่ศาลอาญายกฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ คงไม่อยากไปวิจารณ์ คงได้แต่ขอความเห็นใจไปยังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ให้เห็นใจครอบครัว ผู้สูญเสียในปี"53 บ้าง ขอให้สั่งเร่งนำตัวคนสั่งการสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษโดยเร็ว
เผยอุทธรณ์ไม่ขึ้น-คดี 99 ศพจบ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีดังกล่าว หากอัยการยื่นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้ป.ป.ช.ไต่สวน หากป.ป.ช.มีความเห็นว่าไม่มีมูล คดีนี้ก็จบไป แต่หากชี้ว่ามีมูลความผิด ก็จะเป็นเฉพาะความผิดต่ออำนาจหน้าที่ ตามป.อาญา มาตรา 157 ซึ่งไม่มีบทลงโทษในเรื่องคดีฆาตกรรม
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ในฐานะคนทำคดีต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวยังมีขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อไป เชื่อว่าจะมีการอุทธรณ์ฎีกาคดี แต่ในเรื่องของความรู้สึกคงตอบแทนญาติผู้เสียหายและผู้สูญเสียไม่ได้ บุคคลเหล่านี้จะตอบคำถามเรื่องความรู้สึกหลังศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวได้ดีกว่าตน เพราะตนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น