- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 10 November 2017 15:38
- Hits: 8740
วิษณุ เชื่อนายกฯตั้ง 6 คำถามต้องการความเห็นจากปชช.มากกว่าดาราการเมือง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้ง 6 คำถามถามประชาชนว่า ส่วนตัวไม่ทราบที่มาที่ไปแต่เชื่อว่าในใจของนายกรัฐมนตรีคงคิดถึงสถานการณ์การเมืองในอนาคต จึงอยากลองให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นว่าเหตุการณ์บ้านเมืองต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใด หรือประชาชนมีความทุกข์และความเดือดร้อนด้านใดหรือไม่ นอกเหนือจากให้ฝ่ายการเมืองพูดอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่ประชาชนถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศ ซึ่งควรที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคงมีเป้าหมายให้ประชาชนและสังคมไทยได้ตอบคำถาม ไม่ใช่มีแต่ดาราที่ออกมาพูดไม่อีกคนซึ่งหนึ่งในนั้นก็อาจเป็นตนเอง หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็จะมีอยู่แค่นี้ ทั้งที่ความเป็นจริงยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นดารา แต่อยากแสดงความคิดเห็น ดังนั้นอยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันตอบทุกคำถามของนายกรัฐมนตรีผ่านช่องทางต่างๆที่กำหนดไว้
นายวิษณุ ยังกล่าวชื่นชม นายถาวร เสนเนียมอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาพูดว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ลงเล่นการเมืองต้องยอมรับการขุดคุ้ยเรื่องในอดีตเหมือนนักการเมืองในอดีตนั้น ถือว่าพูดได้ดี เพราะในความจริงต้องเป็นเช่นนั้น แต่ขณะนี้พลเอกประยุทธ์ ยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะลงเล่นการเมือง
"การพูดของนายถาวรทำให้การเมืองมีสีสัน และเป็นการพูดการเมืองที่ไม่ขัดต่อคำสั่ง คสช. ส่วนขณะนี้นายกรัฐมนตรีเป็นนักการเมืองแล้วหรือไม่ มองได้สองนัย คือ หนึ่งคนที่เล่นการเมืองกับนักการเมืองมืออาชีพ จึงกล่าวได้ว่าขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีทุกคนคือคนที่เล่นการเมือง"นายวิษณุ กล่าว
วิษณุ เผยรัฐบาลเล็งผ่อนคลายคำสั่ง คสช.ให้จัดเลือกตั้งระดับท้องถิ่นบางแห่ง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นรองรับการเลือกทั่วไป แต่จะต้องดำเนินการภายหลังมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่แล้ว
นายวิษณุ กล่าวว่า เตรียมเรียกกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อหารือแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงจะหารือถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่ที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อที่จะให้บางท้องถิ่นเตรียมการรองรับการเลือกตั้งทั่วไปได้ โดยการเลือกตั้งในบางท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร พัทยา และ เทศบาลต่างๆ ในบางพื้นที่ ที่อาจต้องผ่อนคลายคำสั่ง คสช.ให้สามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นการหาเสียงได้ แต่ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นในบางพื้นที่จะต้องได้ กกต. ชุดใหม่ก่อน
แต่จะไม่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 หรือคำสั่งอื่นใด เพื่อคืนตำแหน่งให้กับนักการเมืองท้องถิ่น หรือข้าราชการที่ถูกคำสั่งตรวจสอบความเกี่ยวข้องกับการทุจริตก่อนหน้านี้ เนื่องจาก ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะต้องตรวจสอบ ผลการสืบสวนสอบสวนจาก 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สตง. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ก่อน
เพื่อไทย ออกแถลงการณ์จี้ คสช.ปลดล็อคพรรคการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชน อย่ายื้อเวลา
พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้พรรคการเมืองได้ทำเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายบังคับ ให้ต้องทำ คสช.ได้เรียกร้องมาโดยตลอดให้ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย จึงควรที่ คสช.จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย มิฉะนั้นแล้วอาจมองได้ว่า คสช.ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง
พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ตามที่ได้มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาพรรคการเมืองและนักวิชาการบางส่วนให้ คสช.ปลดล็อค หรือยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ภายหลังที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.60 เป็นต้นมา ซึ่งเดิมหัวหน้า คสช.ได้ระบุว่าจะพิจารณาหลังเสร็จงานพระราชพิธีฯ แล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ต.ค.และวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา คสช.ได้ให้เหตุผลใหม่ที่ยังไม่ยกเลิกข้อห้ามพรรคการเมืองว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย โดยมีบางฝ่ายยังโจมตีกันและบิดเบือนอยู่ กฎหมายลูกอีกสองฉบับยังไม่เรียบร้อย การสรรหา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ทั้ง 7 คนยังไม่เสร็จสิ้น และอ้างว่า คสช.อาจใช้มาตรการพิเศษและมาตรการอื่นๆ ทางกฎหมายคลี่คลายปัญหาอุปสรรคที่จะมีขึ้นกับพรรคการเมืองในอนาคตได้
พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่พรรคการเมืองรวมถึงนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองจัดการประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น มิได้เป็นการขออะไรจาก คสช. เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่เป็นการขอให้ คสช.ขจัดอุปสรรคเพื่อให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงเป็นการเรียกร้องให้ คสช.และหัวหน้า คสช.ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมืองนั่นเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 45 บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ บัดนี้เมื่อมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้ กำหนดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และบังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ให้ดำเนินการหลายประการโดยมิได้มีข้อยกเว้นใดๆ ไว้ จึงเป็นหน้าที่ของ คสช.และหัวหน้า คสช.ที่จะต้องปฏิบัติให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง
ข้อสำคัญคือ สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเรื่องการจัดทำข้อบังคับ การตรวจสอบสมาชิก การจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หากทำไม่ครบถ้วนก็อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ เรื่องสำคัญคือในการจัดทำนโยบายพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนและสมาชิกพรรคด้วย พรรคการเมืองคงจะต้องลงไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจึงอาจเป็นช่องทางหรือข้ออ้างให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกดังเช่นได้มีข้ออ้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทำให้สังคมมองได้ว่า คสช.เล่นการเมืองและเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ หรือเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ คสช.หนุนหลังมีความพร้อมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด เมื่อได้พิจารณาเหตุผลข้ออ้างของ คสช.ที่ได้แถลงเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ตามที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น ถือเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผลและไม่เกี่ยวข้องหรือมีน้ำหนักให้ คสช.ต้องคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองในการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะการรักษาความสงบเรียบร้อยมีกฎหมายให้อำนาจ คสช.และรัฐบาลในการดำเนินการอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา คสช.ก็ใช้อำนาจนี้อย่างเต็มที่มาโดยตลอด จึงไม่ควรนำเรื่องที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมายกับข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยมาปะปนกัน ส่วนกฎหมายลูกอีกสองฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายพรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ สำหรับข้ออ้างเรื่องการสรรหา กกต. ชุดใหม่ด้วยแล้วก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบัน กกต. ชุดเดิมก็ทำหน้าที่อยู่ ทั้งยังได้ยกร่างระเบียบต่างๆ ไว้จนจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จากการแถลงของ คสช.ว่าอาจใช้มาตรการเสริม ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ในอนาคต แสดงให้เห็นว่า คสช.เองก็เล็งเห็นได้ว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้จากการไม่ยินยอมอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
"ข้ออ้างของ คสช.ทั้งหลายนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง จึงไม่ควรที่ คสช.จะยกข้ออ้างต่างๆ เพื่อหวังอยู่ในอำนาจให้ยาวนานต่อไป การเร่งรัดรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว จึงเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด" แถลงการณ์ฯ ระบุ
อินโฟเควสท์
ส.องค์การพิทักษ์รธน.ไทย ตอบ 6 คำถามของนายกฯ ชี้ผลงานตลอดกว่า 3 ปีสะท้อนความล้มเหลว
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ตอบคำถาม 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้โยนหินตั้งคำถามถึงอนาคตการเมืองไทย 6 ข้อเมื่อวานนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอติงว่า 'บิ๊กตู่' หมดเวลาที่จะมาสร้างวาทะกรรมเพื่อกลบเกลื่อนกระแสขาลงของตนเองที่สะท้อนผ่านโพลที่เคยมีกระแสนิยมจาก 78.4% เหลือเพียง 52% อยู่ในขณะนี้ เพราะผลงานตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเข้ามายึดอำนาจและบริหารราชการแผ่นดินแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหาก "บิ๊กตู่" อยากรู้จริงๆ เกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรนั้น สมาคมฯ ขอตอบคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้
คำถามที่ 1 การที่จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ หรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าการเป็นนักการเมืองต้องกล้าเปิดเผยตัวเองออกมาให้ประชาชนได้เลือกดีกว่ามีนักการเมืองพวกอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองถึงจะชั่วจะดีประชาชนก็สามารถตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ได้
คำถามที่ 2 คสช.ไม่มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ต้องวางตัวเป็นกลางเท่านั้น เพราะ คสช.และแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้วางกฎ ระเบียบใหม่ของสังคม หาก คสช.อยากจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดเสีย ณ บัดนี้ อย่างทำตนเป็นอีแอบต่อไป
คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติเลย ดังนี้
- การแก้ไขปัญหาที่อ้างว่าหมักหมมมานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ การวางแผนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU , ICAO ฯลฯ นั้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใช้ประชาชนเป็นข้ออ้างเท่านั้น แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนใกล้ชิดรัฐบาลแทบทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มมากกว่าเดิม ทั้งการแก้ IUU, ICAO และไม่เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง แค่เริ่มต้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศก็ขาดธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจะไปคาดหวังการเมืองไทยในอนาคตที่มีประสิทธิภาพที่มาจาก คสช. หรือรัฐบาลนี้ได้อย่างไร
- การทำงานของทุกรัฐบาล แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด แต่นโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันด้วย ส่วนยุทธศาสตร์ชาติหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เพราะไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วม ก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่จะแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ประชาชนต้องการ
คำถามที่ 4 ตลอดระยะเวลากว่า 85 ปีของระบอบประชาธิปไตยของไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่หรือฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่มีมือที่สามหรืออำนาจแฝงมาคอยควบคุมการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลในยุคใด พ.ศ.ใด ก็สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เพราะนิสัยคนไทยชอบรักสงบ เว้นแต่พวกที่อยากจะมีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ที่มักชอบใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นใหญ่ โดยเอาประชาชนมาเป็นข้ออ้าง อ้างขจัดความขัดแย้ง อ้างปราบปรามคอรัปชั่น ฯลฯ ณ วันนี้ดัชนีคอรัปชั้นของไทยทำไมจึงตกจาก 76 ไปอยู่ที่ 101
คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย แม้จะขาดประสิทธิภาพ ขาดธรรมาภิบาลไปบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาครบวาระประชาชนก็สามารถที่จะใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนของตนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและตรวจสอบได้ คนไหนดีประชาชนก็เลือกกลับมาได้ คนไหนไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกเข้ามา แต่การพัฒนาประเทศที่ไม่มีความต่อเนื่องที่ผ่านมาเพราะ คนที่อยากมีอำนาจไม่อยากผ่านการเลือกตั้งต่างหาก
คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุที่พรรคการเมือง นักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกตินั้น ก็เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ เชื่อมั่น คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีต่างหาก นายกรัฐมนตรีต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองบ้างว่าเคยสัญญิงสัญญาอะไรไว้กับประชาชนแล้วทำไม่ได้บ้าง เคยลั่นวาจาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี 58 ก็เลือนมาเป็นปี 59 ก็เลือนมาเป็นปี 60 ก็เลือนไปเป็นปี 61 และก็ไม่แน่ใจว่าในปี 62 จะมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ เช่นนี้ยังคิดจะมาถามประชาชนอยู่อีกหรือ การใช้อำนาจโดยขาดการตรวจสอบนั้นชอบหรือไม่ การแทรกแซงองค์กรอิสระนั้นมีหรือไม่ การใช้เงินภาษีของประชาชนไปใช้ซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลในขณะที่ข้าวยากหมากแพงนั้นเหมาะสมหรือไม่ การออกกฎหมายหรือยกเว้นกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุนนั้นชอบหรือไม่ ฯลฯ ท่านนายกฯไม่ต้องมาถามประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร แต่ควรกลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่า “การเสียสัตย์เพื่อชาติ" นั้นมันคุ้มหรือไม่ต่างหาก
อินโฟเควสท์