- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 30 September 2017 23:04
- Hits: 28543
นายกฯ พอใจขีดความสามารถการแข่งขันไทยดีขึ้น 2 อันดับ สะท้อนศักยภาพของประเทศหลายด้านในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยระบุว่า เป็นเรื่องน่ายินดีของประเทศไทยที่ในการประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของสภาเศรษฐกิจโลก ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลก หรือดีขึ้น 2 อันดับจากปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจทั้งในภาพรวม, ด้านเศรษฐกิจมหภาค และนโยบายยกระดับการให้บริการของภาครัฐ โดย 1. ในภาพรวม ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นใน 8 ด้านหลัก และอีก 4 ด้านหลักมีคะแนนเท่าเดิม โดยไม่มีด้านหลักใดที่คะแนนลดลงเลย ทั้งนี้ ในส่วนที่ดีขึ้นมีเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพตลาดแรงงาน การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม รวมทั้งนวัตกรรม ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งไปสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" และการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อรองรับยุคดิจิทัลของประเทศในอนาคต
2. ด้านเศรษฐกิจมหภาค ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งเป็นด้านเดียวที่ไทยติดอยู่ใน10 อันดับแรกของโลก โดยมีปัจจัยส่งเสริมในหลายด้าน อาทิ การใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีกลไกในการปกป้องนักลงทุนที่ดีขึ้น ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ภาคเอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ตลาดทุนและสินเชื่อ ทำได้ง่ายขึ้น ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขยายตัวดีขึ้น อันเป็นผลมาจากโครงการเน็ตประชารัฐที่ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ตลาดต่างประเทศและการส่งออกสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นต้น
3. นโยบายยกระดับการให้บริการของภาครัฐหลายมาตรการ โดยเฉพาะเรื่อง Ease of doing business ซึ่งมุ่งเน้นการลดระยะเวลาในการเริ่มก่อตั้งธุรกิจลงนั้น นับเป็นปัจจัยแรกที่บ่งชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้คะแนนในส่วนนี้ปรับดีขึ้น และคาดว่าในปีต่อไปจะดีขึ้นได้อีก เนื่องจากรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนวันในกระบวนการต่าง ๆ ลง 10 เท่า คือจาก 25 วันครึ่งให้เหลือเพียง 2 วันครึ่ง
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจ SMEs Startups สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งบริษัทประชารัฐรู้รักสามัคคี จำกัด ทั่วประเทศด้วย เพราะเป็นกลไกเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับรายได้ของประเทศด้วยการส่งออก มีการผลิตนวัตกรรมสินค้าที่จะแข่งขันกันได้ เป็นโอกาสให้ทางเลือกให้กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่เหล่านี้จะต้องเชื่อมโยงกันให้ได้ และจะต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น
โดยสรุปแล้ว ผลการจัดอันดับดังกล่าวนั้นก็เป็นมุมมองจากภายนอกที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นศักยภาพและความท้าทายของไทยในอนาคตในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ 1) ความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพของตลาดการเงิน 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง 3) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในการสร้างนวัตกรรม 4) การเพิ่มขนาดของตลาดภายในประเทศและลดการพึ่งพาการส่งออก
"เราจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกประชารัฐ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันในทุก ๆ กิจกรรม นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ เนื่องจากการลงทุนเพื่ออนาคตนั้น ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรและเงินทุน รวมทั้งต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง ที่สำคัญคือความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมระบุว่า หลายคนอาจไม่ทราบหรือลืมไปแล้วว่าเป็นผลงานที่รัฐบาลนี้ได้พยายามแก้ไข พยายามปรับปรุง และทำให้ดีขึ้นเป็นผลสัมฤทธิ์จนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
อินโฟเควสท์