- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 26 September 2017 22:06
- Hits: 14416
นายกฯ ยันยุทธศาสตร์ชาติแค่เป้าทำงานให้รัฐบาลหน้า คาดแล้วเสร็จ ก.ค.-ส.ค.61
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินัดแรกว่า เป็นการวางแผนทำงาน โดยนำแผนงานและข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเขียนเป็นแผนแม่บทกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งต่อจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเป็นผู้ออกแบบแผนงานและโครงการเพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ใน 6 ด้าน
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้ไปกำหนดกรอบการทำงานให้กับรัฐบาลหน้า แต่เป็นการวางเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยรัฐบาลหน้าสามารถปรับเปลี่ยนแผนงานได้ตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ขออย่ามองว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะตนไม่เคยคิดสืบทอดอำนาจ เพียงแต่กำหนดกรอบให้รัฐบาลได้รู้หน้าที่ในการกำหนดอนาคตของประเทศ
"อย่าไปมองว่าสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่สืบทอดอำนาจของผมเลย รัฐบาลจะได้รู้หน้าที่ตัวเองว่าบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรให้มีอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. แถลงว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่ สศช.ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นเรื่องในการพิจารณาจัดทำรายละเอียดหลังจากนี้
นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง, ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ด้านการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์, ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยตามกฎหมายสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละด้านได้ 15 คน ซึ่งวันนี้ได้มีการพิจารณารายชื่อคณะกรรมการบางส่วน ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอ ซึ่งหลังจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งแล้วก็จะประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
นายดนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้วางกรอบปฏิทินการทำงาน โดยระหว่างนี้จะจัดทำร่างยุทธศาสตร์แต่ละด้านภายใน 120 วัน รับฟังความคิดเห็นประชาชน 30 วัน ปรับปรุงแก้ไขตามผลการรับฟังความคิดเห็นภายใน 45 วัน และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใน 30 วัน ส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมาย 30 วัน ก่อนทำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าน่าจะดำเนินการตามกระบวนการแล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคม หรือเดือนสิงหาคม 2561
อินโฟเควสท์