- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 23 August 2014 23:11
- Hits: 4257
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8669 ข่าวสดรายวัน
มึนบัตรสนช. ยาว 6 ปี-หมดอายุ 63 บิ๊กตู่ลั่นตรึงราคายางไม่ต่ำ 50 บ. เปิดอีกโผครม.บิ๊กเจี๊ยบบัวแก้ว 'บรรพต'เกษตร-'ยงยุทธ'ศึกษา
เตือนม็อบยางพาราอย่าเคลื่อนไหวประท้วง'บิ๊กตู่'ระบุถ้าขึ้นมาก็จะไม่ได้อะไรกลับไป เพราะของเก่าในสต๊อกยังระบายไม่ได้ ยืนยันจะพยายามไม่ให้ต่ำกว่าก.ก.ละ 50 บาท ซัดกลุ่มต่อต้านอ้างประชาธิปไตยและการเลือกตั้งโจมตีคสช. ด้านสำนักนายกฯออกหนังสือเวียนหัวหน้าส่วนข้าราชการร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ ที่บก.ทบ. ฮือฮาบัตรประจำตัวสนช.หมดอายุพ.ศ.2563 วิจารณ์แซ่ดส่ออยู่ยาว 6 ปี เปิดโผครม. 'บิ๊กเจี๊ยบ-ธนะศักดิ์'นั่งรมว.ต่างประเทศ ขณะที่รมว.ศึกษาฯ ทาบ'ยงยุทธ ยุทธวงศ์'ดูแล ส่วนรมว.เกษตรฯ ตั้งอดีตปลัด'บรรพต หงษ์ทอง'ไปนั่งบัญชาการ
ยื่นผู้ตรวจฯ สอบสนช.โหวตบิ๊กตู่
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 22 ส.ค. ที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายเฉลิมศักดิ์ จันทร์ทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีสมาชิกสนช. ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกันขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เนื่องจากคสช.เป็นผู้เลือกสนช.และต่อมาสนช.ก็ลงมติเลือกหัวหน้าคสช.เป็นนายกฯ อาจถือได้ว่าเกี้ยเซี้ยหรือผลัดกันเกาหลัง การเข้ายึดอำนาจการปกครองจึงเป็นเพียงเพื่อต้อง การตำแหน่งนายกฯ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังวางระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือถ่วงดุลกันระหว่างคสช.และนายกฯ โดยกำหนดให้คสช.เสนอให้สนช.มีมติทูลเกล้าฯให้นายกฯพ้นจากตำแหน่งได้ ดังนั้น หากหัวหน้าคสช.และนายกฯเป็นคนเดียวกัน จะเสนอชื่อตนเองให้พ้นจากตำแหน่งได้อย่างไร
จี้'ประยุทธ์'ลาออกจากหน.คสช.
นายศรีสุวรรณระบุว่า แม้จะมีนายกฯและครม.ขึ้นบริหารประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคสช.ไว้ต่อเนื่องแทบทุกด้านโดยสามารถรายงานให้หัวหน้าคสช.และนายกฯรับทราบ มีอำนาจ สั่งการระงับหรือยับยั้งการกระทำใดๆ ดังนั้น เมื่อหัวหน้าคสช.และนายกฯเป็นคนเดียวกัน จึงเปรียบเหมือนการส่งรายงานมือซ้ายไปให้มือขวา สมาคมจึงร้องเรียนมาที่ผู้ตรวจการฯเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยตนจะถอนคำร้องก็ต่อเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากหัวหน้าคสช. เพื่อไม่ให้นั่งถ่างขาควบสองตำแหน่งเช่นเดียวกับคสช.คนอื่นๆ ที่อาจได้เป็นรัฐมนตรี ก็ควรลาออกจากคสช. ไม่นั่งถ่างขาเช่นกัน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนจะไม่เข้ารับการสรรหาเป็นสปช. และไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ เพราะไม่ถนัดเป็นฝักถั่วให้ใคร ขอทำงานที่ถนัด เช่น เอ็นจีโอและนักกฎหมาย และขอเรียกร้ององค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ของรัฐที่เสนอชื่อบุคคลเข้าเป็นสปช. เพราะไม่เหมาะสมและเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
ด้านนายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้นิ่งนอนใจ จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด แต่เรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากฉบับอื่น จะต้องพิจารณารอบคอบ
คสช.ลั่นไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหมประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.เข้าควบคุมการบริหารประเทศ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้แทนผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุม เช่น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผบ.สส. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผบ.ทบ. พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้ช่วยผบ.ทร. และพล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ
วาระการประชุมสภากลาโหมในวันนี้เป็นวาระปกติ โดยเน้นพิจารณากฎหมายสำคัญของกระทรวงกลาโหม ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงใหัทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น ระเบียบราชการศาลทหาร พ.ศ.2532 รวมไปถึงวาระที่เหล่าทัพต่างๆ จะเสนอเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภากลาโหม
ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. เปิดเผยถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. เข้ารับตำแหน่งนายกฯอย่างเป็นทางการว่า ขณะนี้ประชาชนยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็เข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากกว่าเดิมแม้จะยังใช้กฎอัยการศึก ดังนั้น การที่คสช.ยังต้องดำรงกฎอัยการศึกไว้เพื่อความสงบเรียบร้อย ยืนยันว่ากฎอัยการศึกไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
'บิ๊กตู่'ถกกรอ.-ขอบคุณกำลังใจ
เวลา 14.00 น. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคสช. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2/2557 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ในฐานะผู้แทนพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. รวมถึงปลัดกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความยินดีกับพล.อ. ประยุทธ์ ที่ได้รับเลือกจาก สนช.ให้เป็นนายกฯ คนที่ 29 ของไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้เกียรติและเป็นกำลังใจให้ ซึ่งจะขอเดินหน้าทำงานไปด้วยกันกับทุกฝ่าย ส่วน กรอ.นั้นอยากให้ปรับปรุงการทำงาน โดยภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน กลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าที่ประชุมชุดใหญ่เพื่อใช้เวลาการประชุมให้น้อยลง หรือทำงานแบบวันสต๊อปเซอร์วิส และจัดทำสรุปการทำงานทั้งหมด เสนอรัฐบาลรับทราบว่าใน 1 ปีมีเรื่องเร่งด่วนใดบ้างที่ต้องดำเนินการ
สั่งสร้างหนังจูงใจนักท่องเที่ยว
หัวหน้า คสช.กล่าวถึงปัญหาด้านการท่องเที่ยวว่า ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปจัดทำโรดแม็ป เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพาสปอร์ต วีซ่า ให้กระทรวงการคลังไปดูแลเรื่องการจัดเก็บภาษี กระทรวงวัฒนธรรมไปจัดสร้างหนังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนมาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งเนื้อหาจะต้องสอดแทรกให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ มรดกของไทยและสิ่งที่ชาวต่างชาติต้องการเห็น ขณะที่การเปิดชายแดนต้องมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหา ไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ดูแล เน้นเปิดจุดที่เป็นช่องทางหลัก เดินทางไปมาสะดวก
หัวหน้า คสช.ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องเด็กที่มีการว่าจ้างผู้อื่นทำการบ้านแทนด้วยว่า จะต้องไปหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอนใหม่ เพื่อพัฒนาให้เด็กฉลาดขึ้น
สำหรับ วาระการประชุม กรอ.มีเรื่องพิจารณา คือข้อเสนอด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ข้อเสนอด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม ข้อเสนอด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และข้อเสนอด้านการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
เชิญร่วมพิธีรับสนองราชโองการ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายบริหาร รักษาราชการแทนเลขาธิการนายกฯ ได้ลงนามในหนังสือเพื่อส่งไปยังกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ เพื่อเชิญร่วมพิธีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ในหนังสือระบุว่า ตามที่สนช.ได้มีมติเห็นชอบให้พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในการประชุมสนช.เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา และประธานสนช.นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศพระบรมราชการโองการแต่งตั้งนายกฯต่อไปนั้น ในการนี้สำนักเลขาธิการนายกฯ ขอเรียนเชิญร่วมเป็นเกียรติในพิธีรับพระบรมราชโองการดังกล่าว ที่ห้อง 223 อาคาร 2 ชั้น 2 กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อทรงมีพระบรมราชโองการจะแจ้งวันและเวลาให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ขอให้แต่งกายโดยชุดปกติขาว
มท.สั่งเช็ดเก้าอี้รอรัฐมนตรีใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ได้จัดเตรียมทำความสะอาดห้องทำงานรมว.มหาดไทย บนศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยบริเวณมุขด้านหน้า และห้องทำงานของรมช.มหาดไทยทั้ง 2 ห้อง ห้องทำงานของคณะทำงานและที่ปรึกษารัฐมนตรี รวมถึงห้องพิพิธภัณฑ์กระทรวง เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อมีการเสนอโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งครม. จะใช้เป็นห้องทำงานได้ทันที
อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดห้องทำงานรมว.มหาดไทย ปกติทำสัปดาห์ละครั้ง แต่ล่าสุดมีการสั่งการจากปลัดกระทรวงให้ทำความสะอาดทุกวัน เพื่อเตรียมพร้อมรับรมว.มหาดไทยคนใหม่
เลือก'พิศิษฐ์'ผู้ว่าการสตง.คนใหม่
ที่รัฐสภา คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหา ได้ประชุมคัดเลือกผู้ที่สมควรเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) 1 คน และคตง. 7 คน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเลือกนายพิศิษฐ์ ลีลา วชิโรภาส เป็นผู้ว่า สตง. ส่วนคตง. ได้แก่ นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ และนางอุไร ร่มโพธิหยก ด้านบัญชี นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม และนายสุทธิพล ทวีชัยการ ด้านกฎหมาย นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์ ด้านเศรษฐศาสตร์ นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ด้านบริหารธุรกิจ และนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสรรหาจะส่งรายชื่อดังกล่าวให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เพื่อดำเนินการต่อไป
ตะลึง'บัตรสนช.'อยู่ยาว 6 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงวาระการทำงานของสนช.ว่าอาจนานถึง 6 ปี ไม่ใช่ 1-2 ปี ตามแนวทางโรดแม็ปปฏิรูปประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุว่าคสช.จะเข้ามาสร้างความปรองดอง จัดตั้งรัฐบาลและมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ 1 ปี แล้วจัดเลือกตั้งใหม่ โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงบัตรประจำตัวของสมาชิกสนช. ที่ระบุไว้ในบัตรว่า สนช.มีอายุการทำงานนานถึง 6 ปี เนื่องจากในบัตรประจำตัวระบุวันออกบัตรเป็นวันที่ 18 ส.ค.2557 และวันหมดอายุวันที่ 17 ส.ค. 2563 จนเกิดเสียงวิจารณ์ว่าส่อนัยว่าสนช.ชุดนี้อาจมีวาระนานถึง 6 ปี ไม่ใช่ 1-2 ปีตามโรดแม็ป
น้องบิ๊กตู่อ้างมีโรดแม็ปอยู่แล้ว
พล.อ.ธีรเดช มีเพียร สมาชิกสนช. กล่าวว่า เพิ่งทราบว่าบัตรสมาชิกสนช.ระบุวันหมดอายุในปี 2563 เห็นว่าการระบุเช่นนี้ไม่มีนัยยะสำคัญว่าสนช.จะทำงานลากยาว เพราะมีโรดแม็ปว่าต้องเลือกตั้งภายใน 1 ปี ตนไม่อยากให้คิดมาก แต่ขอให้มอง 2 มุมคือ หากทำงานเสร็จเร็วกว่าโรดแม็ปที่วางไว้ สนช.ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อ แต่หากทำงานไม่เสร็จตามโรดแม็ปก็ยังมีสนช.ทำงานได้ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกสนช. กล่าวว่า การทำงานของสนช. มีโรดแม็ปอยู่ แต่จะอยู่นานแค่ไหนเป็นเรื่องอนาคต การที่บัตรสนช.มีอายุถึง 6 ปี ภายในสนช.ก็คุยกันบ้างแต่ต้องรอดูให้ถึงวันนั้น รวมถึงต้องให้คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมให้เสร็จก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าจะให้สนช.อยู่ 1-2 ปี หรือกี่ปี
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเหตุใดบัตรสนช.จึงระบุวันหมดอายุในปี 2563 เชื่อว่าคงเป็นเรื่องระบบการจัดทำบัตรมากกว่า ไม่เกี่ยวกับการส่อเจตนาให้สนช.มีอายุทำงานนานขึ้น ไม่มีทางเป็นไปได้ สนช.ชุดนี้อยู่ทำงานเต็มที่เพียง 1-2 ปี เมื่อเลือกตั้งใหม่ มีส.ส.ชุดใหม่เข้ามา ก็หมดหน้าที่ลงแล้ว
สนช.ร่างข้อบังคับ-จ่อถอดถอน
ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 เป็นประธาน พิจารณาความคืบหน้าของร่างข้อบังคับการประชุม
โดยสรุปเสนอตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ 2 ชุด เพื่อศึกษาการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ให้ครอบคลุมตามที่กฎหมายกำหนดให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งจากรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึงศึกษารายละเอียด เพื่อยกร่างข้อบังคับในส่วนการพ้นสมาชิกภาพของสนช.เอง เพื่อให้ทันต่อกรอบเวลาการยกร่างข้อบังคับการประชุม โดยกำหนดให้แต่ละอนุกรรมาธิการแต่งตั้งที่ปรึกษาบุคคลภายนอกได้ไม่เกิน 10 คน เพื่อช่วยทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลรายละเอียด ล่าสุดได้เพิ่มหมวด การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในร่างข้อบังคับการประชุมแล้ว
กมธ.หั่นงบคมนาคม 736 ล้าน
วันเดียวกัน พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เปิดเผยว่ากมธ.ได้ปรับลดงบประมาณของกระทรวงคมนาคมลง 736 ล้านบาท ขณะที่ยอดรวมการปรับลดใน 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวม 2,423 ล้านบาท ทั้งนี้ จะส่งให้คณะอนุกมธ.พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะปรับลดหรือเพิ่มงบประมาณ อย่างไรก็ตาม กมธ.เน้นย้ำให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า ให้ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า โปร่งใส พร้อมกระจายงบประมาณไปทุกภูมิภาค เพื่อพัฒนาสู่การบริการประชาชนที่ดีขึ้น
ชื่อ'บิ๊กเจี๊ยบ'เสียบรมว.บัวแก้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 191 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ลาป่วย 3 เสียง จากนั้น เลขาธิการวุฒิสภา นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายกฯคนที่ 29 และตามโรดแม็ประยะที่ 2 ที่คสช.วางไว้ไม่เกินต้นเดือนก.ย.นี้ จะมีคณะรัฐมนตรีเพื่อเริ่มบริหารประเทศต่อไป
สำหรับ หน้าตาของครม. คาดว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะเสนอชื่อ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายความมั่นคง ดำรงตำแหน่งรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ หรืออาจจะเป็นรมว.กลาโหม เพื่อดูแลงานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ
ส่วนพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผบ.ทบ. เพื่อนร่วมรุ่นตท.12 ของพล.อ.ประยุทธ์นั้น คาดว่าจะดำรงตำแหน่งรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพราะพล.อ.ประยุทธ์ อยากให้มาดูเรื่องป่าไม้อย่างจริงจัง และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการเดินหน้าปลูกป่าตามโครงการพระราชดำริ และการบุกรุกพื้นป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
'บิ๊กเต่า'นั่งพม.-'ยงยุทธ'ศึกษาฯ
สำหรับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อนร่วมรุ่นตท.12 ที่ทำงานด้านการปฏิรูปประเทศ ซึ่งถือว่าทำงานด้านมวลชนมานาน เป็นคนที่ทำงานดี คาดว่าน่าจะถูกดึงเข้ามาเป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขณะที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คาดว่าจะได้รับตำแหน่งรองนายกฯควบรมว.ศึกษาธิการ หรือรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ คาดว่าจะเข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจในตำแหน่งรองนายกฯควบรมว.พลังงาน
ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวน การยุติธรรม คาดว่าหัวหน้าคสช.วางตัวให้ดูแลขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม และยาเสพติด น่าจะได้รับตำแหน่งรมว.ยุติธรรม ขณะที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คาดว่าน่าจะเป็นรมว.พาณิชย์ หรือกระทรวงคมนาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผบ.ตร. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ น่าจะได้รับตำแหน่งรมต.ประจำสำนายกฯดูแลเกี่ยวกับสื่อของรัฐ
อย่างไรก็ตาม มีข่าวอีกกระแสว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ได้แก่ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์ฯ และที่ปรึกษาคสช. ส่วนรมว.เกษตรและสหกรณ์นั้นมีการทาบทามนายบรรพต หงษ์ทอง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีดูแลด้านนี้
กกต.สรุปสปช.ล่าสุด 1.83 พันคน
ที่สำนักงานกกต.นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. แถลงสรุปยอดการเปิดรับเสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่ 9 ว่ามีองค์กรนิติกรบุคคลไม่แสวงหากำไรยื่นเสนอรายชื่อในส่วนของสำนักงานกกต.กลาง 11 ด้านรวม 138 คน เป็นองค์กรนิติบุคคลยื่นเอง 105 คน และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 33 คน ส่วนที่เสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดมี 285 คน รวมวันนี้ทั่วประเทศมีผู้เสนอชื่อ 423 คน สรุป 9 วัน มีองค์กรนิติบุคคลที่เสนอชื่อ 541 คน สมัครทางจังหวัด 1,289 คน รวม 1,830 คน คาดว่าภายในสุดสัปดาห์นี้จะมีองค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อถึง 2 พันคน
สำหรับ การเข้ารับการเสนอชื่อเป็นสปช.ขององค์กรนิติบุคคลในวันนี้ มีบุคคลชื่อดัง อาทิ สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย เสนอชื่อ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ อดีตส.ว.สรรหา พรรคเพื่อแผ่นดิน เสนอชื่อพล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีตรองผบ.ทบ. ในด้านการเมือง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เสนอชื่อนางจรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และพญ.ดิษยา รัตนากร ประธานมูลนิธิวิจัยประสาทฯและมูลนิธิส่งเสริมนโยบายศึกษา เสนอชื่อนางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผอ. สถาบันนโยบายศึกษา ในด้านการศึกษา
ขณะที่สมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย เสนอชื่อนายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ในด้านการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เสนอชื่อคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ในด้านการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี เสนอชื่อพล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก บุตรชายพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผบ.ทบ. ในด้านการเมือง
'บิ๊กตู่'ฮึ่มเตือนเลิกต่อต้านคสช.
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าอยากขอความร่วมมือ ขอร้องผู้ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ พยายามจะต่อว่าหรือต่อต้าน โดยเลือกจะพูดคำว่าประชาธิปไตย โดยการคืนอำนาจและเลือกตั้ง หรือตำหนิติเตียน ทำใบปลิว บัตรสนเท่ห์ ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กให้ร้ายการกระทำอันเป็นเจตนาดีของคสช. ตนไม่ทราบว่าทำไปเพื่ออะไร ยังคงมีการซุ่มซ่อน หลบเลี่ยง ดำเนินการปกปิดซ่อนเร้นอยู่ตลอด ตนทราบว่ามีการประชุมกันอยู่หลายที่ เป็นคนกลุ่มเดิมๆ พูดจากันว่าอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ดีกับการขับเคลื่อนประเทศในวันข้างหน้าหรือการปฏิรูป
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ตนพูดอยู่เสมอว่าเราอยากสร้างบรรยากาศการปรองดองในการปฏิรูปประเทศในเวลาสั้นๆ ให้ได้ แต่หลายคนพยายามจะนำกลับไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ปกติอีกต่อไป โดยใช้คำว่าประชาธิปไตย การเลือกตั้ง โดยไม่เห็นว่าประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ เกิดความไม่ปลอดภัย ขาดความน่าเชื่อถือจากสังคมโลก การทุจริตผิดกฎหมาย ใช้ทุกวิธีการทั้งผิดและถูกเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในการกระทำดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ถูก ซึ่งคงเกิดได้เฉพาะบางพวกบางกลุ่ม บางพื้นที่เท่านั้น ไม่ทั่วถึงและไม่แก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนได้เลย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากผลดำเนินงานของ คสช. ระยะที่ 1 ประมาณ 3 เดือน มีความก้าวหน้า แก้ไขปัญหามาในระดับหนึ่ง ไม่อยากให้ทุกอย่างเป็นไฟไหม้ฟาง ทำแล้วแก้แล้วแต่พอเราไปทำเรื่องอื่นที่มีปัญหามาก เรื่องเก่า อำนาจเก่า ผู้มีอิทธิพลเก่าจะเข้ามาอีก พยายามกลับไปเป็นแบบเดิมอีกโดยใช้กระแสสังคม ใช้กระแสผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย ทำให้เข้าใจผิดและทำผิดกฎหมายหรือละเมิดความสงบเรียบร้อยของสังคม ใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน ซึ่งต้องขอร้องให้เลิก
ยันจะทำกฎหมายให้เท่าเทียมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าการดำเนินการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของคสช. เราพยายามปรับปรุงแก้ไขในเรื่องเร่งด่วน เรื่องใหญ่ๆ ที่มีผลผูกพันกับหลายอย่างต้องแก้กันในสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)หรือสนช. เราไม่ควรออกเป็นคำสั่งหรือประกาศต่างๆ เพื่อหาวิถีทางกำจัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่การจะทำให้เกิดความยั่งยืนถาวร ต้องแก้ในสนช. ในสปช. เราต้องทำกฎหมายทุกอย่างให้เป็นธรรมกับคนไทยทั้งประเทศ วันหน้าเราต้องกลับเข้ามาสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายพอใจ เราพยายามปรับแก้สิ่งเหล่านั้น น่าจะดีกว่าการให้ คสช.แก้ด้วยความรวดเร็วโดยใช้กฎหมายพิเศษ
"ผมคิดว่า ทุกคนคงไม่มีใครอยากทำไม่ดี อยู่ที่ใครจะควบคุมการใช้อำนาจให้ถูกต้องได้มากน้อยเพียงใด ทุกคนต้องช่วยกัน วันนี้อย่าเพิ่งมาติ ให้ร้ายกันตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรหรือทำไปบ้างแล้ว จะถูกผิด จะดีไม่ดี กฎหมายต้องตัดสินมา เมื่อจะแก้ไขเราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีปฏิบัติให้เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปยกโทษให้ ซึ่งยังไม่มี ทำไม่ได้ คนผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย อันนี้มีไว้สำหรับคนทุกคนที่ผิดกฎหมาย" หัวหน้าคสช. กล่าว
จะพยายามไม่ให้ยางต่ำกว่า 50 บ.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตอนนี้มีตั้งแถวกันแล้ว รอมาร้องเรียนถ้าราคาตกต่ำกว่า 50 บาท ก็พยายามจะไม่ให้ต่ำกว่า 50 บาทอยู่ เราไม่อยากให้เสียเวลาเดินทางมาและไม่ได้อะไรกลับไป เพราะเรายังไม่มีเงินให้ ของเก่าก็ยังอยู่ ของใหม่จะทำอย่างไร เราต้องทำให้เกิดการแข่งขัน เกิดประโยชน์จากยางมากขึ้น ซึ่งแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เตรียมระบายยางในสต๊อกจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งรับซื้อในสมัยที่ผ่านมาจำนวนมาก ราคาสูง ขายไม่ได้เพราะราคาบิดเบือน ต้องมาเก็บสะสมไว้ ขาดทุน ขายไม่ได้
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ขณะเดียวกัน รุ่นใหม่ก็เรียกร้องจะเอาเท่าเก่าอีก จะเป็นไปได้อย่างไร จึงต้องแก้กันทั้ง 2 อย่าง อย่างแรกต้องให้ยางเหล่านี้หรือยางใหม่ใช้ในประเทศเป็นหลักได้ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางดิบให้ได้ โดยเชื่อมต่อกับบีโอไอ เชื่อมต่อกับโรงงานต่างๆ ที่ผลิตยางไปทำถนน ทำถุงมือ ซึ่งต้องแก้ระเบียบ แก้กฎต่างๆ มาก เรากำหนดแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ วันนี้หลายประเทศปลูกเอง หลายประเทศไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคายางหรือความต้องการยางไทยลดลง จึงต้องเข้าใจตรงนี้ เราต้องช่วยตัวเองบ้าง
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ส่วนปัญหาพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ตนได้กำชับ 3-4 กระทรวงหลักต้องรับผิดชอบให้ได้ ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ต้องทำงานต่อเนื่องกัน ดังนั้น การกำกับดูแลของรัฐบาลและครม.ต้องตามติดเรื่องพวกนี้
ปลื้มบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี
"ส่วนการเดินสู่ประชาธิปไตยในอนาคตคือการปฏิรูปและการปรองดอง ทุกคนเป็นห่วงความต่อเนื่องในการทำงานปฏิรูปของ คสช.และรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา ผมได้พูดทำความเข้าใจโดยเปิดเผยทุกเรื่อง กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ชี้แจงเป็นระยะ ซึ่งก็ต้องฟัง พูดไปแล้วไม่ฟัง พูดไปแล้วก็ลืม พูดไปแล้วไม่สนใจก็มีปัญหาตลอด ไม่เช่นนั้นผมจะมาพูดทำไม พูดแล้วเหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ ผมไม่ได้มาฉายหนังให้ท่านดู มาเชียร์กันและจบๆ ไป ผมมีความสุขไม่ใช่ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อก่อนคือการทำงานทุกคณะต้องเปิดเผย เมื่อมีแผนงานแล้วต้องดูในขั้นตอนปฏิบัติด้วย ไม่ใช่อยากสั่งอะไรก็สั่งแล้วไม่ได้เหมือนเดิม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ว่าที่นายกฯ กล่าวว่า วันนี้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ชาวต่างชาติ ผู้ประกอบการค้าต่างๆ ที่เคยไปไหนมาไหนไม่ได้ มีแต่การประท้วง ใช้อาวุธต่อกัน บ้านเมืองสกปรก มีแต่ความขัดแย้ง วันนี้เขาชื่นชมทุกคนที่อยู่ในไทย คนต่างชาติบอกว่าวันนี้ดีกว่าเดิมมาก บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ทุกคนเชื่อฟัง เคารพกฎหมาย แต่เราต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เข้าอกเข้าใจ เห็นใจกันมากขึ้น แต่บางคนยังพูดยุยุงปลุกปั่นอยู่ อย่าพยายามใช้ประชาชนอีกต่อไป ที่เราทำถึงวันนี้ 3 เดือน มีอนาคตแล้ว การปฏิรูปจะเสร็จแค่ไหนก็ต้องทำให้ได้ แบ่งขั้นตอนให้ถูกต้อง ระยะสั้น ระยะยาว ถ้าทุกฝ่ายไม่มาที่สภาปฏิรูปฯแล้วมาเรียกร้องบอกไม่รู้ไม่ได้เข้าร่วม มันจะปฏิรูปได้หรือไม่ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอีก ถ้าทุกคนรักและสามัคคี ไม่บ่อนทำลายกัน ไม่คอยจับผิดจับถูก ทุกอย่างดำเนินไปในวิถีทางปกติ
"วันนี้ต่างชาติเข้าใจปัญหาเรามากขึ้น การค้าขายเป็นปกติแล้ว เขาบอกว่าบ้านเรามีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งการเมือง ความมั่นคง ความปลอดภัย ชีวิตทรัพย์สิน แต่เขาพูดได้ไม่เต็มที่ว่าเห็นด้วยกับ คสช. แต่เขามีหลักการอยู่แล้ว หลายคนอยู่ประเทศไทยมานาน เขาเข้าใจดี เกิดความมั่นใจมากขึ้นในขณะนี้" หัวหน้าคสช. กล่าว
เตรียมแจงอีก 4 ก.ย.-กรณีปฏิรูป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อดีตผู้นำประเทศของไทยคนหนึ่งที่เป็นนักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน ตนขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ เคยพูดไว้ว่าไม่มีใครสนับสนุนรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ก็เห็นด้วยในการเสริมสร้างประชาธิปไตยใหม่ให้ยั่งยืน ฉะนั้น ไม่อยากให้ทุกคนมาพูดว่ารัฐประหารดีไม่ดีอย่างไร เพราะเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สนับ สนุนให้เกิดสิ่งที่ดีในเวลาอันสั้น ในระยะเวลาที่เราต้องปฏิรูปน่าจะดีกว่ามาต่อต้านตั้งแต่แรกไม่อย่างนั้นมันเสียเวลาเปล่า เสียทุกอย่างเลย
ว่าที่นายกฯ กล่าวว่า สำหรับหัวข้อปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน มีเรื่องปลีกย่อย 4-5 ข้อในแต่ละด้าน ซึ่งต้องนำไปพูดคุยกัน ปฏิรูปไปคุยกันไป ถ้ามาบอกว่าไม่มีหัวข้อนี้จะไม่สำเร็จ มันไม่ใช่ ตนบอกแล้วว่ามีเรื่องอื่นๆ อีกก็ต้องคุยกัน ฉะนั้น อย่ามาโจมตีกันเรื่องนี้อีก
ว่าที่นายกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ย. ตนจะชี้แจงอีกครั้งในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน โดยตนจะเป็นประธานครั้งที่ 1 และประชุมอีก 3 ครั้งเพื่อคัดสรรให้ได้ภายในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ส่วนระดับจังหวัดต้องคัดเลือกแล้วส่งชื่อมา 5 คน ทุกอย่างโปร่งใส กรณีที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาและให้ปฏิบัติหน้าที่แล้วมีการฟ้องร้องว่า ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ซึ่งเราจะให้เข้ามาก่อน เหมือนใบเขียวใบแดง ถ้าเขียวก็ทำไปเลย ถ้าแดงเข้ามาก่อนแล้วสอบสวนและปลดออกไป คัดสรรมาใหม่ก็แค่นั้น
ยืนยันรัฐบาล-คสช.ไม่ทับซ้อน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการปฏิบัติงานของ คสช. ในช่วงมีรัฐบาลหรือมีนายกฯ มีครม.ก็จะบริหารในระบบกฎหมายและระเบียบปกติ แต่บางอย่างมีปัญหาทับซ้อนจะแก้ไขโดยเร็วไม่ได้โดยกฎหมายปกติ เรื่องนี้ คสช. ครม.จะประชุมพิจารณากำหนดว่าเรื่องใด ควรเป็นของรัฐบาลหรือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการอำนาจพิเศษในการขับเคลื่อน ก็จะจัดทำเป็นนโยบายขึ้น อะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องใช้กฎหมายพิเศษโดยทันทีก็ให้ คสช. ผู้รับผิดชอบขับเคลื่อน ใช้อำนาจตามรัฐ ธรรมนูญชั่วคราวที่มีอยู่ หรือจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการ เช่น การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นโดยทันที การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การแก้ปัญหาความยากจนระยะสั้น การแก้ปัญหายาเสพติด การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดระเบียบอื่นๆ บางเรื่องแก้ได้เร็ว บางเรื่องเป็นปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องใช้อำนาจพิเศษถึงจะเร็วขึ้น แต่อะไรที่ใช้อำนาจปกติได้ ก็ทำไป ไม่ทับซ้อนกันแน่นอน พยายามไม่ให้เกิดผลกระทบในกว้าง
"ในเรื่องการประชุม เสวนา วิพากษ์วิจารณ์หลายคณะ ผมไม่ได้ห้ามจนกระดิกไม่ได้ แต่ท่านไปร่วมสัมมนาในที่ลับหรือไปประชุมทางการเมือง ประชุมแนวทางต่อต้าน คสช. ผมว่าไม่ถูก ท่านจะทำอะไรมาบอกผม ขออนุญาตมา ผมจะพิจารณาให้ บางคนแอบไปประชุมที่นั่นที่นี่ บอกว่ารอ คสช. ขัดขาตัวเองล้มไปก่อนแล้วค่อยมา ประชาชนเตรียมให้พร้อมไว้ ผมว่าไม่อยากจะไปคิดแทนท่าน บางคนเป็นอดีตข้าราชการ อดีตนักการเมือง อดีตนักวิชาการที่เคยมีปัญหาหลายด้านกฎหมายก็พยายามยุ ผมว่าไม่รู้จะทำไปทำไม ซึ่งตัวเองก็มีคดีความมาก แต่ยังจะให้คนอื่นเขาเชื่ออีก ผมพูดแบบนี้ท่านไม่เชื่อก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร" หัวหน้าคสช. กล่าว
ยอมรับเหนื่อย-ทั้งพูดทั้งทำ
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือปรับย้ายในกองทัพ ตำรวจ วิจารณ์เสียหายมาตลอด ยืนยันเรามีหลักการ จะถูกผิดจะดีไม่ดี เขาพิจารณากันหลายคน ไม่ใช่ใครจะไปชี้ตรงโน้นตรงนี้ได้ มีระเบียบวินัย ทหาร ตำรวจต้องมีวินัย เราไม่เคยไปแย่งชิงตำแหน่งผู้บัญชาการแย่งกันไม่ได้ ถ้าแย่งต้องตาย สั่งไปแล้วเซ็นไปแล้ว ประชุมอนุมัติไปแล้วก็จบแค่นั้น ปีหน้ามาต่อสู้กันด้วยเรื่องการทำงานใหม่ ทำงานให้ผู้บังคับบัญชาเห็น ทุกอย่างต้องมีกติกา อย่าไปเขียนตามความเห็นส่วนตัว เราเป็นครอบครัวเดียวกัน ทหารคือครอบครัวทหาร ตำรวจคือครอบครัวตำรวจ เป็นสังคมระหว่างครอบครัวต้องมารู้จักเจอกัน ทำงานด้วยกันไปได้ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปพูดมาก เสียหาย ทุกอย่างมีระเบียบข้อบังคับกฎหมาย วินัยต่างๆ มากมาย
"ก่อนถึงเวลานี้ผมเหนื่อยมาก พูดก็เหนื่อย ทำก็เหนื่อย แต่จะเชื่อมั่นหรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไป ขออย่ามาต่อต้านเรา อะไรทั้งสิ้นเราก็รู้ทั้งหมด เรารู้แต่ไม่ใช้ความรุนแรงกับท่าน ถ้าไปใช้กฎหมายมากๆ ก็น่าเบื่อ ท่านอาจไม่เบื่อแต่ผมเบื่อ เบื่อการใช้กฎหมายมากทำให้สังคมมีปัญหาหมด เป็นเรื่องของท่านต้องพิจารณา ใคร่ครวญความเป็นจริง อย่ามองโลกด้านเดียว ฟังใครอย่างเดียว บางอย่างต้องใช้ทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ทำงานบริหารราชการ แต่ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการแก้ปัญหาเดินหน้าประเทศต่อไปผมอาจพูดเร็วไปบ้าง ช้าไปบ้าง พยายามฟังให้ทัน ผมคิดทั้งหมดและทำให้เร็ว พูดอย่างเร็วยังไม่ทันใจท่านแต่บางคนไม่ฟังเลย ติอย่างเดียวก็สวนทางกันหมด" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว