- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 10 September 2017 13:03
- Hits: 11985
นรม. มอบหมาย รอง นรม. วิษณุฯ เป็นประธานกล่าวปาฐกถา เรื่อง ‘ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ’
นรม. มอบหมาย รอง นรม. วิษณุฯ เป็นประธานกล่าวปาฐกถา เรื่อง ‘ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ’ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้เกิดผลในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน
ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวปาฐกถา เรื่อง’ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ’โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะทูตานุทูต ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ‘ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง’ รุ่นที่ 21 และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 350 คน
โอกาสนี้ นายพจน์ อร่านวัฒนานนท์ ในฐานะประธานผู้เข้าอบรมหลักสูตร ‘ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง’รุ่นที่ 21 กล่าวรายงานถึงทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นผู้เข้าร่วมงานประชุมรับชมวิดิทัศน์ประมาณ 4 นาที หลังจากนั้นได้เชิญ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกล่าวปาฐกถา เรื่อง’ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ’ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 65 บัญญัติไว้ให้รัฐพึ่งจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลและใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ของชาติ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ และสถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนฯ ฉบับอื่นๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันพระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้มีการประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 และมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรองนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นรองประธาน ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญัติและฝ่ายบริหาร
ส่วนที่กรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะประธานศาลฎีกามาเป็นรองประธานร่วมด้วยนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า คณะกรรมการดังกล่าวไม่ใช่เป็นที่เป็นรวมของอำนาจอธิปไตย แต่เป็นที่รวมของคนที่มีภาระหน้าที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ที่จะต้องขับเคลื่อนฝ่ายบริหาร ขณะที่ประธานสภาฯ มีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติฯ และออกกฎหมายต่าง ๆ ฉะนั้นเพื่อให้การออกกฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็วจึงต้องแต่งตั้งให้ประธานสภาฯ เป็นรองประธานในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อีกทั้ง ฝ่ายตุลาการหรือศาลไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในเรื่องดังกล่าว เพราะมีภาระหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี อย่างไรก็ตามกฎหมายได้คำนึงถึงการวางยุทธศาสตร์ในอนาคตว่าคงต้องไปกระทบต่อการทำงานของศาลได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 15 จึงบังคับไว้ว่า เมื่อจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเรื่องใดที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมในการจัดวางยุทธศาสตร์ชาติด้านนั้น ๆ ด้วย
ต่อจากนั้น จะมีคณะกรรมการโดยตำแหน่งอีก 13 คน โดย 6 คน ซึ่งมาจากฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยทั้ง 6 คนจะเป็นหลักประกันในด้านความมั่นคง ซึ่งจะมีส่วนในการเขียนร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น จากนั้นคนที่ 7 ประธานสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คนที่ 8 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คนที่ 9 ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 10 ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คนที่ 11 ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คนที่ 12 ประธานสมาคมธนาคารไทย คนที่ 13 ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้งหมดเป็นโดยตำแหน่ง
ต่อจากนั้นจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งอีก 17 คน โดยทางคณะได้มีการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 12 คน และใน 12 คนนี้ ได้แก่ นายศุภชัย พานิชยศักดิ์ – นายบัณฑูร ล่ำซำ - นายกาญจน์ ตระกูลฮุน - นายชาติศิริ โสภณพนิช - นายฉาย เจียรนันท์ - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี - นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคนอื่นๆ โดยขณะนี้ยังเหลืออีก 5 ที่นั่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เตรียมแต่งตั้งในโอกาสต่อไปเพื่อจะได้ครบจำนวน 17 คน ต่อไป โดยรวมทั้งคณะจะมี 34 คน หรือซุปเปอร์บอร์ดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะมีการประชุมประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เพราะไม่ได้มีหน้าที่ในการเขียนกรอบยุทธศาสตร์ชาติ แต่จะมีหน้าที่ในการสอดส่องและกำกับดูแล
ทั้งนี้ คนที่มีหน้าที่ในการเขียนกรอบยุทธศาสตร์ชาตินั้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งแต่อย่างใด แต่ในอนาคตจะมีการแต่งตั้งขึ้น ได้แก่ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้แบ่งกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศไทยออกเป็น 6 ด้าน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นอย่างน้อยอีก 6 คณะ คณะละ 15 คน รวม 6 คณะ ทั้งหมดรวม 90 คน โดยจะมีการแต่งตั้งต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่าขณะนี้ทางรัฐบาลได้คิดกรอบยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้วเป็นแนวทางบางส่วนรวม 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องด้านการทหารแต่จะครอบคลุมเกี่ยวเนื่องทางด้านต่างประเทศทั้งหมด เช่น ด้านการต่างประเทศ ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ด้านต่อต้านยาเสพติด ด้านการจัดระเบียบตามแนวชายแดน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ เน้นเรื่องการแข่งขัน เน้นเรื่องการยกระดับคนไทย ฝีมือไทย ช่างไทย นักธุรกิจไทย อุตสหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับต่างประเทศได้ในต้นทุนที่ถูก คุณภาพดี หรือสามารถการทำธุรกิจได้ง่าย และมีความสะดวก มีการส่งเสริมการลงทุน แรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ การผ่อนผันกฎระเบียบต่าง ๆ เรื่องความเข้มงวดของกฎหมาย ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาในศักยภาพของมนุษย์ พัฒนาให้คนมีคุณภาพ มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีขีดความสามารถ เน้นเรื่องคนพิการ คนทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือการเชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาอยู่อาศัย แล้วอาศัยองค์ความความรู้ของเขาเพื่อมาพัฒนาประเทศไทย แรงจูงใจในการลดภาษีให้คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ การสร้างความสามัคคีของคนไทย และการทำอย่างไรในการพัฒนาขีดความสามารถของคนไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านลดความเหลี่อมล้ำ ลดช่องว่าง สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้อยโอกาส ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการช่วยเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ คนทุพพลภาพ คนด้อยโอกาส รวมทั้งคนที่ยากจนหรือหรือยากไร้
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำและการสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการเติบโตควบคู่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านบริหารจัดการกฏระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการ เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบบริหารราชการ ระเบียบเกี่ยวกับการเบิกเงิน ระเบียบเกี่ยวกับการประมูล ระเบียบเกี่ยวกับพัสดุการจัดซื้อ การจัดจ้าง การแต่งตั้ง การโยกย้าย การเลื่อนชั้น การเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน การปราบโกง การปราบทุจริต อะไรที่กฎเกณฑ์เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ นำมาปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินงานของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ จะทำงานประสานสอดคล้องกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 คณะ ซึ่งได้แต่งตั้งไปแล้วในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นในตอนท้ายอีกว่ากระบวนการยุติธรรมหมายถึงกระบวนการ ขั้นตอนวิธีการ ที่จะประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้บังเกิด และมิใช่ความหมายอย่างแคบเฉพาะเรื่องอาญาเท่านั้น แต่ความจริงกระบวนการยุติธรรม เปิดกว้างและครอบคลุมมากกว่าเรื่องของอาญา โดยกระบวนการยุติธรรมในความเข้าใจของรัฐบาลมี 4 ด้าน ได้แก่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง และกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยกระบวนการยุติธรรมทั้ง 4 ด้านดังกล่าวนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 6 ด้านอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป