- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 04 June 2017 13:21
- Hits: 9392
นายกฯ ไม่หวังได้คำตอบที่ตรงใจจาก 4 คำถาม แค่อยากสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนเพื่อได้รัฐบาลที่ดี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงกรณีคำถาม 4 ข้อที่จะส่งไปถึงประชาชนให้ช่วยตอบนั้น จะได้คำตอบที่แท้จริงจากประชาชนหรือไม่ว่า ไม่มีความตั้งใจจะได้คำตอบที่ถูกใจหรือไม่ตรงใจ แต่ต้องการสร้างการเรียนรู้ว่าประชาชนจะช่วยกันอย่างไรให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมืองต่อไป ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวนายกรัฐมนตรีเลย เพราะการเลือกตั้งนั้น ประชาชนเป็นผู้เลือก ต้องเลือกด้วยความรอบคอบ
ส่วนกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า เหตุระเบิดภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของไอเอสนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลยืนยันว่ายังตรวจสอบไม่พบว่าเป็นการปฏิบัติของกลุ่มดังกล่าว หากมีหลักฐานพิสูจน์ทราบที่ชัดเจนจะแจ้งให้ทราบ ขณะนี้ให้ทุกคนช่วยกันเฝ้าระวัง สังเกต และทำงานข่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ขณะเดียวกันเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ขยายข่าวดังกล่าว ควรต้องระวัง เพราะจะมีผลกระทบกับประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตอบคำถามของสื่อมวลชนในวันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์อย่างเช่นทุกครั้งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ใช้วิธีการเขียนคำตอบด้วยลายมือตัวเองจากคำถามที่สื่อมวลชนได้ส่งไปยังทีมโฆษกรัฐบาลล่วงหน้าแล้ว
นายกฯ เผยยึด 3 เสาหลักแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน มุ่งสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนทางศก.-สังคม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถานำ เรื่อง "หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม" โดยระบุว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม และเป็นโอกาสนำประเทศสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสิทธิมนุษยชน คือ การดูแลคนทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม
ดังนั้น ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ก็คือการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และขออย่ากังวลกับรัฐบาลนี้ที่เข้ามาบริหารประเทศ แต่มีความมุ่งมั่น เพื่อยุติความขัดแย้ง และวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การที่สหประชาชาติให้การรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกมีความพยายามในการสนับสนุนให้การกำหนดความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่รัฐบาลนี้ยืนยันมีความมุ่งมั่นที่ผลักดันให้ประเทศไทยมีการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการชี้แนะฯ ทั้งเสาหลัก 3 ประการ คือ เสาหลักด้านการคุ้มครอง, ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา
สำหรับ หน้าที่ของรัฐด้านการคุ้มครองนั้น ประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้วในหลายส่วน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้คนทำงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่มีการบังคับใช้แรงงาน ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม กฎหมายที่ให้หลักประกันทางสังคม ซึ่งรัฐบาลนี้แก้ไขและมีผลสัมฤทธิ์ ถือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ตลอด 3 ปีที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง อีกทั้งมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างมีพลวัต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสมยอมระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่จะต้องไม่เกิดขึ้น โดยทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพราะบางเรื่องรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั่วถึง ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดทิศทางร่วมกัน โดยมีเข็มทิศของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ เช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจที่ต้องยึดถือการพัฒนาแบบตะวันตกและตะวันออกอย่างสมดุล
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อกังวลจากต่างประเทศและในประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งศาลคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ขึ้น เพื่อให้มีการพิจารณาคดีในด้านนี้ได้อย่างรวดเร็ว
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การปฎิรูปประเทศจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และทุกหน่วยงานที่จะต้องมีการจัดทำแผนที่ระบุให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะต้องดำเนินการในเรื่องใด
พร้อมกันนี้ ยังให้แนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนแก่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักว่า แผนที่จะจัดทำนั้น ควรมุ่งแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดขึ้น และเป็นมาตรการที่ตอบสนองปัญหาได้ตรงจุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ตลอดจนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง
สำหรับ ภาคเอกชนในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอว่าภาคธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นอกจากการดูแลสวัสดิการของแรงงานแล้ว ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ ไม่สร้างกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุ้มครองปัจเจกบุคคลและชุมชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบุคคลที่สาม ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบกิจการของตนเองมากยิ่งขึ้น
นายกฯ กำชับ DSI-กรมศุลกากรสอบคดีรถหรูตรงไปตรงมา-สั่งรื้อระบบประเมินรถนำเข้า
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยนายกรัฐมนตรีกำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบกรณียึดรถหรูสำแดงเท็จอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องหวั่นเกรงอิทธิพล พร้อมสั่งรื้อระบบประเมินราคารถให้มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเป็นธรรม
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมศุลกากรให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีการนำเข้ารถหรูสำแดงเท็จหรือหลีกเลี่ยงภาษี โดยยึดหลักกฎหมายและทำงานอย่างตรงไปตรงมา อย่าหวั่นเกรงอิทธิพลใด ๆ เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากกระทำผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น บริษัทผู้นำเข้า ผู้ครอบครอง หรือเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นเป็นใจ
"รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเรื่องการนำเข้าส่งออกที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกับทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง และถือเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งดีเอสไอและกรมศุลกากร สามารถบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด เช่นเดียวกับคดีใหญ่ ๆ อีกหลายคดี"
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เร่งรัดให้กรมศุลกากรปรับรื้อระบบการประเมินราคารถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์นำเข้า ที่แต่เดิมมีเพียงฐานข้อมูลจากการตรวจสอบราคาในท้องตลาด เช่น ราคาตามเว็บไซต์และนิตยสารรถยนต์ โดยให้อ้างอิงจากฐานข้อมูลราคาของดีเอสไอ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรม และไม่เป็นช่องโหว่ให้มีการลักลอบนำเข้ารถยนต์โดยผิดกฎหมายอีกต่อไป
"ผลจากการทำงานในเรื่องนี้จะทำให้คนผิดหรือคิดที่จะทำผิดไม่กล้าทำอีก และยังจะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เหนือสิ่งอื่นใดคือการบังคับกฎหมายอย่างจริงจังกับคนทุกระดับที่กระทำผิด โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม"
อินโฟเควส