- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 26 May 2017 10:15
- Hits: 5150
นายกฯฟุ้งไทยครองแชมป์ประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกติดต่อกัน 2 ปี-ติด Top10 อีกหลายด้าน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ว่า การสะท้อนภาพรวม จากมุมมองของต่างประเทศ ในการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมานั้น นอกจากเราจะได้รับรู้ รับทราบ มาเป็นระยะๆ จากสถาบันต่างๆ ในหลากหลายมิติ ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ล่าสุด มีรายงานผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2017 ของ U.S.News สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก (Best Countries to Start a Business) เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปี
ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้รับการจัดอับดับเป็น ‘Top 10’ ในอีกหลายด้าน เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเจริญเติบโตโดยภาพและด้านวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังยกให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่โดดเด่นในเรื่องการเปิดโอกาสทางธุรกิจและการเริ่มต้นงานใหม่ รวมทั้งเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับใช้ชีวิตยามเกษียณและมีคุณภาพชีวิตดีอีกด้วย
ในช่วง 3 ปีของรัฐบาลนี้ เราได้มีการทำของเดิมที่ค้างอยู่ให้สำเร็จได้ในที่สุด แต่ยังคงให้มีการปรับปรุงต่อไป วันนี้ได้มีการประกาศบังคับใช้เต็มพื้นที่ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 นี้ แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือ การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและความร่วมมือกัน ทั้งข้าราชการ เอกชน และพี่น้องประชาชน ที่จะต้องไม่ละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวมอีก ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่า การใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือการก่อสร้างใด ๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ขวางเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ เป็นต้น
สำหรับ ปัญหาด้านเศรษฐกิจก่อนที่ คสช. จะเข้ามานั้น ประชาชนอาจจะไม่ได้รับการดูแลในทุกมิติ อย่างครบวงจร และไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นของระดับนโยบาย ในการกำกับดูแล หรือขาดการเอาใจใส่ สนับสนุนในการช่วยแก้ปัญหาให้กับระดับปฏิบัติการ และขาดแผนปฏิบัติการ ในระยะปานกลางและระยะยาว ยิ่งกว่านั้น มีการสร้างความต้องการเทียม เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศจนอาจจะอิ่มตัวที่เกินความต้องการ เกินความเป็นจริง ไม่ส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิต หรือไม่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากนัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ในภาคเกษตรกรรมเองก็มีนโยบายบางอย่างที่ทำให้เกษตรกร อาจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป
อันนี้เป็นปัญหาเดิมๆ อยู่ แต่เราจะต้องมีการปรับรูปแบบ ในการใช้พื้นที่ ในเรื่องการเพาะปลูก ในเรื่องการทำเกษตรกรรม ทุกประเภท เช่น เราจะต้องไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำไร่นาสวนผสม ลดการทำนาปรัง แล้วมาปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น หรือการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝน หน้าแล้ง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 882 ศูนย์ รวมทั้งเครือข่ายย่อยอีก 8,000 แห่ง ซึ่งต่อไปจะเป็นนับหมื่นกลุ่ม ก็กำลังขับเคลื่อนและให้คำแนะนำ ช่วยเหลืออยู่ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เราอาจจะไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ไม่ได้มีการเสริมสร้างความรู้เท่าที่ควร ไม่ได้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก หรือยืนบนขาของตนเองได้ ก็อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้เสียที หนี้สินรุงรัง เลยต้องรอแต่ความช่วยเหลืออย่างเดียว ก็คาดหวังไปเรื่อยๆ
"เราต้องสร้างธุรกิจใหม่ เราต้องส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ ภาครัฐต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ เร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ตอบสนองความต้องการของสังคม และการดำรงชีวิตของคนไทย โดยพึ่งพาองค์ความรู้ต่างๆ จากภายนอก เราอาจจะต้องพึ่งในระยะแรกๆ จนทำให้เกิดนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยคนไทย ผลิตเอง คิดเอง เพื่อคนไทยใช้เองก่อน แล้วขยายผลไปสู่การส่งออกนวัตกรรม อื่นๆ ไปยังตลาดที่มีความต้องการใกล้เคียงกัน โดยเราต้องไม่ลืมการสร้างเครือข่าย การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง แหล่งผลิตภาคเกษตรกรรม กลางทาง ภาคอุตสาหกรรม การแปรรูป การสร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และไปสู่ปลายทาง คือการหาตลาด และการจับคู่ทางเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ โดยเชื่อมโยงจากชุมชน ชนบท จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ EEC CLMVT อาเซียน ประชาคมโลก ได้ในที่สุด ทั้งนี้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ส่วนหนึ่งคือ แหล่งน้ำและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้คำนึงถึง และพยายามสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตร เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “สตึงมนัม" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย และกัมพูชา โดยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แทนการปล่อยน้ำทิ้งเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 24 ถึง 50 เมกกะวัตต์ สามารถผันน้ำมาใช้ได้ 300 ถึง 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะสามารถรองรับการพัฒนาต่างๆ ใน EEC ของเรา และสร้างความมั่นคงทางพลังงานและน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จได้ประมาณปลายปี 2566"
อีกประเด็นหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือความยาก-ง่ายของการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในมุมมองของธนาคารโลก ที่ได้ให้คำแนะนำและข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์แก่ไทย โดยเห็นว่า รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงในการเร่งรัดจัดระบบ และปฏิรูปงานบริการของภาครัฐ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย เห็นได้จาก การที่รัฐบาลเปิดกว้างรับฟังปัญหาจากภาคเอกชน เพื่อให้รัฐบาลและภาคเอกชนสามารถปรับตัวเข้าหากัน อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมได้ย้ำอยู่เสมอว่า เรายินดีต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติ ยินดีสนับสนุนนักลงทุนในประเทศ พร้อมทั้งเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมผลักดันให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การยกระดับการจัดอันดับความยาก-ง่าย ของการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ให้ขยับอันดับมาอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกให้ได้ โดยกำหนดเป็นแผนระยะสั้น ระยะ กลาง ระยะยาว ซึ่งมีทั้งหมด 79 กิจกรรม ที่เราต้องแก้ไข เราได้ปรับแก้ไปแล้วระหว่างนี้ 26 กิจกรรม ที่เหลือก็ทยอยดำเนินการทำกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการ ของการทำงานของภาครัฐกับภาคเอกชน และความร่วมมือกับธนาคารโลกอีกด้วย
นายกฯ เตรียมแถลงผลงาน 3 ปีช่วงก.ย. ย้ำไม่สืบทอดอำนาจแต่สืบทอดการแก้ปัญหาให้รัฐบาลหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงผลงาน 3 ปีของรัฐบาลและ คสช.ว่า ไม่อยากให้แบ่งแยกในส่วนของรัฐบาลหรือ คสช. เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเป็นผู้ทำงานในการกำหนดนโยบายต่างๆ โดยมี คสช.เป็นหน่วยสนับสนุนช่วยดูแลด้านความมั่นคง และเป็นเครื่องมือในการช่วยขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามโรดแมพของรัฐบาล โดยจะมีการสรุปผลการทำงานที่ชัดเจนในช่วงสิ้นปีงบประมาณคือเดือน ก.ย.60
ส่วนในช่วงเวลานี้จะมีการสร้างความเข้าใจในแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่มาจากแนวคิดไปสู่การกำหนดนโยบาย เช่น นโยบายประชารัฐ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อย โดยได้กำหนดมาตรการการดูแลอย่างเหมาะสมในทุกระดับ จึงฝากกับสื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจว่าปัญหาของประเทศมีหลายระดับ ซึ่งการแก้ไขจะใช้เพียงแนวทางการอุดหนุนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า สิ่งที่ตนเองยังไม่พอใจคือเรื่องของงานที่ยังไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลา แต่ตนเองก็ถือว่าได้ทำอย่างดีที่สุดตามงบประมาณและเวลาที่มีอยู่ ซึ่งเรื่องใดที่ยังไม่สำเร็จและค้างอยู่ก็จะต้องให้ไปทำต่อในวันหน้า พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้หวังที่จะสืบทอดอำนาจ แต่จะมีเฉพาะการสืบทอดปัญหาจากในอดีต และเมื่อรัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่เสร็จก็จะส่งต่อให้รัฐบาลหน้าแก้ไปต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าว่าว่า ปัญหาทุกอย่างไม่สามารถแก้ไขได้เสร็จในระยะเวลาเพียง 1 ปี บางเรื่องต้องใช้เวลาในช่วงระยะที่ 2-3 ซึ่งการทำงานของรัฐบาลถือว่าเป็นรัฐบาลที่ปฏิรูปประเทศ และที่ผ่านมาไม่ได้ละเลยการรับฟังความเห็น แต่จากปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานานจึงอาจจะแก้ไขปัญหาไม่แล้วเสร็จ และกลับมีคนพูดทำให้ประเทศเสียหาย จึงฝากให้ทุกคนอย่าให้เครดิตกับคนเหล่านี้ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนรับฟังรัฐบาลและขอให้มองอนาคตร่วมกัน เพราะทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นหลังการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งปัญหาทั้งหมดของประเทศเป็นสิ่งที่ตนเองกังวล เพราะเป็นห่วงประเทศไทยไม่ได้เป็นห่วงเรื่องประชาธิปไตย เพราะถึงอย่างไรประชาธิปไตยก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องได้คนที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหา แต่ฝากให้ประชาชนคิดว่า อยากจะได้คนเดิมๆ กลับมาหรือไม่
อินโฟเควสท์