วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8648 ข่าวสดรายวัน


โต้ทหารยึดสนช. บิ๊กตู่แจง เปิดเกณฑ์คัดสปช. 
จัดคิกออฟใหญ่ 9 สค. สภาคึกแห่รายงานตัว 'ธวัชชัย'ขาดคุณสมบัติ สุรชัยพร้อมชิงพรเพชร


รายงานตัว - บรรยากาศนายทหารที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทยอยเข้ารายงานตัวตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาคาร 2 รัฐสภา เมื่อวันที่ 1 ส.ค.

       สภากลับมาคึกคัก สนช.รุดรายงานตัวต่อรัฐสภาหลังได้แต่งตั้ง "ตวง อันทะไชย"โร่คนแรก พร้อมอดีต 40 ส.ว. ลั่นดันต่อถอดถอนอดีตส.ส.-ส.ว.ที่ร่วมกันลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ "คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี"ลูกสาวจอมพลถนอมเปิดชื่อชงทันที ให้สนช.โหวต"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯ ด้านป.ป.ช.สั่งเทียบเคียงรธน.ชั่วคราวทั้ง 2 ฉบับว่าต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือ ไม่ พร้อมรอสัญญาณว่าจะต้องส่งเรื่องให้ถอดถอนได้หรือไม่ได้ "มาร์ค"ร่วมใส่ด้วย แนะคสช.ออกประกาศรองรับอำนาจถอดถอน เผย"ธวัชชัย สมุทรสาคร-ท่านจุฬาราชมนตรี" ส่อขาดคุณสมบัติ "บิ๊กตู่"โต้ยันไม่ได้คัดเลือกตามระบบโควตา อ้างมีทหารเข้ามาเป็น เรื่องธรรมดา เพราะเป็นช่วงไม่ปกติ ยันเดือนก.ย.ได้รัฐบาล

สนช.รายงานตัว-"ตวง"โร่คนแรก

       เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 1 ส.ค. ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า 5 วันน่าจะเพียงพอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มารายงานตัวได้ครบ ซึ่งรัฐพิธีในวันที่ 7 ส.ค. นั้นต้องรอกำหนดการอย่างเป็นทางการ และจะ นัดสมาชิก สนช.ประชุมในวันถัดไป การประชุมครั้งแรกจะต้องให้ผู้อาวุโสสูงสุดคือ นายสมพร เทพสิทธา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมและอาจใช้ข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2549 เพื่อเลือกประธานและรองประธาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าพล.อ. ธวัชชัย สมุทรสาคร อาจขาดคุณสมบัติ เพราะ เป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนา ซึ่งวุฒิสภาจะตรวจสอบคุณสมบัติของสนช.คนอื่นๆ จากนั้นจะแจ้งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบ เชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรับรายงานตัวสมาชิก สนช.วันแรก หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมาชิกสนช. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้จัดสถานที่ไว้รองรับการรายงานตัวเรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อเวลา 10.00 น. นายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช.และอดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ส.ว. มารายงานตัวคนแรก จากนั้นมีสนช.ทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ นายศิระชัย โชติรัตน์ อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ผอ.สำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม และพล.ท.สุวโรจน์ ทิพย์มงคล หัวหน้านายทหารประสานงานพัฒนาระบบข้าราชการกลาโหม

ลั่นดันถอดถอนอดีตส.ส.-ส.ว.

     นายตวง กล่าวว่า ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อคสช. มาก่อน หลังจากสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งส.ว.สรรหา ก็ไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ต่างจังหวัด ทราบว่าตนได้รับตำแหน่งหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สำหรับภารกิจของสนช.ต้องเน้นเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจ สนช.พิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เสนอมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนที่มีทหารเข้ามามากนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นเวลานี้คือการทำงานเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าสู่การปฏิรูปได้ ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงาน พัฒนาประเทศไปสู่จุดดังกล่าวให้ได้ 

     เมื่อถามว่าสนช.จะมีอำนาจถอดถอนบุคคล ออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่ นายตวงกล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องคุยกันในที่ประชุมสนช. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากมีประเด็นใดที่เป็นปัญหาทางกฎหมาย ต้องให้ที่ประชุม สนช.วินิจฉัย แต่เมื่อปี 2549 สนช.เคยมีมติถอดถอนบุคคลออกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว ปัจจุบันสถานะทางกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังมีผลอยู่ 

     ด้านนายศิระชัยกล่าวว่า ไม่มีใครทาบทาม ทราบเรื่องจากประกาศ คสช. จึงมารายงานตัวในช่วงเช้าเพราะเย็นต้องไปต่างจังหวัด ในฐานะอดีตข้าราชการเมื่อเกษียณแล้ว ขออุทิศตนทำงานให้บ้านเมืองเต็มที่ ส่วนจะทำเรื่องใดเป็นพิเศษยังไม่ขอพูด ขอเวลาทำงานก่อน

"ลูกถนอม"ทันทีบิ๊กตู่เหมาะนายกฯ

      ด้านคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี นายกสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา สมาชิกสนช. ลูกสาวจอมพลถนอม กิตติขจร อดีต นายกฯ เผยว่า ก่อนหน้านี้ 3 สัปดาห์ มีผู้มาติดต่อขอประวัติ ขณะนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะให้ทำหน้าที่อะไร แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จึงทราบว่ามีชื่อรวมอยู่ด้วย ซึ่งพร้อมทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งถึงการทำหน้าที่สนช. ส่วนที่มีนายทหารเป็นสนช.จำนวนมากนั้น ไม่น่ามีผลต่อการทำงานของพลเรือนที่จะเข้าไปทำหน้าที่

       เมื่อถามถึงข่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อาจได้รับเลือกเป็นนายกฯ คุณหญิงทรงสุดากล่าวว่า หากสมาชิกเลือกกันเช่นนั้นก็ไม่ผิดปกติ พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผู้เริ่มต้นข้ามาแก้ปัญหาชาติ หากจะทำงานต่อให้จบในตำแหน่ง ไหนก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ขึ้น อยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกทุกคน

"ธวัชชัย"ยันเองไม่ขาดคุณสมบัติ

       พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิก สนช.และอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงกระแสข่าวขาดคุณสมบัติการเป็นสนช.ว่า ปรึกษานักกฎหมายแล้วว่าไม่น่ามีปัญหา อย่าไปสนใจ ไม่เกี่ยวกัน เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดขั้นตอน เมื่อนายสั่งให้มารายงานตัว ตนก็มาเพราะไม่เคยคาดหวังอะไร ถ้าผิดพลาดอะไรก็ลาออกไป เรื่องนี้อยู่ที่ความตั้งใจทำงานมากกว่าเพราะมีประสบการณ์มาเยอะ จึงไม่มีอะไรน่าหนักใจ 

     ด้านพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตส.ว. สรรหา กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสนช. การทำงานต่อจากนี้ต้องดูว่าแนวทางทิศทางการทำงานของ สนช.จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่เหมือนในอดีตที่มีการปฏิวัติ เนื่องจากจุดมุ่งหมายครั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุขตามเป้าหมายของคสช. เราต้องให้โอกาสเขาพิสูจน์ผลงาน ต้องยอมรับว่า 2 เดือนที่ผ่านมาคนไทยมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะตนซึ่งระแวงว่าจะถูกดักฟังโทรศัพท์ เพราะมีคนไม่หวังดีเยอะ การยึดการบริหารประเทศโดยทหารที่เกิดขึ้น จะโทษทหารไม่ได้ เป็นเพราะนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประเทศชาติ

"หยุย"รอร่างกม.ไม่มีอายุความ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่าย สมาชิกสนช. ยังคงมารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก พล.ท.กิตติ อินทสร ผู้ช่วยเสนา ธิการทหารบก ฝ่ายข่าว นายประมุท สูตะบุตร อดีตข้าราชการประจำสำนักนายกฯ และบอร์ดปตท. นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก รวมแล้ว 11 คน 

    นายวัลลภ เปิดเผยว่า คาดว่ากฎหมายสำคัญที่จะพิจารณาเมื่อเปิดประชุม สนช. ได้แก่ กฎหมายจาก ป.ป.ช.ว่าด้วยคดีทุจริตให้ไม่มีอายุความ และกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหามากในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

คสช.จัดยิ่งใหญ่เทิด"พระราชินี"

   เมื่อเวลา 09.00 น. ที่บก.ทบ. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะ หัวหน้าคสช. มอบให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของคสช. โดยมีผู้แทนหัวหน้ากลุ่มงานเข้าร่วมประชุม 

    ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดชเน้นย้ำคำสั่งหัวหน้า คสช. ขอให้มีจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค. ระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค. นี้อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งคสช.โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยศิลปินแห่งชาติ ชื่อเรื่อง "ในสวนขวัญ" เพื่อคืนความสุขให้ประชาชนได้เข้าชมฟรี วันที่ 2-3 ส.ค. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

     พล.อ.อุดมเดชกล่าวในที่ประชุมถึงการ เตรียมการหลังมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งสนช.แล้ว โดยขอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เร่งจัดทำร่างคำแถลงนโยบายรัฐบาลให้เสร็จสิ้นและส่ง มาให้ คสช.ภายในวันที่ 15 ส.ค. รวมถึงขอ ให้สำนักงบประมาณจัดทำร่างคำชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ที่ คสช.จะต้องชี้แจงต่อ สนช.ให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์แรกของเดือนส.ค. พร้อมกันนี้ยังขอให้ทุกฝ่ายจัดทำสรุปผลงานในช่วงที่ผ่านมาและ 1 ปีต่อจากนี้ โดยกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจนในวงรอบ 3 เดือน เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานของรัฐบาล จัดทำ เป็นวีดิทัศน์เผยแพร่ก่อนมีรัฐบาลใหม่ และขอย้ำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ด้วยว่าให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทับซ้อน

ไพบูลย์รอชงร่างกฎหมาย43ฉบับ

      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ส่วนเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านที่ขอความเป็นธรรมทั้งเรื่องพระสงฆ์ที่ต.ลิ้นฟ้า อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด และเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ รวมถึงเรื่อง ผู้ประกอบการริมเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราช ธานี ขอให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ส่วนกรณีพล.ต.เจนณรงค์ เดชวรรณ ที่ถูก ร้องเรียนเรื่องเรียกรับผลประโยชน์จาก ผู้ประกอบการย่านพัฒน์พงศ์นั้น ขอให้สอบสวนอย่างยุติธรรม เพื่อเอาผิดอย่าง ตรงไปตรงมาตามกฎหมายและข้อเท็จจริง

       ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. รายงานที่ประชุมว่า ขณะนี้มีกฎหมายที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. 43 ฉบับ จะพิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วน คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. เป็นต้นไป

ส่งบัญชีโยกย้ายถึงมือ"บิ๊กตู่"แล้ว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของคสช. ซึ่งมีพล.อ. อุดมเดช เป็นประธานนั้น ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา รายงานการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการว่า ขณะนี้ได้ส่งบัญชีรายชื่อข้าราชการที่จะแต่งตั้งโยกย้าย 7 กระทรวงที่รับผิดชอบถึงหัวหน้าคสช.แล้ว ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

      ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดชกล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ฝ่ายกิจการพิเศษเร่งประชุมหารือแนวทางการปรับเพิ่มค่าตอบแทนของข้าราชการ ทั้งฐานเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว การยกฐาน เพิ่มเพดานอัตราเงินเดือน การปรับปรุงค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลา เพื่อสิทธิประโยชน์และเป็นขวัญกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ให้ข้าราชการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ได้อย่างพอเพียงและมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ส่วนที่ คสช.มีคำสั่งเรื่องปรับโครงสร้างและอัตรากำลังพลจากเดิมที่มี 7 หมื่นอัตรา ให้เหลือ 54,000 อัตรา ขอให้ทุกส่วนงานประเมินอัตรากำลังให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้าง คสช.และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย

      จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ รายงานความคืบหน้าการปรับปรุงทำเนียบรัฐบาลว่า การปรับปรุงตึกไทยคู่ฟ้าเสร็จไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ ตึกนารีสโมสรเสร็จแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ ตึกบัญชาการ 1 เริ่มดำเนินการไปแล้ว 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพื้นที่รอบๆ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. เป็นต้นไป ส่วนการปรับปรุงบ้านพิษณุโลกอยู่ระหว่างเตรียมการ

ปปช.ยังอุบ-สนช.ยื่นบัญชีหรือไม่

      เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสนช.ว่า ป.ป.ช.ต้องรอให้ฝ่ายเลขาธิการสนช. ส่งเรื่องมา เพื่อสอบถามความชัดเจนจากป.ป.ช.ก่อน เช่นเดียวกับปี 2549 ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และหากมีหนังสือส่งมา จะเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ ให้ความเห็นอีกครั้งหนึ่ง โดยปี 2549 สมาชิกสนช.จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. ดังนั้น ฝ่ายกฎหมายของป.ป.ช.ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 มาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อความถูกต้องและชัดเจนก่อนให้ความเห็นต่อที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่าควรมีมติอย่างไร จึงแจ้งกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการสนช.

       นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการส่งสำนวนคดีอาญากรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ละเลยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายให้อัยการสูงสุด (อสส.) ว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ วันที่ 31 ก.ค. มีมติรับรองสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวในส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่คณะทำงานได้ปรับแก้ไขถ้อยคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการให้กรรมการป.ป.ช. ทุกคนลงนามรับรองท้ายสำนวนเพื่อส่งไปยังอสส. คาดว่าอย่างช้าภายในวันที่ 4 ส.ค.

ชงขยายอายุความทุจริตยาว 30 ปี

     นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนการใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ.2558 ว่า ป.ป.ช.ได้รับการจัดสรรงบฯ ปี 2558 เราขอไป 2.4 พันล้านบาทแล้วได้มาถึง 60 เปอร์เซ็นต์หรือ 1,500 กว่าล้านบาท ซึ่งป.ป.ช.จะใช้งบประมาณขับเคลื่อนยุทธ ศาสตร์ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างดี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนหนึ่งนำมาใช้ในเรื่องอัตรากำลังของป.ป.ช. 800 กว่าอัตรา ที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มมาแล้ว มุ่งลดคดีการไต่สวนที่ค้างให้น้อยลง รวมถึงงานป้องกันเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

     นายปานเทพ กล่าวถึงการเสนอแก้กฎหมายของป.ป.ช.ว่า เราเสนอคสช.ไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ 3-4 มาตราจะต้องดำเนินการ อีกเรื่องเป็นการขยายอายุความของการดำเนินคดี อย่างมาตรา 157 มีอายุความค่อนข้างสั้น เพียง 15 ปีจึงต้องขยายอายุความเพิ่มเป็น 30 ปี โดยเรื่องนี้ไปรวมอยู่แล้ว ต้องทำรายละเอียด เพื่อส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป ส่วนพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ กำลังพิจารณาว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องเสนอบ้าง เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2558 แล้ว ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งต้องฝากไปยังนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป.ป.ช.ที่เป็นสนช.ด้วย

รอสัญญาณถอดถอนอดีตส.ส.-ส.ว.

นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังค้างอยู่นั้น ต้องรอสนช.พิจารณาและประสานป.ป.ช. อีกครั้ง คิดว่าสนช.คงประชุมเรื่องนี้และ ให้สัญญาณมายังป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม เรื่องการถอดถอนแม้บุคคลที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูล ความผิด จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ร้องขอให้ถอดถอนแล้ว แต่ยังมีผลเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ซึ่งตัวอย่างในอดีตเคยมีมาแล้วที่สนช.พิจารณาถอดถอน นอกจากนี้เรื่องการรับรอง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็น กรรมการป.ป.ช. ที่ค้างการพิจารณาอยู่นั้น คิดว่าสนช.จะมีการพิจารณาเช่นกัน

       ด้านนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงป.ป.ช.เตรียมส่งชื่อเข้าคัดสรรเป็นสปช.ในส่วนของป.ป.ช.ว่า ถ้าจะเสนอชื่อบุคคล ต้องเสนอในนามของป.ป.ช. ไม่ใช่ว่าตนอยากเป็น แต่หากคณะกรรมการเห็นสมควร ตนก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว จะปฏิเสธได้อย่างไร

เปิดพรฎ.การสรรหาสมาชิกสปช.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยให้มีคณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิก สปช. แบ่งเป็น 12 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านสื่อสารมวลชน ด้านสังคม ด้านอื่นๆ และคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดจังหวัดละ 1 คณะ 

       ให้คณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งคสช. จะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกเป็น สปช. โดยบุคคลใดจะเป็นกรรมการสรรหาเกิน 1 คณะไม่ได้ และให้ประธานกรรมการสรรหาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกกต. 1 คนเป็นเลขานุการ 

      ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดนอกจาก กทม. ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายก อบจ. ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดของจังหวัดนั้น และประธานกกต.จังหวัด เป็นกรรมการสรรหา ส่วนกรรมการสรรหาประจำ กทม. ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งปลัดกทม. ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขต ในระดับจังหวัดของ กทม.ครั้งล่าสุด และประธานกกต.กทม. เป็นกรรมการสรรหา โดยกรรมการสรรหาจะแต่งตั้งหรือมอบให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ 

ให้กกต.รับด้านธุรการ-ค่าใช้จ่าย

       ให้สำนักงานกกต. รับผิดชอบงานเลขา นุการ และงานธุรการและค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหา สรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการเข้าเลือกเป็น สปช. คณะละไม่เกิน 50 คน แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรายชื่อ ส่วนคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด ให้คัดเลือกจากบุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น จังหวัดละ 5 คน ที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ 

      ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาบุคคลที่เสนอโดยนิติบุคคล ซึ่งไม่แสวงหากำไรจากภาคส่วนต่าง โดยแต่ละนิติบุคคลเสนอได้ไม่เกิน 2 ชื่อ โดยนิติบุคคลที่ต้องการเสนอชื่อ ให้เสนอต่อสำนักงาน กกต. ภายใน 20 วันนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา และให้เลขาธิการ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ก่อนส่งให้คณะกรรมการสรรหาภายใน 10 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดและให้คณะกรรมการสรรหาเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่ได้รับ คัดเลือกให้เป็น สปช. เสนอต่อ คสช. ภายใน 10 วันนับแต่วันที่พ้นระยะเวลา 

ให้อำนาจหัวหน้าคสช.วินิจฉัย

        เมื่อ คสช.ได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลแล้ว ต้องพิจารณาคัดเลือกบุคคลเป็น สปช. จากบัญชีรายชื่อคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และพิจารณา คัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสปช.จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้าน เสนอตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่เมื่อรวมกับจำนวนที่กรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอแล้วต้องไม่เกิน 250 คน

       ทั้งนี้ ให้หัวหน้า คสช.นำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้บัญชีรายชื่อ เมื่อทรงแต่งตั้ง สปช.แล้ว ให้ประกาศรายชื่อลงในราชกิจจานุเบกษา 

      หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา ให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้วินิจฉัย ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีที่มีความจำเป็นให้การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คสช. มีอำนาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลากำหนด ให้ดำเนินการหรืองดเว้น การดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสรรหาตามที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.นี้ได้ และมาตรา 18 ให้นายกฯ รักษาการตาม พ.ร.ฎ.นี้

กกต.รับลูก-คาดใช้เวลา 50 วัน

       ที่สำนักงานกกต.นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า หลังจากมีประกาศ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องรอคสช.ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้านและระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จากนั้นสำนักงานกกต.จะออกประกาศเรื่องการสรรหาบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเป็นสปช. คาดว่าจะมีประกาศ ดังกล่าวภายในวันที่ 13 ส.ค. จากนั้นวันที่ 14 ส.ค.-2 ก.ย. เปิดให้องค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการคัดเลือก และวันที่ 3-12 ก.ย. สำนักงาน กกต.จะใช้เวลาตรวจสอบคุณ สมบัติผู้ถูกเสนอชื่อโดยมีเวลา 10 วันตรวจสอบคุณสมบัติ และวันที่ 13-22 ก.ย. จะส่งกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้านและ 77 จังหวัดเพื่อให้ด้านต่างๆ คัดเลือกเหลือด้านละ 50 คน และจังหวัดเหลือจังหวัดละ 5 คน 

      นายภุชงค์ กล่าวว่า สุดท้ายวันที่ 23 ก.ย.- 2 ต.ค. จะส่งให้ คสช.พิจารณาคัดเลือกเหลือ 250 คน รวมเวลากระบวนการทั้งหมดคาดว่าใช้ 50 วัน จะได้รายชื่อ สปช.ทั้งหมด ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป อย่างไรก็ตาม การสรรหาสปช.ทั้ง 11 ด้านและระดับจังหวัดนั้น จะแตกต่างกันคือสปช. 11 ด้าน จะให้องค์กรนิติบุคคลเสนอรายชื่อผู้ที่ เหมาะสม ส่วนระดับจังหวัดคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้สืบเสาะแสวงหาหรือทาบทามผู้ที่เหมาะสมเอง ซึ่งผู้อยากเป็น สปช.ไม่สามารถเดินมาสมัครด้วยตนเองได้ 

แจงแจ้งจับขวางเลือกตั้งแล้ว 36 คดี

      เมื่อถามว่า สำนักงาน กกต.พูดคุยถึงการเสนอชื่อตัวแทนจาก กกต.เข้าไปเป็น สปช.หรือไม่ นายภุชงค์กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน ส่วน กกต.จะเป็นตัวแทนสำนักงาน กกต. ได้หรือไม่ กรรมการขององค์กรอิสระทุกองค์กรสามารถเป็นสปช.ได้ 

      นายภุชงค์ กล่าวถึงฝ่ายกฎหมาย น.ส. ยิ่งลักษณ์ระบุการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ แต่ทำไมยังดำเนินคดีในเรื่องใช้ทรัพยากรรัฐในช่วงที่มีการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่ได้เป็นโมฆะ เพียงแต่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้นการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังดำเนินการต่อไป ขณะนี้ยังไม่ถือว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์มีความผิด เพราะยังอยู่ในกระบวน การสืบสวนสอบสวน

       นายภุชงค์ กล่าวว่า ส่วนที่พรรคเพื่อไทย คาใจว่ากกต. ไม่เอาผิดกับผู้ขัดขวางการ เลือกตั้ง ยืนยันว่า กกต.ดำเนินคดีเอาผิดกับ ผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่ง กกต.ประชุมเรื่องดังกล่าวเดือนละ 2 ครั้ง และ แจ้งความดำเนินคดีแล้ว 36 คดี แต่ไม่ อยากให้ปรากฏเป็นข่าว เพราะจะกระทบกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ในหลายคดีมีการแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม 

มาร์คแนะออกกม.รับถอดถอน

       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวถึงรายชื่อสมาชิก สนช.ที่ทหารเข้ามา 105 คนว่า ไม่เกินความคาดหมาย เข้าใจว่าต้องการสภาที่มาเสนอแนวทางของคสช. ทุกฝ่ายจึงควรสนใจผลงานมากกว่า ความคาดหวังของประชาชนน่าจะมีพอสมควร เพราะสนช.ต้องทำงานสัมพันธ์กับงานปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องออกกฎหมายกันมากพอสมควร ส่วนตัวอยากให้เร่งทำกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายทุจริตคอร์รัปชั่นที่เครือข่ายประชาชนร่างกฎหมายไว้เสร็จแล้ว หากผลักดันเร็วจะทำให้ทิศทางปฏิรูปชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ มีภารกิจอื่นด้วย ไม่อยากให้เหมือนสนช.ชุดก่อนที่มีปัญหา องค์ประชุมจนกฎหมายถูกโต้แย้งและตกไปมาก ฝากถึงสนช.ที่เป็นข้าราชการว่าต้องเข้าประชุมให้ครบองค์ประชุม 

       นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นอำนาจการถอดถอนยังเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียน การระบุว่าสนช.ปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภา คือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบังคับ แต่เรื่องถอดถอนไปพันถึงรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนการนำไปเทียบว่าน่าจะทำได้เหมือนกับการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น กระบวนการสรรหาที่ทำไปก็ตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ แต่ปัญหาคือต้องดูว่าการถอดถอนมีกฎหมายรองรับหรือไม่ ถ้าไม่มี คสช.จะทำให้ชัดเจนอย่างไร เพราะยังมีอำนาจ ประกาศหรือออกคำสั่งได้

      สำหรับอดีตส.ส.-ส.ว.และนักการเมืองที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เตรียมส่งให้วุฒิสภาถอดถอน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช กรณีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีจำนำข้าว

"สุรชัย"แบ่งรับแบ่งสู้เก้าอี้ปธ.

      เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เข้ารายงานตัวเป็นสนช. พร้อมให้สัมภาษณ์กรณีมีรายชื่อเป็นแคนดิเดตประธาน สนช.ว่า บุคคลอื่นมีความสามารถมากกว่าตน แต่ถ้าเพื่อนสมาชิกลงคะแนนให้ก็พร้อมทำหน้าที่ เชื่อว่าการลงคะแนนเลือกประธาน สนช.น่าจะอิสระ ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารก็ได้ แต่ขอให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ สานต่อแนวทางของ คสช.ไปสู่โรดแม็ประยะที่ 3 ได้อย่างดี ส่วนกรณี สนช.จะถอดถอนนักการเมืองตามที่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วหรือไม่นั้นไม่ขอแสดงความเห็น อยากให้สมาชิก สนช.ทุกคนได้แสดงความเห็นในที่ประชุมก่อน

        ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงสัดส่วนทหารเข้ามาเป็น สนช.ถึง 105 คนว่า เรื่องดังกล่าวมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ลงมาแล้วถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่เหมาะสมที่จะมาพูดกันอีก เพราะคณะที่ได้รับการแต่งตั้งต้องเดินหน้าทำหน้าที่ตามโรดแม็ป ถือว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว

อดีตส.ส.หนุน"ธีรเดช"เหมาะสม

    นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง สนช.ชุดใหม่ว่า ไม่เกินความคาดหมายที่ คสช.จะนำกลุ่มทหารเข้ามาจำนวนมาก เพื่อให้การทำงานรวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อดี เพราะ คสช.จะทำอะไรก็ทำได้ทันทีเพื่อนำไปสู่โรดแม็ปได้เร็วขึ้น แต่อาจมีข้อเสียบ้าง คือประชาชนอาจมองว่าทำไมมีแต่กลุ่มของตัวเอง 

      นายสมคิด กล่าวต่อว่า ส่วนที่นำอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.เข้ามาบ้างพอเป็นกระสัย เพื่อไม่ให้ขาดพรรคพวก แต่ไม่อยากให้กลุ่มนายทหารที่อยู่ใน สนช.หลงทิศทางกับคำแนะนำของกลุ่มเหล่านี้ เพราะเป็นปฏิปักษ์กับพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ไม่อยากให้ สนช.ดำเนินการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะความขัดแย้งจะไม่จบสิ้น ส่วนคนที่จะเป็นประธาน สนช.นั้นตนสนับสนุนพล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา เพราะเป็นคนเก่ง ประนีประนอม เป็นกลาง ไม่เข้าข้างพรรคเพื่อไทย ไม่เข้าข้างส.ว.สรรหา ซึ่งบรรยากาศในสภาควรเป็นเช่นนี้ 

     ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าประชาชนคงไม่คาดหวังกับ สนช.ชุดนี้เท่าไร เพราะได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ หลังจากนี้เมื่อเปิดประชุม สนช.แล้วจะมีการโหวตเลือกประธานและรองประธาน สนช. ก่อนประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ซึ่งคงจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนหน้าที่ของ สนช.คงไม่มีอะไรมาก เพราะต้องสนองนโยบายของ คสช.อย่างเต็มที่ โดยสนช.ชุดนี้ทำได้เพียงตรากฎหมายเท่า อภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ ถามได้ แต่ลงมติไม่ได้ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติรองรับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ส่วนที่มีอดีต 40 ส.ว.ร่วมอยู่ด้วยนั้นก็ไม่แปลก และไม่เกินความคาดหมาย

สภานัดวันที่ 8 ส.ค.-โหวตประธาน

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนช.จากทั้งข้าราช การทหาร อดีตส.ว.และภาควิชาชีพ ยังคงมารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พล.ท.สุชาติ หนองบัว ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายกำลังพล พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รักษาการนายกสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย พล.อ.สกล ชื่นตะกูล ที่ปรึกษาพิเศษทหารบก นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา อดีตส.ว.ปทุมธานี พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีต ผบ.สส. นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายสมพร เทพสิทธา ว่าที่ประธานการประชุม สนช.ชั่วคราว เนื่อง จากมีลำดับอาวุโสที่สุดในการประชุมครั้งนี้ 

       นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยถึงขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ สนช. โดยเฉพาะพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีว่า จะพิจารณาข้อมูลสมาชิก 200 คนโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นหากใครเป็นสมาชิกพรรคถือว่าไม่ขัดคุณสมบัติ นอกจากดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค จึงจะถือว่าขัดคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากำหนดจัดรัฐพิธีในวันที่ 7 ส.ค. ที่บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม และคาดว่าจะเปิดประชุม สนช.นัดแรกได้ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ 

ชี้"ธวัชชัย"ขาดคุณสมบัติสนช.

        นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวถึงพล.อ.ธวัชชัย ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรม นูญฉบับชั่วคราว มาตรา 8 (1) กรณีเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองในเวลา 3 ปีก่อนได้รับแต่งตั้งว่า กกต.ต้องรอให้คสช. หรือสนช. ส่งเรื่องมาให้ตรวจสอบคุณสมบัติ เนื่องจากไม่สามารถหยิบเรื่องขึ้นมาตรวจสอบได้เอง

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบรายชื่อกรรมการบริหาร พรรคชาติพัฒนาชุดล่าสุด ที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนา ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2557 เล่มที่ 131 ตอนที่ 58 ประเภท ง พบว่า พล.อ.ธวัชชัย มีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรค โดยเป็นรองหัวหน้าพรรค ตามที่ที่ประชุมใหญ่พรรคชาติพัฒนามีมติคัดเลือกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 57 ขณะเดียวกันในเว็บไซต์ของพรรคชาติพัฒนา ยังมีชื่อและภาพพล.อ. ธวัชชัยอยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรค และระบุตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคด้วย

       รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ธวัชชัย ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนสมาชิกพรรคชาติพัฒนา ขอลาออกจากสมาชิกพรรค ลงวันที่ 28 ก.ค. ก่อนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นสนช. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. โดยพรรคส่งหนังสือดังกล่าวมาถึงกกต.เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เพื่อแจ้งนาย ทะเบียนฯทราบถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเนื่องจากมีการลาออก แต่ขณะนี้นายทะเบียนฯยังไม่ได้พิจารณาแจ้งตอบรับการขอเปลี่ยนแปลง จึงยังถือว่าพล.อ.ธวัชชัย เป็นกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนาอยู่ ถึงแม้นายทะเบียนฯจะตอบรับการขอเปลี่ยน แปลง ก็ยังถือว่าพล.อ.ธวัชชัย ขาดคุณสมบัติเป็นสนช.อยู่ดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 8 (1) กำหนดว่า ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง

บิ๊กตู่วางคิว-มีรัฐบาลเดือนก.ย.

       เมื่อเวลา 20.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การดำเนินงานของ คสช. ปัจจุบันอยู่ในระยะ ที่ 2 ตามโรดแม็ป คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เรื่องอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว คสช.ยืนยันว่าเราไม่ได้มุ่งหวังใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ เราใช้เพื่อให้การปฏิรูปดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิด ผลสัมฤทธิ์ ระยะกลางจะมีรัฐบาล ประมาณเดือนก.ย. เราต้องมีรัฐบาล อาจเรียกว่ารัฐบาลเฉพาะกาล แต่ต้องมีอำนาจเต็มบริหารราชการแผ่นดิน ใช้กฎหมายมากขึ้นและนำไปสู่การปฏิรูป จัดทำกฎหมายใหม่และเตรียมกติกาการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

      หัวหน้าคสช. กล่าวว่า เมื่อจบระยะที่ 2 จะส่งต่อให้ระยะยาวคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขอให้ใจเย็นๆ ถ้าใจร้อน ตนก็ใจร้อน จะเร่งรัดต่างๆ ให้เร็วขึ้น บางอย่างต้องแก้ปัญหาใช้เวลามากพอสมควร เพราะเกิดขึ้นมาหลาย 10 ปี สำคัญคือเราต้องไว้วางใจกัน เพราะคสช.ถือว่าทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อพวกเรา ทำเพื่อคนไทย ทุกคน เราไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ ถ้าทำดีก็แค่เสมอตัว ถ้าไม่ทำก็ปล่อยให้ประเทศล้มเหลวไป ซึ่งเราก็ปล่อยไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ ทุกคนรักชาติ รักแผ่นดิน ฉะนั้น เรามีหน้าที่ด้านความมั่นคง เราปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้ เราต้องไว้วางใจกันก่อนถึงจะทำอะไรต่อไปได้ 

อ้างไม่ต้องการอำนาจแค่ปฏิรูป

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราพยายามคิดใหม่ ทำใหม่ บางอย่างเป็นปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ บางอย่างเป็นเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกคนต้องย้อนดูว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ได้ ถ้าทุกคนคิดว่า คสช.ต้องการใช้อำนาจหรือต้อง การผลประโยชน์ คสช.ก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาล เราบริหารโดย คสช.แบบระยะแรกไปจะดีกว่า ไม่ยุ่งยาก แต่เราทำไม่ได้ เพราะไม่ต้องการอำนาจ เราต้องการให้การปฏิรูปดำเนินการไปได้โดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อย่างนั้นทำไปแล้วก็ไม่รับอีก ถ้าใครยังไม่ร่วมกันปฏิรูปก็คิดแล้วกันว่าเมื่อถึงเวลาที่เขาทำกันเสร็จเรียบร้อยแล้วไม่เข้ามา และวันหน้าจะมาปฏิเสธความรับผิดชอบว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้เข้ามา ตนขอให้คิดใหม่

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูประยะที่ 1, 2 และ 3 นั้น ในระยะที่ 1 การเตรียมการได้ดำเนินการไปแล้วที่มีสำนักงานปฏิรูปของ คสช. และจะเข้าระยะที่ 2 เมื่อมีสนช. จากนั้นจะแต่งตั้งครม. ประมาณเกือบ 2 เดือนกว่าจะคัดสรรเลือกตั้งได้สภาปฏิรูปซึ่งต้องใช้เวลา ถึงจะเริ่มทำงานได้ 

       "ที่บอกว่าต้องการประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้มีประชาธิปไตยทำไมไม่ทำกัน วันนี้ขอร้องอย่าเพิ่งพูด พูดไปก็ไม่เกิดผลดี ทุกคนควรช่วยกันทำ ไม่ใช่ผมทำคนเดียว ต้องมาช่วยผม การจะทำให้การเมืองก้าวหน้า เราต้องนำตัวออกมาก่อน เมื่อใดที่เราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แก้กระบวนการได้ แก้วิธีการได้ แก้การบริหารจัดการได้ เราเข้ามาและให้การบริการต่อประชาชนแล้วจะเรียกว่าการปฏิรูปที่สำเร็จ แต่ถ้าห่วงว่าออกกฎหมายมากไป วันหน้าเราจะเข้ามาบริหารได้อย่างไร จะมีผลประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าแบบนี้ถือว่าไม่น่าใช่คนไทย คนไทยต้องเอาประเทศชาติมาก่อน พวกผมคิดแบบนั้น เราเป็นทหารของประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

โต้ 200 สนช.-ไม่ใช่ระบบโควตา

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนสนช. ครม. และสปช.ยังไม่ได้ทำ ยังอยู่ในขั้นตอนทั้งสิ้น แต่มีการต่อว่าว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมกลุ่มนี้มากกลุ่มนี้น้อย วันนี้เราจะแก้ปัญหาการปฏิรูป ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เราต้องการทำให้กลไกเดินไปข้างหน้าได้ เราไม่ใช่ ส.ส. ไม่ใช่นักการเมือง เราเป็นทหารและเป็นข้าราชการ เป็นประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ดูก่อนว่าเขาจะมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ อย่าไปดูบุคคลนี้บุคคลนั้น ไม่มีใครดีที่สุด ไม่ดีที่สุด เอาดีมากกว่าไม่ดี ถ้ามองแต่เรื่องไม่ดีมาก ไม่ดีน้อย เกลียดกันไปเรื่อยๆ กลายเป็นไม่มีใครสักคน ฉะนั้นมีดีอยู่คนเดียวคือตัวเองก็ไม่ใช่ อยู่กันไม่ได้ ขอให้ดูผลงานที่จะเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของทุกคน

      "สนช.ที่กำหนดมา 200 คน ไม่ใช่ระบบโควตา ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าโควตา เป็นการให้ทุกพวกทุกฝ่ายเสนอชื่อมา 10 คน 20 คน มาคัดเลือกกันพิจารณาในภาพรวม จะมีทหารมากน้อยก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นห้วงที่ไม่ปกติ ถ้าปกติก็ทะเลาะกันเหมือนเดิม การทำงานในระยะที่ 2 เป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูป นำไปสู่จุดสุดท้ายคือการมีรัฐบาลที่ถาวร รัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ถ้าตรงกลางเกิดไม่ได้ ตรงปลายก็เกิดไม่ได้ อย่าตำหนิกันมากนัก รอดูกัน วันนี้ยังต้องบริหารราชการแบบไม่ปกติอยู่ระยะหนึ่ง ถ้ามีรัฐบาล มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มี ครม.ถือว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เป็นประชา ธิปไตยแบบไทยบ้าง เรานำประชาธิปไตยแบบสากลมาใช้มาก อาจต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยชั่วคราวไปก่อน ซึ่งต่างชาติก็ยอมรับมากขึ้นของการเดินสู่ระยะที่ 2 ของเราตรงนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นัด 9 ส.ค.เปิดแนะนำสภาปฏิรูป

      หัวหน้าคสช. กล่าวว่า เราคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ ความไว้วางใจและมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ซึ่งเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จเพื่อเปิดประชุม สนช.ให้ได้โดยเร็ว ให้เกิดความเป็นเอกภาพและตอบสนองภารกิจหลักคืองานปฏิรูปให้เป็นผลสำเร็จได้ในเวลารวดเร็ว ทุกคนคงเข้าใจ 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการปฏิรูปนั้น เราจะมีสปช. คัดมาจาก 550 เหลือ 173 และคัดมาจาก 5 คนในแต่ละจังหวัดให้เหลือจังหวัดละ 1 คนเป็น 77 คน ทั้งหมดคือ 173 บวก 77 จังหวัด เป็น 250 คือยอดของสมาชิกสภาปฏิรูป ซึ่งแต่ละจังหวัดที่เราเปิดศูนย์ปรองดองปฏิรูป ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้านเสนอการปฏิรูปผ่านตัวแทนเข้ามาได้ เราเปิดทุกช่องทาง นี่คือการเตรียมการระยะที่ 1 ไปสู่ระยะที่ 2 ทุกคนยังมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลาในการทำกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขอให้ทุกคนเตรียมให้พร้อม อย่าบอกว่าไม่ชอบไม่เห็นด้วย ไม่เข้ามาดีกว่า เขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปแล้ว เราต้องทำตามนั้น

      "คสช.จะไม่เข้าไปชี้นำในสภาปฏิรูป เป็นเรื่องของประชาชน ต้องมาทำกันให้ได้ และเราจะเปิดแนะนำวันที่ 9 ส.ค. ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดีรังสิต ให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพแนะนำชี้แจง ขอเชิญทุกภาคส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องทั้ง 11 กลุ่มจากตัวแทน หรือใครอยากมาร่วมก็เชิญด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เผย'จุฬาราชมนตรี'ก็ติดปัญหา

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรายงานตัวของสนช. วันแรก ซึ่งเปิดตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีบุคคลเข้ามารายงานตัวทั้งสิ้น 34 คน โดยนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีตส.ว.ปัตตานี มารายงานตัวเป็นคนสุดท้ายในเวลา 16.20 น.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำแหน่งประธาน สนช. ขณะนี้มีชื่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดินและที่ปรึกษาหัวหน้าคสช. เนื่องจากนายพรเพชรได้รับความไว้วางใจจากพล.อ.ประยุทธ์ อีกทั้งเป็นผู้มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 และเป็นสนช.เมื่อปี 2549 จึงมีประสบการณ์ในการเป็น สนช.มาก่อน ซึ่งสนช.บางส่วนให้การสนับสนุน โดยนายพรเพชรจะเข้ารายงานตัววันที่ 3 ส.ค. 

      สำหรับ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล สนช. นั้น อาจติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติการเป็นจุฬา ราชมนตรี เนื่องจากพ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 หมวด 1 มาตรา 7 (10) ระบุคุณสมบัติของผู้เป็นจุฬาราชมนตรี ว่าต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

     คนใกล้ชิดของนายอาศิส เปิดเผยว่า นาย อาศิสได้ทำหนังสือแจ้งต่อคสช. ขอไม่รับ ตำแหน่งสนช.เนื่องจากความเหมาะสมต่อสถานะของผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามในราชอาณาจักร จึงไม่อาจรับตำแหน่งทาง การเมืองใดๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีใครทาบทามหรือบอกกล่าวมาก่อนล่วงหน้า มิเช่นนั้นคงกล่าวปฏิเสธไปแล้วก่อนประกาศรายชื่อ

ประยุทธ์แจงตั้ง 200 สนช. ไร้โควตา พรึบหนุน'บิ๊กตู่'นายกฯท่านจุฬาฯขอคืนเก้าอี้ บิ๊กเยิ้มขาดคุณสมบัติ 'โลกร้อน'โวยขัดรธน. 'สุรชัย'ฮึดชิง'พรเพชร'

รายงานตัว -บรรดานายทหารระดับสูงที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทยอยเดินทางมารายงานตัวในวันแรกอย่างคึกคัก ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม



ใช้ไลน์ - เจ้าหน้าที่สำนักงานวุฒิสภาแนะนำสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่เข้ารายงานตัว ถึงการใช้ไลน์กลุ่มของ สนช.เพื่อใช้ในการประสานงานกันในกลุ่มสมาชิกและการแจ้งกำหนดการต่างๆ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม



ร่วม"สนช." - นายสมพร เทพสิทธา อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดินทางมารายงานในวันแรก ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม

มติชนออนไลน์ :

สนช.รายงานตัววันแรก 34 คน สายกองทัพพรึบ หนุน'บิ๊กตู่'นายกฯ 

สนช.รายงานตัว-บิ๊กเยิ้มส่อหลุด 

     เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรับรายงานตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดสถานที่ไว้รองรับการรายงานตัวภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สนช. 200 คน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

       นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า คิดว่าระยะเวลา 5 วัน สนช.น่าจะมารายงานตัวครบ ซึ่งรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ต้องรอกำหนดการอย่างเป็นทางการ และจะนัด สนช.ประชุมวันถัดไป ทั้งนี้ ในการประชุมนัดแรกจะต้องให้ผู้อาวุโสสูงสุดคือนายสมพร เทพสิทธา ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม อาจต้องใช้ข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 เพื่อเลือกประธานและรองประธาน

     "ขณะนี้พบว่า พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 อาจจะขาดคุณสมบัติเพราะเป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนา และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะตรวจสอบคุณสมบัติ สนช.คนอื่นๆ จากนั้นจะแจ้งให้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) รับทราบ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน" นางนรรัตน์กล่าว

      ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า พล.อ.ธวัชชัย เป็นรองหัวหน้าพรรค ชาติพัฒนา (ชพ.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนขอลาออกจากการเป็นสมาชิก ชพ. ลงวันที่ 28 กรกฎาคม

ตท.12หนุน"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯ

      พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร กล่าวว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตนเป็นสมาชิก สนช. ก็มีหน้าที่ทำตาม ส่วนที่เลขาธิการวุฒิสภาจะตรวจสอบคุณสมบัติก็ทำไป แต่จะไปรายงานตัวก่อนวันที่ 4 สิงหาคม หากท้ายที่สุดจะไม่ได้เป็น สนช.ก็ไม่เป็นไร ที่ผ่านมาไม่ได้เจอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้า คสช.เลย และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้มาเป็น สนช. 

      พล.อ.ธวัชชัย กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเพื่อนเตรียมทหาร 12 (ตท.12) ที่เป็น สนช.ครั้งนี้ ต่างเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนเพื่อนคือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นาทีนี้คงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เชื่อมั่นว่าคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะดูแลรักษาสถาบันของชาติ ดูแลพี่น้องประชาชนด้วยชีวิต ขอยืนยันได้ 1,000 เปอร์เซ็นต์ ว่าเพื่อนคนนี้ไม่เคยแม้แต่จะคิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น

      รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้สมาชิก สนช.สายต่างๆ มีการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ และมีความเห็นร่วมกันว่า พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมที่จะนั่งเป็นนายกฯ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ คสช. เหมาะสมที่จะนั่งเป็นประธาน สนช. 

จุฬาราชมนตรีไม่ขอรับสนช.

      แหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันหลังจากนายอาศิส ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.นั้น ขณะนี้นายอาศิสได้ตัดสินใจทำหนังสือแจ้งไปยัง คสช.ภายใน 1-2 วันนี้ เพื่ออธิบายเหตุผลในการไม่ขอรับตำแหน่ง สนช.เนื่องจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ถือว่าเทียบเท่ากับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จึงไม่เหมาะสมหากไปรับตำแหน่งดังกล่าว

      นอกจากนี้ การรับตำแหน่ง สนช. อาจจะขัดกับ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2550 มาตรา 7 เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของจุฬาราชมนตรี ในข้อ 10 ที่ระบุว่าต้องไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

"ตวง"รายงานตัวคนแรก 

      ต่อมาเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. และอดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ส.ว. เดินทางมารายงานตัวเป็นคนแรก โดยนายตวงกล่าวว่า ไม่เคยติดต่อ คสช.มาก่อน มาทราบว่าได้รับตำแหน่งหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ส่วนที่มีทหารเป็นสมาชิก สนช.จำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ สนช.หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นเวลานี้คือการทำงานเพื่อบ้านเมืองให้เดินหน้าสู่การปฏิรูป 

     นายตวง กล่าวว่า สนช.จะมีอำนาจถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่นั้น คงต้องคุยกันในที่ประชุม สนช. แต่ปี 2549 สนช.เคยมีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาแล้ว ประกอบกับปัจจุบันสถานะทางกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังมีผลอยู่ 

     จากนั้นนายศิระชัย โชติรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะ สนช. เดินทางมารายงานตัวเป็นคนที่สอง ตามด้วย พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก รายงานตัวเป็นคนที่ 3 

วันแรกสนช.34 คนรายงานตัว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 12.00-16.30 น. บรรยากาศคึกคักมากขึ้น มี สนช.เดินทางเข้ารายงานตัวอย่างต่อเนื่องรวม 23 คน อาทิ พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก พล.ท.กิตติ อินทสร ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายข่าว พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รักษาการนายกสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีต ผบ.สส. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. นายประมุท สูตะบุตร อดีตผู้อำนวยการ อสมท นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1

      สรุปแล้ว ในวันแรกมี สนช.เข้ารายงานตัวรวม 34 คน ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะเปิดให้รายงานตัวจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม ไม่เว้นวันหยุดราชการ

"บิ๊กตู่"แจงทหารพรึบ"สนช."

      เมื่อเวลา 20.30 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยู่ในขั้นตอนทั้งสิ้น มีการต่อว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมกลุ่มนี้มาก กลุ่มนี้น้อย ก็วันนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่หรือ วันนี้จะมาปฏิรูป ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งประชาธิปไตย 100% อยู่แล้ว ต้องการทำอย่างไรให้กลไกเดินไปข้างหน้าได้ เราไม่ใช่ ส.ส. เราไม่ใช่นักการเมือง เราเป็นทหารและเป็นข้าราชการ เป็นประชาชนอีกส่วนหนึ่ง อย่าไปดูบุคคลนี้ บุคคลนั้น ไม่มีใครดีที่สุด ไม่ดีที่สุด เอาดีมากกว่าไม่ดี ขอให้ดูผลงานที่จะเกิดขึ้น 

      "สนช.ที่กำหนดมา 200 คน ไม่ใช่ระบบโควต้า ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าโควต้า เป็นการให้ทุกพวก ทุกฝ่ายเสนอชื่อมา ถ้าไม่บอกว่าเสนอมา 10 คน 20 คนมาคัดเลือกกัน ก็จะเสนอมาเป็นพันคน ผมถึงบอกว่าตรงนี้เสนอมา 20, 30, 40 ทั้งหมดก็มาคัดกัน ท่านก็คอยดูแล้วกันคงไม่ใช้คำว่าโควต้า ให้เสนอมาเพื่อพิจารณา ได้เท่าไรไม่รู้ เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่จะต้องพิจารณาในภาพรวม จะมีทหารมากน้อยก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นห้วงที่ไม่ปกติ ถ้าปกติก็ทะเลาะกันเหมือนเดิม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

มีรธน.ชั่วคราวถือเป็นปชต.

      หัวหน้า คสช.กล่าวว่า การทำงานในระยะที่ 2 เป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูป เพื่อจะนำไปสู่จุดสุดท้ายคือการมีรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ถ้าตรงกลางเกิดไม่ได้ ตรงปลายก็เกิดไม่ได้ อย่าตำหนิกันมากนัก วันนี้ต้องบริหารราชการแบบไม่ปกติอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ถ้ามีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีรัฐบาล ถือว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การคัดจากคนที่มีความรู้ความสามารถ ความไว้วางใจแล้ว มีปัจจัยที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จเพื่อจะเปิดประชุม สนช.ให้ได้โดยเร็ว เราต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพและตอบสนองภารกิจหลัก คืองานปฏิรูปให้เป็นผลสำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารจัดการ ระบบราชการ การศึกษา กฎหมายกระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข หรือเรื่องอื่นๆ 11 เรื่อง อาจจะมากกว่า 11 เรื่องก็ได้ ทั้งหมดต้องไปแก้กันให้ได้ 

ยันเปิดช่องรับฟังแนวปฏิรูป

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในการปฏิรูปนั้น ถึงแม้เราจะมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คัดมา 250 คน นอกจากจะพูดคุยกันใน สปช.แล้ว แต่ละจังหวัดที่เราไปเปิดศูนย์ปรองดองปฏิรูปทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ก็เสนอกันมาได้ผ่านตัวแทนของท่านที่เข้ามา หรือระหว่างที่เขาประชุมกัน ท่านส่งข้อมูลมาได้ ผ่านคนของท่านเข้ามา เราเปิดทุกช่องทาง ทุกคนยังมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลาที่จะทำกฎหมาย และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

"ขอให้ทุกคนเตรียมการให้พร้อม อย่าบอกว่าไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ไม่เข้ามาดีกว่า เขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปแล้ว เราต้องทำตามนั้น คสช.จะไม่เข้าไปชี้นำใน สปช. เป็นเรื่องของท่าน ท่านต้องมาทำกันให้ได้ และเราจะเปิดแนะนำวันที่ 9 สิงหาคม ณ สโมสรกองทัพบก วิภาวดีรังสิต ขอเชิญทุกภาคส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องทั้ง 11 กลุ่มจากตัวแทน หรือใครอยากจะมาร่วมก็เชิญด้วย จะได้มาร่วมมือร่วมใจกันในการปฏิรูปกันต่อไป" 

คสช.เร่งทำนโยบายรบ.-งบ"58

     ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานการประชุมการปฏิบัติงานของฝ่ายต่างๆ ใน คสช. โดย พล.อ.อุดมเดชเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมดำเนินการตามกรอบปฏิทินของ สนช. โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เร่งจัดทำร่างคำแถลงนโยบายรัฐบาลให้เสร็จและส่งมาให้ คสช.ภายในวันที่ 15 สิงหาคม รวมถึงขอให้สำนักงบประมาณจัดทำร่างคำชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่ คสช.จะต้องชี้แจงต่อ สนช.ให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 

"บิ๊กตู่"สั่งลดขนาดคสช.

     พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายจัดทำสรุปผลงานช่วงที่ผ่านมา และ 1 ปีต่อจากนี้ โดยกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจนในวงรอบ 3 เดือน เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานของรัฐบาล โดยจัดทำเป็นวีดิทัศน์เผยแพร่ก่อนมีรัฐบาลใหม่ รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส 

     "พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ทุกฝ่ายช่วยทำความเข้าใจกับสังคมว่า คสช.ไม่ใช่รัฐบาล เป็นงานคนละส่วนกัน แต่จะทำงานคู่ขนานกัน หลังจากนี้โครงสร้าง คสช.จะลดขนาดลงเพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานควบคู่กับรัฐบาล ดังนั้น ให้แต่ละฝ่ายเร่งสรุปผลงานส่งให้สำนักงานเลขาธิการ คสช. เพื่อเตรียมส่งข้อมูลต่อให้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

เตรียมส่งกม.43 ฉบับให้สนช.

      ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. รายงานในที่ประชุมว่า มีกฎหมายที่เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จำนวน 43 ฉบับ คาดว่า สนช.จะเริ่มพิจารณาได้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคมเป็นต้นไป

    ขณะที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา รายงานว่า ขณะนี้ส่งบัญชีรายชื่อข้าราชการที่จะแต่งตั้งโยกย้าย 7 กระทรวงที่รับผิดชอบถึงหัวหน้า คสช.แล้ว ประกอบด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

"พรเพชร"เต็งหนึ่งปธ.สนช.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตำแหน่งประธาน สนช. น่าจะเป็นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. เนื่องจากนายพรเพชรได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และเคยเป็น สนช.เมื่อปี 2549 จึงมีประสบการณ์ในการเป็น สนช.มาก่อน ขณะเดียวกัน ยังได้รับการสนับสนุนจาก สนช.บางส่วนด้วย 

       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตประธาน สนช.ว่า บุคคลอื่นมีความสามารถมากกว่าตน แต่ถ้าหากเพื่อนสมาชิกลงคะแนนให้ก็พร้อมทำหน้าที่ เชื่อว่าการลงคะแนนเลือกประธาน สนช.น่าจะเป็นไปอย่างอิสระ ซึ่งตำแหน่งประธานไม่จำเป็นต้องเป็นทหารก็ได้ แต่ขอให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะสานต่อแนวทางของ คสช.ไปสู่โรดแมป ระยะที่ 3 ได้เป็นอย่างดี 

     ทั้งนี้ วันที่ 4 สิงหาคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สนช. นัด สนช.สายอดีต ส.ว. และอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน แต่ยังไม่ได้กำหนดสถานที่ที่ชัดเจน

พท.เชียร์"ธีรเดช"นั่งปธ.

      นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนสนับสนุน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา เป็นประธาน สนช. เพราะเป็นคนเก่ง มีความประนีประนอม มีความเป็นกลาง ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษา คสช.ด้านกฎหมาย ไม่ควรเป็น เพราะเป็นสายตรง คสช.เกินไป และเคยทำงานให้กลุ่มองค์กรอิสระมาก่อน รวมทั้งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธาน ส.ว. ก็ไม่ควรเป็น อาจได้รับการต่อต้านจากพี่น้องนักการเมือง ขณะที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่ควรเป็นประธาน เพราะที่ผ่านเห็นชัดเจนว่าเป็นอย่างไร 

เตือนอย่าหลงทิศกลุ่ม40ส.ว.

     นายสมคิด กล่าวว่า ไม่เกินความคาดหมายที่ คสช. จะนำทหารเข้าไปเป็น สนช.จำนวนมาก โดยมีอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. เข้ามาบ้าง พอเป็นกระษัย เพื่อไม่ให้ขาดพรรคพวก เมื่อยึดอำนาจแล้วก็ต้องใช้คนของเขา อย่างไรก็ตามขอให้ สนช.ออกกฎหมายที่เป็นธรรมแก่สังคม อย่าทำกฎหมายที่เป็นธรรมแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าออกกฎหมายไม่เป็นธรรมต่อคนทั่วไป ความขัดแย้งจะไม่จบสิ้น 

     "ไม่อยากให้นายทหารที่เป็น สนช.หลงทิศทางกับคำแนะนำของกลุ่ม 40 ส.ว. เพราะกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์กับพรรคเพื่อไทย ไม่อยากให้ สนช.ดำเนินการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อยากให้ สนช.เดินไปตามเป้าที่วางไว้" นายสมคิดกล่าว

     นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค พท.กล่าวว่า เชื่อว่าประชาชนคงไม่ได้คาดหวังกับ สนช.ชุดนี้สักเท่าไร เพราะได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ ต้องทำหน้าที่สนองนโยบายของ คสช. โดยเฉพาะการตรากฎหมายที่ร่างไว้ 

มาร์คชี้ตามคาดทหารพรึบสนช.

      ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีมีทหารที่เป็นสมาชิก สนช.ถึง 105 คน ว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่เกินความคาดหมาย เข้าใจว่า คสช.ต้องการสภาที่มาเสนอแนวทางของ คสช. สิ่งที่ทุกฝ่ายควรสนใจมากกว่าคือผลงานของ สนช. ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะ สนช.ต้องทำงานสัมพันธ์กับงาน สปช.ด้วย เพราะการปฏิรูปหลายด้านต้องออกกฎหมายมากพอสมควร แต่ส่วนตัวอยากเห็น สนช.เร่งกฎหมายบางเรื่อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และบรรดากฎหมายที่ต้องออกเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับอาเซียน แต่การทำงานของ สนช.ควรเปิดเผย รับฟังเสียงสะท้อน เปิดเผยกฎหมายที่จะพิจารณาให้ประชาชนรับรู้ด้วย

      "เป็นห่วงว่าสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ จะต้องมีภารกิจอื่นด้วย จึงไม่อยากให้เกิดปัญหาเรื่ององค์ประชุมเหมือนกับ สนช.คราวที่แล้ว จนทำให้กฎหมายถูกโต้แย้งและตกไปมาก ขอฝากว่าคนที่เป็นข้าราชการไปเป็น สนช.ต้องเข้าประชุมให้ครบองค์ประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับพิจารณากฎหมายตามมา" นายอภิสิทธิ์กล่าว

อดีต40ส.ว.ผิดหวังชื่อสนช.

      นายวันชัย สอนศิริ อดีต ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า เมื่อเห็นรายชื่อ สนช.ชุดนี้ อาจไม่สอดคล้องกับธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 7 ที่ระบุว่าต้องเป็นบุคคลที่หลากหลายจากกลุ่มต่างๆ แต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นทหารมากเกินไป ตนเห็นว่าควรจะมีเพียง 50 คนก็พอ ขณะที่การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเวทีการถกเถียง แสดงเหตุผลเรื่องต่างๆ ของบ้านเมืองและกฎหมายต่างๆ ไม่ใช่พื้นที่ให้สั่งซ้ายสั่งขวา 

     หรือแสดงพิธีกรรมได้ตามความต้องการ รายชื่อ สนช.ที่ออกมาไม่ได้ดังใจประชาชน จากเคยที่นิยมชมชอบในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังการรัฐประหาร แต่วันนี้อยากบอกว่าผิดหวังกับ คสช. เมื่อเห็นรายชื่อ สนช.

     "สิ่งที่กังวลคือ ครม.ที่จะเกิดขึ้นเกรงว่าจะมีทหารจำนวนมากอีกตามเคย ผมห่วงว่าจะถูกมองว่าทหารเบ็ดเสร็จเกินไป ที่ออกมาวิจารณ์ไม่ได้ผิดหวังหรือเสียใจ เพราะตัวเองไม่ได้หวังตำแหน่งใดๆ แต่ที่รู้สึก คือมีคนที่มีความรู้ความสามารถหลายคนที่ควรจะได้เป็นแต่ไม่ได้รับคัดเลือกมากกว่า" นายวันชัยกล่าว

      นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการทางกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ที่มาของ สนช. มาจากการคัดเลือกของ คสช. ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 11 บัญญัติว่า "สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย" ฉะนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงบังคับให้ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเพราะโดยสภาพไม่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยแต่อย่างใด

กต.แจงอาเซียนไทยตั้งสนช.

    นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน แถลงว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ระหว่างวันที่ 5-10 สิงหาคมนี้ ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ทั้งนี้จะถือโอกาสชี้แจงพัฒนาการการเมืองไทยซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ การแต่งตั้ง สนช. และการตั้งรัฐบาลภายในเดือนกันยายน 

     นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า มีอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ 3 คน ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะปี 2558 มิติด้านการต่างประเทศจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดัน พ.ร.บ.และกฎหมายต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้ทรงคุณวุฒิจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ต่อไป

อธิการบดีเล็งดันกม.ศึกษา

    ส่วนสมาชิก สนช. ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การทำงานร่วมกับทหารไม่มีปัญหา เพราะทุกคนคุยกันได้ด้วยเหตุด้วยผล ส่วนตัวมีแนวคิดผลักดันกฎหมายหลายฉบับ ทั้งร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ งบประมาณเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศ และสนใจผลักดันกฎหมายการปกครองท้องถิ่น ซึ่งหยุดชะงักไปนานมาก ทั้งการกระจายอำนาจ เพิ่มงบให้ท้องถิ่นพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ จะพูดคุยกับอธิการบดีที่เข้ามาเป็น สนช.เพื่อหารือเรื่องปัญหาการศึกษา และผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอุดมศึกษา 

     นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า สนใจเรื่องกฎหมายทางด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข โดยตั้งใจจะเสนอให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือออกเป็นพระราชบัญญัติ ให้วางเรื่องการศึกษาและการสาธารณสุขเป็นนโยบายของประเทศ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องเดินตามนโยบายดังกล่าว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ลุยปฏิรูปการศึกษา

    นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า งานที่คิดว่าจะต้องเร่งเดินหน้าคือกฎหมายต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหลายแห่ง ที่รอเปลี่ยนสถานะ รวมทั้งเรื่องปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปครู ที่ควรจะมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้ดึงคนดี คนเก่ง มาเป็นครู 

     นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนกฎหมายที่ต้องเร่งผลักดันนั้น ยังมีกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร คงจะพิจารณากันต่อไป รวมถึงร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย 

     นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) กล่าวว่า จะทำหน้าที่ สนช.ให้ดีที่สุด โดยจะเร่งผลักดันกฎหมายที่บกพร่องทั้งเรื่องการปราบปรามการทุจริต การจัดการภาษีมรดก และการอุดมศึกษา

      นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ทราบว่าวันที่ 6 สิงหาคม สนช.จะประชุมหารือกันก่อน การมาอยู่ตรงนี้เป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงไม่น่าจะมีแรงกดดัน

ป.ป.ช.รอสนช.ชี้ยื่นทรัพย์สิน

     วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิก สนช.จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ว่า ป.ป.ช.ต้องรอให้ฝ่ายเลขาธิการ สนช.ส่งเรื่องมาสอบถามความชัดเจนจากทาง ป.ป.ช.ก่อน จากนั้นจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาให้ลงความเห็นอีกครั้งหนึ่ง 

     อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2549 นั้น สมาชิก สนช.จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. 

ส่ง"วิชา-ภักดี"ชิงนั่งสปช.

     นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ป.ป.ช.พยายามผลักดันเรื่องการปฏิรูปยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและกฎหมาย โดย ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่าจะเสนอชื่อใครไปสรรหาเป็น สปช. อย่างไรก็ตาม เห็นว่าบุคคลที่เหมาะสมสำหรับด้านกฎหมายคือ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ส่วนด้านยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริต คือ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. 

      ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (กกต.) ขณะนี้กำชับให้ กกต.ทั้ง 77 จังหวัด เตรียมการเพื่อสนับสนุนกระบวนการสรรหาสมาชิก สปช. และสำนักงาน กกต.จะใช้สิทธิเสนอรายชื่อบุคคล 2 คน เข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็น สปช. โดยวันที่ 5 สิงหาคม ที่ประชุม กกต.จะหารือเรื่องดังกล่าวกัน คาดว่าน่าจะมีความชัดเจน

คาด14 ส.ค.-2 ก.ย.เปิดสรรหาสปช.

      นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า หลัง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิก สปช. มีผลบังคับใช้ ขั้นตอนต่อไปต้องรอ คสช.ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน และระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดก่อน จากนั้น กกต.จะออกประกาศสรรหาบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเป็น สปช. คาดว่าจะมีผลไม่เกินวันที่ 13 สิงหาคม จากนั้นวันที่ 14 สิงหาคม-2 กันยายน จะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลที่จดทะเบียนถูกต้องเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อรับการคัดเลือก และระหว่างวันที่ 3- 12 กันยายน สำนักงาน กกต.จะใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ และจะส่งกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน และ 77 จังหวัดเพื่อคัดเลือกเหลือด้านละไม่เกิน 50 คน และจังหวัดเหลือจังหวัดละ 5 คน ส่งให้ คสช.พิจารณาคัดเลือกเหลือ 250 คน รวมระยะเวลากระบวนการทั้งหมดคาดว่าใช้เวลาประมาณ 55 วัน อย่างช้าวันที่ 2 ตุลาคม ได้รายชื่อ สปช.

ปลัดมท.ติวเข้มปรองดอง

      ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน จาก 25 จังหวัดภาคกลาง ที่เข้าร่วมอบรมโครงการประชุมขับเคลื่อนบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการผู้ใหญ่บ้าน ในการเทิดทูนสถาบัน ลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 

    นายวิบูลย์กล่าวว่า วันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฝากให้นายอำเภอดูแลเรื่องการเชิดชูกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยให้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นเรื่องความสุข ศักดิ์ศรีและการปฏิบัติงานตลอดปีที่ผ่านมา โดยจะมีพิธีมอบรางวัล 306 คน 

    พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) กล่าวว่า ตั้งใจจะไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำงานควบคู่กัน ไม่มีใครที่อยากยึดอำนาจ แต่เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องทำ ก็ขอให้ท่านนำเรื่องนี้ไปชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนด้วย 

     พล.ท.ปัมปนาท กล่าวว่า สำหรับเรื่องความปรองดองสมานฉันท์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงมีการตั้ง ศปป.ขึ้น 

ป.ป.ช.ส่งคดีข้าวปูให้อสส.4ส.ค. 

     นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งสำนวนคดีอาญากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ละเลยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายให้อัยการสูงสุด (อสส.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม มีมติรับรองสำนวนที่คณะทำงานปรับแก้ไขถ้อยคำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนลงนามรับรองท้ายสำนวนเพื่อส่งไปยัง อสส. คาดว่าอย่างช้าภายในวันที่ 4 สิงหาคม จะส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดได้