- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 12 May 2014 14:02
- Hits: 4496
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8566 ข่าวสดรายวัน
เลขาฯศาลยันเอง ไม่เกี่ยว เสนอนายก'ม.7'ยันชัดรธน.ไม่ให้อำนาจ จับตาวุฒินอกรอบวันนี้ กกต.ชงเลื่อนยาว 3 สค.
ตัวแทนไทย - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกฯ จับมือประสานผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ในวาระการประชุม สุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 24 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค. |
เลขาฯ ศาลยุติธรรม ชี้ข้อเสนอนายกฯ ม.7 ไม่เกี่ยวกับศาล ผู้พิพากษาอาวุโส ยันรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ตุลาการเสนอชื่อนายกฯ ด้านศาลปกครองระบุ ข้อเสนอ กปปส.แค่ความเห็นทางการเมือง เพื่อไทยลั่นต้องฝ่ากำแพงรั้ว 7 ชั้นไปก่อน 'จาตุรนต์' เตือนผู้นำเหล่าทัพ อย่าเข้าร่วม'เทพเทือก''มาร์ค'หนุนนายกฯ คนกลาง ทางออกดีที่สุด'สุรชัย'นัดถกวุฒิสภานอกรอบวันนี้ ปัดทำตามใบสั่ง "สุเทพ" กกต.จ่อเลื่อนเลือกตั้งเป็น 3 ส.ค. 'ปู'ควง 'น้องไปป์' เดินช็อปปิ้งห้างเชียงใหม่
เพื่อไทยขู่ยื่นร้อง'สุรชัย'
เวลา 10.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค แถลงว่า กรณีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เรียกประชุมวุฒิสภาจนมีการโหวตเลือกประธานวุฒิสภา ทีมกฎ หมายพรรคเพื่อไทยตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อมีการดำเนินการเลือกตำแหน่งประธานวุฒิสภาน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมวุฒิสภา ที่สำคัญนายสุรชัยน่าจะขาดสำนึกทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง เพราะทำหนังสือถึง ครม.ขอแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.กับผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครองเท่านั้น ทั้งที่องค์ประกอบของรัฐสภาไม่ครบ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเลขาธิการรัฐสภายังทักท้วง แต่นายสุรชัยยังดันเพื่อเปิดประชุมวุฒิสภาวิสามัญ น่าจะเห็นถึงนัยยะพิเศษว่ามีการเสนอชื่อประธานวุฒิสภา น่าจะเป็นการสอดไส้เลือกตำแหน่งประธานวุฒิสภา ทั้งๆ ที่ไม่มีอยู่ในวาระการประชุม ฝ่ายกฎหมายของพรรคมองว่าเป็นวาระซ่อนเร้น ผิดพระ บรมราชโองการในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรม นายสุรชัยอย่าอ้างข้อบังคับว่าการประชุมสามารถทำได้เพราะฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจะมีคนร้องในเรื่องดังกล่าว
หนุนตีความตั้งปธ.วุฒิฯ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เรื่องการที่นาย สุรชัยได้รับการโหวตเป็นประธานวุฒิสภานั้นขาดความสง่างาม เห็นได้จากวันที่มีการเลือก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ก็เข้าไปกดดัน ชุมนุมเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา ที่สำคัญนายสุเทพ พยายามเสนอให้นายสุรชัยในฐานะที่รักษาการประธานวุฒิสภาขณะนั้น ให้เรียกประชุมและเสนอชื่อนายกฯตามมาตรา 7 นายสุรชัยจะยอมเป็นเครื่องมือให้นายสุเทพ ซึ่งเป็นหัวหน้ากบฏหรือไม่ ซึ่งมองว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายในการตีความการเลือกประธานวุฒิสภา
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นบรรทัดฐานว่าการเลือกประธานวุฒิสภาในลักษณะเร่งรัดเช่นนี้ขัดต่อ พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญหรือไม่
จวกคุกคามสื่อ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวกรณีกลุ่มกปปส.ปิดล้อมที่ทำการสื่อมวลชนต่างๆ ว่า เป็นการกระทำที่เหิมเกริม ลุแก่อำนาจ ป่าเถื่อน คุกคามสื่อ ผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่เคยปิดหนังสือพิมพ์ ยึดสื่อฟรีทีวี บังคับให้เสนอข่าวของตัวเอง งดออกข่าวรัฐบาล ถือเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน ปากบอกว่าต้องการปฏิรูปประเทศแต่กลับทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45, 46, 47, และ 48 ขนาดยังไม่มีอำนาจ ยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ทันตั้งนายกฯ หรือครม.ก็ยังคุกคามสื่อได้ขนาดนี้ ถ้ามีอำนาจมากกว่านี้นายสุเทพคงไม่ต่างจากฮิตเลอร์ นอกจากจะผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญแล้ว ยังผิดจริยธรรมของการเป็นนักการเมือง
โฆษกพรรคเพื่อไทยแถลงว่า กรณีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวหาศอ.รส.ใช้ความรุนแรงกับ กลุ่ม กปปส.และกลุ่มของหลวงปู่พุทธอิสระ กล่าวหาว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุนั้น เป็นลักษณะการดำเนินการการเมืองในลักษณะคู่ขนาน จึงไม่แปลกใจที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและพรรคประชาธิปัตย์บอยคอต การเลือกตั้ง เสนอแผนโรดมาร์ค ไม่ใช่โรดแม็ป ขอให้ประธานวุฒิสภาเสนอชื่อ นายกฯตามมาตรา 7 สอดคล้องกับข้อเสนอของนายสุเทพและพวก อยากเรียกร้องไปยัง นายอภิสิทธิ์ นายองอาจ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ใหญ่อย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หรือนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ควรนำพาพรรค การเมืองเข้าทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.พรรคการเมือง ออกมาเตือนสติลูกพรรค เพราะคงเรียกร้องนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เนื่องจากเป็นโมฆบุรุษไปแล้ว
อัดข้อเสนอ'เทือก'รบ.เถื่อน
นายพร้อมพงศ์แถลงว่า กรณีนายสุเทพ เสนอให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานวุฒิสภา รวมถึงผู้นำองค์กรอิสระ ประชุมหารือเพื่อหาทางออกและนำเสนอรัฐบาลนั้น ที่นายสุเทพเสนอความคิดให้แต่งตั้งนายกฯตามมาตรา 7 ถือเป็นการตั้งรัฐบาลเถื่อนนอกรัฐธรรมนูญและส่อกบฏ ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งยังคงมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 171 เมื่อครม.ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งยังคงอยู่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยืนยันความเป็นอยู่ของครม. ตามมาตรา 181 จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าขณะนี้ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 ตามที่นายสุเทพต้องการได้
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า วันนี้นายนิวัฒน์ธำรง ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ มีอำนาจหน้าที่เต็มเหมือนนายกฯทุกประการ นาย สุเทพอ้างสามารถตั้งนายกฯ มาตรา 7 ได้ แต่ตนเชื่อว่าไม่มีประมุของค์กรอิสระ รวมถึงประธานวุฒิสภาคนใหม่ จะมาเลอะเทอะตามนายสุเทพ กล่าวอ้าง เพราะทุกคนต่างมีวุฒิภาวะ มีความเป็นผู้นำ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และทุกคนทราบดีว่าไม่มีบท บัญญัติใดในรัฐธรรมนูญสามารถทำได้
ชงดีเอสไอสอบ-ยื่นยุบปชป.
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่สำคัญนายสุเทพ ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหากบฏและก่อ การร้าย จุดนี้ต่างหากที่ผู้นำองค์กรอิสระต่างๆ ทราบดี จึงพยายามอ้างผู้อื่น และการอ้างว่า วันที่ 12 พ.ค. หากดำเนินการไม่ได้จะดำเนินการเองนั้นถือเป็นการก่อกบฏในแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เป็นการปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชน วันที่ 12 พ.ค. เวลา 10.00 น. ตนจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมด รวมทั้งการบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เป็นการก่อกบฏต่อแผ่นดินมีความผิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ยื่นต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อเอาผิดต่อนายสุเทพ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวชี้ชัดให้เห็นว่านายสุเทพต้องการที่จะได้อำนาจมาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง บุคคลที่ร่วมมือกับนายสุเทพ ส่วนใหญ่ถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นอดีตส.ส.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 30 กว่าคน หลังจากนี้จะยื่นกกต.ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่ากรรมการบริหารพรรคและพรรคประชาธิปัตย์รู้เห็นเป็นใจ ฐานความผิดกบฏ ภายในสัปดาห์นี้จะยื่นเรื่องให้กกต.ยุบพรรคอีกคดีหนึ่ง และขอเรียกร้องให้องค์กรอิสระแสดงจุดยืนต่อข้อเรียกร้องของนายสุเทพ เพื่อให้เกิดความชัดเจน
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เจตนาของนาย สุเทพเป็นเพียงนัยยะทางการเมือง และเป็น การล้มล้างการปกครอง น่าจะมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเพื่อให้ทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหาร การยึดทำเนียบ และเคลื่อนเวทีไปที่ถนนราชดำเนินรวมถึงการเสนอนายกฯ มาตรา 7 มีเป้าหมายที่แท้จริงไม่ต่างจากอดีตที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยดำเนินการ
ไม่มีในรธน.ให้ศาลหานายกฯ
แหล่งข่าวจากศาลปกครองให้ความเห็นกรณีนายสุเทพเรียกร้องให้ว่าที่ประธานวุฒิสภา หารือประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธาน กกต.เสนอชื่อนายกฯ มาตรา 7 ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการให้ความเห็นทางการเมืองของฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่านายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด จะมีความเห็นอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว เพราะคงตอบแทนประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ คงต้องรอดูว่าจะมีการเข้ามาหารือจริงหรือไม่ อย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่ทราบข่าวทางสื่อมวลชนเท่านั้น
ด้านศาลยุติธรรม แหล่งข่าวผู้พิพากษาอาวุโสรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า แนวทางดังกล่าวไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมือง ที่ผ่านมาช่วงแก้วิกฤตบ้านเมืองก่อนเกิดการทำรัฐประหารปี 2549 ที่มีการประชุมหารือ 3 ศาล คือศาลฎีกา ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องแนวทางที่จะยึดหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่เข้าสู่แต่ละศาลด้วยความอิสระ รวดเร็ว ยุติธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กรณีที่จะร่วมกันเสนอชื่อบุคคลใดตามแนวทางที่ กปปส. แถลง ขณะที่ถ้าพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีมาตราใดที่จะให้ตุลา การกระทำเช่นนั้น
คิดให้ถี่ถ้วน-หวั่นเพิ่มวิกฤต
แหล่งข่าวเผยต่อว่า ต้องรอดูว่าที่ประธานวุฒิฯ คนใหม่จะพิจารณาข้อเสนอของ กปปส.มาปฏิบัติหรือไม่ และถ้าเป็นจริงฝ่ายตุลาการจะเห็นอย่างไร เพราะถ้าจะทำเช่นนี้ต้องมองอีกด้านหนึ่งด้วยว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.คงไม่ยอมและพร้อมจะออกมาคัดค้าน แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ลดความขัดแย้งนั้นได้ คงไม่ง่ายที่จะให้ประธานศาลทั้ง 3 ศาลเสนอชื่อบุคคลใด เพราะเสมือนการนำศาลที่เป็นเสาหลักบ้านเมืองไปยุ่งเกี่ยวการเมือง
แหล่งข่าวเผยอีกว่า แม้ศาลจะใช้อำนาจตุลาการ ที่เป็น 1 ใน 3 อำนาจ แต่การใช้อำนาจตุลาการที่สำคัญคือการวินิจฉัยอรรถคดีด้วยความเป็นธรรม เสมอภาคและยึดหลักนิติธรรม โดยศาลจะใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารการเมืองได้จากการที่ฟ้องคดี เช่นกรณีที่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพิพากษาการใช้อำนาจโยกย้ายกรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ศาลจะต้องตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐตามระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้อำนาจดังกล่าวต้องมีผู้เสียหายและผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายฟ้องเป็นคดีเข้ามา ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะหยิบยกประเด็นขึ้นมาเอง
แหล่งข่าวระบุว่า ดังนั้น กรณีที่ กปปส.เสนอถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ต้องคิดอย่างระมัดระวังด้วยหากนำมาปฏิบัติแล้วจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทด้วยหรือไม่ และถ้าอีกฝ่ายจะใช้วิธีการเช่นเดียวกับ กปปส.ออกมาชุมนุมกดดันแล้วบ้านเมืองจะดำเนินไปแนวทางใด วิกฤตจะคลี่คลายหรือจะเพิ่มวิกฤตขึ้นอีก ทุกฝ่ายคงต้องคิดอย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งก็ยังต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง แต่จะทำกันอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ
ช็อปปิ้ง - น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พาน้องไปป์ช็อปปิ้งที่ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล จ.เชียงใหม่ ด้วยสีหน้าสดชื่น มีประชาชนมารุมล้อมให้กำลังใจ และขอร่วมถ่ายรูปจำนวนมาก เมื่อวันที่ 11 พ.ค. |
ยันไม่เกี่ยวกับศาล
นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศสหรัฐอเมริกาสั้นๆ ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับประธานศาลฎีกาแต่อย่างใด จึงยังไม่ทราบว่าประธานศาลฎีกาจะว่าอย่างไร เมื่อถามว่าทิศทางและความเป็นไปได้ตามแถลงการณ์ข้อเรียกร้องเป็นอย่างไร เลขาธิการศาลยุติธรรมกล่าวสั้นๆ ว่า โดยอำนาจหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาล
'สุรชัย'นัดถกนอกรอบ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และว่าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวกรณี กปปส.เรียกร้องให้วุฒิสภาหาทางออกให้ประเทศ ว่า วุฒิสภานัดสมาชิกเข้าร่วมหารือนอกรอบวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.นี้ ในเวลา 13.30 น. การหารือครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้เพื่อนส.ว. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาบ้านเมืองว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และควรแก้ปัญหาอย่างไร เนื่องจากเป็นหน้าที่ของวุฒิสภา ที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้เหลืออยู่เพียงสภาเดียวเท่านั้น จะนิ่งเฉยแล้วนั่งมองให้ปัญหามันเดินไปข้างหน้าไม่ได้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาและยับยั้งไม่ให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ รวมทั้งทำทุกวิถีทางเพื่อให้สถาน การณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
นายสุรชัย กล่าวว่า ยืนยันการดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบตามหน้าที่ของส.ว.หลังจากที่ได้รับการโหวตจากเพื่อนส.ว.ให้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา ไม่ได้ทำตามใบสั่งใครหรือแม้แต่นายสุเทพ หลังการหารือในวันที่ 12 พ.ค.เสร็จสิ้น ตนจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดผลการหารือทั้งหมดให้ประชาชนได้รับทราบ
นายสุรชัย กล่าวถึงกรณีนายสุเทพขอให้ หารือร่วมกับประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ว่า ตนก็รับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา แต่เบื้องต้นต้องประสานไปยังตัวประธานองค์กรเหล่านี้ว่ายินดีที่จะมาร่วมหารือด้วยหรือไม่อย่างไร คงต้องรอดูท่าทีก่อนว่าจะตอบรับหรือไม่ สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างกดดันต่อการตัดสินใจด้วย
ยันปธ.วุฒิทูลเกล้าฯนายกฯได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 กล่าวว่า การประชุมวุฒิสภานอกรอบวันที่ 12 พ.ค. นี้ ประเด็นหลักคงหารือกรณีนายสุเทพยื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาหารือกับประธานศาลและองค์กรอิสระทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้มีการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ ที่ผ่านมา วุฒิสภาเคยหารือนอกรอบเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองมาแล้ว โดยประธานจะรวบรวมความเห็นของสมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป เพียงแต่จะไม่สามารถอ้างเป็นมติของวุฒิสภาได้ แค่เป็นประเด็นแนวคิด สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวประธานวุฒิสภาจะตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สังคมกำลังเข้าใจผิดว่าผู้ที่ทูลเกล้าฯ รายชื่อนายกฯคือประธานรัฐสภา แต่ตรวจสอบดูได้ว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯทุกครั้ง คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นเมื่อไม่มีประธานและรองประธานรัฐสภาเพราะเหตุยุบสภา แล้วเกิดเหตุว่างเว้นนายกฯ ลง องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่เทียบเคียงกันคือวุฒิสภา โดยประธานหรือรองประธานวุฒิ สภาจึงสามารถทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลเป็น นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แทนสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการเสนอชื่อและลงมติด้วยการขานชื่อรายบุคคล
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลพยายามบิดเบือนว่าผู้ที่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องเป็นประธานรัฐสภา ไม่ว่าการแต่งตั้งนายอภิสิทธิ์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมัคร สุนทรเวช รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิ้น ดังนั้นนายสุรชัย ในฐานะรองประธานวุฒิสภา สามารถทำหน้าที่ดังกล่าว เมื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาถูก ป.ป.ช. ชี้มูลต้องงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำหน้าที่ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องรอการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภาแต่อย่างใดเลย
อารักขาเข้ม'นิวัฒน์ธำรง'
ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไศศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 12 พ.ค. จะเดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถ.แจ้งวัฒนะ ตามปกติเหมือนเช่นที่ผ่าน งานมีมากเราก็ต้องทำงานตามหน้าที่
เมื่อถามว่าไม่หวั่นไหวในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯและการข่มขู่จากกลุ่ม กปปส.ใช่หรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรง ยิ้มพร้อมกล่าวว่า งานมีมาก ก็ต้องทำงานตามหน้าที่ของเรา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการปรับแผนการรักษาความปลอดภัยนายนิวัฒน์ธำรง โดยใช้รถโฟล์กตู้ทะเบียน ฮภ 2924 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่ง ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยใช้ รวมทั้งมีรถจักรยานยนต์ตำรวจนำขบวนและมีรถชุดรักษาความปลอดภัยติดตามเพื่อคุ้มกันอีก 1 คัน และมีชุดรักษาความปลอดภัยส่วนล่วงหน้าคอยดูแลก่อนที่ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จะถึงจุดปฏิบัติภารกิจ
ชี้ตั้งนายกฯใหม่ขัดรธน.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์เฟซบุ๊กว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง ร่วมทั้งทำให้รัฐมนตรีร่วมคณะ 9 คน ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวลงไปด้วย ยังไม่มีสภาพสุญญากาศทางการเมือง และไม่เกิดเงื่อนไขที่จะทำให้ต้องมีการสรรหานายกฯ คนใหม่ ยังมีรัฐมนตรีอีก 25 คนรักษาการต่อไปได้ และสามารถให้รองนายกฯรักษาการแทนนายกฯ เป็นทั้งรักษาราชการแทน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ต่อไปได้ นอกจากไม่จำเป็นต้องสรรหานายกฯ การสรรหานายกฯในช่วงนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าเมื่อนายกฯ ยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้นยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเมื่อยุบสภาแล้ว ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน จึงไม่อาจมีการสรรหา นายกฯขึ้นมาในช่วงนี้ได้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การอ้างมาตรา 7 นั้น เป็นการจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จงใจที่จะทำให้เกิดความสับสน เพราะรัฐ ธรรมนูญมาตรา 7 มีไว้สำหรับกรณีที่เกิด เหตุการณ์ หรือเกิดกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญว่าให้ทำอย่างไร จะไปตีความว่าขณะนี้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่มี นายกฯ แล้วจะต้องสรรหานายกฯ ปกติจะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก แต่เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้วให้วุฒิสภาไปสรรหาใคร ก็ไม่รู้มาเป็นนายกฯนั้น เป็นเรื่องที่โมเมเอาอย่างชัดเจน ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
โยนภาระให้เบื้องสูง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้การทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ความพยายามล้มรัฐบาล และทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงระบบการเมืองอย่างที่ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องการนั้น อาจพูดได้ว่ามีการแบ่งบทบาทและเฉลี่ยๆ กันไป ไม่มีกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่ง สามารถจะทำให้เกิดสภาพที่ต้องการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยกลุ่มหรือองค์กรเพียงองค์กรเดียว ขณะนี้มาถึงคิวของวุฒิสภา ผู้ที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ ได้แก่ ประธานวุฒิสภาคนใหม่กับกลุ่ม 40 สว. ที่มีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจน ไม่ปิดบังอำพรางมาตลอดว่าต้องการล้มรัฐบาลปัจจุบัน สร้างสภาพสุญญากาศทางการเมือง และเปลี่ยน แปลงระบบการปกครอง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า นายสุเทพกับพวกคงจะรู้ว่า สิ่งที่วุฒิสภาจะทำนั้น เป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การอ้างมาตรา 7 นั้นฟังไม่ขึ้น จึงเรียกร้ององค์กรต่างๆ เข้ามา แต่การไปดึงเอาองค์กรอิสระและศาลต่างๆ เข้ามาร่วมหารือเพื่อให้เกิดข้ออ้างในการใช้มาตรา 7 และนำไปสู่การสรรหานายกฯนอกรัฐ ธรรมนูญนั้น รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอิสระและศาลต่างๆ เนื่องจากจะทำให้คนเห็นอย่างชัดเจนถึงการสมรู้ร่วมคิดกันในการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องว่าอย่าไปร่วมมือกับนายสุเทพเพราะมีแต่จะทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระและระบบยุติธรรมยิ่งตกต่ำลงไปอีก
"การให้วุฒิสภาสรรหานายกฯนอกรัฐ ธรรมนูญ และหากมีการนำไปทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เท่ากับเป็นการโยนภาระไปให้พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการไม่สมควร อย่างยิ่ง การกระทำอย่างนั้น เท่ากับเป็นการดึงเอาสถาบันเบื้องสูงให้มาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว" นายจาตุรนต์กล่าว
เตือนทหารอย่าหลงกล
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่นายสุเทพจะหารือกับผู้นำกองทัพนั้น อยากเตือนว่า ที่ผ่านมาถึงแม้ผู้นำกองทัพบางคนจะวางตัวไม่ค่อยเป็นกลางนัก แทนที่จะช่วยรัฐบาลรักษากฎหมายก็ไม่ช่วย บางครั้งก็ไปคุ้มครองผู้ชุมนุม แต่ก็ต้องถือว่าผู้นำกองทัพยังประคับประคองบทบาทของตนไว้ได้พอสมควร ไม่ให้ถลำลึกจนเกินไป เมื่อกองทัพประคับประคองตนเองมาจนถึงวันนี้ ก็ไม่ควรไปหลงกล ตกหลุมนายสุเทพกับพวกและพรรคประชาธิปัตย์
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า โดยเฉพาะผู้นำกองทัพที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว ต้องนึกให้ดีว่า ถ้าทำรัฐประหารในขณะที่ยังมีอำนาจอยู่ แต่การต่อสู้และความรุนแรงและความสูญเสียจะเกิดขึ้น การเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มนปช.และคนเสื้อแดงมีความหมายอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะขณะนี้การแสดงพลังของประชาชนผู้รักประชาธิป ไตย ที่มีการสนับสนุนจากนักวิชาการ อดีตข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง จะทำให้ชนชั้นนำ อำมาตย์ และผู้นำกองทัพต้องนำไปคิดให้ดีว่ายังจะดันทุรังเดินหน้ากันต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำกองทัพต้องคิดหนักที่สุด ต้องตัดสินว่าพลังประชาธิปไตยที่มีในวันนี้ ซึ่งถึงวันที่มีนายกฯคนนอก พลังเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าอย่างรวดเร็ว ผู้นำกองทัพพร้อมที่จะปราบ พร้อมที่จะฆ่าพวกเขาหรือไม่
'นพดล'ยกกำแพงรั้ว 7 ชั้น
นายนพดล ปัทมะ กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความพยายามของ กปปส. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ที่เรียกร้องให้ประธานศาลต่างๆ ประธาน กกต. และประธานวุฒิสภา ประชุมเพื่อให้ประธานวุฒิฯ สรรหานายกฯ คนใหม่นั้น ไม่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการประชาธิปไตย และต้องเผชิญกับปัญหาหรือกำแพงรั้วลวดหนามที่ต้องปีนข้าม 7 ชั้น คือ (1) ในขณะนี้ยังมีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศอยู่ ยังไม่มีสุญญากาศทางการเมือง จึงไม่สามารถเสนอตั้งนายกฯ มาตรา 7 ได้ (2) การเลือกตั้งประธานวุฒิสภาคนใหม่อาจมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีวาระการเลือกประธานในพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภา และยังไม่มีการเปิดประชุมรัฐสภา (3) แม้สมมติว่าเลือกตั้งถูกต้อง แต่ประธานวุฒิสภายังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ได้ (4) รัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. ประธานวุฒิสภาไม่สามารถเสนอชื่อใครก็ได้ (5) รัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้ที่กราบบังคมทูลนำเสนอชื่อนายกฯ ต้องเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ประธานวุฒิสภา (6) รัฐธรรมนูญกำหนดว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ประธานศาลตามที่นายสุเทพเสนอ (7) ประธานศาลต่างๆ เป็นผู้ใหญ่ที่รู้กฎหมาย ตนไม่เชื่อว่าท่านเหล่านั้น จะดำเนินการตามที่นายสุเทพเสนอ เพราะขัดรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย
เลือกตั้งเป็นทางออก
นายนพดล กล่าวว่า ดังนั้น ความพยายามของ กปปส. และนายสุเทพ จึงฝ่าฝืนรัฐธรรม นูญและขัดหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง และสมมติว่าทำสำเร็จ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับสุเทพโมเดล จะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศ ไทยจะดิ่งลงจนซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกิดจากปัญหาทางการเมืองในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาให้เลวร้ายลงไปอีก ถามว่าเราจะนำประเทศไปสู่หายนะที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไปทำไม
นายนพดล กล่าวยืนยันว่า แนวทางที่สุจริต เที่ยงธรรม และเป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็คือการเลือกตั้ง เพราะประตูทางออกของประเทศนี้หนักเกินกว่าที่ใครหรือคณะบุคคลใดจะสามารถไขกุญแจเปิดออกเพียงลำพังได้ แต่ต้องอาศัยพี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยไขกุญแจหาทางออก
"รัฏฐาธิปัตย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นความชอบธรรม การจะได้มาต้องเป็นวิธีการที่ชอบธรรม และเป็นความตกลงพร้อมใจของคนทั้งชาติ ไม่ใช่กลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่รวมกันประท้วง ทุกคนต่างเห็นว่าข้อเสนอของตนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งนั้น แต่เคยถามประชาชนหรือไม่ ว่าต้องการอะไร เลิก อ้างประชาชนได้แล้ว ให้ประชาชนพูดบ้าง และตัดสินอนาคตของตนเองบ้างได้ไหม วันนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเลือกตั้ง วิธีอื่น เช่นลากตั้งหรือเทือกตั้งจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงไม่รู้จบสิ้น และประชาชนผู้บริสุทธิ์จะต้องเป็นผู้รับกรรม" นายนพดลกล่าว
มาร์คหนุนนายกฯคนกลาง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Abhisit Vejjajiva หัวข้อ "วีรบุรุษประชาธิปไตยกับนายกฯ จากการเลือกตั้ง" ว่า ในขณะที่หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นทางออกของประเทศว่าน่าจะต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาล หรือนายกฯ คนกลาง เสียงคัดค้านจากฝ่ายรัฐบาลและ นปช.จะตอบโต้ว่านายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ตนนึกถึงเหตุ การณ์ในอดีตทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยเหตุการณ์แรก คือวันที่คนไทยออกมาต่อสู้ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ.2535 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และพล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ระหว่างมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนพล.อ.สุจินดา ก็หันมาสนับสนุน พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
วันนั้น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าทางตัน ด้วยการทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็นส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้ามาสะสางปัญหาจากเหตุการณ์ความไม่สงบและยุบสภาเมื่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ วิกฤตจึงคลี่คลายลง นายอาทิตย์ได้รับการขนานนามว่าเป็น "วีรบุรุษประชาธิป ไตย" ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ท่านเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
เรียกร้องทุกพรรคยินยอม
นายอภิสิทธิ์ ระบุอีกว่า เมื่อมาดูอิตาลี เมื่อปีพ.ศ.2554 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ และความวุ่นวายทางการเมือง หลังจากนายเบอร์ลุสโคนีลาออก ประธานาธิบดีอิตาลีได้แต่งตั้งนายมาริโอ มอนติ ซึ่งไม่ได้เป็นส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาหลังจากหารือกับพรรคการเมืองทุกพรรค นายมอนติได้แต่งตั้ง ครม.ที่ปลอดนักการเมืองมาคลี่คลายปัญหาต่างๆ แล้วจึงลาออกและมีการเลือกตั้งสภา ผู้แทนราษฎรในปีพ.ศ.2556 ซึ่งไม่มีใครบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นประชาธิปไตย การที่ตนยกทั้งสองเหตุการณ์ขึ้นมาไม่ได้หักล้างหลักการในระบอบประชาธิปไตย ว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ตนยังสนับสนุนหลักการดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์วิกฤตเพื่อมาคลี่คลายสถาน การณ์ในระยะเวลาสั้นๆ หรือเมื่อพรรคการ เมืองทั้งหลายยินยอมพร้อมใจ นายกฯ คน กลางอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศ รักษาประชาธิปไตย และนำบ้านเมืองไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อย ให้ประชาชนมั่นใจว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งจะนำพาประเทศไปสู่ความ สงบ ทำงานให้ประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบอบประชา ธิปไตยเหมือนกัน วันนี้จึงต้องถามนักเลือกตั้งไทยว่าพร้อมจะเปิดทางให้ประเทศหรือไม่ หรือจะอ้างประชาธิปไตยบังหน้ารักษาอำนาจตัวเองต่อไป
ปชป.จี้ทูลเกล้าฯปธ.วุฒิ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค แถลงว่า เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะนายนิวัฒน์ธำรง อย่าซื้อเวลาในการทูลเกล้าฯ ประธานวุฒิสภา เมื่อครอบงำไม่ได้ก็สกัดกั้นการเดินหน้าของส.ว.ทุกรูปแบบ 1.เริ่มตั้งแต่การประชุมวุฒิสภาวิสามัญ แทนที่รัฐบาลจะเร่งนำชื่อทูลเกล้าฯ แต่กลับพยายามหาช่องว่างยื่นกฤษฎีกาตีความว่าสามารถเลือกประธานวุฒิ สภาได้หรือไม่ การเลือกประธานวุฒิสภาไม่ได้ขัดกฎหมายหรือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลพยายาม ซื้อเวลา เพราะกลัวว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์จะถูกถอดถอน เนื่องจากคะแนนเลือกประธานวุฒิสภามีมากกว่า 90 เสียง ซึ่งสามารถถอดถอนได้ 2.กลัวว่าส.ส.เพื่อไทยกว่า 300 คน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกถอดถอน และ 3.การซื้อเวลาในการทูลเกล้าฯ ประธานวุฒิสภาเพื่อไม่ให้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้วิกฤตให้ประเทศ
หนุนข้อเสนอกปปส.
นายองอาจ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องกลุ่มกปปส.ที่ให้ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ประธาน กกต.ร่วมกันพิจารณาหาทางออกประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาสำคัญที่วิกฤตประเทศเดินหน้ามาถึงจุดสุ่มเสี่ยงที่สภาพสังคมไร้ระเบียบอย่างรุนแรง ประธานองค์กรเหล่านี้ได้รับความเชื่อถือและมีจุดมุ่งหมายการทำงานเพื่อประเทศชาติเป็นสำคัญมาโดยตลอด ดังนั้น น่าจะช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้ และน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าผลเสีย ทั้งนี้ เห็นว่าควรเริ่มต้นเดินหน้าในการพูดคุยกัน เช่นเดียวกับผู้นำเหล่าทัพที่พร้อมพูดคุยกับคณะของพล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานคณะรัฐบุคคล หวังว่าการหารือ กันจะช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ได้
นายองอาจ กล่าวว่า หนทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อเป็นทางออกประเทศคงเป็นไปได้ยาก รัฐบาลหรือนายนิวัฒน์ธำรงควรเสนอทางออกอื่นให้สังคมได้พิจารณา เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา ถ้าไม่มีข้อเสนออื่นแต่ยังเดินหน้าเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ขอประณามการกระทำที่จะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตด้วยการเลือกตั้ง
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ปัญหาบ้านเมืองควรได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว จากการเสียสละของฝ่ายการเมืองทุกกลุ่ม ยืนยันว่าแผนปฏิรูปประเทศของนายอภิสิทธิ์เป็นทางออกให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม ขณะนี้ไม่ได้มีแค่การเมือง แต่มีปัญหาเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยแล้ง ที่ถูกละเลยโดยรัฐบาล ขอเรียกร้องรัฐบาลและ เพื่อไทยยุตินำประโยชน์ตนนำหน้าผลประโยชน์บ้านเมือง
ตั้งกลุ่มประชาชนคือคนกลาง
วันเดียวกัน นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากสถานการณ์ของประเทศไทยที่วุ่นวายขึ้นเรื่อยๆ ฝ่าย กปปส. และฝ่ายเสื้อแดง ต่างจัดตั้งมวลชนของตัวเอง และมีข้อเรียกร้องต่างๆ ขณะเดียวกันมีการพูดถึงนายกฯ คนกลาง ซึ่งเหมือนจะมีคนอื่นมาตัดสินใจแทนเรา ตนคิดว่าประชาชนคือ ผู้ตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องหาคนกลางมาให้ หลายคนบอกว่า ประเทศไทยมาถึงทางตัน แต่ตนคิดว่ายังมีทางออก ซึ่งเคยเสนอโรดแม็ปไปแล้วว่า ต้องเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.ให้ผ่านไปก่อน เมื่อตั้งรัฐบาลและ ครม.ได้แล้วก็ให้ดูการปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย
นายเจษฎา กล่าวต่อว่า ขณะนี้รู้สึกว่าสถาน การณ์มาถึงจุดที่ประชาชนต้องรวมตัวกันแล้ว จึงได้พูดคุยกับหลายกลุ่มที่เป็นภาคประชาชนที่ออกมารณรงค์เลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. จัดตั้งกลุ่ม "ประชาชนคือคนกลาง" (Let the People Decide) เบื้องต้นรณรงค์ให้เขียนป้ายหรือเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นประโยคดังกล่าว เพื่อสะท้อนให้กลุ่มคนที่มีปัญหากันได้เห็นบ้างและอย่าอ้างแต่มวลชนของตัวเอง ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ทางกลุ่มอาจจะเริ่มมีแถลงการณ์และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
กกต.ถกปมทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เผยกรณีนายสุเทพเรียกร้องให้ว่าที่ประธานวุฒิ สภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานกกต. หารือร่วมกันเพื่อเสนอชื่อนายกฯ คนกลาง ว่า ตนได้นำเรียนนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.แล้ว นายศุภชัยระบุว่า กกต.ต้องหารือร่วมกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค. เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งต่อไป และส่วนตัวมองว่าขณะนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.ประกอบรัฐ ธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีอยู่ กกต.ก็ต้อง ดำเนินการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ต่อไป
รายงานข่าวจาก กกต.แจ้งว่า วันที่ 12 พ.ค. เวลา 16.00 น. กกต.จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการด้านกฎหมายรวม 8 คน เพื่อหารือถึงความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ใหม่ รวมถึงปัญหาการตราร่างพ.ร.ฎ. ที่กกต. และคณะกรรมการกฤษฎีกาผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เห็นขัดแย้งกันกรณีที่จะให้มีการบรรจุถ้อยคำว่าหากเกิดปัญหาให้สามารถเลื่อน วันเลือกตั้งได้ไว้ในร่างพ.ร.ฎ.ด้วย เนื่องจากในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันว่านายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ตามความหมายของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2545 มาตรา 10 เป็นผู้มีอำนาจที่จะทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ใหม่ หรือไม่
ฝ่ายกฎหมายเสียงแตก
รายงานข่าวเผยว่า ฝ่ายสำนักงานกกต.ก็มีความเห็นเป็น 2 ทาง ฝ่ายหนึ่งมองว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนนายกฯ ทุกอย่างเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 195 ที่กำหนดเกี่ยวกับกรณีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการตรากฎหมายว่าต้องเป็นรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯก็คือรัฐมนตรีและถึงแม้ไม่มีนายกฯแล้ว รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯก็สามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการได้ แต่ประธานกกต.ในฐานะผู้ร่วมรักษาการตาม ร่างพ.ร.ฎ.ไม่สามารถดำเนิน การดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ใช่รัฐมนตรี ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯได้เพียงบางอย่างบางเรื่องเท่านั้นทำให้ที่ประชุมเห็นว่าจำเป็นต้องมีความชัดเจนเสียก่อนว่า ผู้ปฏิบัติ หน้าที่แทนนายกฯ มีอำนาจหน้าที่เพียงไร
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม กกต.มองว่า เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่ปกติหากกกต. มีการหารือหรือเสนอเรื่องที่เป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการจะให้บรรจุถ้อยคำว่า ให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้หากเกิดเหตุความจำเป็น ไปยังผู้ที่กกต.เองก็ไม่ชัดเจนว่ามีอำนาจในการทูลเกล้าฯ หรือไม่ อาจทำให้ถูกตีความว่า กกต.ยอมรับแล้วว่าผู้ที่กกต.เสนอเรื่องและหารือด้วยนั้นเป็นผู้มีอำนาจเต็ม และหากท้ายที่สุดมีการยื่นเรื่องให้องค์กรศาลวินิจฉัยว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจทูลเกล้าฯ หรือไม่ กกต.อาจจะต้องตกเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดไปด้วย
รายงานข่าวระบุ ยิ่งมีหนังสือของสำนัก งานตรวจเงินแผ่นดินให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ด้วยแล้ว กกต.ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะครั้งนี้กกต.เป็นผู้เสนอว่าวันเลือกตั้งที่เหมาะสมคือวันที่ 20 ก.ค. ขณะที่รัฐบาลแม้รับที่จะเข้ามาช่วยดูแลการจัดการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลก็ไม่ยืนยัน ว่าจะคุมสถานการณ์ความขัดแย้งจนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้ ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นกับการเลือกตั้งรอบใหม่ กกต.ก็ยากที่รอดจากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนครั้งที่แล้วได้ จึงจำเป็นที่กกต.จะต้องมีความชัดเจนก่อนที่จะหารือกับรัฐบาลใน วันที่ 14 พ.ค.
เล็งเลื่อนเลือกตั้งไป 3 ส.ค.
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกกต. ยังเห็นว่าแม้กกต.จะมีการหารือกับผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน นายกฯในวันที่ 14 พ.ค. เวลา 14.00 น. ทางรัฐบาลโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็คงยืนยันว่าตามความหมายของมาตรา 10 วรรคสี่ วรรคห้า ของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี สามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ใหม่ ได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลังและอาจทำให้กกต.ตกเป็นจำเลยก็อาจจะใช้ช่องทางรัฐธรรม นูญมาตรา 214 มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และแน่นอนว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ไปจนถึงวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่เดิมกกต.และรัฐบาล เห็นร่วมกันว่าจะให้ร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้ เพื่อจะเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. นั้น เหลืออยู่เพียง 8 วัน ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดังนั้น มีแนวโน้มว่าแม้วันที่ 14 พ.ค. กกต.และรัฐบาลจะหารือจนได้ข้อยุติในประเด็น ผู้มีอำนาจทูลเกล้าฯ แล้ว หรือข้อความในมาตรา 4 ของร่างพ.ร.ฎ. ก็ยากที่จะเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.ได้ทัน ซึ่งสำนักงานได้เตรียมเสนอปฏิทินแผนงานจัดการเลือกตั้งใหม่ให้ที่ประชุม กกต.และรัฐบาลพิจารณาแล้ว โดยจะเลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมวันที่ 20 ก.ค. ราว 2 สัปดาห์ คือให้วันที่ 3 ส.ค.เป็นวันเลือกตั้ง และให้ร่างพ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับจากเดิมวันที่ 22 พ.ค. เป็นวันที่ 5 มิ.ย. รวมระยะเวลาจัดการเลือกตั้งนับแต่วันที่ร่างพ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง 58 วัน
อาเซียนหนุนไทยใช้หลักสันติวิธี
วันที่ 11 พ.ค. ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์การเมืองของไทย สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในไทยด้วยสันติวิธี เรียกร้องให้ทุกกลุ่มแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยการเจรจาหาทางออก บนพื้นฐานของการเคารพต่อกฎหมายและหลักการในระบอบประชาธิปไตย
แถลงการณ์ระบุว่า ประเทศสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ยังคงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย และสนับสนุนเต็มที่ต่อการแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธี ผ่านการเจรจาพูดคุยและบนพื้นฐานของความเคารพต่อกฎหมายและหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย
แถลงการณ์ระบุว่า สมาชิกอาเซียนย้ำจุดยืนเนื้อหาในแถลงการณ์ระดับผู้นำอาเซียนต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ออกในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 และเน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการตามหลักประชาธิปไตย สนับสนุนการประนีประนอมเพื่อนำระบบกฎหมายและความปกติสุขกลับคืนมาสู่ประเทศ และแสดงความมั่นใจต่อความสามารถของไทยที่จะก้าวข้ามความยากลำบากที่กำลังเกิดขึ้นไปได้ในที่สุด โดยประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทางบนพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียน
'ปู'พา'ไปป์'เที่ยวห้างเชียงใหม่
เวลา 11.30 น. วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.เชียงใหม่ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พาน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชายเดินเที่ยวห้างพรอมเมนาดา อ.เมือง โดยมีประชาชนขอถ่ายรูปคู่จำนวนมาก จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ พาน้องไปป์ไปที่ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันต่อ โดยมี พล.ต.ต.กริช กิตติลือ ผบก.เชียงใหม่ และนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผวจ.เชียงใหม่ นั่งประกบและร่วมรับประทานอาหารด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีหน้าตาสดชื่นอย่างมากและยิ้มให้กับประชาชนที่เข้ามาทักทายหรือขอถ่ายรูป
นายวรวุฒิ ริจุภานันท์ หรือดีเจ.แดง สองแคว แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กล่าวว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นฮีโร่ในดวงใจของคนเสื้อแดงทั้งประเทศ ต่างประเทศก็ยกย่อง เพราะเป็นผู้นำและมีอำนาจแต่ไม่เน้นความรุนแรง หลีกเลี่ยงการปะทะ ไม่ทำร้ายประชาชนและเป็นฝ่ายยอมตลอด ผิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่บิดเบือน ใส่ร้ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่างๆ นานา ที่จ.เชียงใหม่ มีการเปิดเวทีคู่ขนานกับ นปช.ที่กรุงเทพฯ โดยถ่ายทอดสดที่ลานอเนกประสงค์ประตูช้างเผือก และยังถ่ายทอดเสียงทางคลื่น 92.5 วิทยุชุมชนคนเสื้อแดงด้วย
'ประยุทธ์'โต้ข่าวทำรัฐประหาร
วันที่ 11 พ.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวใน โซเชี่ยลมีเดียว่า 1 ใน 5 เสือกองทัพบก ระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เตรียมพร้อมทำรัฐประหาร ว่า ขอให้ประชาชนระวังการบริโภคข่าวสารผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียและใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรองข้อเท็จจริง การโพสต์ข้อความต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่ไม่มีที่มาที่ไปก็เปรียบเสมือนเป็นข่าวลือ ทหารยังคงยืนยันปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ตามเดิม
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวว่า "ให้เขาลือไป กองทัพเป็นหนึ่งเดียว อำนาจสั่งการอยู่ที่ผบ.ทบ.เท่านั้น เขาต้องการสร้างความแตกแยก ลดความเชื่อมั่น อย่าไปขยายให้เขา ส่วนกระแสข่าวที่ตนเองมีชื่อเป็นนายกฯ คนกลางนั้นใครอยากให้เป็นอะไรก็คงต้องไปหาวิธีการมา ผมไม่รับทราบ"
พี่'ยงยุทธ'ซิวนายกเชียงราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พบว่ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งพอสมควร แม้ว่าหลายพื้นที่จะประสบเหตุแผ่นดินไหวตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 61 และหน่วยเลือกตั้งที่ 62 บ้านห้วยส้านยาว ม.13 ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ซึ่งเสียหายจากแผ่นดินไหวอย่างหนัก ชาวบ้านที่พักค้างแรมที่เต็นท์ของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว ยังออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก โดยหน่วยเลือกตั้งทั้ง 2 แห่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้ใช้สถานที่ศาลาวัดห้วยส้านยาว มีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 770 คน
หลังการปิดหีบมีการนับคะแนนการเลือกตั้งที่อาคารสำนักงาน อบจ.เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ท่ามกลางประชาชนและผู้สนับสนุนผู้สมัครที่ไปลุ้นผลคะแนนคึกคัก ซึ่งผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเป็นไปตามคาดหมาย นางบุศริณธญ์ วรพัฒนานันท์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย พี่สาวของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้คะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 289,128 คะแนน นางรัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายก อบจ.เชียงราย เมื่อ 2 สมัยก่อนได้ 175,983 คะแนน น.ส.ยุรพันธ์ เจนพิทักษ์พงศ์ ได้ 4,216 คะแนน และนายชนาธิป เจริญศัสตรารักษ์ ได้ 3,556 คะแนน
การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงรายครั้งนี้ มีหน่วยเลือกตั้ง 1,962 หน่วย มีผู้ใช้สิทธิ 518,426 คน คิดเป็นร้อยละ 58.44 ผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน 33,198 คน คิดเป็นร้อยละ 6.40 บัตรเสีย 12,345 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2.38