- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 11 May 2014 21:42
- Hits: 4305
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8565 ข่าวสดรายวัน
มีอำนาจ 'นิวัฒน์ธำรง'ยืนยัน รักษาการจนได้รบ.ใหม่ ส่งตีความตั้งปธ.วุฒิฯ 'สุรชัย'ถกสว.นอกรอบ กั๊กสุเทพบี้'นายกฯม.7'
'นิวัฒน์ธำรง'ยันรัฐบาลรักษาการยังมีอำนาจเต็มระหว่างรอรัฐบาลใหม่ เตรียมส่งตีความสถานะประธานวุฒิสภาของ"สุรชัย" ด้านว่าที่ประธานวุฒิฯเรียกส.ว.ถกนอกรอบแก้วิกฤตการเมืองวันนี้ ปัดตอบข้อเสนอเทือกเรียกถกประธานศาลต่างๆ ตั้งนายกฯ ม.7 เตรียมเดินสายหารือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และฝ่ายการเมือง เก้าอี้ประธานสุรชัยยังไม่ฉลุย รัฐบาล-เพื่อไทยเล็งยื่นกฤษฎีกา-ศาลรธน.ตีความ เหตุขัดรธน. คณินชี้โมฆะแน่นอน นิคมลั่นต้องรอโปรดเกล้าฯ ก่อน จึงจะเรียกประชุมวุฒิสภาได้ เพื่อไทยซัดเทือกเพี้ยนจี้สุรชัยถกประธานศาลตั้งนายกฯ คนกลาง นพดลปัดข่าวบิ๊กดีลตั้งองคมนตรีชาญชัยนั่งนายกฯ ม.7 ยันยึดมั่นปชต. เผยแม้วอยู่เอเชียรับรู้ทุกเรื่อง สายหยุดไม่หยุดพึ่ง พระบารมี เตรียมยื่นหนังสือผ่าน ผบ.เหล่าทัพ
ตรึงกำลังเข้มบ้านนิวัฒน์ธำรง
วันที่ 10 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศด้านหน้าหมู่บ้านบางกอก บูเลอวาร์ด รัชดา-รามอินทรา 1 บ้านพักส่วนตัวของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีว่า มีเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านคอยตรวจสอบบุคคลเข้าออกอย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปภายใน รวมถึงไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวเพราะถือเป็นบ้านพักส่วนตัว โดยตลอดช่วงเช้านายนิวัฒน์ธำรงเก็บตัวอยู่ในบ้านพัก กระทั่งเวลา 15.00 น. ออกเดินทางไปยังอาคารสวนอัมพรเพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทั้งนี้ ในช่วงสายพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง ว่าที่รองเลขาธิการนายกฯ เข้าพบนายนิวัฒน์ธำรง เพื่อหารือถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมามีการเพิ่มทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยประจำตัว รวมถึงรถนำและรถติดตามขบวนแล้ว
ไม่หวั่นเทือกขู่ล็อกตัว
พล.ต.ต.ธวัชเปิดเผยภายหลังหารือกับนายนิวัฒน์ธำรงว่า ได้พูดคุยถึงการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัย เรื่องเส้นทางจราจรในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ รวมถึงการป้องกันหากมีกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาบริเวณนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรของประชาชน นายนิวัฒน์ธำรงไม่กังวลกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ประกาศหากพบตัวนายนิวัฒน์ธำรงที่ใดจะขอเชิญตัวเพื่อพูดคุยทันที เพราะเห็นว่านายสุเทพเคยประกาศในลักษณะนี้มานาน 6 เดือนแล้ว และเชื่อว่าการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณถนนอักษะ จ.นครปฐม จะไม่เคลื่อนตัวมาปะทะกับกลุ่มกปปส. คาดว่าจะไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น สังคมพิจารณาได้เองหากการชุมนุมใดๆ มีการใช้ความรุนแรง
'ปู-ไปป์'ยังพักผ่อนที่เชียงใหม่
ว่าที่รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวยืนยันว่ารัฐบาลยังใช้แนวทางสันติวิธีเช่นเดียวกับแนวทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาการเมือง โดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งเดินทางพร้อมด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์ บุตรชาย พร้อมนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตส.ส.เชียงใหม่ พี่สาว ไปพักผ่อนที่จ.เชียงใหม่นั้นยังคงเก็บตัวพักผ่อน ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่แต่อย่างใด
เล็งยื่นกฤษฎีกาถกตั้งปธ.วุฒิฯ
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ กล่าวชี้แจงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการและการทูลเกล้าฯแต่งตั้งประธานวุฒิสภาว่า รัฐบาลรักษาการต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ ครม.ซึ่งมีตนปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ มีหน้าที่ดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดและต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย หากประเทศเดินไปในแนวทางประชาธิปไตยได้จะเป็นการ แก้ปัญหาโดยสันติและเป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาประเทศ
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวต่อว่าส่วนการเลือกตั้งประธานวุฒิสภานั้นขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับเรื่องจากวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับแล้วรัฐบาลต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อน เพราะเมื่อโปรดเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญไม่ได้กำหนดวาระการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาไว้ด้วย รัฐบาลจึงต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อความถูกต้องก่อนดำเนินการใดๆ ตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้รัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนให้เร็วที่สุดต่อไป
เพื่อไทยรอวัดใจประธานศาล
ที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนาย สุเทพประกาศจะให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา ทูลเกล้าฯนายกฯคนกลางในวันที่ 12 พ.ค. และเรียกร้องประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานกกต. กำหนดทิศทางตามแนวทางของนายสุเทพว่า เป็นบททดสอบสำคัญของตัวแทนองค์กรเหล่านี้ว่าจะยินยอมให้นายสุเทพข่มขู่คุกคามหรือจะยอมให้นายสุเทพเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างอุกอาจเปิดเผย สิ่งที่นายสุเทพทำนั้นไม่มีใครตื่นตระหนก เพราะคนกรุงเทพฯคุ้นชินตั้งแต่การชัตดาวน์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมวลชนร่อยหรอ เหลือไม่ถึงหมื่น ท่อน้ำเลี้ยงตีบตัน ขณะที่แนวร่วมไปคนละทิศทาง พุทธอิสระขอคืนพระราชอำนาจ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อยากให้มีรัฐประหาร ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้มีโรดแม็ป ชี้ให้เห็นว่าการจัดระเบียบแนวร่วมสะเปะสะปะ
ปัดบิ๊กดีลตั้งชาญชัยนั่งนายกฯ
"อยากให้สังเคราะห์ว่าตลอด 60 ปีของพรรคประชาธิปัตย์เคยปฏิรูปอะไรที่แหลมคม น่าจดจำ ยืนยันว่าสุญญากาศในประเทศไม่เคยมีและไม่เคยเกิดขึ้นจริง จะมีก็เฉพาะเครือข่ายอำมาตย์และกปปส.เท่านั้นที่จะเป็นสุญญากาศ เพราะที่ผ่านมากระทำขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการเลือกประธานวุฒิสภา ดังนั้นฝ่ายกฎหมายจะยื่นร้องเพื่อเอาผิดบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้ สุดท้ายจะเป็นโมฆะและสุญญากาศ และทางเดียวที่จะทำให้รัฐบาลรักษาการพ้นไปได้คือต้องเลือกตั้งเท่านั้น"นายอนุสรณ์กล่าว
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีปล่อยข่าวมีบิ๊กดีลโดยคนจากแดนไกลหรือผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยยินยอมให้เสนอนายกฯ คนกลางโดยเห็นชอบร่วมกันว่าจะเสนอชื่อนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ว่า ไม่จริง ถ้าจะดีลต้องดีลกับประชาชนโดยชนะเลือกตั้งเท่านั้น ยืนยันไม่มีการสมยอมสมรู้ร่วมคิดใดๆ พรรคเพื่อไทยในฐานะสถาบันการเมืองจะต่อสู้โดยไม่สมยอม หากมีความพยายามตั้งนายกฯคนกลาง เราจะต่อสู้ขัดขวางตามกระบวนการและวิถีประชาธิปไตยจนถึงที่สุด
ซัดเทือกเพี้ยนใครทำตามก็เพี้ยน
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุเทพขอให้ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา ประธาน กกต. ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครอง ประชุมร่วมกันเพื่อเสนอนายกฯ คนกลางนอกรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 พ.คนี้ หากพ้นกำหนด กปปส.จะดำเนินการเองว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นข้อเสนอเพี้ยนๆ หากมีผู้คิดทำตามก็เพี้ยนตามไปด้วย เชื่อว่าประชาชนจะคัดค้านกันค่อนประเทศ ที่สำคัญขณะนี้ยังมีรัฐบาลรักษาการที่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 181 รองรับและ มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญรองรับสถานะของรัฐบาลรักษาการอีกด้วย
นายชวลิต กล่าวว่า อยากฝากข้อสังเกตไปยังประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญว่าไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทูลเกล้าฯ ตั้งนายกฯ คนกลางที่ไม่มีกฎหมายรองรับ หากยื่นทูลเกล้าฯ เท่ากับผลักภาระผลักความเดือดร้อนไปให้พระองค์ท่าน เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ผู้ที่อ้างความจงรักภักดีไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง ทางออกของประเทศคือการเลือกตั้งตามที่กกต.ประชุมร่วมกับพรรคและรัฐบาล กำหนดเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.นี้ ต้องขอบคุณ ผบ.ทบ.ที่สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ประกาศจะไม่ทำรัฐประหารเพราะไม่ใช่ทางออกประเทศ
คณินชี้เลือกปธ.วุฒิโมฆะ
นายคณิน บุญสุวรรณ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีวุฒิสภามีมติเลือกนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาฯ คนที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า กระบวนการดังกล่าวทำไม่ได้ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญชัดเจนเพราะการเลือกประธานวุฒิสภาครั้งนี้เข้าลักษณะต้องห้าม ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 132 จึงถือว่าเป็นโมฆะ ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเลย ดังนั้นการเลือกประธานวุฒิสภาเพื่อเป็นรองประธานรัฐสภาย่อมทำไม่ได้ การเลือกนาย สุรชัยจึงเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้นายสุรชัยซึ่งถือเป็นแคนดิเดตต้องลาออกจากรองประธานวุฒิสภาก่อน ที่สำคัญ นายสุรชัยทำหน้าที่เป็นประธานบนบัลลังก์ และไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ถือเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
นายคณิน กล่าวต่อว่า รัฐสภาชุดที่ 34 ยังไม่เกิด แต่รัฐสภาชุดที่ 33 ยุติไปแล้วตั้งแต่มีการยุบสภา เท่ากับส.ว.สรรหาได้พ้นจากรัฐสภาชุดที่ 33 ไปแล้ว ดังนั้นส.ว.สรรหารวมทั้งส.ว.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ต้องรอเข้าร่วมรัฐสภาชุดที่ 34 ก่อน องค์ประกอบจึงจะสมบูรณ์ ที่สำคัญคืออยากถามว่าใครจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เรื่องดังกล่าวนำมาซึ่งความสับสนวุ่นวาย จึงอยากให้วุฒิสภาปิดสมัยประชุมเพื่อรอเริ่มต้นกระบวนการใหม่ที่ถูกต้องจะดีกว่า ยืนยันว่ากระบวนการเลือกประธานวุฒิสภาเป็นโมฆะ และไม่มีความหมาย
เตรียมยื่นศาลรธน.ชี้ขาด
ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเห็นว่าการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญดังกล่าว เปิดเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งบุคคล ดังนั้นวาระคัดเลือกตัวประธานวุฒิสภาอาจมิชอบด้วยกฎหมาย เรื่องนี้คนชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ ทราบว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการเรื่องนี้ เราจะหารือกันในพรรคต่อไป อยากฝากไปยังนายสุรชัยว่าการดำเนินการใดๆ ต้องระวัง มีตำแหน่งมาจากการสรรหาโดยคนบางกลุ่มเท่านั้น อย่าทำอะไรสวนทางประชาธิปไตย
นายนพดล กล่าวถึงกระแสข่าวคนแดนไกลเจรจากับฝ่ายตรงข้าม และยินยอมให้เสนอนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรีขึ้นเป็นนายกฯ คนกลางว่า ขอปฏิเสธเรื่องนี้โดยเด็ดขาด ไม่มีดีลอะไรทั้งสิ้น เป็นการปล่อยข่าวจากผู้ไม่ประสงค์ดี สร้างความสับสนและหวังทำลายขวัญและกำลังใจของกลุ่มผู้สนับ สนุนพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นคือสิ่งที่ประเทศต้องการ เป็นดีลที่กกต.และรัฐบาลต้องหารือเพื่อยื่น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ตามที่เคยหารือกันไว้ เบื้องต้นคือวันที่ 20 ก.ค.นี้ ประเทศว่างเว้นรัฐบาลชุดใหม่มานานแล้ว ต้องการผู้ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศผ่านเสียงประชาชน
แนะคณะรัฐบุคคลดันเลือกตั้ง
นายนพดล กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่คณะรัฐบุคคลเตรียมเดินสายเข้าพบ ผบ.เหล่าทัพในวันที่ 12 พ.ค.เพื่อหาทางออกให้ประเทศนั้นถือเป็นสิทธิ แต่การกระทำของคณะรัฐบุคคลที่ผ่านมาคิดกันเองฝ่ายเดียว ทั้งที่ทางออกของประเทศที่ง่ายที่สุดคือการเลือกตั้ง จะดีมากถ้ารัฐบุคคลหมายถึงบุคคลของประชาชนจะสนับสนุนการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พูดชัดแล้วว่านายกฯ มาตรา 7 ทำไม่ได้ ดังนั้นคณะรัฐบุคคลไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินสาย แค่รับฟังความเห็นของผบ.ทบ.ก็พอ หากจะเดินสายขอให้เปลี่ยนเป็นเดินสายไปหากกต.ให้เร่งหารือกับรัฐบาลเพื่อจัดการเลือกตั้งก่อนวันที่ 14 พ.ค.นี้จะดีกว่า
เผยแม้วอยู่เอเชียรับรู้ทุกเรื่อง
นายนพดล เผยว่า ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางมาอยู่แถบประเทศเอเชียและรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในไทย โดย พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่าบ้านเมืองเราเนื้อหาประชาธิปไตยมันขาดไป ความไม่เป็นธรรมยังคงอยู่ ฉะนั้นทางออกที่ง่ายที่สุดคือให้ประชาชนเป็นคนตัดสินผ่านการเลือกตั้ง ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นวันนี้ยังมีจิตใจที่เข้มแข็งและทำทุกอย่างตามคำพูดที่ว่าจะขอตายในสนามประชาธิปไตย น.ส.ยิ่งลักษณ์ภูมิใจที่มาจากประชาชน 15 ล้านเสียง แต่ต้องจากไปเพราะการตัดสินของคน 9 คน จึงไม่เศร้าและยังมีกำลังใจที่ดีเช่นเดียวกับคนในพรรค แม้จะถูกกระทำมาต่อเนื่อง 7-8 ปี มีนายกฯ 4 คนถูกกระทำจากกระบวนการสมคบคิดล้มประชาธิปไตย แต่เราไม่มีสิทธิ์ย่อท้อ ผิดหวังหรือเจ็บปวด เพราะการต่อสู้ทางการเมืองยังเข้มข้น ฉะนั้นเราต้องยืนเป็นหลักต่อไปตราบใดที่ยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องต่อสู้เคียงข้างประชาชนต่อไป
นิคมชี้ร้องศาลรธน.วินิจฉัยได้
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกระบวนการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาว่า ขั้นตอนต่อไปสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องส่งชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ให้สำนักงานเลขาธิ การคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภาโดยสมบูรณ์ต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลมีข้อสงสัยว่ากระบวนการเลือกประธานวุฒิสภาเป็นการกระทำที่เกินกรอบพ.ร.ฎ. ขอเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ สามารถยื่นร้องตามมาตรา 214 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของวุฒิสภาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายนิคม กล่าวว่า ส่วนที่มีข้อถกเถียงว่านายนิวัฒน์ธำรงมีอำนาจทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น ตนมองว่าตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน นาย นิวัฒน์ธำรงปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ได้ทุกอย่างตามกฎหมาย แต่ถ้าพยายามบิดเบือนข้อกฎหมายไม่ให้นายนิวัฒน์ธำรงทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งได้ ก็ไม่สามารถทูลเกล้าฯ รายชื่อประธานวุฒิสภาได้เช่นกัน เพราะเราต้องไม่ตีความกฎหมายเอาแต่ได้
รอโปรดเกล้าฯก่อนเปิดประชุม
อดีตประธานวุฒิสภากล่าวด้วยว่า การเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังตั้งข้อสังเกตได้ว่าดำเนินการเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 122 ซึ่งชัดเจนกว่ากรณีของตนที่ถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเพื่อตัวเอง ทั้งที่ตนต้องได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก่อนถึงจะได้เป็นส.ว. ไม่ใช่แก้กฎหมายแล้วได้เป็นส.ว.ทันที แต่การเลือกประธานวุฒิสภานั้น นายสุรชัยคือผู้ขอให้เปิดประชุม ทั้งยังทำหน้าที่ประธานให้ที่ประชุมหารือถึงการเลือกประธานวุฒิสภาอีกด้วย
"ตำแหน่งประธานวุฒิสภาจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ดังนั้น ถ้ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานก็ไม่สามารถเรียกเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือผมและเพื่อนส.ว.อีก 36 คน ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้" อดีตประธานวุฒิสภากล่าว
สุรชัยปัดตั้งนายกฯคนกลาง
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะผู้ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนต่อการใช้วุฒิสภาเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลางว่า อย่าเพิ่งตอกย้ำตรงนั้น นี่คือประเด็นที่อีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ยอมรับ การหาทางออกให้ประเทศขณะที่ยังมีความขัดแย้งสูงเราต้องบริหารความขัดแย้งให้ได้เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกันได้ ที่ผ่านมาตนในฐานะรองประธานวุฒิสภาได้เก็บข้อเสนอของแต่ละฝ่ายมาสังเคราะห์อยู่ตลอด ขณะเดียวกันไม่เคยปฏิเสธสูตรใดเลย แต่ไม่เคยเห็นคนที่ออกมาปฏิเสธแล้วเสนอว่าสิ่งที่เขาปฏิเสธแท้จริงควรเป็นสูตรอะไร ทำให้บ้านเมืองหาทางออกไม่ได้ แต่หากทุกฝ่ายพยายามถึงที่สุดแล้วยังหาทางออกไม่ได้ แล้วประชาชนกับสังคมมอบความไว้วางใจให้วุฒิสภา ถึงตอนนั้นตนก็ต้องพร้อมทำงานให้ประเทศ
นัดส.ว.ถกนอกรอบแก้วิกฤต
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะนัดประชุมนอกรอบกับสมาชิกเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เมื่อใด หรือจะรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานวุฒิสภาก่อน นายสุรชัยกล่าวว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะเชิญส.ว.ทุกคนมาหารือนอกรอบถึงเรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่สิ่งที่กังวลใจคือจะรอถึงสัปดาห์หน้าได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีมวลชนอีกกลุ่มมาชุมนุมที่ถนนอักษะแล้วถ้าแต่ละฝ่ายชุมนุมด้วยความสงบอยู่ในที่ตั้ง ความหวาดวิตกของประชาชนก็จะผ่อนคลายลง แต่ถ้าแต่ละฝ่ายเคลื่อนขบวนออกไปตามที่ต่างๆ อาจนำมาสู่เหตุปะทะและอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวไปสู่ความสูญเสีย ตนได้ฝากการบ้านไว้กับสมาชิกทั้ง 150 คนแล้วเพื่อให้ช่วยกันคิด และทันทีที่เริ่มต้นพูดคุยจะได้เข้าประเด็นทันทีว่าสูตรไหนจะเป็นทางออกให้ประเทศ เมื่อตกผลึกแล้วตนจะเชิญผู้นำส่วนราชการที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมาหารือต่อไป
พร้อมจับเข่าฝ่ายการเมือง
ต่อข้อถามว่า คิดว่าสูตรไหนจะนำประเทศสู่ทางออกได้มากที่สุด ระหว่างการเลือกตั้งก่อนปฏิรูปหรือควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นายสุรชัยกล่าวว่า อย่าเพิ่งให้ตนตอบคำถามนี้ ต้องหารือให้ตกผลึกก่อน พูดก่อนไม่ได้เพราะคงมีคนออกมาตอบโต้ทันที เมื่อถามถึงสูตรของนาย สุเทพที่อยากให้วุฒิสภาตั้งรัฐบาลชั่วคราว นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นสูตรหนึ่งที่ตนรับไว้พิจารณา ตนเคยบอกแล้วว่ารับไว้ทุกสูตร ถ้าสูตรนั้นใช้ได้กับสถานการณ์และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก็ยุติที่สูตรนั้น ต้องขอเวลาอีกเล็กน้อย
ส่วนกรณีที่นายสุเทพขีดเส้นว่าต้องเสร็จในวันที่ 12 พ.ค.นี้ นายสุรชัยกล่าวว่า ถ้าเริ่มต้นโดยมีลู่ทางว่าเราแสดงออกด้วยความรับผิดชอบเชื่อว่าตนพูดกับทุกฝ่ายได้ และยังเชื่อด้วยว่าเรื่องเวลายืดหยุ่นได้ นอกจากพูดคุยกับผู้ใหญ่ของส่วนราชการแล้ว จะไปพูดคุยกับฝ่ายการเมืองโดยให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายเท่ากันหมด ส่วนใครมองตนเป็นคู่ขัดแย้งก็เป็นเรื่องของเขา ตนไม่เคยขัดแย้งกับใคร
เลขาวุฒิสภาแจ้งส.ว.ถก 12 พ.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งไปยังส.ว.ว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา เชิญส.ว.ทุกคนประชุมนอกรอบเพื่อหารือการแก้ปัญหาทางการเมืองในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้อง 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
สายหยุดไม่หยุด-พึ่งผบ.เหล่าทัพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปฏิเสธที่จะเดินหน้าตามคำร้องขอของ พล.อ. สายหยุด เกิดผล และคณะรัฐบุคคล เพื่อแสวงหาทางออกให้กับประเทศไทยด้วยการพึ่งพระบารมี ล่าสุดพล.อ.สายหยุดประชุมร่วมกับคณะรัฐบุคคล อาทิ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช อดีตผบ.ทบ. พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผบ.ทอ. พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช อดีตผบ.ทร. พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์ อดีตเสธ.ทร. พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ อดีตเสธ.ทอ. โดยมีนายเกรียงศักดิ์ เหล็กกล้า เป็นผู้ประสานงาน
พล.อ.สายหยุด ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมคณะรัฐบุคคลได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าแสวง หาทางออกให้กับประเทศไทยอีกครั้งด้วยการพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ผ่าน ผบ.เหล่าทัพ เพราะเห็นว่าแนวทางดังกล่าวดีที่สุดกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยวันที่ 12 พ.ค.นี้คณะรัฐบุคคลมอบให้นายเกรียงศักดิ์นำหนังสือไปยื่นผบ.เหล่าทัพ เพื่อร่วมกันหาทางออกแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติภายใต้แนวทางหลักคือการขอพึ่งพระบารมี โดยเวลา 09.30 น. จะไปพบพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ เวลา 11.15 น. จะเข้าพบพล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย และเวลา 13.30 น. จะเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่กองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นเวลา 15.00 น. จะเข้าพบพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ
"ผบ.เหล่าทัพตอบรับทั้งหมดแล้ว ส่วนจะทันกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ก็ต้องติดตาม แต่ผมมั่นใจว่าการขอพึ่งพระบารมีเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อหยุดปัญหาความ ขัดแย้งของคนที่คิดต่างในเวลานี้" พล.อ. สายหยุดกล่าว
ปชป.หนุนนิวัฒน์ธำรงถกเทือก
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าขอเรียกร้องให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย หาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศให้สมกับเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประธานวุฒิสภา โดยขอให้นายสุรชัยนำส.ว.ปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต เรียกประชุมส.ว.อย่างไม่เป็นทางการโดยเร็วที่สุดเพื่อแสวงหาทางออกประเทศร่วมกัน และขอให้ส.ว.ประสานกับทุกภาคส่วนให้เห็นพ้องต้องกันในการหาทางออกประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ
นายองอาจ กล่าวว่า การที่นายสุเทพประกาศยินดีเจรจาร่วมกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯนั้น ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกันแสวงหาทางออกให้ประเทศ รัฐบาลไม่ควรปล่อยโอกาสนี้หลุดลอยไป เชื่อว่าคนไทยด้วยกันหากมีการเจรจาหารือย่อมดีกว่าไม่พูดคุยกันเลย แต่น่าเสียดายเพราะในโซเชี่ยลมีเดียและวิทยุชุมชนที่สนับสนุนรัฐบาลออกมาต่อต้านและกดดันรัฐบาลไม่ให้นายนิวัฒน์ธำรงเจรจากับนายสุเทพ และโจมตีข้อเสนอของนายสุเทพว่าเป็นการหาทางลง ซึ่งนายสุเทพไม่ได้หาทางลงแต่มีเจตนาที่ดีอยากใช้โอกาสสุดท้ายเพื่อเปิดช่องทางเจรจาก่อนนำมวลมหาประชาชนเผด็จศึก ส่วนการทูลเกล้าฯประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาข้อยุติภายใต้กฎหมายเพื่อไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
จุฤทธิ์ซัดพท.ร้องแก้เกี้ยว
ด้านนายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะร้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีกระบวนการเลือกประธานวุฒิสภาขัดรัฐธรรมนูญว่า ขอเตือนว่าอย่าแทรกแซงกระบวนการและการทำหน้าที่ของวุฒิสภา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าห้ามพรรคหรือนักการเมืองก้าวก่าย แทรกแซง หรือเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาและส.ว. และการกำหนดวาระประชุมวุฒิสภา ทางส.ว.ร่วมกันกำหนดซึ่งส.ว.ทุกฝ่ายพร้อมรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่
นายจุฤทธิ์ กล่าวว่า พฤติกรรมดิ้นพล่านของพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นเพราะต้องการบุคคลที่สั่งได้มาเป็นประธานวุฒิสภาใช่หรือไม่ ที่สำคัญมีส.ส.พรรคเพื่อไทยอีก 308 คนที่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญจะถูกชี้มูลจากป.ป.ช. เพื่อเข้าสู่กระบวนการถอดถอน จึงออกมาบิดเบือนข้อเท็จจริงและร้องเพื่อแก้เกี้ยว จึงอย่าหลงเชื่อการบิดเบือนของพรรคเพื่อไทย
ออกแถลงการณ์สกัดนองเลือด
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์พร้อมจดหมายเปิดผนึกมีข้อเรียกร้องระบุว่า 1.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างมวลชน โดยเฉพาะมวลชนคนเสื้อแดงซึ่งจะชุมนุมใหญ่วันที่ 10 พ.ค. ที่ถนนอักษะ พรรคกังวลว่าเมื่อรัฐบาลเข้าสู่ภาวะจนมุม จะหันมาใช้ยุทธศาสตร์ความรุนแรงเพื่อข่มขู่คุกคามหวังแก้สถานการณ์การเมืองให้กับตนเอง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลการชุมนุมของทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยึดถือความถูกต้อง ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่การเผชิญหน้าและการนองเลือด
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุบศอ.รส. เนื่อง จากพฤติกรรมของผู้ที่มีบทบาทในศอ.รส. ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์การเมือง เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ วิพากษ์วิจารณ์ศาลและกระบวน การยุติธรรมอย่างเปิดเผย ข่มขู่คุกคามมวลชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล 3.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยุติการโจมตีกระบวนการยุติธรรมและองค์กรศาล 4.ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลรักษาการยังเป็นที่ถกเถียง ทั้งในแง่อำนาจของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรักษาการ นายกฯ และอำนาจของผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน นายกฯจะกระทำการในขอบเขตต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด รัฐบาลจึงควรตัดสินใจเสียสละเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้ปัญหาและผลประโยชน์ของประเทศได้รับการแก้ไขและผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และ 5.พรรคไม่ต้องการเห็นการเผชิญหน้า การสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงนอกกฎหมาย การฉีกรัฐธรรม นูญและการปฏิวัติรัฐประหาร ทาง ออกที่เหมาะสมของประเทศคือทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบ หาคำตอบให้ประเทศ แนวคิดการปฏิรูปต้องได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม
หนุนตีความอำนาจนิวัฒน์ธำรง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเห็นต่างในการทำหน้าที่ของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เช่น ไม่สามารถเสนอร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้งและรับสนองพระบรมราชโองการได้ และถ้าวันนี้เรายอมให้นายนิวัฒน์ธำรงนำชื่อประธานวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ เท่ากับยอมให้มีอำนาจเสนอ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้ ถือเป็นความเห็นต่างในข้อกฎหมายจึงต้องหารือกันให้ได้ข้อยุติก่อน ดังนั้น องค์กรที่เห็นต่างจากรัฐบาล เช่น กกต.หรือวุฒิสภา ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน
มาร์คโพสต์หนุนโรดแม็ป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่าประเทศไทยยังมีทางเลือก ท่ามกลางความสับสนก็มีสัญญาณทางบวก ทั้งการที่ว่าที่ประธานวุฒิสภาพร้อมร่วมแก้ปัญหา หรือนายสุเทพเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำตามครรลองของกฎหมาย หรือการที่นปช.ขอไม่ให้แดงอิสระเคลื่อนไหวโดยพลการ เหลือแต่รัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเท่านั้นว่าจะสนใจหาทางออกที่เป็นไปได้ให้กับประเทศหรือไม่ ขอย้ำอีกครั้งว่ามาถึงวันนี้ใครที่คิดว่าจะชนะอย่างเด็ดขาดแล้วบ้านเมืองจะเดินต่ออย่างสงบได้ไม่อยู่กับความเป็นจริง บังคับให้เกิดการเลือกตั้งต่อให้สำเร็จก็ไม่สงบ ยึดอำนาจสำเร็จก็ไม่จบ ดังนั้น การปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญตามแผนที่ตนเสนอยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เปิดใจสื่อนอกดันโรดแม็ป
วันเดียวกัน สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ คำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในรายการ ออน เดอะ มูฟ โดยมี ฮัสลินดา อามิน เป็นผู้ดำเนินรายการเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงกรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้ว พรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะลงเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ และนายอภิสิทธิ์จะลงเลือกตั้งด้วยหรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่าวิกฤตประเทศตอนนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วงกปปส. ตนได้เสนอทางออกให้ทุกฝ่ายไปแล้ว แต่โชคร้ายที่ไม่มีใครตอบสนองข้อเสนอของตน และเตือนแล้วว่าหากเรามัวแต่รอให้ถึงคำตัดสินของศาลจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศมากขึ้น เพราะผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลจะระดมพลออกมา ส่วนผู้ประท้วง กปปส.จะยิ่งรู้สึกฮึกเหิมจากคำตัดสินของศาลด้วย นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเกิดเหตุรุนแรง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ววิธีที่ดีที่สุดคือทุกฝ่ายต้องตกลงโรดแม็ป ร่วมกัน เพื่อเราจะได้กลับไปมีการเลือกตั้งที่มีระเบียบเรียบร้อย ด้วยความมุ่งมั่นต่อการปฏิรูปที่ยั่งยืน
ถูกบี้เงื่อนไขลงเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า โรดแม็ปที่เสนอนั้นดูเหมือนจะเอื้อแต่ฝ่ายเดียวและสะท้อนเฉพาะข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลร้องขอ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าไม่ได้เอื้อฝ่ายเดียว ตามจริงแล้วสิ่งที่รัฐบาลต้องการคือลงเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่มีข้อการันตีว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโปร่งใสและให้ความปลอดภัยแก่ทุกฝ่ายได้ การผลักดันของรัฐบาลจะไม่มีวันได้ผล แต่ตามโรดแม็ปที่ตนเสนอจะเป็นหนทางสู่การเลือกตั้ง กลับสู่วิถีทางประชาธิปไตยที่ง่ายกว่าและราบรื่นกว่า
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามย้ำว่ารัฐบาลจะทำอะไรในช่วงก่อนเดือนก.ค.ที่จะทำให้มีการเลือกตั้งและนายอภิสิทธิ์ลงเลือกตั้งได้บ้าง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราจะลงเลือกตั้งแน่นอนถ้าเห็นว่าการเลือกตั้งมีขึ้นอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเรียบร้อย ต่อข้อถามอีกว่ารัฐบาลพยายามแล้วโดยถอยทุกวิถีทางยกเว้นการลาออก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าไม่จริง พวกเขาไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปเลย เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนออะไรเลย แม้แต่ข้อเสนอจากภาคเอกชนและเอ็นจีโอ
ไม่ขาดคุณสมบัติรับตำแหน่งการเมือง
เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์พูดถึงเรื่องประชา ธิปไตยแต่ทำไมไม่ยอมให้ประชาชนตัดสินและจัดตั้งรัฐบาลเอง หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์กล่าวว่า ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลควรมีช่องทางเข้าถึงสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่ถูกกีดกัน นอกจากนี้ทุกพรรคต้องหาเสียงได้ในทุกพื้นที่ นี่คือเงื่อนไขเบื้องต้นในการเลือกตั้งที่เป็นธรรม แต่เงื่อนไขนี้ยังไม่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องทำให้เงื่อนไขนี้เป็นจริงก่อนแล้วเราจะลงเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยให้นายสุเทพยุติการชุมนุมเพื่อให้พรรคใหญ่ๆ ได้พูดคุยเรื่องการปฏิรูปและจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่ตนเสนอเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายไม่มีทางได้ชัยชนะเบ็ดเสร็จ ตนจึงเสนอโรดแม็ปให้มีการเลือกตั้งและการปฏิรูป แต่ปัญหาคือรัฐบาลต้องลาออกทั้งคณะ เพื่อเราจะมีความไว้วางใจและช่วยให้การเลือกตั้งเป็นธรรมขึ้น แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเสนอนี้
ผู้ดำเนินรายการถามย้ำว่า ตามกฎหมายไทยเมื่อไม่ได้ไปเลือกตั้งครั้งที่แล้วแปลว่ารับตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ถึงแม้ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ตั้งรัฐบาลได้จะไม่ได้เป็นนายกฯใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าไม่จริง ตอนนี้ตนไม่ได้เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ มีบางกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็จริง แต่ตอนนี้ตนลงเลือกตั้งและรับตำแหน่งทางการเมืองได้
ชี้นิวัฒน์ธำรง มีอำนาจตามนายกฯ
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงอำนาจการทูลเกล้าฯของนายนิวัฒน์ธำรงว่า ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน นายนิวัฒน์ธำรงมีอำนาจตามนายกฯรักษาการทุกประการ การทูลเกล้าฯขอตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งย่อมทำได้ การจะตีความว่าไม่มีอำนาจทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งได้ แต่ทูลเกล้าฯชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ให้เป็นประธานวุฒิสภาได้ จึงไม่มีเหตุผล เป็นการนำเจตจำนงทางการเมืองฝ่ายตนมาเป็นเป้าหมายมากกว่าดำเนินการตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญ
นายสมชาย กล่าวต่อว่าหากยึดตามหลักกฎหมายตำแหน่งประธานวุฒิสภาต้องมีการโปรดเกล้าฯเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามกฎหมายก่อนจะดำเนินการใดๆ ได้ ส่วนที่มองว่าอาจใช้ตำแหน่งประธานวุฒิสภาเสนอนายกฯตามมาตรา 7 นั้น เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้า เพราะนายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รมว.ยุติธรรม ยืนยันชัดเจนว่าจะขอพระบรมราชวินิจฉัยตามมาตรา 7 เช่นกัน ประกอบกับสถานการณ์ขณะนี้ไม่เอื้อให้มีนายกฯมาตรา 7 เหมือนสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เนื่องจากบรรยากาศขณะนั้นสังคมเห็นพ้องในทางเดียวกัน
โพลเชื่อเลือกตั้ง 20 ก.ค.เป็นไปได้
วันที่ 10 พ.ค. นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สถานการณ์การเมืองไทยหลังศาลรัฐธรรมนูญให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรี อีก 9 คนพ้นจากตำแหน่ง" สำรวจระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค. จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 1,250 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 39.04 รู้สึกพอใจมากในคำตัดสิน ร้อยละ 21.04 ระบุค่อนข้างพอใจในคำตัดสิน ร้อยละ 20.80 รู้สึกไม่พอใจเลยในคำตัดสิน ร้อยละ 12.96 รู้สึกค่อนข้างไม่พอใจในคำตัดสิน และร้อยละ 6.16 รู้สึกเฉยๆ
ส่วนความเป็นไปได้ในการแต่งตั้งนายกฯคนกลาง หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 36.72 ระบุค่อนข้างเป็นไปได้ในการมีนายกฯคนกลาง ร้อยละ 23.36 ระบุเป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 19.04 ระบุเป็นไปได้น้อย ร้อยละ 18.32 ระบุเป็นไปได้สูง และร้อยละ 2.56 ไม่แน่ใจ
สำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.นี้ ร้อยละ 31.44 ระบุค่อนข้างเป็นไปได้ที่จะมีเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. ร้อยละ 26.80 ระบุเป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 23.20 ระบุเป็นไปได้น้อย ร้อยละ 16.32 ระบุเป็นไปได้สูง และร้อยละ 2.24 ไม่แน่ใจ