สรุปทัวร์นกขมิ้นผิดกม. 'ปู'โดนอีก ชงกกต.ฟัน-ถึงยุบพรรค ดีเดย์ประชุมสนช.6 สิงหา ประกาศ 200 ชื่อสิ้นก.ค. 'บิ๊กเต่า'ยันทหารชั้นดีร่วม คิกออฟสภาปฏิรูป 10 ส.ค.

 

เยือนไทย - พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นำ พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม

 มติชนออนไลน์ :

      ปลัดกลาโหมรับเสียงวิจารณ์ทหารตบเท้านั่ง สนช.เพียบ ยันส่งคนดี มีความรู้ จบ ป.โท-เอก รัฐศาสตร์เข้าร่วม คสช.เดินหน้าแผนโรดแมประยะ 2 กำหนดสรรหานายกฯกลางสิงหาคม พร้อมตั้ง ครม. ลุยต่อตั้งสภาปฏิรูป

@ กำหนดแผนโรดแมประยะ 2

     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 กรกฎาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของ คสช. มีผู้แทนจากส่วนงานด้านต่างๆ เข้าร่วมประชุม 

    พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงการเดินหน้าทำงานตามแผนโรดแมปเดินหน้าประเทศไทย ระยะที่ 2 ของ คสช. หลังมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 แล้ว คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน สนช.จะเริ่มต้นปฏิบัติงาน เปิดประชุมครั้งแรกได้ช่วงกลางเดือนสิงหาคม จากนั้นจะดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจะมีการรับสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

      โดยก่อนจะมีสภาปฏิรูปได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการจัดงานคิกออฟเปิดตัวสภาปฏิรูป ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี คาดว่าจะดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทำการปฏิรูปประเทศให้เสร็จในเวลา 10 เดือน รวมถึงมอบหมายงานให้เร่งดำเนินการจัดทำคำแถลงนโยบายรัฐบาลและคำแถลงงบประมาณให้เสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 

@ ส่งบัญชีโยกย้ายขรก.15 ส.ค. 

    "ขอให้หัวหน้า 5 กลุ่มงานดำเนินการจัดทำโรดแมปการทำงานตลอดระยะเวลา พร้อมกับสรุปการปฏิบัติงานทุกไตรมาส ทุกไตรมาสจะต้องเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ส่วนการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตรวจสอบคุณสมบัติให้เรียบร้อย ก่อนส่งรายชื่อทั้งหมดมาให้ภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ โดยจะยึดระบบการแต่งตั้งเช่นเดียวกับของข้าราชการทหาร พร้อมกันนี้ยังได้ชี้แจงถึงการปรับปรุงอาคารทำเนียบรัฐบาลด้วยว่า ไม่ได้ดำเนินการเพื่อต้อนรับหัวหน้า คสช.หรือใครคนใด แต่เพื่อหน้าตาของประเทศให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปปฏิบัติข้าราชการได้ ขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส สำหรับเรื่องของสื่อบางส่วนที่ยังมีการละเมิดประกาศของ คสช.อยู่ ได้ขอให้สมาคมสื่อได้ไปกำกับดูแลกันเอง เพื่อให้การทำงานของทั้งสื่อและ คสช.สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ ถวายพระพรสมเด็จพระบรมฯ

     ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถวายพระพร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ขอให้พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน สุขภาพพระพลานามัยทรงแข็งแรง อยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวไทยทั้งประเทศตลอดไป และในส่วนการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ระหว่างวันที่ 8-13 สิงหาคม จะจัดงานขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า รูปแบบการจัดงานคล้ายกับที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนได้เที่ยวชมงานและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ขอให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมอย่างดีที่สุด

@ คาด 6 ส.ค.เปิดประชุมสภา

    รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า เบื้องต้นได้กำหนดรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะเป็นวันที่ 6 สิงหาคม ส่วนรายชื่อ สนช.จะโปรดเกล้าฯ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้น สนช.ทำงานทันที มีกฎหมายที่สำคัญพิจารณาอย่างเร่งด่วน ที่ คสช.เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาถึง 10 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 และร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงแนวทางการหยิบยกกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นค้างอยู่ในการพิจารณาสภา ว่า สนช.มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อไปได้ทันทีหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 6

@ ลือ"สุรชัย-วีรวิท-ศิษฐวัชร"นั่งสนช. 

    รายงานข่าวแจ้งว่า รายชื่อ สนช.นอกจาก คสช.เป็นผู้จัดทำบัญชีแล้ว ยังมีรายชื่อที่เสนอโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับ คสช. มาหลายบัญชีเพื่อส่งต่อยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นผู้เลือกคนสุดท้าย ทั้งนี้ บัญชีรายชื่อดังกล่าวมีอดีต ส.ว.ที่คาดได้รับการเสนอชื่อเป็น สนช.ด้วย อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม นายคำนูณ สิทธิสมาน 

      พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีใครมาทาบทาม การได้มา สนช.น่าจะเป็นลักษณะเดียวกับปี 2549 ที่เปิดรายชื่อ สนช.ในวันโปรดเกล้าฯ เลย หากใครไม่พร้อมก็จะยื่นหนังสือลาออก เชื่อว่าการพิจารณารายชื่อ สนช.ของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช.จะให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าความใกล้ชิด

     เมื่อถามกรณีมีข่าวว่าอดีต ส.ว.สรรหาหลายคนจะได้รับเลือกเป็น สนช.ด้วย พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวว่า อย่างนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ก็เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถอย่างรอบด้าน ทั้งการออกกฎหมายและกลั่นกรองกฎหมาย อีกทั้งเป็นอดีต ส.ส.ร.ปี 2540 และ 2550 ด้วยดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่นายสุรชัยจะได้เข้าร่วมทั้ง 2 สภา 

@ ปลัดกห.รอกก.เคาะผบ.เหล่าทัพ

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2557 ว่า แต่ละหน่วยกำลังดำเนินการจัดทำ หลังจากนี้จะนัดคุยกันหารือกันของแต่ละเหล่าทัพที่จะเสนอมายังกระทรวงกลาโหม ใครจะอยู่กองบัญชาการกองทัพไทยบ้าง ตำแหน่งไหนที่เหมาะสมกับบุคคล เป็นเรื่องของ ผบ.เหล่าทัพ ตามกฎกระทรวงจะมีคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ 1.ในระดับหน่วยของแต่ละเหล่าทัพ 2.คณะกรรมการของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม หลังจากนี้จะพูดคุยในรายละเอียดในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ตามกำหนดระยะเวลาเดิมคือปลายเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตนในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานในการประชุมได้เลย ยืนยันว่าไม่มีการเหลื่อมล้ำใดๆ เพราะทหารทำโดยตำแหน่งหน้าที่

"ส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ จะให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพคนปัจจุบันเสนอขึ้นมาหรือเสนอชื่อต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารประจำปี 2557 หรือไม่นั้น คงต้องไปคุยกันในรายละเอียด แต่ตามกฎหมายสุดท้ายแล้วคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานจะเป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้ การปรับย้ายนายทหารทุกอย่างทำตามปกติ ทุกหน่วยทำตามกำหนดการเดิมไม่มีปัญหา" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

@ ป้องทหารนั่งสนช.คัดเลือกดีแล้ว 

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวกรณีข่าวจะนั่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย คนที่มาเป็นประธาน สนช.ควรมีความชำนาญด้านกฎหมายโดยเฉพาะ หากให้ตนทำก็ทำได้ แต่ควรให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทำจะดีกว่าเพราะเป็นกฎหมายที่สำคัญของประเทศ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทหารเข้ามาเป็น สนช.จำนวนมาก ต้องยอมรับเพราะบ้านเมืองขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ คนที่เข้ามาใน สนช.ได้รับการคัดเลือกอย่างดี กองทัพเองจะส่งใครเข้ามาใน สนช.ก็ต้องระวังกลัวเสียชื่อ คนที่เข้าไปต้องทำการบ้านอย่างหนัก มีความรู้ หลายคนเรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รายชื่อที่ออกมาอยู่ที่สังคมเป็นผู้ตัดสินว่าจะมองมุมไหน ยืนยันว่านายทหารผู้ที่ได้คัดเลือกมีคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงาน ที่เราคัดมาเป็นนายทหารชั้นดีของกองทัพ

@ "วิษณุ"ปัดไม่รู้ได้คั่วปธ.สนช.

เมื่อเวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม ทีมกฎหมายของ คสช. กล่าวกรณีมีผู้สนับสนุนดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ทราบและไม่รู้เรื่องเลยว่าจะได้เป็นประธาน สนช. รวมถึงข่าวที่ออกมาไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าว ส่วนรายชื่อ สนช.ทั้ง 200 รายชื่อ ที่มีข่าวว่าได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้นไม่ทราบ เป็นเรื่องของทางทหารที่จะต้องเป็นผู้คัดเลือกสมาชิก สนช.เอง มีหน้าที่เพียงร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ในการคัดเลือกรายชื่อ ถ้าจะให้เป็นสมาชิกใน สนช.ก็ยินดี

@ ป.ป.ช.ตั้งข้อสังเกต"ถอดถอน"

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวกรณีหลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกรงว่าจะดำเนินการต่อไม่ได้ หลังจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้และในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ไม่มีบทบัญญัติรองรับเกี่ยวกับการถอดถอนไว้ว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นทางกฎหมายที่นักกฎหมายแสดงความเห็นไว้หลายทาง คือนักกฎหมายบางคนบอกว่าเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งไปแล้ว ควรดำเนินการต่อไปเมื่อมี สนช.ก็ทำหน้าที่เป็น ส.ว. ก็ดำเนินไปตามกระบวนการของกฎหมายก็น่าจะเดินต่อได้

นายสรรเสริญกล่าวว่า นักกฎหมายบางคนบอกว่ากระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นไม่ได้มีการเขียนระบุไว้ว่ามีกระบวนการในเรื่องการถอดถอนนี้อย่างไร ถ้าจะมีหรือไม่มีต้องไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะยกร่างมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดังนั้น ความเห็นในทางกฎหมายยังมีความต่างกันตรงนี้ 

@ รอสนช.หยิบขึ้นหารือใหม่

"ปรมาจารย์กฎหมายบางคนบอกว่าน่าจะเดินต่อไปเลยกระบวนการมันหยุดไม่ได้ ในเมื่อ สนช.ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ ส.ว. เพราะกระบวนการของ ป.ป.ช.เสร็จตั้งแต่ก่อนจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วส่งเรื่องถอดถอนไปรออยู่ที่วุฒิสภา ซึ่งเป็นความเห็นของ ป.ป.ช.ที่เคยมีความเห็นอย่างนี้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อมี คสช.ก็ต้องหยุดเพราะไม่มี ส.ว. อย่างไรก็ตามใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ระบุเพียงให้ดำเนินการไต่สวนและส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอน ดังนั้น เมื่อไม่มี ส.ว.ก็ต้องรอ สนช. เป็นคนหยิบประเด็นปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นหารือ คงตอบแทนไม่ได้ว่า สนช.จะดำเนินการอย่างไร เป็นความเห็นทางกฎหมายมากกว่า" นายสรรเสริญกล่าว

@ ไม่เสียของแต่อาจเสียเวลา

เมื่อถามว่า อย่างนี้ผลการชี้มูลความผิดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกถอดถอนในหลายคดีของ ป.ป.ช.ก็จะเสียของใช่หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ไม่เสียของแต่อาจจะเสียเวลา เพราะต้องรอ สนช.หยิบยกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ ส.ว. หรือไม่เช่นนั้นหากเกิดมีความกังวลเกิดขึ้น อาจจะมีการรอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสียก่อน จะเป็นการเสียเวลาเท่านั้นไม่ได้เสียของอย่างที่วิจารณ์

เมื่อถามว่า จะส่งผลกระทบเรื่องการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี สำหรับผู้ที่อาจจะเตรียมตัวกลับมาลงสมัคร ส.ส.หากมีการเลือกตั้ง นายสรรเสริญกล่าวว่า ประเด็นนี้ถือเป็นผลของการพิจารณาเรื่องถอดถอน หากช้าแล้ว รัฐธรรมนูญประกาศให้มีการเลือกตั้งบุคคลเหล่านั้นก็สามารถลงได้ แต่ถ้าวินิจฉัยได้ก่อนและมีการตัดสิทธิก็จะมีผลไม่สามารถลงรับเลือกตั้งได้ ที่มีการพูดว่ากระบวนการถอดถอนต้องเดินต่อเนื่องก็หมายถึงผลในเรื่องนี้

@ ป.ป.ช.หยุดกระบวนการไต่สวน

"กระบวนการเรื่องคดีเกี่ยวกับการถอดถอนที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช.ต้องหยุดเหมือนกัน ยังไม่ได้เดินต่อ ยกเว้นคดีอาญายังดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเป็นถอดถอนกระบวนการนี้ต้องชะลอหรือหยุดกระบวนการไต่สวนเรื่องถอดถอน แยกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องถอดถอนที่ชี้มูลไปแล้วส่งไป ส.ว. แล้วก็ต้องรอ สนช.ว่าจะหยิบขึ้นมาเลยหรือไม่ กับส่วนคดีถอดถอนที่อยู่ที่ ป.ป.ช.บางส่วนที่ยังไม่ได้วินิจฉัยเวลานี้ กรรมการ ป.ป.ช.ก็มีความเห็นว่าหยุดหรือชะลอกระบวนการก่อน อย่างไรก็ตามคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช.จะมี 2 ส่วน คือเรื่องถอดถอนอย่างเดียวกับคดีอาญา เช่น คดี 308 ส.ว.ที่ถูกชี้มูลถอดถอนและส่งเรื่องไปที่ ส.ว.แล้วจำนวนหนึ่งก็รอ สนช. ส่วนคดีอาญาก็ยังดำเนินการไต่สวนต่อไป มีอดีต ส.ว.ทยอยเข้าให้ถ้อยคำอยู่ตลอด" นายสรรเสริญกล่าว 

@ ชะลอคดีประกันข้าวของ"อภิสิทธิ์"

เมื่อถามว่า แสดงว่าคดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกยื่นถอดถอนในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานร่วมกันอนุมัติให้ความเห็นชอบขายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าตลาด เอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ส่งออกบางราย ก็ต้องถูกหยุดหรือชะลอไปด้วยใช่หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ใช่ กระบวนการตรงนี้ก็ต้องหยุดหรือชะลอการดำเนินการต่อ แต่ไม่เฉพาะคดีนี้เท่านั้นนะ ทุกคดีที่เป็นการถอดถอนบางส่วนที่ค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.ก็ต้องหยุดด้วย และรอ สนช. หรือรอ สปช.ว่าจะยกร่างเขียนเรื่องนี้อย่างไร ตามที่กรอบ สนช.ก็รอเป็นปี แต่เชื่อเถอะว่ายังไม่มีการกำหนดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นกระบวนการถอดถอนจะต้องมาก่อนกระบวนการเลือกตั้งแน่ เพราะเลือกตั้งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี

@ "วิชา"ชงป.ป.ช.ชี้ขาดสนช.

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะกฎหมายของ ป.ป.ช.ซึ่งประกอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า ทาง ป.ป.ช ทำงานเต็มที่ ทำเต็มสูบตามหน้าที่ เมื่อเกิด สนช.ขึ้นมาจะส่งต่ออย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง ส่วนเรื่องที่สมาชิก สนช.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ ต้องมีการพูดคุยกันในที่ประชุม แต่โดยหลักให้ สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส. กับ ส.ว.ตรงนั้นจึงต้องไปคุย

นายวิชากล่าวว่า ส่วนคดีเกี่ยวกับการถอดถอนสิทธิทางการเมือง ทาง ป.ป.ช.ทำตามระบบ เมื่อเกิด สนช.ขึ้น ก็ส่งเรื่องให้ สนช. ส่วน สนช.จะว่าอย่างไร ต้องดูในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและที่บอกว่าหากเกิดข้อขัดแย้งเป็นเรื่องการตีความ ตรงนี้ สนช.ต้องทำหน้าที่ ส่วนคดีอาญาก็ดำเนินการตามปกติ

เมื่อถามว่า จะมีการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเรื่องการทุจริตลงสมัคร ส.ส.นั้นเห็นด้วยหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ไม่เห็นด้วยได้อย่างไร เราเป็นองค์กรต่อต้านทุจริต แต่จะมีขอบเขตอย่างไร เรื่องนี้ ตนไม่ทราบ ต้องไปดูรัฐธรรมนูญเอง อย่ามาถามเพราะไม่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จะใช้สิทธิเสนอสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ต้องปรึกษากันอีกครั้ง ส่วนสมาชิก สปช.ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ อย่างที่ว่ายังไม่ได้คุยกัน ต้องเข้าในวาระการประชุมก่อนค่อยว่ากันเมื่อถึงเวลา

@ พท.ชี้อดีตส.ว.สร้างแตกแยก

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาไม่พยายามให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับทางการเมืองใดๆ เห็นว่าทุกคน ทุกฝ่ายควรหยุดคิดทบทวน เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตการเมืองของประเทศที่ดีงามอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เห็นว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งความคิดเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ไม่มีทางเห็นร่วมกันได้ทั้งหมด ที่ผ่านมาใช้วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการทำลายล้าง ประหัตประหารกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายกันจำนวนมาก ใช้กลไกทางกฎหมายและอื่นๆ กำจัดกันโดยปราศจากความถูกต้องชอบธรรม ตีความกฎหมายนอกกรอบ นอกรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัดที่สุด

"ผมได้ฟังอดีต ส.ว.บางท่าน ผลักดันให้ สนช.ที่กำลังจะมีขึ้น ถอดถอนอดีต ส.ส.และ ส.ว.ที่ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยจะใช้เสียง สนช. 3 ใน 5 ทั้งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มิได้กำหนดเรื่องถอดถอนไว้ อ้างว่าต้องการกวาดล้างนักการเมืองขยะออกไป นับเป็นแนวคิดอันตรายมากๆ พยายามตีความกฎหมายเข้าข้างตนเองเหมือนในอดีต ถ้าทำเช่นนั้นได้จริง เท่ากับท่านกำจัดนักการเมืองร่วม 400 คน ให้ออกจากสังคมการเมืองไทย โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งหมด ตีความกันเองว่าทำได้ ผมเห็นว่าจะเป็นการตอกย้ำและขยายความแตกแยกต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เข้าใจแล้วว่าท่านมีความคิดว่าผู้ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเหมือนเมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นนักการเมืองขยะ ผู้ที่มาจากการสรรหาโดยคนเพียง 7 คน เป็นนักการเมืองคนดี อยากจะฝากถึง คสช.ว่า หากบุคคลประเภทนี้ ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งใดในองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เหมือนที่เคยได้รับแต่งตั้งมาแล้วสมัยรัฐประหาร ปี 2549 กลายเป็นคู่ขัดแย้ง แตกแยกตั้งแต่บัดนั้นมา ผมว่านั่นแหละ คือ การสูญเปล่าหรือเสียของอย่างแท้จริง" นายชูศักดิ์กล่าว

@ พท.หนุนเอาผิดทุจริตเลือกตั้ง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงแนวคิดการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองตลอดชีวิตที่โกงหรือทุจริตการเลือกตั้งว่า มีความเห็นต่อคำถามดังกล่าว 5 ประเด็น ดังนี้ 1.เห็นด้วยในหลักการลงโทษผู้ทุจริตการเลือกตั้งให้ได้รับโทษที่เหมาะสมกับความผิดที่กระทำ 2.การลงโทษประหารชีวิตทางการเมืองกับบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด ควรดำเนินการเมื่อมีการปรับปรุงหรือพัฒนาองค์กรในการตรวจสอบการทุจริตหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ได้รับความเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะสาเหตุของความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากองค์กรในการตรวจสอบไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน และเลือกปฏิบัติ จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้ฝังรากลึกขึ้นเรื่อยๆ 3.การเขียนกติกากลางของบ้านเมือง อย่าตั้งเป้าหมายโดยมีอคติกับภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง จะทำให้ล้มเหลวและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนโดยส่วนรวมตั้งแต่แรก แต่ควรมององค์รวมทั้งหมดของทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ถ่วงดุลกัน โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตย คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ 

@ อย่าเอาแต่โยนผิดนักการเมือง

4.ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในประชาคมโลก มีพันธสัญญาต้องปฏิบัติตาม ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี โลกเกือบทั้งใบเป็นประชาธิปไตยที่ไทยต้องแคร์ เห็นได้จากขณะนี้ได้ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศทำความเข้าใจกับประชาคมโลกถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกกติกาประชาธิปไตย และกำลังวางโรดแมปไปสู่ประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้ถูกบอยคอต จะสร้างความเสียหายกับประเทศชาติและประชาชน การกำหนดกติกากลางของบ้านเมืองจึงไม่ควรส่งสัญญาณที่จะลิดรอนฝ่ายประชาธิปไตยให้อ่อนแอ ตรงกันข้ามควรทำให้ภาคส่วนการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน และ 5.ขอความเป็นธรรมกับฝ่ายการเมืองบ้าง ข้อเท็จจริงช่วงระยะเวลา 82-83 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยมีที่ยืนให้ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ครบเทอมตามกติกา เพียง 1 สมัย 4 ปี เท่านั้น นอกนั้นเป็นฝ่ายอำนาจนิยมและประชาธิปไตยครึ่งใบเข้าบริหารประเทศเป็นส่วนใหญ่ เมื่อยอมรับว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในประชาคมโลก และโลกใบนี้เป็นประชาธิปไตยเสียส่วนใหญ่ จึงควรมาตั้งเป้าเขียนกติกากลางของบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มั่นคง และยั่งยืนมิดีกว่าหรือ

@ มติกกต.ฟัน"ปู"ทัวร์นกขมิ้น

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต.มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 9 คน กรณีใช้ทรัพยากรของรัฐไปเดินสายตรวจราชการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนธันวาคม 2556-เดือนมกราคม 2557 มีการสั่งการให้ข้าราชการกะเกณฑ์ประชาชนออกมาต้อนรับ ขึ้นป้ายสนับสนุน รวมทั้งมอบเงินช่วยเหลือนายตำรวจที่เสียชีวิตจากเหตุปะทะกับผู้ชุมนุม คปท. หน้าศูนย์กีฬาเยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบและประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีพื้นที่เกิดเหตุใน 11 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ เลย ยโสธร ระยอง และ กทม. เข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) ประกอบมาตรา 57 และมาตรา 137 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ถึง 200,000 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี หากมีกรรมการบริหารพรรคเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้ 

@ ชี้โทษสูงสุดถึงยุบพรรค 

นายสมชัยกล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ทางคณะกรรมการสืบสวนของ กกต.จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง 9 คนมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและแสดงหลักฐานโต้แย้งก่อนสรุปความเห็นและเสนอ กกต.วินิจฉัยต่อไป คาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากนี้ บุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 8 คน ประกอบด้วยนายปลอดประสพ สุรัสวดี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กรณี พล.ต.อ.อดุลย์ได้มอบเงินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ญาตินายตำรวจที่เสียชีวิตที่วัดตรีทศเทพ ส่วนกรณีนายจารุพงศ์ และนายปลอดประสพ เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรค หากพบว่ากระทำผิดจริงจะเข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 94 (2) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือระเบียบ ประกาศของ กกต. มีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อาจถูกเสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ 

เมื่อถามว่ามติดังกล่าวที่รีบพิจารณาถือเป็นการเอาใจ คสช.หรือไม่ นายสมชัยระบุว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า ไม่ได้เกรงใจใคร กกต.กลางมิได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานใดๆ ของคณะกรรมการสืบสวน เป็นการดำเนินงานโดยอิสระ 

@ "เตีย บัน"ยกคณะถึงสุวรรณภูมิ

เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา พร้อมคณะนายทหารระดับสูงเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย พล.อ.เนียง พาด รัฐมนตรีช่วยกลาโหมกัมพูชา พล.อ.เมียะ โซะเพย รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.เตีย วิญ ผู้บัญชาการทหารเรือกัมพูชา พล.อ.อ.เซิง ซอมนาง ผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา และ พล.ท.ฮุน มาเนต รองผู้บัญชาการทหารบก ผบ.หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากลกระทรวงกลาโหมกัมพูชา และเป็นบุตรชายของสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะแขกของกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ

พล.อ.อ.ทรงธรรมได้สนทนากับ พล.อ.เตีย บัน ถึงสถานการณ์การเมืองไทย โดย พล.อ.เตีย บัน กล่าวว่า กัมพูชาติดตามสถานการณ์ข้อมูลในประเทศไทยทุกอย่าง ทั้งด้านการเมือง การทหาร และเรื่องต่างๆ กัมพูชารู้สึกยินดีที่ได้รับเชิญให้มาประเทศไทยในครั้งนี้ การแก้ไขปัญหาของไทยมีความชัดเจนและนำไปสู่แนวทางความสงบเรียบร้อย สมเด็จฯฮุน เซน บอกว่า เข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยเป็นอย่างดีและชัดเจนมากถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ

@ ยันสัมพันธ์แน่น-ร่วมรับเออีซี 

จากนั้นเวลา 13.50 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ พล.อ.เตีย บัน พร้อมคณะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารทั้งสองประเทศ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการทหาร และได้ทำการจัดแถวกองทหารเกียรติยศผสมสามเหล่าทัพพร้อมมอบโล่เป็นที่ระลึก 

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า การพบกันไม่มีอะไรเป็นพิเศษ มีการหารือด้านความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทางกัมพูชาเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการรักษาสันติภาพอาเซียน ส่วนประเทศไทยดูแลด้านการแพทย์อาเซียน การเยือนในระดับทวิภาคี มีความแน่นแฟ้นและความไว้เนื้อเชื่อใจกันทั้งความร่วมมือในการแก้ปัญหาตามแนวชายแดน การก่อการร้าย การค้าแรงงานผิดกฎหมาย และปัญหายาเสพติด ทั้งนี้ ผู้นำทางทหารระดับสูงของกัมพูชาเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยและเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน สำหรับด้านพหุภาคี สร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมบรรยากาศความเป็นปึกแผ่นของประเทศสมาชิกอาเซียนและความร่วมมือในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558

@ เดินหน้าหลายกรอบความร่วมมือ

"ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศก้าวหน้าตามลำดับทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้นำรัฐบาลและผู้นำทางทหาร ทั้งระดับผู้นำเหล่าทัพและหน่วยปฏิบัติการตามบริเวณชายแดน พร้อมแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันตลอดจนความร่วมมือในหลายระดับ อาทิ คณะกรรมการทั่วไปชายแดนไทย-กัมพูชา (จีบีซี) คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (บีพีเคซี) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) คณะกรรมาธิการปักปันเขตแดน (เจบีซี) และคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา (เจทีเอสซี) ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คลี่คลายลง อาทิ การเข้าร่วมฝึกของกองทัพกัมพูชาในการฝึกการกู้ภัยร่วม/ผสม ไทย-กัมพูชา การฝึกซ้อมแผนบรรเทาสาธารณภัยอาเซียน หรือ ARF DIREX อย่างไรก็ตาม คงไม่มีการพูดคุยในเรื่องของ คสช.ที่เข้ามาบริหารประเทศ เพราะเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ และในการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ไม่ได้ปูทางให้ทหารสู่ตำแหน่งทางการเมือง" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

จากนั้นเวลา 15.00 น. พล.อ.เตีย บัน พร้อมคณะเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ และในวันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. มีกำหนดการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน เพื่อหารือราชการ ก่อนเดินทางกลับกัมพูชาในเวลา 15.00 น.

@ กต.ยันเกาหลีใต้เข้าใจไทย

วันเดียวกัน นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 4 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์หลังหารือทวิภาคีกับนายยุน บยอง เซ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นการประชุมทวิภาคีครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ว่า ใช้โอกาสหารือถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองภายในไทย ทางเกาหลีใต้มีความเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนไทยต้องแก้ไขกันเอง คาดหวังให้ประสบความสำเร็จตามโรดแมปที่วางไว้ มั่นใจในความสามารถของคนไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า เกาหลีใต้ยังเน้นเป็นพิเศษถึงความประสงค์ให้เอกชนเกาหลีที่มีศักยภาพ ได้มีส่วนร่วมในเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ อาทิ เค วอเตอร์ ทราบว่า คสช.กำลังทบทวนรายละเอียดโครงการดังกล่าว คาดหวังว่าจะได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วม 

นายสีหศักดิ์กล่าวด้วยว่า ยังหยิบยกเรื่องคนไทยถูกเกาหลีใต้ปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง 60-70% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา จึงอยากให้เกาหลีใต้ประสานงานกับสถานทูตไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้เหตุผลในการปฏิเสธว่าเพ่งเล็งในเรื่องอะไร เพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยทราบ ช่วยแก้ไขปัญหานี้

@ พระบรมฯพระราชทานแจกัน 

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนพระองค์ได้อัญเชิญแจกันดอกไม้พระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา มอบให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 76 ปี เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 โดยมี นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นผู้รับแทน เนื่องจากนายชวนติดภารกิจเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย