WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8564 ข่าวสดรายวัน


2 สมาคมสื่อจี้-ยุติคุกคามเสนอข่าว 
ออกแถลงการณ์โต้ม็อบ ฮิวแมนชี้ปิดกั้นเสรีภาพ

      สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ออกแถลงการณ์ฉะม็อบกปปส.บุกสถานีโทรทัศน์หลายช่อง พร้อมปักหลักค้างคืน จี้ให้หยุดคุกคามสื่อ และห้ามกดดันเสนอข่าวม็อบเพียงด้านเดียว 'สุณัย ผาสุข'ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำ ประเทศไทย ย้ำ กปปส.คุกคามสื่ออย่างรุนแรง และหวั่นเกิดเรื่องกับผู้สื่อข่าว เพราะก่อนหน้านี้มีผู้สื่อข่าวถูกม็อบทำร้ายมาแล้ว ขณะที่สื่อทั่วโลกจับตาความเคลื่อนไหวม็อบกปปส. ชี้เป็นการคุกคามสื่อ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ การเมืองสุ่มเสี่ยงเกิดความรุนแรงเป็นศึกม็อบชนม็อบ พร้อมวิพากษ์กรณีศาลรธน.มีคำสั่งให้'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร'พ้นตำแหน่งนายกฯ

     เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมแกนนำ นำมวลชนเคลื่อนขบวนไปปักหลักหน้าสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อกดดันให้เลิกนำเสนอข่าวของรัฐบาลว่า พฤติกรรมที่เคลื่อนมวลชนไปยังสถานีโทรทัศน์ บีบบังคับให้ร่วมเป่านกหวีดเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทางฮิวแมนไรต์วอตช์เคยแสดงความเห็นแล้วว่าเป็นการคุกคามสื่อ บีบบังคับให้นำเสนอข้อมูลของตนเพียงด้านเดียว แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็เคยออกประกาศเตือนในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

     นายสุณัย กล่าวอีกว่า คำปราศรัยของแกนนำในวันนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการข่มขู่บีบบังคับสื่อให้นำเสนอข้อมูลด้านเดียว ยุติข้อมูลจากฝั่งรัฐบาล โดยแกนนำประกาศว่าจะออกอากาศ ละคร การ์ตูน หรือเกมโชว์ ก็ออกไป นั่นเป็นการบังคับให้คนดูไม่สามารถเสพข้อมูลข่าวสารตามที่ต้องการได้ เท่ากับปิดกั้นเสรีภาพ ของคนดูเช่นกัน ตอนนี้ถือว่าเดชะบุญที่มวลชน ยังไม่เข้าไปถึงในตัวอาคาร แต่ก็กังวลว่าต่อไปถ้าผู้บริหารสถานี หรือผู้สื่อข่าวดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามที่กลุ่ม กปปส.ต้องการ จะเกิดปัญหาอะไรขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการใช้กำลังกับผู้สื่อข่าวมาแล้ว ดังนั้น ฮิวแมนไรต์วอตช์ขอให้กลุ่มกปปส. เลิกกดดัน คุกคามเสรีภาพสื่อ หรือปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลฝ่ายรัฐบาล และรับปากว่าการใช้กำลังจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

      "อยากเห็นองค์กรสื่อออกแถลงการณ์แสดง ความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ยุติพฤติกรรมนี้โดยทันที บทบาทอีกประการที่องค์กรสื่อสามารถทำได้ในทันที คือโทรทัศน์ทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมถึงสื่อออนไลน์ ต้องออกบทบรรณาธิการ หรือแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการคุกคามสื่อ นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปที่รับสื่อสามารถแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยได้ ผ่านการส่งข้อความสั้น โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หรือส่งจดหมายไปยังสื่อต่างๆ เรียกร้องให้ยุติพฤติกรรมที่ปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทันที" ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าว

      ด้านสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้ยุติการคุกคามและแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เนื้อหาระบุว่า ตามที่ทางแกนนำคณะกรรมการ ประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้เคลื่อนขบวนมวลชนไปตั้งเวทีชุมนุมที่หน้าสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวและคำแถลงของ กปปส. และห้ามนำเสนอข่าวจากฝ่ายรัฐบาลนั้น

     องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการกระทำที่เข้าข่ายการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนหรือขัดขวางการทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ซึ่งขัดแย้งต่อเจตนารมณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อมวลชน

     ด้วยเหตุนี้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

     1.ขอให้แกนนำของ กปปส. และมวลชนผู้ร่วมชุมนุม หยุดกระทำการดังกล่าวทันทีหรือ ทบทวนท่าทีในการปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ ต่างๆ โดยด่วน

     2.ต้องไม่ไปกดดันให้กองบรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ นำเสนอข่าวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวและควรเคารพความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการต่างๆ ในการใช้ดุลพินิจในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป ที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ทรัพย์สินของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างเด็ดขาด และต้องให้ความปลอดภัยและความสะดวกแก่พนักงานและ ผู้สื่อข่าวทุกคนของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ

    3.ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ในสังกัดหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้มีความอิสระในการเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล จะต้องไม่ยอมรับการถูกแทรกแซงหรือสั่งการจากฝ่ายรัฐบาล ให้นำเสนอข่าวสารเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

     สมาคมนักข่าวทั้ง 2 สมาคมขอยืนยันหลักการว่า สื่อมวลชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการ นำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม กองบรรณาธิการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานีโทรทัศน์ ต่างๆ ควรตระหนักถึงการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งต้องนำเสนอข่าวจากทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

     สมาคมนักข่าวทั้ง 2 มีความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในภาคสนามทุกคน โดยขอให้ระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเกินความจำเป็น ทั้งนี้ ให้ตระหนักว่าความปลอดภัยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านมานำเสนอต่อสาธารณชน

     เราขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกคน ที่นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าว สารของประชาชน และขอให้ทุกฝ่ายเคารพและไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ

    ในส่วนของสำนักข่าวต่างประเทศก็ติดตาม ความเคลื่อนไหวของม็อบ กปปส.อย่างใกล้ชิด โดยบีบีซีของอังกฤษรายงานว่า สถานการณ์ บริเวณด้านหน้าของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) มีผู้ชุมนุมนับร้อยพยายามจะฝ่าแนวกั้นคอนกรีตเข้าสู่อาคาร จนเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดไว้ กระทั่งมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 4 คน 

    เอเอฟพีของฝรั่งเศสวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตว่า อาจจะออกมา 3 แบบ ได้แก่ กรณีแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจกลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 20 ก.ค.นี้ กรณีที่สองกองทัพอาจทำรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งการเผชิญหน้าของมวลชนกปปส. และมวลชนคนเสื้อแดง ซึ่งจะจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 10 พ.ค. นี้ และกรณีสุดท้าย คือ ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันอาจยอมรับนายกรัฐมนตรีคนกลาง เพื่อประนีประนอมกัน

     นายพอล แชมเบอร์ส นักวิชาการด้านเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อาจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ ตามคำขอของกลุ่มชนชั้นสูงเพื่อเปิดทางสู่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 

     ขณะที่ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ รายงานบทสัมภาษณ์ความเห็นนายพอล กวายา นักวิเคราะห์ ความเสี่ยงทางการเมือง ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นสภาพนั้นเหตุผล "ค่อนข้างอ่อน" และสำหรับผู้สนับ สนุนรัฐบาลแล้วย่อมมองว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการเกินขอบเขต และเป็นการขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

     ด้านเอพีระบุว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญและการทำหน้าที่ของป.ป.ช.นั้น ทำให้ความศรัทธาในกฎหมายของประชาชนเสื่อมลง และการบุกยึดสถานีโทรทัศน์หลายแห่งในกรุงเทพมหานครของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการชุมนุมใหญ่บริเวณถนนอักษะของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 10 พ.ค. ก่อให้เกิดความกังวลว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเกิดขึ้นหรือไม่

     ส่วนนิวยอร์กไทมส์เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมี คำสั่งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการว่า นอกจากคำพิพากษา ดังกล่าวไม่ช่วยให้เกิดความสงบแล้ว กลับทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่มวลชนจากทั้งสองฝ่ายจะเผชิญหน้ากัน รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และนำพาประเทศไทยเข้าสู่ความขัดแย้งที่ลึกขึ้น ก่อนระบุว่า การประท้วงจากมวลชนทั้งสองฝ่ายจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ เพราะสิ่งที่ประเทศไทยต้องการคือการประนีประนอมและการปรองดอง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!