- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 26 July 2014 09:13
- Hits: 4003
วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8641 ข่าวสดรายวัน
ขอวางใจคสช.ใช้อำนาจ 'บิ๊กตู่'อ้อน ขู่ฟันอ้างชื่อวิ่งเต้นสนช.-สปช. จาตุรนต์แนะหลีกเลี่ยง'ม.44'อุ๊งอิ๊งโชว์รูปทักษิณ-ยิ่งลักษณ์
ชื่นมื่น - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองอดีตนายกฯ ของไทย พร้อมด้วยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถ่ายรูปร่วมกันระหว่างรับประทานอาหารที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
'บิ๊กตู่'อ้อน ขอวางใจคสช.ใช้อำนาจ แจงยิบรธน.ให้อำนาจเพื่อดูแลไม่ให้เกิดปัญหา ยันไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เตือนอย่าหลงเชื่ออ้างคสช.ขอผลประโยชน์แลกวิ่งเต้นเก้าอี้ จาตุรนต์แนะเลี่ยงใช้ ม.44 ชี้ขัดหลักนิติธรรม อำนวยฝากคสช.ใช้กม.เท่าเทียม อุ๊งอิ๊งโพสต์ภาพคู่แม้ว-ปู ปชป.จี้ทบทวนให้อำนาจผบช.ภ.เหนือผู้ว่าฯ โวยคสช.ส่อทำถอดถอนปู-ขุนค้อน-นิคม ที่พรรคร้องต่อป.ป.ช.ล่ม
เสธ.ทบ.นั่งปธ.ประชุมคสช.
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบให้พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก ในฐานะ ผอ.ส่วนรักษาความสงบ คสช. เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการทำงานของคสช. ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าการทำงานทุกส่วนงานและแผนดำเนินการขั้นต่อไป อาทิ ฝ่ายความมั่นคง รายงานการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ว่าก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเบ็ดเสร็จเพิ่มเติมอีก 15 แห่ง ในจังหวัดที่ติดชายทะเล รวมถึงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน และการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรณ์ปกครองส่วนท้องถิ่น
ฝ่ายเศรษฐกิจรายงานการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เสนอหัวหน้า คสช.เรียบร้อยแล้ว โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการช่วยเหลือ และกระทรวงการคลังมีนโยบายปล่อยเงินกู้ ถือเป็นต้นแบบการปลดหนี้ให้กับชุมชน รวมทั้งการขออนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรภายใต้งบฯ กว่า 6,700 ล้านบาท ล่าสุด ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าภายใน 31 ก.ค.นี้จะเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรได้ทั้งหมด ส่วนฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า สัปดาห์หน้าจะเสนอร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เข้าที่ประชุมใหญ่ คสช. 12 ฉบับ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดแรกต่อไป
ย้ำแผนแม่บทดูแล "ป่าไม้"
พล.อ.อักษรา กล่าวในที่ประชุมว่า หัวหน้า คสช.เน้นย้ำการจัดทำแผนแม่บท หรือโรดแม็ป ป้องกันแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้หน่วยรับผิดชอบทั้งกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สรุปแผนแม่บทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นรายละเอียดว่าด้วยการป้องกันการบุกรุกเพิ่มเติม การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบค้าซากสัตว์ การฟื้นฟูผืนป่า รวมถึงการคุ้มครองตามอนุสัญญา ไซเตสว่าด้วยเรื่องของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังระบุด้วยว่าในส่วนงานขึ้นตรงหัวหน้า คสช. โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งดำเนินการตามคำสั่งการของหัวหน้า คสช. ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการระบายผลผลิตการเกษตร คือมังคุด ที่ผลิตออกมาแล้วกว่า 6,100 ตันและลองกองที่ออกมามากกว่า 10,400 ตัน โดยให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแม่งานหลัก ฝ่ายสังคมจิตวิทยาดูแล เน้นการกระจายรับสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทางทั่วประเทศด้วย
วิษณุแจงยุบองค์กรอิสระ
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. กล่าวถึงข่าวการยุบองค์กรอิสระว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดกรอบให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนความจำเป็นว่าควรใส่องค์กรอิสระอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง เพราะที่ผ่านมาอาจมีหลายองค์กรที่ไม่มีความจำเป็นมากนัก แค่ออกเป็นกฎหมายธรรมดารองรับก็พอ ทั้งนี้การพิจารณายุบหรือเลิกเฉพาะในส่วนที่คสช.มีคำสั่งประกาศไปแล้ว ส่วนที่ยังไม่มีก็ดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พบว่า 7 องค์กรอิสระที่อยู่ในข่ายประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, องค์กรอัยการ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 7 หน่วยงาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะหัวหน้าส่วนงานกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้เรียกไปสอบถามปัญหาและอุปสรรคการทำงานที่ผ่านมาแล้ว
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือปปง. เปิดเผยว่า ปปง.เตรียมเสนอ คสช. แก้ไขกฎหมายให้การบริหารจัดการ ปปง. เป็นไปโดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจากฝ่ายการเมืองโดยรมว.ยุติธรรม ทั้งนี้ไม่ใช่การเพิ่มอำนาจให้ ปปง. หรือให้ ปปง.เป็นองค์กรอิสระ แต่เน้นการปรับโครงสร้างบริหารการทำงานให้เป็นอิสระ พร้อมเพิ่มบุคคลากรทำหน้าตรวจสอบธุรกรรมจากสถาบันทางการเงินทั่วประเทศ 2,000 คน
ปชป.จี้ทบทวนให้อำนาจผบช.ภ.
ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตส.ส.พรรค รวมถึงอดีตแกนนำกปปส. และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำคปท. เข้าร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้านายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่จะครบรอบ 76 ปีในวันที่ 28 ก.ค.นี้
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายปชป. ให้สัมภาษณ์กรณีคสช.มีประกาศฉบับที่ 115/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา โดยให้ผู้บัญชาการภาคเป็นผู้ชี้ขาดกรณีไม่แน่ใจว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกัน หรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สั่ง ผู้ว่าฯก็จะทำหน้าที่ถ่วงดุล แต่คำสั่งของคสช.กลับให้โอนอำนาจไปให้ผู้บัญชาการภาค ซึ่งตามปกติการถ่วงดุลที่ผ่านมาจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรค แต่ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการมีค่าตอบแทนสูง ขณะที่ ผู้ว่าฯไม่มีค่าตอบแทนอะไร
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้หัวหน้าคสช.น่าจะลงนามไปโดยได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงอยากให้ไปสอบถามจากม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเคยเป็นผู้ว่าฯหลายจังหวัด จะรู้ว่าอำนาจการดูแลประชาชนดีที่สุดคืออำนาจผู้ว่าฯ และอำนาจนี้จะช่วยดูแลชาวบ้านได้ เกิดประโยชน์มาก อำนาจถ่วงดุลจึงควรอยู่ที่ผู้ว่าฯ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก รู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนและลำบาก จึงอยากให้คสช.ทบทวนเรื่องดังกล่าวด้วย
โวยคสช.ส่อทำคดีปปช.ล่ม
นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายปชป.กล่าวว่า จากการติดตามคดีที่ปชป.ยื่นร้องต่อป.ป.ช. เพื่อถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และครม. รวมถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันเสนอและลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ปรากฏว่าบุคคลเหล่านี้อาจหลุดพ้นจากคดีถอดถอนที่มีโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูก คสช.ยกเลิก และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่มีบทบัญญัติใดมารองรับเกี่ยวกับเรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ 4 คดีที่ผ่านการชี้มูลความผิดจากป.ป.ช.แล้วและอยู่ในระหว่าง รอการพิจารณาถอดถอนของวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการต่อได้
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า และอีก 11 คดีที่อยู่ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.อาจทำให้นักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีจะหลุดพ้นจากการถูกถอดถอนโดยวุฒิสภาเดิม จึงอยากให้คสช.แก้ปัญหาในเรื่องนี้
จาตุรนต์ชี้ม.44 ขัดหลักนิติธรรม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้มีลักษณะขัดกันเอง โดยเฉพาะมาตรา 44 ใครเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม ใครมีอำนาจปลดนายกฯ หรือศาลมีอำนาจแค่ไหนอย่างไรตามที่บัญญัติไว้ย่อมขัดกับมาตรา 44 หรืออยู่ใต้มาตรา 44 อีกที อีกทั้งมาตรา 44 ก็บอกแล้วว่าคำสั่งของคสช.เป็นที่สุด ซึ่งบทบัญญัตินี้ ขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม ประเทศนี้มีกฎหมายแต่ทุกคนไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีคณะบุคคลที่อยู่เหนือกฎหมายหรืออยู่ในฐานะที่เป็นกฎหมาย ปัญหาต่อมา ใครคือผู้รับผิดรับชอบต่อการบริหารกิจการบ้านเมือง ครม. สภาต่างๆ ต้องรับผิดชอบแค่ไหนอย่างไร รวมทั้ง คสช.จะรับผิดชอบแค่ไหนต่อใคร ดังนั้น การปกครองในระบบนี้ไม่ได้ยึดหลักแบ่งแยกอำนาจ ไม่มีความชัดเจนของการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรที่สาธารณชนจะเข้าใจและมีส่วนร่วมด้วยได้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คสช.อาจศึกษาการวางระบบอำนาจลักษณะนี้จากอดีต โดยนำมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาทำให้เข้มข้นและชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งที่ภาพสังคมปัจจุบันต่างจาก 50 ปีแล้ว ขอแนะนำให้ คสช.หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และเปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีและมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปอย่างเต็มที่ ส่วนการบัญญัติให้ คสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นเรื่องยากมากที่จะป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจตามใจและการทุจริตของผู้นำรวมทั้งบริวาร ที่เป็นต้นเหตุของความเสียหายต่อบ้านเมือง ดังนั้น การนำระบบหรือเครื่องมือในอดีตมาใช้ในปัจจุบันต้องศึกษาทั้งความสำเร็จและความ ล้มเหลวที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย
อำนวยฝากคสช.ใช้กม.เท่าเทียม
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่อยากให้ทุกฝ่ายวิตกกังวลการทำหน้าที่ของคสช.มากเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรา 44 ไม่น่าจะมีอะไร เป็นการยึดความมั่นคงเอาไว้ก่อน ถ้าปล่อยไปอาจเกิดปัญหาเหมือนในอดีต จึงอยากให้ดูไปก่อน ปล่อยให้ คสช.ทำให้เต็มที่ ไม่อยากให้วิจารณ์มากจนเกิดการชะงักงัน สิ่งที่อยากฝากถึงคสช. รวมถึงองค์กรอิสระ และสนช. คือเรื่องความยุติธรรม เสมอภาคทางกฎหมาย อยากให้บังคับใช้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่า นปช. หรือ กปปส.
"ที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกป.ป.ช.ดำเนินคดี แต่อีกฝ่ายกลับไม่มีเลย แบบนี้อาจเกิดความสงสัยเคลือบแคลงและเป็นปัญหาต่อการเดินไปสู่ความปรองดอง อีกเรื่องที่เป็นห่วง คือเมื่อมีสนช.แล้วคดีความต่างๆ เช่น เรื่องที่ค้างอยู่ในป.ป.ช. จะส่งให้ สนช.ตัดสินหรือไม่ จึงอยากฝากเรื่องความเป็นธรรม" นายอำนวยกล่าว
"การุณ"ลาบวช 26 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายการุณ โหสกุล อดีตส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย หลังถูก คสช.เรียกรายงานตัวได้เก็บตัวเงียบ กระทั่งวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมภาพถ่ายคู่กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
นอกจากนั้นนายการุณยังโพสต์ข้อความว่า กราบลาอุปสมบท ที่ผ่านมาตนไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ลูกผู้ชายไทยที่เป็นชาวพุทธให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากต้องทำงานต่อสู้ชีวิตตั้งแต่วัยรุ่นเพราะครอบครัวยากจน ตอนนี้ขอทำหน้าที่ทดแทนคุณให้แม่และผู้มีพระคุณ จะตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 9 วัน และขอกุศลผลบุญนี้ส่งถึงเพื่อนทุกคนด้วยความเต็มใจ อย่างไรก็ตาม นายการุณเข้าอุปสมบทในวันที่ 26 ก.ค.ที่วัดดอนเมือง
อุ๊งอิ๊งโพสต์ภาพคู่แม้ว-ปู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ลูกสาวคนเล็กของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว เป็นภาพที่น.ส.แพทองธารกำลังซบไหล่พ.ต.ท.ทักษิณ บิดา ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังเกาะแขนพ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส นอกจากนี้น.ส.แพทองธารโพสต์รูปคู่กับด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศแถบยุโรปเป็นวันที่ 2 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์และด.ช.ศุภเสกข์ บุตรชายนั้น ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพ.ต.ท.ทักษิณ นางเยาวเรศ ชินวัตร พี่สาว และน.ส.แพทองธาร ที่โรแรมที่พัก และรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว โดยมีคนใกล้ชิดเดินทางไปพบบ้าง โดยวันที่ 26 ก.ค.ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นจะมีการจัดงานขึ้นภายในเฉพาะบุคคลในครอบครัวและคนใกล้ชิด ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส
ฮิวแมนไรต์วิจารณ์รธน.ชั่วคราว
วันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ฮิวแมนไรต์วอตช์ เผยแพร่บทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ของนายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรต์วอตช์ โดยระบุว่า คณะที่ปรึกษาของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ขึ้นโดยปราศจากการหารือใดๆ กับสาธารณะ แทนที่จะปูทางไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย กลับให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบพวกตนเองที่สามารถทำอะไรได้แทบทุกอย่างตามต้องการ ซึ่งรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องรับผิด
นายแบรดระบุอีกว่า คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 และ 47 ในการจำกัด ระงับ หรือยับยั้งการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามอำนาจที่กว้างขวางเช่นนี้ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากฝ่ายตุลาการ หรือสถาบันอื่นใด หัวหน้า คสช. เพียงแค่ต้องรายงานการดําเนินการต่อประธานสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ และนายกฯ เท่านั้น
ชี้กำลังสร้างการเมืองแบบปิด
นายแบรดระบุด้วยว่า ส่วนมาตรา 6, 30 และ 32 ได้สร้างระบบการเมืองแบบปิด และไม่เป็นประชาธิปไตย โดยคสช.เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำการหารือใดๆ กับสาธารณะ หรือต้องผ่านการทำประชามติ ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการสร้างความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และการปฏิรูปในด้านต่างๆ
นายแบรด ระบุอีกว่า มาตรา 8 และ 33 กำหนดข้อห้ามอย่างกว้างๆ ไม่ให้ผู้ที่ดํารง ตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรค การเมืองภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาสามารถเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สมาชิก คสช. ทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อกำหนดเช่นนี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่พล.อ.ประยุทธ์จะรับตำแหน่งเป็นนายกฯ ในขณะที่ยังคงมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าหากเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น
ห่วงคนไทยถูกละเมิด
นายแบรด อดัมส์กล่าวว่า ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ฮิวแมนไรต์วอตช์ได้เก็บบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยคสช. ที่ได้ปิดกั้นการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ควบคุมตัวบุคคลต่างๆ มากกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตั้งข้อหาความผิด ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ และออกคำสั่งที่มีลักษณะกดขี่ข่มเหงต่อนักกิจกรรม และกลุ่มรากหญ้า ซึ่งมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
นายแบรด อดัมส์ กล่าวอีกว่า คำกล่าวอ้างของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และการปกครองโดยพลเรือนนั้น เป็นฉากบังหน้าให้ควบคุมอำนาจต่อไป บรรดานายพลกำลังทำผิดคำสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย
ปลัดกต.แจงฮิวแมนไรต์วอตช์
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีฮิวแมนไรต์วอตช์ เรียกร้องให้ไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพราะให้อำนาจกับทหารโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า โดยหลักการแล้วกฎหมายทุกประเทศจะมีมาตราที่เผื่อเอาไว้สำหรับสถาน การณ์ที่อาจกระทบกับความมั่นคงของประเทศ ขอให้ฮิวแมนไรต์วอตช์เข้าใจสถานการณ์ในไทยว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องการความสงบและเสถียรภาพ
นายสีหศักดิ์กล่าว อำนาจดังกล่าวมีภายใต้กฎหมายทุกประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาใช้ เว้นแต่เกิดสถาน การณ์จำเป็นจริงๆ จึงอยากให้เข้าใจบริบทการเมืองไทย และอย่าด่วนสรุป เพราะยังไม่มีการใช้อำนาจใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้มองภาพรวมในอนาคตว่าไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะการมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามแผนโรดแม็ปที่วางไว้คือการมีสนช. สปช. และมีรัฐบาลชั่วคราวก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง
กกต.พร้อมหนุนสรรหา"สปช."
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า แนวโน้มรัฐธรรม นูญฉบับใหม่อาจมีการขยายระยะเวลาให้อำนาจกกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจากเดิม 30 วันมาเป็น 60 วัน เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยสำนวนคำร้องและการให้ใบเหลืองใบแดงได้มากขึ้น
นายสมชัยยังกล่าวถึงการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าในฐานะองค์กรนิติบุคคลและองค์อิสระที่เชื่อมโยงกับการปฏิรูปการเมืองจะใช้สิทธิ์เสนอชื่อบุคคล 2 รายชื่อ เพื่อเข้าสมัครรับการสรรหาเป็นสปช. ส่วนจะเป็นบุคคลภายใน กกต.หรือบุคคลภายนอกต้องรอมติที่ประชุม กกต.พิจารณาอีกครั้งก่อน นอกจากนี้เห็นว่าพรรคการเมืองในฐานะองค์กรนิติบุคคลก็ควรเสนอชื่อบุคคลเข้ารับสรรหาเพื่อเข้าร่วมเป็นสปช.ด้วย แต่การประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อลงมติเสนอชื่อบุคคล ควรรอให้คสช.ผ่อนปรนประกาศที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองจัดการประชุมหรือ เคลื่อนไหวทางการเมืองก่อน ขณะเดียวกันกกต. ได้ทำหนังสือสั่งการไปยังกกต.จังหวัด ให้เตรียมการทำหน้าที่เป็นเลขานุการ สนับ สนุนคณะกรรมการสรรหาสปช. ในระดับจังหวัดแล้ว
บิ๊กตู่แจงไม่ได้ละเมิดสิทธิ์
เมื่อเวลา 20.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า สัปดาห์นี้มีเรื่องน่ายินดี และเป็นที่ปลาบปลื้มของคนไทย คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทำให้การแก้ปัญหาของคสช.เดินตามโรดแม็ป ระยะที่ 2 ได้ตามกำหนด ทั้งนี้หัวหน้า คสช.ได้รับพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ารับพระราชทาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คสช.อยากเรียนให้ต่างประเทศเข้าใจว่า เรามิได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เราไม่มีนโยบายให้เกิดการทำร้าย ทารุณอย่างรุนแรงต่อศักดิ์ศรีมนุษย์ การฆ่า การทรมาน การข่มขืน แต่ในสภาวะไม่ปกติเช่นนี้ เรามีความจำเป็นในบางเรื่องที่อาจส่งผลกระทบอยู่บ้างต่อสิทธิ์ของประชาชน เช่น การกำหนดให้สื่อระมัดระวังการเสนอข่าว ส่วนการมีมาตรการการเดินทางนอกประเทศของบางคน คสช.อยากขอให้ทุกคน โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์ ปกป้องประชาชนและความมั่นคงของรัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปในขณะนี้
เตือนอ้างคสช.ขอผลประโยชน์
หัวหน้าคสช.กล่าวต่อว่า การเรียกร้องผลประโยชน์ในการแต่งตั้งบอร์ด สนช. รัฐบาล พูดหลายครั้งแล้วยังมีอยู่ ทราบแล้วว่าใครเป็นคนไปเรียกร้อง ยืนยันว่าคสช.ไม่มีทั้งสิ้น และกำลังหาวิธีดำเนินการตามกฎหมาย ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว และผู้ที่เคยเสียเงินเสียทองให้ไปให้เรียกคืนโดยทันที มิฉะนั้นอาจเสียเงินเปล่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคสช.นั้น คสช.จะตรวจสอบโดยคณะกรรมการของคสช. ทั้งประวัติส่วนตัว ผลการปฏิบัติงาน การทุจริตคอร์รัปชั่น การถูกฟ้องร้องหรืออยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง จะตรวจสอบทั้งหมด ไม่ใช่รับรายชื่อมาจากผู้ใดแล้วแต่งตั้ง ไม่ใช่แบบนั้น หากแต่งตั้งไปแล้วตรวจพบความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ปลดออกเช่นกัน
หัวหน้าคสช.กล่าวด้วยว่า กรณีการเรียกรับผลประโยชน์ในโครงการที่ คสช.ได้อนุมัติไปของทุกกระทรวง ทุกระดับไม่ว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการก่อสร้าง การบริหารจัดการน้ำ มีการอ้างว่าเคลียร์กับคสช.และหัวหน้าคสช.ได้ มีการแบ่งการเรียกรับผลประโยชน์ให้กับคสช. ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ขอให้แจ้ง คสช.ทราบโดยทันที คสช.จะดำเนินการโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องช่วยกันดูแล ทำให้โปร่งใส ปัจจุบันคสช.มีคณะกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน และแต่ละกระทรวง ทบวง กรม จะมีความรับผิดชอบตามลำดับชั้นลงไป จะต้องไม่มีเด็ดขาดในเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์
ยันไม่คิดใช้อำนาจคุมสื่อ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การตรวจโกดังข้าว คสช.ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดำเนินคดี ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการตรวจสอบดำเนินคดีของป.ป.ช. ปัจจุบันคณะทำงานเข้าตรวจสอบปริมาณข้าวแล้ว 836 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.78 จากจำนวนคลังหรือโกดังทั้งหมด 1,787 แห่ง พบว่ามีสภาพปกติ 685 แห่ง ผิดปกติ 126 แห่ง เช่น เสื่อมสภาพ ชนิดที่มาไม่ตรงตามบัญชี มีข้าวชนิดอื่นปลอมปน มีมอด สิ่งเจือปนในข้าวค่อนข้างมาก ส่วนการระบายข้าว คสช.เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เสนอกำหนดเป้าหมายระบายข้าวในสต๊อก 18 ล้านตันให้ได้ภายใน 3 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องสื่อ ขอขอบคุณที่เข้าใจกัน ขอให้ผู้รับผิดชอบแต่ละสมาคมดูแลกัน อย่าให้มีการล่วงละเมิดโดยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่เป็นจริง หรือให้ข่าวโดยไม่มีหลักฐาน อยากให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวอ้าง ทั้งนี้คสช.ไม่ได้มุ่งหวังใช้อำนาจควบคุมสื่อ และขอให้สื่อสมาคมนักข่าวไทย นักข่าวต่างประเทศเข้าใจการปฏิบัติงานของ คสช.ในระยะที่ 2 จำเป็นต้องเกิดความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด หากไม่มีเจตนาให้ร้าย วิพากษ์วิจารณ์เกินกว่าเหตุ เจตนาไม่บริสุทธิ์ก็คงไม่มีใครไปทำอะไรได้ และแผนงานในระยะที่ 2 ก็มีการปฏิรูปสื่อมวลชนทุกแขนง สื่อต้องเข้ามาช่วยเหลือร่วมกันด้วย
ชี้มีถ่วงดุลอำนาจทั้งรบ.-คสช.
หัวหน้าคสช.กล่าวว่า เรื่องการมีรัฐ ธรรมนูญชั่วคราว เราจำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่แต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า คสช. พยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ไม่ได้มุ่งใช้อำนาจทำร้ายใคร แต่ใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ความสงบสุขให้กับประชาชนและบ้านเมือง ดังนั้นทุกฝ่ายน่าจะร่วมมือกับคสช.ทำงาน อย่ามองเฉพาะประชาธิปไตยอย่างเดียว ถ้ามองเฉพาะเรื่องนั้น จะไปเรื่องอื่นไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้เกิดเหมือนในอดีต เราต้องร่วมมือกันเพื่อเดินไปในวันข้างหน้า ตรงนี้ถือเป็นการบริหารงานของรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนน่าจะสบายใจที่มีการถ่วงดุล ดูแลทั้งรัฐบาลและคสช. ซึ่งจะมีอำนาจที่เข้มแข็ง สร้างความสงบเรียบร้อยต่อสังคมและตรวจสอบความโปร่ง ใสในการปฏิบัติหน้าที่ วันนี้เป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ถ้าปกติคงเลิกทั้งหมด วันนี้แค่ลดความรุนแรงลงมาพบปะหารือพูดคุยกันเนื่องจากยังมีคนต่อต้านอยู่มีการสร้างความเข้าใจผิด บิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งในและต่างประเทศ คสช.พยายามชี้แจงแต่ยังมีคนที่ไม่เข้าใจอยู่ และอยากขอร้องให้เลิก เพราะการตรวจสอบในเรื่องขบวนการยุติธรรมยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง องค์กรอิสระยังทำอยู่ใครจะผิดจะถูกก็ว่ากันตรงนั้น
ปัดรังแกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หัวหน้า คสช.กล่าวว่า หากจะหาว่าเราไปรังแกคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขอให้ดูว่าเขาทำ ความผิดจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ถ้าจริงต้องถูกดำเนินคดี ให้เวลาสอบสวน พิสูจน์ทราบให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรม ไม่มุ่งหวังใช้อำนาจทำลายล้างใคร ให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำ ถ้าไม่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมปกติดำเนินการคงมีข้อขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก วันนี้ถ้าเราต้องการจะทำลายจริงคงลงโทษไปแล้วในฐานะเป็นรัฏฐา ธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจมาก แต่เราไม่ได้ใช้ ดังนั้น อย่าใช้ความรู้สึกอย่างเดียวเพราะวันข้างหน้าต้องอยู่ร่วมกันอีก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คสช.จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่รอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการ ทุกฝ่ายต้องยอมรับในกฎกติกาสังคม ซึ่งกฎหมายมีไว้เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ผู้กระทำความผิดจริงต้องถูกลงโทษ
"คสช.อยากให้ประชาชนและสังคมไทยนึกถึงประเทศชาติให้มาก มากกว่าความโกรธเกลียดกัน จนลืมไปว่าตัวเราและลูกหลานในอนาคตจะอยู่อย่างไร ถ้าเรายังทะเลาะเบาะแว้ง อาฆาตเคียดแค้นกัน ดังนั้น ต้องว่าด้วยข้อกฎหมายดีกว่า" หน.คสช.กล่าว
ขอความไว้วางใจในการใช้อำนาจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไม่ว่า คสช.จะมีอำนาจมากเท่าใด หากผู้ใช้อำนาจนั้นใช้กระทำสิ่งดีๆ เกิดประโยชน์กับคนไทย ประเทศไทย ก็ไม่ต้องกังวล ถ้าเราไว้ใจผู้บริหารประเทศหรือผู้ที่จะมาอยู่ในกระบวนการใช้อำนาจทุกคน ในขณะนี้มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม จริยธรรม โปร่งใส มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเข้ามาแล้วไม่ดี ไม่ทำประโยชน์ไม่โปร่งใส สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ฉะนั้นขอความไว้วางใจกับการใช้อำนาจของ คสช.
หัวหน้า คสช.กล่าวว่า เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินในระยะที่ 2 เมื่อเรามีนายกฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สนช. สปช. เราคงปฏิบัติงานในกรอบอำนาจเต็ม คือใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผ่านครม. สนช. กระบวนการยุติธรรม โดยปฏิรูปในเรื่องสำคัญควบคู่ไปด้วย และกำหนดให้ผลการปฏิรูปมีผลในทางปฏิบัติในระยะสั้นคือทันที บางอย่างต้องระยะกลางหรือ 1 ปีที่มีรัฐบาล ระยะยาวส่งต่อรัฐบาลต่อไป วันนี้ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันตกลงใจและเห็นชอบร่วมกันจะหาข้อยุติลงได้ ไม่ส่งผลร้ายในอนาคต มิฉะนั้นการเรียกร้อง ต่อสู้ ล้มตายของประชาชนและเจ้าหน้าที่และการปฏิบัติงานของ คสช.จะสูญเปล่าไปอีกเหมือนเดิม บ้านเมืองกลับสู่วงจรเดิม
เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การมีสนช. สปช.เพื่อให้การปฏิรูปดำเนินการได้อย่างแท้จริง ทุกอย่างมีเวลาจำกัดตามที่ประกาศไว้ในโรดแม็ป หากไม่สามารถเดินได้ตามนั้นจะทำให้ยืดยาวออกไปอีก เราไม่ต้องการแสวงหาอำนาจเป็นเวลานาน ทุกอย่างจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ คสช.ฝ่ายเดียว เราพยายามทำงาน แก้ปัญหา แต่การช่วยให้ประเทศเดินต่อไปทุกคนต้องร่วมมือกับเรา รับฟังความคิดเห็นร่วมกัน อย่าไปวิเคราะห์วิจารณ์กันเองหรือกลัวอะไรที่ยังมาไม่ถึง ถึงวันข้างหน้าถ้าเกิดอะไรไม่ดีก็แก้ไขทันที สรุปว่าต้องมีการแก้ไข ฉะนั้นอยากขอความร่วมมือกับทุกคนให้ช่วยกันนำบ้านเมืองสู่ความสงบ สู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
"หากเกิดความวุ่นวาย ไม่โปร่งใสอีก ผมไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ซึ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาอีกแล้ว คราวนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้องร่วมมือกันให้มากที่สุด เป็นช่วงสำคัญของไทย กรุณาอย่าเรียกร้องอะไรมากนักในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งโดยใช้รัฐธรรม นูญฉบับถาวร ซึ่งจะต้องร่างขึ้นมาใหม่ในระยะที่ 2 ให้ทันเวลาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และเกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่ทุกฝ่ายต้องการ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
หน.คสช.กล่าวด้วยว่า ตลอด 2 เดือนจากวันที่ 22 พ.ค.ถึงวันที่ 22 ก.ค. คสช.ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคนไทยทุกภาคส่วน ขอขอบคุณแกนนำม็อบทุกฝ่ายที่ยุติการเคลื่อนไหว และเตรียมตนเองในเรื่องการปฏิรูปและการเมืองในอนาคต หวังว่าจากนี้ไป คสช.จะได้รับความร่วมมือเช่นเดิม หรือมากกว่าเดิม ทั้งด้านปรองดองสมานฉันท์ การปฏิรูป และการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ผ่านพ้นเมฆหมอกที่บดบังความเจริญก้าวหน้าของประเทศมายาวนาน เพื่อมอบอนาคตที่ดีงามให้กับลูกหลาน คสช.ยืนยันไม่ได้มุ่งหวังมีอำนาจหรือแสวงหาผลประโยชน์ใดทั้งสิ้น