- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 09 May 2014 21:52
- Hits: 5364
วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8563 ข่าวสดรายวัน
สหรัฐจี้ไทย-เลือกตั้งแก้วิกฤต ยูเอ็นย้ำ ยึดปชต. มูดีส์ห่วง ศก.ทรุด!
ปมศาลรธน.เชือด 'ยิ่งลักษณ์'พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ถูกจับตาไปทั่วโลก โฆษกกระทรวง ต่างประเทศสหรัฐ มหาอำนาจพญาอินทรี แถลงเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายในไทยแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี รวมถึงเร่งจัดเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ชี้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของความแตกต่างทาง การเมือง 'บัน คีมุน'เลขาธิการยูเอ็น วอนคนไทยหันหน้ามาพูดคุยเจรจาเพื่อปลดล็อกวิกฤตอย่างสร้างสรรค์ เคารพหลักปชต. กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน ขณะที่ 'มูดีส์'ชี้ศก.ไทยได้รับผลกระทบแน่ หวั่นเกิดเหตุรุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่มหนุนและต้านรัฐบาล ด้านสื่อนอกจับตาบทบาทตุลาการภิวัฒน์
ยูเอ็นเรียกร้องไทยเจรจา
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เว็บไซต์สหประชาชาติ www.un.org รายงานว่า ในวันนี้นางวานนินา มาเอสตราซี โฆษกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวประจำวันที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า นายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็น รับทราบกรณีศาลรัฐธรรมนูญของไทยวินิจฉัยให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีก 9 คนก็พ้นจากตำแหน่งไปเช่นกัน และเลขาฯ ยูเอ็น ร้องขอให้ทุกฝ่ายในประเทศไทยหันมาร่วมมือกันเพื่อทางออกผ่านการเจรจาพูดคุยอย่างสร้างสรรค์
"ท่านเลขาธิการจะยังคงติดตามสถาน การณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีความหวังว่าทุกฝ่ายจะใช้ความอดทนอดกลั้นถึงที่สุดและแสดงจุดยืนที่เคารพต่อกระบวนการประชาธิปไตย หลักกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน" นางมาเอสตราซีกล่าว
สหรัฐจี้-เร่งจัดเลือกตั้ง
วันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ถ้อยแถลงของ น.ส.เจน ซากี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ถึงสถานการณ์การเมืองในไทย กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้ไทยใช้หนทางแห่งสันติในการแก้ปัญหา รวมถึงเร่งจัดเลือกตั้งใหม่เพื่อดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย
น.ส.ซากีระบุว่า สหรัฐติดตามสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรี 9 คนพ้นสภาพจากตำแหน่งในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบเมื่อปี 2554 สหรัฐยังคงยืนกรานเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยในการแก้วิกฤตการเมืองร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้เลือกผู้นำทางการเมืองตามที่สมควรได้รับ สำหรับการรักษาหลักการประชาธิปไตยนั้น ทางออกต้องรวมถึงการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สหรัฐขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ขอยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนทางแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางการเมือง
'มูดีส์'ชี้ฟัน'ปู'กระทบศก.
ด้านเว็บไซต์มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของสหรัฐ เผยแพร่รายงานความเห็นเรื่อง "Thailand Court Decision to Remove Prime Minister Is Credit Negative." เนื้อหาระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์พ้นสภาพว่าเป็นผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้วิกฤตทางการเมืองขยายวงลากยาวออกไป น่าวิตกว่าอาจมีความรุนแรงตามมาจากการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากวิกฤตในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมากระทบถึงความเชื่อมั่นทั้งของ นักลงทุนและผู้บริโภคมาแล้ว รัฐบาลไม่สามารถใช้งบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคได้ สถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลกระทบด้านลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อย่างแน่นอน
มูดีส์ ยังกล่าวว่า ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของไทยได้รับผล กระทบจากภาวะทางการเมืองแล้ว โดยในปี 2556 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 2.9 ต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ในปี 2555 กว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 3.8 เกือบร้อยละ 1 ทำให้คาดการได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.7 และในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.2
หุ้นแดงทั้งกระดาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. เมื่อเปิดตลาดดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงทันทีกว่า 10 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอาจเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอีก 9 คน พ้นจากการทำหน้าที่ ขณะที่นักลงทุนได้ติดตามการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจำนำข้าวในวันเดียว กัน ทำให้ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องตลอดวัน กระทั่งมาปิดตลาดที่ 1,379.02 จุด ลดลง -23.59 มูลค่าการซื้อขาย 39,734.07
สื่อนอกจับตาตุลาการภิวัฒน์
สื่อมวลชนชั้นนำของโลกต่างรายงานวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น วอลล์สตรีต เจอร์นัล ของสหรัฐ เผยแพร่บทความชื่อ "กลุ่มชนชั้นสูงของไทยที่เป็นทางตัน รอยัลลิสต์ผู้ไม่เคยชนะการเลือกตั้งวางแผนตุลาการภิวัฒน์" ระบุว่า กลุ่มรอยัลลิสต์ใช้กำลังต่อต้านระบอบประชาธิปไตยของไทยอีกครั้ง หลังน.ส. ยิ่งลักษณ์ถูกวินิจฉัยให้พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปีที่กระบวนการยุติธรรมจัดการกับผู้นำทางการเมือง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วยเหตุผลอันน่าเคลือบแคลง
วอลล์สตรีตฯ วิเคราะห์ว่า การแทรกแซงครั้งนี้เข้าข่ายให้รางวัลตอบแทนพฤติกรรมเลวร้ายของฝ่ายอนุรักษนิยม หลังเพิ่งตัดสินให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ก.พ.เป็นโมฆะ บรรดาแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนนำการประท้วงเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ด้วยข้อเสนอจัดตั้งสภาประชาชนที่จะเลือกจากคนในกลุ่มชนชั้นสูง
"หากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาล เป็นไปได้ว่าความขัดแย้งจะยุติชั่วคราวราว 2-3 ปี แต่ความสงบสุขของประเทศไทยยังคงไม่แน่นอน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นต่อแนวทางในอนาคตของประเทศต่างกัน พรรคเพื่อไทยที่ต่อยอดมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มชนชั้นสูงด้วยนโยบายสร้างพลังให้คนรากหญ้า ขัดกับนโยบายส่งเสริมระบบศักดินาของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับระบบยุติธรรมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบประชาธิปไตย คนไทยคงได้แต่หวังว่าจะมีผู้นำฉลาดพอจากกลุ่มรอยัลลิสต์ซึ่งตระหนักได้ถึงความไม่ถูกต้องและยุติการล้มล้างประชาธิปไตย แต่ ณ ปัจจุบัน กลุ่มชนชั้นสูงยังไม่พร้อมจะปล่อยวางสิทธิการปกครองประเทศไทยและยอมรับบทบาทของกลุ่มที่แตกต่าง" วอลล์สตรีตฯ ระบุ
ดร.ออสซี่เชื่อ-วิกฤตจบยาก
ด้านดร.จอห์น แบล็กซ์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยจากวิทยาลัยเอเชีย แอนด์ แปซิฟิก ออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ หลังการชุมนุมประท้วงไม่สามารถล้มล้างรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ลงได้ ซึ่งกองทัพหลีกเลี่ยงเข้ามาแทรกแซงด้วยเกรงว่าสถานการณ์จะยิ่งยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเมืองยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน เพราะมีความพยายามถอดถอนรัฐบาลออกจากตำแหน่งโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)