- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 13 August 2016 11:22
- Hits: 19810
นายกฯ วอนทุกฝ่ายร่วมมือรัฐบาลดูแลบ้านเมืองช่วงเตรียมเลือกตั้ง ยันจำเป็นต้องคง ม.44 อีกระยะ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทสไทย หลังได้รับรายงานผลการลงคะแนนประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอย่างเป็นทางการว่า อาจมีผู้สมหวังหรือผิดหวัง ถูกใจ หรือไม่ถูกใจร่างรัฐธรรมนูญและผลการออกเสียงประชามติ ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา แต่ขอทุกฝ่ายยอมรับผลดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าดูแลบ้านเมืองที่ยังมีปัญหาอยู่ต่อไป โดยย้ำความจำเป็นของการคงมาตรา 44 เพื่อสร้างอุ่นใจความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"การออกเสียงประชามติยุติลงแล้ว แต่ภารกิจของท่านและผมยังไม่ยุติ ขอให้เราทั้งหลายทิ้งความเห็นต่าง ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือ รับ ไม่รับ ไว้ในหีบลงคะแนนแล้วร่วมกันก้าวต่อไปข้างหน้า ภารกิจที่รอเราอยู่ยังมีอีกมากและอาจยากลำบากกว่าที่ผ่านมา นั่นคือการสร้างความเจริญรุ่งเรือง การปฏิรูปประเทศ การยุติความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองภายใต้กติกาฉบับใหม่"นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า เพื่อความเข้าใจ ความชัดเจน และความมั่นใจของประชาชน จึงขอรายงานให้ทราบถึงสิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้ไป ดังนี้
1. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชามติตามประเด็นคำถามพ่วงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความถูกต้อง เสร็จแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์เขียนร่างรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ลงในสมุดไทย ซึ่งที่จริงก็ได้เตรียมการไว้ก่อนบ้างแล้ว จากนั้นะได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงพิจารณาและลงพระปรมาภิไธยต่อไป ซึ่งจะใช้เวลารวมแล้วไม่เกิน 3 เดือน
2. เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มใช้บังคับ กรธ. จะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ โดยเฉพาะ 4 ฉบับแรก ซึ่งจำเป็นต่อการเลือกตั้งต้องสำเร็จลงก่อนฉบับอื่น ๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะจัดทำกฎหมายหลายสิบฉบับและเตรียมการอื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดคู่ขนานกันไป เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ระหว่างนี้ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามบทเฉพาะกาลจนกว่าองค์กรใหม่จะเข้ามารับช่วงตามกติกาที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3. การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและยากลำบากไม่น้อยไปกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีขั้นตอนมากเช่น ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบความถูกต้องด้วย แต่น่าจะเสร็จสิ้นจนประกาศใช้ได้ไม่เกินกลางปี 60 หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน ซึ่งก็คือช่วงปลายปี 60 อันยังคงเป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ หากสถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีความสงบสุขดังเช่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์บ้านเมืองโดยทั่วไปในขณะนี้ แม้จะดูว่ามีความสงบเรียบร้อยดี เพราะประชาชนยังคงใช้ชีวิตตามปกติ นักท่องเที่ยว นักลงทุนยังเดินทางเข้ามาตามปกติ การสนทนาปราศรัยกันไม่ต้องหวาดระแวงเหมือนเมื่อก่อนว่าใครอยู่ฝ่ายใด สิทธิเสรีภาพยังมีอยู่ทุกประการ แม้จะมีผู้บิดเบือนว่าถูกจำกัดตัดสิทธิ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าสุจริตและไม่ได้ทำผิดกฎหมายก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว ทุกคนยังสามารถกระทำการใด ๆ ก็ได้ ทั้งยังสามารถแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียนรัฐบาลได้ดังที่ท่านได้เห็นได้ยินทุกวัน
ที่สำคัญในช่วงเวลานี้ประเทศไทยยังได้รับความเชื่อมั่น การยกย่อง และการจัดอันดับในขั้นที่น่าพอใจในด้านต่าง ๆ จากนานาประเทศและประชาคมโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงเป็นไปตามปกติ รัฐบาลทุกประเทศให้เกียรติยกย่องประเทศไทย องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่ารัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล องค์กรอิสระ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยทำงานไม่ได้เหมือนดังสภาพบ้านเมืองเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557
แต่ทุกวันนี้ใช่ว่าบ้านเมืองของเราจะปราศจากปัญหาโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว เพราะยังมีผู้ไม่พอใจ หรือผิดหวังกับความปกติสุขเช่นนี้ ยังคงทำลายและทำร้ายประเทศ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่หยุดหย่อน อีกทั้งยังจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันอันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนอย่างรุนแรงโดยทางสื่อออนไลน์บ้าง ส่งข้อความเข้ามาจากต่างประเทศบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องดูแลมิให้ปัญหาเหล่านี้เป็นภยันตรายคุกคามความสงบสุขของประชาชน และความมั่นคงแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลขอยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐจะอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรม อย่างน้อยอำนาจของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปเพื่อให้ความอุ่นใจ สร้างความมั่นใจให้แก่พี่น้องทั้งหลายไปอีกระยะหนึ่ง จึงขอให้ผู้คิดร้ายต่อประเทศยอมรับนับถือกฎหมาย และคำนึงถึงพลังประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.นี้ด้วย
สำหรับ ช่วงเวลาที่การเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะมาถึงในอีกประมาณหนึ่งปีเศษนับจากนี้ ระหว่างเวลานี้รัฐบาลและประชาชนยังมีภาระหน้าที่ร่วมกันในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการพัฒนาประเทศต่อไปอีก ทั้งยังมีภารกิจยิ่งใหญ่ที่รอคอยอยู่และเป็นความหวังของชาติ เป็นทางรอดของบ้านเมือง นั่นคือการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนาน เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนความเคยชินเดิม ๆ เปลี่ยนกรอบความคิด เปลี่ยนวิธีการจากที่เคยทำมาหลายปี จึงไม่อาจสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาอันสั้น หากแต่ต้องลงมือดำเนินการคู่ขนานไปกับเรื่องอื่น ๆ และต้องค่อยทำค่อยไป ต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความขัดแย้งไปด้วย
รัฐบาลนี้ได้เริ่มทำสิ่งเหล่านี้มาแล้วตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยการจัดให้มีกฎหมายประมาณ 190 ฉบับ หลายฉบับเป็นกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจการค้าการลงทุน การปรับระบบภาษีอากร การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย และการปฏิบัติตามพันธะระหว่างประเทศ กฎหมายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประเทศชาติและประชาชนรอคอยมานานปี แต่ออกมาได้ยากในเวลาที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งสูง หรือรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติ
ทั้งได้ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ปรับโครงสร้างการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษา ปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการให้ทันกับยุคดิจิทัลและสามารถสนองความต้องการของประชาชน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดต่อกับทางราชการ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ตั้งกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือตั้งแต่ผู้เสียหาย โจทก์ พยาน จนถึงจำเลย ขจัดการทุจริตคอรัปชั่นโดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น แก้กฎหมายเพิ่มโทษ จัดตั้งศาลคดีทุจริต ตลอดจนจัดการกับคดีสำคัญ ๆ ที่ค้างคามายาวนานโดยเฉพาะคดีทุจริต ดำเนินการทวงคืนผืนป่าและที่ดินเพื่อเร่งนำมาคืนให้ประชาชนใช้ประโยชน์ เร่งรัดขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวางแนวทางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวเพื่อให้คนในชาติรู้เป้าหมายในการพัฒนาประเทศว่าเราจะเดินต่อไปในทิศทางใด ก่อนที่จะส่งให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งรับช่วงไปดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
"พี่น้องประชาชนทุกท่าน ปัญหาที่ท้าทายและหนักหน่วงยังรอเราอยู่ข้างหน้าอีกมาก ผมซาบซึ้งและขอขอบคุณในความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของท่านที่มีต่อ คสช. และรัฐบาล พลังประชามติครั้งนี้มีความหมายมากต่ออนาคตของประเทศ อย่างน้อยก็แสดงให้โลกรู้ว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยคิดอย่างไร ต้องการอย่างไรกับประเทศของตน พลังของประชาชนไม่อาจประมาทได้เลย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล จึงยิ่งต้องใช้ความพยายาม ทุ่มเทสติปัญญา และเวลาที่เหลืออยู่ให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนให้หนักขึ้น เพื่อให้สมกับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชน โดยยึดถือความสุจริต การมีธรรมาภิบาลและความไม่ประมาทในการใช้อำนาจหน้าที่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนข้อใดที่รัฐธรรมนูญรับรอง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้อยู่แล้ว
"ถ้าว่าตามตัวบทกฎหมายแล้ว รัฐบาลอาจดูเหมือนว่าเป็นผู้นำในการดำเนินการเหล่านี้ แต่โดยความเป็นจริง ทุกคนต้องเดินเคียงคู่ไปด้วยกัน เพื่อว่าเราทั้งหลายจะสามารถก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้บางคนจะยังมีความเห็นแย้ง หรือความเห็นต่างกันอยู่บ้างก็ตาม"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกฯ เตรียมแถลงโรดแมพหลังร่าง รธน.ผ่านประชามติ-ปัดข่าวร่วมพรรค 40 ส.ว.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในเย็นวันนี้เวลา 18.00 น.ตนเองจะแถลงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลต่อไป หลังจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลการทำประชามติร่างรัฐรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว
และในวัน(11 ส.ค.)กระทรวงการต่างประเทศ จะชี้แจงแนวทางการเดินหน้าของรัฐบาลตามโรดแมพต่อเอกอัครราชทูต ผู้แทนต่างประเทศ รวมทั้งจัดส่งเอกสารชี้แจงไปยังสถานทูตต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่ยกเลิกการใช้อำนาจมาตรา 44 แม้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านแล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุไว้ว่าอำนาจมาตรา 44 จะยังคงอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้เพื่อดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมือง เพราะคนบางกลุ่มไม่ยอมรับกฎหมายที่มีใช้อยู่ตามปกติ
สำหรับ กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช.แถลงข่าวจัดตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับทหารและเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า เป็นเรื่องของนายไพบูลย์ และเป็นการพูดคุยทางการเมือง ซึ่งตนเองไม่ใช่นักการเมือง จึงไม่ขอตอบ ส่วนตัวถือว่าไม่ขอพูด กรณีดังกล่าวถือเป็นการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งตนเองไม่ได้ปิดกั้น หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการปิดกั้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่าไปคาดเดาว่าจะมีการจดทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อรองรับให้ตนเองเข้าร่วม เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา แล้วแต่ใครจะดำเนินการจดทะเบียนพรรคก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง
"รัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้แล้วจะรีบร้อนไปทำไม ไม่ช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองเรียบร้อยขึ้นได้ แต่หากจดทะเบียนแล้ว บ้านเมืองเรียบร้อยไม่มีความขัดแย้งก็ทำได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ประธาน กรธ. คาดยกร่างกม.ลูกไม่ทันภายใน 2-4 เดือน เหตุต้องใช้เวลา-ไม่มีแนวคิดเซ็ท ซีโร่
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุให้ทำกฎหมายลูกที่สำคัญต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จภายใน 2-4 เดือนนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะการทำกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาพิจารณา แม้จะมีกฎหมายลูกฉบับเดิมใช้อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีบทเปลี่ยนแปลงต้องแก้ไขให้สอดคล้อง และต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นร่วมด้วย
"ลองคิดดูแม้แต่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยงบประมาณที่ต้องเข้าสภาทุกปียังได้เวลาพิจารณาถึง 90 วัน ดังนั้นการทำกฎหมายลูกต้องคิดให้รอบคอบ และต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย"
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กรธ.จะส่งจดหมายไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เตรียมเขียนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ปรับใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นอาจให้เวลาดำเนินการ 1-2 เดือน และให้ส่งกลับมายัง กรธ. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยอมรับว่าเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งตนเองคาดหวังว่าจะไม่มีผู้ใดทักท้วงว่าเป็นการทำร่างกฎหมายไว้ล่วงหน้า แต่หากมีคนทักท้วงตนเองจะสั่งให้หยุดดำเนินการทันทีแล้วกลับไปใช้เวลาทำร่างกฎหมายลูกให้เต็มจำนวน 240 วันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด
ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงประเด็นการขจัดส่วนได้ส่วนเสียต่อการพิจารณากฎหมายลูกฉบับใหม่ว่า ในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือรู้ตัวว่าจะได้รับเลือกเป็น ส.ว.ควรลาออกจากตำแหน่งภายใน 3 เดือนหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ เพื่อไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการพิจารณาร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะที่กรรมการในองค์กรอิสระที่จัดทำร่างกฎหมายลูกนั้น ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพื่อออกกฎหมายลูก แต่การจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ให้เขียนไว้ในร่างกฎหมายลูก ดังนั้นกรณีที่กรรมการในองค์กรอิสระจะพ้นตำแหน่งไปหรือไม่ ตนเองมองว่าจะใช้คุณสมบัติของกรรมการเป็นประเด็นหลักในการพิจารณา ส่วนคณะกรรมการองค์กรอิสระชุดใดจะพ้นตำแหน่งเป็นรายบุคคลหรือเป็นคณะกรรมการทั้งชุดนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
ประธาน กรธ. ยอมรับว่า มีความหนักใจต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ต้องบัญญัติเนื้อหาใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนด โดยเฉพาะกลไกที่ต้องออกแบบเพื่อให้การแบ่งกลุ่มของ ส.ว.ออกเป็น 20 กลุ่มเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิสมัครรับเลือก รวมถึงการดำเนินการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด มาถึงระดับประเทศ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองนั้นสามารถนำกฎหมายลูกที่มีอยู่มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ คือ การวางแนวทางให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง แต่ต้องไม่สร้างความลำบากให้พรรคการเมืองในกรณีที่ต้องเรียกสมาชิกทั้งหมดมาประชุม เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่จะให้พรรคการเมืองจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเซ็ทซีโร่นั้น กรธ.ไม่มีแนวคิด แต่หากถามว่าจะมีเงื่อนไขเป็นไปได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่การกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมือง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมีบทบัญญัติที่ปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้อยู่
โฆษก EU วิพากษ์ไทยจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกช่วงรณรงค์ประชามติรธน.
โฆษกของนางเฟเดริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงการณ์ เรื่อง การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เนื้อหาระบุว่า จากการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ประชาชนชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ได้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ได้มีข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นอย่างมากต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรวมไปถึงการห้ามจัดการอภิปรายและจัดการรณรงค์
"มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่การจำกัดเสรีภาพในปัจจุบันทั้งในด้านการแสดงออกและการชุมนุมนั้นถูกยกเลิกเพื่อให้สามารถมีกระบวนการทางการเมืองที่เปิดเผย มีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบ"โฆษก EU กล่าว
ทั้งนี้ ทางสหภาพยุโรปยังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลไทยสร้างสภาวะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลักทุกส่วนในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการอภิปรายอย่างมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันอย่างสันติเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายนี้
สหรัฐเรียกร้องไทยคืนอำนาจการปกครองให้รัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว
นางอลิซาเบธ ทรูโด โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ได้เรียกร้องให้ไทยคืนอำนาจการปกครองให้รัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการทำประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยมองว่ายังไม่ครอบคลุมและไม่ได้มีการอภิปรายกันอย่างเปิดกว้าง
นางทรูโด กล่าวว่า "เมื่อมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้ว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเดินหน้าคืนอำนาจการปกครองให้กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้"
นางทรูโด ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจำกัดเสรีภาพของพลเรือน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อที่ประชาชนไทยจะสามารถเข้าร่วมการอภิปรายอย่างเปิดกว้างและไม่ถูกจำกัด ในเรื่องของทิศทางการเมืองของประเทศในอนาคตข้างหน้า สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
อินโฟเควสท์