วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8639 ข่าวสดรายวัน


คสช.ชี้รธน.ไม่ห้าม บิ๊กตู่ควบ ตำแหน่งนายกฯโต้พี่เลี้ยงรัฐบาล-ยันม.44 เบากว่าม.17 เพื่อไทย-ปชป.ย้ำไม่ร่วมนั่งสภาปฏิรูป ปึ้งร่วมคณะปู-บินปารีสเบิร์ธเดย์แม้ว 


ต้อนรับ-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้าคสช.ต้อนรับพล.อ.ท.อึ้ง ชี เม็ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสิงคโปร์ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 23 ก.ค.

      ทีมกฎหมาย คสช.แถลงยิบรายละเอียด รธน.ชั่วคราว ระบุไม่ห้าม "บิ๊กตู่"นั่งนายกฯ คสช.ควบเก้าอี้รัฐมนตรี ได้ยันไม่ใช่"เปลือกหอย"รัฐบาล อ้างมาตรา 44 ไม่แรงตามมาตรา17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ต้องให้อำนาจพิเศษ คสช.ป้องกันยึดอำนาจซ้อน"มาร์คจี้หัวหน้า คสช.เคลียร์ให้ชัด"จาตุรนต์"เตือนอย่าใช้อำนาจเกินจำเป็นคาดมีสนช.ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ส่วนสปช.ช้าสุด 1 ต.ค.สรรหาได้ครบ 250 คน "วิษณุ" ปัดลุ้นเก้าอี้ประธานสนช.อ้างสุขภาพไม่ดี ศาลอนุมัติหมายจับ "อภิวันท์" ผิดมาตรา 112

คสช.แจงรายละเอียดรธน.

       เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ก.ค ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการแถลงความเป็นมาของการจัดทำและรายละเอียดและข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจนาน 30 นาที โดยมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวน การยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษา หัวหน้าคสช. นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช.เป็นผู้ชี้แจง

นายวิษณุกล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงเวลาที่ 2 ตามแผนและขั้นตอน (โรดแม็ป) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ประกาศไว้ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันครบกำหนด 2 เดือนพอดีในการเข้าครองอำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 19 คำว่าฉบับชั่วคราวหมายความว่าให้ใช้บังคับไปพลางก่อน คาดว่าจะมีเวลา 1 ปีบวกลบ ระหว่างรอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือฉบับที่ 20 เสร็จ กฎหมายลูกดำเนินการเสร็จ จะเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการจัดเลือกตั้งเพื่อคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยฯ โดยเชื่อว่าช่วง 1 ปีจากนี้ไปจะจัดการปัญหาที่ค้างคาและเป็นชนวนให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้สำเร็จ หรืออย่างน้อยในระดับหนึ่ง

"บิ๊กตู่"เลือกสนช. 220 คน

นายวิษณุกล่าวว่า ความจำเป็นในช่วง 1 ปีจากนี้ จะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดเสียงบ่นหรือเสียงวิจารณ์ว่าสิ่งที่ลงแรงทำมาในช่วง 2 เดือนนั้นสูญเปล่า เหตุนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 จึงจำเป็นต้องวางหลักการที่ดู เข้มงวดกวดขัน พะรุงพะรัง ยุ่งยากไปบ้างแต่ก็จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหมือนต้นทางหรือต้นสายแม่น้ำ 5 สายที่จะต้องเดินหน้า

แม่น้ำสายแรก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นเหมือนสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติในอดีต มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งหัวหน้าคสช.จะเป็นผู้คัดเลือก จะไม่มีการสมัคร หัวหน้า คสช.จะพิจารณาโดยอาศัยฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งจัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น ครอบ คลุมสาขาอาชีพ จังหวัดพื้นที่ คุณสมบัติสำคัญต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี มีสัญชาติไทย ไม่เคยดำรงตำแหน่งการเมืองในพรรค การเมือง อาทิ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ผู้บริหารพรรค แต่ไม่รวมถึงสมาชิกพรรค มีอำนาจ 4 ประการคือ ออกกฎหมาย ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกฯ การควบคุมการทำงานของรัฐบาลโดยทำได้เพียงการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติแต่ไม่มีอำนาจอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่สภา เช่น แต่งตั้งบุคคลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

สายที่ 2 คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกฯ 1 คน และรัฐมนตรีอื่นไม่เกิน 35 คน รวมเป็น 36 คน ซึ่งขณะนี้เป็นห้วงเวลาไม่ปกติ จึงกำหนดเป็นครั้งแรกให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากอำนาจบริหารราชการแผ่นดินอีก 2 อย่างคือ อำนาจปฏิรูปในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเริ่มเองหรือมีการเสนอมาจากส่วนอื่นๆ และอำนาจสร้างความสามัคคีปรองดองและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยถือเป็นพันธกิจที่ ครม.ต้องปฏิบัติ

เปิดกว้างนักการเมืองเป็นสปช.

สายที่ 3 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา โดยมาจากจังหวัดต่างๆ และ กทม.รวม 77 คน ส่วนอีก 173 คน จะกระจายมาจากทั่วประเทศ ไม่ผูกพันกับจังหวัดหรือพื้นที่ใด แต่ผูกพันจากด้านต่างๆ 11 ด้าน ประกอบด้วยด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านสังคม และด้านอื่นๆ มีคณะกรรมการสรรหาประจำด้านละ 1 ชุด ผู้ที่เป็นกรรมการสรรหาจะไม่มีโอกาสได้รับเลือกเป็น สปช.

นายวิษณุกล่าวว่า การสรรหาสมาชิก 173 คน จะให้ใช้วิธีเสนอชื่อเข้ามา ห้ามสมัครเองหรือแสดงความจำนงว่าอยากเป็น จะมีองค์กรหรือนิติบุคคล สมาคม มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา หรือวัด รับรองและเสนอชื่อเข้ามาองค์กรละ 2 คน ว่าจะปฏิรูปด้านใด โดยคณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้ที่องค์กรต่างๆ เสนอชื่อเข้ามาด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้ว 550 คนจาก 11 ด้าน ส่งให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 173 คน ซึ่งคนที่จะเป็น สปช.ไม่มีข้อห้ามคนที่เป็นสมาชิกพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีตำแหน่งในพรรค หน้าที่ของสปช. คือเสนอแนะแนวทางปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ หากปฏิบัติได้เลยก็ส่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคสช.ดำเนินการทันที แต่ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมายรองรับ สปช.ต้องยกร่างกฎหมาย และสปช.ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีคณะกรรมาธิ การ (กมธ.) ยกร่างฯ

กมธ.ยกร่างรธน.ปลอดการเมือง

สายที่ 4 กมธ.ยกร่างรัฐธรมมนูญ 36 คน มาจาก สปช.เสนอ 20 คน สนช.เสนอ 5 คน ครม.เสนอ 5 คน และ คสช.เสนอ 5 คน โดยคสช.จะเป็นผู้เสนอคนขึ้นมาเป็นประธานกมธ.อีก 1 คน กมธ.มีอำนาจมาก ผู้เป็นต้องมีความรู้ ความสามารถเป็นพิเศษ ทำงานแข่งกับเวลา เพราะให้เวลาทำงานเพียง 120 วัน หรือ 4 เดือน ต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นชอบ คุณสมบัติ กมธ.ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ห้ามคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงห้าม กมธ.ทั้ง 36 คน ไปดำรงตำแหน่งการเมืองใดๆ ในอนาคตอีกไม่ได้ภายในเวลา 2 ปี ถือเป็นการกันทั้งอดีตและอนาคต เมื่อร่างเสร็จอาจมีการแปรญัตติได้ ก่อนส่งให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ และการร่างต้องร่างภายใต้กรอบโดยเฉพาะกรอบตามมาตรา 35 

คสช.ไม่ใช่พี่เลี้ยง-เปลือกหอย

สายที่ 5 คสช. รัฐธรรมนูญกำหนดให้คงอยู่ต่อไปแต่อาจเพิ่มจำนวนจากปัจจุบันให้มีไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่ของ คสช.มีเพียงเสนอแนะให้ ครม.พิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด และเมื่อ ครม.พิจารณาแล้วอาจไม่ปฏิบัติก็ได้ นอกจากนี้ คสช.ยังมีอำนาจหน้าที่เชิญ ครม.ประชุมร่วมกันหารือปัญหาสำคัญของประเทศ หรือ ครม.สามารถเชิญ คสช.ได้

"ยืนยันไม่มีที่ใดในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 กำหนดให้ คสช.มีอำนาจปลดรัฐมนตรีหรือนายกฯอย่างที่ลือกัน หรือให้ คสช.เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยให้ ครม. และไม่ได้กำหนดให้ คสช.มีอำนาจบังคับบัญชา ครม.หรือข้าราชการประจำ แต่ให้ คสช.แบ่งเบาภาระ ครม.ในด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อครม.จะได้บริหารราชการแผ่นดิน ไม่วอกแวกกับปัญหาแทรกซ้อนในช่วง 1 ปี" นายวิษณุกล่าวและว่า คสช.มีหน้าที่สร้างสมานฉันท์ ปรองดอง สามัคคี และเพื่อให้ คสช.มีอำนาจดำเนินการเรื่องต่างๆ ในกรณีจำเป็น โดยกำหนดในมาตรา 46 ให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษได้แม้แต่จะใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ แต่ไม่ใช่ไปมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถ้ามีกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อการปราบปราม ซึ่งคสช.คงไม่ได้ใช้บ่อยหรือพร่ำเพรื่อ ทุกยุคที่มีการยึดอำนาจก็จะใช้ในยามที่ไม่อาจใช้กระบวนการปกติได้เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ

ประชามติร่างรธน.เป็นเรื่องอนาคต

นายวิษณุกล่าวว่า มีคนสงสัยว่ารัฐธรรม นูญฉบับนี้ที่มี 48 มาตรา จะเพียงพอในการปกครองและดูแลบ้านเมืองหรือไม่ จึงเขียนบทบัญญัติไว้ เหมือนในอดีตที่มีมาตรา 7 บัญญัติว่าถ้าไม่มีที่ใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายคนอาจวิจารณ์ว่าสุดท้ายก็มีกฎหมายมาตรา 7 มาอีก ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพราะไม่รู้ว่ามาตราดังกล่าวมีเนื้อหาอย่างไร รู้ว่ามันยุ่งแต่ไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ ถ้าไม่เขียนจะเกิดช่องว่างขาดไปในหลายมาตรา และกำหนดไว้ด้วยว่าถ้าสงสัยว่าเรื่องนี้เป็นไปตามประเพณีการปกครองหรือไม่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ที่สำคัญศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ตามปกติ องค์กรอื่นทั้ง กกต. ป.ป.ช.ก็ยังอยู่ตามปกติ เว้นแต่องค์กรที่คสช.ออกประกาศยกเลิกจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมากำหนด


ไปปารีส -น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมน้องไปป์ บุตรชาย เดินทางถึงสุวรรณภูมิ เพื่อบินไปกรุงปารีส โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวก่อนขึ้นเครื่องว่า "ขอพักผ่อนนะคะ แล้วกลับมา คุยกัน" เมื่อวันที่ 23 ก.ค.

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อร่างเสร็จจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เขียนไว้ แต่ไม่ได้ปิดทาง จึงพิจารณาตามความจำเป็นในอนาคตได้ สิ่งสำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้คือเมื่อใดที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาใดที่สมควรแก้ไขให้สมบูรณ์ ครม.และคสช.สามารถจับมือเสนอต่อสนช ขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่องหรือควรจะมีได้ เพื่อให้การบริหารและการดำเนินการของแม่น้ำทั้ง 5 สายเดินหน้าโดยไม่สะดุด

แจงอายุ 5 องค์กร

ที่ปรึกษาคสช. กล่าวว่า ทั้ง 5 องค์กรที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุนานเท่าใดนั้น คำตอบคือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะอยู่ได้จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช.จะมีอายุอยู่จนถึงวันที่มีการเลือกตั้งส.ส.ชุดหน้า มี ส.ส.เมื่อใด สนช.ก็หมดอายุลง ครม.อยู่ไปจนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ สปช.จะอยู่จนเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จและมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ สปช.ก็ให้เป็นไปตามนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีหน้าที่จนกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ มีการลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ ส่วน คสช.โดยหลักเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช.ก็จะหมดไปเมื่อนั้น

ด้านนายพรเพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า องค์กรที่อยู่ในความสนใจคือคสช. ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้คงอยู่ต่อเพื่อดูแลเรื่องความมั่นคง การปฏิรูปปรองดองเพื่อให้กระบวนการต่างๆ ทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเดินต่อไปได้ ซึ่งอาจเพิ่มจำนวนขึ้นแต่ไม่เกิน 15 คน โดยจะทำงานร่วมกับครม.ในการให้คำปรึกษาและแจ้งต่อครม.ถึงความเห็นต่างๆ แต่ไม่ได้ทำงานในส่วนของครม. และในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนคือ มาตรา 44 ที่มองว่าใช้อำนาจเด็ดขาดเหมือนมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอชี้แจงว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ไม่ได้แรงถึงขั้นนั้น แต่เพื่อสร้างความสงบเป็นปึกแผ่น และบรรยากาศที่ดีในการปฏิรูปที่รัฐบาลปกติไม่อาจทำได้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินป็นไปอย่างรวดเร็ว

ชี้ม.44 ป้องกันยึดอำนาจซ้อน

จากนั้นเป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าว นายวิษณุชี้แจงมาตรา 44 ที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจ คสช.ที่เหนือนายกฯ และครม.ว่า เชื่อมั่นว่ามีความสร้างสรรค์ให้สังคมไทย ที่เขียนไว้เพราะอำนาจพิเศษคู่กันกับองค์กรพิเศษ หาก คสช.ไม่อยู่ต่อ อำนาจพิเศษคงไม่จำเป็น การมีอำนาจพิเศษให้ คสช.เพื่อทำหน้าที่บางอย่างที่ ครม.อาจลำบากในการทำหน้าที่นั้น เช่น ใช้อำนาจเพื่อส่งเสริมความสามัคคีและสมานฉันท์ เมื่อรัฐบาลเหลียวซ้ายแลขวาว่าจะใช้อำนาจใดมาจัดการความรุนแรงไม่ได้ก็เกิดการยึดอำนาจซ้อนการยึดอำนาจ

นายวิษณุกล่าวว่า อนาคตต้องคอยดูว่า คสช.จะใช้มาตรานี้ด้วยความสร้างสรรค์หรือทำลาย หรือทางส่งเสริมหรือกำราบ จึงเป็นเหมือนดาบที่มีสองคม และคสช.เองก็รู้ว่าอยู่ภายใต้การจับตาดูของทุกฝ่าย แต่ลองจินตนาการว่าหากเกิดเหตุการณ์วุ่นวายเหมือนแต่ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะทำอย่างไร เพราะใช้กฎหมายปกติก็ไม่ได้ผล ถ้าไม่เกิดก็ดีก็ไม่ต้องใช้มาตรา 44 ส่วนมาตรา 48 นิรโทษกรรมคณะผู้ยึดอำนาจก็เขียนทุกครั้งตั้งแต่ฉบับปี 2475 หากไม่เขียนจะจองเวรจองกรรมกันไม่จบสิ้น

รธน.ไม่ห้าม"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯ

ส่วนประเด็นหัวหน้าคสช.เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุเลี่ยงจะตอบเองแล้วปัดให้ พล.อ.ไพบูลย์ เป็นคนตอบ แต่พล.อ.ไพบูลย์ ก็หันไปถามนายวิษณุ ซึ่งระบุว่า "ได้" พล.อ.ไพบูลย์ จึงหันมาตอบว่า ได้ จากนั้นนายวิณุกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นได้ แต่ได้เป็นหรือไม่เป็นเรื่องของสนช. ขณะที่ตนนั้นคงไม่เหมาะกับตำแหน่งใดๆ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า คสช.ต้องอยู่ต่อไป หากใครมีภารกิจต้องตั้งให้ครบ 6 คน ตามประกาศเดิม และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม คสช.ควบตำแหน่งรัฐมนตรี เป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญได้ และไม่ได้ห้ามเป็นนายกฯ แต่ที่เป็นควบไม่ได้คือเป็น สนช. และ สปช. สำหรับองค์กรอิสระบางแห่งจะยังคงไว้หรือไม่นั้นพูดคุยและคิดกันไว้แล้ว บางองค์กร เช่น ป.ป.ช.ถ้ายกเลิกจะเกิดช่องว่าง เกิดข้อครหาล้มคดีที่ค้างอยู่ได้ คสช.จะไม่แตะอะไรที่เกินความจำเป็น

ด้านพล.อ.ไพบูลย์กล่าวถึงความเหมาะสมที่หัวหน้าคสช.จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีคุณสมบัติใดบกพร่อง ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่นายกฯ บริหารงานได้รอบคอบ นั่งเป็นประธานประชุมทุกคณะ อย่างไรก็ตาม คสช.ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้ ต้องรอให้มี สนช.ก่อนถึงจะได้ตัวนายกฯ (อ่านรายละเอียด น.3) 

รัฐสภาเด้งรับงานสนช.-สปช.

ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ทั้ง 2 สภาพร้อมเดินหน้าทำงานและประสานความร่วมมือกับคสช.ทันทีเมื่อมีการตั้งสนช.และสปช. เพื่อให้กระบวนการเรียบร้อย แต่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานใดๆ เพิ่มเติมจากคสช.

ส่วนการเตรียมรองรับแนวทางการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านตามมาตรา 27 ที่ให้สปช.มีหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปนั้น เลขาธิการสภากล่าวว่า มอบให้ 2 สำนัก คือ กลุ่มงานบริการวิชาการ สำนักวิชาการ และกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย ร่วมกับรับผิดชอบการทำงานรองรับการปฏิรูปเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 รองรับการปฏิรูปด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองท้องถิ่น กลุ่มที่ 2 รองรับการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และพลังงาน กลุ่มที่ 3 รองรับการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และกลุ่มที่ 4 รองรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ

คาดมีสนช.เดือนสิงหา

นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะร่างข้อบังคับเพื่อรองรับการตั้ง สปช. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐสภาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า เบื้องต้นจะจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้เผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกทั้ง 2 สภา เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานต่อไป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรที่รับผิดชอบจะศึกษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ความเห็นที่ตรงกันในบางมาตราที่ทั้ง 2 สำนักงาน ต้องทำงานร่วมกัน

นายธงชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นถึงแนวทางการทำงานของสำนักเลขาธิ การสภาผู้แทนราษฎร ที่กำกับดูแล สนช. และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่กำกับดูแล สปช.ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะมี สนช.ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. เนื่องจากขั้นตอนการได้มาของสมาชิกไม่ซับซ้อน และมีวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบพิจารณาอย่างร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 

"แต่ในส่วนของ สปช.น่าจะได้เริ่มทำงานประมาณเดือน ต.ค. เนื่องจากกระบวนการสรรหาทั้งจำนวนคณะกรรมการ วิธีการ และกำหนดเวลาจะต้องรอกำหนดจากพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยคณะคสช.ในฐานะรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรรหาสมาชิกแต่ละจังหวัด ตามมาตรา 30 ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร" นายธงชัยกล่าว

สรรหาสปช.ต้องรอพรฎ.

เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่า ที่ประชุม กกต.รับทราบการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา คสช.เชิญตนและเจ้าหน้าที่ กกต.ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา มอบให้สำนักงาน กกต. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. จากนี้สำนักงาน กกต. จะรอให้พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ... ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ประกาศใช้คาดว่าในเร็วๆ นี้ เมื่อพ.ร.ฎ.แล้ว กระบวนการสรรหาก็จะเริ่มขึ้น


คืนความสุข-บรรยากาศประชาชนเที่ยวงาน"มหกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนไทย" ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องที่บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีการออกร้านขายของ และการแสดงจำนวนมาก เมื่อวันที่2 3 ก.ค.

      นายภุชงค์ กล่าวว่า การสรรหา สปช.มาจาก 2 ส่วน คือในส่วนจังหวัด กำหนดให้เสนอชื่อบุคคลจังหวัดละ 5 คน ให้ คสช.เลือกเหลือจังหวัดละ 1 คนนั้น กระบวนการสรรหาสปช.ระดับจังหวัด กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดละ 1 คณะ มีผู้ว่าฯ ผู้พิพากษาหรือหัวหน้าศาลจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล และประธาน กกต.จังหวัด โดยให้ ผอ.กต.จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ ส่วนกรุงเทพฯ คณะกรรมการสรรหาจะมีประธานที่ประชุมอธิการบดี อธิบดีศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพฯ ผู้แทนสภาชุมชนเขต ประธาน กกต.กทม. และผอ.กต.กทม. เป็นเลขานุการ

ช้าสุด 1 ตุลาได้สปช.ครบ

นายภุชงค์กล่าวว่า ส่วนที่ 2 การสรรหา สปช.จาก 11 ด้านตามมาตรา27 โดยใน พ.ร.ฎ. จะกำหนดให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่ละด้าน คณะละ 7 คน ให้สำนักงาน กกต.เป็นฝ่ายธุรการของทั้ง 11 คณะ มีหน้าที่เปิดรับการเสนอชื่อบุคคลเป็น สปช.จากองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ องค์กรละไม่เกิน 2 คน เบื้องต้นสำนักงานกกต.วางกรอบว่าอาจเปิดให้เสนอชื่อ 15 วัน จากนั้นจะเชิญประชุมเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนจะรวบรวมส่งให้กับคณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้าน โดยสำนักงาน กกต.ทำได้เพียงมีข้อสังเกตในคุณสมบัติของแต่ละรายเท่านั้น แต่ไม่สามารถตัดรายชื่อออกได้แม้บุคคลนั้นจะขาดคุณสมบัติก็ตาม

นายภุชงค์กล่าวว่า ตอนนี้มีนิติบุคคลขึ้นทะเบียนไว้แล้วกว่า 3 พันแห่ง พรรคการเมืองก็ถือเป็นนิติบุคคล สามารถเสนอชื่อหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคเป็น สปช.ได้ วัด โรงเรียน หรือ กกต.ก็เสนอชื่อได้ การเปิดกว้างเช่นนี้อาจทำให้มีจำนวนนิติบุคคลและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น สปช.จำนวนมาก ซึ่งในพ.ร.ฎ.กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้านได้รับรายชื่อพร้อมประวัติแล้ว ให้เสนอชื่อผู้ได้รับการสรรหาต่อคสช.ด้านละไม่เกิน 50 คน หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีการเสนอชื่อในแต่ละด้าน เพื่อให้ คสช.คัดเลือก สปช.ให้เหลือ 173 คน เมื่อรวมกับ สปช.ที่มาจาก 77 จังหวัด จะได้สปช.รวม 250 คน

เลขาฯ กกต.กล่าวว่า พ.ร.ฎ.จะกำหนดให้สรรหา สปช.ให้เสร็จภายใน 60 วัน ดังนั้นคาดว่าอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะได้ สปช.ทั้ง 250 คน โดย กกต.พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อพ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสรรหา สปช.ไม่จำเป็นต้องผ่านมติกกต. 5 คน แต่ไม่ใช่ว่า กกต.จะไม่มีงานทำ กกต.ยังมีงานทำอีกมากทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อเตรียมข้อมูลไว้ หาก คสช.ต้องการก็พร้อมเสนอ

จาตุรนต์แนะคสช.ใช้อำนาจ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิ การกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า มีประเด็นน่าสนใจ 3-4 ประเด็นคือ 1.การจัดความสัมพันธ์ระหว่างคสช.กับครม.ใหม่และองค์กรอื่นๆ โดยมาตรา 44 ให้คสช.ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามได้อย่างเบ็ดเสร็จและเป็นที่สุด เพราะคสช.เห็นว่ามีความจำเป็น แต่จะเกิดความลักลั่นกับองค์กรอธิปไตยทั้งสามได้ และรัฐธรรมนูญมีปัญหาขัดแย้งกันเองและขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วย จึงหวังว่าคสช.คงไม่ใช้อำนาจตามมาตรานี้เกินความจำเป็นและเหมาะสม

2.ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ คสช.รวบรวมความเห็นจากหลายฝ่าย แต่การปฏิรูปในสภาพที่สังคมยังเห็นต่างกันมากและทำในเวลาอันสั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงควรเปิดให้หลายฝ่ายเข้าร่วม จัดลำดับความจำเป็นก่อนหลังให้ชัดเจนและพิจารณาด้วยว่าต้องการให้การปฏิรูปนั้นมีผลถาวรแค่ไหน หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ไขได้อีกหรือไม่ 3.การสร้างความปรองดอง เมื่อมีรัฐบาลและสภาแล้วหากจะให้เกิดความสมานฉันท์ได้ดีขึ้น ควรลดการใช้มาตรการเข้มข้นในทางความมั่นคงกับบางพวกเป็นพิเศษหรือแตกต่างจากฝ่ายอื่นลงเพื่อลดความรู้สึกแบ่งฝ่ายในสังคม และ 4.การสร้างกฎกติกาทางการเมืองที่ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่เผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งและการรัฐประหารอีกในอนาคต

ห่วงมาตรา 35 (9) 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 35 (9) ว่าให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ การบัญญัติไว้อย่างนี้อาจมีผลเท่ากับเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ห้ามไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกเลย สังคมไทยคงไม่ลืมว่าวิกฤตของสังคมมาถึงทางตันในหลายเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญคือการที่รัฐธรรมนูญปี"50 อยู่ในสภาพที่ไม่มีใครแก้ได้ ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือเป็นรายมาตรา การสร้างโรดแม็ปที่ดีไม่ควรเริ่มจากการกำหนดให้กระบวนการแก้ปัญหาต้องเดินไปสู่ทางตันอีกครั้ง ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ควรเปิดช่องปรึกษาหารือระหว่างองค์กรที่มีอำนาจไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจมีหรือ อาจพบเห็นในอนาคต และในกระบวนการ ที่ทำกันอยู่นี้ยังต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนอีกมาก

"มาร์ค"จี้"บิ๊กตู่"เคลียร์ม.44 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "สู่ระยะที่ 2 ของคสช.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ว่า มาตรา 44 อาจถูกมองว่าผิดปกติเพราะให้อำนาจหัวหน้าคสช.และคสช.เป็นพิเศษอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังบัญญัติว่าการใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติและตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวน การโต้แย้งหรือตรวจสอบ ซึ่งหมายถึงสามารถออกกฎหมายและหรือการกลับคำพิพากษาได้ บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมดจึงอาจถูกมองได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 3

นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า เชื่อว่าสังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีจะเกิดปัญหาปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์นั้น มีความจำเป็นอย่างไร จึงหวังว่าหัวหน้า คสช.จะอธิบายถึงความจำเป็นและสิ่งที่คิดอยู่ในใจว่าจะใช้อำนาจในมาตรา 44 นี้ในกรณีไหน อย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจาก นายอภิสิทธิ์ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 44 ยังมีอดีตส.ส.ของพรรค อาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายเทพไท เสนพงศ์ แสดงความเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากมาตรา 44 เป็นการให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ยังอยู่ในมือของหัวหน้าคสช. ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ มีทางเดียวคือต้องแก้มาตรา 44 ก่อนที่ปัญหาจะตามมาอีกมาก

ยันไม่ร่วม"สนช.-สปช."

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค สั่งห้ามลูกพรรคไม่ให้เป็นสมาชิกสนช. และสปช.ว่า คงไม่มีสมาชิกพรรคคนไหนเสนอตัว เพราะยังต้องการเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ ไม่เช่นนั้นจะถูกตราหน้าว่าเป็นท็อปบู๊ต และคงไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้เจ้าของประเทศและกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย มีความรู้ความสามารถเข้าไปมีส่วนยกร่างรัฐธรรมนูญและเป็นสปช.ดีกว่า

นายวิรัตน์กล่าวว่า พรรคอยากฝากให้คสช. เร่งพิจารณากฎหมายการปราบปรามการทุจริต ให้มีเนื้อหาสาระและมีประสิทธิ ภาพ รวมถึงคดีของนักการเมืองที่เกี่ยวกับการทุจริตไม่มีอายุความ และข้าราชการที่กระทำผิดด้วย โดยให้ป.ป.ช.ติดตามตรวจสอบหรือไต่สวนถึงการได้มา หากมีมูลก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้ คสช.ควรเร่งพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงกฎหมายการลงทุน กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ ส่วนประเด็นเลือกตั้งควรมีศาลเลือกตั้ง เพื่อแบ่งเบาภาระ ของกกต. ที่จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เช่น คนที่ถูกใบเหลืองใบแดงจะมีโอกาสต่อสู้ในศาลได้

เพื่อไทยก็ส่อไม่ส่งตัวแทน

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการส่งตัวแทนพรรคร่วมเป็นสมาชิกสปช.ว่า พรรคยังไม่ได้หารือกัน คงต้องประชุมภายในก่อน ส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะส่งตัวแทน แต่ต้องหารือเป็นมติแกนนำพรรคในเร็วๆ หากมีตัวแทนไปเป็นสมาชิก สปช.คงไม่มีใครอยากเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกมธ.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งการเมืองได้หลังเป็นกมธ. 2 ปี

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยในฝ่ายกฎหมายระบุว่ามีแนวโน้มที่พรรคจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม สปช.เนื่องจากกระบวนการคัดสรรเป็นอำนาจของ คสช. หากส่งตัวแทนเข้าไปก็เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยเท่านั้น ควรให้เป็นอำนาจของ สปช.ดำเนินการให้เต็มที่จะดีกว่า

คสช.ชะลอจ่ายเบี้ยยังชีพอดีตส.ส.

หลังรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ มีความเคลื่อนไหวในส่วนของรัฐสภาเกี่ยวกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้กับอดีตสมาชิกรัฐสภา ล่าสุดเจ้าหน้าที่สภาได้รับคำสั่งจากคสช. ให้ชะลอการจ่ายกองทุนเบี้ยยังชีพของอดีตสมาชิกรัฐสภา รวมถึงค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ให้เหตุผลว่าจะปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อน ทำให้สิ้นเดือนก.ค.นี้ อดีตสมาชิกรัฐสภาที่เป็นสมาชิกกองทุนนี้จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพตามสิทธิที่ได้รับตามพ.ร.บ. กองทุนเพื่ออดีตสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.2556 ซึ่งให้สมาชิกรัฐสภาจ่ายเงิน 5% ของเงินเดือนเข้ากองทุนและรัฐอุดหนุนส่วนหนึ่ง โดยสมาชิกรัฐสภาจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนเมื่อพ้นตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาก่อนกฎหมายบังคับใช้จะได้เดือนละ 15,000 บาท ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่ส่งเงินเข้ากองทุนตาม พ.ร.บ.นี้จะได้รับเงินในลักษณะขั้นบันไดตามวาระการดำรงตำแหน่ง อยู่ที่ 21,000-42,000 บาทต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวสอบถามเจ้าหน้าที่การเงินของรัฐสภายืนยันว่ามีคำสั่งให้ชะลอจริง ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่มีอดีตสมาชิกรัฐสภามาเบิกได้ และตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปคงไม่มีการโอนเงินเบี้ยยังชีพเข้าบัญชีอดีตสมาชิกรัฐสภา จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกการชะลอการจ่ายเงินส่วนนี้

"บิ๊กตู่"รับผบ.สส.สิงคโปร์

เวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ท.อึ้ง ชี เม็ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสิงคโปร์ (ผบ.สส.สิงคโปร์) เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกองทัพไทย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกด้าน พร้อมอธิบายสถานการณ์ขณะนี้ว่าขอให้เวลาและสนับสนุนประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และขอให้ผบ.สส.สิงคโปร์ ช่วยกระตุ้นคนสิงคโปร์มาเที่ยวในไทย ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยประเทศ ไทยได้ ทั้งนี้ ผบ.สส.สิงคโปร์ เอาใจช่วยขอให้ผ่านช่วงนี้ได้อย่างเข้มแข็งและทำในสิ่งที่ตั้งใจได้สำเร็จ ยินดีให้ความร่วมมือกับไทยโดยเฉพาะด้านทหาร จะหาหนทางขยายการฝึกและการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

เวลา 15.00 น. หัวหน้าคสช.บันทึกเทปถวายพระพรเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2557 เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกับคสช. และนายทหารระดับสูงของกองทัพบก ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) สนามเป้าด้วย

ขณะที่การรักษาความปลอดภัยด้านหน้าบก.ทบ. เป็นไปอย่างเข้มงวด มีตำรวจจากสน.นางเลิ้งและกองบังคับการตำรวจ นครบาล 1 มาดูแล โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนบันทึกภาพบรรยากาศด้านหน้าบก.ทบ. นำแผงเหล็กมากั้นไว้เพื่อจำกัดให้ สื่ออยู่ได้เฉพาะด้านหน้าสนามมวยราชดำเนิน ยกเว้นวันประชุมใหญ่ของคสช.

"ปู-ปึ้ง"บินฝรั่งเศสพบ"แม้ว"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 22.00 น. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด.ช. ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ไปพักผ่อนที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากคสช.อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศได้ ทั้งหมดเดินทางในเวลา 00.05 น. วันที่ 24 ก.ค. โดยสายการบินไทย ทีจี 930 เพื่อไปร่วมงานวันคล้ายวันเกิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปารีส

การเดินทางครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และลูกชายจะไป 5 ประเทศ ประกอบด้วย เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะไปดูลู่ทางการศึกษาต่อของ ด.ช.ศุภเสกข์ ที่อังกฤษด้วย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยประมาณวันที่ 10 ส.ค. นี้

เมื่อเวลา 21.10 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ ร่วมคณะเดินทางไปด้วย โดยกล่าวว่าได้ขออนุญาต คสช. เรียบร้อยแล้วและจะเดินทางกลับในวันที่ 27 ก.ค.นี้

สำหรับสัมภาระและกระเป๋าเดินทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ คนใกล้ชิดนำมาก่อนที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางมาถึง โดยมีกระเป๋าเดินทาง 11 ใบ มีคณะร่วมเดินทางรวม 7 คน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรอง นายกฯ และรมว.คลัง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง อดีตรองเลขาธิการนายกฯ นายพิชิต ชื่นบาน และทีมทนายเดินทางมาส่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงสนามบินด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เดินกอดคอบุตรชายพร้อมกล่าวว่า กลับมาแล้วค่อย คุยกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าจะกลับมาเมื่อใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า เดี๋ยวกลับมาค่อยคุยกัน ตอนนี้ขอไปพักผ่อนก่อน

ศาลอนุมัติหมายจับ "อภิวันท์"

       เวลา 17.30 น. วันที่ 23 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากพ.ต.อ.จักรภพ สุคนธราช ผกก.สน.ชนะสงคราม ว่าศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ความผิดตามประมวลอาญามาตรา 112 กรณีขึ้นปราศรัยเวทีนปช. กล่าวพาดพิงสถาบัน ท้องที่สน.ชนะสงคราม ซึ่งตนได้สั่งการให้ชุดสืบสวนติดตามตัวพ.อ.อภิวันท์ มาดำเนินคดีโดยเร็ว เป็นกระบวนตามปกติที่ตำรวจต้องทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะคดีหมิ่นสถาบัน คิดว่าพ.อ.อภิวันท์ คงทราบแล้วว่าศาลได้ออกหมายจับแล้ว หากไม่เข้ามอบตัวตำรวจก็ต้องติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 24 ก.ค. เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.สมยศเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง บช.น. เพื่อเร่งรัดคดีการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคง อาทิ คดีอาวุธสงคราม คดีหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งยังมีผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับและหลบหนี ต้องเร่งติดตามจับกุมอีกหลายราย อาทิ นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ และเตรียมกำชับพนักงานสอบสวนให้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าวเพิ่มเติม

บิ๊กตู่นำกล่าวอาเศียรวาทวันแม่

     เวลา 15.30 น. วันที่ 23 ก.ค. ที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายความมั่นคง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. รวมถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ เดินทางมาบันทึกเทปอาเศียรวาทถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2557 โดยหัวหน้าคสช.เป็นผู้นำกล่าวอาเศียรวาทในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงกลาโหม

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามปกติผู้กล่าวนำอาเศียรวาท จะเป็นรมว.กลาโหม แต่เมื่อตำแหน่งว่างลง ปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ในตำแหน่งรักษาราชการแทนจะเป็นผู้นำกล่าว แต่ครั้งนี้ปลัดกระทรวงกลาโหมเชิญหัวหน้าคสช.เป็นผู้นำกล่าวแทน

ชี้รธน.เปิดทางให้'บิ๊กตู่'ควบนายก คสช.ไม่ใช่เปลือกหอย 'บิ๊กต๊อก'นำทีมชี้แจง ป้องม.44 สร้างสรรค์ อ๋อยห่วงม.35 ซุกปม แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ปชป-ภท.เมิน 2 สภา

ชี้แจง - พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะ คสช. และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ร่วมกันแถลงข่าวรายละเอียดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม

ทัวร์นอก - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย เดินทางไปขึ้นเครื่องบินเพื่อไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ เมื่อดึกวันที่ 23 กรกฎาคม

มติชนออนไลน์ :

      'วิษณุ'ปัด คสช.ไม่เป็นเปลือกหอยให้ ครม. เผยรัฐธรรมนูญชั่วคราวต้องวางหลักการเข้มงวด ยุ่งยาก หวั่นสูญเปล่า เป็นต้นทางของแม่น้ำ 5 สาย 'บิ๊กต๊อก'แจงไม่มีข้อห้าม'ประยุทธ์'นั่งนายก

@ คสช.แจงรัฐธรรมนูญฉบับที่19

     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดให้มีการแถลงข่าวความเป็นมาของการจัดทำและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะ คสช. นายวิษณุ เครืองามที่ปรึกษา คสช. พล.ต.วีระ โรจนะวาศ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ร่วมแถลง

     นายพรเพชร กล่าวว่า แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่บ้านเมืองจะมีหลักกติกาที่แน่นอน บ้านเมืองเป็นนิติรัฐ ความชัดเจนพัฒนาการเมืองของประเทศไทยว่าจะเดินไปในรูปแบบใด จะเห็นได้ชัดเจน ยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวย่อมสร้างความเชื่อมั่น เห็นจุดหมายประชาธิปไตยในระยะเวลาที่ชัดเจน รู้สึกอบอุ่นว่าอยู่ภายใต้ความอบอุ่น มีบทบัญญัติที่ชัดเจน พระราชอำนาจอภัยโทษ และการแต่งตั้ง ค่อนข้างยาวกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวอื่นๆ เพื่อยืนยันอำนาจของสถาบันฯ แนวคิดสำคัญของการยกอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีตน เจ้าหน้าที่สำนักงานทหารบก ฯลฯ ร่วมกันรับผิดชอบรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ โดยยึดหลักนิติรัฐ

@ วิษณุเผยคืนอำนาจเลือกตั้งใน 1 ปี

    นายวิษณุกล่าวว่า หากเข้าสู่ระยะที่ 3 ตามโรดแมปของ คสช. และขั้นตอนการจัดการเลือกตั้ง คืนอำนาจกลับสู่ประเทศชาติ 1 ปี นับจากนี้ไป สามารถจัดการปัญหาที่มีอยู่ จัดการความสงบเรียบร้อย ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเสียงบ่นวิพากษ์วิจารณ์และทำให้คณะทำงานที่ตั้งใจทำเป็นสิ่งเสียของสูญเปล่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับที่ 19 ต้องวางหลักการบางอย่างเข้มงวด กวดขัน ยุ่งยาก แต่ก็จำเป็น รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับนี้ จะเป็นต้นทางของสายแม่นํ้าทั้ง 5 สาย สายที่ 1 ที่จะแยกจากนี้ไปคือการเกิด สนช.เหมือนสภานิติบัญญัติในอดีต สมาชิกไม่เกิน 220 คน พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของหัวหน้า คสช.ทั้ง 220 คน จะไม่มีการสมัคร คณะนี้มีการจัดทำฐานข้อมูลเรียบร้อยแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้มีเพียง 48 มาตรา แต่ยาวกว่าในอดีต คราวนี้หากเกิดปัญหาขึ้น จะให้ปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญก่อน หากไม่มีข้อใดอยู่ในรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการตามประเพณีการปกครองที่มีการใช้กันมา เมื่อใดที่เห็นว่าธรรมนูญชั่วคราวมีปัญหา สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ในอนาคต พยายามทำให้มีความยืดหยุ่นมากที่สุด เพื่อให้แม่นํ้าทั้ง 5 สายไหลได้คล่อง การแต่งตั้งถอดถอนนายกฯ อยู่ที่ สนช.และควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน จำกัดอยู่ที่ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี มีการอภิปราย แต่ไม่สามารถลงมติได้

@ ยันสปช.ต้องมีองค์กรรองรับ

    นายวิษณุ กล่าวว่า แม่นํ้าสายที่ 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มี 35 คน รวมนายกรัฐมนตรีอีก 1 คน เป็น 36 คน เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจได้เปิดโอกาสให้มากที่สุด แม่นํ้าสายที่ 3 การแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน สรรหาออกมาจากจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัด แม่น้ำสายที่ 4 ให้สภาปฏิรูปฯ จะมีคณะกรรมการสรรหาผู้มีความสามารถ มีเวลาอุทิศตนได้ เลือกมาจังหวัดละ 5 คน ส่งให้หัวหน้า คสช. พิจารณาเหลือ 1 คน มี 77 จังหวัด รวมเป็น 77 คน ส่วนที่เหลือ สรรหาอีก 173 คนจากทั่วประเทศ คณะกรรมการจะมีการสอดสายตา ห้ามสมัครเอง ต้องมีองค์กรนิติบุคคล สถาบันการศึกษาเป็นผู้เสนอชื่อเข้ามาองค์กรละ 2 คน หากใครจะเข้ามาต้องหาองค์กรมารองรับเท่านั้น โดยกรรมการจะสรรหาไม่เกินด้านละ 50 คน มีทั้งหมด 11 ด้าน เพื่อไปรวม 77 คน รวมเป็น 250 คน

    นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับผู้เป็น สปช. ไม่มีข้อห้ามกรรมการในพรรคการเมือง อายุไม่เกิน 35 ปี สามารถเป็นได้หมดไม่ว่าอาชีพไหนไม่จำกัด เพื่อให้ คสช.มีอำนาจจัดการต่างๆ ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 44 อาจใช้เป็นอำนาจพิเศษของ คสช.กรณีจำเป็น เพื่อเป็นการสร้างสรรค์เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจพรํ่าเพรื่อ ต้องทำเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ลำธารทั้ง 5 สาย จะอยู่ถึงเมื่อใด สนช.อยู่จนมีการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ครม.จะอยู่จนกว่าจะมีคณะ ครม.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับที่ 20 มาเมื่อใด กรรมาธิการสิ้นสุด เมื่อได้รับการลงพระปรมาภิไธยแล้ว และ คสช.อยู่ถึงเมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็หมดไปเมื่อนั้น เบื้องต้นภายในระยะเวลา 1 ปี บวกลบ

@ ปัดคสช.ไม่เป็นเปลือกหอยครม.

     นายวิษณุ กล่าวว่า สายที่ 5 ที่แยกไปจากรัฐธรรมนูญ คือ คสช.เอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ยังคงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 6-7 คน ขึ้นมาเป็นไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่ของ คสช.นั้น มีเพียงแค่ 1.เสนอแนะให้รัฐมนตรีพิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ถ้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจะไม่ทำก็ได้ อำนาจหน้าที่ประการที่ 2 ของ คสช.คือขอเชิญคณะรัฐมนตรีประชุมร่วมกัน เพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช.ไม่เชิญไป คณะรัฐมนตรีจะเชิญมาก็ได้ เป็นแบบแผนปกติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับที่ผ่านมาว่า สามารถจัดให้มีการประชุมร่วมกันเช่นนี้ได้ ไม่มีที่ใดเลยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ที่กำหนดให้ คสช.มีอำนาจปลดรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ดังที่มีผู้ร่ำลือ ไม่มีที่ใดกำหนดให้ คสช.เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยให้แก่คณะรัฐมนตรี

    นายวิษณุ กล่าวว่า มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 44 มีความสร้างสรรค์ให้สังคมไทย เรื่องการใช้อำนาจพิเศษคู่กันมาตามที่มีองค์กรพิเศษ ถ้า คสช.ไม่อยู่ต่อก็จบ แต่ก็มีความจำเป็นในกรณี คสช.อยู่ต่อเพื่อความจำเป็น ความจริงเนื้อหาในมาตรา 44 มีมาแต่อดีตทุกครั้งที่มีธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2502 พ.ศ.2515 และเกิดอีกครั้ง พ.ศ.2519 พ.ศ.2520 พ.ศ.2534 ครั้งสุดท้าย คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.ยึดอำนาจ ไม่ได้เขียนไป รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้จึงเอามาเขียนไว้ดูถึงความเป็นมาในอดีต ต้องอยู่จะแปรสภาพเป็นอะไรก็ตาม คงต้องดูอนาคตว่า จะใช้มาตรานี้ในเชิงสร้างสรรค์ หรือทำลาย คสช.อยู่ภายใต้การดูของทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว

@ บิ๊กต๊อกยันไม่ห้ามบิ๊กตู่นั่งนายกฯ

     พล.อ.ไพบูลย์กล่าวถึงกรณีความเป็นไปได้ในการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ว่า คงไม่มีใครห้ามไม่ให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีควบคู่กันไปด้วย ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีคุณสมบัติอะไรบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะสามารถบริหารทุกกระทรวงได้อย่างเรียบร้อย แต่ขอย้ำว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่ใช่แนวคิดของ คสช.จะให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเราได้มีการหารือกันถึงหน้าตาของ ครม. แต่สำหรับองคมนตรีและประชาชนทั่วไปจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คสช.มีความคิดทุกแง่ทุกมุม อะไรที่ทำให้โรดแมปเป็นสัญญาประชาคม คสช.สำเร็จ เราจะคิดทุกปัจจัยเพราะบทเรียนที่ผ่านสอนเราไว้แล้ว

@ สภาแบ่งงาน 4 กลุ่มรับปฏิรูป

     นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ และมีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก็พร้อมจะเดินหน้าทำงานและประสานความร่วมมือกับ คสช.ทันที เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานใดๆ เพิ่มเติมจาก คสช. หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าการเตรียมรองรับแนวทางการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ตามบทบัญญัติมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ให้ สปช.มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูป ในฐานะสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรองรับการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายจเรได้มอบหมายให้สองสำนักคือ กลุ่มงานบริการวิชาการ สำนักวิชาการ และกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย ร่วมกันรับผิดชอบการทำงานรองรับการปฏิรูปออกเป็น 4 กลุ่ม เบื้องต้นกลุ่มที่ 1 รองรับการปฏิรูปด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองท้องถิ่น กลุ่มที่ 2 รองรับการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และพลังงาน กลุ่มที่ 3 รองรับการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และกลุ่มที่ 4 รองรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ

@ กกต.แจงกระบวนการสรรหาสปช.

     นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบกรณีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทาง คสช.ได้เชิญตนและเจ้าหน้าที่ กกต.ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้มอบหมายให้สำนักงาน กกต.เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา สปช.หลังจากนี้ทางสำนักงานจะรอให้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ...ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 30 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คาดว่าเร็วๆ นี้ และเมื่อ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วกระบวนการในการสรรหา สปช.ก็จะเริ่มขึ้นทันที

      นายภุชงค์ กล่าวว่า สำหรับการสรรหา สปช.จะมาจาก 2 ส่วน คือในส่วนจังหวัดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสนอชื่อบุคคลมาจังหวัดละ 5 คน เพื่อให้ คสช.เลือกเหลือจังหวัดละ 1 คนนั้น กระบวนการสรรหา สปช.ระดับจังหวัดตาม พ.ร.ฎ.จะให้มีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คณะ ทั้ง 77 จังหวัด จะประกอบไปด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหรือหัวหน้าศาล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ประธาน กกต.จังหวัด มีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จว.) เป็นฝ่ายเลขานุการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีประธานที่ประชุมอธิการบดี อธิบดีศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสภาชุมชนเขต ประธาน กกต.กรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กต.กทม.) เป็นเลขานุการ

@ ชี้เปิดกว้าง"หัวหน้า-กก."พรรค

     นายภุชงค์กล่าวว่า ขณะที่ส่วนที่ 2 การสรรหา สปช.จะมาจาก 11 ด้านตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) มาตรา 27 ใน พ.ร.ฎ.จะกำหนดให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้านรวม 11 คณะ คณะละ 7 คน สำนักงาน กกต.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 คณะ มีหน้าที่เปิดรับการเสนอชื่อบุคคลเป็น สปช.จากองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว โดยให้แต่ละองค์กรประชุมเพื่อมีมติเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. องค์กรละไม่เกิน 2 คน จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เบื้องต้นวางกรอบเวลาอาจเปิดให้เสนอชื่อประมาณ 15 วัน จากนั้นสำนักงาน กกต.ก็เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น สปช. อาจจะใช้หน่วยงานเดียวกับเมื่อครั้งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว.สรรหา ที่มีอยู่ 7 องค์กร หลังจากนั้นจะรวบรวมส่งให้กับคณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้าน สำนักงาน กกต.จะทำได้เพียงมีข้อสังเกตในคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละรายเท่านั้น จะไม่สามารถตัดชื่อออกจากบัญชีได้แม้ว่าบุคคลนั้นจะขาดคุณสมบัติก็ตาม

      "การสรรหาในส่วนนี้ คสช.เปิดกว้างมาก ตอนนี้มีนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกว่า 3 พันแห่ง พรรคการเมืองก็ถือเป็นนิติบุคคล สามารถเสนอชื่อหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคเข้ามาเป็น สปช.ได้ วัด โรงเรียน หรือแม้แต่ กกต.ก็เสนอชื่อได้ รวมทั้งไม่ได้จำกัดว่าองค์กรนิติบุคคลจะเสนอชื่อนั้นต้องเป็นองค์กรที่ทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับ 11 ด้านที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่กำหนดเพียงว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเสนอได้เพียงด้านเดียวเท่านั้น จะเสนอเกินหนึ่งด้านไม่ได้" นายภุชงค์กล่าว

@ คาดต.ค.ได้สปช.ครบ 250 คน

   นายภุชงค์กล่าวว่า การเปิดกว้างในการสรรหาดังกล่าวอาจทำให้มีจำนวนนิติบุคคลและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น สปช.มีเข้ามาจำนวนมาก พ.ร.ฎ.กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้านได้รับรายชื่อ พร้อมประวัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น สปช.แล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านเสนอชื่อผู้ได้รับการสรรหาต่อคสช.ด้านละไม่เกิน 50 คน หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีการเสนอชื่อในแต่ละด้าน เพื่อให้ คสช.เลือก สปช.จาก 11 ด้านให้เหลือ 173 คน และเมื่อนำไปรวมกับ สปช.ที่มาจากจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดที่ คสช.เลือกแล้วจังหวัดละ 1 คน ก็จะได้ สปช.รวม 250 คนตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 30 กำหนดไว้ พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีเวลาสรรหา สปช.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน คาดว่า ช้าที่สุด 1 ตุลาคม จะได้ สปช.ทั้ง 250 คน กกต.พร้อมดำเนินการในทันทีเมื่อ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ ขณะนี้ก็ได้มีปฏิทินกรอบเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอนไว้แล้ว และพร้อมเปิดรับการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคคลได้ทันที

     นายภุชงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนการสรรหา สปช.นี้ไม่ต้องผ่านมติของที่ประชุม กกต. แต่ไม่ใช่ว่า กกต.จะไม่มีงานทำงาน ยังมีงานอีกมาก ทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อเตรียมข้อมูลไว้หาก คสช.ต้องการ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะยุบองค์กรอิสระ ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ได้แถลงไว้ชัดเจนแล้วว่า องค์กรอิสระก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องตั้งใจทำงานกันต่อไป

@ คาดสปช.รอสรรหาเริ่มงานตค.

     นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะร่างข้อบังคับเพื่อรองรับการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เบื้องต้นจะจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้เผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสมาชิกทั้ง 2 สภาได้ศึกษาทำความเข้าใจเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานต่อไป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรที่รับผิดชอบก็จะศึกษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ความเห็นตรงกันในบางมาตราที่ทั้ง 2 สำนักงานต้องทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงแนวทางการทำงานของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่กำกับดูแล สนช.และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่กำกับดูแล สปช.ชัดเจนขึ้น คาดว่าจะมี สนช.ประมาณเดือสิงหาคม-กันยายน เนื่องจากขั้นตอนการได้มาของสมาชิกไม่ซับซ้อน และมีวาระเร่งด่วนต้องรีบทำการพิจารณาอย่าง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 

     "ในส่วนของ สปช.น่าจะได้เริ่มทำงานประมาณเดือนตุลาคม เนื่องจากกระบวนการสรรหา ทั้งจำนวนคณะกรรมการ วิธีการ และกำหนดเวลา จะต้องรอกำหนดจากพระราชกฤษฎีกาออกโดยคณะ คสช.ในฐานะรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรรหาสมาชิกแต่ละจังหวัด ตามมาตรา 30 ค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร" นายธงชัยกล่าว

@ มาร์คห่วงหัวหน้าคสช.ใช้ม.44 

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Abhisit Vejjajiva" เรื่อง "สู่ระยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44" ว่า มาตรา 44 อาจถูกมองว่าผิดปกติ เพราะให้อำนาจหัวหน้า คสช.และ คสช.เป็นพิเศษอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากโดยปกติการตราธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีและศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร จะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เช่น เมื่อปี 2549 ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง คมช.กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือในปี 2534 ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช. กับนายกรัฐมนตรีอาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงได้

@ จี้บิ๊กตู่แจงขยายอำนาจพิเศษ

      นายอภิสิทธิ์ ยังระบุอีกว่า ความแตกต่างในครั้งนี้ คือ ในมาตรา 44 อำนาจพิเศษนั้น เป็นของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และมาตรา 44 ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติและทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการจะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึงความสามารถออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้มาตรา 44 นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมด จึงอาจถูกมองได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 3

    "ยังไม่ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปก็มีที่มาจาก คสช.อยู่แล้ว และการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคง ก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก ผมจึงหวังว่าหัวหน้า คสช.จะช่วยอธิบายถึงความจำเป็นและสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่าจะใช้อำนาจในมาตรา 44 นี้ ในกรณีไหนอย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้" นายอภิสิทธิ์ระบุ

@ ปชป.ไม่ร่วมหวั่นถูกมองท็อปบู๊ต

     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป.สั่งห้ามลูกพรรคไม่ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า คงไม่มีสมาชิกพรรคคนไหนที่ต้องการเสนอตัวเข้าไป เพราะยังต้องเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ มิฉะนั้นจะถูกตราหน้าว่าเป็นท็อปบู๊ต คงไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ขอให้กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปมีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญและเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติดีกว่า

@ อนุทินเผยภท.ไม่ร่วมสนช.-สปช.

      นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็นกรณี ปชป.ห้ามสมาชิกพรรคทำหน้าที่เป็น สนช.และ สปช. เพราะปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมาเกิดจากการคิดแทนคนอื่น จึงไม่เกิดประโยชน์ ขณะนี้ควรสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง และขอให้ทุกคนคิดว่าผู้ที่มีบทบาทขณะนี้หวังดีต่อบ้านเมือง อยากให้บ้านเมืองเข้มแข็ง ความขัดแย้งหมดไป โดยทุ่มเทสรรพกำลัง เพื่อไม่ให้บ้านเมืองย่ำแย่เหมือนที่ผ่านมา ขอให้ทุกคนมองโลกในแง่ดี และยึดมั่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดูแลประชาชนมาเป็นเวลานาน เหมือนเช่นที่ตนยึดมั่นเป็นแบบอย่างที่ดี หากคิดเช่นนี้ได้ สิ่งต่างๆ ก็จะผ่านไปด้วยดี ส่วนพรรค ภท.ไม่สามารถเป็น สนช.และ สปช.ได้ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามไว้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะพรรค ภท.เป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากจะดิ้นรนเข้าไปทำหน้าที่เพื่อออกกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองจะเป็นที่ครหาและถูกโต้แย้งได้ ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่นักการเมืองเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญจะไม่เข้าไปมีส่วนในการออกกฎหมาย แต่หากมีประเด็นใดไม่เห็นด้วย ก็ควรเสนอความคิดเห็นด้วยความจริงใจ รู้ในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีตำแหน่งใน สนช. สปช. หรือข้าราชการก็สามารถทำประโยชน์ได้

@ พท.ถกข้อสรุปร่วมสนช.-สปช.

     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการส่งตัวแทนพรรคการเมืองร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า เบื้องต้นพรรคยังไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ คงต้องมีการประชุมภายในเพื่อหารือก่อน ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าโอกาสการเป็นสมาชิกสปช.ของฝ่ายการเมืองมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาส่งตัวแทน แต่คงต้องหารือมติแกนนำพรรคก่อน คงมีการนัดหารือกันในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี หากมีตัวแทนไปเป็นสมาชิก สปช. คงไม่มีใครอยากเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกรรมาธิการจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หลังเป็นกรรมาธิการ 2 ปี

@ แนะบิ๊กตู่ต้องฟังให้รอบด้าน

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมาอย่างนี้ คงเป็นความตั้งใจของผู้มีอำนาจจะควบคุมอำนาจไว้ เช่น มาตรา 35 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ได้สั่งการให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ควบคุมสิ่งที่ต้องการไว้ หรือในมาตรา 44 ยังคงอำนาจของ คสช.สามารถบริหารจัดการได้ทุกอย่าง และมองการร่าง รธน.ชั่วคราวที่ออกมานี้นัยยะว่าจะอยู่ในอำนาจยาวหรือไม่ เพราะได้เปิดช่องให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พท. กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญชั่วคราวคือการใช้อำนาจตาม รธน.จะใช้อย่างไร มีการแบ่งแยกอำนาจแต่ละฝ่ายก็จริง แต่สุดท้ายแล้วอำนาจจริงสั่งการต่างๆ ก็ยังอยู่ที่ คสช. อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงตอนนี้คนจะเป็นนายกฯตนบอกได้เลยว่าคือ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชัดอยู่แล้ว ส่วนการห้ามนักการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ นั้น ต้องบอกว่าถึงนักการเมืองเข้าหรือไม่ได้เข้าไปก็ไม่มีความหมาย เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนที่เขาแต่งตั้งมามากกว่าอยู่แล้ว นักการเมืองเข้าไปแสดงความเห็น คนส่วนใหญ่ที่แต่งตั้งก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว เข้าไปมีแต่จะทะเลาะกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ให้ทำไป เมื่อได้อำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วก็ใช้อำนาจให้เต็มที่ จะเขียนกฎหมาย รัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรก็ทำไป สำคัญอยู่ที่การใช้อำนาจจะต้องยุติธรรม เป็นนิติรัฐ นิติธรรม ไม่เข้าข้างใคร อยากฝากบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าเชื่อคนง่าย ให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ต้องดูและฟังให้รอบด้าน อย่าฟังหรือเชื่อคนเพียงบางกลุ่ม

@ อ๋อยจับตาสัมพันธ์คสช.-องค์กร

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่เอกสารต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวถึงธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่า "ในความเห็นของผม ประเด็นที่น่าสนใจติดตามสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีอยู่ 3-4 ประเด็นด้วยกันคือ 1.การจัดความสัมพันธ์ระหว่าง คสช.กับ ครม.ใหม่และองค์กรอื่นๆ 2.ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ 3.การสร้างความปรองดอง และ 4.การสร้างกฎกติกาทางการเมืองจะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งและการรัฐประหารอีกในอนาคต ขอขยายความดังนี้

1.สำหรับการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง คสช.กับองค์กรต่างๆ นั้น เข้าใจว่า คสช.คงศึกษาบทเรียนจากการรัฐประหารครั้งที่แล้วและบทเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วย ทำให้ คสช.ตัดสินใจที่ยังคงอำนาจไว้มาก โดยเฉพาะการมีมาตรา 44 ให้ คสช.สามารถใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามได้อย่างเบ็ดเสร็จและเป็นที่สุด แม้จะไม่ครบทุกเรื่องก็ตาม คสช.อาจสรุปบทเรียนมาว่ามีความจำเป็น แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดความลักลั่นกับองค์กรอธิปไตยทั้งสามได้ และยังมีปัญหาความขัดแย้งกันเองของรัฐธรรมนูญและการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วย หวังว่า คสช.คงไม่ใช้อำนาจตามมาตรานี้เกินความจำเป็นและเหมาะสม

2.คสช.คงจะรวบรวมความเห็นมาจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้มีการปฏิรูป แต่การปฏิรูปเรื่องจำนวนมากในเวลาสั้นๆ และในสภาพที่สังคมยังมีความเห็นต่างกันมาก ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย การเปิดโอกาสให้หลายๆ ฝ่ายได้เข้าร่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรจะพิจารณาคัดเลือกเรื่องที่จำเป็นก่อนหลังให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังควรพิจารณาด้วยว่าต้องการให้การปฏิรูปนั้นมีผลถาวรแค่ไหน เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วจะแก้ไขได้อีกหรือไม่ เพียงใด"

@ ลดคุมเข้มให้คนเห็นต่างร่วม

นายจาตุรนต์กล่าวว่า "3.กระบวนการปรองดองที่กำลังทำอยู่ควรจะต้องเพิ่มการพูดจาหารือกันในเนื้อหาสำคัญๆ โดยเฉพาะการมีความเห็นที่แตกต่างกันมานานการเปิดโอกาสให้ผู้คนที่หลากหลายเข้าร่วมในองค์กรต่างๆ และกระบวนการปฏิรูปก็ดีการปรองดองก็ดีรวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าการที่จะปิดกั้นบุคคลบางกลุ่มบางประเภทออกจากกระบวนการเหล่านี้การปิดกั้นหรือกีดกันคนบางกลุ่มออกจากวงจรตั้งแต่ต้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปรองดองนอกจากนั้นเมื่อมีรัฐบาลและสภาขึ้นแล้วหากจะให้เกิดความสมานฉันท์ได้ดีขึ้นควรลดการใช้มาตรการเข้มข้นในทางความมั่นคงเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะไม่ควรเน้นการเข้มงวดกับบางพวกบางฝ่ายที่พิเศษหรือแตกต่างจากฝ่ายอื่น ทั้งนี้เพื่อลดความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคม

4.ในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้มีลักษณะพิเศษกว่าธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลายฉบับในอดีตตรงที่ได้กำหนดสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่จะร่างกันขึ้นไว้หลายประการดังที่ปรากฏในมาตรา 35 แม้ว่าสาระเหล่านั้นจะมาจากความเห็นในสังคมในหลายเดือนหรือหลายปีมานี้ก็ตาม แต่ความเห็นเหล่านั้นก็มักมาจากบางกลุ่มบางฝ่ายในสังคมเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นที่สอดคล้องตรงกันในหมู่คนส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินต่อไปก็อาจพบว่าที่บัญญัติไว้เป็นแนวนั้นอาจไม่สอดคล้องกับปัญหา หรือไม่สามารถใช้แก้ปัญหาก็ได้ ถึงตอนนั้นก็อาจยุ่งยากที่จะต้องย้อนมาแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียก่อน

@ ห่วงแก้รธน.ไม่ได้เกิดทางตัน

นายจาตุรนต์กล่าวว่า "ที่น่าห่วงมากกว่านั้นคือการที่มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 35 (9) ว่าให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ การบัญญัติไว้อย่างนี้ อาจมีผลเท่ากับว่าเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแล้ว ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกเลย สังคมไทยคงไม่ลืมว่าการที่วิกฤตของสังคมมาถึงทางตันในหลายเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้อยู่ในสภาพที่ไม่มีใครแก้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ทั้งฉบับหรือเป็นรายมาตราก็ตาม การสร้างโรดแมปที่ดีจึงไม่ควรเริ่มจากการกำหนดให้กระบวนการแก้ปัญหาต้องเดินไปสู่ทางตันอีกครั้งหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้เปิดช่องสำหรับการปรึกษาหารือระหว่างองค์กรที่มีอำนาจไว้เพื่อสามารถและแก้ไขปัญหาที่อาจมีหรืออาจพบเห็นในอนาคตและในกระบวนการที่กำลังทำกันอยู่นี้ก็ยังต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนอีกมาก"

@ สื่อนอกชี้ลดอำนาจนักการเมือง

สำนักข่าวเอพีรายงานข่าวกรณี คสช.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยระบุว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทัพจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นประชาธิปไตยน้อยลงโดยการลดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มชนชั้นสูงสามารถครองอำนาจต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังวิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า แม้คาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การปกครองของพลเรือน แต่ทำให้รัฐบาลทหารมีอำนาจสูงสุดเหนือพัฒนาการทางการเมือง นอกจากนี้ ยังทำให้สิ่งที่ คสช.ทำมาทั้งหมดนับตั้งแต่ก่อรัฐประหารเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการทำรัฐประหารด้วย และยังยกตัวอย่างมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ค่อนข้างมาก

ขณะที่วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานอ้างความเห็นของนายไมเคิล มอนเตซาโน ผู้ประสานงานร่วมของโครงการการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยแห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ระบุว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่า กองทัพมีความพยายามจะทำให้การก่อรัฐประหารที่ผ่านมามีความชอบธรรม และทำให้สาธารณชนยอมรับเรื่องนี้ได้ง่ายมากขึ้น

@ คสช.สั่งชะลอจ่ายเบี้ยยังชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในขณะที่ คสช.อยู่ในระหว่างการแต่งตั้ง สนช. เพื่อมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หลังรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีผลบังคับใช้ ได้มีความเคลื่อนไหวในส่วนของสภาเกี่ยวกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้กับอดีตสมาชิก