WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8637 ข่าวสดรายวัน


โปรดเกล้าแล้ว ธรรมนูญฯ 'ประยุทธ์'เข้าเฝ้า 
คสช.สั่งย้ายอีก 2 อธิบดี ยอมปรับคำสั่งคุมสื่อฯ ปปช.ใช้ผลวิจัยชี้คดีปู โต้งซัดตัดสินเหมารวม เติ้งแน่นอก-เข้านอนรพ.


ฝึกจิต - พระสุเทพ เทือกสุบรรณ ร่วมฉันภัตตาหารเพลและฝึกวิปัสสนากับพระภาวนาโพธิคุณ ที่ทีปภาวรรณธรรมสถาน บนเนินเขาสูง หมู่ 1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีญาติโยมมารอดูจำนวนมาก เมื่อวันที่ 21 ก.ค.

       พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดเข้าเฝ้าฯวันนี้ รับพระราชทานรธน. ชั่วคราว ป.ป.ช.โต้ 'ปู'อ้างงานวิจัยทีดีอาร์ไอ ตัดสินคดีข้าว 'วิชา'ชี้ใช้มิติทางเศรษฐศาสตร์มาพิจารณา 'กิตติรัตน์'เปิดใจ ป้องจำนำ ชี้คำตัดสินยกข้อบกพร่อง เหมารวมให้นายกฯ คสช.กำชับ ผู้ว่าฯ จัดงบฯให้อปท.อย่างเป็นธรรม สั่งแจงประชาชนงดเลือกตั้งท้องถิ่นแค่ชั่วคราว 'เติ้ง'เข้าโรงพยาบาล ป่วยแน่นอก

คสช.ประชุมรับฟังความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานการประชุมคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) โดยมีทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ทั้งฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่าที่ผ่านมาจากการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ การเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จไปแล้วนั้น ล่าสุดมีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนแล้วกว่า 1.8 แสน ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้เตรียมจัดทำโรดแม็ปแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤต

ฝ่ายเศรษฐกิจรายงานความคืบหน้าการประชุมของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามแผนงานในปี 2558-2562 ด้านฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระบุว่าจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขกว่า 42 ร่างเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ คสช.ในวันที่ 22 ก.ค. รวมถึงส่วนขึ้นตรงหัวหน้า คสช. ที่แจ้งความก้าวหน้าการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 และ 66 ว่าล่าสุดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานสามารถนำผู้บุกรุกพื้นที่ป่าออกมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนพื้นที่ป่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นผืนป่าผืนเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ที่ถูกบุกรุกกว่า 23,000 ไร่นั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการละมุนละม่อมจนสามารถแก้ปัญหาได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว ขณะที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาอยู่ระหว่างดำเนินการ

กำชับช่วยเหลือประชาชน

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. ฝากเน้นย้ำทุกส่วนงานให้ติดตามการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมที่กระทรวงมหาดไทยดูแล โดยมีผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดควบคุมการทำงาน กำชับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ช่วยกันประสานการทำงานเพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างจริงจัง และรองรับการขอความช่วยเหลือจากประชาชนได้อย่างทั่วถึง พร้อมกันนี้ยังสั่งการให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค.นี้อย่างสม พระเกียรติและยิ่งใหญ่ด้วย เพื่อแสดงแสดงความจงรักภักดี

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของ คสช. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

สั่งผู้ว่าฯดูแลจัดงบ"อปท."

โดยพล.อ.ศิริชัยมอบนโยบายการจัดสรรเงินงบประมาณสนับสนุน อปท. ประจำปีงบประมาณ 2558 ขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดดูแลการจัดทำงบฯ ของท้องถิ่นให้อยู่ในกรอบของสำนักงบประมาณ และนโยบายของหัวหน้า คสช. จัดงบฯ โดยแยกกลุ่มงาน จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ให้ความสำคัญกับงบฯ ซ่อมแซมและงบฯ ลงทุนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกภาคและทุกจังหวัด การของบฯ ให้จัดทำแผนงานโครงการรองรับให้ชัดเจน ครอบคลุมและเป็นธรรม โดยเฉพาะอปท.ที่มีขนาดเล็ก และไม่เคยได้รับการจัดสรรงบฯ มาก่อน ส่วนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจและงบฯ ลงทุนในพื้นที่นั้น ขอให้จัดทำแผนการใช้งบฯ ที่ชัดเจน ทั้งนี้ให้จังหวัดและอำเภอประเมินการใช้งบตั้งแต่ก่อนใช้ ขณะใช้และหลังใช้งบไปแล้ว โดยให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

เสธ.ทบ.กล่าวว่า ในวันที่ 22 ก.ค. จะเปิดศูนย์บริการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จเพิ่มอีก 15 จังหวัด ทำให้มีศูนย์ครบ 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล ขอให้ผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนของแรงงานที่เป็นลูกเรือประมง วางระบบเชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสอบให้ได้ว่ามีนายจ้างใดบ้างที่ยังไม่นำแรงงานมาจดทะเบียน หากยังไม่นำมาจดทะเบียนตามกำหนด จะเอาผิดกับนายจ้าง ส่วนที่ คสช.ประกาศเลื่อนเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ขอให้จังหวัดทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้น 

ด้านนายวิบูลย์กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ประกาศจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม มีหน้าที่ให้บริการของรัฐทุกประเภทในจังหวัด และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกเรื่อง โดยให้มีลักษณะศูนย์บริการร่วม

องค์กรสื่อถกประกาศฉบับที่ 97

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เชิญตัว แทนองค์กรวิชาชีพสื่อจาก 4 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศ ไทย เข้าพบเพื่อหารือถึงข้อกังวลกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่องการให้ความร่วมมือกับ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวเปิดการหารือว่า ตนเป็นหัวหน้าโครงการรับผิดชอบการสร้างความปรองดองของ คสช. เนื่องจากมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 ทราบดีว่าสื่อไม่สบายใจ และพร้อมรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่มีปัญหาในการปฏิรูปประเทศ จึงเชิญองค์กรสื่อมาพูดคุยว่าเกิดปัญหาจุดใด อยากฟังว่าคิดเห็นอย่างไรกับประกาศฉบับดังกล่าว ตัวหนังสือที่ออกมาตรงกับเจตนาหรือไม่ อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสนอความคิดเห็น โดยตนจะหน้าที่รับฟังแล้วนำเรียนต่อ คสช. ต่อไป

ด้านตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อกล่าวภายหลังการหารือว่า ได้เสนอให้พิจารณายกเลิกประกาศข้อ 5 ที่ระบุมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับ การจำหน่ายจ่ายแจก หรือเผยแพร่ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ รวมถึงข้อความระบุว่าห้ามวิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. รวมถึงเจ้าหน้าที่ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่ควรจะแก้ไข เพราะจะทำให้การทำหน้าที่ของสื่อยากลำบาก พร้อมทั้งยืนยันว่าส่วน เรื่องอื่นๆ ก็มีกฎหมายปกติดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ โดยพล.อ.สุรศักดิ์ได้รับปากและส่งสัญญาณว่า จะปรับปรุงแก้ไข หรืออาจยกเลิกคำประกาศที่ 97 

มาร์คโผล่วิจารณ์คสช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "สู่ระยะที่ 2 ของคสช. : รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการนิรโทษกรรม" ว่า วันที่ 22 ก.ค.จะครบ 2 เดือนที่คสช.เข้าควบคุมอำนาจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินการตามโรดแม็ประยะที่ 2 แม้ระยะที่ 1 คสช. จะประสบความสำเร็จนำบ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ สังคมให้โอกาสและพอใจการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพอใจให้คสช.ใช้อำนาจเช่นนี้ตลอดไป ต้องยอมรับว่ารัฐประหารทำให้ระบอบประชาธิปไตยสะดุดหยุดลง รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

นายอภิสิทธิ์ระบุว่า สิ่งที่สังคมไทยคาดหวังคือการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการจะบรรลุ เป้าหมายและนำไปสู่การคืนอำนาจให้แก่ประชาชน มีความคาดหมายว่า เมื่อมีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติ รวมทั้งสภาปฏิรูป คสช.จะผ่อนคลายการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ และเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นได้โดยสุจริต แต่หากคสช.ต้องใช้อำนาจพิเศษ น่าจะเพื่อรักษาความสงบและชำระสะสางความไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับเล็กๆ เช่น อิทธิพลรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ จนถึงการทุจริตระดับชาติ ส่วนประเด็นการบริหารทั่วไปควรให้สิทธิ์ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคสช. ได้เสนอมุมมองอย่างตรงไปตรงมา ตนตั้งใจทำหน้าที่นี้ ซึ่งมีหลายประเด็นน่าห่วงใย โดยเฉพาะการดำเนินการของ คสช. ที่อาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน ตนจะทยอยนำเสนอต่อไป โดยเฉพาะประกาศและคำสั่งที่มีสถานะเป็นกฎหมาย หากไม่มีการแก้ไข หลายกรณีต้องให้สภานิติบัญญัติหรือรัฐสภาในอนาคตเปลี่ยนแปลง ซึ่งยุ่งยาก

ห่วงจำกัดสิทธิ์ก่อแรงกดดัน

"มองว่าปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งคือ คสช.ให้น้ำหนักกับประเด็นความแตกแยก โดยมองข้ามมิติปัญหาอื่นๆ จึงตกอยู่ในกับดักว่าจะไม่อนุญาตให้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเลยและหวังว่าสภาพการณ์แบบนี้จะนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองในทุกระดับได้ โดยไม่สนใจประเด็นความถูกผิดของการกระทำต่างๆ ที่นำบ้านเมืองมาสู่วิกฤต ความสงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันในภาวะที่ไม่มีการจำกัดสิทธิแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากสังคมเห็นว่าการไม่ชำระสะสางปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมให้เกิดขึ้น หรือการทำงาน ของคสช.ต้องอยู่เหนือการวิจารณ์โดยสิ้นเชิง จะเกิดการสะสมแรงกดดัน สุดท้ายไม่อาจนำไปสู่ความสงบหรือความปรองดองสมาน ฉันท์ได้" นายอภิสิทธิ์ระบุ

นายอภิสิทธิ์ระบุด้วยว่า ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตนไม่ได้คาดหวังมากนักเกี่ยวกับ โครงสร้างครม. สภานิติบัญญัติ หรือสภาปฏิรูป เพราะทางเลือกของคสช.มีไม่มาก แต่สิ่งที่ต้องจับตามอง คือในรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือกฎหมายที่จะออกต่อไป ซึ่งจะมีบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้ คสช.เอง ถือเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ถูกต้องแต่เป็นสภาพที่สังคมไทยยอมรับมาตลอด แต่หวังว่าการนิรโทษกรรมนี้จะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงการ กระทำในความผิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องชำระสะสางในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากมีบทบัญญัติดังกล่าว ความยุ่งยากวุ่นวายในประเทศจะเริ่มต้นขึ้นอีก ต้องไม่ลืมว่าวิกฤตการเมืองครั้งหลังมีจุดเริ่มต้นจากประชาชนเกือบทั้งประเทศต่อต้านแนวคิดการล้างผิดกับการกระทำ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

พระเทือกฝึกนั่งกรรมฐาน

เมื่อเวลา 09.00 น. พระสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระปภากโร พร้อมผู้ติดตาม 3-4 คน เดินทางไปยังทีปภาวรรณธรรมสถาน ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง หมู่ 1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อฝึกวิปัสสนาและฝึกกรรมฐานกับประชาชนที่เข้าอบรม 40 คน เป็นเวลา 7 วัน โดยได้เข้านมัสการพระภาวนาโพธิคุณ หรืออาจารย์โพธิ์ ผู้ดูแลธรรมสถานและที่ปรึกษาวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา ซึ่งการเดินทางมาที่เกาะสมุย ไม่มีประชาชนในพื้นที่ และกลุ่มกปปส.เกาะสมุยมารับ เนื่องจากไม่มีใครทราบข่าว

พระสุเทพกล่าวว่า ไม่ขอคุยเรื่องการเมือง เรามาเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อฝึกนั่งกรรมฐาน อยากนำคำสั่งสอนพุทธศาสนาไปเผยแผ่ประชาชนได้ปฏิบัติธรรม จิตใจไม่ร้อนรุ่ม สงบจิตใจดีขึ้นเยอะ เรื่องการเมืองเราไม่ยุ่ง ขอใช้ชีวิตประจำวันตามปกติยึดถือในศาสนาอย่างเคร่งครัด ส่วนอาการเจ็บที่แขนผ่าตัดดีขึ้นแล้ว

คาบเกี่ยวศาลนัดคดี"99ศพ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเฟซบุ๊กของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ โพสต์ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า พระสุเทพขอให้แจ้งญาติโยม ว่าวันที่ 21-28 ก.ค.นี้ จะไม่อยู่ที่ สวนโมกข์ เนื่องจากจะไปฝึกวิปัสสนากับพระภาวนาโพธิคุณ ที่ทีปภาวรรณธรรมสถาน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกำหนดฝึกวิปัสสนาของพระสุเทพ ระหว่างวันที่ 21-28 ก.ค.นั้น คาบเกี่ยวกับวันที่ 28 ก.ค. ที่ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนา เล็งเห็นผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84, 90 กรณีร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์จากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมเมื่อปี 2553 อย่างไรก็ดี นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ในวันดังกล่าวพระสุเทพจะเดินทางมาศาลอาญาตามนัด แต่ไม่แน่ใจว่าจะลาสิกขาหรือมาทั้งในสมณเพศ

วิชาโวย"ปู"โต้แย้งปปช.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. บรรยาย "ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย : บทบาทของนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์" ในการอบรมหลักสูตรนิติศาสตร์ระยะสั้นแก่เจ้าหน้าที่ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตอนหนึ่งว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายคือการให้ความเป็นธรรม แต่คนบางกลุ่มคิดว่ากฎหมายไม่ให้ความเป็นธรรม จึงตั้งคำถามและออกมาโวยวาย หลังจากนั้นจะเกิดการโต้แย้งไปเรื่อย

นายวิชากล่าวต่อว่า เช่น กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งระบุไม่รับความเป็นธรรมในกระบวนการไต่สวนและพิจารณา ทั้งที่กฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นกฎหมายในรูปแบบรัฏฐาธิปัตย์คือ กฎหมายไม่มีการแบ่งแยกในระดับชนชั้น โดยใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันจึงจะเกิดการเสมอภาคในสังคม รวมทั้งกฎหมายที่บังคับใช้ต้องตอบสนองสังคม หากตอบโจทย์ไม่ได้จะเกิดการโต้แย้งของการใช้กฎหมายในสังคมทันที

อ้างงานวิจัยทีดีอาร์ไอฟันจำนำข้าว

นายวิชากล่าวว่า สำหรับนโยบายสาธารณะเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง ถ้ารัฐบาลมุ่งหารายได้โดยไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของประชาชนหรือสาธารณะ นั่นคือความพินาศหรือความตายของทุกรัฐบาล ถ้าไม่มีการริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐ ศาสตร์ที่วิเคราะห์วิจัยเอาไว้ เช่น ผลการศึกษาเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ แสวงหาคำตอบเอาไว้ ตนฟันธงว่าป.ป.ช.จะไม่สามารถชี้มูลความผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เลย ดังนั้น มิติทางเศรษฐศาสตร์จึงมีความสำคัญมาก ขณะที่การทำงานของป.ป.ช. ต่อจากนี้จะใช้สหสาขา วิชาศาสตร์คือ การผนึกกำลังระหว่างนิติศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานป.ป.ช.เตรียมยกร่าง คำชี้แจงและคำแถลงการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวหลังจากน.ส. ยิ่งลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้รับความเป็น ธรรมจากป.ป.ช.เรื่องกระบวนการไต่สวนและจะแถลงชี้แจงในวันที่ 22 ก.ค.นี้ ยืนยันว่าการทำงานของป.ป.ช.ไม่ได้เร่งรัดปิดเกมเพราะ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายทุกประการ

วิชัยมั่นใจอสส.สั่งฟ้องแน่

ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าอัยการสูงสุด (อสส.) จะส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิชัยกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว โดยมีพยานหลักฐานและเอกสารชัดเจนครบถ้วน และมีความแน่นหนามาก จึงคิดว่าไม่น่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอสส.กับป.ป.ช. ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ป.ป.ช.เร่งทำเอกสารและรายงานส่งให้กับอสส. ให้ทันภายใน 14 วันตามกรอบกฎหมายโดยไม่สามารถขยายเวลาไปมากกว่านี้ได้

เมื่อถามว่าป.ป.ช.จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่ หลังจากป.ป.ช.ให้ความเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาท นายวิชัยกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้ แต่คิดว่าคงต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

"กิตติรัตน์"เปิดใจ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้สัมภาษณ์ข่าวสดว่า หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ใช้เวลาทำสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้ทำในขณะที่รับใช้บ้านเมืองในหน้าที่รัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกฯยิ่งลักษณ์ มีโอกาสให้คำปรึกษาแก่ลูกชาย มีโอกาสพาครอบครัวไปกราบบรรพบุรุษที่จังหวัดระนอง มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนญาติมิตร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมืองเพื่อไม่ให้ต้องเป็นที่ไม่สบายใจของใครต่อใคร 

"ดีใจกับชาวนาที่ได้รับชำระเงินค่าจำนำข้าวด้วยวิธีการระดมเงินจากสถาบันการเงิน ตามแนวทางเดียวกับที่ผมเคยพยายามทำ แต่ทำไม่สำเร็จด้วยเหตุผลที่ผู้คนทั่วไปก็ทราบดีกันอยู่ ผมติดตามข่าวสารบ้านเมืองด้วยจิตอันเป็นกุศลหวังเห็นบ้านเมืองมีความสงบสุขปรองดอง อย่างไรก็ตาม สามสี่วันที่ผ่านมาก็รู้สึกทุกข์ใจ เมื่อเรื่องราวอันเป็นกระบวนการของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผมทำงานอยู่ด้วย และเคยทำหน้าที่ในระดับนโยบายทั้งโดยตรง และโดยอ้อมมาโดยตลอดจบลง เพราะผมหมดหน้าที่พร้อมกับนายกฯยิ่งลักษณ์ จากเหตุรับทราบการโยกย้ายข้าราชการท่านหนึ่ง เมื่อเกือบสามปีก่อน" นายกิตติรัตน์กล่าว

เซ็ง"วาทกรรม"บิดเบือน

นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า ความทุกข์ที่ว่าเกิดเมื่อเห็นการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้กล่าวโทษทางอาญา ต่อนายกฯยิ่งลักษณ์ ทั้งที่นายกฯ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายจำนำข้าว ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อเข้ารับหน้าที่ โดยกระบวนการพิจารณา ของ ป.ป.ช. ที่กำลังถูกสังคมตั้งคำถามว่า มีการดำเนินการรวบรัดเร่งรีบ อย่างไม่เป็นปกติหรือไม่ ความบกพร่องใดๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นก็ถูกเหมารวมเป็นความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแต่เพียงผู้เดียวไปเสียทั้งหมด พยานที่ผู้ถูกกล่าวหาเสนอไป ซึ่งก็เห็นว่าเป็นคนดีมีความเป็นธรรมตามสมควร ก็ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด 

"ความทุกข์ที่ต่อเนื่องตามมาด้วยการอ่านความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ตามระบบ "วาทกรรม" อันเป็นงานถนัดของอดีตนักการเมืองคนหนึ่ง ในลักษณะฉายหนังบิดเบือนซ้ำซาก ที่สื่อมวลชนบางฉบับนำมาถ่ายทอด ทำให้ผมได้สติว่า การที่ผมจะอยากเห็นส่วนรวมมีความสงบสุขก็ไม่ได้แปลว่าผมมีหน้าที่หยุดคิด หยุดพูด ผมขอยืนยันว่าการดูแลชาวนา ผู้ปลูกข้าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และรัฐบาลต่างๆ ในอดีตก็ดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีทั้งด้วยวิธีการรับจำนำ และวิธีการ อื่นๆ ทุกวิธีมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน" นายกิตติรัตน์กล่าว

ชี้ข้อต่างประกัน-จำนำ

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า บางวิธีที่ดูคล้ายกับไม่มีการทุจริต ไม่ต้องรับข้าวเข้าคลังสินค้า ไม่ต้องใช้เงินหมุนเวียน ไม่ต้องรับซื้อ ไม่ต้องขายออก ให้เห็นยอดขาดทุน เช่นโครงการประกันราคาข้าว กลับเป็นโครงการที่มีโอกาสทุจริตสูงเพราะไม่มีข้าวให้ตรวจสอบ เพียงแต่สามารถลงทะเบียนว่าปลูกข้าว ทั้งที่มีพื้นที่จำนวนมากไม่ได้ปลูกข้าวจริง ก็มารับเงินชดเชยส่วนต่างราคาได้ คนที่ทุจริตกลุ่มนี้จะยิ่งพอใจเมื่อราคาข้าวในตลาดยิ่งต่ำ เพราะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาด กับราคาประกันมากขึ้น จนเคยมีกรณีร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. มาก่อน การร้องเรียนเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เสียอีก

นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นโครงการที่มุ่งดูแลชาวนา ซึ่งข้อดีก็มีมากอย่างต่อเนื่องทั้งการลดช่องว่างระหว่างคนรวย กับชาวนาในชนบท จนช่วยลดความกดดันทางสังคม ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้จากภาษีประเภทต่างๆ ให้แก่ประเทศ แต่ก็ต้องทำงานหนัก ทำงานให้สุจริต เพราะหากมีการทุจริตก็จะปรากฏเป็นหลักฐานให้ดำเนินการเอาผิดกับบุคคลที่กระทำผิดเป็นการเฉพาะแต่ละเรื่อง แต่ละเวลาได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการเอาผิดต่อบุคคลที่ทุจริตอย่างจริงจัง แต่ที่น่าสนใจคือ ป.ป.ช.ยังไม่พบและพิสูจน์การกระทำผิด และระบุ ผู้กระทำผิดตามกระบวนการของ ป.ป.ช. ในแต่ละเรื่องดังกล่าวเลย

เผยพบคอลัมนิสต์อ้างพยานมั่ว

"ความทุกข์ยังคงเพิ่มขึ้น ชนิดวันต่อวัน เมื่ออ่านข้อเขียนของคนมีปากกาในคอลัมน์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ขายดีฉบับหนึ่ง ที่เขียนให้เข้าใจว่า มีพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ ฯพณฯยิ่งลักษณ์ คนหนึ่งให้การ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี โดยระบุ เป็นถ้อยคำให้การต่อ ป.ป.ช.ในเครื่องหมายคำพูดว่า "แนวทางในโครงการรับจำนำข้าว ผมไม่ได้คิดเอง แต่นายกฯใส่แฟ้มมาให้ ผมก็ดำเนินการตามนั้น ทำอะไรนายกฯก็รับรู้หมด... หลายเรื่องผมไม่เห็นด้วย ผมก็จะสั่งให้เขียนเป็นหมายเหตุเอาไว้ท้ายบันทึกการประชุม แต่ก็ไม่มีใครดำเนินการตาม" ผมมั่นใจว่าไม่มีพยานที่ให้การกับ ป.ป.ช. ในถ้อยคำดังกล่าว หรือแม้แต่จะมีความหมายใกล้เคียงกับถ้อยคำดังกล่าว" นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า ไม่มีท้ายบันทึกการประชุมอะไร ไม่ว่าของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หรือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะไปถูกบันทึกโดยพยานคนใด ให้ใคร ไม่ปฏิบัติตาม หากมีพยานคนใดให้การในลักษณะ หรือความหมายดังกล่าว ขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีกับพยานคนนั้นๆ ในข้อหาให้การเท็จ เพราะบันทึกคำให้การทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นเสียงของผู้ให้การย่อมถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหากไม่มีการให้การในลักษณะดังกล่าว ป.ป.ช.ก็ควรกล่าวโทษกับคนมีปากกาของหนังสือพิมพ์ขายดีฉบับนั้น ไม่ให้เป็นความเสื่อมเสียแก่ ป.ป.ช. และยังช่วยผดุงรักษาสื่อมวลชนโดยรวมให้มีคุณภาพด้วย

พท.จี้ให้ประกันคดีการเมือง

นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ คสช.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหารให้กับกลุ่ม นปช. ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะขณะนี้มีกลุ่มคนเสื้อแดงติดคุกอยู่ในเรือนจำ ทำให้ยังเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สิทธิ์ประกันตัวออกมาต่อสู้คดี เพื่อเป็นไปตามนโยบายของคสช.ที่ต้องการคืนความปรองดองให้กับประเทศ เป็นการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ส่วนผู้กระทำความผิดอาญาให้เป็นขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

คสช.ย้ายอีก 2 อธิบดี

เมื่อเวลา 20.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. เซ็นประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยการกำกับดูแลงานรัฐวิสาหกิจนั้น คณะกรรมการฯจำเป็นต้องมีอำนาจแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ คสช.จึงมีคำสั่งดังนี้ 1.ให้เพิ่มความต่อไปนี้ (2/1) ของข้อ 2 ใน คำสั่ง คสช.ที่ 75 โดยเมื่อมีคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแล้ว ให้คณะกรรมการ นโยบายฯ ยังคงมีอำนาจตามข้อ 2 ดำเนินการตามวงเล็บ 1, 2, (2/1), 3, 4, 5 ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ประกาศฉบับที่ 98/2557 เรื่องกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้า คสช. มีคำสั่งดังนี้ 1.ให้กำหนดตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง 2.ให้นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ พ้นจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นพิเศษเฉพาะราย 3.ให้นายพสุ โลหารชุน พ้นจากรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

4.นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล พ้นจากผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม 5.นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม 6.นายจุฬา สุขมานพ พ้นจาก ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า 7.นายพีระพล ถาวรเจริญสุข รอง ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

ให้ข้าราชการข้างต้นปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง เมื่อมีการตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตาม ข้อ 2 ให้ตำแหน่งดังกล่าวยกเลิก

ย้าย"บีโอไอ"ขึ้นตรงนายกฯ

ประกาศ คสช.ฉบับที่ 99/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้มีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่ง มาตรา 5 ของพ.ร.บ. และให้ความต่อไปนี้ มาตรา 5 ให้นายกฯรักษาการตามพ.ร.บ.นี้และมีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศตามพ.ร.บ.นี้ ให้กฎกระทรวงประกาศที่ออกตามประกาศ ที่ใช้ยังคับก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้ยังคับให้ใช้ต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศใหม่ใช้บังคับ

ประกาศฉบับที่ 100/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนมีประสิทธิภาพ จึงสมควรโอนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาห กรรม ไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกฯ โดยเป็นส่วนที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกฯ คสช.จึงมีประกาศดังนี้

เพิ่มหน้าที่ผู้ช่วยผญบ.ฝ่ายปกครอง

ประกาศ คสช.ฉบับที่ 101/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 71/2557 โดยที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้กระบวนการสรรหา ผู้ว่าการ สตง.และคตง.ทำการได้ คสช.จึงมีประกาศให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นข้อ 10 ฉบับที่ 71/2557 ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาในตำแหน่งใดในคณะกรรมการสรรหาตามข้อ 3 หรือ 5 ให้กรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ 

ประกาศ คสช.ฉบับที่ 102/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปกครองท้องที่ ด้วยสมควรแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงมีประกาศว่าให้เพิ่มความเป็น(3) ในวรรคหนึ่งของมาตรา 28 ทวิ แห่งพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรักษาความสงบ

โปรดเกล้าฯแล้วรธน.ชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 17.00 น. วันที่ 22 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีกำหนดเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรี ขันธ์ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

พระราชทาน'รธน.'วันนี้ 'บิ๊กตู่'เข้าเฝ้า 5 โมงเย็น'วังไกลกังวล' ทรงลงพระปรมาภิไธย ฉบับชั่วคราว 48 มาตรา สทท.จี้เลือกตั้ง'อปท.' ปปช.แถลงตอบโต้'ปู'


แน่นหน้าอก - นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าเช็กอาการแน่นหน้าอกที่ รพ.รามาธิบดี ก่อนขอตัวไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.สุพรรณบุรี และกลับเข้ารักษาอาการที่ รพ.รามาธิบดี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม


ฝึกวิปัสสนา -พระสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระปภากโร เดินทางมายัง "ทีปภาวรรณธรรมสถาน" หมู่ 1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อฝึกวิปัสสนากับพระภาวนาโพธิคุณ หรืออาจารย์โพธิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม

มติชนออนไลน์ :

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้'พล.อ.ประยุทธ์'เฝ้าฯรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

@ เล็งชงร่างกม.42ฉบับเข้าคสช.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กรกฎาคม ที่กองบัญชาการทหารบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมาย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.เป็นประธานการประชุม คสช. โดยทุกส่วนงานได้เข้ารายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ได้เปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จไปแล้วนั้น ล่าสุด มีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนแล้ว

กว่า 1.8 แสนคน ด้านฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้เตรียมจัดทำโรดแมปแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤตต่างๆ ส่วนฝ่ายเศรษฐกิจรายงานความคืบหน้าการประชุมของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามแผนงานในปี 2558-2562 ขณะที่ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ระบุจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจำนวนกว่า 42 ร่างเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ คสช. ในวันที่ 22 กรกฎาคม รวมถึงส่วนขึ้นตรงหัวหน้า คสช.ที่ได้แจ้งความก้าวหน้าการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/66 ว่า ล่าสุด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานสามารถนำผู้บุกรุกพื้นที่ป่าออกมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนพื้นที่ป่าเขาใหญ่ เป็นผืนป่าผืนเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกที่ถูกบุกรุกกว่า 23,000 ไร่นั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการละมุนละม่อมจนสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว ขณะที่ส่วนของอุทยานแห่งชาติปางสีดาอยู่ระหว่างดำเนินการ

@ ย้ำดูแลช่วยเหลือปชช.เต็มที่

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ในส่วนของหัวหน้า คสช.ได้ฝากเน้นย้ำทุกส่วนงานให้ติดตามเรื่องการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรม ที่กระทรวงมหาดไทยดูแลโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดควบคุมการทำงาน กำชับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ช่วยกันประสานการทำงานเพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างจริงจัง และสามารถรองรับการขอความช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2557 อย่างสมพระเกียรติและยิ่ง

ใหญ่ด้วย 

@ "ยธ."ผนึกกำลังบี้พวกโกง

ที่กระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผย หลังจาก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ออกมาระบุว่าจะแก้ไขกฎหมายการตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเข้มข้น ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกันหลายหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุตริจและการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยหารือในมาตรการด้านการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หลายหน่วยงานที่มีอำนาจการดำเนินคดีมีกฎหมายใช้บังคับเฉพาะของแต่ละหน่วยสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ต้องสงสัยได้ แต่ยังติดในข้อกฎหมายการประสานงานต้องขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ บางครั้งเกิดปัญหาล่าช้า

นายชาญเชาวน์กล่าวว่า มีแนวคิดให้นำกฎหมายว่าด้วยการตรวจพิสูจน์หลักฐานการเงินและการบัญชีในรูปกฎหมายชัดเจน โดยให้แต่ละหน่วยงานมาร่วมกันทำงานและยึดกฎหมายกลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มี 2 ทางเลือก คือ จะออกเป็นกฎหมาย หรือไม่จำเป็นต้องเป็นกฎหมาย แต่ใช้วิธีจัดระบบการทำงานใช้ข้อมูลร่วมกัน หากใช้แนวทางที่ 2 ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายจะให้มีการหารือเพื่อตกลงทำความเข้าใจถึงบทบาทที่แต่ละหน่วยงานยอมรับได้ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.เสรีภาพทางการค้า 2.สิทธิมนุษยชน 3.ความเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และ 4.ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่

@ ดึงกองทัพร่วมสืบสวนด้วย

"กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะคล้ายเป็นนิติวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล ช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ทั้งการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือกองทัพจะเข้ามาร่วมสืบสวนได้ ในส่วนกระทรวงยุติธรรมจะทำความเห็นเสนอต่อ พล.อ.ไพบูลย์ เพื่อนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ยกร่างกฎหมายต่อไป" นายชาญเชาวน์กล่าว และว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมทุกหน่วยงานในสังกัดจะเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน กฎหมายดังกล่าวถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและองค์กรธุรกิจเพราะสามารถป้องกันการถูกโกง ซึ่งในต่างประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้เนื่องจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มักถูกโกง

@ มท.ถกแจงงบฯ-ปมสรรหา

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงมหาดไทย มีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ มายังห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร เป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุม 

พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า วาระการประชุมที่สำคัญในวันนี้คือ 1.เรื่องการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ตามที่ คสช.ได้มีประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ซึ่งมีนโยบายให้การจัดสรรเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม บูรณาการทั้งบุคลากร งบประมาณ แผนงานโครงการต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัดครอบคลุมทุกพื้นที่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด กำหนดให้งบประมาณที่จะปรากฏใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2558 จะต้องมีแผนงานรองรับ รายจ่ายประจำให้จัดสรรให้เหมาะสม งบอุดหนุนเฉพาะกิจ ต้องจัดทำรายละเอียดความต้องการที่ชัดเจน และต้องให้ความสำคัญกับจังหวัดที่ไม่ได้รับการดูแลก่อน ให้จังหวัดและอำเภอประเมินการใช้งบประมาณตั้งแต่ก่อนใช้ ขณะใช้และหลังใช้งบประมาณไปแล้ว โดยต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะทำงานจังหวัดมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า ข้อ 2.การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยไม่ทำลายความเป็น อปท.ตามหลักสากล ซึ่งเป็นแค่ระยะสั้น การสรรหาคนที่เชื่อว่าจะเป็นตัวแทนของท้องถิ่นล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอิสระต่อกัน การใช้ดุลพินิจของกรรมการสรรหา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น บุคคลผู้ได้รับการสรรหา ถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของท้องถิ่นได้

@ สั่งเดินหน้าตั้งศูนย์ดำรงธรรม

นายวิบูลย์กล่าวว่า ได้สั่งการเพิ่มเติมแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในระดับจังหวัด ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช.ตามประกาศการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม โดยมีหลักการให้ศูนย์ดำรงธรรมมีหน้าที่ให้บริการของรัฐทุกประเภทในจังหวัด และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกเรื่อง ในลักษณะของศูนย์บริการร่วม โดยมีบริการที่สำคัญ 5 เรื่อง คือ 1.การให้บริการข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษา 2.การให้บริการรับเรื่อง-ส่งต่อ (Service-Link) 3.การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 4.การรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ และ 5.การรับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน โดยให้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรในขั้นแรกให้ตั้งขึ้นจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และวางระบบการให้บริการและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม

@ สภา-วุฒิฯประชุมรองรับ2สภา

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมี นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภา พร้อมด้วย นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา นายพิทูร พุ่มหิรัญ อดีตเลขาธิการสภา และข้าราชการ เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 

นายจเรกล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมสำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ขณะที่กระบวนการเตรียมการประชุมต่างๆ คงไม่แตกต่างจากงานราชการตามปกติ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการร่วมที่มีนิติกร และวิทยากรของทั้ง 2 สภามาเป็นคณะทำงานเพื่อเตรียมการภายในล่วงหน้าก่อน สำหรับกฎหมายที่ค้างการพิจารณาของทั้ง 2 สภามีประมาณ 70-80 ฉบับ จะมีการรวบรวมเพื่อเสนอต่อไป ส่วนฉบับใดเร่งด่วนต้องพิจารณานั้น คิดว่าแล้วแต่สถานการณ์เป็นตัวกำหนด อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว เป็นการทำงานตามกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งสิ้น" นายจเรกล่าว 

เมื่อถามว่า ทาง คสช.ได้ประสานเพื่อขอความคืบหน้ามายังสภาหรือไม่ นายจเรกล่าวว่า เป็นเรื่องของข้าราชการประจำต้องคุยกันเอง โดยหลักการแล้ว คงต้องรอดูรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะกำหนดให้สภาทำหน้าที่อะไรบ้าง เบื้องต้นจะเตรียมข้อมูลทางวิชาการไว้ล่วงหน้า ซึ่งทางสภาได้รายงานความคืบหน้าไปยังฝ่ายกิจการพิเศษของ คสช.ทั้งรายวันและรายสัปดาห์

นางนรรัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมให้มีคณะทำงานร่วม 2 สภา จะใช้เจ้าหน้าที่นิติกรเป็นหลัก แต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนคน คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ให้อำนาจหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำอะไรได้บ้าง ส่วนความพร้อมในงานด้านกรรมาธิการมีความพร้อมเต็มที่แล้ว 

@ บิ๊กตู่เข้าเฝ้ารับพระราชทานรธน.

สำนักพระราชวังแจ้งหมายกำหนดการพระราชกิจประจำวันว่า วันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เฝ้าฯ รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ในโอกาสนี้ พ.อ.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ ฝ่ายเสนาธิการ ประจำผู้บังคับบัญชา เข้าเฝ้าฯด้วย

สำหรับรัฐธรรมนูญมีทั้งสิ้น 48 มาตรา กำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ยังคงอำนาจ คสช. เอาไว้ควบคู่กับอำนาจรัฐบาล และกำหนดให้สภานิติบัญญัติมีจำนวน 220 คน ส่วนสภาปฏิรูปมีสมาชิกจำนวน 200 คน 

@ ภุชงค์ปลุกจนท.กกต.ยึดกม. 

ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานการอบรมใช้งานระบบรายงานผลการปฏิบัติงานทางอิเล็กทรอนิกส์ รุ่น 2 โดยมีเจ้าหน้าที่ กกต.ทั่วประเทศกว่า 200 คน เข้าร่วมอบรม 

นายภุชงค์กล่าวว่า การใช้ระบบรายงานผลทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มความรวดเร็วในการรายงานจากเดิมที่เคยปฏิบัติ พร้อมขอให้พนักงานมีจิตใจที่หนักแน่น แม้องค์กร กกต.จะถูกโจมตีทางสื่อต่างๆ รวมทั้งทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราจะต้องยืนหยัดและตั้งใจทำงาน อย่าไปมองว่า กกต.ถูกลดอำนาจ ขอให้ยึดตามกฎหมาย การที่เรายังได้เป็นกรรมการสรรหาผู้บริหารท้องถิ่น นั่นคือสิ่งที่ คสช.ให้ความมั่นใจในการทำงาน โดยหน้าที่ต้องทำให้ดีที่สุด ขอให้ทุกฝ่ายต้องพร้อมสนับสนุนงานในการสรรหา โดยเฉพาะข้อมูลผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น เราคงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบ พร้อมกำชับพนักงานทุกคนใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ติดต่อประสานกันภายในของแต่ละจังหวัด อย่าใช้ถ้อยคำที่รุนแรง

@ "สมชัย"หนุนคสช.สรรหาท้องถิ่น

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวกรณีคณะ คสช.ออกประกาศฉบับที่ 85 และ 86/2557 ระบุว่าให้งดการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสมาชิกสภาท้องถิ่นและใช้การสรรหาแทน ว่า เมื่อมีประกาศ คสช.ออกมา เท่ากับว่าขณะนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่เกิดขึ้น จะเปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาแทน กระบวนการสรรหาทาง กกต.จะเข้าร่วมเป็นฝ่ายสนับสนุนการสรรหาสมาชิก อปท. โดยมีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กกต.จว.) เข้าไปเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบันมี อปท.ที่ครบวาระและคาดว่าน่าจะมีการสรรหาจำนวน 400 กว่าแห่ง จะต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระลงนั้นจะเป็นหน้าที่ปลัดท้องถิ่นนั้นปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่จะครบวาระปลายเดือนสิงหาคมนั้น จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาตามประกาศของ คสช. กกต.ก็พร้อมร่วมสนับสนุน เนื่องจากมีเลขาธิการ กกต.เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย 

@ เผย"กกต."ยังมีงานต้องสะสาง

นายสมชัยกล่าวว่า ขณะที่บทบาทหน้าที่ของ กกต.ทั้ง 4 ด้าน แม้ไม่ได้จัดการเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงทำหน้าที่อยู่ตามปกติ ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยก็ยังมีสำนวนคัดค้านการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะต้องพิจารณากว่า 500-600 สำนวน อาจมีการพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญาแต่จะไม่มีการสั่งเลือกตั้งใหม่และชดใช้ค่าเสียหายในการจัดเลือกตั้ง หรือจะพิจารณายกคำร้อง ขณะที่ด้านการมีส่วนร่วม จะทำหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในการเลือกตั้งและทำความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งและอาจทำหน้าที่เป็นกลไกเพื่อรองรับสภาปฏิรูปในอนาคตว่าหากมีความจำเป็นต้องทำความเห็นประชาชนหรือจัดทำประชาพิจารณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนด้านบริหารจัดการเลือกตั้งจะเป็นกลไกปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งขณะที่ด้านพรรคการเมือง แม้ขณะนี้จะยังไม่มีบทบาทมากนัก แต่ต่อไปจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะต้องเตรียมเสนอความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้เป็นกฎหมายที่มีความเข้มแข็งเป็นรากฐานอย่างแท้จริง ทั้งนี้แม้จะมีประกาศ คสช.ดังกล่าว ใช่ว่า กกต.จะไม่มีบทบาท เพราะ กกต.มีหน้าที่ต้องทำอีกมากพอสมควรเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

@ "มาร์ค"โพสต์การทำงานของคสช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Abhisit Vejjajiva" เรื่อง "สู่ระยะที่ 2 ของ คสช. : รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการนิรโทษกรรม" ว่า "อีกเพียง 1 วันก็จะครบ 2 เดือนนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดย คสช.ได้แบ่งขั้นตอนการบริหาร (โรดแมป) ออกเป็น 3 ระยะ โดยขณะนี้เป็นที่คาดหมายว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการในระยะที่ 2

"สองเดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่า คสช.ประสบความสำเร็จในการนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ก่อความรุนแรง ผู้ครอบครองอาวุธสงคราม มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ค้างคา เช่น การจ่ายเงินในโครงการจำนำข้าว สิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมจากสภาพบ้านเมืองก่อนการยึดอำนาจ ทำให้ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบ่งบอกว่าสังคมมีความพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

"อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญความจริงได้ว่าการทำให้ระบอบประชาธิปไตยสะดุดหยุดลง รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะทำด้วยเจตนาให้เกิดความสงบ ทำให้ คสช.ต้องพบกับแรงกดดันทั้งจากในและต่างประเทศ ให้มีความชัดเจนว่าจะกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยในภาวะปกติเมื่อใดและอย่างไร หากไม่นับบางกลุ่มที่สูญเสียอำนาจ และเคลื่อนไหวแสดงการต่อต้านอย่างเปิดเผย ต้องถือว่าสังคมไทยให้โอกาส คสช.ในการทำงานอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพึงพอใจให้ คสช.ใช้อำนาจอย่างเช่นในปัจจุบันตลอดไป"

@ ให้คนเห็นต่างได้เสนอมุมมอง

นายอภิสิทธิ์เขียนลงเฟซบุ๊กต่อว่า "สิ่งที่สังคมไทยคาดหวังที่จะเห็นต่อไป คือ การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยมีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และนำไปสู่การคืนอำนาจให้แก่ประชาชน จึงมีความคาดหมายว่าสภาพการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ จะค่อยๆ ถูกผ่อนคลายลง และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการมีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติ รวมทั้งสภาปฏิรูป การแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยสุจริต จะสามารถกระทำได้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูป โดยมองว่าหากจะต้องมีการใช้อำนาจโดย คสช. ก็น่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบ และชำระสะสางความไม่ถูกต้องทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับเล็กๆ เช่น ปัญหาอิทธิพลรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ จนถึงการทุจริตระดับชาติ

"สำหรับประเด็นการบริหารโดยทั่วไปก็ดี หรือการออกคำสั่งหรือประกาศก็ดี ย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่าต้องการสร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง หลายคนเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเห็นการปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ ซึ่งคนเหล่านี้ควรมีสิทธิที่จะได้นำเสนอมุมมองอย่างตรงไปตรงมา ผมก็ตั้งใจทำหน้าที่นี้ และขณะนี้ มีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย โดยเฉพาะการดำเนินการของ คสช. ที่อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน โดยจะทยอยนำเสนอเป็นประเด็นๆ ต่อไป โดยเฉพาะประกาศและคำสั่งที่ออกมานั้นมีสถานะเป็นกฎหมาย หากไม่มีการแก้ไข หลายกรณีจะต้องไปใช้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐสภาในอนาคตเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นเรื่องยุ่งยาก

@ ชี้คสช.มองข้ามมิติปัญหาอื่น

หัวหน้า ปชป.ยังกล่าวในเฟซบุ๊กต่อว่า "ผมมองว่าปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งคือ คสช. ให้น้ำหนักกับประเด็นความแตกแยก ดังที่ประกาศไว้ในวันยึดอำนาจ โดยมองข้ามมิติปัญหาอื่นๆ จึงตกอยู่ในกับดักว่าจะไม่อนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเลย และหวังว่าสภาพการณ์แบบนี้ จะสามารถนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองในทุกระดับได้ โดยไม่ต้องสนใจประเด็นความถูกผิดของการกระทำต่างๆ ที่นำบ้านเมืองมาสู่วิกฤต

ความสงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีความยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันในภาวะที่ไม่มีการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หากสังคมเห็นว่าการไม่ชำระสะสางปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมให้เกิดขึ้น หรือการทำงานของ คสช.ต้องอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสิ้นเชิง ก็จะเกิดการสะสมแรงกดดันและสุดท้ายไม่อาจนำไปสู่ความสงบหรือความปรองดองสมานฉันท์ได้" 

"สำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมานั้น ผมไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากนักเกี่ยวกับโครงสร้าง ครม. สภานิติบัญญัติ หรือสภาปฏิรูป เพราะทางเลือกของ คสช.คงมีไม่มากนัก แต่สิ่งที่จะต้องจับตามองคือในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกฎหมายที่จะออกต่อไป คงหนีไม่พ้นที่จะมีบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้ คสช.เอง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นสภาพความเป็นจริงที่สังคมไทยยอมรับมาโดยตลอด แต่ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการนิรโทษกรรมนี้จะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงการกระทำในความผิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องชำระสะสางในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าว ความยุ่งยากวุ่นวายในประเทศคงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งหลังนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ประชาชนเกือบทั้งหมดของประเทศต่อต้านแนวความคิดการล้างผิดกับการกระทำ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

สำหรับประเด็นปัญหาการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ขอยกยอดเป็นวันหลังครับ"

@ อำนวยหนุนนิรโทษเว้นคดีม.112 

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า อยากขอให้ คสช.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารให้กับกลุ่ม นปช. ยกเว้นคดีหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะขณะนี้กลุ่มคนเสื้อแดงติดคุกอยู่ในเรือนจำ ทำให้ยังเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สิทธิประกันตัวออกมาต่อสู้คดีเป็นไปตามนโยบายของ คสช.ที่ต้องการคืนความปรองดองให้กับประเทศ เป็นการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ส่วนผู้กระทำความผิดอาญาก็ให้เป็นขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมจะว่ากันต่อไป 

@ "ปึ้ง"เผยพรรคเพื่อไทยยังนิ่ง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของแกนนำ พท.ในขณะนี้ แต่ละคนต่างแยกย้ายไปทำธุรกิจของตัวเอง บางคนถือโอกาสไปพักผ่อนในต่างประเทศ แต่ไม่ได้นัดพบปะอะไรกัน เนื่องจากเกรงว่าหากมีการนัดทานอาหารร่วมกันอาจเป็นเหตุให้ คสช.เรียกไปพบเพื่อสอบถามหรืออาจจะถูกควบคุมตัวอีกได้ พท.จะรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เสียก่อน จากนั้นจะเรียกประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทันที 

@ ป.ป.ช.ยังไม่คิดฟ้องแพ่ง"ปู"

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.ได้เตรียมยกร่างคำชี้แจงและคำแถลงการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. และจะได้แถลงชี้แจงให้ทราบในวันที่ 22 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นการเร่งรัดปิดเกม ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายทุกประการ

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จะส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิชัยกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ทำการพิจารณาเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วโดยมีพยานหลักฐานและเอกสารชัดเจนครบถ้วน มีความแน่นหนามาก คิดว่าไม่น่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง อสส.กับ ป.ป.ช. ขั้นตอนขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังเร่งทำเอกสารและรายงานส่งให้กับ อสส.ให้ทันภายใน 14 วัน ตามกรอบของกฎหมาย ไม่สามารถขยายเวลาไปมากกว่านี้ได้

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จะสามารถดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่ หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท นายวิชัยกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้พูดคุยกันถึงประเด็นนี้ แต่คิดว่าคงต้องมาพิจารณากันในรายละเอียดอีกครั้ง

ในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อม ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย จะเดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 กรกฎาคม เวลาประมาณ 00.05 น. โดยเที่ยวบินสายการบินไทย ทีจี 930 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเข้าร่วมงานวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย เป็นการจัดงานภายในครอบครัว ก่อนใช้เวลาเที่ยวประเทศอื่นๆ กับลูกชาย 

@ จับตาพระสุเทพขึ้นศาล28ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขณะนี้บวชเป็นพระฉายา พระสุเทพ ปภากโร เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบ 

ม.80, 83, 84, 90 กรณีร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์จากกลุ่ม นปช.ที่ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ทั้งนี้ จึงเป็นข้อสังเกตว่าพระสุเทพจะเดินทางมาที่ศาลตามนัดหรือไม่ อีกทั้งนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าในวันดังกล่าวพระสุเทพจะเดินทางมาศาลอาญาตามนัด 

@ "พระสุเทพ"ปัดไม่คุยการเมือง

เมื่อเวลา 09.00 น. พระสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระปภากโร พร้อมผู้ติดตาม 3-4 คน ได้เดินทางไปยังทีปภาวรรณธรรมสถาน ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง หมู่ 1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อฝึกวิปัสสนา เป็นเวลา 7 วัน เมื่อถึงได้เข้านมัสการพระภาวนาโพธิคุณ หรืออาจารย์โพธิ์ ผู้ดูแลธรรมสถานและที่ปรึกษาวัดธารน้ำไหล 

(สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา 

พระภาวนาโพธิคุณได้นำพระสุเทพและพระสงฆ์รวม 3 รูป ฉันภัตตาหารเพลจากปิ่นโตที่มีประชาชนถวายตามปกติ หลังจากนั้นได้เข้าร่วมฝึกกรรมฐานกับประชาชนที่เข้าอบรมจำนวน 40 คน

พระสุเทพกล่าวว่า "ไม่ขอคุยเรื่องการเมืองนะเรามาเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อฝึกนั่งกรรมฐาน อยากนำคำสั่งสอนพุทธศาสนาไปเผยแผ่ประชาชน ได้ปฏิบัติธรรมจิตใจไม่ร้อนรุ่มสงบจิตใจดีขึ้นเยอะ ร่างกายดีขึ้น เรื่องการเมืองเราไม่ยุ่งขอใช้ชีวิตประจำวันตามปกติยึดถือในศาสนาอย่างเคร่งครัด ส่วนอาการเจ็บที่แขนผ่าตัดดีขึ้นแล้ว" 

@ "เติ้ง"แน่นอกเข้าโรงหมอ

เมื่อเวลา 04.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา อายุ 81 ปี ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เกิดอาการแน่นหน้าอก สืบเนื่องจากโรคประจำตัวภูมิแพ้ ทางครอบครัวจึงได้พานายบรรหารเข้าพบแพทย์ประจำตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ได้ตรวจเบื้องต้น ก่อนจะพ่นยาและให้พักผ่อน กระทั่งเวลา 07.00 น. อาการของนายบรรหารเป็นปกติ จึงขออนุญาตแพทย์ปฏิบัติภารกิจไปเป็นประธานเปิดงานและวางศิลาฤกษ์เจดีย์องค์พระยูไร ตามฤกษ์เวลา 09.15 น. ที่พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์) ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ต่อมาเวลา 12.45 น. นายบรรหารได้เดินทางกลับมายังโรงพยาบาลรามาธิบดีอีกครั้ง และให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้เป็นอะไรมาก เพียงแต่เมื่อคืนเกิดแน่นหน้าอกจนช่วงเช้าทนไม่ไหว เสียงแหบ จึงเดินทางมาพบแพทย์ตรวจร่างกายในเบื้องต้น และขออนุญาตไปเปิดงานวางศิลาฤกษ์ที่ จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ปกติเคยรู้สึกแน่นหน้าอก แต่ครั้งนี้ทนไม่ไหว คิดว่าจะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 2 วัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรหารค่อนข้างมีอาการอิดโรย อ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังสามารถเดินลงจากรถเข้าตัวอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โดยไม่ยอมนั่งรถเข็นที่เจ้าหน้าที่จัดให้

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า นายบรรหาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยอาการเหนื่อยหอบเล็กน้อย ขณะนี้อาการปลอดภัยดีแล้ว แต่ยังต้องพักรักษาตัวต่อในโรงพยาบาล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!