- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 16 July 2014 11:44
- Hits: 4234
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8631 ข่าวสดรายวัน
แถลงวุ่น ปลัดสธ.โต้ล้ม 30 บ. งดเลือก'อปท.' ใช้สรรหาแทน แต่แค่ชั่วคราวเทือกบวชเงียบ อยู่ที่สวนโมกข์
บวชเงียบ - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เข้าพิธีอุปสมบท แบบเงียบๆ ที่วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค. ก่อนจะไปอยู่ที่วัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา |
เผย'สุเทพ'ดอดบวชพระเงียบๆ แบบสายฟ้าแลบกับเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ฯ ได้ฉายา'ปภากโร'ระบุไม่มีภาระต้องรับผิดชอบแล้ว ก่อนจะขอไปอยู่สวนโมกขพลารามปฏิบัติธรรม ด้านปลัดสธ.'หมอณรงค์'โต้วุ่น ยันไม่มีแผนชงยุบ 30 บาทแล้วใช้ระบบร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการยกเลิกกองทุนต่างๆ ในสปสช. เผยประชาชนยังใช้บริการแบบเดิมต่อไปได้ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยรับเป็นเจ้าของไอเดีย อ้างเห็นปัญหามาเยอะ กกต.เล็งอีกชงคสช.แก้กฎหมายเลือกตั้งเหลือสภาเดียว เลือกส.ส.ใช้ทั้งจังหวัดเป็นเขตแล้วไล่ลำดับคะแนนแบบเดียวกับเลือกส.ว.
บิ๊กตู่ประชุมคสช.-ปลัดกระทรวง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ก.ค. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมใหญ่ คสช. ครั้งที่ 6/2557 มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายความมั่นคง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคสช. พร้อมปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนงานต่างๆเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ ได้รายงานความคืบหน้าการทำงาน อาทิ การทำงานของฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายเศรษฐกิจ และส่วนขึ้นตรงหัวหน้า คสช. โดยพล.อ.ประยุทธ์ สรุปการทำงานที่สำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนเข้าวาระประชุมหลัก คือการตั้งอนุกรรมการ 3 คณะฟื้นฟูตรวจสอบการทำงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการตั้งอนุกรรมการ 5 คณะ เร่งรัดการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งหัวหน้าคสช.ระบุว่าจะต้องเดินหน้าปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและเห็นผลต่อไปโดยเร็ว
จัดมหกรรมคืนความสุข 22-27 ก.ค.
หัวหน้า คสช. กล่าวในที่ประชุมด้วยว่าสัปดาห์นี้ จะหารือกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน(กรอ.)เพื่อหาแนวทางให้ทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประกอบการด้านการส่งออกและท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ จะเร่งติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กนข.) เป็นตัวหลัก เน้นให้สอดคล้องกับแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2557 และแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมยังหารือถึงการเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 ส.ค. รวมทั้งติดตามการดำเนินการตามแผนงบประมาณรายจ่าย 2557 รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำ 2558 ด้วย
เวลา 13.30 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) สวนรื่นฤดี พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการกอ.รมน. เป็นประธานประชุมส่วนราชการเรื่อง การจัดมหกรรมการสร้างความปรองดองสมานฉันท์คืนความสุขให้คนในชาติที่ท้องสนามหลวง มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม
พล.อ.อักษรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในเดือนส.ค.นี้ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หัวหน้าคสช.ปรารถนาจะเห็นความสุขของคนไทย ที่ประชุมจึงจะขยายเวลาจัดงานจากเดิมวันที่ 22-25 ก.ค. เป็นวันที่ 22-27 ก.ค. โดยจะเสนอหัวหน้า คสช.ให้ความเห็นชอบต่อไป
ปลัดมท.นำรองปลัด-อธิบดีพบคสช.
ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนจะนำรองปลัดและอธิบดีทุกกรมของกระทรวงไปพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายความมั่นคง ในวันที่ 16 ก.ค. ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อหารือถึงงานของกระทรวงที่จะรองรับนโยบายของคสช. และรายงานเนื้องานที่ดำเนินการไปแล้วและจะดำเนินการต่อไป
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงหารือถึงการหากลไกข้อกฎหมายดูแลการจำหน่ายสุรานอกสถานบริการตามที่มีหน่วยงานเสนอให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2515 เรื่องการกำหนดเวลาการจำหน่ายสุราและดื่มสุรา สถานที่ขายสุรา และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนตามความในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯและนายอำเภอ ใช้ประกาศดังกล่าวเป็นเครื่องมือควบคุมการจำหน่ายสุราในสถานที่และเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลมาตลอด หากมีผู้เสนอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงต้องพูดคุยกับหน่วยงานที่เสนอให้ยกเลิกเพื่อทำความเข้าใจ และจะนำเรื่องขอความเห็นจาก พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช. เพื่อให้มีเครื่องมือดูแลปัญหาอบายมุข
ทำเนียบเริ่มแล้วปรับปรุงอาคาร
เมื่อเวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกรมยุทธโยธาทหารบก เริ่มปรับปรุงอาคารสถานที่ และทัศนียภาพภายในทำเนียบ โดยเฉพาะตึกนารีสโมสร ห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 หรือรังนกกระจอก และตึกบัญชาการ 2
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเปิดเผยว่า กรมยุทธโยธาทหารรับผิดชอบปรับปรุงพื้นที่ 3 อาคารดังกล่าว โดยศูนย์แถลงข่าวตึกนารีฯ จะปรับปรุงพื้นที่เฉพาะภายในตัวตึก เพื่อเป็นห้องรับรองแขกของนายกฯ รองนายกฯ ที่ปรึกษาฯ รวมถึงแขกต่างประเทศที่มาเยือนและพบปะหารือ แต่จะไม่ทุบหรือเปลี่ยนแปลงตัวภายนอกตึก ซึ่งมีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมดูแลอยู่
เจ้าหน้าที่เปิดเผยต่อว่า ตึกนารีสโมสร ไม่เหมาะเป็นห้องทำงานของข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ จึงจะย้ายศูนย์แถลงข่าวของทำเนียบฯ ไปอยู่ที่ตึกบัญชาการ 2 ทั้งหมด มีห้องรับรองสื่ออยู่ภายในตึกเดียวกัน สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ จะให้ขนออกจากตึกนารีฯ ในวันเดียวกันนี้ ส่วนรังนกกระจอกนั้นจะไม่รื้อหรือทุบทิ้ง แต่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นเรือนรับรอง เนื่องจากอยู่ติดกับตึกนารีฯ โดยจะย้ายผู้สื่อข่าวไปอยู่รวมกันที่ห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 2 บริเวณประตู 1 แทน
ปนัดดาโต้ข่าวรื้อรังนกกระจอก
ด้านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในการประชุมคสช.ชุดใหญ่วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมถึงกระแสข่าวการรื้อรังนกกระจอก ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยยืนยันว่าจะไม่มีการรื้อ แต่จะให้เจ้าหน้าที่ดูแลทำความสะอาดปรับปรุงทาสีให้สวยงาม ขณะที่พล.ต.อ.อดุลย์ ก็ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดในที่ประชุม
"การปรับปรุงอาคารสถานที่ในทำเนียบฯ ที่มีข่าวว่าใช้งบประมาณถึง 300 ล้านบาทนั้น เป็นเพียงตัวเลขลอยๆ ขณะนี้แบบแปลนรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหารือและประชุมจนกว่าจะได้ข้อสรุป" ม.ล.ปนัดดากล่าว
ม.ล.ปนัดดา ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในทำเนียบฯ และการย้ายห้องทำงานสื่อมวลชนอีกครั้งว่า หัวหน้าคสช. ให้กรอบความคิดเรื่องนี้ชัดเจนว่าการจะปรับปรุงพื้นที่ของทำเนียบฯ ให้ยึดหลักประหยัด ส่วนเรื่องรังนกกระจอกนั้น พล.อ.ประยุทธ์บอกแล้วว่าไม่เคยคิดรื้อ แต่จะทำให้สวยสะอาด เป็นระเบียบ ให้ทุกคนได้ใช้สอยพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ย้ายที่ทำงานของสื่อมวลชน เพราะรังนกกระจอกจะเป็นตำนานเล่าขานสืบไป อยู่ตรงนั้นกันอย่างไรก็อยู่ต่อไป ข่าวที่ออกมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความเห็นอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งตัวเลขงบประมาณต่างๆ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่พูดจาหารือกัน ยังไม่ขึ้นไปสู่ผู้บริหารระดับสูง
แจงแผนงานเก่า-ไม่เกี่ยวกับคสช.
เมื่อถามว่าหัวหน้าคสช.ได้สอบถามที่มาที่ไปถึงการปรับปรุงและย้ายสถานที่และการใช้งบประมาณหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า แผนงบประมาณซ่อมบำรุงสถานที่ภายในทำเนียบ เกิดมาหลายสมัยแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์กำชับว่าให้ประหยัด ไม่ขัดกับหลักกฎหมายโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี ตึกบัญชาการ ตึกนารีสโมสร เป็นพื้นที่สำคัญทั้งสิ้น เป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงย้ำให้เจ้าหน้าที่ไปหารือกันก่อนจะเสนอขึ้นมา
เมื่อถามว่า คสช.กังวลหรือไม่ว่าการใช้งบประมาณจะกระทบภาพลักษณ์ของคสช.ว่าไม่ได้ช่วยประหยัดงบ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่ได้พูด แต่ตนตั้งข้อสังเกตเอง คสช.ยึดมั่นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเจ้าหน้าที่ต้องกลั่นกรองเรื่องให้ดีก่อนเสนอขึ้นมา อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อดุลย์ เห็นตรงกับหน้าหน้าคสช.โดยหน่วยงานในทำเนียบรัฐบาล ทั้งสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) สำนักเลขาธิการ นายกฯ (สลน.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
ด้านพล.ต.วิวรรธน์ สุชาติ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก กล่าวถึงข่าวคสช.สั่งรื้อรังนกกระจอก เพราะเกรงความลับรั่วไหลว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เรื่องการปรับปรุงและย้ายสถานที่ภายในทำเนียบฯ นั้น ทหารและคสช.ไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นการเสนอแผนงานโดย เจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ซึ่งเป็นแผนงานเดิมและประชุมร่วมกับพล.ต.อ.อดุลย์แล้ว ยืนยันอีกครั้งว่าทหารและคสช.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่มีข่าว
'อดุลย์'ระบุทำตามแผนงานเดิม
เมื่อเวลา 14.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่โดยเฉพาะรังนกกระจอกว่า เป็นแผนที่มีการพูดคุยกัน เนื่องจากทำเนียบไม่ได้ปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2545 หรือ 12 ปีแล้ว สำนักเลขาธิการนายกฯ มีแผนดำเนินการเดิมอยู่แล้ว โดยจะปรับในจุดที่มีการปฏิบัติงานทั้งตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี ตึกบัญชาการ 1 และตึกบัญชาการ 2 ตึกนารีสโมสร บ้านพิษณุโลก และบ้านมนังคศิลา ส่วนข่าวจะย้ายผู้สื่อข่าวไม่ให้ทำงานที่รังนกกระจอกนั้น เป็นเพียงแนวคิด แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เบื้องต้นต้องการให้สภาพและภูมิทัศน์ทั้งหมดดูดี ยืนยันว่าไม่มีความคิดรื้อรังนกกระจอกและย้ายผู้สื่อข่าวออกไป
"ก่อนที่ผมจะตัดสินใจ ผมจะสอบถามความเห็นของผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งผู้สื่อข่าว ดูที่ความต้องการเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสะดวกในการทำหน้าที่ของทุกคน แผนเดิมที่พูดคุยกันนั้นยังไม่มีเรื่องย้ายผู้สื่อข่าวออกจากรังนกกระจอก เพียงแต่ที่ประชุมต้องการ ปรับให้ดีขึ้น ปรับปรุงตึกบัญชาการ 2 ให้เป็นสถานที่ทำงานของทีมโฆษก มีแนวคิดจัดระบบให้เชื่อมต่อกัน ให้ทีมโฆษกและศูนย์แถลงข่าวทำงานอย่างเบ็ดเสร็จในตึกบัญชาการ 2 รวมถึงให้ตึกนารีสโมสรเป็นสถานที่รับรองแขกของรัฐบาลด้วย แต่ถือว่ายังไม่ได้ข้อยุติ" พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว
ปัดใช้ 300 ล้าน-ยันเน้นพอเพียง
ส่วนข่าวการใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารสถานที่และภูมิทัศน์ทำเนียบนั้น พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ชั้นต้นมอบให้หน่วยงานราชการ ประกอบด้วยกรมยุทธโยธาทหารบก กรมโยธาธิการและผังเมือง กทม. กรมศิลปากร ไปประมาณการตัวเลขงบประมาณ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป แต่ตามแผนเดิมได้ประมาณงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งแล้ว ตนเน้นย้ำว่าพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอแผนงานให้เร็วที่สุดเพื่อรับรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนที่มีข่าวจะย้ายผู้สื่อข่าวออกไป เพราะกลัวความลับรัฐบาลใหม่จะรั่วไหลนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ที่ประชุมเห็นว่าเมื่อปรับปรุงตึกบัญชาการ 2 ให้เป็นศูนย์แถลงข่าวจึงต้องการให้ทำเป็นระบบเดียวกัน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า พูดคุยกับที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ ที่คสช.มีคำสั่งย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลบ้างแล้ว ยกเว้นนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขั้นต้นจัดระบบให้แต่ละคนมีที่ทำงานประจำก่อน ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่เรียบร้อย ส่วนใหญ่จะจัดที่ทำงานให้ที่สำนักงานก.พ. ถนนพิษณุโลก ตรงข้ามทำเนียบ
ปลัดสธ.โต้ยุบ 30 บ.-ชี้การเมือง
เวลา 11.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดเสนอคสช.ให้ประชาชนในสิทธิบัตรทอง และ 30 บาทรักษาทุกโรค ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลถึงร้อยละ 30-50 ว่า ตนไม่จำเป็นต้องแก้ข้อหา เพราะพูดความจริง ในการประชุมตรวจเยี่ยมของผบ.ทร. เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นั้น กระทรวงได้จัดทำข้อเสนอต่อคสช. มีวาระการประชุมชัดเจน ตรวจสอบได้ โดยเป็นข้อเสนอในการดำเนินนโยบายของกระทรวง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก มี 4 เรื่อง 1.การบริการประชาชน 2.การปรองดองสมานฉันท์ ที่สธ.ร่วมกับกอ.รมน.ระดับจังหวัด 3.ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ และ 4.กลไกอภิบาลระบบคุณธรรม ไม่มีการทุจริตทั้งในและนอกสธ.
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ไม่ได้เสนอประเด็นการร่วมจ่าย แต่ในช่วงที่เปิดให้เสนอความคิดเห็นนั้น มีผู้เสนอความเห็นซึ่งเป็นข้อเสนอทั่วไป ที่ประชุมให้ไปพิจารณาศึกษา แต่ไม่ใช่มติที่ประชุม และตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ก็ยังไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้มาหารือ หรือทำอะไรต่อ เรื่องที่เกิดขึ้น ตั้งข้อสังเกตว่ามีกระบวนการทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากการประชุมเกิดขึ้นวันที่ 31 พ.ค. แต่กลับมีการกระจายข่าวช่วงนี้ และน่าแปลกใจที่ตอนนี้เราไม่มีนักการเมือง แต่มีกระบวนการการเมืองขึ้น
แจงวุ่นเลิกกองทุนย่อยสปสช.
เมื่อถามว่า เอกสารสรุปการประชุมผ่านการรับรองถูกต้องหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า เอกสารนั้นเป็นการสรุปของผู้ปฏิบัติงาน ต้องส่งเวียนให้ผู้เข้าร่วมประชุมพิจารณาว่าจะรับรองตามนั้นหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการรับรองแต่อย่างใด อยากย้ำว่าขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทองยังใช้ได้เหมือนเดิมทุกประการ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเก็บเงินตามที่มีข่าว จึงอยากให้สื่อนำเสนอข้อเท็จจริงตรงนี้อย่างปราศจากอคติด้วย
ต่อข้อถามว่าได้เข้าพบเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคสช. หรือไม่ ปลัด สธ. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในกระทรวง แต่ทั้งหมดจะรายงานต่อคสช.แน่นอน
ส่วนที่มีข่าวยุบกองทุนย่อยต่างๆ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)นั้น นพ.ณรงค์กล่าวว่า ไม่ได้ยุบ แต่บริหารจัดการให้ดี เนื่องจากกองทุนย่อยมีจำนวนมาก ส่วนที่มีการอ้างอิงจะไปแตะกองทุนผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์นั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ กองทุนสุขภาพฯ แบ่งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล และยังมีกองทุนอื่นๆ อีกมาก ตรงนี้จะมีเรื่องงบประมาณเข้ามา หากไม่จัดการและตั้งเป้าการทำงานให้ชัดเจน จะเป็นการใช้งบฯ ไม่เกิดประโยชน์ได้ นอกนั้นกองทุนเอดส์ กองทุนไตวายเรื้อรัง ไม่มีการเข้าไปยุ่งและ ผู้ป่วยจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดิม
เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นพ.ณรงค์แถลงว่า สธ.และคสช.ไม่มีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ยังเหมือนเดิม ประเด็นที่เสนอในที่ประชุมต่อหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นแผนดำเนินงานเพื่อจัดบริการให้ประชาชนดีขึ้น ยืนยันไม่มีการเสนอร่วมจ่ายจากสธ.
สปสช.ย้ำหลักประกันสุขภาพ
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยหลังเข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า เข้ามาหารือเพื่อร่วมกันตั้งเป้าหมายการทำงานและเคลียร์บทบาทหน้าที่ของสธ.และสปสช. ไม่มีการหารือประเด็นการร่วมจ่าย เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ตนเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งไม่มีการอภิปรายเรื่องนี้
นพ.วินัย กล่าวว่า ประชาชนใช้บริการได้ตามปกติ ตามกติกาเดิมคือจ่ายตามแต่ความสมัครใจ ทั้งนี้ ในหลักการร่วมจ่ายนั้นต้องดูว่าร่วมจ่ายแล้วผลักภาระให้ประชาชน จนทำให้เจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพบิดเบือนหรือล้มเหลวหรือไม่ ถ้ามีการออกแบบระบบบริการที่ทำให้ประชาชนต้องรับภาระ ต้องคิดหนักทุกครั้งว่าไปรักษาพยาบาลต้องจ่ายเงินเท่าไร ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่หลักประกันสุขภาพแล้ว
นพ.วินัยกล่าวว่า สำหรับกองทุนสุขภาพตำบลตามที่มีข่าวปรับเปลี่ยนเกณฑ์นั้น ขณะนี้งบประมาณปี 2557 ได้จัดสรรไปหมดแล้ว ส่วนงบปี"58 ยังต้องรออนุกรรมการการเงินการคลังพิจารณาก่อน อยู่ระหว่างการจัดทำโดยกองทุนดังกล่าวเริ่มจัดสรรงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2549 มีการปรับปรุงแก้ไขกลไกการจ่ายงบประมาณ ตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด
หมอชนบทยันค้านการร่วมจ่าย
วันเดียวกัน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทไม่เห็นด้วยกับแนวทางการร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ตามสิทธิประโยชน์ต้องไม่ร่วมจ่ายในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ในฐานะรัฐบาลจัดงบประมาณให้บัตรทองเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ส่วนการรักษานอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ ก็ไม่ขัดข้องว่าเป็นเรื่องที่ต้องจ่าย เช่น ผู้ป่วยปวดหัว แต่ต้องการให้เอกซเรย์หรือซีทีสแกนโดยแพทย์วิเคราะห์ว่าไม่มีข้อบ่งชี้ ส่วนการขอรับบริการพร่ำเพรื่อนั้น เชื่อว่ามีเปอร์เซ็นต์อยู่น้อยจนไม่ควรนำมาพูดถึงมาตรการลงโทษ ส่วนการเสนอแนวทางการร่วมจ่าย จากเอกสารสรุปการประชุมที่เผยแพร่ออกมาว่าเห็นด้วยกับแนวทางการร่วมจ่ายในสัดส่วนร้อยละ 30-50 นั้น แม้นพ.ณรงค์ จะยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเสนอ แต่ผู้ที่เสนอก็อยู่ในประชาคมสาธารณสุข และเหตุใดจึงไม่มีใครคัดค้าน
"มีหลายประเด็นที่แพทย์ชนบทต้องติดตาม และชี้ให้คสช.เห็นว่าทัศนคติการเป็นผู้นำและนโยบายของนพ.ณรงค์นั้น ไม่สามารถคืนความสุขให้ประชาชนได้ ซึ่งนโยบายหลายอย่างไม่ว่าประเด็นขององค์การเภสัชกรรม การปฏิรูปกระทรวงที่ประชาชนไม่ได้อะไร นอกจากโอนเงินจากสปสช.ไปไว้ที่เขตบริการสุขภาพ ให้ผู้ตรวจเป็นผู้บริหารงบฯ หากถามคนในพื้นที่ร้อยละ 80 คงไม่ไว้ใจกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้กระจายงบฯ ซึ่งต่างจากการให้สปสช.กระจายงบฯ" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการกระจาย งบฯ ไปยังท้องถิ่น จากที่สธ.มีหนังสือสั่งการให้ปรับหลักเกณฑ์งบฯ ของกองทุนสุขภาพตำบลนั้น เห็นได้ว่าการกระจายอำนาจเป็นส่วนช่วยป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ ซึ่งการให้ท้องถิ่นร่วมจ่ายในกองทุนดังกล่าว เกิดผลดีต่อการทำงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพในพื้นที่ ที่ผ่านมาถือว่าช่วยลดภาระของบุคลากรแพทย์สาธารณสุขลงได้มาก ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไม่ให้บุคลากรในพื้นที่เข้าร่วมประชุม หรือทำนิติกรรมกับสปสช.จนกว่าจะมีระเบียบใหม่นั้น ถือเป็นการสร้างความขัดแย้ง และไม่ได้ปรองดอง
"หมอธวัชชัย"รับเองชงยุบ 30 บ.
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตนเป็นคนเสนอแนวทางการร่วมจ่ายในบัตรทอง หลังจากนพ.ณรงค์เสนอนโยบายโดยรวมต่อคสช. และไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นปัญหา ทั้งนี้ ตนไม่ได้เสนอว่าต้องจัดเก็บในสัดส่วนร้อยละ 30-50 เพียงแต่เสนอว่าระบบสาธารณสุขมีปัญหาต้องแก้ไขด้วยวิธีการร่วมจ่าย
"ผมเป็นคนเสนอเอง และนพ.ณรงค์ไม่ได้ขอให้ออกมาแถลง สาเหตุที่เสนอเพราะในอดีตขณะเป็นผู้ตรวจราชการได้เห็นปัญหาและคิดว่าควรแก้ไข ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนพยายามเสนอแก้ปัญหางบฯ ด้านสาธารณสุขมาตลอดและมีการร่วมจ่ายอยู่แล้ว เช่น จ่าย 500 บาทในการฟอกไต เป็นต้น ซึ่งการเสนอดังกล่าว อยากให้เกิดความเป็นธรรมในระบบ เกิดความเท่าเทียมและแก้ปัญหางบประมาณเท่านั้น" นพ.ธวัชชัยกล่าว
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสิทธิประกันสังคมหรือข้าราชการต้องร่วมจ่ายทั้งสิ้น ซึ่งแนวทางการร่วมจ่าย จะทำให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ร่วมรับผิดชอบจากโรคที่ทำตนเอง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบสุขภาพ เห็นได้ว่าประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1-2 ครั้งต่อปี เป็น 4-5 ครั้งต่อปี งบฯ รายหัวเพิ่มจากพันกว่าบาท เป็นสามพันกว่าบาท รัฐต้องแบกรับภาระงบฯ ทั้งค่ายา ค่าบุคลากร การเสนอแนวทางดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมของประเทศ ตนไม่กลัวที่จะพูดประเด็นดังกล่าว เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง
กกต.ตั้งอนุกก.ชงรื้อกม.เลือกตั้ง
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เป็นประธานประชุมผู้บริหารสำนักงาน เพื่อหารือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรวม 5 ฉบับที่อยู่ใน อำนาจกกต. โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยจัดกลุ่มปัญหาตามภารกิจ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.ในเชิงระบบเลือกตั้ง กกต.เห็นว่าควรเป็นอย่างไร เช่นจะยังคงเป็นสภาคู่ มีส.ส. และส.ว. หรือเป็นสภาเดี่ยว มี ส.ส.อย่างเดียว คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครควรเป็นอย่างไร จำนวน ส.ส. และส.ว.ควรมีกี่คน
2.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง การหาเสียง กกต.จะปรับปรุงหรือปราบปรามอย่างไรไม่ให้มีทุจริต ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่กกต. พรรค การเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัคร และ 3.ประสิทธิภาพในการทำงานของกกต. ทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การสั่งเลือกตั้งใหม่ จะใช้เวลากี่วันหากตรวจสอบพบทุจริต ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาสังเคราะห์และตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อ จึงตั้งเป็นอนุกรรมการ 3 ชุดพิจารณาปัญหาและจัดทำแนวทางเสนอในแต่ละข้อ มีรองเลขาธิการกกต.ทุกด้าน เป็นประธานแต่ละชุด ซึ่งทั้ง 3 ชุดจะเริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. เพื่อเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกกต.ที่นัดประชุมวันที่ 1 ส.ค. ก่อนทำเป็นข้อเสนอสภาปฏิรูปต่อไป
เล็งเหลือสภาเดียว-ส.ส.เขตทั้งจว.
รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอปฏิรูปการเลือกตั้งที่ กกต.เสนอคณะทำงานด้านการปฏิรูปของคสช. ก่อนหน้านี้ นอกจากประเด็นการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ส.ที่ต้องไม่เกิน 2 วาระหรือ 8 ปีแล้ว ยังพบว่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจ คือ เรื่องส.ว. ที่ กกต.เสนอปัญหาว่าการมี ส.ว.มาจากเลือกตั้งและการสรรหา ทำให้เกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.เลือกตั้งหนีไม่พ้นการถูกครอบงำจากพรรคการเมือง เพราะมีฐานที่มาเดียวกับ ส.ส. ขณะที่ ส.ว.สรรหา ขาดความยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น ควรยกเลิก ส.ว.แล้วมีสภาเดียวหรือไม่ หรือหากจะคงไว้ ก็ต้องแก้ไขคุณสมบัติที่มา รวมทั้งกรณีที่เสนอให้เปลี่ยนเขตเลือกตั้งจากเขตเดียว เบอร์เดียวในปัจจุบัน มาเป็นเขตใหญ่ โดย กกต.ให้เขตใหญ่หมายถึงใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่ละจังหวัดก็ใช้จำนวนคะแนนที่ได้เป็นตัวกำหนด ซึ่งจะไล่เรียงจนครบตามจำนวน ส.ส.ที่พึงมีของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อปี 2543
ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส. นอกจากต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 1 ปี ห้ามต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีทุจริตซื้อเสียง คดียาเสพติด คดีหมิ่นสถาบันแล้ว ยังเสนอให้ ผู้สมัคร ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิเพียงพอที่จะมาพัฒนาประเทศ รวมทั้งต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่สมัครไม่น้อยกว่า 5 ปีเพียงอย่างเดียว ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต.เสนอโดยให้น้ำหนักว่าควรยกเลิก เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ หากจะคงไว้ก็ต้องแก้ไขกระบวนการเพื่อให้เกิดการใช้สิทธิมากขึ้น
อดีส.ว.สรรหาแบะท่านั่งสนช.
วันเดียวกัน พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึง คสช.เตรียมทาบทามวุฒิสภาไปดำรงตำแหน่ง สนช.ว่า ยังไม่ได้รับการประสานแต่จากการหารือกลุ่มเพื่อน 40 ส.ว.เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ไม่มีใครทราบ มองว่า คสช.ยังมีเวลาประสานบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ แต่อาจจะประสานหลังประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว คาดว่า คสช.คงมีรายชื่ออยู่ในใจแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนแบ่งสายไปประสานบุคคลต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่เท่านั้น
"การแต่งตั้งสนช.ครั้งนี้ จะต้องมีบุคคลที่เคยเป็นวุฒิสภาเข้าทำหน้าที่แน่นอน ถือเป็นประเพณีเมื่อมีรัฐประหารทุกครั้งจะเชิญตัวแทนวุฒิสภาแต่ละสมัยมาร่วมทำงาน จึงไม่เชื่อว่าจะมีการแหกโผประเพณี ไม่เอาอดีต ส.ว.มาร่วมทำงาน ส่วนจะเป็นสัดส่วนเท่าใดขึ้นอยู่กับคสช." พล.อ.อ.วีรวิทกล่าว
ปปช.คาดฟันอาญา"ปู"เดือนก.ย.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้ ป.ป.ช.ทบทวนการสอบเพิ่มพยาน 8 ปากในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาแล้วโดยยืนยันมติเดิมคือไม่อนุญาตตามที่ร้องขอมา เนื่องจากพยาน ดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช.จะทำหนังสือแจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบต่อไป หากฝ่าย ผู้ถูกกล่าวหายังคงร้องขอให้ป.ป.ช. สอบพยานเพิ่มเติมในรายเดิมๆ อีก ป.ป.ช.ก็คงมีมติไม่อนุญาตเหมือนเดิม แต่หากเป็นพยานใหม่ก็ต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ป.ป.ช.มีระเบียบการไต่สวนอยู่แล้วว่าหากผู้ถูกกล่าวหามีเจตนายื้อเวลาการพิจารณาคดีให้ล่าช้า ป.ป.ช. สามารถมีมติให้งดการไต่สวน และวินิจฉัยคดีได้ทันที เท่าที่ดูพยานหลักฐานขณะนี้เชื่อว่า ป.ป.ช.คงใช้เวลาไต่สวนอีกไม่นาน คาดว่าเดือนก.ย.นี้จะลงมติวินิจฉัยคดีนี้ได้
"สุเทพ"ดอดบวช-อยู่สวนโมกข์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 15 ก.ค. สื่อสังคมออนไลน์มีการโพสต์รูปภาพนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ในชุดครองผ้าไตรจีวร ซึ่งคนใกล้ชิดนายสุเทพ ยอมรับว่า นายสุเทพเข้าอุปสมบทจริงที่วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ ธานี เมื่อเช้าวันที่ 15 ก.ค. พร้อมหลานชาย มีพระเทพพิพัฒนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอุปัชฌาย์ ซึ่งการบวชครั้งนี้เป็นไปอย่างลับๆ แม้แต่บุคคลใกล้ชิด เช่น นายธานี และนายเชน เทือกสุรรณ น้องชายยังไม่ทราบเรื่อง มีเพียงอดีตแกนนำกปปส.บางคนเท่านั้นที่ร่วมพิธี
คนใกล้ชิดนายสุเทพกล่าวว่า พระสุเทพตั้งใจจะบวชที่วัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา แต่เป็นช่วงเข้าพรรษาแล้ว ทางวัดไม่บวชพระภิกษุหลังวันเริ่มต้นเข้าพรรษาแล้ว แต่หลังพิธีอุปสมบทเสร็จสิ้น ได้ประสานขอไปจำพรรษาที่วัดสวนโมกขพลารามทันที แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการบวชตลอด 1 พรรษาหรือไม่ เนื่องจากพระสุเทพไม่เคยปรารภให้ใครทราบ การบวชครั้งนี้เป็นการอุทิศกุศลผลบุญให้แก่ผู้ที่สูญเสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงที่เป็นแกนนำ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรี ธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ทวีตภาพและข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ค. นายสุเทพยังรับประทานข้าวมื้อค่ำกับพรรคพวกที่กทม. ตอนเช้าบินไปสุราษฎร์ธานี ลงเครื่องแล้วเดินทางต่อไปวัดท่าไทรกับคนขับรถ เข้าพิธีอุปสมบท
อ้างไม่มีภาระ-ขอบวชเงียบๆ
ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ ทราบว่านาย สุเทพพร้อมญาติลูกพี่ลูกน้องเพียง 2 คนได้เดินทางมาพบพระเทพพิพัฒนาภรณ์ แจ้งความประสงค์จะขอบวชโดยบอกว่า ตอนนี้ไม่มีภาระอะไรแล้ว จะขอบวชเงียบๆ ไม่มีใครรู้ และไม่บอกใคร โดยพระเทพพิพัฒนาภรณ์ได้โกนผมให้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางคืนและนอนพักที่กุฏิเจ้าอาวาส กระทั่งได้ฤกษ์อุปสมบทเมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 15 ก.ค.จึงทำพิธีบวช พระอุปัชฌาย์ให้ฉายา "ปภากโร" แปลว่าผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง เมื่อบวชแล้วเสร็จห่มผ้าเหลืองเดินออกประตูโบสถ์มา มีพระลูกวัดมาพบเข้าพอดีได้ขอถ่ายรูปจนมีการส่งต่อๆ กัน
พระอธิการสุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) ต.เลม็ด อ.ไชยา เปิดเผยว่า ไม่ทราบเรื่องมาก่อนว่านายสุเทพจะบวช เมื่อช่วงบ่ายน้องสาวพระสุเทพมาพบและแจ้งว่าพระสุเทพบวชฉุกเฉินจะมาขอจำพรรษาและปฏิบัติธรรมที่วัดอยู่เงียบๆ จึงรีบให้พระลูกวัดและโยมในวัดจัดเตรียมกุฏิรับรองไว้ให้ เนื่องจากกุฏิหลังอื่นมีพระบวชจำพรรษาอยู่แล้ว 70 รูปเต็มหมดแล้ว กระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. พระสุเทพเดินทางมาพร้อมกับผู้ติดตามอีก 1 คน
สวนโมกข์เผยเคยบวชมาแล้ว
พระอธิการสุชาติ กล่าวว่า พระสุเทพไม่ได้บอกเหตุผลในการบวช แต่คงจะว้าวุ่นใจอยากจะสงบจิตใจอยู่สงบมากกว่า แจ้งว่าจะขออยู่จำพรรษาสักระยะหนึ่งและยังไม่มีกำหนดจะไปที่ไหนต่อ มีญาติโยมของท่านมาอยู่ด้วย 1 คนเพื่อช่วยดูแล เนื่องจากท่านยังเจ็บที่แขนยังห่มจีวรเองไม่ได้ และระยะนี้คงไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ ทางวัดมีโรงครัวทำอาหารถวาย
"พระสุเทพถามว่าทางวัดมีกิจกรรมอะไรบ้างก็บอกว่ายังเหมือนสมัยก่อนตื่นนอนตี 4 ครึ่ง ทำวัตรเช้า เวลา 8 โมงฉันภัตาหารเช้า และช่วงบ่ายไปทำสมาธิที่ลานหินโค้งหลังจากนั้นพักผ่อนตามสบาย พอ 6 โมงครึ่งตอนเย็นจะทำวัตรเย็นสวดมนต์ฟังเทปบรรยายธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส" พระอธิการสุชาติกล่าว
พระอธิการสุชาติเปิดเผยว่า พระสุเทพเคยบวชพระจำวัดที่สวนโมกข์เมื่อหลายสิบปีก่อน บวชให้ภรรยาที่เสียชีวิต และท่านยังได้สร้างอาคารที่สวนโมกข์นานาชาติถวายท่านอาจารย์พุทธทาสไว้ด้วย
ด้านนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ น้องชายพระสุเทพ กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องหรือทราบเรื่องมาก่อนจริงๆ ซึ่งท่านไม่บอกใครเลยและญาติพี่น้องก็ไม่มีใครทราบ
งดเลือกตั้งอปท.-ให้สรรหาแทน
เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 15 ก.ค. คสช.ออกคำสั่ง 91/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) เพื่อให้ระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพ สนับสนุนความสามารถด้านการแข่งขัน จึงแต่งตั้ง กบส.มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธาน
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 82/2557 เรื่อง เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2557 โดยทหารที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือมีเวลาราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป มีเวลาราชการที่เหลือไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออก ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบทางวินัย หรือลงโทษทางวินัยทหาร หรือเป็นจำเลยคดีอาญา ทั้งนี้ให้จ่ายเงินช่วยเหลือข้าราชการทหารที่ลาออกตามโครงการเท่ากับจำนวนปีของราชการที่เหลือ บวกด้วย 8 คูณด้วยเงินเดือนเดือนสุดท้าย แต่เมื่อรวมแล้วไม่เกิน 15 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ทั้งนี้ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่อนุญาตให้ออกจากราชการ หากปรากฏว่าทหารผู้นั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว สถานการณ์ปัจจุบันไม่อาจจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารครบวาระหรือว่างลง ได้ คสช.จึงประกาศดังนี้ กรณีสมาชิก-ผู้บริหารครบวาระ หรือพ้นตำแหน่ง ให้งดจัดให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ระหว่างนี้ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกและผู้บริหารตามประกาศ สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกที่เหลืออยู่สิ้นสุดลงนับแต่วันที่สมาชิกมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
ระหว่างที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ให้คัดเลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถตามที่กรรมการสรรหาเห็นสมควรอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยให้คำนึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางทางการเมือง ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่ละแห่งมีสมาชิกสภากึ่งหนึ่งของสมาชิก อบจ.ทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนวันประกาศมีผลบังคับ ต้องมีอายุ 30 ปีบริบูรณ์ จบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รับราชการหรือเคยรับราชการในพื้นที่ในตำแหน่งชำนาญการพิเศษหรือระดับ 8 หรือเทียบเท่า ร่วมด้วยประธานหรือหัวหน้าองค์กรภาคเอกชน หรือภาคประชาชนซึ่งเป็นคนในพื้นที่
ทั้งนี้ กรรมการสรรหามีผู้ว่าฯ เป็นประธาน โดยให้สรรหาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้มีการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น และประกาศแต่งตั้ง 3 วัน กรณีผู้บริหารท้องถิ่นครบวาระหรือว่างลง ให้ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท.
รวมข่าว วิวาทะ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" การเมืองในกระทรวงสาธารณสุขระอุ!