- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 15 July 2014 16:03
- Hits: 4310
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8630 ข่าวสดรายวัน
รื้อกฎตั้งผบ.ตร. มอบดาบ ผบ.ปัจจุบันเสนอชื่อ กำหนดสเป๊กใหม่ แค่'รองผบ.-จเร'ผ่า'ก.ต.ช.-ก.ตร.' โละผู้ทรงคุณวุฒิ ปลัดกห.ร่วมวง
ผ่าตัดใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คสช.ออกคำสั่งรื้อก.ต.ช.-ก.ตร.ใหม่หมด ให้นายกฯ นั่งเป็นประธานก.ต.ช. มีรองนายกฯ เป็นรองประธาน เพิ่มปลัดกลาโหมเข้าไปเป็นกรรมการ และให้ตั้งกก.อีก 2 คน ซึ่งเลือกโดยวุฒิสภา และให้ผบ.ตร.คนเก่าเป็นคนเสนอแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ ต้องเป็นรองผบ.ตร.-จเรตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ส่วนก.ตร.ให้ยกเลิกก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ให้ส.ว.เป็นคนสรรหา 2 คน
เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 14 ก.ค. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 88/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เกิดประสิทธิภาพ คล่องตัว เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง ยุติธรรม ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงมีประกาศดังนี้
1.ยกเลิกความ ม.17 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และให้ข้อความต่อไปนี้ ม.17 ให้ก.ต.ช.ประกอบด้วย (1) นายกฯ เป็นประธาน (2) รองนายกฯ ซึ่งนายกฯ มอบหมายเป็นรองประธาน (3) ปลัดกลาโหม มหาดไทย ยุติธรรม ผอ. สำนักงานงบประมาณ เป็นกรรมการ โดยตำแหน่ง (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน ให้ผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานโดยคำแนะนำของผบ.ตร. แต่งตั้งข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.ต.ขึ้นไปไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ 2.ยกเลิกความ (3) ม.18 พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ใช้ความต่อไปนี้ (3) พิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตามที่ ผบ.ตร.เสนอ
3.ยกเลิกมาตรา 30 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้ใช้ข้อความ "มาตรา 3 ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกย่อว่า ก.ตร. ประกอบด้วย (1) นายกฯ เป็นประธาน (2) ผบ.ตร.เป็นประธาน (3) เลขาฯ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. เป็น ก.ตร. (4) ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการ คัดเลือกจากวุฒิสภา 2 คน ให้ผู้บัญชาการสำนักงานข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ และรองผู้บัญชาการฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
4.ยกเลิกความใน (1) ม.53 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 (1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (1) ให้ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่เป็นจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผบ.ตร. แล้วเสนอ ก.ต.ช.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ แล้วให้นายกฯ นำกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
5.ให้ยกเลิกความในม.54 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ใช้ความต่อไปนี้ ม.54 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ม.44 (5) ลงมา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตาม ม.44 (5) และ (6) ให้ดำเนินการดังนี้ (ก) ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในสำนักงานฯ เสนอก.ตร. พิจารณาเห็นชอบ แล้วให้นายกฯ นำกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (ข) ในกองบัญชาการที่ไม่ได้สังกัดสำนักงาน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผบ.คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอ ผบ.ตร. พิจารณาเสนอ ก.ตร. เห็นชอบก่อน แล้วให้นายกฯ นำกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (2) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ให้ดำรงตำแหน่งตามม.44 (7) และ (8) ดำเนินการดังนี้
(ก) ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในสำนักงานฯ เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณา เห็นชอบก่อน แล้วให้ ผบ.ตร.ออกคำสั่งแต่งตั้ง (ข) ในกองบัญชการ ในกองบัญชาการ ที่ไม่ได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผบ.คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอ ผบ.ตร. พิจารณาเสนอ ก.ตร. เห็นชอบก่อน แล้วให้ ผู้บัญชาการเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง (3) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตาม ม.44 (9) ลงมา ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผบ.ตร เป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ส่วนในกองบัญชาการที่ไม่ได้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งจากส่วนราชการหนึ่งไปอีกส่วนราชการหนี่ง ให้หัวหน้าส่วนราชการตกลงกัน แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประสงค์จะแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี
6.ให้ยกเลิกความใน ม.33 ถึง ม.41 ม.55 และม.57 วรรค 2 และวรรค 3 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 7.ให้ ก.ต.ช.และก.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนประกาศใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง 8.ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามม.87 (4) ให้ก.ต.ช. ประกอบด้วย นายกฯเป็นประธาน รองนายกฯซึ่ง นายกฯมอบหมายเป็นรองประธาน ปลัดกลาโหม มหาดไทย ยุติธรรม และผอ.สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้ผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขานุการ 9.ระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามม.30 (4) ให้ก.ตร. ประกอบด้วย นายกฯ เป็นประธาน ผบ.ตร.เป็นรองประธาน เลขาฯ ก.พ. จเรตำรวจฯ และรองผบ.ตร.เป็นกรรมการ 10.การใดอยู่ระหว่างดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับแต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ก.ต.ช.ตามข้อ 1 หรือ ก.ตร.ตามข้อ 3 แล้วแต่กรณีพิจารณาดำเนินการตามสมควร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแต่งตั้งผบ.ตร.ตามกฎหมายเดิมนั้น กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อต่อที่ประชุมก.ต.ช. ตามคำสั่งคสช.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขให้ผบ.ตร.คนปัจจุบันเป็นผู้เสนอชื่อผบ.ตร.ใหม่ เท่ากับทำให้ผบ.ตร.คนปัจจุบันมีความศักดิ์ สิทธิ์มากยิ่งขึ้น ส่วนคุณสมบัติผู้จะขึ้นเป็นผบ.ตร.ตามกฎหมายเดิมเขียนกว้างๆ ว่ามาจากข้าราชการตำรวจยศพล.ต.อ.เท่านั้น แต่คำสั่งคสช.แก้ไขใหม่ให้แคบลง เหลือแค่รองผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ หรือเฉพาะส่วนบริหารเท่านั้น โดยส่วนที่ถูกตัดออกไป ประกอบด้วย ที่ปรึกษา (สบ10) จำนวน 5 คน และหน.นรป.
นอกจากคำสั่งที่ 88 แล้ว คสช.ยังมีคำสั่งที่ 87 โดยมอบหมายให้นายกรัฐมนตรี ร่วมกับรมว.มหาดไทย มีอำนาจในการควบคุม ดูแลพ.ร.บ. 3 ฉบับ มีพ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ร.บ.จราจร และพ.ร.บ.อาวุธปืน และคำสั่งที่ 89 เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจว่าด้วยการจัดลำดับอาวุโส
คสช.รื้อหลักเกณฑ์ใหม่ ตั้งผบ.ตร. 'ปลัดกห.'นั่งกตช.ด้วย ให้ผบ.เก่าเป็นผู้เสนอชื่อ ตัดคู่ชิงเหลือรองกับจเรฯ สั่งผ่าใหญ่ทั้งกตช.-กตร. ระดับ'บช.'ห้ามข้ามห้วย เสรีไทยพบรมต.ฝรั่งเศส
มติชนออนไลน์ :
'บิ๊กต๊อก'ยันเดือน ก.ค.ได้เห็น รธน.ชั่วคราว เลขาฯวุฒิสภาเผยคณะทำงานทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา เตรียมจัดกรอบระเบียบและข้อบังคับให้ สนช.เข้าปฏิบัติหน้าที่หลังธรรมนูญมีผลบังคับใช้
@ "บิ๊กต๊อก"ยันไล่เคลียร์กฎหมาย
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ไขระบบกฎหมายภายหลังจากมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ว่า การแก้ไขกฎหมายทุกเรื่องทุกประเด็นที่ล้าหลังไม่เข้ากับสภาพบริบทสังคมในปัจจุบัน คสช.จะนำมาแก้ไขให้เป็นระบบกฎหมายที่ทันสมัย จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา 7 เดือน เกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีกฎหมายที่อยู่ในชั้นสภา หรือกฎหมายที่รอการประกาศใช้ และกฎกระทรวงยังค้างคาอยู่เป็นจำนวนมาก คสช.จะเอามาแก้ไขดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ที่ผ่านมา คสช.ได้ออกกฎหมายไปแล้วบางส่วน ทั้งนี้กฎหมายที่ออกไปและกำลังจะออกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ออกโดย คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ผ่านคำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช. 2.ออกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นกระบวนการของกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมาก ไม่สามารถออกเป็นประกาศหรือคำสั่ง คสช.ได้ และ 3.ออกกฎหมายในกระบวนการสุดท้ายที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง
@ รธน.ชั่วคราวประกาศใช้ก.ค.แน่
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวถึงการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวว่า ดำเนินการเสร็จแล้ว คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการประกาศใช้ สำหรับช่องทางการทูลเกล้าฯประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวจะมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1.ยื่นตามขั้นตอนทางธุรการ แล้วมีการประกาศใช้ขึ้นมา และ 2.ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและโปรดเกล้าฯประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ทั้งสองช่องทางนี้ต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.เป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการ
@ ถกร่วม 2 สภาร่างข้อบังคับสนช.
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. จะมีการประชุมคณะทำงานร่วม 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และคณะกรรมการประสานงานร่วมที่มีนายพิทูร พุ่มหิรัญ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสุรพงษ์ มาศะวิสุทธุ์ อดีตที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาถึงลำดับขั้นตอนการทำงาน เตรียมความพร้อมด้านระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้กับ สนช.ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่คาดว่าจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขาธิการ สนช. ทำงานได้รวดเร็ว เบื้องต้นนั้นจะนำข้อบังคับการประชุม สนช.เมื่อปี 2550 และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา แต่ยังไม่ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นข้อสรุปเพื่อให้ สนช.ชุดใหม่เป็นกรอบการทำงาน เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนว่ามีบทบัญญัติเช่นไร เบื้องต้นอาจจะใช้ข้อบังคับการประชุม สนช. ปี 2550 อนุโลมในการประชุมนัดแรก จากนั้น สนช.ต้องยกร่างข้อบังคับการประชุมขึ้นมาโดยพิจารณาเนื้อหาที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อถามถึงกรณีการกำหนดข้อบังคับการประชุมเพื่อป้องกันปัญหาการพิจารณาร่างกฎหมายที่ไม่ครบองค์ประชุมจนเป็นเหตุให้กฎหมายบางฉบับถูกโต้แย้ง เหมือนที่เคยเกิดใน สนช.ชุดที่ผ่านมา นางนรรัตน์กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการทำงานของ สนช.ชุดที่ผ่านมาได้วางข้อบังคับการประชุมไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่สิ่งที่ถูกท้วงติงนั้นเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างกัน กรณีที่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับใดที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตามการทำงานของ สนช.เป็นเรื่องที่ต้องรอให้ สนช.ชุดใหม่ได้หารือเพื่อกำหนดข้อบังคับการประชุมอีกครั้ง
@ ยึดกรอบสภาผู้แทนฯรับสภาปฏิรูป
นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาปฏิรูป กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภา เป็นผู้ยกร่างข้อบังคับการประชุมสำหรับสภาปฏิรูปไว้แล้ว เบื้องต้นมีกรอบพิจารณา คือ ข้อบังคับการประชุม สนช.ชุดที่ผ่านมาและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เป็นกติกาเกี่ยวกับการลงมติ หรือการอภิปราย อย่างไรก็ตาม การยกร่างข้อบังคับดังกล่าวยังไม่ถือว่ามีความสมบูรณ์ เพราะต้องรอพิจารณารายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนเนื่องจากต้องเขียนข้อบังคับให้สอดคล้องกัน ส่วนรายละเอียดของค่าตอบแทนนั้นเบื้องต้นทราบว่าทางสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาเป็นผู้ดำเนินการเตรียมความพร้อม
@ "ปนัดดา"เข้าบวงสรวงทำเนียบ
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดพิธีบวงสรวงสักการบูชาพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะคณะที่ปรึกษาประสานงานด้านความมั่นคงฝ่ายความมั่นคง เป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลกว่า 100 คนเข้าร่วม ทั้งนี้พิธีในช่วง 10.00 น. เป็นการสักการบูชาพระภูมิเทวาและศาลปู่ย่าตายาย หลังจากนั้นเวลา 11.30 น. ม.ล.ปนัดดาและผู้เข้าร่วมพิธีมาพร้อมกันบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า และ ม.ล.ปนัดดาเป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาสักการะพระพรหม และต่อด้วยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระคุณพราหมณ์ สำนักราชวัง ประกอบพิธีบวงสรวงสักการบูชาพระพรหม ภายหลังพระมหาราชครูกล่าวคาถาสักการะเสร็จเรียบร้อย ได้นำขบวน ม.ล.ปนัดดาและตัวแทน คสช.ขึ้นไปวางพวงมาลา พร้อมเครื่องสักการะแก่พระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อเป็นสิริมงคล
ม.ล.ปนัดดากล่าวต่อมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานในพิธีบวงสรวง เพราะมองเห็นว่าเป็นงานในส่วนข้าราชการประจำที่ทำงานอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล วัตถุประสงค์ในการจัดงานวันนี้เนื่องจากข้าราชการในทำเนียบรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยทำการสักการะท้าวมหาพรหม แต่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ข้างเคียงทำเนียบรัฐบาล จึงเป็นวันดีที่จะได้ร่วมใจกันทำบุญถวายท้าวมหาพรหม
@ พระอาทิตย์ทรงกลดขณะทำพิธี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องสักการบูชาที่ทางทำเนียบรัฐบาลเตรียมไว้เพื่อประกอบพิธี ประกอบด้วยนม เนย น้ำผึ้ง โยเกิร์ต น้ำเบญจอำมฤตย ไว้สำหรับบูชาพราหมณ์ มีความหมายถึงได้ทานแล้วสุขภาพแข็งแรง ส่วนดอกบัวเตรียมไว้บูชาแม่พระธรณี น้ำบูชาพระแม่คงคา เทียนจุดบูชาพระแม่อัคนี ธูปบูชาพระวายุ โดยการบูชาเทวทูตทั้ง 4 เพื่อให้มาเป็นสักขีพยานพิธีบวงสรวงครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการโปรยดอกไม้ เจิมองค์พระเพื่อสักการะ มีการขอขมาสิ่งที่ทำไม่ดี ขอพรให้คนที่อยู่ทำเนียบเกิดสามัคคี สร้างขวัญกำลังใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีฝนตกพรำๆ ท้องฟ้ามืดครึ้ม กระทั่งถึงฤกษ์กำหนดทำพิธี ปรากฏว่าท้องฟ้าปลอดโปร่ง และเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้น
@ บูรณะทำเนียบไม่ฟุ่มเฟือย
ในเวลาต่อมา ม.ล.ปนัดดาได้ตอบข้อซักถามถึงการบูรณะตัวอาคารต่างๆ ภายในทำเนียบรัฐบาลหลังจากนี้กล่าวว่า การทำนุบำรุงบูรณะตัวอาคารต่างๆ ภายในทำเนียบรัฐบาลเป็นเรื่องที่มีแนวดำริเดิมอยู่แล้ว แต่ได้มีโอกาสเริ่มต้นดำเนินการจริงในเวลานี้ ทั้งนี้งบประมาณการดำเนินการนั้น จะมีรายละเอียดอยู่ในส่วนของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะเป็นหน่วยประสานและทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน
เมื่อถามว่าการใช้งบประมาณบูรณะอาคารภายในทำเนียบรัฐบาลกว่า 300 ล้านบาท มีรายละเอียดในการดำเนินการอย่างไร ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า อาคารภายในทำเนียบรัฐบาลแต่ละอาคารมีความเก่าแก่ตามกาลเวลา ถึงเวลาที่จะบูรณะ เนื่องจากทำเนียบรัฐบาลยังไม่เคยได้บูรณะซ่อมแซมแต่อย่างใด ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย
เมื่อถามว่ามีการจัดเตรียมห้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า เรื่องการจัดเตรียมดังกล่าวขึ้นอยู่กับ สลน.เป็นผู้ดำเนินการ
@ "ปนัดดา"ปัดขรก.เอี่ยวสนช.
ม.ล.ปนัดดาให้สัมภาษณ์ถึงการสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะมีขึ้น โดยในสัดส่วนข้าราชการประจำที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงเข้าไปดำเนินการอยู่แล้ว ข้าราชการประจำจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
@ อจ.นิติฯชี้โควต้าทหารในสนช.
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวถึงการจัดสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ใน สนช.ว่า เชื่อว่า คสช.จะไม่แต่งตั้งสัดส่วนของทหารเข้า สนช. เกินครึ่งหนึ่งของจำนวน 200 คน ตามที่มีกระแสข่าว ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะเป็นที่จับตาของสื่อมวลชน อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีสัดส่วนของฝ่ายทหารประมาณ 70-80 คน เพื่อให้เกิดการสั่งการด้านนโยบายได้ เพราะมีการถอดบทเรียนจากที่ผ่านมา สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปี 2549 ไม่สามารถควบคุมอำนาจใน สนช.ได้ แต่ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ จะรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว สำหรับที่มาของ สนช. ควรเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นพิเศษ ต้องเข้ามาพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องมีนักเทคนิคด้านต่างๆ เช่น วิศวกร จัดสรรสิ่งแวดล้อม แรงงาน เกษตร และภาคธุรกิจ ให้มีความเหมาะสม ส่วนกระแสข่าวที่จะให้อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีความเป็นกลาง เข้ามาทำหน้าที่ใน สนช. คิดว่าเป็นเรื่องดี มีหลายคนที่มีความเหมาะสม
@ "สุขุม"คาดทหารนั่งสนช.เกินครึ่ง
นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า น่าจะชัดเจนแล้วว่า คสช.เป็นผู้คัดเลือกสมาชิก สนช.เอง มีจำนวน 200 คน และไม่ห้ามข้าราชการประจำเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งน่าจะคัดเลือกบุคคลที่ คสช.ไว้วางใจ อาจเป็นทหารเกินครึ่ง เพราะจุดประสงค์ให้มาสนับสนุน คสช.เต็มที่ แต่อาจมีคนนอกเป็นไม้ประดับมาบ้าง ส่วนที่มาของสภาปฏิรูปจะคัดเลือกจากส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพ 11 กลุ่ม ให้เสนอมาจังหวัดละ 5 คน และเลือกให้เหลือ 76 คน คสช.ก็เป็นผู้คัดเลือกเองอีก การตั้งกฎเกณฑ์คัดจาก 11 กลุ่ม ก็เพื่อทำให้ดูมีหลากกลาย ท้ายสุดจะมีการเสนอมากกว่าจำนวนจริง คัดให้เหลือแค่ 250 คน
นายสุขุม กล่าวว่า คสช.พยายามวางกรอบให้เหมือนมีการเสนอจากทุกๆ ฝ่าย แต่เสนอเข้ามาเพื่อดูว่า คนไหนสมควรไว้วางใจ ให้เห็นว่าสนองนโยบาย คสช.ได้ เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เคยพูดไว้ ถ้าไม่เด็ดขาดก็แก้ปัญหาไม่ได้ จุดประสงค์นี้ทำให้เข้าใจว่า คสช.ทำไมต้องอย่างนั้น ไม่ใช่มาตั้งคนคอยคัดค้านหรือถ่วงดุล อาจไม่ถึงขั้นสภารีโมต ซึ่ง คสช.มั่นใจว่าทั้ง สนช.และสภาปฏิรูปไม่มาสร้างปัญหาและสนับสนุน คสช. รับผิดชอบแก้ปัญหาบ้านเมืองในเวลาจำกัด ทำให้ทุกอย่างนิ่ง จนมีรัฐธรรมนูญประกาศปลายปี 2558 เรียบร้อย
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. กล่าวกรณีมีทหารกว่า 80 คน จะมาดำรงตำแหน่งใน สนช.ว่า เป็นเพียงข่าวลือ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการสรรหาบุคคล รอให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวเสียก่อน
@ "อ๋อย"ชี้ทำความเข้าใจเรื่องปฏิรูป
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กระแสการปฏิรูปประเทศว่า ขณะนี้มีการพูดเรื่องการปฏิรูปกันมาก ก่อนหน้านี้มีความพยายามปฏิรูปในหลายด้าน คณะของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ และ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ทำไว้ค่อนข้างครอบคลุม แต่ไม่ค่อยเน้นเรื่องการเมืองที่ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้มีความพยายามเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ ถึงปัจจุบัน แต่แม้หัวข้อจะคล้ายกัน แต่เนื้อหาการปฏิรูปที่คิดไว้ก่อนรัฐประหารกับระยะ 1 เดือนหลังมานี้ต่างกันมาก เช่น เรื่องการปฏิรูปพลังงาน ฐานข้อมูลเป็นคนละชุดกันเลย เรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ก่อนหน้านี้ปฏิเสธการแปรรูป ปฏิเสธเอกชน แต่ปัจจุบันกลับให้การส่งเสริมเอกชน ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจลง เห็นความแตกต่างอย่างมาก ฉะนั้นการปฏิรูปที่พูดกันอยู่นี้ไม่ง่ายที่จะสำเร็จ จะต้องทำความเข้าใจปัญหาให้ตรงกัน ต้องมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของประเทศ นอกจากนี้ยังต้องมีกระบวนการที่ดี มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย อีกทั้งยังต้องใช้เวลา คิดว่าในเบื้องต้นควรส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจังเสียรอบหนึ่งก่อน
@ ควรปฏิรูปการเมืองมากที่สุด
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แม้จะมีการปฏิรูปได้จริง แต่เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะมีนโยบายที่แตกต่างไปอีก อาจเป็นปัญหาข้อถกเถียงว่าจะเอาแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกเข้ามา หรือเอาแบบที่ทำกันไว้ในช่วงนี้ สำหรับการปฏิรูปการเมืองควรปฏิรูปมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด แต่บนเงื่อนไขสถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะทำในส่วนที่จำเป็นจริงๆ สำคัญคือควรเปิดให้มีการหารืออย่างกว้างขวาง เพราะถ้าปล่อยให้มีการแสดงความเห็น ทำกันแค่บางส่วน ก็อาจจะนำพาสังคมไปผิดทิศผิดทาง
@ เผยขั้นตอนประกาศตลก.ศาลรธน.
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยถึงขั้นตอนการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แทนนายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ว่า ทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ได้รับหนังสือจากศาลปกครองแจ้งถึงผลการคัดเลือกให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของศาลปกครองแทนนายจรูญแล้ว และทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งเรื่องดังกล่าวแจ้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้รับทราบแล้วเช่นกัน แต่ขณะนี้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีรัฐธรรมนูญ จึงต้องรอให้ธรรมนูญชั่วคราวมีผลบังคับใช้ก่อน แล้วพิจารณาดูว่าธรรมนูญชั่วคราวจะระบุถึงขั้นตอนการดำเนินการในกระบวนการดังกล่าวอย่างไร
@ ปูดพรรคใหญ่ถลุงงบ 57 หาเสียง
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ คสช. มีนโยบายเร่งรัดให้หน่วยราชการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ก่อนสิ้นปีงบประมาณนั้น ปรากฏว่ามีบางหน่วยงานได้ฉวยโอกาสเร่งใช้งบในการหาเสียงและเคลื่อนไหวทางการเมือง พาหัวคะแนนและผู้สนับสนุนเดินทางไปสัมมนาต่างจังหวัดจำนวนมาก เช่น การเคหะแห่งชาติ อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ 834,336,200 บาท ระบุเป็นงบอุดหนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย อยู่ในหมวดของค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผู้มีรายได้น้อย จากงบดังกล่าวจะทำให้พาหัวคะแนนและฐานเสียงไปสัมมนาต่างจังหวัดได้ถึง 200 เที่ยว แต่ละเที่ยวนำประชาชนไปได้ 350 คน แถมยังแจกเงินให้กับชาวบ้านครอบครัวละ 1 พันบาท จะเดินทางครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคมนี้ เริ่มต้นในเขตพื้นที่ กทม.โซนตะวันออกก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า มีการระบุว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการจะหักเงินไว้ 15 เปอร์เซ็นต์ จากยอดงบประมาณทั้งหมดอ้างว่าเป็นค่าบริหารโครงการ และเป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงนี้จะมีอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองใหญ่เคลื่อนไหวตามชุมชนต่างๆ ด้วย มีการอ้างว่าเป็นงบประมาณที่อดีต ส.ส.ผลักดันมาได้ และเงินส่วนหนึ่งสนับสนุนจากคนแดนไกล ทั้งที่เงินดังกล่าวเป็นงบประมาณแผ่นดิน
@ เสรีไทยฯเข้าพบรัฐมนตรีฝรั่งเศส
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ในฐานะเลขาธิการองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ตัวแทนองค์กรเสรีไทยฯ ในยุโรป ได้ยื่นหนังสือของเลขาธิการองค์การเสรีไทยฯ ถึง Mr.laurent Fabuis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส เพื่อขอเข้าพบรายงานสถานการณ์ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายจรัลได้เข้าพบ Mr.laurent ตามที่ร้องขอ นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การเสรีไทยฯได้ยื่นหนังสือถึงประธานสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการเจรจา จะเปิดเผยให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ มีการโพสต์เนื้อหาของหนังสือที่ยื่นด้วย เนื้อหากล่าววิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์หลังการเข้าควบคุมอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีต รมว.มหาดไทยที่มาจากการเลือกตั้ง จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับนักคิดเสรีไทยและพันธมิตรต่างชาติ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะร่วมกันทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการกลับมามีอำนาจของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยในไทย รวมทั้งปกป้องเสรีภาพทุกแขนง และเรียกร้องเคารพสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ เพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
ด้านนายสุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และเป็นผู้หลบหนีหมายจับศาลทหารข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ยังได้โพสต์ข้อความตอนหนึ่งวิจารณ์ คสช. เกี่ยวกับการออกนโยบายบริหารประเทศที่จะนำประชาชนกลับไปสู่ความล้าหลังทางการพัฒนา
@ ตร.ชี้ยิงเอ็ม79 เชื่อมโยงหลายจุด
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา (รอง ผบช.ศ.) ช่วยราชการ บช.น. และ พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี แถลงความคืบหน้าคดีคนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 จากสะพานลอยย่านประตูน้ำเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เหตุเกิดเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ ด.ช.กรวิชญ์ ยศอุบล อายุ 4 ขวบ ด.ญ.พัชรากร ยศอุบล อายุ 6 ขวบ สองพี่น้อง และ น.ส.ฐิพาพรรณ สุวรรณมณี อายุ 59 ปี เสียชีวิตรวม 3 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 21 คน
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า จากการสืบสวนทราบพฤติการณ์และกลุ่มคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุคดีนี้แล้ว จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ออกหมายจับผู้ต้องหา 7 ราย ซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับแล้ว ดังนี้ 1.นายทวีชัย วิชาคำ อายุ 39 ปี 2.นายสุนทร ผิผ่วนนอก อายุ 49 ปี 3.นายสุขสันต์ ล้อมวงศ์ อายุ 32 ปี 4.นายสมศรี มาฤทธิ์ อายุ 40 ปี 5.นายชัชวาล ปราบบำรุง อายุ 45 ปี 6.นายกรรณิการ์ วงศ์ตัว อายุ 38 ปี และ 7.นายวิเชียร สุขภิรมณ์ อายุ 33 ปี ดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมชน และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดออกนอกเคหสถาน ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
ผู้สื่อข่าวถามถึง ที่มาที่ไปของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นอย่างไร พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า จากการสืบสวนผู้ต้องหาก่อเหตุยิงเอ็ม 79 ในหลายพื้นที่มีความเชื่อมโยงกัน ต่อเนื่องจากเมื่อ 3 วันที่แล้ว จับกุมนายณรงค์ศักดิ์ พลายอร่าม หรือตุ้ย อายุ 31 ปี ผู้ต้องหาก่อเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.หลายจุด ทำให้ทราบว่ามีขบวนการก่อเหตุใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 79 ยิงหลายเหตุการณ์เชื่อมโยงกัน ทำให้พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี รวบรวมหลักฐานขออนุมัติหมายจับได้ในที่สุด
เมื่อถามว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นพลเรือนหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เป็นพลเรือนทั้งหมด ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 7 คนที่ออกหมายจับล่าสุดนั้น มีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาวุธที่จัดหามาให้ ต้องสอบสวนว่าได้มาอย่างไร ทั้งนี้ กลุ่มคนร้ายจะมีผู้จัดหาอาวุธสงคราม ผู้ประสานงาน และผู้ที่นำอาวุธสงครามไปใช้ก่อเหตุ ทั้งหมดวางแผนร่วมกันเป็นขั้นตอนชัดเจน ข้อมูลเชิงสืบสวนพบว่ากลุ่มคนร้ายมีกว่า 10 คน แต่ที่มีหลักฐานมัดตัวแล้ว มีประมาณ 7 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อมาด้วยว่า ตำรวจชุดสืบสวนได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุได้แล้ว 3 คน แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดการจับกุม โดยในวันที่ 15 กรกฎาคม พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รรท.ผบ.ตร. จะแถลงผลการจับกุม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเวลา 10.00 น. ภายหลังการแถลงข่าวแล้วเสร็จ พนักงานสอบสวนจะควบคุมผู้ต้องหาไปชี้จุดเพื่อทำแผนประกอบคำรับสารภาพทันที
@ ให้ผบ.ตร.เสนอชื่อผบ.คนใหม่
วันเดียวกัน คสช. อกกประกาศ คสช. ฉบับที่ 88 เรื่องการแก้ พ.ร.บ.ตำรวจฯ สรุปสาระได้ว่า 1.การเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่เปลี่ยนจากนายกฯเสนอ เป็น ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอ โดยเสนอได้เฉพาะ รอง ผบ.ตร. และ จตช. เท่านั้น ไม่สามารถเสนอที่ปรึกษา สบ 10 และ หน.นรป.ได้ ทำให้แคนดิเดตในตำแหน่ง ผบ.ตร.ลดลง 2.เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ ก.ต.ช. และ ก.ตร. โดยในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากการเลือกของวุฒิสภา จำนวน 2 คน นอกจากนี้ เพิ่มปลัดกลาโหมเข้ามาเป็น ก.ต.ช โดยตำแหน่ง 3.การแต่งตั้งในระดับ รอง ผบช. และ ผบก. ให้เสนอชื่อเฉพาะคนในหน่วยนั้นเท่านั้น ไม่สามารถเสนอชื่อข้ามหน่วยได้ และ 4.การแต่งตั้ง ระดับ ผกก.ขึ้นไป ต้องให้ กตร. เห็นชอบก่อน แล้ว ผบ.ตร. กับ ผบช.ค่อยไปออกคำสั่ง
นอกจากนี้ ยังออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 87 เรื่อง การแก้ไขอำนาจตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และ สตม. โดยได้เพิ่มนายกรัฐมนตรีเข้ามารักษาการตามกฎหมาย เป็นการเพิ่มเติมในมิติความมั่นคงตามแนวคิดของ คสช. จากเดิมที่มีรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจ
รายงานข่าวแจ้งว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากโยกย้ายทหาร ซึ่งแนวคิดของ คสช. จะให้มีรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อน เพื่อดำเนินการโยกย้ายทหาร จากนั้นจึงจะโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจต่อไป