- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 17 January 2016 22:06
- Hits: 11025
7 สสส.ลุ้น บิ๊กตู่ให้สมัครใหม่ได้ 'มีชัย'ย้ำ-ศาลรธน.สยบวิกฤต ให้สตง.-ปปช.-กกต.เตือนรบ. 'จ่านิว'แถลงเมินถูกหมายจับ
'บิ๊กตู่'ย้ำ 18 ม.ค.ปลดล็อกสสส.ลุยงาน ให้โอกาสอดีตบอร์ด 7 คน เข้าร่วมคัดสรรเพื่อกลับมาใหม่ นายกฯ ร่วมพิธีวันครู ฝากศธ.หาวิธีให้คนมาลงประชามติ 90% ยันไม่สร้างภาพปรองดองเร็วเกินไป เกรงความ ขัดเแย้งปะทุ วอนกลุ่มต้านเลิกป่วน ลั่นไม่คิดปลดรมว.เกษตรฯ 'มีชัย'ย้ำให้ศาลรัฐธรรมนูญผ่าทางตันวิกฤต เพิ่มอำนาจสตง.-ป.ป.ช.-กกต.เตือนรัฐบาลได้ ถ้าเห็นว่านโยบายส่อสร้างความเสียหาย วางกฎเหล็ก 3 ข้อแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดหมวดสำคัญต้องทำประชามติ 'จ่านิว' พร้อมพวก แถลงจุดยืนไม่ร่วมกระบวนการยุติธรรม ตามหมายจับขัดคำสั่งคสช.
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9181 ข่าวสดรายวัน
ไหว้ครู - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กราบครูเจริญ ทั่งทอง และครูธานี คุ้มชนะ ที่เคยสอนเมื่อครั้งเรียนชั้นม.ศ.2 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ระหว่างเป็นประธานในพิธีงานวันครู ที่หอประชุมคุรุสภา กทม. เมื่อ 16 ม.ค.
'บิ๊กตู่'กราบคารวะครูอาวุโส
เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานในพิธีการงานวันครูครั้งที่ 60 ปี 2559 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ และผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ ซึ่งเป็นผลงานที่สะท้อนคุณภาพของผู้เรียนที่สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้สังคมเห็นความสำคัญของครู พร้อมร่วมรำลึกถึงพระคุณครู และร่วมกิจกรรมการจัดงานวันครู เพื่อธำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ
โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ถวายเครื่องราชสักการะ พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และวางพวงมาลัยสักการะปฐมบูรพาจารย์ ศีรษะครู 7 ศีรษะ พร้อมร่วมพิธีคารวะครูอาวุโส และมอบของที่ระลึกแด่นายเจริญ ทั่งทอง อดีตครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วัย 79 ปี และนางธานี คุ้มชนะ อดีตครูวิชาภาษาไทย และสังคมศึกษา วัย 75 ปี ซึ่งเป็นครูของ นายกฯ เมื่อครั้งศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ได้ถวายโล่รางวัล ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ แก่พระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิต เจ้าคณะอำเภอป่าโมก เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง และพระมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี และมอบโล่รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติระดับประเทศตามลำดับ พร้อมอ่านกลอน "ครูคือใคร" ของ ว.วชิรเมธี
ขออโหสิกรรม-ตั้งใจเป็นเด็กดี
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปราศรัยว่า ในโอกาสวันครูที่ตนได้กราบครูทั้งสองท่านจากวัดนวลนรดิศแล้ว ตนได้กราบขออโหสิกรรมจากครูด้วย ที่ตนได้ดื้อมาตั้งแต่เด็ก และได้กราบขอบคุณที่ได้วางพื้นฐานที่ดีมาให้ตั้งแต่เด็กจนมีวันนี้ได้ วันนี้ไม่ใช่เป็นแค่เป็นวันครู แต่เป็นวันสำคัญของชาติที่จัดมาแล้ว 60 กว่าปี ส่วนวันครูมีทุกวันในใจของครู ของผู้บริหาร รัฐบาลและทุกคนจากนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะต้องเริ่มต้นพัฒนาบ้านเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ต้องวุ่นวายเสียเวลาอยู่กับเรื่องปรองดอง ขอให้ช่วยกันเริ่มต้นปีใหม่นี้ไปเรื่อยๆ ด้วยดี และขอกราบนมัสการดูเรื่องพระสงฆ์ด้วย อย่างที่ตนเคยพูดแล้วว่าปัญหารัฐบาลมีหลายเรื่องเหมือนมีทั้งระเบิดเพลิง ระเบิดเวลา ถ้าไม่เดินเข้าไปเหยียบ ไม่ทำก็ไม่โดน แต่ถึงยังไงก็ต้องทำ ทำอย่างไรจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้นนั่นคือประเด็นสำคัญ
"ปีนี้ผมตั้งใจจะเป็นเด็กดีของครู เป็น นายกฯที่ใจเย็น พูดเพราะแต่ก็ได้แค่ 10 วันเท่านั้น เพราะเวลาอ่านข่าวจากโซเชี่ยลมีเดีย ถ้าจะให้ชัดเจน รบกวนนักข่าวช่วยเขียนคำถามด้วยว่าถามว่าอะไรทำไมผมถึงโมโห แต่ยืนยันว่าผมรักสื่อไม่ได้เกลียดเขาเลย แต่ต้องมีการต่อสู้กันบ้างในเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นธรรมดา แต่วันนี้สถานการณ์บ้านเมืองมันไม่ปกติ ยังขัดแย้งทุกหย่อมหญ้า ทุกอย่างพยายามจะทำให้สงบอย่างยั่งยืนทุกมิติ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เปรียบครูเป็นแพขนานยนต์
นายกฯกล่าวว่า ครูคือพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ คือเรือจ้าง แต่เป็นแค่เรือจ้างไม่ได้แล้ว และไม่ใช่เป็นเรือแป๊ะ ต้องเป็นแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ ที่ต้องช่วยกันค้ำถ่อไปด้วยกัน ไม่ใช่ตนเอาคนทั้งประเทศ 70 ล้านคนไปได้ทั้งหมด แล้วตนแจวคนเดียวมันไปไม่ได้หรอก ก็จะเกยตื้นแบบนั้น ถ้ายิ่งน้ำลดมันแล้งก็ไปไม่ได้ ส่วนบทบาทของครู นอกจากเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์แล้ว คือการสอนนักเรียน เพราะเขาคืออนาคตของชาติใน 20 ปีข้างหน้า
"ใครก็ตามที่เข้ามาในการบริหารราชการแผ่นดินต้องพยายามเดินตามยุทธศาสตร์ให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ยุทธศาสตร์สำหรับครูและนักเรียนเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทำเพื่อชาติ และการที่ผมเข้ามาแบบนี้ตนต้องมองถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการพัฒนาประเทศเพื่ออนาคต ดังนั้น เราอยู่แพลำเดียวกันจะแตกแถวกันไม่ได้ ถ้าแตกแถววันนี้ วันข้างหน้าจะแตกมากกว่านี้อีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แนะสอนนักเรียนรู้จักคิด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ครูทุกคนช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้คนทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสได้เรียนรู้ในทุกช่องทางที่มีอยู่ รวมทั้งสอนให้รักการอ่าน และอ่านแล้วต้องรู้จักคิด และอ่านในเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ใช่อ่านแต่เรื่องดารา ที่ดูข่าวเมื่อเช้าที่มีข่าวดาราตบทะเลาะกันเรื่องหมา ซึ่งนี่คือ 80% ของข่าว ซึ่งควรจะมีทั้งข่าวร้ายและข่าวดี ข่าวไม่ดีก็แยกออกไป ส่วนข่าวดีก็แยกออกมาเป็นเรื่องความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาว่าตนทำอะไรไปบ้าง ต้องช่วยกันสร้างความปรองดอง สื่อเขียนแบบนี้ได้หรือไม่ ต้องช่วยกันนะ เพราะตนบังคับเขาไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการลงทุนในประเทศต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด วันนี้รายได้ของประเทศตกลงทุกวัน เพราะมีรายจ่ายเพิ่มทุกวัน ทั้งเรื่องข้าว เรื่องยางพารา เดี๋ยวเรื่องน้ำจะมาอีกแล้ว เพราะประเทศไทยเป็นแบบนี้ เป็นมากี่ปีแล้ว แล้วถามว่ามันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไหม ไม่ใช่ปลูกแต่พืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียวหรือจะปลูกพืชเสริม อย่างที่ตนแนะนำให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ กับกล้วยหอม บางคนไม่เข้าใจบอกว่านายกฯ นี่คิดได้ยังไง ซึ่งเป็นการยกตัวอย่าง มันมีตั้งหลายร้อยอย่างที่พูดกันมา
ให้ยอมรับกฎหมาย
นายกฯ กล่าวว่า ยกตัวอย่างเรื่องยาง ถ้าราคาอยู่อย่างนี้จะถึงเมื่อไรแล้วจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าวันข้างหน้ามันตกกว่านี้ เพราะราคาโลกมันตก น้ำมันก็ตก ดังนั้นเราต้องสอนให้เขารู้ว่าเมื่อราคาตก รายได้เขาจะอยู่ตรงไหน งบประมาณ รายรับ-จ่าย ของประเทศอยู่ที่ตรงไหน ถ้าไม่สอนตรงนี้จะเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าตนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องช่วยแบบนั้น เพราะเขาไม่เข้าใจพื้นฐานของเศรษฐกิจ ระบบงบประมาณ ข้อกฎหมาย ทุกอย่างนัวเนียหมด จึงฝากครูช่วยสอนเรื่องพวกนี้ด้วย ว่าทุกอย่างมีกฎหมาย มีข้อบังคับเยอะแยะไปหมด สอนเรื่องระบบภาษี เรื่องการยอมรับกติกาสังคม กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่สอนเฉพาะเรื่องสอบแล้วได้ปริญญาเท่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ครูสอนให้คนรู้จักหน้าที่มีวินัยสาธารณะไม่ใช่ว่าจะเอาตัวเองเป็นหลัก ครูต้องสอนในสิ่งที่ถูกต้อง สอนในสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ วันนี้เราทำอะไรไม่ได้มากเพราะมีการไล่ล่าฆ่าฟัน มีความขัดแย้ง ทำอะไรก็ติดขัด เพราะคนไม่เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ ถามว่าจะอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร เพราะทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ทุกคนต้องเคารพกฎหมายและมีวินัย ขณะเดียวกันครูเองต้องทำหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการปฏิรูปไม่ว่าจะเป็นชุมชนหมู่บ้าน โรงเรียน เพิ่มประสิทธิภาพให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ช่วยกันอธิบายให้เกิดความเข้าใจ
ว้ากคนเร่งเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนปัญหาหนี้สินครูต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงดูว่าอะไรเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก็ตัดออกไป ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้หนี้สินลดลงไป เราต้องทำเพื่อวันนี้และอนาคต เพื่อลูกหลาน หนี้สินก็คือหนี้ งานก็คืองาน ต้องแยกแยะกัน อะไรที่เกินความจำเป็น เป็นภาระต้องผ่อนก็ขายทิ้งให้หมด แล้วกลับมาเริ่มตนตัวเองใหม่ อะไรที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ขายทิ้ง ราคาถูกก็ต้องยอม อย่าไปผ่อนต่อให้เสียเวลา
นายกฯ กล่าวว่า ทุกประเทศจะแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง แต่เรามักเอามารวมกันทุกเรื่อง แยกอะไรไม่ได้สักอย่างจะพูดกับใครไม่ได้ เพราะพูดไม่รู้เรื่อง ต่างชาติเขาขอแค่ให้เราปฏิรูปสำเร็จแล้วค่อยเลือกตั้ง แต่เรามีแต่จะเร่งว่าต้องเลือกตั้งเร็วๆ ให้รู้ด้วยว่าตนทำอะไรอยู่ แล้วเสร็จหรือยัง โรดแม็ปเป็นอย่างไร ประชามติจะผ่านหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ตน อยู่ที่ท่านทุกคน รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่านอีก ถ้าอยากให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมก็ไม่ต้องเสียเวลาแล้วไปเลือกตั้งกัน ทุกคนต้องรู้ถึงปัญหา และเมื่อถึงวันเลือกตั้งขอให้ไปเลือกกันทุกคน ไม่ใช่เลือกเพียงบางคนและจะมาบอกว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศมันไม่ได้
ฝากศธ.นำคนลงประชามติ
"ฝากกระทรวงศึกษาฯดูด้วยว่าจะทำอย่างไรให้คนไปลงประชามติได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เราชื่นชมเมียนมาว่าไปเลือกตั้งถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วตัวเองล่ะ ไปหรือไม่ไป ก็ทำกันอย่างนี้แล้วจะเจริญสักทีหรอก ท่านไม่เคยไปดูแสดงว่าที่พูดมาไม่รู้เรื่อง เพราะไม่เคยไปเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลไหนนักการเมืองคนใดจะหาเสียงอย่างไรก็ตามขอให้ฟังนโยบายว่าเป็นอย่างไร และเขาทำตามนโยบายที่ว่าหรือไม่ ไม่ใช่เขาบอกว่าจะทำแล้วไปเลือก แล้วเป็นอย่างไร ปัญหาก็จะกลับมา เงินเดือนท่านก็ขึ้นไม่ได้ ทุกอย่างพัฒนาไม่ได้ หนี้สินเต็มไปหมด ต้องสอนให้คนรู้ว่านโยบายคืออะไร" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปราศรัย เนื่องในวันครูแห่งชาติ ว่าวันครูเป็นวันที่มีความสำคัญมาก เพราะครูที่ดีไม่ใช่เป็นตามตำแหน่ง แต่ต้องเป็นด้วยใจ เสียสละ อดทน ครูคือผู้ให้แสงสว่างในชีวิต ตนมีวันนี้ได้เพราะตนเป็นศิษย์มีครู คุณครูเป็นคุณอันยิ่งใหญ่ ถัดมาจากคุณพ่อคุณแม่ ขอมอบคำขวัญ "วันครู" ครั้งที่ 60 ว่า "อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ" และขอฝากอนาคตเด็ก อนาคตประเทศชาติไว้กับครูทุกคน ในการให้วิชาความรู้ คู่คุณธรรมให้ลูกหลานไทยในอนาคต ด้วยการแนะนำ สั่งสอน ให้วิชาความรู้ทันโลก ทันกาลแก่ศิษย์ และการนำ คือการทำให้ดู ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์
จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้เผยแพร่ สาร นายกฯเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 60 ด้วย
วอนเลิกป่วน-ก่อนรัฐล้มเหลว
เมื่อเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ นัดพิเศษ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศ ไทย กรมประชาสัมพันธ์ว่า ตนมีประเด็นที่จะต้องการสร้างความเข้าใจในการทำงานของ รัฐบาลและคสช.คือ 1.เรื่องการปฏิรูปการเกษตรทุกประเภท แบบครบวงจร ต้องคำนึงถึง "ต้นทาง" "กลางทาง" และ "ปลายทาง" โดย "ต้นทาง" 2.เรื่องการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ แบบครบวงจร วันนี้มีคณะทำงานหลายคณะที่จะต้องร่วมมือกันทำ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ กฎกติกาให้เป็นสากล สะดวก ง่ายขึ้น
พับพิราบ - นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว พร้อมกลุ่มเพื่อนนักศึกษา อ่านแถลงการณ์พร้อมนำหมายจับคดีขัดคำสั่งคสช. กรณีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ มาพับเป็นรูปนกพิราบ ที่สถานีรถไฟธนบุรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. |
3.การสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกกลุ่ม ความขัดแย้งที่ผ่านมาสูงมาก วันนี้หยุดได้ระดับหนึ่ง ทุกฝ่ายยังคงสงบด้วยกฎหมาย ด้วยคสช. แต่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ประปราย แล้วในอนาคตคาดว่ายังคงมีอยู่ ขอให้เลิก สงสารประเทศชาติบ้านเมืองบ้าง เรากำลังเริ่มการปฏิรูป ก่อนที่จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว ทั้งความมีเสถียรภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ
ไม่ทำปรองดองเร็วเกินไป
"วันนี้จากสิ่งที่ได้พบเห็นและได้ทำงานมา ระยะเวลาเกือบ 2 ปีมานี้ หลายประเทศเขาไม่ได้รังเกียจรัฐบาลเพราะว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่มีคนไทย นักการเมือง บางคน บางกลุ่ม บางพรรค ยังคงพยายามทำร้ายรัฐบาล ให้ร้ายคสช. เป็นคนไทยด้วยกันเองทั้งนั้น ทุกคนพยายามบิดเบือน พยายามให้ร้ายว่าต่างประเทศไม่ยอมรับเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม คือตัวเองไม่ยอมรับกฎหมาย ไม่รับยุติธรรมอยู่แล้ว ต้านมันทุกอย่าง เพราะฉะนั้นที่ถามกันว่าคนดีเป็นยังไง ผมว่าคนเหล่านั้นน่าจะเป็นคนไม่ดี" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯกล่าวว่า วันนี้ถ้าหากเราทำเรื่องปรองดองรวดเร็วเกินไป ไม่รอบคอบ มีความขัดแย้ง มี 2 ฝ่ายเสมอ แล้วฝ่ายหนึ่งก็มุ่งให้สันติ อีกฝ่ายหนึ่งมุ่งแต่จะนิรโทษ มันจะไปได้อย่างไร สิ่งที่ตนพยายามใช้เวลาที่มีอยู่ทำความเข้าใจกันก่อน อย่าเพิ่งไปรีบตั้งคณะขึ้นมา เดี๋ยวเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีก ตนไม่ได้ไม่อยากไม่ปรองดอง แต่ไม่อยากจะใช้การนิรโทษ โดยใช้อำนาจ ไม่ใช้กฎหมาย ในขณะที่ทุกฝ่ายยังคงขัดแย้งกันอยู่ มันจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตถ้าเราทำอะไรที่มันไม่ใช่ของจริง เป็นการสร้างภาพลวงตา ซึ่งอาจจะปะทุขึ้นใหม่
ซัดคนยุปลดรมว.เกษตรฯ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 4.เรื่องการทำงาน ของคสช.และรัฐบาล เราทำงานด้วยหลักการและเหตุผล ต้องเข้าใจถึงปัญหา ทุกปัญหาที่ทับซ้อนเคยคิดอยู่เหมือนกันว่ามี 2 ทางเลือก แบบ 1 คือทำสบายๆ ประคองไปเรื่อยๆ ไม่เจ็บตัว รอเลือกตั้ง แล้วก็ไป หรือแบบสอง แก้ทีละเรื่อง ตนเคยถามเพื่อนๆ รัฐมนตรีทุกคนว่า เราจะเลือกข้อไหนกันดี ข้อ 1 สบายดี ข้อ 2 ลำบากหน่อย เหนื่อยหน่อย ถูกให้ร้ายมาตลอดเวลา แต่เพราะตนเป็นทหาร ได้รับการสอนสั่งมาให้นึกถึงปัญหาของประเทศ เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทย บางครั้งก็รู้สึกเหมือนกันว่า ไม่รู้จะรักษาไว้ให้ใครเหมือนกัน เพราะทะเลาะเบาะแว้งกัน
"หลายคนไปให้ร้ายรัฐมนตรีเกษตรฯ (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ)ว่าจะให้ผมปลด ผมไม่เคยคิดจะปลด ถ้ามีตำแหน่งรองนายกฯอีกก็จะให้เขาอีกตำแหน่งด้วยซ้ำไป ผมรู้ว่าเขาทำงานยาก สิ่งที่ทำวันนี้คือเอาไปช่วยกันทำงาน แล้วมีคนไปแคะแกะเกาให้ทะเลาะ กันอีก ให้ผมแตกแยกกับรองนายกฯบ้าง แตกแยกกับรัฐมนตรีบ้าง ผมไม่ทราบว่าท่านจะทำไปเพื่ออะไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
อย่าข่มขู่รัฐบาล
นายกฯกล่าวว่า 5.การแก้ปัญหาพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เรื่องน้ำที่มีน้ำจำกัด ปีนี้ ปีหน้า และปีต่อๆ ไปไม่รู้จะกลับมาใหม่เหมือนเดิมหรือเปล่าถ้ามันแล้งขึ้นไปเรื่อยๆ จะทำยังไง ไม่อยากให้มองว่ารัฐบาลและคสช.แก้ปัญหาแบบเอารอดไปวันๆ เราจริงใจทุกอย่าง แต่ท่านอาจจะเคยชินเคยได้รับการตามใจ วันนี้มีมาตรการในการข่มขู่รัฐบาลอีก อย่าข่มขู่กันเลย มาร่วมมือกัน เอาปัญหามาคุยกัน แล้วหาทางออกให้ได้ แต่ถ้ากดดันกันมากๆ แก้ไม่ได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างความเข้มแข็ง ไม่อยากให้ไปแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนเหมือนเดิม บิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดๆ สร้างภาพลวงตาตลอดเวลาที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมเรื่องยาง หรือชุมนุมเรื่องยางของเกษตรกร มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ตำรวจเขาก็รายงานขึ้นมา อนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว ประชุมเรียบร้อย ส่งความต้องการมา อะไรทำได้ตนก็ทำ ไม่ใช่ยื่นมาทำให้ทั้งหมด ทุกอย่างต้องแก้ที่ต้นเหตุทั้งหมด
สปท.เสวนายุทธศาสตร์ชาติ
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดสัมมนา เรื่อง "ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ" โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนาว่า ยุทธศาสตร์ชาติถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องซ่อมสร้างประเทศ วางโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเป็น กระบวนการที่รัฐบาลชุดต่อไปใช้เป็นเข็มทิศในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อลดช่องว่างในรัฐบาลแต่ละชุดแต่ละสมัยในการจะขับเคลื่อนประเทศ
ทั้งนี้ เราเห็นผลได้ในขั้นแรกจากชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้ความสำคัญกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นที่สองคือการได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน และขั้นสุดท้ายคือการเคารพต่อยุทธศาสตร์ด้วยหัวใจ
"เราไม่ควรคิดเพียงซ่อมประเทศ ก้าวข้ามความขัดแย้งเพียงเท่านี้ แต่ต้องขึ้นเป็นประเทศชั้นนำให้ได้ โดย สปท.จะเป็นคนทำหน้าที่เปลี่ยนทัศนคติคนไทย ให้เรามีความภาคภูมิใจในชาติ แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน อันเป็นการออกแบบและขับเคลื่อนจากแม่น้ำ 5 สาย" นายอลงกรณ์กล่าว
'ยงยุทธ'เผยกรอบพัฒนา 20 ปี
ด้านพ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านการพัฒนาของประเทศไทยขาดความต่อเนื่อง เพราะลักษณะของการเมืองส่วนใหญ่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์เฉพาะช่วงระยะเวลาของรัฐบาลมากกว่าผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งการทำแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้จะเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า และเป็นแม่บทในการกำหนดนโยบาย กำหนดทิศทางขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงกำหนดแผนพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อ การบูรณาการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
คณะกรรมาธิการปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน สปท. ได้เสนอแผนการปฏิรูปไว้ 4 ด้าน คือ 1.ให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ โดยจะได้เห็นร่างดังกล่าวในวันที่ 29 ม.ค.นี้ 2.ให้ยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนมีรัฐบาลต่อไป โดยในระหว่างนี้อาจจะให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ใช้ไปพลางก่อน 3.สนับสนุนความมุ่งมั่นของรัฐที่มีเจตจำนง ให้มียุทธศาสตร์ชาติ 4.การเผยแพร่ทำความเข้าใจและสร้างปณิธานร่วมในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ
ปัดปูทางคสช.สืบทอดอำนาจ
พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับกลไกการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ เรามีการตั้งสองคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือ นายกฯ ประธานสนช. ประธานสปท. และผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 23 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ซึ่งบุคคลเหล่านี้หากหมดวาระก็ต้องไป อย่างประธาน สนช.และสปท.หากหมดวาระตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวต้องไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นประธานวุฒิสภาและประธานสภาแทน ส่วนอีกกลุ่ม คือคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ซึ่งตรงนี้ตัวคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนแต่งตั้ง ดังนั้นเรื่องที่จะมีอำนาจเหนือครม. รัฐบาลเป็นไปไม่ได้และไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานสัมมนาเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมได้ซักถามวิทยากร โดยมีการถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติที่วางไว้ 20 ปีจะเป็นอย่างไร พ.ต.ต.ยงยุทธกล่าวว่า เราได้ร่างเป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยยุทธศาสตร์แห่งชาติขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับร่างรัฐธรรมนูญ มีการหารือกับวิป สปท.แล้วจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม สปท. ภายในเดือนก.พ. หากผ่านจะนำไปเสนอรัฐบาลต่อไป
ทำเป็นพ.ร.บ.-แก้ได้ทุก 5 ปี
พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวว่า กรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า ร่างพ.ร.บดังกล่าวจะเสร็จทันแผนที่วางไว้ คือ 1 ต.ค.หรือไม่นั้น ขณะนี้เรามีการประสานหารือกับฝ่ายกฤษฎีกาเรื่อยมา ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลหากเขียนยุทธ ศาสตร์เป็นระยะเวลา 20 ปี แล้วสถานการณ์เปลี่ยนจะทำอย่างไร ต้องบอกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุก 5 ปี แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมงานเสนอให้บัญญัติว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองต้องผูกโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งให้มีบทลงโทษผู้ที่ไม่ทำตาม โดยพ.ต.ต.ยงยุทธกล่าวว่า เราไม่ขอก้าวล่วงไกลขนาดนั้น มันไม่จำเป็น เพราะเรามองว่าหากประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองหาเสียงมีนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติก็อย่าเชื่อเขาเพราะเขาทำไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นตรงนี้ไม่ต้องเขียน ความเป็นจริงเห็นอยู่แล้ว แม้จะมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ตนเห็นว่าไม่จำเป็น
กรธ.ถกหมวดศาล
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุมนอกสถานที่ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 มีวาระพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 10 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ.แถลงว่า การพิจารณาหมวด 10 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป มีสาระสำคัญ คือ กำหนดหลักการเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งเป็นอำนาจของศาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้พิพากษาหรือตุลาการจะต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
สำหรับ เหตุผลที่กรธ.กำหนดให้ 3 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หารือร่วมกันกรณีรัฐบาลดำเนินนโยบายที่อาจสร้างความเสียหายต่อประเทศและให้แจ้งเตือนให้นายกฯ ครม. และรัฐสภา รับทราบเพื่อดำเนินการนั้น เนื่องจากกรธ.ได้กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินตามวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นหากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่าการใช้จ่ายงบประมาณผิดระเบียบ ทางสตง.จะต้องเป็นผู้ดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจ แต่หากตรวจสอบพบว่าส่อทุจริตจะเป็นการส่งมอบให้เกิดการหารือร่วมกัน ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานใดจะหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาหรือตักเตือนได้โดยลำพังได้
แจงอพช.-ไม่มีเจตนา
นายอมร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อพช.) มาเรียกร้องให้กรธ.แสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ เนื่องจากมีการระบุว่าการบัญญัติพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นภัยในระยะยาวนั้น ตนขอชี้แจงว่าเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงกรธ.ไม่ได้มีเหตุผลหรือเจตนาเช่นนั้นเลย
ส่วนข้อเรียกร้องให้กรธ.บัญญัติประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธทั้งหมดไว้ในหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไปนั้น กรธ.ขอย้ำว่าการกำหนดประเด็นพระพุทธศาสนาไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐมีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการธำรงพิทักษ์พระพุทธศาสนาแล้ว
'มีชัย'เผยเหตุตัดป.ป.ช.จังหวัด
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการไม่กำหนดให้มีอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ ป.ป.ช.จังหวัด ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เดิมกรธ.คิดจะเขียนให้ป.ป.ช.มีอำนาจตั้งอนุกรรมการเพื่อช่วยตรวจสอบ แต่กังวลว่าจะเป็นบทที่ตายตัวและสร้างอำนาจให้อนุกรรมการเต็มที่ จะเกิดปัญหาได้ เวลาเลือกป.ป.ช.เลือกคนที่ไว้ใจได้ที่สุด ประวัติขาวสะอาด แต่เมื่อถึงอนุกรรมการ ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ควรเปิดช่องก็ตัดออกไป หากมีความจำเป็นตอนออกกฎหมายลูก จะปรึกษากับป.ป.ช.ว่าจะทำงานอย่างไร
ในกระบวนการทำงานของป.ป.ช. พยายามเขียนให้ทำงานได้ โดยไม่ต้องมีกระบวนการหรือขั้นตอนรับมาแล้ว ดู เสนอเข้ากรรมการให้ตัดสินใจรับหรือไม่ แล้วกลับมาบอกว่าตั้งอนุกรรมการหรือไม่ ใช้เวลาเป็นปี ทำให้การทำงานป.ป.ช.ล่าช้าไม่ทันใจ ดังนั้นในกลไกทำงานของป.ป.ช. จะเปิดช่องให้เขาสามารถทำได้สะดวกมากขึ้น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ กำหนดให้โยนไปยังหน่วยงานเจ้าของเรื่องทำเอง เช่น ทำผิดเล็กๆ น้อยๆ จะเสียเวลาทำเป็นปีๆ เพื่อ นั่งชี้ ไม่ค่อยคุ้มค่า ซึ่งจะทำให้ป.ป.ช.ลดภาระงานลง และไปทำเรื่องสำคัญๆ ได้
ปรับองค์กรอิสระ-ลดงานซ้อน
นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนการทำงานขององค์กรอิสระ ในร่างรัฐธรรมนูญได้จับให้ยึดโยงกัน กล่าวคือ เมื่อองค์กรอิสระใดที่ตรวจสอบไปเจอว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของอีกองค์กร หากสอบบางส่วนตามหน้าที่ของตนเองแล้ว ก็ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจเจอเป็นเรื่องทุจริต ก็ส่งสำนวนที่ตรวจสอบให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยใช้สำนวนของสตง.เป็นหลัก ส่วนป.ป.ช. ก็สอบต่อจากนั้น หากป.ป.ช.ตรวจสอบคดีพบว่าเป็นการใช้เงินผิดวินัยการเงินการคลังหรือผิดระเบียบ แต่ไม่ใช่ประเด็นทุจริต ส่งไป ให้สตง.
หรือผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ส่งให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณา หรือหากกสม.สอบเจอว่าเป็นเรื่องการถูกรังแก แต่ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ให้ส่งเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น โดยในเนื้อหาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกันให้มากที่สุด และป้องกันปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน หรือแต่ละองค์กรเสนอเรื่องมาขออำนาจของตนเองเพิ่ม เพราะจะกลายเป็นเรื่องที่ลำบาก ส่วนการสอบต่อจากองค์กรอิสระใด ต้องให้องค์กรที่สอบสุดท้ายเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะต้องไปสอบเพิ่มเติม
ลุยเชิงรุก-รู้เองสอบได้ทันที
ประธานกรธ.กล่าวว่า กรธ.ได้ปรับบทบาทขององค์กรอิสระให้ทำงานเชิงรุก กล่าวคือเมื่อองค์กรใดสอบสวนแล้วเจอก็ส่งต่อไปไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่ง และก่อนหน้านั้นต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนถึงจะทำ แต่เราเขียนใหม่ หากความปรากฏแก่องค์กร ไม่ว่าด้วยการร้องเรียน หรือการรู้เอง เช่น พบข่าวในหนังสือพิมพ์ สามารถลงมือทำได้เลย ทุกองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ต้องรอคนร้อง
โดยกรธ.พยายามตัดคำว่า เมื่อมีผู้ร้องเรียนกล่าวหาออก เพื่อให้ลดกรณีข้อโต้แย้งที่เคยเกิดขึ้นว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ทำให้ผู้ที่แจ้งเรื่องที่มีหลักฐานพอสมควร พอจะสอบได้ สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ประเด็นการนำเรื่องการสอบได้โดยไม่มีผู้ร้องนั้นจะไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีเมื่อมีผู้ร้องเท่านั้น ส่วนประเด็นของการกำกับจริยธรรมของผู้ทำหน้าที่องค์กรอิสระนั้น องค์กรอิสระต้องถูกตรวจสอบซึ่งกันและกันด้วย
นอกจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรอิสระร่วมกันจัดทำประมวลจริยธรรมเพื่อใช้ปฏิบัติโดยครอบคลุมให้ใช้บังคับกับส.ส., ส.ว. และครม.ด้วย ส่วนหน่วยงานใดจะทำหน้าที่ตรวจสอบหรือกำกับจริยธรรม ตนมองว่าในหน่วยงานจะมีคณะกรรมการว่าด้วยจริยธรรมกำกับอยู่แล้ว
ให้สิทธิสตง.-ป.ป.ช.-กกต.เตือนรบ.
นายมีชัยกล่าวว่ามีประเด็นใหม่ที่เราใส่ในร่างรัฐธรรมนูญและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือ กรณีที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการสิ่งใด และส่อว่าจะเกิดความเสียหาย ทั้งในระดับนโยบาย หรือได้ลงมือกระทำไปแล้ว ให้องค์กรอิสระ ได้แก่ สตง. ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาร่วมกันว่าเรื่องที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการนั้นจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศระยะยาวใช่หรือไม่ หากพบประเด็นความเสียหายให้นำมติของทั้ง 3 องค์กรที่มีร่วมกันแจ้งให้ครม.ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายกฯ และสภาผู้แทนราษฎรทราบ โดยไม่มีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามข้อตักเตือนดังกล่าว
"กรณีนี้มีหน้าที่แค่บอกว่าทำท่าจะเสียหายกับประเทศแล้ว หากเขาเห็นแล้วต้องไปปรับปรุงแก้ไขโดยตัวเขาเอง หรือจะหยุดก็แล้วแต่เขา แต่หากไม่หยุด ไม่ทำอะไร และเดินหน้าต่อไป วันหลังหากเกิดความเสียหายจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะทั้ง 3 องค์กรนั้นมีมติแจ้งเตือนไปแล้ว ถือเป็นมาตรการใหม่ที่จะระงับยับยั้ง หรือช่วยเตือนสติกันเมื่อจะไปทำอะไรแล้วจะเกิดความผิดพลาดในอนาคต ส่วนเงื่อนไขของการพิจารณาร่วมกันของ 3 องค์กรคือ ทั้ง 3 องค์กรต้องมีความเห็นร่วมกัน และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าจะเสียหายจริงๆ ตัวกลไกธรรมชาติจะคอยดู โดยไม่ใช่ละลานวิธีการทำงานของรัฐบาล" นายมีชัยกล่าว
ตั้ง 3 เงื่อนไขแก้รธน.
นายมีชัยยังกล่าวถึงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญว่า เงื่อนไขที่หนึ่ง การพยายามที่จะทำให้ทุกส่วนที่เป็นผู้มีอำนาจในรัฐธรรม นูญมามีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งที่มีเสียงข้างมากแล้วจะแก้ไขได้ ส่วนผู้ที่มีอำนาจเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนของส.ส.ทั้งหมดเท่าที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 3.ส.ส.และส.ว.เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ 4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำในรัฐสภา แบ่งเป็น 3 วาระได้แก่ 1.วาระรับหลักการ หากรัฐสภาจะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อเมื่อเสียงเห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งจะลงมติด้วยวิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล โดยกรณีนี้จะต้องมีส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
วางขั้นตอน 3 วาระ
2.วาระการพิจารณาเรียงลำดับเป็นรายมาตรา ในขั้นตอนนี้จะต้องมีการจัดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแสดงความคิดเห็น และการออกเสียงเห็นชอบในรายมาตรานั้นจะตัดสินด้วยเสียงข้างมาก อีกทั้งจะต้องมีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกเกิน 10 คน อย่างน้อยร้อยละ 10 เช่น ถ้ามีสมาชิก 100 คน ต้องมีสมาชิกเห็นด้วย 10 คน ถ้ามีสมาชิก 10 คน ต้องมีคนเห็นด้วย 1 คน ส่วนพรรคการเมืองที่มีไม่ถึง 10 คน ก็ให้พรรคที่มีไม่ถึง 10 คนไปรวมกันแล้วถ้าได้ถึง 10 คน ก็ให้คิดตามร้อยละ 10
และ 3.รัฐสภาลงมติเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติในวาระที่ 3 นั้นจะต้องให้พ้นเวลา 15 วันนับตั้งแต่รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 เสร็จสิ้นก่อนรัฐสภาถึงจะพิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ได้ ซึ่งการลงคะแนนในวาระที่ 3 จะใช้วิธีเรียกชื่อเป็นรายบุคคลและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเห็นชอบให้บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และภายหลังที่รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
หมวดสำคัญต้องทำประชามติ
นายมีชัย กล่าวว่า เงื่อนไขที่สอง จะมีบทบัญญัติรับรองไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะกระทำมิได้ เมื่อวางหลักตรงนี้แล้วเมื่อไปถึงมาตราที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้บังคับมาตรา 260 การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ด้วยวิธีนี้ แล้วให้แก้ไปตามกระบวนการขั้นต้น
เงื่อนไขที่สาม ถ้าเป็นการแก้ไขรัฐธรรม นูญที่เกี่ยวกับหมวด 1 เรื่องทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 13 หน้าที่ขององค์กรอิสระหรือเกี่ยวด้วยคุณลักษณะต้องห้ามของส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระ หากมีการแก้ไขต้องไปทำประชามติก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม หมวดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวดที่กล่าวมานั้นสามารถแก้ไขได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขให้มีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด
ยันให้ศาลรธน.ฝ่าวิกฤต
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นมีกี่มาตรา นายมีชัยกล่าวว่า เบื้องต้นมีประมาณ 261 มาตรา ซึ่งตัวเลขมาตรานี้ยังไม่นิ่ง เพราะอาจมีการตัดหรือโยงบางมาตราเข้าด้วยกันประมาณ 10 มาตรา โดยในคืนนี้จะให้กรธ.ทุกคนไปสรุปเนื้อหาภาพรวมว่าขาดหรือต้องการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 17 ม.ค. จะมาดูเพิ่มเติมอีกครั้งแล้วจะไปพิจารณาต่อที่รัฐสภา รวมถึงจะเริ่มพิจารณาในบทเฉพาะกาลต่อไป
นายมีชัย กล่าวว่า ขณะนี้กรธ.ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีเหตุวิกฤตผู้ใดจะเป็นคนชี้ คำตอบเวลานี้คือศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณารัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยกรธ.เขียนไว้ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญว่า กรณีที่จะตัดสินคดีใดทั้งปวง ประการแรก ให้ดำเนินการตัดสินไปตามกฎหมาย ประการที่สอง ถ้าตัวบทกฎหมายไม่ชัดเจนให้ตัดสินไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่หากกฎหมายไม่ชัดเจนและหาเจตนารมณ์ไม่ได้ ให้ไปตัดสินตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เท่ากับว่ามาตรา 7 ยังคงอยู่แต่ได้ย้ายไปอยู่ในหมวดหมู่ที่เหมาะสมควรอยู่แล้วนั่นเอง ขอย้ำว่าเราไม่ได้เพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เราเปิดช่องให้ไปสะดวกขึ้นเท่านั้น
รับมีนิรโทษคณะรัฐประหาร
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.เปิดเผยว่า กรธ.ได้พิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้ง 13 หมวดแล้วเสร็จ โดยในวันที่ 17 ม.ค. นายมีชัยจะให้กรธ.แต่ละคนมาพูดคุย สรุปกันอีกครั้งว่าเนื้อหาที่ได้คุยกันไปทั้งหมด 13 หมวด กรธ.คนใดยังติดใจเนื้อหา อยากให้มีการปรับหรือแก้ในส่วนไหนบ้าง โดยเนื้อหาในบทเฉพาะกาลจะยังไม่มีการพูดคุย คงจะนำไปหารือกันในการประชุมที่กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวถามว่าปกติการร่างรัฐธรรมนูญในมาตราสุดท้ายจะมีการเขียนนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารด้วย นายอุดมกล่าวว่าคงจะต้องมี แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเขียนอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เขียนอะไรลงไป แต่มีบางคนบอกอาจจะเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ที่ระบุ การกระทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นให้ถือว่าชอบธรรมด้วยกฎหมาย โดยหลักการควรมี ไม่อย่างนั้นก็วุ่นวาย เพราะสังคมเรายังมีคนเห็นต่างทางการเมือง หากไม่ทำ เดี๋ยวจะไม่ปรองดอง
นายอุดม กล่าวว่า กรอบในการเขียนบทเฉพาะกาลนั้นควรจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน 1.สิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 2.การเปลี่ยนผ่านขององค์กรอิสระที่ใช้อำนาจก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญจะยังมีผลบังคับใช้แล้วว่าควรจะให้องค์กรเหล่านั้นดำรงอยู่ต่อไปยังไงหรือไม่ 3.การเขียนอธิบายในส่วนที่ได้นิรโทษกรรมต่อคณะรัฐประหาร ส่วนแนวทางปรองดอง เรื่องปฏิรูปควรจะระบุให้ชัดลงไปในบทเฉพาะกาลเลยหรือไม่ เห็นว่า อาจจะมี ขณะนี้มีการคุยกันไว้บ้าง
ปธ.กกต.ยันพร้อมทำตามรธน.
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวถึงกรณีที่กรธ.กำหนดให้มีกกต.จำนวน 7 คนและให้มีอำนาจระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครที่มีพฤติการณ์ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งที่กรธ.ออกแบบมานั้นคิดด้วยความรอบคอบเป็นอย่างดีแล้ว และตามที่ตนได้เคยบอกไว้เสมอ คือไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอำนาจกกต.ไว้อย่างไร กกต.พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกันกกต.ได้เตรียมความพร้อมทางด้านต่างๆ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องไว้รองรับเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ รวมทั้งการจัดทำประชามติ ทางกกต.ก็ได้จัดเตรียมโรดแม็ปไว้เรียบร้อยแล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางให้พรรค การเมืองเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ 3 คน ก่อนเลือกตั้งของกรธ.ว่า เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาที่จะไปพันกันเอง ซึ่งที่มาหลักการนี้เริ่มจากการเปิดโอกาสให้มีนายกฯคนนอก แต่อยากให้กลับไปใช้หลักพื้นฐานมากกว่า ว่า นายกฯควรมาจากส.ส. ยกเว้นกรณีวิกฤตอาจเปิดช่องไว้ได้ว่าควรจะใช้วิธีการแบบนั้น ไม่ใช่เขียนเปิดช่องไว้ทั่วไป
'อ๋อย'ชำแหละร่างรธน.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เท่าที่ดูเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่ามุ่งเน้นจำกัดบทบาทรัฐบาล ทั้งเรื่องนโยบาย การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และเรื่องงบประมาณ ที่นำไปสู่เงื่อนไขรัฐบาลถูกล้มได้โดยง่าย โดยเฉพาะการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่ถูกขัดขวางได้ง่าย โดยไม่ต้องมีการไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง หรือที่รับสมัคร เพราะกำหนดไว้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้เสียงมากกว่าผู้ที่ไปโหวตโน ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย อย่างภาคใต้และภาคอีสาน ถ้ามีพรรคการเมืองไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเลือกตั้ง แล้วรณรงค์ให้โหวตโน จะไม่มีทางได้ผู้แทนราษฎรในเขตนั้น และอาจถึงขั้นไม่มีใครกล้าลงสมัคร เพราะถ้าเขาได้เสียงต่ำกว่าโหวตโน จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้อีก
"เมื่อสถานการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าบ้านเมืองเกิดวิกฤตจำเป็นต้องมีรัฐบาลมาบริหารประเทศ เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจะสามารถลงมติเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ และอยู่บริหารประเทศอีกนานๆ เท่ากับยึดอำนาจโดยไม่ต้องรัฐประหาร เมื่อมาถึงขั้นนั้น ประชาชนจะได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญอย่างนี้เป็นปัญหามาก และรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้แล้ว เพราะจะมีการร่างไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้อีกแล้ว จะทำให้บ้านเมืองไปสู่วิกฤต" นายจาตุรนต์กล่าว
จ่านิว-เอ็นดีเอ็มมาตามนัด
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีศาลทหารกรุงเทพอนุมัติออกหมายจับนาย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา (เอ็นดีเอ็ม) พร้อมพวกรวม 6 คน ประกอบด้วย นายสิรวิชญ์ อายุ 23 ปี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 22 ปี น.ส. ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 22 ปี นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 23 ปี นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ อายุ 29 ปี และนายธเนตร อนันตวงษ์ อายุ 25 ปี ข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 ต่อมานายสิรวิชญ์โพสต์ข้อความให้สื่อมวลชนมารอทำข่าวตนเองพร้อมพวกที่ถูกออกหมายจับที่สถานีรถไฟธนบุรี
ต่อมาเวลา 10.00 น. ทางกลุ่มนักศึกษาได้เดินมางมายังสถานีรถไฟธนบุรี 5 คน นำโดยนายสิรวิชญ์ น.ส.ชลธิชา น.ส.ชนกนันท์ นายกรกช นายอภิสิทธิ์ ขาดเพียงนายธเนตรที่หลบหนีไปประเทศลาว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 8 นาย เจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย อยู่ภายในสถานี โดยไม่มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่มาเสริมแต่อย่างใด ในส่วนของสถานีรถไฟธนบุรี มีสื่อมวลชนมารอทำข่าวตั้งแต่ช่วงเช้า
แถลงจุดยืน-ไม่สนหมายจับ
นายสิรวิชญ์ กล่าวว่า การที่ตำรวจได้อนุมัติขอหมายจับ เนื่องจากพวกเราไปอุทยาน ราชภักดิ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 ในวันนี้เราได้กลับมาที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่เรามีหมายจับจากศาลทหาร และวันนี้เราจะมาแถลงข่าวจุดยืนของเราว่าต่อไปจะดำเนินการอย่างไรต่อกรณีนี้ ซึ่งพวกเราเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกและเรายืนยันว่าไม่ยอมรับกระบวนการนี้
น.ส.ชนกนันท์ได้อ่านแถลงการณ์กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาว่า ตนและสมาชิกกลุ่มออกมาแสดงจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมกระบวน การยุติธรรมภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่ถูกออกหมายจับในที่สุดจากคดีนั่งรถไฟไปอุทยาน ราชภักดิ์ ต่อจากนี้ตนและเพื่อนในกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาจะเดินหน้าตรวจสอบการทุจริตของ คสช. เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและทวงคืนระบอบประชาธิปไตยกลับมา ซึ่งพวกเรายืนยันว่าเราจะไม่ยอมรับขบวนการตามหมายเรียก และยืนยันว่าจะไม่หนีไปไหน จะใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย ทำในสิ่งที่เชื่อคือต่อสู้กับระบอบเผด็จการต่อไป
พับนกฟ้องถูกพรากเสรีภาพ
จากนั้น ทางกลุ่มได้นำหมายเรียกที่เคยได้รับจากพนักงานสอบสวน มาพับเป็นตัวนก เพื่อสื่อว่าประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการเรียกร้องทวงสิทธิเสรีภาพอย่างสันติวิธี แต่กลับได้รับรางวัลเป็นหมายจับ
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า การพับนกจากหมายจับนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพที่ถูกพรากไปทั้งที่ต่อสู้อย่างสันติมาตลอด แต่กลับได้หมายจับเป็นการตอบแทน หากในอนาคตมีการควบคุมตัว เราได้ประสานงานทั้งทนายความ เครือข่ายของพวกเรา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศไว้ หากมีการควบคุมตัวพวกเราทั้ง 5 คน ยืนยันเรื่องการไม่เข้าสู่กระบวนการ และเพื่อนๆ จะมีการจัดกิจกรรมตามมา เหตุการณ์ในวันนี้เราไม่สามารถประเมินได้ว่าจะย้อนรอยเหตุการณ์ 14 ตุลา คนที่ถูกควบคุมตัวในวันนั้นหรือไม่ สุดท้ายการดำเนินคดี อยู่ในส่วนของคสช.เป็นผู้รับผิดชอบ พวกเราโดยเฉพาะตนเป็นหนึ่งในกลุ่ม 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม ยังยืนยันในเรื่องหลักการเดิม คือไม่รับขบวนการตรงนี้ เป็นเหตุผลหลักที่เราเลือกใช้วิธีนี้ในการต่อสู้
ต่อมาเวลา 11.30 น. นายสิรวิชญ์และพรรคพวกต่างแยกย้ายเดินทางกลับ
'บิ๊กตู่'ย้ำจ่อปลดล็อกบอร์ดสสส.
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมออกคำสั่งให้คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้ทำงานต่อไปได้ว่า ในวันที่ 18 ม.ค.ตนจะมีคำสั่งออกมาเพื่อให้บอร์ดที่มีอยู่แล้วทำงานต่อไปได้ จัดตั้งรองประธานให้ครบ ส่วนที่เหลือให้มีการคัดสรร ถ้าคัดสรรได้ก็คัดสรรไป ถ้าคัดสรรไม่ได้ก็คัดสรรทีหลัง พูดง่ายๆคือให้เขาทำงานได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้กรรมการทั้ง 7 คนที่โดนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กลับมาทำงานใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ได้กลับ ถ้าจะกลับก็ให้เข้าสู่กระบวนการคัดสรร ในเมื่อบอกว่าคนไม่พอ ก็ต้องเอามาเพื่อให้ทำงานได้ ให้อนุมัติงบประมาณได้ แต่ในส่วนที่ไม่มีปัญหาต้องอนุมัติให้เขาไป ต้องแก้ไขตามระเบียบให้ชัดเจนขึ้น สังคมเดือดร้อนมากตนก็เข้าใจ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน และตนจะไม่โต้ตอบอะไร เพราะตนทำหน้าที่ของตน พวกท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน สื่ออย่านำเสนอขยายความขัดแย้ง
"จบได้แล้วเรื่องสสส. ซึ่งบ่ายวันจันทร์ที่ 18 ม.ค. ผมจะลงนามให้เขาทำงานได้ ส่วนการคัดสรรคงคัดสรรรองประธานมาก่อนเพื่อให้ครบองค์ประชุม หรือถ้าจะคัดคนอื่นมาด้วย ถ้า 7 คนที่ว่านั้นก็คัดมา เราต้องให้บอร์ดมีอำนาจทำงานได้ ที่ผ่านมาบอกกับผมว่า บอร์ดที่เหลืออยู่ทำงานได้ก็ทำไป แต่พอถึงเวลาบอกว่าบอร์ดไม่ครบ ผมรับรู้ตั้งไม่รู้กี่เรื่อง ข้อมูลมาถึงผมต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็มาจากข้างในทั้งนั้น บอกทำได้ก็ทำไปก่อน แล้วเข้ากระบวนการคัดสรรอีกที" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับอดีตบอร์ดสสส. 7 คนที่ถูกปลด ก็ให้สิทธิกับทั้ง 7 คน สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดสรรได้ ตนไม่ได้ลงโทษอะไรเขา เพียงทำให้เกิดความชัดเจน ถอยห่างมาสักระยะหนึ่ง ให้บอร์ดที่เหลืออยู่แก้ปัญหา เพื่อให้ร่างระเบียบใหม่ออกมามีความชัดเจนขึ้นก็จบ ไม่รู้ว่าอะไรกันนักหนา จะมาเคลื่อนไหวอะไรกันนักหนา ที่ข้างล่างนั้น ถ้าเดือดร้อนก็ต้องช่วยให้เขาทำงานได้ ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ตนมีหน้าที่แค่นั้น อย่าไปขัดแย้งกันอีก
วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9180 ข่าวสดรายวัน
ตู่ขอโทษ! ยัน'สสส.'ไม่ทุจริต
'บิ๊กตู่'ขอโทษ'สสส.' ลั่นตรวจแล้วไม่ทุจริตแจงเหตุพักงาน ทำเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ยัน18 ม.ค.นี้ จะให้บอร์ดปูขนศาล-กำลังใจพรึบ มึนทหารสงสัย"จ่านิว"ทำไมถึงมีเครื่องซักผ้าเอาเงินจากไหนมาซื้อ
ขอโทษ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับมอบของขวัญปีใหม่จากพนักงานตลท. ระหว่างเยี่ยมชมและให้โอวาทผู้บริหาร โดยตอนหนึ่งนายกฯ ขอโทษกรณีที่ใช้ ม.44 สั่งปลดบอร์ดสสส.ด้วย ที่อาคารตลท.แห่งใหม่ ถ.รัชดาภิเษก กทม. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. |
ทำงานต่อไปได้ ตร.จี้"จ่านิว"มอบตัว โซเชี่ยลแห่เซลฟี่เครื่องซักผ้า หลังทหารบุกบ้าน "จ่านิว" แล้วตกใจมีเครื่องซักผ้าด้วยเหรอ ชาวบ้าน-ชาวนาพรึบ แห่ให้กำลังใจ"ปู"ขึ้นศาลคดีข้าวนัดแรก กรธ.สัญจรวันที่ 5 ห้ามเป็นนายกฯเกิน 8 ปี ส.ส.-ส.ว.แปรญัตติงบฯลงพื้นที่ โดนยาแรงพ้นสภาพ
บิ๊กตู่แวะทักครู-นร.วัดนวลนรดิศ
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินมาพบคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ 200 คน ที่เดินทาง มาเยี่ยมชมตลาดน้ำใจ วิถีไทยผดุง ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะศิษย์เก่า ได้กล่าวทักทายครู และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี 1, 4 และ 5 ที่นำสบู่และคุกกี้ มามอบให้เป็นของที่ระลึก และหยุดพูดคุยนานประมาณ 15 นาที ว่า เป็นยังไงบ้าง ใครอยากเป็นนายกฯ บ้าง มาเอาไปเลยนะ กำลังยุ่งๆ
"ลุงเรียนมาเขาสอนจบมาให้เป็นทหาร ไม่ได้สอนให้เป็นนายกฯ แต่ที่ต้องเป็นเพราะบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ไม่ได้ว่าลุงดี ลุงเก่ง เราเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่เมื่อใดที่ประชา ธิปไตยมันเสียหาย มีปัญหา ทหารเป็นอย่างเดียวเท่านั้นที่จะพิทักษ์ปกป้องได้ ไม่ใช่ไปหวง ความรับผิดชอบหรือความรักไว้ วันนี้ทำงานเยอะมาก ใครที่อยากเป็นนายกฯ ต้องรู้งานทั้ง 19 กระทรวง แล้วมีกี่กิจกรรมที่ต้องรู้เพื่อสั่งงานเขาได้ กำกับติดตามดูแลเขาได้ เรื่องเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ความมั่นคง นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ขอฝากอาจารย์ไว้ด้วย ต้องรู้สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ว่าโลกวันนี้เป็นอย่างไร ความมั่นคงไม่ใช่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ทหารตำรวจอย่างเดียว ต้องเป็นหน้าที่ของคนทุกคน อย่าขัดแย้งกัน" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวให้โอวาทเสร็จ ได้บันทึกภาพเป็นที่ระลึก ร่วมกับครูและเด็กนักเรียนอย่างเป็นกันเอง
ลั่นรบ.ดูแลทุกคนเท่าเทียม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ จากใจนายกฯ" ตอนหนึ่งว่า วันนี้อยากกล่าวอะไรจากใจของนายกฯ และหัวหน้าคสช.ด้วย อยากให้ทุกคนเข้าใจสถาน การณ์บ้านเมือง เรื่องสำคัญคือ รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่จะต้องลงมติ การทำประชามติ จะผ่านหรือไม่ผ่าน จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมหรือทำให้บ้านเมืองสงบสุข มีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ เป็นเรื่องอนาคต แต่วันนี้เราจะร่วมกันสร้างอนาคตเหล่านั้น เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจให้ไปหนทางเดียวกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องคือ รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล ดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม ให้มีอนาคตทั่วถึง เป็นธรรมลดช่องว่าง หากเรามุ่งหวังแต่งานการเมืองอย่างเดียวก็เป็นปัญหาอีก วันนี้ถ้าการแข่งขันทางการเมืองสูงมากเกินไป เอาชนะกันทุกอย่าง ประชาชนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็จะเกิดความแตกแยกอีก รัฐบาลที่เป็นธรรมาภิบาลจะต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ ถูกต้องแต่ต้องดูแลคนส่วนน้อยให้ได้ ไม่ใช่ดูแลเฉพาะฐานการเมือง ต้องดูแลประชาชนทุกระดับให้ทั่วถึง การมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องดูว่าแค่ไหนอย่างไรเมื่อไหร่ โดยที่ไม่สร้างความขัดแย้ง สร้างความชักช้าทำโครง การที่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม
วอนทุกฝ่ายลดขัดแย้ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องการปรองดองสมานฉันท์ วันนี้เปิดประเด็นมาอีกแล้ว ตนเคยเรียนแล้วว่าอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย สิ่งแรกคือการปรองดองต้องเกิดจากใจของทุกพวก ไม่เอาพวกเอาฝ่าย ไม่เอาตัวตน ไม่เอาการเมือง และบังคับให้รัฐบาล คสช. ทำให้มันเกิดขึ้น ตราบใดที่รัฐบาลและคสช. ยังไม่เห็นการพัฒนาจากนักการเมือง กลุ่มการเมือง ภาพสังคม เอ็นจีโอ ที่แสดงให้เห็นว่าถ้าเราทำเรื่องปรองดองจะเกิดผลสัมฤทธิ์ ได้ชัดเจน ก็คงไม่ใช่โครงการที่จะทำ จึงขอให้ทุกคนไปปรับปรุงตัวเองด้วย ถ้าอยากจะปรองดองด้วยทั้งหมดทีเดียวก็เริ่มต้นให้ได้ ถ้าเริ่มต้นทะเลาะกันแล้ว ไม่ต้องไปตรงอื่นแล้ว การแก้ปัญหาบ้านเมือง รัฐบาล คสช.ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดขัดแย้ง จะต้องลดความ ขัดแย้งก่อน
"ไม่อยากให้คิดว่า เวลามีปัญหาแล้วทะเลาะกัน รัฐบาล นายกฯ หัวหน้าคสช. ก็ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหาทุกอย่าง และข้างล่างไม่สงบก็ใช้ไป สรุปที่ทะเลาะกันทั้งหมด กลับมาทะเลาะกับผมคนเดียวซึ่งไม่เกิดขึ้นแน่นอน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า มีคนบอกว่าตนพูดมาก ฟังก็ไม่ฟัง ติตลอด แต่ถามว่าเคยทำหรือไม่ ก็ไม่เคยทำอีก จึงควรช่วยกัน เก่งหมดทุกคน ทำไมเราไม่ใช้ความเก่งที่มาเสริมกัน ตนใช้ความเด็ดขาด ใช้การนำแบบทหารจะได้เกิดผลสัมฤทธิ์ ก็เอาวิชาการมาเสริม เอาความรู้ ไม่ใช่มาติว่าทหารไม่มีความรู้ ไม่มีความรู้จะอยู่ได้ถึงทุกวันนี้หรือประเทศ ไม่อย่างนั้นพังไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว อย่าหาว่าทวงบุญคุณอีก
โวยอย่าใช้น.ศ.เป็นเครื่องมือ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า รู้สึกจะมีบางที่ บางอาจารย์จะสอนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชา ธิปไตยอยู่นั่นแหละ ขัดแย้ง ต้องคิดเห็นต่างทุกเรื่อง ตนไม่ได้บอกว่าเห็นต่างไม่ได้ แต่ต้อง ร่วมมือ ถ้าเห็นต่างทุกเรื่อง จะไปกันอย่างไร อย่ามาใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
"นักศึกษารู้หรือเปล่าว่าเป็นเครื่องมือ หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ไม่ได้เป็นตายเวลานี้ ตัวคุณจะตายเองติดคุก และไม่มีอนาคต และมาโทษผมอีก กฎหมายมีไว้ทำไม ไว้จับใครสักคน เลือกจับได้ไหม เลือกขังได้ไหม ก็ผิดกฎหมายอันเดียวกันเรื่องของความเท่าเทียม"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ปัญหาเฉพาะ ที่แก้วันนี้ ในครม.พูดกันว่าตนสั่งการไปแล้ว 15,000 กว่าเรื่อง ก็ย้อนถามว่าเสร็จกี่เรื่องแล้ว ออกมา 50 เรื่องก็หัวเราะกัน ตนบอกว่าที่สั่งเผื่อชาติหน้าด้วย จะเสร็จหรือเปล่าไม่รู้ ชาติแรกยังไม่เสร็จเลย ยังทะเลาะกันอยู่ 50 เรื่องที่ว่ามีปัญหาตามมาอีก 100 เรื่อง จะเสร็จเมื่อไหร่ ทุกอย่างแก้ปัญหาด้วยคนทุกคน ด้วยใจ ด้วยความร่วมมือ ด้วยจิตสำนึก เลิกเถอะ สร้างปัญหากันสู้รบ ไม่เกิดประโยชน์ ก็เอา ตายอยู่อย่างนี้ กฎหมายตัดสินมาว่าอย่างไรว่าตามนั้น วันนี้เป็นคำพูดจากใจตน
ตร.จี้ 6 นศ.ไปราชภักดิ์มอบตัว
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีศาลออกหมายจับนายสิรวิชญ์ เสรี ธิวัฒน์ หรือจ่านิว พร้อมพวกรวม 6 คน ว่า นายสิรวิชญ์ มีสิทธิ์จะเดินทางไปไหนก็ได้เพราะเป็นคนไทยคนหนึ่ง แต่การเคลื่อนไหวหรือการชุมนุมโดยมีนัยยะทางการเมืองนั้นไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะตอนนี้บ้านเมืองมีคำสั่งคสช. บังคับใช้อยู่ จากการตรวจสอบพบว่านายสิรวิชญ์ มีนัยยะทางการเมืองแอบ แฝงอยู่ จึงถือเป็นการทำผิดกฎหมายฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จึงอยากขอให้ใช้แนวทางของกลุ่มชาวสวนยางพาราภาคใต้เป็นตัวอย่างจัดการชุมนุม เนื่องจากเขาปฏิบัติตามกฎหมาย ยื่นเรื่องขอชุมนุมในที่สาธารณะต่อผู้กำกับการในท้องที่นั้นอนุมัติ และปฏิบัติตามเงื่อนไข รวมตัวกันมายื่นข้อเสนอและแยกย้ายกันกลับ แบบนี้คือการปฏิบัติตามกฎหมายที่ควรใช้เป็นแนวทาง
พล.ต.อ.เดชณรงค์ กล่าวว่า แต่กรณีนาย สิรวิชญ์และพวกไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่กลับก่อเหตุวุ่นวายขึ้น ฝ่ายความมั่นคง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ตอนนี้หมายจับออกแล้วซึ่งมีผลภายใน 5 ปี ทางพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคง และชุดทำงานติดตามตัวมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จึงขอเตือนกลุ่มของนายสิรวิชญ์ ว่าให้สงสารพ่อแม่และให้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ไม่ควรเคลื่อนไหวสร้างความเดือดร้อนในบ้านเมืองอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ม.ค. เวลา 10.00 น. ที่สถานีรถไฟธนบุรี กลุ่มนักศึกษาที่ถูกออกหมายจับในคดีนั่งรถไฟไปอุทยาน ราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นัดตั้งโต๊ะแถลงข่าว พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์
แห่เซลฟี่เครื่องซักผ้า-ประชดทหาร
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดกระแสการโพสต์ภาพ "เครื่องซักผ้า" ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีทั้งภาพถ่ายแบบเซลฟี่ (ถ่ายรูปตัวเอง) คู่เครื่องซักผ้าที่บ้านของตน ภาพการซักผ้าแบบต่างๆ รวมถึงภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นภายในบ้าน เช่น เตารีด เป็นต้น โดยเหตุเริ่มจากมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊ก faroong srikhao ฟ้ารุ่งศรีขาว เนื้อหาเป็นการพูดคุยกับมารดา และยายของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษาม.ธรรมศาสตร์ และสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งมีทหารเดินทางมาสำรวจที่บ้านเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีจ่านิวและเพื่อนขึ้นรถไฟไปยังอุทยานราชภักดิ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริต
ในคลิปดังกล่าว น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของจ่านิวเล่าว่า ทหารได้ตรวจสอบข้าวของส่วนตัวของจ่านิว เช่น ที่นอน หนังสือ ของสะสม รวมถึงเครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ พัดลม จักรยานเด็ก และเครื่องซักผ้า พร้อมสอบถามว่าได้มาอย่างไร และ "มีเครื่องซักผ้าใช้ด้วยหรือ" "มีเงินซื้อด้วยหรือ ทำงานแค่นี้ทำไมมีเงินซื้อ" เป็นต้น
ต่อมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด ได้แชร์คลิปดังกล่าวและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "จัดประกวดคลิปเครื่องซักผ้าซะดีมั้ย" จากนั้นได้โพสต์ภาพของ ตนซึ่งถ่ายคู่กับเครื่องซักผ้า พร้อมข้อความว่า "ที่บ้านมีเครื่องซักผ้าด้วยเหรอ" ซึ่งมีผู้ทยอยโพสต์ภาพในลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ มารดาจ่านิวระบุว่า เครื่องซักผ้าที่บ้านของตน ซื้อต่อมาจากเพื่อนของน้องชายซึ่งเลิกรากับภรรยา ในราคา 5,000 บาท ส่วนพัดลม ตัวหนึ่งเพื่อนของจ่านิวมอบให้ตอนรับปริญญา อีกตัวหนึ่งได้จากการสอยดาว และรู้สึกเหมือนตนได้รับการดูแคลนว่าไม่สามารถ ซื้อหาเครื่องใช้เหล่านี้ได้ ทั้งที่บ้านตนไม่ได้ใช้ของราคาแพง หรือดีกว่าคนอื่นเลย
ณัฐวุฒิจี้บิ๊กตู่ดูแลชาวนาด้วย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านฟซบุ๊กว่า ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งมาจากข้อเท็จจริงในชีวิตของเกษตรกร พบว่าทุกครอบครัวพูดถึงแต่โครง การรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่มีใครพูดถึงโครงการรับจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก็ไม่ชี้แจงความคืบหน้า ชาวนาอยากทราบว่าจำนำยุ้งฉางสร้างรายได้ให้ชาวนา ไปเท่าไรแล้ว เทียบกับจำนำข้าวซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โอนเงินจากบัญชี ธ.ก.ส. ตรงเข้าบัญชีชาวนา 870,000 ล้านบาท มีความใกล้เคียงหรือแตกต่างกันอย่างไร ที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐบาลมุ่งมั่นกับการดำเนินคดีน.ส. ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้อง มากกว่าการหาแนว ทางยกระดับรายได้ชาวนา ทั้งที่คดีเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ส่วนการสร้างรายได้เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล
กำลังใจ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าฟังการไต่สวนพยานคดีจำนำข้าวนัดแรก โดยมีประชาชนนับร้อยมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ย่านแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 15 ม.ค |
นายณัฐวุฒิ ระบุว่า วันนี้เมื่อรัฐบาลมีคำตอบให้ชาวสวนยางแล้ว ก็ควรมีคำตอบให้ชาวนาด้วยว่าราคาข้าวที่ตกต่ำมาตลอดหลังไม่มีโครงการรับจำนำจะแก้ไขอย่างไร การแนะ นำให้ปลูกพืชอื่นทดแทน ผ่านกระบวนการคิด จัดวางแผนผลผลิตแล้วหรือไม่ หากชาวนาปลูกพืชอื่นตามคำพูดนายกฯแล้วราคาตก เช่น หมามุ่ย จะแก้ไขอย่างไร อยากให้รัฐบาลตระหนักว่าการแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นหน้าที่ เมื่อยึดอำนาจจากประชาชนไปแล้วจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ชาวนาจะส่งเสียงถึงรัฐบาลก็กลัวอำนาจ ส่วนรัฐบาลไม่พูดถึงชาวนาเลยไม่รู้ว่ากลัวอะไร แต่เท่าที่สัมผัสตอนนี้แน่ใจว่าชาวนากลัวอดตาย นายกฯซึ่งพูดวันละหลายรอบ จะพูดเรื่องการแก้ปัญหาชาวนาบ้างได้หรือไม่
แห่ให้กำลังใจ'ปู'ขึ้นศาลคดีข้าว
วันเดียวกัน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินทางมาศาลฎีกาฯ ตามที่ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่ นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ มีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรค และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยมาให้กำลังใจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ฯลฯ ขณะเดียวกันมีมวลชนกว่าร้อยคนมาคอยให้กำลังใจ และมอบดอกกุหลาบสีแดงแก่อดีตนายกฯ พร้อมตะโกน'เรารักยิ่งลักษณ์'และ 'ยิ่งลักษณ์สู้ๆ'ตลอดเวลา
ชาวนามอบช่อข้าวแล้งน้ำให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศโดยรอบศาลฎีกาฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจาก นั้น นายเสน่ห์ มณีโชติ ชาวนาบางเลน จ.นครปฐม ได้นำช่อข้าวแล้งน้ำมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนช่อดอกไม้ และยืนยันว่ายังมีชาวนาที่ยังรักอดีตนายกฯอยู่ พร้อมเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ดูแลชาวนาด้วย ไม่ใช่ช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งชูป้ายข้อความว่า "ชาวนาตัวจริง" "โครงการจำนำข้าวทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากจริงๆ" แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้เก็บป้ายข้อความดังกล่าวอ้างว่าไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศในบริเวณศาลฎีกาฯ เจ้าหน้าที่นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ คู่ความ เนื่องจากมีประชาชนมารอให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบดูแลความปลอดภัย
พร้อมแจงข้อเท็จจริงให้ศาลรับรู้
จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า เรามีความพร้อมในเนื้อหา วันนี้เป็นวันสืบพยานของฝ่ายโจทก์ ซึ่งอาจมีการให้การนอกจากที่ฝ่ายโจทก์ให้ไว้ในชั้นป.ป.ช. เนื่องจากมีพยานปากใหม่ที่ยังไม่เคยให้การในชั้นป.ป.ช. คงจะมีคำถามเพิ่มเติม และเราคงต้องนำเสนอให้ศาลเป็นผู้พิจารณา
เมื่อถามว่าพยานที่ไม่เคยอยู่ในชั้นป.ป.ช. ทำให้กังวลหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราจะพยายามทำเต็มที่และว่าไปตามเนื้อหา ซึ่งต้องให้ศาลพิจารณาต่อไป สำหรับพยานฝ่ายตนนั้น ก็พร้อมนำเสนอข้อมูลในการนัดไต่สวนพยานในเดือนเม.ย.นี้
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราพยายามนำข้อเท็จจริงมาให้ศาลรับรู้
อัยการเบิกความ'ทีดีอาร์ไอ'
ต่อมาเวลา 09.30 น. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกในคดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 โดยวันนี้อัยการ นำตัวนายนพดล ทิพยวาน บรรณาธิการข่าวการ เมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เบิกความเกี่ยวกับการ นำเสนอข่าวที่เป็นบทสัมภาษณ์ของน.ส. ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ โครงการจำนำข้าว ซึ่งทำคลิปภาพและเสียงสัมภาษณ์ที่มีการออกอากาศเสนอต่อศาล โดยใช้เวลา 30 นาทีเบิกความเฉพาะเรื่องการนำเสนอข่าว
จากนั้นเบิกความนายนิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ถึงผลการวิจัยโครงการจำนำข้าวในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยนายนิพนธ์ระบุว่า ที่ป.ป.ช.และสกว.ได้ว่าจ้างให้ทำวิจัยและศึกษาโครงการจำนำข้าวและการประกันรายได้ ก็เพื่อตรวจสอบและสนับสนุนนโยบายสาธารณะ รวมทั้งต่อต้านการทุจริต โดยกรณีที่ป.ป.ช.ว่าจ้างการทำวิจัยในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่เพื่อกล่าวหาการทุจริต และการทำศึกษาโครงการในยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เกิดก่อนจะกลายเป็นคดี ซึ่งไม่ทราบว่าจะนำงานวิจัยดังกล่าวมาเป็นหลักฐานของโครงการ
สรุปวันแรกสืบพยาน 2 ปากไม่จบ
จากนั้นเวลา 16.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์หลังการซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมงครึ่งว่า วันนี้เป็นวันแรก ยังไม่ขอให้ความคิดเห็นพราะเพิ่งจะเริ่มต้น ได้เจอกันทุกเดือนอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ทีมทนายก็ทำอย่างเต็มที่ สืบพยานได้เพียง 2 ปาก ยังไม่เสร็จ ต้องไปต่อคราวหน้า นัดวันที่ 17 ก.พ. และจะนัดเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ กล่าวถึงทนายฝ่ายจำเลยท้วงติงอย่างหนักในเรื่องผลวิจัยของทีดีอาร์ไอในคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์ว่า การท้วงติงเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ต้องชี้ให้เห็นว่าผลวิจัยมีข้อบกพร่องหรือมีปัญหาอย่างไร ปกติเราแทบจะไม่เคยเห็นด้วยซ้ำว่ามีการใช้ผลงานวิจัยเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในศาล ส่วนข้อกังวลว่าน้ำหนักข้อมูลงานวิจัยจะกำหนดทิศทางคดีหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วคดีนี้ปัญหาอยู่ที่นโยบายดีหรือไม่ดี มีข้อบกพร่องอย่างไร ไม่ใช่เป็นเรื่องความผิดทางอาญา การจะทำนโยบายอย่างไรนั้นเป็นเรื่องกลไกทางการเมือง ที่แต่ละพรรคจะเสนอ ต่อประชาชน เมื่อเสนอแล้ว ประชาชนบอกว่าให้ทำก็ต้องทำ ซึ่งอัยการไม่ได้ฟ้องว่าทำนโยบายนี้แล้วผิดกฎหมาย
ทนายชี้การพิจารณาขึ้นอยู่กับศาล
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์หลังการสืบพยานฝ่ายโจทก์ว่า กระบวนการดังกล่าวจะเดินอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด การพิจารณาทุกอย่างขึ้นอยู่กับศาล ส่วนจุดอ่อนของงานวิจัยทีดีอาร์ไอในการสืบพยาน ครั้งนี้มีเรื่องใดบ้างนั้น ขอไม่วิจารณ์ ขณะนี้อยู่ในช่วงการสืบพยานฝ่ายโจทก์ ส่วนการสืบพยานฝ่ายจำเลยในเดือนเม.ย.นั้น ยังไม่ได้ประเมินว่าจะเป็นอย่างไร แต่ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว เวลานี้ขอทำหน้าที่ซักค้านฝ่ายโจทก์ให้ดีที่สุด ส่วนการสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่ยังเหลืออีก 2 ปากและเป็นกรณีความเสียหายของโครงการจำนำข้าวนั้น ไม่กังวล ไม่ว่า เขาจะพูดอะไร การพิจารณาอยู่ที่ศาลว่าจะชั่งน้ำหนักข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายอย่างไร
ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทีมทนายความ ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นฟ้องอัยการสูงสุดและคณะทำงานอัยการคดีจำนำข้าว กรณีทำอย่างเร่งรีบรวบรัด ซึ่งศาลอาญาไม่รับฟ้องว่า คดีดังกล่าวได้อุทธรณ์ไปแล้ว ซึ่งต้องรอว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้รับคดีไว้พิจารณาหรือไม่
กลุ่มสุขภาพจี้เลิกคุกคาม'สสส.'
วันเดียวกัน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนัก งานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสุขภาพคนชายขอบ นำโดยนายมัยตรี จงไกรจักร พร้อมตัวแทน 20 คนเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ผ่านนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน เพื่อขอให้ทบทวนการแทรกแซงการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และหยุดการชะลอเบิกจ่ายงบสร้างสุขภาพ
เอกสารระบุว่า การที่คสช.เข้าควบคุมและแทรกแซงการดำเนินการในสสส.อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการตรวจสอบและชะลอการเบิกงบประมาณ รวมถึงการปลดกรรมการสสส. ทำให้เครือข่ายไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานต่อไปได้ จึงขอให้นายกฯสั่งการให้การเบิกจ่ายงบประมาณโครงการที่ดำเนินการไปอยู่ในขณะนี้ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การดำเนินโครงการต้องหยุดชะงัก และขอให้นายกฯและคสช.ไม่เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการสสส. ปล่อยให้กระบวนการสรรหาตามปกติ เพื่อสร้างความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับสสส.ไม่ใช่ผู้รับจ้าง แต่เป็นเครือข่ายที่ทำงานด้วยจิตอาสา จึงขอให้หยุดการคุกคามเรื่องภาษีและควรมีนโยบายการคลังเพื่อสังคม
บิ๊กตู่ขอโทษพักงาน'สสส.'
ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แห่งใหม่ ถ.รัชดาภิเษก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พร้อมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ตรวจเยี่ยมชมอาคารแห่งใหม่ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปบทบาทความสำคัญของตลาดทุนและแผนพัฒนาตลาดทุน พร้อมให้โอวาทแก่คณะ ผู้บริหารและผู้แทนองค์กรในสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีให้บอร์ดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ยุติการทำหน้าที่ ว่าเรื่องสสส.ที่ออกคำสั่งพักงานผู้บริหารนั้น ต้องกราบขอโทษจริงๆ ไม่ต้องการจะไปทำลาย แต่วันนี้อยากสร้างการรับรู้ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสนับสนุนให้เดินหน้าเท่านั้นเอง
เผยผลตรวจไม่มีทุจริต
"วันที่ 18 ม.ค. จะออกคำสั่งให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ เพราะเมื่อไปทบทวนแล้วบอร์ดไม่ครบทำให้ไม่สามารถประชุมได้ ทำไมไม่บอกตั้งแต่วันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงออกคำสั่งให้บอร์ดที่เหลือทำงานได้ สามารถอนุมัติได้ รวมถึงแต่งตั้งผู้บริหาร กรรมการต่างๆ ได้ ส่วนที่บอกว่าคสช.จะไปครอบครองสสส.นั้น จะไปแบกไว้ทำไม และบอกว่าจะแต่งตั้งคนนั้นคนนี้เพื่อผลประโยชน์ เพื่อบริษัทนั้นบริษัทนี้ ใครมาขอตนจะเล่นงาน ที่ทำทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ตนเป็นคนเริ่มแต่ก็ต้องเสียเวลากันหน่อยเพื่อทำให้ถูกต้อง ผลตรวจสอบออกมาแล้วไม่มีการทุจริต ซึ่งไม่เคยบอกว่ามีทุจริต ในคำสั่งที่เขียนก็ไม่มีคำว่าทุจริต เพียงแต่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ให้มีความชัดเจน เมื่อถึงเวลาคัดสรรบุคลากรก็ให้มาคัดสรรตนจะไปเกี่ยวอะไรด้วย ฝากขอโทษด้วยทำให้อย่างอื่นเสียหาย แต่ที่ทำคือการสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้นและไม่ต้องการให้โครงการหยุดชะงัก ให้ทำตามวัตถุประสงค์และตามกฎหมาย
แจงทำเพื่อสร้างความไว้ใจให้หมอ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีบอร์ดสสส.ว่า หลังจากไปดูอีกครั้งหนึ่งก็เห็นว่ามีการส่งข่าวสารกันไม่ครบถ้วนจริงๆ ก่อนหน้านี้บอกว่าทำได้แต่ต่อมาก็บอกว่าทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ตนก็จะให้ออกคำสั่งให้คนทำงานที่เหลืออยู่สามารถทำงานได้ หากไม่พอก็จะแต่งตั้งเพิ่ม คัดสรรอย่างไรก็ให้ว่ากันมา วันจันทร์ที่ 18 ม.ค.นี้จะต้องทำงานได้ ส่วนการอนุมัติแผนงานโครงการมีขั้นตอนอยู่แล้ว อะไรที่มีปัญหาหรือเป็นข้อสังเกต เพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ขอให้รีบทบทวนเพื่อจะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
"เรื่องนี้ผมอยากทำความเข้าใจอีกครั้ง และฝากขอโทษผู้อาวุโสทั้งหลายด้วย ขอโทษ พี่หมอทุกคน ผมไม่ได้ต้องการจะทำลาย ท่านเลย แต่หวังสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับท่านเพราะที่ผ่านมาไม่ใช่ผม แต่เป็นเรื่องของสังคมที่มีหลายอย่างด้วยกัน ในเมื่อเราอยากให้ทุกอย่างดีขึ้นทุกคนทำงานอย่างสบายใจจำเป็นต้องเคลียร์ให้เรียบร้อย สามารถเข้าไปใหม่ได้ ผมบอกว่าให้คัดสรร ไม่ได้บอกว่าท่านทุจริต แต่บังเอิญคำสั่งนั้นไปรวมอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ เป็นเพียงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเพื่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำตาม ข้อสังเกต เพราะหากทุกคนยังอยู่ที่เดิมหมด ก็จะขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ท่านอยู่ในระดับบนอย่างน้อยก็ร่วมมือกับเรา และอย่ามาทะเลาะกับผมอยู่เลยมันไม่มีประโยชน์ เพราะอย่างไรก็ต้องเดินตามหลักการที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรให้เร็วขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ย้ำขอโทษทุกคนอีกครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าสสส.ปฏิบัติตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะจากเดิมการปฏิบัติงานไม่ค่อยมีความชัดเจน วันนี้มีการแก้ไข ทบทวน อะไรที่มีผลกระทบต่อประชาชนเราจะดูแลให้ ขอโทษทุกๆ คนอีกครั้ง และขอให้อย่าตำหนิติเตียนใครเลย ส่วนที่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป บอร์ดสสส. เข้ามาคุยก็นึกว่าเรื่องจะจบ แต่ก็ไม่จบ ซึ่งรัฐบาลจะรับผิดชอบอยู่แล้ว แม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่อย่าไปปลุกปั่น ปลุกปั่นตนไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ได้ขู่ แต่จะพยายามแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด โดยวันที่ 18 ม.ค.จะออกคำสั่งให้บอร์ดที่เหลือสามารถทำงานได้ตามปกติ
เมื่อถามว่าหลังจากที่ออกคำสั่งแล้วจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าก็ไปดูงบประมาณว่าจ่ายกันอย่างไร ก็เดี๋ยวค่อยจ่าย
กรธ.สัญจรถกวันที่ 5
ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ประชุมนอกสถานที่ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเป็นวันที่ 5 โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยกรธ.ได้พิจารณาจบเนื้อหาหมวดที่ 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ซึ่งผ่านไปประมาณ 187 มาตรา เบื้องต้นในส่วนของครม.ยังคงยืนหลักการเดิม ที่สามารถเป็นส.ส.ได้โดยไม่ต้องลาออก ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ก็เหมือนกับส.ส. ส่วนในวันนี้จะพิจารณาต่อในเรื่องขององค์กรอิสระและศาลต่อไป โดยการประชุมเริ่มที่มาตรา 188 สำหรับการประชุมร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวันที่ 5 หมวดองค์กรอิสระ ทางกรธ.ได้เปิดให้สื่อเข้าฟังด้วย
นายมีชัย กล่าวถึงข้อห้ามคุณสมบัติของส.ว. หากปรากฏภายหลังมีเครือญาติลงสมัครส.ส.ว่า กรณีสามีภรรยาหย่าจากกัน เพื่อมาสมัครเคยมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ถึงหย่าขาดจากกัน แต่ยังอยู่ด้วยกันแบบคู่สมรส ก็ถือว่าต้องพ้นสภาพด้วย แต่ถ้าใครสงสัยก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติได้ ซึ่งการล็อกคุณสมบัติส.ว.เข้มขึ้นเพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติทางการเมืองของส.ส.
นายมีชัย กล่าวว่า การตรวจสอบองค์กรอิสระในส่วนเรื่องทุจริต ก็ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ้าองค์กรอิสระทำผิดจริยธรรม ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าป.ป.ช.กระทำผิดเอง ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
ร่างถึงหมวด 8 ครม.แล้ว
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.แถลงผลการพิจารณาบทบัญญัติในหมวด 7 รัฐสภา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทที่ใช้แก่สภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา รวมทั้งการพิจารณา บทบัญญัติในหมวด 8 ครม.ว่า กรธ.กำหนดว่าเมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นายกฯส่งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.นั้น ตรวจสอบการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งปัญหาในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ที่ตราขึ้นด้วย หากองค์กรนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีปัญหาก็ส่งเรื่องให้นายกฯ เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นตามที่องค์กรนั้นเสนอ ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญส่งพ.ร.บ.กลับไปให้นายกฯ เพื่อตีกลับให้รัฐสภา พิจารณาร่วมกัน ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมร่างนั้นอย่างไร ก่อนเสนอให้นายกฯดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาการจ่ายเงินแผ่นดิน กรธ.เห็นชอบหลักการโดยให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายงบประมาณรายจ่าย กฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายโอนงบประมาณ และกฎหมายเงินคงคลังเป็นหลัก กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างเพื่อป้องกันการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในทางเสียหายต่อประเทศ โดยต้องกำหนดแบบแผนปฏิบัติที่ชัดเจน
ห้ามสส.-สว.แปรญัตติงบฯลงพื้นที่
โฆษกกรธ.กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ส.ส.และส.ว. กรรมาธิการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องแปรญัตติเพื่อเปิดให้ส.ส.และส.ว.มีส่วนกำหนดโครงการหรือให้ความเห็นชอบต่อการใช้จ่ายเงินงบฯ เพราะการให้ส.ส.และส.ว.แปรญัตติเพื่อให้ตัวเอง มีส่วนต่อการกำหนดการใช้จ่ายงบฯ หรือกำหนดโครงการเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย กรธ.จึงกำหนดว่าหากบุคคลใด รวมทั้งครม. รู้เห็นเป็นใจต่อการแปรญัตติ เพื่อให้นักการเมือง ส.ส. และส.ว.มีส่วนได้เสียต่อการใช้จ่ายเงินงบฯ บุคคลเหล่านั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องถูกเรียกให้ชดใช้เงินที่นำไปใช้ในโครงการต่างๆ ด้วย
"กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นยาแรง ป้องกันการครอบงำการใช้จ่ายงบฯของส.ส. และส.ว.ด้วยกันเอง และให้รัฐสภาตรวจสอบสมาชิกรัฐสภาด้วยการเข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตรวจสอบ หากพบว่ามี ส.ส.และส.ว.คนใดกระทำผิดก็จะตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เช่นเดียวกัน ครม.ก็จะถูกตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งด้วยและอาจทำให้พ้นทั้งครม.หรืออาจเฉพาะตัวบุคคล ที่ผ่านมาช่องว่างตรงนี้เป็นช่องว่างที่ใหญ่มาก นำงบประมาณของประเทศไปใช้โดยไม่คำนึงถึงแบบแผนที่รัฐบาลวางไว้" นายอุดมกล่าว
คนหนึ่งเป็นนายกฯได้แค่ 8 ปี
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ กรธ.กำหนดให้นายกฯรอเวลานำร่างขึ้นทูลเกล้าฯไว้เป็นเวลา 5 วัน เพื่อเปิดให้ส.ส.-ส.ว.มีโอกาสทักท้วงกรณีเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นั้นมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนการตรวจสอบฝ่ายบริหาร กรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 1 ใน 5 ได้เปิดช่องให้ขอเปิดอภิปรายได้โดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ เพื่อให้ครม.หรือนายกฯได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และส.ว.ก็มีสิทธิยื่นเปิดอภิปรายเพื่อให้ครม.ชี้แจงได้เช่นกัน นอกจากนี้ หัวหน้า พรรคฝ่ายค้านของสภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นขอให้เปิดประชุมรัฐสภานัดพิเศษเพื่ออภิปรายกรณีปัญหาความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศ เพื่อหารือแก้ไขปัญหาร่วมกันของรัฐสภาและครม.ด้วย
นายอุดมกล่าวว่า ส่วนการพิจารณาบท บัญญัติในหมวดครม. กรธ.กำหนดองค์ประกอบของนายกฯ และรัฐมนตรี ไม่เกิน 35 คน โดยนายกฯจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง และจะต้องเป็นรายชื่อของพรรคที่มีส.ส. ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯนั้น ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ซึ่งนายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
ให้มีพรบ.กำหนดเกณฑ์ม.190
โฆษกกรธ.กล่าวว่า สำหรับประเด็นการทำหนังสือสัญญาระหว่างองค์การระหว่างประเทศ หรือมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเขตอำนาจอธิปไตย ผลประโยชน์ที่กระทบต่อชาติ ทาง กรธ.เห็นสมควรมีพ.ร.บ.กำหนดหลักเกณฑ์ขอบเขตของสัญญาเหล่านี้ เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาที่ฝ่ายบริหารไปตกลงกับต่างประเทศ ต้องนำมา เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบกรณีใดบ้าง
เมื่อถามว่าช่วงรอยต่อหากมีเหตุส่งผลให้หลังเลือกตั้ง พรรคไม่สามารถเลือกนายกฯ ที่ได้เสียงข้างมากได้ จะทำให้รัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปตลอดหรือไม่และครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการทันทีที่มีการเลือกตั้งหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ต้องเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ส่วนข้อกังวลว่าเลือกกันไปเท่าใดก็ไม่ได้นายกฯ เสียงข้างมากนั้น หากสภาเปิดได้แต่ยังเลือกนายกฯ ไม่ได้ คนที่รักษาการก็ต้องรักษาการต่อไป แต่ขณะนี้ กรธ.ยังไม่ได้เขียนบทเฉพาะกาลเลย ส่วนจะเขียนออกมาอย่างไรนั้น ต้องรอดูอีกครั้ง
องค์กรอิสระใช้วิธีสรรหา
นายอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับหมวด 9 องค์กร อิสระ กรธ.ได้วางหลักการเพื่อให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ดังนั้นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นต้องมีคุณสมบัติเป็นองค์กรที่เชื่อถือได้ และไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติ ต้องห้าม โดยคุณสมบัติขององค์กรอิสระจะเน้นองค์ประกอบที่เป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี บวกกับความรู้ความสามารถ และประสบการณ์
นายอุดม กล่าวว่า องค์กรอิสระจะใช้วิธีการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา จำนวน 6 คน ประกอบด้วย 1.ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน 2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 3.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 4.ตุลาการในศาลปกครอง ที่ไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด และ 5.ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเลือกจากบุคคลภายนอก องค์กรละ 1 คน รวม 6 คน โดยคณะกรรมการสรรหาต้องคัดสรรให้ได้บุคคลที่มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาสรรหาจากบุคคลที่มีความเหมาะสมทั่วไปด้วย เมื่อสรรหาเสร็จแล้วจะต้องให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ
ให้มี 7 กกต.-สรรหา 5 ศาลเลือก 2
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรธ.พิจารณาองค์ประกอบ ให้มี 7 คน จากเดิมที่มี 5 คน โดยต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะใช้ในการบริหารจัดการ การควบคุมการเลือกตั้ง จำนวน 5 คนที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา และจำนวน 2 คน มาจากผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ หรือระดับอธิบดี อัยการ โดยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว 7 ปี ส่วนหน้าที่และอำนาจกกต. กำหนดให้ต้องทำหน้าที่ดูแลการจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังต้องดูแลการตรวจสอบกรณีมีเหตุสงสัยกระทำการทุจริตเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามกฎ กติกา ดูแลเรื่องออกเสียง ยังมีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง และกำหนดเลื่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการกำหนดให้ชัดเจนจากเดิมที่ให้กกต.ร่วมกับฝ่ายบริหาร
"กกต.ยังมีอำนาจที่สำคัญ คือ ระงับใช้สิทธิ์ เลือกตั้งในกรณีที่ผู้สมัครรายใดมีพฤติการที่ไม่ถูกกฎหมายเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจตัดสิทธิ์ในการรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการระงับชั่วคราวในการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ แต่ถ้าเป็น การระงับถาวรยังต้องอาศัยกระบวนการทางศาล ที่กกต.จะระงับใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้ใบแดงเฉพาะครั้งนั้น ไม่ถึงกับตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต" นายอุดมกล่าว
ห้ามเวียนนั่งองค์กรอิสระ
นายอุดม กล่าวด้วยว่า ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้มีกรรมการจำนวนไม่เกิน 3 คน ดำรงตำแหน่ง 6 ปี และให้เลือกกันเองเพื่อเป็นประธานผู้ตรวจฯ และแม้มีคนเดียว ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตามบุคคลที่เคยเป็นองค์กรอิสระแล้วจะไม่สามารถ ทำหน้าที่เป็นกรรมการองค์กรอิสระอื่นได้ หมายถึงในชีวิตหนึ่งเป็นองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถเวียนเป็นองค์กรอิสระอื่นได้
สำหรับ หน้าที่สำคัญของผู้ตรวจฯ คือ เสนอแนะหน่วยงานของรัฐในการปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และแสวงหาข้อเท็จจริงอันเนื่องมาจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกอำนาจหน้าที่ และเสนอแนะหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามหมวด 6 นโยบายรัฐ ของรัฐธรรมนูญและสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่พบว่า พ.ร.บ.ขัดหรือแย้ง หรือไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการยื่นเรื่องกฎ คำสั่ง หรือบุคคลในฝ่ายปกครอง มีปัญหาด้วยชอบของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ
ปปช.มี 9 คนอยู่ยาว 9 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกรธ. ได้พิจารณาในหมวด 9 องค์กรอิสระ ในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น กรธ.กำหนดให้ป.ป.ช.มี 9 คน มีวาระ 9 ปี ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นป.ป.ช.กำหนดไว้หลายประการ อาทิ ต้องเคยดำรงตำแหน่งในราชการ ไม่ต่ำกว่าระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5 ปี เคยเป็นผู้พิพากษาไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ อธิบดีอัยการ ผู้บริหารสูงสุดในรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่งศาสตรา จารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง การธนาคาร ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นต้น
ส่วนอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ในภาพรวม กรธ.ยังยืนยืนในหลักการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือไต่สวนกรณีร่ำรวยผิดปกติ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย และการฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่กรธ.เพิ่มขึ้นมาใหม่ โดยประเด็นสำคัญที่สุดที่กรธ.บัญญัติขึ้นมา อยู่ที่การกำหนดกรอบเวลาทำงานของป.ป.ช. ซึ่งกรธ.เขียนเป็นหลักการว่าหากป.ป.ช.รับ คำร้อง จะมีเวลาพิจารณาไต่สวน 1 ปี แต่ขยายเวลาทำงานได้ครั้งละ 4 เดือน รวมกันไม่เกิน 2 ปี
พงศ์เทพ ติงกรธ.เปิดช่องคนนอก
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรอง นายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอของกรธ. กรณีให้พรรคเสนอชื่อนายกฯ 3 คนว่า เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ เพราะเมื่อพรรครณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ต้องเสนอว่าจะให้ผู้ใดเป็นนายกฯ ซึ่งพรรคหนึ่งไม่ควรเสนอเกิน 1 คน ไม่เช่นนั้นจะสับสน ที่ผ่านมาเราถือว่าคนที่เป็นนายกฯได้ต้องเป็นส.ส. เพราะเขาไปรณรงค์หาเสียง มีความรู้สึกผูกพัน เป็นหนี้บุญคุณว่าถ้าเป็นนายกฯ ก็ต้องทำงานรับใช้ประชาชนซึ่งเลือกเข้ามา แต่กรณีให้เสนอชื่อนี้ พวกหนึ่งอาจไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งเลย หรือลงสมัครแล้วประชาชนไม่เลือก แต่กลับมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ ตนคิดว่าไม่มีเหตุผลที่จะไปเปลี่ยนระบบเดิมที่ดีอยู่แล้ว
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากให้เสนอชื่อ 3 คนแล้วถูกบีบให้อยู่แค่นี้ หากมีอะไรเกิดขึ้นกับ 3 คนนี้ พรรคชนะเลือกตั้งแต่พรรคนี้ไม่มีโอกาสเสนอใครเป็นนายกฯได้เลย จึงคิดว่าไม่มีเหตุผลและจะมีปัญหาตามมา จะเปิดช่องให้คนซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. หรือคนที่มีความผูกพันกับผู้มีอำนาจได้เข้ามาเป็นนายกฯ โดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน และถ้าดูประเทศอื่นที่เป็นแม่แบบของประชาธิป ไตย จะเห็นว่าหัวหน้าพรรคเขาเป็นใครคนนั้นก็เป็นนายกฯ เมื่อเปลี่ยนหัวหน้าพรรค คนใหม่ก็มาเป็นนายกฯ แต่การที่กรธ.ไปกำหนด น่าจะเปิดช่องให้คนนอกที่ไม่ได้เป็นส.ส. เข้ามาเป็นนายกฯ อาจสร้างปัญหามาก
ปชป.ก็ค้านเสนอ 3 ชื่อชิงนายกฯ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ 3 นายกฯ ว่า กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแนวทางปฏิบัติจริง และไม่ทราบว่าเงื่อนไขนี้จะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตลอดไปหรือไม่ เพราะการที่จะให้พรรคการเมืองแต่ละพรรค เสนอชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ ในนามพรรคได้ไม่เกิน 3 รายชื่อนั้น ตนเกิดคำถามว่า ภายหลังการเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองจะต้องลงคะแนนเลือกนายกฯในสภาผู้แทนฯ เฉพาะชื่อที่พรรคตัวเองเสนอใช่หรือไม่ หรือสามารถไปเลือกใครก็ได้ ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคใดก็ได้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ในอนาคตพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะพรรคใหญ่ๆ หรือ พรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมา จนกระทั่งทำให้จำนวนรายชื่อนายกฯทั้ง 3 คน ที่พรรคแกนนำรัฐบาลเลือกมาไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้พร้อมกันทั้ง 3 คน หรือเดดล็อกทั้ง 3 คน แล้วจะต้องไปเอารายชื่อนายกฯจากพรรคร่วมรัฐบาลมาหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นปัญหาตามมา เพราะในอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ หากเกิดปัญหาดังกล่าวพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลยังจะสามารถกุมเสียงข้างมากหรือไม่ ที่สำคัญเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร อีกทั้งยังไม่ทราบว่าถ้าเกิดกรณีนี้ขึ้นจริง พรรค การเมืองนั้นจะถือว่าเป็นการโกหกประชาชนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ทราบว่า กรธ.ได้คิดไว้อย่างครบถ้วนแล้วหรือยัง แต่ถ้าคิดครบถ้วนแล้ว ก็อยากถามว่า กติกาคืออะไร จึงอยากให้กรธ.ทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง และประชาชนจะได้รับทราบอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
ห่วงกาบัตรเดียวทำซื้อเสียงพุ่ง
นายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวว่า ตนยังติดใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กรธ. ยืนยันว่าจะต้องใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงในการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชน เพราะกรธ.กำหนดให้มี ส.ส. 2 ระบบ คือ ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ หากกรธ.ยืนยันจะใช้บัตรเลือกตั้ง ใบเดียวก็ควรกำหนดให้มีแต่ส.ส.เขตเท่านั้น แต่ถ้าจะให้มีส.ส. 2 ระบบก็ต้องแยกใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ดังนั้น กรธ.อย่าปักธงในการเขียนรัฐธรรมนูญแต่มีผลลักลั่นในทางปฏิบัติ เพราะการใช้บัตรใบเดียวจะทำให้การตัดสินใจของประชาชนลำบาก เข้าทำนองรักพี่เสีย ดายน้อง นอกจากนี้จะยังสร้างปัญหาให้กับกกต. และสนับสนุนต่อวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย คือจะซื้อสิทธิขายเสียงอย่างมโหฬาร เพราะซื้อ 1 ได้ถึง 2 หรือโปรโมชั่นแบบขายเหล้าพ่วงเบียร์ จึงขอถามกรธ.ว่า ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ทุจริตเลือกตั้งหรือจะส่งเสริมการซื้อสิทธิขายเสียงแบบบูรณาการกันแน่
ปมสสส.-บิ๊กตู่ ขอโทษ'พี่หมอ'อ้างได้ข้อมูลไม่ครบ ออกคำสั่งแก้18ม.ค. สรรพากรบี้เครือข่าย ลุยเก็บภาษีย้อนหลัง สผพท.เฉ่งนพ.มงคล
นายกฯขอโทษ"พี่หมอ" รับปาก 18 ม.ค.ออกคำสั่งแก้ใหม่บอร์ด เผยได้ข้อมูลมาไม่ครบถ้วน
ออกคำสั่งบอร์ดสสส.ทำงาน
เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแห่งใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยตอนหนึ่งในการกล่าวให้โอวาทแก่คณะผู้บริหารและผู้แทนองค์กรในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยถึงกรณีออกคำสั่งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือบอร์ด สสส. 7 คนพ้นการทำหน้าที่ว่า เรื่อง สสส.ที่ออกคำสั่งพักงานผู้บริหารนั้น ต้องกราบขอโทษจริงๆ ไม่ได้ต้องการจะไปทำลาย แต่วันนี้อยากสร้างการรับรู้ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสนับสนุนให้เดินหน้าเท่านั้นเอง วันที่ 18 มกราคมนี้จะมีการออกคำสั่งให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ เพราะเมื่อไปทบทวนแล้ว บอร์ดไม่ครบทำให้ไม่สามารถประชุมได้ ซึ่งจะออกคำสั่งให้บอร์ดที่เหลือทำงานได้ สามารถอนุมัติได้ รวมถึงแต่งตั้งผู้บริหาร กรรมการต่างๆ ได้ ส่วนที่บอกว่า คสช.จะไปครอบครอง สสส.นั้น จะไปแบกไว้ทำไม และบอกว่าจะแต่งตั้งคนนั้นคนนี้เพื่อผลประโยชน์ เพื่อบริษัทนั้น บริษัทนี้ ใครมาขอจะเล่นงาน โดยที่ทำทั้งหมดนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
"เรื่องนี้ไม่ใช่ผมเป็นคนเริ่ม แต่ต้องเสียเวลาหน่อยเพื่อทำให้ถูกต้อง พอผลตรวจสอบออกมาแล้วไม่มีการทุจริต ผมไม่เคยบอกว่ามีทุจริตเลย ในคำสั่งที่เขียนก็ไม่มีคำว่าทุจริต แต่สื่อไปขยายความ เพียงแต่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ให้มีความชัดเจน ฝากขอโทษด้วย ซึ่งทำให้อย่างอื่นเสียหาย แต่ที่ผมทำคือการสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้น และไม่ต้องการให้โครงการหยุดชะงัก ให้ทำตามวัตถุประสงค์ และตามกฎหมาย" นายกฯกล่าว
นายกฯขอโทษพี่'หมออาวุโส'
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากไปดูเห็นว่าการส่งข่าวสารกันไม่ครบถ้วน ซึ่งจริงๆ แล้วเขาอาจไม่กล้าบอกได้ว่าทำได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้บอกว่าทำได้แต่ต่อมาก็บอกว่าทำไม่ได้ ตนไม่ได้เป็นผู้เข้าไปดึงเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบอร์ด เมื่อเห็นว่าทำไม่ได้ ก็จะให้ออกคำสั่งให้คนทำงานที่เหลืออยู่สามารถทำงานได้ หากไม่พอก็จะแต่งตั้งเพิ่ม มีการคัดสรรอย่างไรก็ให้ว่ากันมา ซึ่งวันจันทร์ 18 มกราคม จะต้องทำงานได้จะออกคำสั่งให้บอร์ดที่เหลือทำงานได้ปกติ ส่วนการอนุมัติแผนงานโครงการก็มีขั้นตอนอยู่แล้ว อะไรที่มีปัญหาหรือเป็นข้อสังเกต เพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ขอให้รีบทบทวน เพื่อจะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องเรื่องนี้ผมอยากจะทำความเข้าใจอีกครั้งและฝากขอโทษผู้อาวุโสทั้งหลายด้วย ขอโทษพี่หมอทุกคน ผมไม่ได้ต้องการจะทำลายท่านเลย ในเมื่ออยากให้ทุกอย่างดีขึ้น ทุกคนทำงานอย่างสบายใจจำเป็นต้องเคลียร์ ผมบอกว่าให้คัดสรรไม่ได้บอกว่าท่านทุจริต แต่บังเอิญคำสั่งนั้นไปรวมอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ นี่เป็นเพียงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำตามข้อสังเกต" นายกฯกล่าว
เมื่อถามว่า หลังจากที่ออกคำสั่งแล้วจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไปดูงบประมาณว่าจ่ายกันอย่างไร เดี๋ยวค่อยจ่ายสิ
สรรพากร ย้ำสสส.ต้องเสียภาษี
นายสมพงษ์ ตัณฑพาทย์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่าย สสส.คัดค้านการเข้าไปตรวจสอบภาษีและเห็นว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวขัดกับหลักกฎหมายของกองทุน สสส.ว่า กรมสรรพากรได้ไปวินิจฉัยแล้วเข้าข่ายต้องเสียภาษี และได้ส่งข้อมูลของกลุ่มผู้ได้รับทุนจาก สสส.ไปให้สรรพากรพื้นที่ไปดำเนินการแล้ว รายชื่อที่ส่งไปมีหลายพันราย ขณะนี้สรรพากรพื้นที่เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว มีทั้งเรียกมาสอบถามข้อมูล และบางส่วนเข้ามาชำระภาษีแล้ว แต่บางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ
"ที่เข้าไปดำเนินการจัดเก็บภาษีมีทั้งโต้แย้ง และยอมจ่าย แต่ก่อนหน้านี้ที่ได้หารือ ทาง สสส.ก็ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัย และเตรียมจะชี้แจงเพิ่มเติมมา แต่จนถึงขณะนี้ สสส.ยังไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมใดๆ อะไรเข้ามา" นายสมพงษ์กล่าว และว่า ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการเก็บภาษีจาก สสส.เป็นเพราะในอดีตอาจไม่มีข้อมูล และกรมสรรพากรยังมีข้อจำกัดหลายเรื่องๆ เช่น ในเรื่องของอัตรากำลัง เรื่องงาน
ชี้รับจ้างเข้าข่ายเงินได้ม.40(8)
เมื่อถามว่า ครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานที่เครือข่าย สสส.จะต้องมาเสียภาษีทุกปีจากนี้หรือไม่ นายสมพงษ์กล่าวว่า ผู้มีเงินได้ และ สสส.ต้องเสียภาษีทั้งหมด รวมถึงองค์กร สสส.เองที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากรด้วย จากอดีตที่ผ่านมา สสส.ไม่ได้หักให้เพราะ สสส.บอกว่าไม่ถือเป็นเงินได้ ซึ่งกรมสรรพากรได้หารือกับ สสส.ในเรื่องนี้แล้วยังมีข้อโต้แย้งอยู่
นายสมพงษ์ กล่าวถึงกรณีมีข้อโต้แย้งว่าเงินที่เครือข่ายได้จาก สสส.ถือเป็นเงินได้หรือไม่ว่า ยืนยันว่าเป็นเงินได้ และกรมสรรพากรถือว่าเรื่องนี้ชัดเจน เพราะได้ไปดูในข้อสัญญาต่างๆ ประกอบการพิจารณาแล้ว พบว่าการให้เงิน สสส.กับเครือข่ายนั้นเป็นเหมือนการรับทำงานให้ หรือการรับจ้าง ถือเป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง ส่วนใหญ่เข้าข่ายเงินได้มาตรา 40 (8) ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้รับเงินต้องเสียภาษีเงินได้
รับประเมินยอดอาจ 800 ล้าน
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ในการตรวจสอบโครงการนั้นกรมสรรพากรจะดูเฉพาะสัญญาและต้องลงลึกในรายละเอียด ไม่ได้เหมารวมว่าทุกโครงการของ สสส.ต้องเสียภาษีเงินได้หมด บางสัญญาไม่ต้องจ่ายภาษี อาทิ กรณีการให้ที่ไม่เป็นการรับจ้าง หรือไม่ต้องทำงานให้ ต้องเป็นการให้แบบไม่มีเงื่อนไข คือให้เงินไปแล้วไปทำอะไรก็ได้ เหมือนการบริจาค แต่ถ้าสัญญาไหนที่ให้เงินแบบมีเงื่อนไขว่าต้องไปทำโน่นทำนี่ให้ เท่าที่ตรวจสอบพบว่าคนรับทุนจาก สสส.นั้นส่วนใหญ่จะทำโครงการเสนอมาว่าจะทำอะไรให้ ตรงนี้ถือว่าเป็นการรับทำงาน ไม่ใช่การให้เงินเปล่าๆ ไปทำอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีบางกลุ่มไม่เห็นด้วยสามารถโต้แย้งได้ด้วยการอุทธรณ์ ซึ่งในการตรวจสอบภาษีนั้นสามารถย้อนหลัง 5 ปี
เมื่อถามว่า จำนวนเงินภาษีที่จัดเก็บจากเครือข่าย สสส.และ สสส.มีประมาณ 800 ล้านบาท นายสมพงษ์กล่าวว่า ถ้าประเมินไว้อย่างนั้นก็คงคร่าวๆ ประมาณนั้น เพราะต้องดูจากเม็ดเงินรวมที่จ่ายออกไป ส่วนวงเงินจะเป็นเท่าไหร่นั้นตรงนี้ไม่อยากตอบเพราะจำไม่ได้ชัดเจน
ปธ.คตร.แจงโปร่งใสคัดบอร์ดใหม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ชาตอุดม ติตถะศิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวถึงปัญหาการดำเนินงานและการตั้งรักษาการกรรมการ สสส. แทนผู้ที่ถูกให้พ้นจากตำแหน่งเดิม ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ไม่ได้หารือ แต่มีการพูดคุยกันนอกรอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกฯและหัวหน้า คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงด้วยตัวเองเพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย ส่วนการชะลอโครงการและงบประมาณ นายกฯทราบแล้วและคาดว่าจะมีการสั่งการในเรื่องต่อไป สำหรับกรณีการตรวจสอบภาษีของผู้ดำเนินโครงการในแต่ละโครงการย้อนหลัง ทาง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปแล้ว ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
เมื่อถามว่ากรณีมีกระแสข่าวว่ามีการล็อกสเปกการสรรหาบอร์ดสสส. พล.อ.ชาตอุดมกล่าวว่า ยืนยันว่าการพิจารณาจะเปิดอย่างกว้างขวางและเป็นไปอย่างโปร่งใส คนที่ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งไปแล้วสามารถกลับเข้ามาสมัครเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดสรรใหม่ได้ อีกทั้งนายกฯ คสช.ก็ไม่ได้มีคนของตัวเองตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน
ขสช.จับตาล็อกสเปกกรรมการ
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกระแสข่าวการขอล็อกตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ด สสส. 4 ตำแหน่ง เป็นบุคคลจากภาคธุรกิจและทหาร และอาจดึงอดีตบอร์ด สสส.ที่ถูกปลดกลับมา 2 คน ว่า หากมีการล็อกตัวบุคคลเข้ามาเป็นบอร์ด สสส.จริง ทางเครือข่ายขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) คงต้องจับตาเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะอย่างที่ ขสช.เคยระบุว่าคุณสมบัติของบอร์ด สสส.คนใหม่จะต้องไม่ด้อยกว่าคนที่ถูกปลด และไม่มีการแทรกแซงอำนาจจากกลุ่มกลไกต่างๆ
"หากมีการล็อกตัวบุคคลที่มาจากธุรกิจน้ำตาล คนสนิทอุตสาหกรรมอาหารจริงตามที่เป็นข่าว ถือว่าเป็นเรื่องวิกฤต และจะส่งผลลบต่อรัฐบาล และบทบาทรองนายกฯ มากกว่า ควรปล่อยให้การจัดสรรเป็นไปตามกลไก ให้กรรมการสรรหาได้ทำการคัดสรรจะดีกว่า" นายคำรณกล่าว
โอดแช่แข็งงบกระทบ500โครงการ
นายคำรณ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องสภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่รับทุนจาก สสส.ที่ถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีนั้น ขณะนี้มีโครงการต่างๆ เข้ามาปรึกษาแล้วประมาณ 93 โครงการ จากกว่าพันโครงการ อยากให้แต่ละโครงการเข้ามาปรึกษาก่อนที่จะไปชี้แจงกับกรมสรรพากร ซึ่งทาง ขสช.ยินดีที่จะช่วยประสานให้
"ปัญหาโครงการที่ถูกแช่แข็งนั้น เดิมจะรอข้อสรุปการประชุมบอร์ด สสส.ในวันที่ 15 มกราคม แต่เมื่อติดปัญหาต้องเลื่อนการประชุมไปวันที่ 22 มกราคม ก็เข้าใจ แต่ก็ทำให้ทุกอย่างล่าช้าไปอีก 1 สัปดาห์ เรื่องนี้ส่งผลกระทบมากเพราะยังมีกว่า 500 โครงการที่ต้องรอ คตร.พิจารณาในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งสามารถอนุมัติให้รับทุนได้เพียง 1-2 โครงการเท่านั้น กว่าจะครบทั้งหมดคงเป็นปี บางที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน หรือที่มีการเลิกจ้างพนักงานก็มี จึงอยากให้มีการปลดล็อกจริงๆ" นายคำรณกล่าว
กลุ่มสผพท.ติง"หมอประเวศ-มงคล"
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวถึงกรณี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุขออกมาตัดพ้อรัฐบาลในประเด็นการแสดงเสรีภาพ และการปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สสส.โดยระบุรู้สึกผิดมหันต์ที่ร่วมขับไล่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ เพราะยุคนี้ยิ่งกว่าว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น นพ.ประเวศ หรือ นพ.มงคล และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ออกมาพูดในทำนองไม่พอใจต่อคำสั่ง คสช. ที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 ปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน รวมทั้งกรณีการตรวจสอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยากถามว่าต้องการอะไรจากรัฐบาลกันแน่ เพราะแม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ แต่มองว่ารัฐบาลก็ทำงานอยู่ และการตรวจสอบหน่วยงานตระกูล ส ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ
"ไม่เข้าใจว่า การออกมาเช่นนี้เพราะต้องการอะไร ต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย หรือต้องการประชาธิปไตยแบบยึดตัวเอง ที่เรียกว่าคณาธิปไตยกันแน่ จึงขอให้รัฐบาลอย่าสนใจกลุ่มพวกนี้ ขอให้ตรวจสอบอย่างถึงที่สุด และหากพบว่ามีความผิดจริงเรื่องการใช้เงิน ก็ต้องเรียกเงินคืนสู่แผ่นดินด้วย" พญ.เชิดชูกล่าว
เครือข่ายจี้นายกฯหยุดแทรกแซง
เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มเครือข่ายสุขภาพคนชายขอบ จำนวน 20 คน นำโดยนายภควิน ได้คงแสง และนายวิทวัส เทพสง ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ 3 ข้อได้แก่ คือ 1.ขอให้สั่งการให้การเบิกจ่ายงบประมาณโครงการที่ดำเนินการอยู่ ให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การดำเนินโครงการต้องหยุดชะงัก 2.นายกฯและ คสช.ต้องไม่แทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการ สสส. ในกระบวนการสรรหากรรมการเดินหน้าไปตามปกติ 3.ขอให้นายกฯเข้าใจว่าเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับ สสส.ไม่ใช่ผู้รับจ้าง แต่เป็นเครือข่ายที่ทำงานด้วยจิตอาสา จึงขอให้หยุดการคุกคามเรื่องภาษีและควรมีนโยบายการคลังเพื่อสังคม
รายงานพิเศษ ถอดรหัสคำพูด′บิ๊กตู่′ ′ขอโทษพี่หมอทุกคน′
หมายเหตุ - เป็นประเด็นคำถามทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาขอโทษพี่หมอ...หลังจากเกิดกรณีการออกคำสั่งอาศัยอำนาจ ม.44 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ้นจากตำแหน่ง 7 คน จนเกิดคำถามว่า พี่หมอที่ถูกอ้างถึงคือใคร มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่เคยออกมาตำหนิว่าการปลดกรรมการหรือการกระทำใดๆ ส่งผลต่อภาคประชาชนไม่ควรดำเนินการ รวมไปถึง นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ออกมาตัดพ้อว่า ยุคนี้ไม่สามารถแสดงออกใดๆ ได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมเดินขบวนประท้วงกรณีชัตดาวน์กรุงเทพฯ มาแล้ว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน
อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและรองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เท่าที่มีข้อมูล คาดว่าจากกรณีนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งวันที่ 5 มกราคม ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน สสส.พ้นจากตำแหน่ง 7 คนนั้น ปรากฏว่าเกิดปฏิกิริยาต่างๆ มากมาย ซึ่งเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีทราบ และทราบดีว่าอาจเป็นความผิดพลาดก็เป็นได้ ส่วนการตัดสินใจปลดบอร์ดฯ 7 คนนั้น ตนคิดว่าอาจมีผู้เสนอหรือชงข้อมูลเข้าไป ซึ่งข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนและทำให้ตัดสินใจเร็วเกินไปนั่นเอง ส่วนจะขอโทษใครนั้น เดาว่าน่าจะเป็น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งก็มีความอาวุโสกว่านายกรัฐมนตรี เพราะอายุกว่า 80 ปีแล้ว ขณะที่ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. ก็อายุมากกว่าเช่นกัน รวมทั้งตนเองอายุใกล้จะ 69 ปีแล้วด้วย
"นอกจากนี้ อาจมีประเด็นการปลดคณะกรรมการกองทุนฯทั้ง 7 ท่าน ทำให้การดำเนินงานของ สสส.ต้องหยุดชะงัก เพราะไม่สามารถประชุมคณะกรรมการกองทุนฯได้เนื่องจากองค์ประกอบไม่ครบ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้ สสส.จัดประชุมได้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณและเป็นจุดตั้งต้นที่ดี โดยส่วนตัวแล้วก็หวังที่จะทำอย่างไรให้ สสส.กลับมาทำงานได้ตามปกติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป"
ก่อนหน้าจะมีคำสั่งมาตรา 44 ออกมา บอร์ด สสส.มีมติการปรับปรุงระเบียบ และกำหนดให้กรรมการในบอร์ด สสส.เลือกนั่งตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งระหว่างบอร์ดฯ หรือมูลนิธิฯ ซึ่งผมทำงานหลายที่ พิจารณาแล้วว่าควรออกจาก สสส.ดีกว่า แต่มาตรา 44 ออกคำสั่งมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากต้องกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม ผมมองว่าอาจเข้าไปช่วยให้งานเดินหน้าต่อไป แต่ผมก็จะแสดงเจตนารมณ์ลาออกจากบอร์ด สสส.อยู่ดี แต่ในความเป็นจริงอาจไม่มีคำสั่งแบบนี้ก็ได้ เพราะข่าวก็ยังสับสนอยู่ว่า ตกลงนายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งให้เดินหน้ารูปแบบใดกันแน่
ถ้าดูตามคำสั่ง มาตรา 44 กำหนดชัดว่ากระบวนการสรรหาให้เป็นไปตามผู้มีอำนาจหน้าที่สรรหาตามระเบียบที่กำหนดไว้เดิม ซึ่งระเบียบฯของ สสส. กำหนดองค์ประกอบไว้ชัดเจน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคี ผู้แทนเจ้าหน้าที่ และบุคลากรต่างๆ ตามองค์ประกอบกำหนด อีกทั้งหากดูจากขั้นตอนการสรรหาผู้จัดการกองทุน สสส. เพื่อดำรงตำแหน่งแทน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ที่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วนั้น เท่าที่ตนได้ติดตามก็ไม่พบว่ามีกระบวนการที่พยายามแทรกแซงแต่อย่างใด
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกแพทยสภา
ขอออกความเห็นในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากตนเป็นแพทย์คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุข รับทราบข้อมูลต่างๆ และเชื่อว่าหมอเกินครึ่งก็คิดแบบเดียวกันว่า สสส.ควรถูกตรวจสอบ แม้นายกฯจะออกมาขอโทษพี่หมอ ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่เข้าใจว่าคนละเรื่องคนละส่วนกับการตรวจสอบการทำงานของ สสส. เนื่องจากองค์กรนี้แม้จะเป็นองค์กรที่ดี แต่มี พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ที่เป็นคนกลุ่มหนึ่งเขียนกฎหมายขึ้น ซึ่งการออกระเบียบต่างๆ ย่อมทำให้การตรวจสอบการใช้เงินอยู่ในขอบเขตที่ตรวจสอบค่อนข้างยาก แม้ที่ผ่านมาบอกว่ามีระบบตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ถามว่าตรวจอย่างละเอียดหรือไม่ ประกอบกับกฎหมายนี้ใช้มานาน 14 ปี ก็ควรต้องปรับแก้กฎหมายได้แล้ว ไม่ใช่บอกว่าเป็นองค์กรที่ดี แต่หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบยาก แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง
"ที่ผ่านมาคนในวงการทราบดีว่า สสส.ให้ทุนสนับสนุนภาคีเครือข่ายทำโครงการต่างๆ แต่ปรากฏว่าเป็นภาคีหน้าเดิมๆ และพอใครออกมาต่อว่าก็จะบอกว่าเพราะไม่ได้รับเงินสนับสนุน จริงๆ ผมมองว่าเดิมอาจคิดว่าคนเก่งๆ ทำเรื่องสุขภาพมีน้อย แต่ปัจจุบันประชาชนคนไทยมีจำนวนมาก จะไม่มีคนเก่งคนที่ทำงานได้ดีเลยหรืออย่างไร จึงถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนได้แล้ว"
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
กรรมการชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา
กรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาขอโทษน่าจะเกี่ยวข้องกับการปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องแช่แข็งงบประมาณโครงการ สสส.ด้วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องติดตามว่าวันที่ 18 มกราคมจะเกิดอะไรขึ้น และนายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมีการแต่งตั้งบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คนที่ถูกปลดออกไปให้กลับมานั่งทำงานตามเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่านายกฯจะแต่งตั้งบอร์ด สสส.คนเดิมกลับมานั่งทำงาน เพราะทั้ง 7 คนไม่ได้มีความผิดใดๆ และหวังว่านายกฯจะสั่งยกเลิกคำสั่ง คตร. ในกระบวนการตรวจสอบ สสส. ทั้งเรื่องระงับการจ่ายเงินโครงการและการที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่ได้รับทุนจาก สสส. เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาตามเดิม และให้งาน สสส.เดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็นต่อไป
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
ท่าทีของนายกฯ ครั้งแรกขอโทษแล้วขอโทษอีก ทำให้คนเข้าใจผิดว่านายกฯขอโทษเพราะทำผิดที่ไปปลดเขาออก และจะให้กลับเข้ามาทำงาน แต่ก็มาพูดใหม่ว่าขอโทษที่ทำให้โครงการบางอย่างไม่สามารถอนุมัติได้เพราะมีบอร์ดที่เหลือไม่ครบ แต่ยอมรับว่าท่านเป็นสุภาพบุรุษ ที่เมื่อเห็นว่าอะไรที่ทำไม่ถูกแล้วก็พร้อมที่จะขอโทษ ท่านมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิ่งที่ผิด สิ่งที่เป็นข้อครหาเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่นให้ดีขึ้น เพราะถ้ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ที่เสียผลประโยชน์คือประเทศชาติและประชาชน ดังนั้น นายกฯจึงพยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอยู่ แต่ถ้ากลับไปกลับมา หรือพูดไม่ชัดเจนก็จะทำให้เกิดความงุนงงในเรื่องมาตรฐานความดี ความถูกต้อง ความสุจริตโปร่งใส ธรรมาภิบาลอยู่ตรงไหน เช่นเดียวกับกรณีที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. ที่อ้างว่าลาออกไปเพื่อให้มีการตรวจสอบ สสส.ได้อย่างสะดวก แต่กลับไปสมัครเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์จนขาวสะอาด ทำให้เกิดความสงสัยเรื่องการสรรหาของไทยพีบีเอสเช่นเดียวกัน
นิมิตร์ เทียนอุดม
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
รู้สึกดีที่มีการขอโทษ คนที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจอะไรพลาดไปมาทบทวนแล้วขอโทษเป็นเรื่องดี แต่ขอโทษอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกระบวนการจัดการทำในสิ่งที่ผิดให้กลับมาถูก จะรอดูว่ากระบวนการต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีกระบวนการต่อจากนี้ คำขอโทษก็ไม่มีความหมายอะไรเลย และวันที่ 18 มกราคมนี้จะประชุมได้จริงไหม แล้วสาระสำคัญของการประชุมจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องดูความเป็นธรรมของกรรมการที่ถูกปลดไปด้วย ดังนั้น หลังจากคำขอโทษ สิ่งสำคัญต้องติดตามเรื่องขั้นตอนและกระบวนการสู่การแก้ไขสิ่งที่ทำพลาดไปด้วย