- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 17 January 2016 21:12
- Hits: 8454
โวยรัฐฮุบ'คลื่นความถี่'ตั้งองค์กรใหม่ยึด มีชัยโต้แค่คุมสัมปทาน บัญญัติในร่างรธน.ใหม่ คาดลดบทบาท'กสทช.'ห่วง'คปป.ซ่อนรูป'โผล่ ยัดไส้กม.ยุทธศาสตร์ฯ ค้นบ้าน-จ่านิวท้าให้จับ
'คำนูณ'เปิดปม กรธ.ยึดคลื่นความถี่-ตั้งองค์กรใหม่แทน กสทช. ปธ.แจงไม่ได้รื้อ ส่วน'จ่านิว'โพสต์ท้าให้จับ ปูดทหารบุกบ้าน ด้าน กรธ.เคาะ ส.ส. 500 คน พรรคส่ง 3 รายชื่อว่าที่นายกฯ-หากซ้ำเป็นโมฆะ
@ ยันบัตรเดียวไม่ทำการเมืองอ่อนแอ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 มกราคม ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กรธ.นอกสถานที่ถึงภาพรวมการทำงานว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาหมวด 7 ว่าด้วยรัฐสภา โดยประเด็นการเลือกตั้ง ส.ส. ทาง กรธ.ยืนยันในหลักการที่ให้เลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งและ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเหมือนเดิม และยืนยันว่าหลักการนี้ไม่ได้ทำให้การเมืองแตกแยกหรืออ่อนแอ และเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่มีความรุนแรง รวมทั้งยังให้ ส.ส.สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ โดยไม่ได้เขียนห้ามเอาไว้ ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาจากฝ่ายค้าน เนื่องจากเห็นว่าการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้า กรธ.ไปกำหนดเป็นการเฉพาะเอาไว้อย่างนั้น จะทำให้ขัดกับหลักการทั่วไป ประกอบกับการเอาฝ่ายค้านไปเป็นรองประธานสภาจะเกิดการทะเลาะกัน ดังนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
@ ให้ศาสตราจารย์นั่งศาลรธน.
นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.ไม่ได้มุ่งเน้นและเปลี่ยนแปลงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะเปลี่ยนแปลงในทุกองค์กร โดยจะให้เป็นวิธีการและมาตรฐานเดียวเหมือนกันหมด และต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้จะมาดำรงตำแหน่งต้องสูงขึ้น
"อดีตใช้คนที่มีคุณสมบัติในทางกว้างๆ แต่ตอนนี้พยายามจะกำหนดคุณสมบัติที่เน้นว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ในเชิงวิชาการเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดทุกอย่างจะเป็นไปตามวิชาการที่สามารถนำไปอ้างอิงได้ ส่วนคนที่มีความรู้ในด้านการบริหารราชการแผ่นดินก็จะคอยชี้แนะในทางปฏิบัติ ดังนั้นองคาพยพขององค์กรอิสระจะเปลี่ยนไปและมีมาตรฐานสูงขึ้น อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กรธ.ก็เห็นด้วยในหลักการว่าควรให้บุคคลที่เป็นศาสตราจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวมาแล้วหลายๆ ปี เข้ามาทำหน้าที่ จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าคนที่มีความรู้ความชำนาญจริงๆ ยกมาตรฐานให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาจะให้ไกลจากการเมืองให้มากที่สุด" นายมีชัยกล่าว
@ จ่อลดวาระจาก 9 เหลือ 7 ปี
ประธาน กรธ.กล่าวว่า การให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีประเพณีการปกครอง หรือมาตรา 7 เพราะรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัย เห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง จึงนำมาบัญญัติไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติที่จะใช้บังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง เมื่อถามย้ำว่าจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นซุปเปอร์องค์กรหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่มีทางเลี่ยง จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจแต่อย่างใด เพียงแต่เขียนให้ชัดเจนเท่านั้น ทุกอย่างจะได้จบ เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระการดำรงตำแหน่งกี่ปี นายมีชัยกล่าวว่า ยังคงให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่กำลังหารือกันอยู่ว่าจะสามารถลดลงมาที่ 7 ปีได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเดิมทีให้ตุลาการศาลปกครองมาทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทราบกันดีว่าจะได้คนที่ไม่ค่อยเด่นดังในศาลปกครองมาทำหน้าที่ เลยคิดว่าถ้าอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 75 ปี อาจจะทำให้คนเก่งๆ ให้ความสนใจมากขึ้น
@ ห้ามรวมพรรค-พันธมิตรได้
จากนั้นนายมีชัยเป็นประธานการประชุม กรธ. และภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงว่าการพิจารณาบทบัญญัติในหมวด 7 รัฐสภา มีสาระสำคัญคือ กรธ.คงหลักการให้สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีจำนวน 500 คน แบ่งออกเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม และกำหนดให้การประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 475 คน เมื่อพรรคการเมืองได้ ส.ส.ตามสัดส่วนของคะแนนความนิยมแล้ว ก็จะไม่มีสิทธิได้ ส.ส.เพิ่ม ทั้งนี้ กรธ.บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรมีอายุ 4 ปี และระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง จะควบรวมกันไม่ได้ แต่เป็นพันธมิตรกันได้
@ ส่ง 3 รายชื่อนายกฯ-ซ้ำเป็นโมฆะ
นายนรชิตกล่าวว่า นอกจากนี้กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 3 คน จากเดิม 5 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง และ กกต.ต้องประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้พรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อคนที่เป็นนายกฯก็ได้ กรธ.ไม่ได้บังคับเอาไว้ แต่ในกรณีที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อนายกฯเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติโหวตนั้น กรธ.กำหนดเงื่อนไขว่า 1.ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 2.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะไม่ต้องขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ 3.ถ้ามีชื่อบุคคลใดซ้ำกันสองพรรคจะถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับการเสนอชื่อขึ้นมา ไม่เพียงเท่านี้ การลงมติเลือกนายกฯในสภาจะต้องมาจากรายชื่อที่เสนอมาให้ กกต.ก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น จะไปเลือกบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่ได้
@ แพ้โหวตโนตัดสิทธิสมัครอีก
โฆษก กรธ.กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวส่งผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องไม่ซ้ำกับผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่สำคัญการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจะต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วม ต้องคำนึงถึงสัดส่วนในแต่ละภูมิภาคด้วย และต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย ขณะเดียวกัน กรธ.ยังยืนยันในหลักการเดิมคือ ถ้าเกิดมีกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.คนใดได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนของผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนนหรือโหวตโน ผู้สมัคร ส.ส.คนนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.และจะต้องมีการเลือกตั้ง และผู้สมัครทุกรายที่ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโหวตโนจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ กล่าวคือ ถ้าพรรค ก. พรรค ข. และพรรค ค. ส่งผู้สมัคร ส.ส.แต่แพ้คะแนนโหวตโน พรรคการเมืองดังกล่าวจะต้องไปหาผู้สมัครคนใหม่มาสมัครแทน
@ วางเกณฑ์คะแนนลต.ซ่อม
นายนรชิต กล่าวว่า ถ้าเกิดกรณีที่การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จทุกเขต ด้วยเหตุของการทุจริตเลือกตั้งจนต้องสั่งเลือกตั้งใหม่ กรธ.จึงกำหนดว่าการคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะนับเฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งเสร็จแล้วไปก่อน ซึ่งถ้าต่อมามีการนับคะแนนครบทุกเขตแล้วเกิดมีพรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง ให้ถือว่าผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับสุดท้ายของพรรคการเมืองนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไป
"ถ้าภายหลัง 1 ปีจากการเลือกตั้ง และต่อมาจะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ในบางเขตเลือกตั้ง เพราะพบการทุจริตเลือกตั้ง กรธ.กำหนดว่าคะแนนในการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้จะไม่ถูกนำไปคำนวณเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก" นายนรชิตกล่าว
@ ใส่คุณสมบัติกำนัน-ผญบ.
โฆษก กรธ.กล่าวต่ออีกว่า ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ส่วนใหญ่ยังยืนยันตามหลักการเดิม แต่มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแบบใหม่เข้าไป ได้แก่ บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกและพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 10 ปี จะไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และนำลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มาใส่ไว้ในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ด้วย เช่น ความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ การบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ ยาเสพติด เป็นต้น
นายนรชิต กล่าวว่า สำหรับที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) กรธ.เห็นชอบให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน และไม่ให้คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ข้าราชการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.ในคราวเดียวกัน รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระลงสมัคร ส.ว.
@ ไม่ขวาง'ปู'สมัครถ้าปลดล็อก 5 ปี
เมื่อถามว่า บุคคลที่เคยถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากรับโทษการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครบ 5 ปีแล้ว จะสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ นายนรชิตกล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในข้อห้าม แต่ถ้ามาถูกถอดถอน ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ใช้คำว่าถอดถอนแต่ใช้คำว่าต้องคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่ง จะถือว่าไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้
"ต้องมองไปข้างหน้า เราไม่ได้ไปตัดสิทธิ อย่ามาบอกว่าพวกเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกันใคร เขาถูกจำกัดสิทธิจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตและยังไม่พ้น 5 ปี แต่ถ้าพ้น 5 ปีแล้วมีการเลือกตั้งและไม่ขาดคุณสมบัติก็ย่อมสามารถลงสมัครได้" นายนรชิตกล่าว
@ ลูกเล่นการเมือง-พ่อพ้นส.ว.
นายนรชิต กล่าวว่า การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กรณีห้ามบุคคลที่มีบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น กรรมการองค์กรอิสระ และผู้รับสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ในคราวเดียวกันนั้นจะไม่มีผลต่อบุคคลในการลงสมัคร ส.ส. แต่หากบุคคลนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น จะส่งผลให้ ส.ว.ผู้นั้นขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ว.และต้องพ้นจากตำแหน่งทันที กรณีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.สรรหาของคนหนึ่งที่มีบุตรชายไปดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนึ่ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ส.ว.ผู้นั้นพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ทันที
นอกจากนี้ ได้กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมต่อประเด็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือ ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่กระทำการที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้เงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินงานของรัฐสภา ซึ่งหมายถึงการแปรญัตติ โยกงบประมาณเพื่อประโยชน์ของตนเอง เป็นต้น
@ 'คำนูณ'ไม่สบายใจโยกมาตรา
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ตอนนี้เริ่มมีร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเผยแพร่ออกมาบ้าง เห็นการโยกมาตราที่เกี่ยวด้วยคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไปอยู่หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แล้วไม่สู้สบายใจนัก ยิ่งเมื่อได้อ่านเนื้อหาใหม่แล้วยิ่งต้องถอนใจเฮือกใหญ่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในอย่างน้อย 2 ประเด็นไปจากเดิม ทวนความสักนิดว่าหลักการเดิมคือ 1.คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2.ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรและกำกับ หลักการทั้งสองเป็นหลักการที่ยืนหยัดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 มาตรา 40 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 หลักการทั้งสองเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2535 ที่เกิดการปิดกั้นข่าวสาร จึงเกิดกระแสรณรงค์ให้เกิดสื่อเสรี กระทั่งเปลี่ยนหลักการสำคัญว่าคลื่นความถี่ไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
@ รัฐยึดคลื่น-ตั้งองค์กรใหม่ดูแล
"ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของผมคือ หลักการใดก็ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิ แปลว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับแล้ว หลักการนั้นจะเป็นผลเต็มร้อยทันที รัฐมีหน้าที่ต้องกระทำต้องจัดให้ ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิทางศาลทันที ต่างกับหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่เป็น กรอบให้รัฐออกนโยบายปฏิบัติ แต่รัฐจะทำเมื่อไร แค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นอกจากย้ายออกจากหมวดสิทธิแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่น่าจะกระทบหลักการที่เป็นสาระพื้นฐานทั้ง 2 ประการ 1.เปลี่ยนสถานะของคลื่นความถี่จากทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นทรัพยากรของรัฐ 2.เปลี่ยนองค์กรกำกับฯจากองค์กรอิสระ เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ครูของผมคนหนึ่งที่ร่วมงานกันมาเกือบตลอดปี 2558 เคยพูดเปรียบเทียบไว้ว่า อันว่าสิทธินั้น เมื่อรัฐให้ประชาชนแล้ว จะเอาคืนมิได้ จึงปรากฏเป็นความจริงว่า รัฐธรรมนูญหมวดสิทธิของฉบับที่ออกมาภายหลังจึงอย่างน้อยไม่ทำให้สิทธิของประชาชนลดลงกว่าฉบับก่อน" นายคำนูณระบุ
@ ลดอำนาจกสทช.-นายกฯคุมเอง
นายคำนูณกล่าวว่า แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างน้อยเฉพาะมาตราว่าด้วยคลื่นความถี่นี้ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เรื่องย้ายที่ออกจากหมวดสิทธินี้ฟังอย่างไม่เป็นทางการจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคนที่เคารพนับถือกัน ชี้แจงว่าเป็นวิธีการเขียนที่แตกต่างออกไป ประชาชนมีสิทธิทุกอย่างเท่าที่รัฐธรรมนูญไม่เขียนจำกัดไว้ ตนยังไม่ค่อยเข้าใจเต็มที่นัก แต่ก็เปิดใจรับฟัง และได้ถามกลับไปว่า ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ตาม ไว้หมวดไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์ในที่สุดสารัตถะเรื่องคลื่นความถี่จะยังคงเหมือนเดิม ไม่ลดลงกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 หรือไม่ ถามเพราะถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป และเป็นถ้อยคำที่น่าจะกระทบหลักการ และยังเสมือนไปสอดคล้องกับภาพรวมของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล 10 ฉบับที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้ว รวมทั้งร่างกฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ที่สารัตถะลดความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.ลง โดยเสมือนให้อยู่ในกำกับของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
"พูดง่ายๆ ว่าเสมือนนำคลื่นความถี่และการจัดสรร รวมทั้งการกำกับกลับไปอยู่ในมือของรัฐอย่างเนียนๆ หวังว่าผมคงเข้าใจผิด เคารพและเชื่อมั่นในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถชี้แจงให้กระจ่างได้และยังสามารถปรับแก้ได้อีก อย่างไรก็ตามความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่ใช่ในฐานะตำแหน่งใดๆ ใน สปท." นายคำนูณระบุ
@ 'มีชัย'แจงไม่ได้รื้อ-คุมสัมปทาน
ขณะที่นายมีชัยชี้แจงว่า ที่ปรับจากทรัพยากรสื่อสารของชาติเป็นทรัพยากรของรัฐนั้น ความมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อให้รัฐมีสิทธิเข้าดำเนินการรื้อระบบสารสนเทศหรือระบบการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบัน แต่เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน เพราะคำว่ารัฐในบทบัญญัติจะเป็นคำที่สื่อถึงบุคคลที่อยู่ภายในรัฐ ไม่ใช่คำว่ารัฐที่หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกรณีที่กำหนดให้รัฐพึงมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องการสื่อไปยัง กสทช.ว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่ไม่ใช่ให้สิทธิขาดในการดูแลหรือจัดการคลื่น หรือนำคลื่นไปดำเนินการใดๆ ได้ตามใจชอบถือเสมือนว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นของตนเอง ซึ่งการดูแลและการบริหารจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การปรับบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเขียนเพื่อให้รองรับกับการบังคับใช้ร่างกฎหมายดิจิตอล ส่วนการเขียนให้ครอบคลุมถึงวงโคจรด้วยนั้น เพื่อต้องการรักษาผลประโยชน์ว่าวงโคจรเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศ แม้เอกชนจะได้สัมปทานจากรัฐ แต่ไม่อาจถือเป็นสมบัติของเอกชน ดังนั้นผู้ใดที่ได้รับสัมปทานไปแล้วต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยเช่นกัน
@ อดีตสปช.เตือนกรธ.ยัดไส้คปป.
รายงานจากรัฐสภาระบุว่า จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ พล.อ.วัฒนา สรรพานิช ที่ปรึกษา กมธ.ด้านการบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้ส่งข้อเสนอให้มีบทบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแนบเอกสารร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... ต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 เพื่อเป็นอีกข้อมูลในการประชุมนอกสถานที่ของ กรธ. ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 11-17 มกราคมนี้ โดยอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลายคนกังวลว่า หากนำร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง จะเปรียบเสมือนมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซ่อนรูปเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้นั้น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะมีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานรัฐ เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของทั้ง ครม. รัฐสภา และหน่วยงานรัฐ หากทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้นั้น จะมีมาตรการในการลงโทษ หากเป็นฝ่ายการเมืองไม่กระทำความผิดแต่ไม่มีการทุจริต จะถูกส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ถ้ามีการทุจริตจะต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอีกด้วย ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำหากไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติก็จะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาเช่นเดียวกัน
รายงานข่าวจากรัฐสภาระบุด้วยว่า ด้วยเหตุดังกล่าวอดีต สปช.จึงมีข้อกังวลต่อการเสนอให้ กรธ.บัญญัติร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจากการพูดคุยกับอดีต สปช. สมาชิก สปท. และฝ่ายการเมือง หลายคนเห็นตรงกันว่า หาก กรธ.จะบัญญัติร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับมี คปป.ซ่อนรูป และจะส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.กำลังร่างกัน อยู่ในขณะนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ เช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูก สปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558
@ 'ปึ้ง'อัดกรธ.อย่าเล่นละคร
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เท่าที่ติดตามการทำงานของ กรธ.พอจะสรุปได้ว่า กรธ.จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ตามที่ กรธ.ต้องการ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทุกวันนี้การที่ กรธ.ต้องยกโขยงไปประชุมกันถึงชายทะเล และออกแถลงข่าวกันทุกวันให้ดูเหมือนกับว่าได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาแล้ว แต่แท้ที่จริงเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามที่ตนเองต้องการไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วมาประชุมเล่นละครกันอยู่ทำไม สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
"เอายังไงก็เอากัน เดี๋ยวประชาชนเจ้าของประเทศก็จะตัดสินใจเองว่าจะเอารัฐธรรมนูญที่พวกท่านร่างขึ้นมานี้หรือไม่ หรือประชาชนจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ตอนทำประชามติ และก็หมดยุคแล้วนะที่จะมาบอกประชาชนว่าให้รับๆ กันไปก่อน แล้วไม่ชอบตรงไหนค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญในตอนหลัง และขอร้องอีกเช่นกันว่าอย่ามาสรุปว่ายังไงนักการเมืองก็ต้องรับเพราะอยากเลือกตั้งและตกงานกันมานานร่วม 2 ปีแล้ว ยังไงนักการเมืองก็ต้องเอาด้วยนั้น ถ้าพวกท่านคิดแบบนี้ก็ขอบอกไว้ล่วงหน้าเลยครับว่าพวกท่านกำลังคิดผิด" นายสุรพงษ์กล่าว
@ อดีตส.ส.ค้านข้อห้ามส.ว.
กรณีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลเป็น ส.ว. ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีบุพการี คู่สมรส และบุตรเป็น ส.ส. ข้าราชการทางการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งในคราวเดียวกัน ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.นั้น
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีต ส.ส. ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นประเด็นปลีกย่อยที่จะสร้างปมปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และเมื่อมีวิกฤตความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก กรธ.ชุดนี้ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบเพราะหมดหน้าที่ไปแล้ว ซึ่งการสร้างกลไกให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคตนั้นไม่ใช่กฎหมายที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากตัวบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับวงศ์ตระกูล
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพราะถือเป็นการปิดกั้นที่กระทบสิทธิของพลเมือง เพราะ ส.ว.ในอนาคตจะมาจากการสรรหา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้น กรธ.จึงไม่ควรหวั่นวิตกว่ากลไกการเมืองท้องถิ่นจะเข้าไปแทรกแซง
@ อ้างบางตระกูลแข่งขันกัน
นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ หลานชายนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ และนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง บางตระกูลเล่นการเมืองมา 10-20 ปีแล้ว เป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาชน ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ปิดกั้น บางตระกูลที่เป็นพี่น้องหรือเครือญาติ ยังลงสมัคร ส.ส.หลายพรรค หรือแข่งขันกันเอง เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ดังนั้นการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรนำเรื่องระบบเครือญาติมาเกี่ยวข้อง
@ 5น.ศ.ไม่กลัว-จัดกิจกรรมต่อ
ส่วนกรณีที่ศาลทหารกรุงเทพได้พิจารณาอนุมัติออกหมายจับเลขที่ 2-7 ประกอบด้วย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว อายุ 23 ปี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 22 ปี น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 22 ปี นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 23 ปี นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ อายุ 29 ปี และนายธเนตร อนันตวงษ์ อายุ 25 ปี ข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 หลังจากที่ได้ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และทำกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น
นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ ทางกลุ่มนักศึกษาได้ยืนยันกับตนว่าจะไม่ต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของทหาร โดยต่อจากนี้กลุ่มนักศึกษาคงจะมีการจัดกิจกรรมอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อแสดงจุดยืนในกรณีดังกล่าว
@ 'จ่านิว'ท้าจับ-โวยถูกค้นบ้าน
นายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ยังคงไม่สามารถติดต่อได้ แต่ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีนี้ว่า "เมื่อสักครู่ มีคนโทรเข้ามา ถามว่าเป็นใคร ก็ไม่ตอบ แล้วถามผมว่า ออกหมายจับแล้ว จะไปมอบตัวไหม
ปัดโธ่ หมายเรียกยังไม่ไป แล้วหมายจับจะไปทำไม อยากจับก็มาจับเองเถอะ"
ต่อมาเวลาประมาณ 13.30 น. เฟซบุ๊กส่วนตัวของนายสิรวิชญ์ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันนี้ มีทหารไม่ทราบหน่วยที่สังกัด จำนวน 5-6 นาย เดินทางไปที่บ้าน ซึ่งเวลานั้นมียายอยู่บ้านคนเดียว และกลุ่มนายทหารดังกล่าวขอค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น ทั้งยังขู่ว่าให้หลาน ซึ่งก็คือตน ไปมอบตัวด้วย ถ้าจับได้จะไม่ให้ประกัน พร้อมทั้งนำตั๋วรถไฟที่นายสิรวิชญ์สะสมไว้จำนวนพันกว่าใบไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าจะนำไปใช้ประกอบการรายงาน
น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า หลังจากนี้ไป ทางขบวนการนักศึกษาตั้งใจจะเคลื่อนไหวต่อกรณีที่ตนเองและเพื่อนอีก 5 คนโดนหมายจับ แต่ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มว่าจะทำอย่างไรต่อ ขณะที่ผู้ปกครองของตนไม่มีความเห็นต่อกรณีนี้และสามารถใช้ชีวิตปกติได้ หากอีกฝ่ายไม่จับก็จะถือว่าไม่ต้องทำอะไรในคดีนี้ หรือถ้าจะจับก็จะประกันตัว ซึ่งหลังโดนหมายเรียก ส่วนตัวไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใด
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่าหลังจากนี้จะต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการไปตามพยานและหลักฐานที่มี
@ แอมเนสตี้ฯชวนทั่วโลกเขียนจม.
เมื่อวันที่ 14 มกราคม สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องทางการไม่ให้จับกุมและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรม 11 คน ที่กำลังเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้มีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐทำการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ทั้งยังเรียกร้องทางการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสงบและไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเชิญชวนสมาชิกทั่วโลกให้เขียนส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.กระตุ้นทางการไม่ให้จับกุมนักกิจกรรมทั้ง 11 คน และให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อพวกเขา เนื่องจากพวกเขาเรียกร้องอย่างสงบให้มีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีเจ้าหน้าที่ทำการทุจริต 2.เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่กำหนดบทลงโทษกับการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง จำนวนห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไป 3.กระตุ้นให้ทางการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสงบ และไม่ให้ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม รวมถึงการกดไลค์หรือการแชร์ข้อมูลออนไลน์