- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 13 January 2016 08:55
- Hits: 8146
เทือกโผล่-ต้องโล 60'บิ๊กตู่'เมิน ไม่คุยด้วย-กำลังแก้ ครม.วันนี้คลอด แผนทั้งสั้น-ยาว ทุ่มซื้อฉุดราคา ใช้ผสม-ทำถนน
เทพเทือก โผล่ ย้ำยางโลละ 60 ปรามม็อบอย่าเพิ่งเดินขบวน เชื่อ'บิ๊กตู่'จริงใจแก้ปัญหาราคาตกต่ำขอให้อดทนรอดูผลงาน'ถาวร เสนเนียม' นำส.ส.ใต้แถลงที่พรรคปชป. ก่อนเข้าทำเนียบยื่นข้อเสนอถึงนายกฯให้แก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาวแบบครบวงจร 'บิ๊กตู่'ยันตั้งแต่บ่ายวันอังคารหลังประชุมครม. การช่วยเหลือจะขับเคลื่อนเดินหน้าเต็มสูบ ลั่นไม่คุยกับ เทพเทือกหรือคนปชป. มีหน่วยงานรอคุยอยู่แล้ว ขอให้เชื่อมั่นจะทำให้ดีที่สุด สวนกลับแกนนำที่ขอก.ก.ละ 60 บาท ว้ากจะเอาเงินมาจากไหน ขณะที่สถานการณ์ใต้ หลายจังหวัดสลายตัวยุติการชุมนุมให้เวลารัฐบาลทำงาน แต่หลายพื้นที่เจ้าของตัดสินใจโค่นต้นยางขาย เพราะแบกรับขาดทุนต่อเนื่องไม่ไหว
วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9176 ข่าวสดรายวัน
ยื่นรัฐบาล - นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส.และกลุ่มอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักนายกฯ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ม.ค.
'บิ๊กตู่'ขับเคลื่อนแก้ยางทั้งระบบ
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนต้นการประชุมนายกฯกล่าวว่า ในส่วนที่ต้องช่วยกันคือการนำผลิตผลจากยางพารามาใช้ วันนี้เรื่องใหญ่เป็นเรื่องยาง จะให้บูรณาการให้ได้ทั้งระบบ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้นทางคือการรับซื้อยาง เข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน แล้วโรงงานจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาให้ทุกกระทรวง ใช้งบประมาณจัดซื้อ ไม่ว่าสนามกีฬา หรือยางปูพื้นต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งได้สั่งการไปหมดแล้วและจะนำเข้า ครม.วันที่ 12 ม.ค. และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บ่ายพรุ่งนี้เป็นต้นไป จะให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งระบบอย่างแท้จริง จึงต้องการให้ทุกคนทราบว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากแก้ปัญหาให้เกษตรกร และอีกหลายๆ อย่าง ต้องเกิดความสมดุลเพราะรัฐบาลไม่สามารถดำเนินกิจการเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาส่วนอื่นอีก ทั้งการนำงบไปใช้เพื่อการลงทุน งบรายจ่ายประจำ
อย่าโทษรัฐบาลทำศก.ได้ไม่ดี
ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่า วันนี้อย่ามาพูดโดยรวมว่ารัฐบาลนี้ทำเศรษฐกิจได้ไม่ดี เศรษฐกิจตก ต้องดูว่าเศรษฐกิจตกจากปัจจัยอะไร เศรษฐกิจมีกี่ภาคส่วน และที่ผ่านมาความ เข้มแข็งแต่ละภาคส่วน กิจกรรมต่างๆ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเตรียมการหรือเปล่า ต้องไปดูตรงนั้น
"ผมกำลังแก้ไขและเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ทำอยู่ทั้งระบบ ไม่ว่าข้าว ยาง หรือผลผลิตอื่นๆ แต่โดนโจมตีตลอดเวลาว่าทำไมแก้ไม่ได้สักที ผมอยากถามว่าใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ถ้ายังปล่อยโครงสร้างให้เป็นแบบเดิม มันก็เจอแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ เรากำลังแก้อยู่ ทุกอย่างกำลังเกิด วันนี้เรื่องยางขอให้สบายใจ ผมกำลังเริ่มทั้งหมดเพื่อจัดกระบวนการขึ้นมา กระบวนการหนึ่งเพื่อรับซื้อยางในราคาที่สูงขึ้นมาหน่อย อาจจะพอใจหรือไม่พอใจ ผมยังไม่ทราบ แต่รัฐบาลและคสช.จะรับซื้อเองเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต ไม่ออกไปขายที่อื่น จะเข้าสู่กระบวนการผลิตซึ่งมีโรงงานที่เราส่งเสริมเอสเอ็มอีไว้ ให้ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบยาง เป็นรายได้เริ่มต้น ฉะนั้นตรงกลางจะประกอบไปด้วยโรงงานผู้ประกอบการ การทำถนนลาดยางที่มีส่วนผสมของยาง ผมไม่อยากใช้คำว่าทำแล้วไม่คุ้ม แต่จะคุ้มหรือไม่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องถนนที่ใช้ยางพารา เราได้ทำที่ภาคใต้ไปแล้ว 37 เส้นทาง ประมาณ 5% และวันหน้าจะดูว่าทำอย่างไรให้ใช้ยางพารามากกว่า 5% ไปถึง 10% ซึ่งอยู่ที่การวิจัยพัฒนาด้วย ส่วนที่มีข่าวในเว็บไซต์ต่างๆ ระบุว่ามีการผูกหัวคิวยางมะตอย ตนสั่งรื้อหมดแล้ว แต่จะใช่หรือเปล่าไม่รู้ แต่ต้องไปดู เพราะมันเป็นระบบที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เป็นระบบการค้าขายโดยเสรี ก็จะมีนายทุนเป็นผู้ประกอบการไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ใช่ประเทศเสรี ถ้าไปรื้อสั่งไม่ได้คงไม่ใช่ ประเทศเราเป็นประเทศเสรีทางการค้าการลงทุน ต้องดูกฎหมายและหลักการของประเทศด้วย อย่าใช้ความรู้สึกอย่างเดียว เรื่องยางกำลังแก้วันนี้พรุ่งนี้ให้ได้
นายกฯกล่าวอีกว่า ถ้าเราสามารถนำยางไปใช้ในประเทศได้ เช่น ปูพื้นทำถนน ทำสระน้ำ หุ่นยางสำหรับฝึกนักเรียนแพทย์พยาบาล และทำถุงมือ ตรงนี้มีวิจัยทั้งหมดแล้ว แต่ไม่เคยมีใครเอาออกมาทำ รัฐบาลนี้จะทำแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยจะเร่งรัดให้ได้ และนี่คือระยะที่หนึ่งเพื่อยกระดับให้สูงขึ้น เพราะยังมีเวลาอีก 3 เดือนก่อนปิดฤดูการผลิต ตรงนี้ต้องแก้ปัญหาให้เขาก่อน ถ้าดีขึ้นก็จะไปสู่การส่งออกในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ใช่ส่งแต่ยางดิบไปตลอด ราคายางที่รัฐบาลกำลังพยายามทำอยู่ จะได้ข้อสรุปในวันนี้พรุ่งนี้และถือว่าอยู่ในระยะที่หนึ่ง
ไม่คุย'เทือก'-ไม่สนปชป.
ผู้สื่อข่าวถามว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ แถลงไม่ยอมรับมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยกดดันให้พยุงราคาอยู่ที่ 60 บาทต่อก.ก. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ก็ช่างเขา แล้วจะเอาอะไรมาอุ้ม เอาเงินที่ไหน ตอบมา เรากำลังจะสร้างระบบ ไม่เอาระบบใช่หรือไม่ จะให้อุ้มแบบนี้ทุกอันเลยใช่ไหม ไปหาเงินมาให้ผม ผมไม่ได้ใจร้าย ที่เข้ามาเพราะสงสารคนเหล่านี้ ไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเอาเป็นเอาตายกับเขา เขาก็อย่ามาเอาเป็นเอาตายกับผม"
เมื่อถามว่า นายสุเทพต้องการคุยเรื่องดังกล่าวกับนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คุยทำไม เขามีหน่วยงานอยู่แล้ว ก็ไปคุย คุยกับตนเดี๋ยวก็มีปัญหาอีก จะหาว่าตนไม่คุยกับคนนี้ แต่ไปคุยกับคนนั้น อยากให้เข้าใจ และสื่ออย่าไปเขียนให้เกิดความวุ่นวาย
ต่อข้อว่าจะหารือกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เนื่องจากเคยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นายกฯกล่าวว่า ไม่หารือกับใครทั้งนั้น เขาทำอะไรได้สำเร็จ ตอบมา ทำได้อย่างไร ถามเอาเงินที่ไหน ไปทำให้ราคายางสูงขึ้น ตนไม่แลกเปลี่ยนเพราะเป็นคนละวิธีการกับตน ใช้เงินเท่าไร แล้วทำให้วิธีการปลูกพืชมันผิดหรือไม่ ปลูกยางเยอะขึ้นหรือไม่ วันนี้ผลิตยางได้ปีละ 4.1 ล้านตัน ใช้จริงได้ 1.4 ล้านตัน ที่เหลือ 3 ล้านตันขายหมด จะเอาเงินที่ไหนมาชดเชย 3 ล้านตันที่ว่า ต้องคิดแบบนี้ ถ้าคิดแต่จะชดเชย เดี๋ยวตนให้ก็ได้ ซื้อไปสักก.ก.ละ 120-200 บาท แต่จะเอาไปให้ใคร สุดท้ายก็เน่าอยู่ในคลัง ให้เข้าใจบ้าง
ส่วนที่ระบุว่ารัฐบาลจะรับซื้อเองนั้น ได้กำหนดราคาแล้วหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ยัง แต่คุยกันอยู่ กำลังทำอยู่ เร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ เมื่อถามว่าจะคุยกับผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า มาทำไม เขาจะซื้อไหม เห็นใจเขา ซื้อไปแล้วเขาจะไปทำอะไร จะขายต่อหรือ แล้วจะขายให้ใคร สมมติว่าซื้อของราคา 20 บาท แต่ต้องซื้อในราคา 40 บาท จะซื้อหรือไม่ เขาต้องแบกรับภาระหรือไม่ ทั้งนี้ ให้เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยส่งเสริม
ย้ำอีกกฎหมาย คือกฎหมาย
เมื่อถามว่าต้องการให้ผู้ที่ออกมาเคลื่อน ไหวรอก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ช่างเขาสิ อยากเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไป ผมก็ทำของผมไป อย่าสร้างความเดือดร้อนก็แล้วกัน ผมไม่อยากใช้อำนาจบาตรใหญ่กับใคร ให้รู้บ้างว่าอะไรคือกฎหมาย วันนี้ผมไม่ทำอะไรอยู่แล้ว แต่กฎหมายคือกฎหมาย วันหน้าเมื่อไรก็ไม่รู้ ผมไม่ได้รู้สึกกดดัน เพราะกดดันตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ไม่ต้องมาถามผม เรื่องกดดันไม่กดดัน"
เมื่อถามว่าชาวสวนยางบางส่วน เริ่มโค่นต้นยางขายแล้ว นายกฯกล่าวว่า เมื่อจำเป็นต้องโค่นก็โค่นไป ตนไม่ได้ให้รอ แต่อย่าไปพูดอะไรให้มันวุ่นวาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว และระหว่างเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าหลังจากให้สัมภาษณ์ยังกระทืบเท้าอย่างไม่สบอารมณ์ด้วย
รายงานใช้ยาง-งบต่อครม.
ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมเรื่องการส่งเสริมการใช้ยางพารา และการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานในสวนยาง เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอข้อมูลการใช้ยางพาราไปที่สำนักเลขาธิการครม. เพื่อรวบรวมข้อมูลการใช้ยางทั้งหมดทั่วประเทศของหน่วยงานรัฐบาล เสนอต่อนายกฯในการประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค. โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯมีงบปี 2559 จะใช้ยางปริมาณการ 25,580.34 ตันยางแห้ง ภายใต้งบ 9,763 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.วงเงิน 1,026 ล้านบาทซึ่งเป็นงบปกติ ใช้ยางทั้งหมด 434 ตันยางแห้ง
2.ยางพาราทั้งหมด 25,100 ตันยางแห้ง ภายใต้งบ 8,700 ล้านบาท ซึ่งในส่วนงบจำนวน 8,700 ล้านบาท ขณะนี้ต้องนำโครงการเสนอไปที่สำนักงบประมาณก่อน เพื่อเสนอครม.เพื่อของบกลาง นำมาเพื่อดำเนินการซื้อยางมาดำเนินการตามโครงการที่สำนักงบฯอนุมัติไว้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะใช้ยางในกิจกรรมของกระทรวง อาทิ ปูพื้นคอกปศุสัตว์ ทำถนน ปูพื้นสระน้ำในไร่นา กิจกรรมศูนย์ฝึกอบรม เป็นต้น และในงบปี 2560 ปริมาณการใช้ยาง 11,025.35 ตันยางแห้ง ภายใต้งบรวม 6,631.48 ล้านบาท
ยุติชุมนุม - ตัวแทนสวนยางภาคใต้ แถลง 8 แนวทางแก้ราคายางตกต่ำเสนอรัฐบาล พร้อมประกาศ ยุติการชุมนุม เพื่อรอมติครม. จะช่วยเหลืออย่างไร ที่สนามหน้าที่ว่าการอ.ทุ่งสง จ.นครศรี ธรรมราช เมื่อ 11 ม.ค. |
สำหรับ ความต้องการใช้ยางในการดำเนินโครงการของส่วนราชการต่างๆ ในปีงบ ประมาณ 2559 วงเงินรวม 9,763.68 ล้านบาท ปริมาณยางแห้ง 25,580.34 ตัน ประกอบด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ 25 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อหมอนและที่นอนยางพารา สำหรับใช้ในหอพักของศูนย์ฝึกอบรม 5 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 25 ตัน โครงการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมของสมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 20 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 225 ตัน สปก.เพื่อปรับปรุงผิวจราจรถนนลาดยาง 59 ก.ม. ต้องใช้ยางแห้ง 108 ตัน วงเงิน 177 ล้านบาท
กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อปูยางพาราเคลือบบ่อน้ำ ในแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ความจุ 1,260 ลบ.ม. 3,000 บ่อ หรือ 6,885 ตันน้ำยาง หรือยางแห้ง 4,131 ตัน วงเงิน 793 ล้านบาท กรมประมง เพื่อใช้ปรับปรุงผนังบ่อดินสำหรับอนุบาลและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ 60 จังหวัด 2,100 บ่อ ใช้ยางทำผนังบ่อดิน 516,000 ตร.ม. ใช้ยางแห้ง 5,160 ตัน วงเงิน 516 ล้านบาท กรมชล ประทานทำฝายทดน้ำ 6 แห่ง 596.30 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 192.11 ตัน ปรับปรุงถนนบนคันคลอง 27 สาย 422.44 วงเงิน ใช้ยางแห้ง 214.96 ตัน และซ่อมแซมฝายยาง 29 แห่ง วงเงิน 1560 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 647 ตัน
กรมปศุสัตว์ ใช้เพื่อปูพื้นโรงเลี้ยงสัตว์ 10,000 แผ่น วงเงิน 40 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 450 ตัน ถุงมือยาง 100,000 คู่ วงเงิน 1 ล้านบาท กรมหม่อนไหมซื้อแผ่นปูพื้นโรงเลี้ยงไหมและโรงเก็บรักษาใบ 50,000 แผ่น วงเงิน 1,080 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง สร้างถนนลาดยางภายใน 26 แห่ง วงเงิน 67.46 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 54 ตัน และทำแผ่นยางปูอ่างเก็บน้ำ 50 อ่าง วงเงิน 355.49 ล้านบาท ใช้ยางแห้ง 482.27 ตัน
คมนาคม ตั้งเป้าใช้ 2 หมื่นตัน
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขการนำยางมาใช้ในงานก่อสร้างตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่าจะนำยางมาเป็นส่วนผสมในโครงการก่อสร้างต่างๆ ได้มากกว่า 2 หมื่นตันอย่างแน่นอน โดยจะสรุปตัวเลขชัดเจนอีกครั้ง วันที่ 12 ม.ค.นี้
"เดิมกระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนการใช้ยางพาราไว้ประมาณ 2 หมื่นตันในปี 2559 แต่เมื่อมีนโยบายจากรัฐบาลให้นำมาใช้ทำถนนหรือส่วนก่อสร้างอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ได้สั่งการทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมที่ดำเนินงานก่อสร้างปี 2559-2560 จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางเป็นส่วนผสมมากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ" นายอาคมกล่าว และว่า โดยจะเน้นนำมาเป็นส่วนผสมซ่อมบำรุงถนนเป็นหลัก เพราะการนำยางมาเป็นส่วนผสมจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าอาจมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้วงเงินก่อสร้างถนนในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นปี 2559 นี้จะต้องของบก่อสร้างเพิ่มเติมตามจำนวนยางที่นำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตยางแอสฟัลต์(ยางมะตอย)ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ปี 2558 กระทรวงคมนาคมนำยางมาใช้สร้างถนน 9,652 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 28,173,394 ตร.ม. ทั้งนี้ปี 2559 เดิมกระทรวงคมนาคมมีแผนใช้ปริมาณน้ำยางดิบ 19,301 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 34,944,393 ตร.ม.
ทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่ม 11%
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า การสร้างถนนจากถนนแอสฟัลต์คอนกรีตเป็นถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางจะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 11% โดยราคาค่าก่อสร้างจะปรับเพิ่มขึ้นจาก ตร.ม.ละ 320 บาท เป็นตร.ม.ละ 360 บาท หรือเพิ่มขึ้นตร.ม.ละ 40 บาท ซึ่งตามปกติการทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมยางพารา จะใช้เนื้อยางเป็นส่วนผสมของการทำถนนสัดส่วนประมาณ 5% ส่วนที่เหลือจะเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต โดยการผลิตเนื้อยางพารา 1 ส่วนจะต้องใช้น้ำยางดิบประมาณ 3 ส่วนมาสกัดทำเนื้อยาง ทั้งนี้ทล.อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนการใช้ยางพารา คาดว่าปี"59 อาจจะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางดิบจาก 9,753 ตัน เป็น 15,000 ตัน ซึ่งจะทำให้วงเงินงบประมาณก่อสร้างถนน ซึ่งจะใช้ยางปูผิวทางและฉาบผิวทาง เพิ่มขึ้นจาก 9,683 ล้านบาท ใช้งบ 15,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5,317 ล้านบาท
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชลบท (ทช.) กล่าวว่า ปี 2559 ทช.วางแผนใช้ยาง 9,548 ตันมาใช้เฉพาะผิวทางที่จะปรับปรุงถนนทั่วประเทศในพื้นที่กว่า 14,997,948 ตร.ม. หรือประมาณ 2,100 ก.ม. โดยประกวดราคาแล้วเสร็จตั้งแต่ธ.ค. 2558 คาดว่าจะดำเนินการได้ไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ รมว.คมนาคมยังสั่งทช.พิจารณาใช้งบเหลือจ่ายวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท มาใช้เพื่อปรับปรุงผิวทาง โดยเสนอให้จัดซื้อยางเป็นวัสดุก่อสร้างอีกราว 820 ตัน
ตร.เตือนสุเทพ-ถาวร-แกนนำ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกตร. กล่าวถึงการนัดชุมนุมเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้วันที่ 12 ม.ค.นี้ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมายบช.ภาค 8 และภาค 9 เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงให้บช.สันติบาล(บช.ส.) ติดตามหาข่าวเชิงลึก พร้อมทั้งพูดคุยกับแกนนำว่าให้รอการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ตลอดจนทำความเข้าใจประชาชนอย่าหลงเชื่อคำยั่วยุที่อาจนำมาซึ่งความรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาราคายางอยู่แล้ว
ส่วนที่มีกระแสว่ากลุ่มชาวสวนยางเรียกร้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. มาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวด้วยนั้น โฆษกตร.กล่าวว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามหากใครกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ที่มีอยู่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทุกคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตือนแกนนำอย่านำประเด็นทางการเมืองมาเชื่อมโยงกับการชุมนุมของเกษตรกร เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมั่นใจว่าการชุมนุมดังกล่าวจะไม่บานปลายกลายเป็นการชุมนุมใหญ่อย่างแน่นอน ขณะนี้ด้านการข่าวยังไม่พบการเมืองเข้ามาแทรกแซง
"ตอนนี้บ้านเมืองกำลังต้องการความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายเพื่อนำประเทศไปสู่ความสงบและแก้ปัญหาในหลายด้าน การชุมนุมครั้งนี้จำเป็นต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะอย่างเคร่งครัด หากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมายแน่นอน เจ้าหน้าที่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่มีความหนักใจในการใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. ซึ่งเป็นแกนนำหลักในการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราครั้งนี้ รวมถึงนายสุเทพ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะเข้าร่วมการชุมนุมตามกระแสข่าวเช่นกัน" โฆษกตร.กล่าว
'เทือก'โผล่ปรามเดินขบวน
เวลา 10.30 น.ที่อาคารทรู แปซิฟิค เพลส ถ.สุขุมวิท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ และอดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า เป็นปัญหาวิกฤตของประเทศเวลานี้ เพราะเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมากทั่วทุกภาค ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ ภาคอีสานและภาคเหนือที่ปลูกยางก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ยืนยันว่าตนจะอยู่เคียงข้างเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางแล้ว นายสมคิดมีท่าทีที่ดี พร้อมเตรียมแผนแก้ไขปัญหาแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่านายกฯจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ค่อยเชื่อในทีมงานที่แก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นทีมงานที่ไม่มีอำนาจจริงที่สามารถสั่งการแทนนายกฯได้ ดังนั้นหลังจากนี้ประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติจะต้องมีอำนาจเต็มที่ สั่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้
"วันนี้ รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาราคายางอย่างเป็นระบบ แต่จะรำมวยนานไม่ได้ ส่วนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางนัดชุมนุม ก็สามารถทำได้ แต่รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาจึงไม่จำเป็นต้องออกมาเดินขบวน เพราะได้ยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว และรัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ขอเสนอให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ทั้งรัฐบาล เกษตรกร ข้าราชการ ต้องนั่งทำงานเป็นทีมเดียวกัน กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาแล้วหารือกันให้ชัดเจน และต้องใช้สติให้มาก ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งจะชุมนุมเดินขบวน อีกฝ่ายประกาศจะใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี" นายสุเทพกล่าว
แนะใช้ยางจ่ายแทนเงินซื้อรถไฟ
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหานี้ควรใช้ทั้งสติและปัญญา โดยอาศัยปัญญาจากคนทุกฝ่ายร่วมหาทางแก้ปัญหา และใช้สติพิจารณาว่าข้อเสนออะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ วันนี้ต้องกำหนดราคาเลยว่าราคาเท่าไหร่ชาวสวนยางถึงจะอยู่ได้ แต่ราคา 33 บาทที่กระทรวงเกษตรฯตรึงราคาไว้นั้น ตนคิดว่าไม่พอ ใจตนโน้มเอียงไปที่ราคา 60 บาทตามที่ชาวสวนยางเสนอ หากเป็นไปตามที่ นายกฯสั่งให้หน่วยงานต่างๆ รายงานความต้องการใช้ยางให้รัฐบาลทราบ แสดงว่ารัฐบาลตั้งใจว่าจะซื้อยาง หากมีข้อสรุปว่ารัฐบาลจะซื้อยางที่ราคาเท่าไหร่แล้ว ก็สามารถลงไปซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงตามราคาที่กำหนดไว้ได้เลย และหลังจากซื้อยางมาก็ต้องกำหนดวิธีที่จะนำยางไปใช้ อาจเปลี่ยนสเป๊กการสร้างถนนให้ใช้ส่วนผสมของยาง ส่วนภาคธุรกิจเอกชน รัฐบาลนี้มีอำนาจพิเศษเพื่อแก้ปัญหาอยู่แล้ว อาจจะเรียกเอกชนมาหารือเพื่อร่วมแก้ปัญหาโดย ไม่ต้องรอขอความร่วมมือก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นที่รัฐบาลต้องหาตลาดส่งออกยางใหม่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลรับซื้อยางจากเกษตรกรแล้ว รัฐบาลอาจตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อขายยางทั้งในและนอกประเทศ อาจจะขายในตลาดเดิม หรือมีการขายในตลาดใหม่ ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าว หรืออาจจะแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่น อาทิ การที่ประเทศไทยซื้อหัวรถจักรหรือโบกี้รถไฟที่มีการลงนามไปแล้ว ซึ่งไทยอาจขอเปลี่ยนเป็นการจ่ายด้วยยางพาราแทนจ่ายเป็นเงินอย่างนี้ก็ต้องทำ เป็นต้น
'ถาวร'นำส.ส.ใต้โชว์วิสัยทัศน์
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำกปปส. พร้อมด้วยอดีตส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงแนวทางแก้ปัญหายางพาราแบบยั่งยืนว่า วันนี้เวลา 14.00 น.ตนจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงและความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมีความล่าช้า ไม่จริงใจจะเข้าถึงปัญหาและแล้งน้ำใจต่อชาวสวนยาง รวมถึงสำคัญผิดในแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ไม่ทั่วถึงและน้อยเกินไป 1,500 บาทต่อไร่ ซึ่งต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของสวนกับคนกรีดยาง ทราบว่าในส่วนนี้รัฐบาลจะจ่ายให้หมดภายในเดือนก.พ. 2559 อีกทั้งยังมีความไม่เข้าใจในรายละเอียด กลไกการดำเนินธุรกิจยางพารา ที่สำคัญ รัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคงเกินความจำเป็น จนไม่แยกแยะว่าปัญหานี้ก่อกวนทางการเมือง หรือความเดือดร้อนของชาวสวนยาง
นายถาวร กล่าวอีกว่า รัฐบาลแต่งตั้งรมว.เกษตรฯที่ขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องยาง เห็นได้จากพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ มอบหมายนางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯไปรับฟังข้อเสนอของเกษตรกรในพื้นที่ แต่กลับทนรับฟัง ไม่ได้ ลุกหนีจากห้องประชุม ถ้าตนเป็น นายกฯ จะปลดออกจากตำแหน่ง
ดักคอเพื่อนบิ๊กฉัตรนั่งผู้ว่าฯ กยท.
นายถาวร กล่าวต่อว่า ขอให้รัฐบาลเร่งแต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) โดยเฉพาะผู้ว่าฯ กยท. ทราบว่ามีชื่อ พล.อ. ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นผู้ว่าฯกยท. ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับพล.อ.ฉัตรชัย อาจพูดได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค. หรือไม่ หากพล.อ.ฉัตรเฉลิมได้เป็นผู้ว่าฯ กยท.จริง อาจไม่เหมาะสม เพราะคนที่ เรียนโรงเรียนนายร้อย อาจไม่ได้เรียนเรื่องการเกษตร และการบริหารจัดการ ซึ่งเวทีนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนมาทดลองงาน แต่เป็นเวทีแสดงจริง เพราะประชาชนเดือดร้อน ขอให้รัฐบาลยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น แก้ปัญหาโดยเร่งด่วนและยั่งยืน ร่วมกำหนดนโยบายกับต่างประเทศที่รวมกลุ่มเป็นองค์กรยางต่างๆอย่างจริงจังและเข้มข้น เพื่อให้ครบวงจร รัฐยังมีพ.ร.บ.ควบคุมยางพ.ศ.2542 เป็นเครื่องมือสำคัญจัดการกับพ่อค้าที่เอาเปรียบเกษตรกร ไม่ให้เอกชนกักตุนและกดราคาชาวสวนยาง ทั้งนี้พวกตนยื่นข้อเสนอเหล่านี้ให้รัฐบาลไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2558 แต่ตนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ
"รัฐบาลอย่ามองการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ถ้ารัฐบาลจะทำอะไร ควรบอกประชาชนด้วยความจริงใจ เชื่อว่าจะไม่ออกมาเดินขบวน เขากรีดยางได้ไม่กี่ร้อย แต่ต้องถูกจับไปนอนคุก มันไม่คุ้ม และอดีตส.ส.ในพื้นที่ก็ไม่มีเงินเดือนไปช่วยประกัน ไม่มีเกษตรกรคนไหน อยากออกมาเดินขบวนเพื่อตายประชดป่าช้าแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลต้องเป็นผู้ปกครองอย่างมีความเมตตาด้วย" นายถาวรกล่าว
เข้าทำเนียบยื่นร้อง'บิ๊กตู่'
ต่อมาเวลา 14.00 น.ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ทำเนียบรัฐบาล นายถาวรเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยระบุว่า ครึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถแต่งตั้งบอร์ดการยางได้ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รมต.ที่ดูแลรับผิดชอบควรตั้งผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะมาแก้ปัญหา และขอให้รัฐบาลนำเงินที่เหลือจากโครงการมูลภัณฑ์กันชนมารักษาเสถียรภาพการยาง โดยซื้อยางจากเกษตรกร เพื่อชี้นำราคาให้สูงขึ้น และเมื่อหมดช่วงกรีดยางที่จะทำให้ปริมาณยางลดลงรัฐบาลจึงค่อยบริหารตลาดและบริหารสต๊อกยาง เราขอแค่ความจริงใจและไม่ได้ตั้งเป้าว่าราคายางต้องได้ก.ก.ละ 60 บาท เพียงแต่เห็นว่าเกษตรการมีต้นทุนการผลิตยางอยู่ที่ก.ก.ละ 64 บาท จึงอยากให้กลับมาคิดดูว่าจะดูแลเกษตรกรอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯขอให้เกษตรกรรอก่อน เพราะรัฐบาลกำลังช่วยเหลือเกษตรกรเต็มที่ นายถาวรกล่าวว่า ชาวสวนยางรอได้ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ให้ 8 กระทรวงรับซื้อยาง เราจะไม่ตายประชดป่าช้า ขายยางถูกแล้วยังถูกจับอีก คงจะไม่ทำ เว้นแต่ว่าเหลือบ่ากว่าแรง รัฐบาลช่วยไม่ถูกทาง เสนออะไรก็ ไม่รับฟัง จึงจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกษตรกร เท่าที่ฟังชาวสวนยางมีวุฒิภาวะและจะไม่ก่อม็อบ ไม่เดินขบวนสร้างความวุ่นวาย รัฐบาลสบายใจได้
ทุ่งสงสลายตัว-นครฯจับเข่าคุย
ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จ.นคร ศรีธรรมราช นายกมล ขาวทอง ตัวแทนสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ ทองวิถี ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยางปาล์มน้ำมันแห่งประเทศ ไทย และคณะชาวสวนยางพารา แถลงเสนอแนวทางแก้ปัญหา จากนั้นยุติการชุมนุม หลังจากตำรวจไม่อนุญาตให้ใช้เสียงในที่สาธารณะ จากนั้นชาวสวนยางจะรอฟังการประชุมครม.ว่าจะนำปัญหาราคายางเข้าเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ และจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างไร
ที่สโมสรนายทหารชั้นสัญญาบัตร ค่ายวิภาวดีรังสิต มทบ.ที่ 45 สุราษฎร์ธานี กอ.รมน.โดยพ.อ.สมเกียรติ รัตนเจริญพรชัย รองผอ.กอ.รมน.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมสุราษฎร์ธานี จัดทำโครงการสร้างความเข้มแข็ง สู่การปฏิรูปสังคม โดยเชิญตัวแทนชาวสวนยาง 50 คน อาทิ นายกิติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมชาวเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน สุราษฎร์ ธานี นายเด่นดวง เดชมณี เลขาธิการสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และสมาชิกประมาณ 50 คน พูดคุยสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา เพื่อร่วมหาแนวทางออกในการขับเคลื่อนปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
ที่สนามกีฬาอบจ.นครศรีธรรมราช พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ ผบก.ภ.นครศรี ธรรมราช เปิดการฝึกอบรมตำรวจควบคุมฝูงชนตามหลักสากล เพิ่มทักษะการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีตำรวจ 170 นายเข้ารับการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเป็นเวลา 3 วัน
14 จว.ประชุมใหญ่ที่ตรัง 12 ม.ค.
นายอุดม คงสมคิด กรรมการสหกรณ์ชุมนุมสหกรณ์สวนยางพาราจ.สตูล กล่าวถึงเครือข่ายสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้จะประชุมกันที่จ.ตรัง วันที่ 12 ม.ค. ว่า ตัวแทนชาวสวนยางพาราจ.สตูล ประมาณ 20 คน จะไปร่วมประชุมกับตัวแทนชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ที่จ.ตรัง โดยจะทวงถามสัญญาการซื้อขายยางพาราของกยท.กับบริษัทไซโนแคม ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนขอให้รัฐบาลทำให้ชัดเจน เพราะเกษตรกรเดือดร้อน อีกประการผู้ว่าการยาง ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกทำไมยังไม่แต่งตั้งทำให้ ผู้ปฏิบัติไม่สามารถปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.การยางได้ นอกจากนี้โครงการใช้ยางทำถนน แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และโรงงานยางล้อภาคใต้ ตอนนี้ยังไม่คืบหน้า ส่วนโครงการสร้างความเข้มแข็งไร่ละ 1,500 บาทชดเชยราคายางตกต่ำให้เจ้าของสวนยาง รัฐใช้ข้อมูลของสำนักงานเกษตร และกยท.ซึ่งมันไม่ตรงกัน ทำให้ขับเคลื่อนล่าช้าเกษตรกรเดือดร้อน และประการสุดท้าย ราคาน้ำมันลงไปมากแต่สินค้าราคาสูงรัฐบาลไม่ยอมควบคุมราคาสินค้าให้ลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะไปประชุมร่วมกับเครือข่ายยาง 14 จังหวัดภาคใต้เพื่อทวงถามรัฐบาล
นายเจือ ราชสีห์ อดีตส.ส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ต้องการให้นายกฯใจเย็นๆ สักนิดและมองทุกสาขาอาชีพด้วยความรักและเป็นธรรม สภาวการณ์ขณะนี้เกษตรกรสวนยางยากลำบากมากที่สุดในรอบ 100 ปี อยากให้รัฐบาลใช้อำนาจ ม.44 จัดการกับกลุ่มพ่อค้า 5 เสือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่กุมกลไกตลาดยางพาราในประเทศมายาวนานให้เด็ดขาด เพราะบิดเบือนราคายางมาตลอด ส่งผลให้ชาวสวนยางเดือดร้อนแสนสาหัส
รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันที่ 11 ม.ค.แกนนำเครือข่ายชาวสวนยางมีกำหนดเข้าพบ ผู้ว่าฯ สงขลา เพื่อขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการชุมนุมที่ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ วันที่ 12 ม.ค. แต่ผู้ว่าฯไม่ให้พบสร้างความไม่พอใจให้กับชาวสวนยาง
หลายจังหวัดโค่นต้นยางขาย
วันเดียวกัน นายระเบียบ เพชรขาว อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 127 หมู่ที่ 8 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง เจ้าของสวนยาง กล่าวว่า เพิ่งกรีดมาประมาณ 15 ปี ยางยังมีสภาพสมบูรณ์ แต่ได้ตัดสินใจโค่นทิ้ง เนื่องจากขาดทุนเพราะราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ วันนี้โค่นทิ้ง 10 ไร่ ขายไม้ยางราคาไร่ละ 35,000 บาท ได้เงินมา 350,000 บาท เพื่อจะปลูกปาล์มน้ำมัน ปีหน้าตั้งใจโค่นอีกกว่า 10 ไร่ที่เหลือ เและยังมีเจ้าของสวนรายอื่นๆในหลายจังหวัดโค่นทิ้งเช่นกัน หลายรายขึ้นป้ายประกาศขายสวนยาง แต่ขายไม่ได้
นายสวาท จำปาสา แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา โดยราคายางก้อนถ้วยเหลือเพียงก.ก.ละ 11-13 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก หากการแก้ไขไม่เป็นที่น่าพอใจจะประสานกับแกนนำจังหวัดภาคอีสาน เพื่อหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป
นายประสิทธิ์ กาญจนา ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราอุบลราชธานี กล่าวว่า อุบลราชธานีมี 8 สหกรณ์ ทุกคนเดือดร้อนจากราคาตกลงอย่างมาก แต่แกนนำยังไม่ได้พูดคุยเรื่องออกมาชุมนุม ยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานก่อน การประกาศนำยางพารา มันสำปะหลัง หรือข้าว ไปแลกเครื่องบินกับประเทศรัสเซีย หรือแลกรถไฟกับจีน ชาวสวนยางต้องการให้รัฐบาลให้ความชัดเจน เพราะจะได้วางแผนบริหารจัดการอนาคตของตนเอง
'จตุพร'ร่วมเสนอทางแก้
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. กล่าวในรายการมองไกล ว่า เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินชดเชยราคายางตามที่ชาวสวนเรียกร้อง 60 บาทต่อก.ก. ก็ควรเริ่มต้นช่วยตัวเอง โดยวัสดุ อุปกรณ์ทุกอย่างในประเทศควรทำมาจากยางในส่วนที่ใช้ยางได้ ต่อไปนี้ต้องทำจากวัสดุที่มาจากยาง ถ้าตั้งหลักด้วยการยอมรับความจริงว่ายางเป็นปัญหา ควรเริ่มพูดคุย จับมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย วางยุทธศาสตร์ยางกันใหม่ เอายางเป็นวัสดุใช้ในประเทศเป็นหลัก จะทำให้ปริมาณเหลือน้อย ราคาจะขึ้นโดยอัตโนมัติ หากไม่วางแผนเป็นระบบเรื่องยางไม่มีวันจบ ไม่มีอนาคต การเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อให้ชาวสวนยางปลูกเสริมหรือทดแทนราคาตกต่ำ ทั้งปลูกสะตอ ลูกเนียง กล้วยหอมทอง และสตรอว์เบอร์รี่ ล้วนเป็นความคิดเลอะเทอะ เพราะต้องโค่นต้นยางทิ้งเพื่อปลูกใหม่ ถ้านำมาปลูกแทรกแสงแดดก็ไม่สามารถส่องถึง จึงไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ในสภาพที่ชาวสวนเดือดร้อนและยากลำบาก
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลอย่าเรียกร้องให้ประชาชนปรับตัวโดยที่รัฐไม่ปรับตัว ต้องเข้าใจและยอมรับความจริง ควรหารือกันและออกมาตรการให้ชัด ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่ควรพูดไม่มีหางเสียงหรือปรามาสประชาชนที่กำลังลำบาก ซึ่งอาจรักษาความเดือดร้อนได้เพียงบางเวลาเท่านั้น ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างเกรงใจคสช.และรัฐบาล แต่ความจริงคือ ประชาชนเดือดร้อนและลำบากกันจริง รัฐควรคิดและวางแผนแก้ปัญหาความยากจนกันทั้งระบบ หากพูดแต่ไม่ทำจะได้ผลบางเวลาแต่จะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้
'บิ๊กฉัตร'ก้นร้อน-ไล่เฉ่งขรก.
เมื่อเวลา 15.00 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนายางพารา ที่มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ที่ประชุมหาแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราอย่างครบวงจร หลังจาก ช่วงธ.ค.2558-ม.ค.2559 ราคาลดลงอย่างมาก จนเกษตรกรทยอยออกมาประท้วงรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวในที่ประชุมว่า ทำไมการบริหารจัดการโครงการ การขับเคลื่อน 15 มาตรการของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างยั่งยืนถึงล่าช้า โดยเฉพาะโครงการปล่อยกู้ผ่านธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. รวมถึงธนาคารพาณิชย์
"เรื่องยางพารา นายกฯโกรธมาก การแก้ปัญหาของกระทรวงเกษตรฯไม่มีความคืบหน้า เรื่องนี้ผมจะคาดโทษไว้ หากใครไม่เร่งมือทำงาน จะใช้ม.44 ย้ายพ้นกระทรวงภายใน 24 ช.ม. และการชดเชยเงิน 1,500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน ของโครงการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ผ่านมาไม่คืบหน้า งานล่าช้า ให้ย้ายคนที่ดูแลในเรื่องนี้เข้ามาทำงานที่กระทรวง มาทำงานใกล้ๆ ผม และรายงานความคืบหน้าทุกวัน และต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในม.ค.2559 หากการจ่ายเงิน 1,500 บาท/ไร่ ไม่คืบ ท่านวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดที่ผมแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมต้องรับผิดชอบ" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือเกษตรกร ต้องเร่งดำเนินการทุกด้าน ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง ระยะสั้นๆ เป็นไปได้หรือไม่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโมเดลของปาล์มน้ำมันมาใช้กำหนดราคา ส่วนการใช้ยางในประเทศ กระทรวงเกษตรฯและอีก 7 กระทรวงกำลังพิจารณาปริมาณความต้องการใช้และงบประมาณ เพื่อลดปัญหาราคาตกต่ำ แต่จะใช้ยางในสต๊อกของรัฐ หรือจะใช้ยางใหม่ของเกษตรกร ต้องเร่งหาข้อสรุป ทุกกระทรวงกำลังเร่งมือสรุปความต้องการใช้ยาง
"ข้อเสนอของเกษตรกรที่ต้องการให้ภาครัฐนำยางมาใช้ในประเทศมากขึ้น ผมและนายกฯกำลังเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่ถือเป็นหน่วยงานที่ใช้ยางมากที่สุดในการทำถนน ซึ่งวิจัยมาแล้วว่าการใช้ยางพารา 5% ของการทำถนน จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างถนนเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ขณะที่ความทนทานเพิ่มขึ้นเป็น 48% อายุยาวนาน 4-5 เท่า ประหยัดงบซ่อมบำรุง" รมว.เกษตรฯกล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า มีเกษตรกรหลายรายแสดงความไม่พอใจต่อราคาน้ำยางสดที่ขายได้ ว่าต่ำกว่าที่ตลาดกลางรับซื้อประมาณ 4-5 บาท ในเวลาและวันเดียวกัน ถือว่าเป็นการปรับตัวของราคาที่ผิดปกติ เรื่องนี้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ต้องเร่งออกสำรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้นว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ทำไมราคาที่เกษตรกรขายได้ถึงต่ำมาก นอกจากนี้นายกฯเรียกกองทุนหมู่บ้านเข้ามาหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการนำเงินกองทุนหมู่บ้านมาเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 3.79 หมื่นครัวเรือนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่วิธีการช่วยเหลือจะเป็นแบบไหน มหาดไทยจะหารือกับกระทรวงเกษตรฯอีกครั้งวันศุกร์ที่ 15 ม.ค.นี้
'บิ๊กตู่'สั่งอคส.ลุยซื้อแสนตัน
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีข่าวดีสำหรับชาวสวน คือนายกฯสั่งการองค์การคลังสินค้า(อคส.) ไปรับซื้อยางจากเกษตรกรจำนวน 1 แสนตัน ในราคาชี้นำตลาดหรือสูงกว่าตลาด เพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ 8 กระทรวง ที่ประเมินเบื้องต้นว่าจะ 8 กระทรวง จะใช้ยางปริมาณ 108,815 ตัน ส่วนรายละเอียดที่มีปัญหายังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ การหาตัวผู้ว่าการยาง(กยท.) ที่รับสมัครไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 ครั้ง คุณสมบัติไม่ผ่านการประเมิน ผู้ว่าการ กยท.ไม่จำเป็นต้องเก่งมาก ขอแค่สง่างามและไม่ทุจริตเป็นพอ นอกจากนี้ส่วนตัวกังวลอีก 2 เรื่องที่มอบกยท.ไปหารือ คือ 1.เรื่องอัตราค่าธรรมเนียมการส่งออก(เซส) จะลดลงตามราคายางพารา ที่ขณะนี้เก็บแบบขั้นบันไดโดยราคายางปัจจุบันเก็บที่อัตรา 1.4 บาท/ก.ก. เป็นไปได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เงินกองทุนเซสลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกองทุน และ 2.กรณีที่จะส่งเสริมให้ชาวสวนยางทำเกษตรผสมผสาน หรือโค่นยางทิ้ง 20% เพื่อลดปริมาณยางลงจากปัจจุบันที่ผลิตออกมาจำนวนมาก ในส่วนที่ยินดีโค่นรัฐบาลจ่ายค่าโค่นให้และเข้าส่งเสริมการทำอาชีพใหม่
นายเชาว์ ทรงอาวุธ รักษาการผู้ว่าการยาง (กยท.) เปิดเผยว่า การประชุมครม. วันที่ 12 ม.ค. กระทรวงเกษตรฯจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ยกเว้นผู้ว่าการ กทย. ที่อยู่ระหว่างสรรหาครั้งที่ 3 ประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธาน นายเสนีย์ จิตตเกษม อดีตผู้ว่าฯอุดรธานี นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย ตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายประสิทธิ์ หมีดเส็ด อดีตรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การ ทำสวนยาง นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ตัวแทนสถาบันเกษตรกร และนายสังเวิน ทวดห้อย ตัวแทนเกษตรกร
ด้านนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีโครงการมูลภัณฑ์กันชนของรัฐบาล ราคายางก็ถูกกดและลดลงต่อเนื่องตลอดปี 2558 ยาวนานมาถึงม.ค.2559 โดยหนักที่สุดราคาน้ำยางดิบเคยลดเหลือเพียง 18 บาท/ก.ก. เกษตรกรจึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยใช้พ.ร.บ.ควบคุมราคายาง พ.ศ.2542 ดูแลเกษตรกร
เทือกจี้รบ.ดันยาง 60 บ. 'บิ๊กตู่'ปัดคุย-ไม่มีเงิน สั่งอคส.ทุ่มซื้อแสนตัน ราคาสูงกว่าท้องตลาด ชาวสวนขอพบนายกฯ ปึ้งเย้ยไม่ต่างจำนำข้าว
'บิ๊กตู่'ประกาศรับซื้อยางทันทีหลัง ครม.วันนี้ ลั่นไม่คุย'สุเทพ-ปชป.'แก้ราคาตกต่ำ หวั่นถูกครหา ปธ.มูลนิธิ กปปส.ขอยืนข้างชาวสวนยาง ดันราคา 60 บาท/กก. แนะรัฐบาลใช้อำนาจพิเศษดึงเอกชนร่วมหาทางออก
มติชนออนไลน์ :
@'บิ๊กตู่'ลุยซื้อยางเริ่ม 12 ม.ค.
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 โดยมีตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า วันนี้เรื่องใหญ่เป็นเรื่องยาง จะบูรณาการให้ได้ทั้งระบบ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้นทางคือการรับซื้อยาง เข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน จากนั้นโรงงานจะนำผลผลิตมาให้ทุกกระทรวงจัดซื้อ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา หรือยางปูพื้นต่างๆ ได้สั่งการไปหมดแล้วและจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 มกราคม และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บ่ายวันที่ 12 มกราคม เป็นต้นไป จึงต้องการให้ทุกคนทราบว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรและอีกหลายๆเรื่อง ดังนั้น ต้องให้เกิดความสมดุล
@ เพิ่มส่วนผสมยางทำถนน
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลกำลังแก้ไขและเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต กำลังทำอยู่ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยาง หรือผลผลิตอื่นๆ แต่ปรากฏว่าถูกโจมตีตลอดเวลา ว่าทำไมแก้ไม่ได้สักที อยากถามว่าใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาล หากยังปล่อยโครงสร้างให้เป็นแบบเดิม ก็จะเจอแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้กำลังแก้ปัญหา กรณียางพาราขอให้สบายใจ กำลังเริ่มทั้งหมดเพื่อจะจัดกระบวนการขึ้นมา กระบวนการหนึ่งคือรัฐบาลรับซื้อยางในราคาที่สูงขึ้น อาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต ไม่นำออกไปขายที่อื่น ในเรื่องถนนที่ใช้ยางพารา ได้ทำที่ภาคใต้ไปแล้ว 37 เส้นทาง ใช้ยางเป็นส่วนผสมประมาณ 5% ต่อไปจะดูว่าทำอย่างไรให้ใช้ยางพารามากกว่า 5% เช่น อาจไปถึง 10%
"ส่วนที่มีข่าวในเว็บไซต์ต่างๆ ระบุว่ามีการผูกหัวคิวยางมะตอย ผมสั่งรื้อหมดแล้ว แต่จะใช่หรือเปล่าไม่รู้ แต่ต้องไปดู เพราะมันเป็นระบบที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เป็นระบบการค้าขายโดยเสรี ก็จะมีนายทุนเป็นผู้ประกอบการ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ใช่ประเทศเสรี แต่ต้องดูกฎหมายและหลักการของประเทศด้วย อย่าใช้ความรู้สึกอย่างเดียว เรื่องยางกำลังแก้วันนี้พรุ่งนี้ให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ลั่นไม่คุยทั้งสุเทพ-ปชป.
เมื่อถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แถลงไม่ยอมรับมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมกดดันให้พยุงราคาอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ช่างเขาสิ แล้วจะเอาอะไรมาอุ้ม เอาเงินที่ไหน เรากำลังจะสร้างระบบ ไม่เอาระบบใช่หรือไม่ จะให้อุ้มแบบนี้ทุกอันเลยใช่ไหม ไปหาเงินมาให้ผม ผมไม่ได้ใจร้าย ที่เข้ามาเพราะสงสารคนเหล่านี้ ไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเอาเป็นเอาตายกับเขา เขาก็อย่ามาเอาเป็นเอาตายกับผม"
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุเทพต้องการคุยเรื่องดังกล่าวกับนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "คุยทำไม เขามีหน่วยงานอยู่แล้ว ก็ไปคุยสิคุยกับผมเดี๋ยวก็มีปัญหาอีก จะหาว่าผมไม่คุยกับคนนี้ แต่ไปคุยกับคนนั้น อยากให้เข้าใจ และสื่ออย่าไปเขียนให้เกิดความวุ่นวาย"
เมื่อถามว่า จะหารือกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือไม่ เนื่องจากเคยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นายกฯกล่าวว่า "ไม่หารือกับใครทั้งนั้น เขาทำอะไรได้สำเร็จ ตอบมา ทำได้อย่างไรถามสิ เอาเงินที่ไหน ไปทำให้ราคายางสูงขึ้น ผมไม่แลกเปลี่ยน เพราะเป็นคนละวิธีการกับผม วันนี้ผลิตยางได้ปีละ 4.1 ล้านตัน ใช้จริงได้ 1.4 ล้านตัน ที่เหลือ 3 ล้านตันขายหมด แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชย 3 ล้านตัน เดี๋ยวผมให้ก็ได้ ซื้อไปสักกิโลกรัมละ 120-200 บาท แต่จะเอาไปให้ใคร สุดท้ายก็เน่าอยู่ในคลัง ให้เข้าใจบ้าง"
@ เตือนเคลื่อนไหวอย่าให้เดือดร้อน
ส่วนที่ระบุว่ารัฐบาลจะรับซื้อเองนั้น ได้กำหนดราคาแล้วหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ยัง แต่กำลังคุยกันอยู่ กำลังทำกันอยู่ เร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้" ถามต่อว่า ต้องการให้ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวรอก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ช่างเขาสิ อยากเคลื่อนไหวก็เคลื่อนไป ผมก็จะทำของผมไป อย่าสร้างความเดือดร้อนก็แล้วกัน ผมไม่อยากใช้อำนาจบาตรใหญ่กับใคร ให้รู้บ้าง ว่าอะไรคือกฎหมาย"
นายกฯยังกล่าวกรณีชาวสวนยางบางส่วนเริ่มโค่นต้นยางขายแล้ว นายกฯกล่าวว่า "เมื่อจำเป็นต้องโค่นก็โค่นไป ผมไม่ได้ให้รอ ก็แล้วแต่ แต่อย่าไปพูดอะไรให้มันวุ่นวาย"
@ 'บิ๊กป๊อก'สั่งผู้ว่าฯคุยชาวสวนยาง
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องยางพารา รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ทราบกันดีว่าได้มีมาตรการให้งาน 8 หน่วยงานรับซื้อยาง เช่น กระทรวงมหาดไทยหารือกันว่าให้นำยางมาทำสนามกีฬาท้องถิ่น ส่วนบางกลุ่มที่ยังเรียกร้องอยู่ก็จะใช้กลไกของจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและท้องถิ่นช่วยกันทำความเข้าใจ และต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ความต้องการขายมีมากกว่าความต้องการซื้อ และราคาตลาดโลกอยู่ที่ 30-40 บาท เท่านั้น
@ 'อาคม'ยันปีนี้คค.มียางกว่า 2 หมื่นตัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขการนำยางพารามาใช้งานตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าจะสามารถนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการดำเนินโครงการต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดได้มากกว่า 2 หมื่นตัน อย่างแน่นอน ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนจะสรุปอีกครั้งในวันที่ 12 มกราคม
"เดิมกระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนการใช้ยางพาราไว้ประมาณ 2 หมื่นตัน ในปี 2559 แต่เมื่อมีนโยบายจากรัฐบาลให้นำยางพารามาใช้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ในปี 2559-2560 ก็จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมให้มากขึ้นไปอีก" นายอาคมกล่าว
@ สธ.รับนโยบายช่วยสวนยาง
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในส่วน สธ.เบื้องต้นวางแผนดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1.เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดสำรวจและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต อาทิ ถุงมือผ่าตัด ถุงมือตรวจโรค สายสวนปัสสาวะ และถุงยางอนามัย นอกจากนี้จะได้จัดซื้อเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย 2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ดูแลด้านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ใช้น้ำยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้มากขึ้น 3.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ถุงมือทางการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน คลินิก เลือกซื้อและใช้ถุงมือทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางให้มากขึ้น
"จะเสนอรัฐบาลสนับสนุนด้านการลงทุน หรือมาตรการทางด้านภาษีให้แก่ผู้ประกอบการผลิตถุงมือทางการแพทย์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีเงินทุนน้อย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน" นพ.ปิยะสกลกล่าว
@ 'บิ๊กหนุ่ย'สั่งสพฐ.แปลงงบซื้อยาง
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการจะช่วยรับซื้อยางเพื่อนำไปใช้ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ศธ.ได้สอบถามความต้องการไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ และได้ส่งข้อมูลเบื้องต้นมาแล้ว โดยมีโรงเรียนที่ต้องการสร้างสนามฟุตซอลขนาดใหญ่ 42x25 เมตร และขนาดเล็ก 25x18 เมตร รวม 6,200 สนาม สนามตะกร้อ 6,900 สนาม สนามวอลเลย์บอล 7,400 สนาม และสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กอนุบาลอีก 12,000 สนาม จึงได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดูว่าจะไปเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนใดมาช่วยเหลือตรงนี้ได้บ้าง โดยขอไปว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีรภัทรประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมเรื่องการส่งเสริมการใช้ยางพารา และการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานในสวนยาง กล่าวว่า เตรียมเสนอข้อมูลการใช้ยางพาราทั้งหมดของหน่วยงานรัฐบาลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการประชุม ครม.ในวันที่ 12 มกราคม โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯตามงบประมาณปี 2559 จะเร่งใช้ยางพาราประมาณ 25,580.34 ตันยางแห้ง วงเงิน 9,763 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในกิจกรรมของกระทรวง อาทิ การปูพื้นคอกปศุสัตว์ ทำถนน ปูพื้นสระเลี้ยงปลา ใช้ในหอพักเจ้าหน้าที่ และในส่วนของงบประมาณปี 2560 ของกระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจะมีการใช้ยางพาราเพิ่มเติมจำนวน 11,025.35 ตันยางแห้ง
@ ก.เกษตรฯถกแกนนำยางพารา
ที่กระทรวงเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนายางพารา ซึ่งมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อหารือแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราอย่างครบวงจร ร่วมกับแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง อาทิ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ภาคอีสาน นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ นายทศพล ขวัญรอด ประธานเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย
@ สั่งอคส.ซื้อยางแสนตัน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวดีสำหรับชาวสวนยาง คือนายกฯสั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) เข้าไปรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรจำนวน 1 แสนตัน ในราคาชี้นำตลาดหรือสูงกว่าตลาด เพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ 8 กระทรวง ที่มีการประเมินเบื้องต้นว่าจะใช้ยางปริมาณ 108,815 ตัน ส่วนปัญหาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ การหาผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีการประกาศรับสมัครไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 ครั้งคุณสมบัติไม่ผ่าน ซึ่งเบื้องต้นอาจมีการผ่อนเกณฑ์ หรือลดสเปกของผู้สมัครลง เพื่อให้มีคนทำงานขับเคลื่อนนโยบายดูแลชาวสวนยางต่อไป ซึ่งผู้ว่าการ กยท.ไม่จำเป็นต้องเก่งมาก ขอแค่สง่างามและไม่ทุจริตเป็นพอ
@ ปัดราคายาง 60 บาท/กก.
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ กยท.ไปดำเนินเนินการ 2 เรื่องคือ 1.อัตราค่าธรรมเนียมในการส่งออก (เซส) ซึ่งจะลดลงตามราคายางพารา ที่ขณะนี้เก็บแบบขั้นบันได โดยราคายางในปัจจุบันเก็บที่อัตรา 1.4 บาท/กก. เป็นไปได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เงินกองทุนเซสลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกองทุน และ 2.กรณีที่จะส่งเสริมให้ชาวสวนยางทำเกษตรผสมผสาน หรือโค่นยางทิ้ง 20% เพื่อลดปริมาณยางพาราลงจากปัจจุบันที่ผลิตออกมาจำนวนมาก โดยหากชาวสวนยินดีโค่นทางรัฐบาลก็จะจ่ายค่าโค่นให้กับชาวสวนและส่งเสริมการทำอาชีพใหม่
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีตัวแทนเกษตรกรต้องการให้ผลักดันให้ราคายางที่ กก.ละ 60 บาท จะไม่นำมาหารือกันอีกต่อไป เพราะรัฐบาลไม่มีแผนจะสนับสนุนเรื่องนี้ ปัจจุบันต้องการเพียงราคายางที่ไม่ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ และค่อยไต่ระดับขึ้นจากมาตรการภาครัฐ 15 มาตรการ ที่ต้องมีการขับเคลื่อนให้เป็นผลทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด
@ 'ปึ้ง'ชี้รบ.ช่วยยางไม่ต่างจำนำข้าว
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า การที่ราคาผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ และการเข้าช่วยเหลือของรัฐไปพยุงราคาสินค้าเกษตร เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล และวิธีการที่ทุกๆ รัฐบาลทำกันมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำ การรับประกันราคา การให้เงินช่วยเหลือซื้อปัจจัยการผลิต หรือการให้เงินอุดหนุนต่อไร่ ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใดก็ต้องนำเงินภาษีหรือเงินงบประมาณแผ่นดินลงไปช่วยทั้งสิ้น ไม่เคยมีการกล่าวหาว่าทำให้รัฐเสียหาย และมักจะพบว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น หากไม่มีการกำกับดูแลให้ใกล้ชิด รอบคอบ และรัดกุมแล้ว ก็จะพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น การเอารัดเอาเปรียบในแต่ละขั้นตอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เผชิญกับเหตุการณ์ราคายางตกต่ำ และรัฐบาลได้ใช้วิธีการให้เงินอุดหนุนต่อไร่ให้ชาวสวนยางไปแล้ว แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ รัฐบาลก็ต้องหาวิธีการอื่นๆ มาช่วยเหลืออีก ก็ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการที่คนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และขบวนการตรวจสอบชุดต่างๆ ที่มักจะให้สัมภาษณ์กล่าวหาว่ากรณีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ สร้างความเสียหายต่องบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล
@ ตร.ข่าวเชิงลึกม็อบยาง
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษก ตร. กล่าวถึงการนัดรวมตัวชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 12 มกราคม ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค (บช.ภ.) 8 และ 9 เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) ติดตามหาข่าวเชิงลึกอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งได้พูดคุยกับแกนนำว่าให้รอการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลก่อน
ส่วนกรณีมีกระแสว่ากลุ่มชาวสวนยางชักชวนนายสุเทพมาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวด้วยนั้น โฆษก ตร.กล่าวว่า เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะนี้มี พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะกำกับอยู่ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ยังได้เตือนแกนนำผู้ชุมนุม อย่านำประเด็นทางการเมืองมาเชื่อมโยงกับการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ ทาง ตร.มั่นใจว่าการชุมนุมดังกล่าวจะไม่บานปลายกลายเป็นการชุมนุมใหญ่อย่างแน่นอน ขณะนี้
ด้านการข่าวยังไม่พบว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด เท่าที่ทราบเป็นเพียงการเรียกร้องอันเนื่องมาจากความเดือดร้อนในเรื่องราคายางของเกษตรกรเท่านั้น
@ 'สุเทพ'ลั่นอยู่ข้างชาวสวนยาง
ที่อาคาร ทรู แปซิฟิค เพลส ถนนสุขุมวิท นายสุเทพกล่าวว่า ปัญหายางพาราเป็นปัญหาวิกฤตหนึ่งของประเทศ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมากทั่วทุกภาคของประเทศ จึงขอยืนยันอยู่เคียงข้างเกษตรกรชาวสวนยาง และได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยนายสมคิดมีท่าทีที่ดีและเตรียมแผนในการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่เชื่อในทีมงาน เพราะเป็นทีมงานที่ไม่มีอำนาจจริงที่สามารถสั่งการแทนนายกฯได้
"วันนี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาราคายางอย่างเป็นระบบ แต่จะรำมวยนานไม่ได้ ส่วนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางนัดชุมนุม สามารถทำได้ แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องออกมาเดินขบวน เพราะได้ยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว และรัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และขอเสนอให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งจะชุมนุมเดินขบวน อีกฝ่ายก็ประกาศจะใช้กฎหมาย ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี เพราะการแก้ปัญหานี้ควรใช้ทั้งสติและปัญญา โดยอาศัยปัญญาจากคนทุกฝ่ายร่วมหาทางแก้ปัญหา และใช้สติพิจารณาว่าข้อเสนออะไรที่ทำได้อะไรที่ทำไม่ได้" นายสุเทพกล่าว
@ แนะใช้อำนาจพิเศษดึงเอกชนแก้
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า วันนี้ต้องกำหนดราคาให้ชัดว่า ควรเป็นเท่าไรชาวสวนยางจึงจะอยู่ได้ แต่ราคา 33 บาทต่อกก.ตามที่กระทรวงเกษตรฯตรึงไว้ คิดว่าคงไม่พอ ส่วนตัวโน้มเอียงไปที่ราคา 60 บาทตามที่ชาวสวนยางเสนอ นอกจากนี้ การที่นายกฯสั่งให้กระทรวงต่างๆ รายงานความต้องการใช้ยางพาราให้รัฐบาลทราบ แสดงว่ารัฐบาลตั้งใจจะซื้อยาง และหากมีข้อสรุปว่ารัฐบาลจะซื้อยางที่ราคาเท่าไร ก็สามารถลงไปซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงตามราคาที่กำหนดไว้ได้เลย หลังจากนั้น ต้องกำหนดวิธีนำยางพาราไปใช้ ส่วนภาคธุรกิจเอกชน รัฐบาลมีอำนาจพิเศษเพื่อแก้ปัญหาอยู่แล้ว โดยอาจจะเรียกเอกชนมาหารือเพื่อร่วมแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอขอความร่วมมือก็ได้
เมื่อถามว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องหาตลาดส่งออกยางพาราใหม่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลรับซื้อยางจากเกษตรกรแล้ว อาจจะตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อขายยางพาราทั้งในและนอกประเทศ อาจจะขายในตลาดเดิมหรือตลาดใหม่ จะเป็นหน้าที่ของคณะทำงานชุดดังกล่าว
@'ถาวร'ร่อนจม.ถึง'บิ๊กตู่'
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีต ส.ส.สงขลา พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ภาคใต้ ปชป. แถลงถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคายางแบบยั่งยืนว่า วันนี้ (11 ม.ค.) จะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพราะเท่าที่ติดตามการแก้ปัญหาเห็นว่ารัฐบาลมีความล่าช้า ไม่จริงใจที่จะเข้าถึงปัญหา รวมถึงสำคัญผิดในแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ไม่ทั่วถึงและน้อยเกินไป จำนวนชดเชย 1,500 บาท ต่อไร่ ต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของสวนกับคนกรีดยาง ซึ่งทราบว่าในส่วนนี้รัฐบาลจะจ่ายให้หมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อีกทั้งยังมีความไม่เข้าใจในรายละเอียด กลไกธุรกิจยางพารา ที่สำคัญรัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคงเกินความจำเป็น จนไม่แยกแยะว่า ปัญหานี้เป็นการก่อกวนทางการเมือง หรือความเดือดร้อนของชาวสวนยาง
@ สับรมว.เกษตรฯไม่รู้ปัญหา
นายถาวร กล่าวต่อว่า รัฐบาลแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯที่ขาดความรู้และความเข้าใจในกลไกเรื่องยาง จะเห็นได้จากการที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไปรับฟังข้อเสนอของเกษตรกรในพื้นที่ แต่กลับทนรับฟังไม่ได้ แล้วลุกหนีจากห้องประชุม ถ้าตนเป็นนายกฯจะปลดออกจากตำแหน่ง เพราะถือว่าเรื่องแค่นี้ยังไม่มีความจริงใจที่จะรับฟังปัญหาจากประชาชน
นายถาวร กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าฯกยท. ซึ่งทราบมาว่ามีชื่อของ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข มานั่งเป็นผู้ว่าฯกยท. ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ พล.อ.ฉัตรชัย ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะเข้าสู่ ครม.ในวันที่ 12 มกราคมหรือไม่ หาก พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้เป็นผู้ว่าฯกยท.จริง อาจจะไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้เรียนในเรื่องของการเกษตรและการบริหารจัดการ
@ เมืองนครชงทางออกเสนอผวจ.
บริเวณสนามหน้าศาลาประชาคม อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย 8 สถาบัน ยังคงปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม เพื่อหารือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยนายมนัส บุญพัฒน์ เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย กล่าวว่า เมื่อคืนได้ยุติเวทีปราศรัยในเวลา 22.00 น. ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุม และวันนี้จะไม่ให้เกินเวลา 11.00 น. ตามกรอบของกฎหมายการชุมนุม
"เราจะขอสรุปข้อเสนอแนะทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนเวลา 11.00 น. จากนั้นเวลา 14.00 น. จะไปยื่นข้อเสนอแนะต่อนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีตัวแทนของเกษตรกรรายย่อยไปยื่น" นายมนัสกล่าว และว่า ส่วนตนและนายทศพล ขวัญรอด แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย จะเดินทางไป กทม.เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการยางพาราอย่างเป็นระบบ
@ แกนนำเข้ากรุงขอพบนายกฯ
นายทศพล กล่าวว่า จะนำหนังสือข้อมูลเอกสารหลักฐานในเวทีการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 10 มกราคม ไปยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีโดยตรงในวันที่ 12 มกราคม เนื่องจากการนำเสนอข้อมูลบางประการมาเปิดเผย ทำให้ตัวแทนรัฐบาล (นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ) ไม่พอใจถึงขั้นลุกขึ้นหนีไป ซึ่งขาดมารยาท ไร้ความเมตตา เพราะการมาคุยกับคนเดือดร้อนต้องใช้ความเมตตา
นายทศพล กล่าวว่า วันนี้ต้องให้นายกฯได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะคนรอบข้างกำลังปกปิดความผิดตัวเอง ด้วยการสร้างม็อบชนม็อบ ทำให้นายกฯเข้าใจว่าเป็นม็อบกดดันรัฐบาล ทั้งที่เป็นการเรียกร้องให้รับทราบความเดือดร้อน เพราะยางแผ่นดิบที่ขายจริงๆ วันนี้เกษตรกรรายย่อยไม่ได้ทำแล้ว ไม่มีจะกินก็ขายเครื่องจักร ขายเฉพาะน้ำยางสดกับยางก้นถ้วย ที่สำคัญวันนี้รายย่อยต้องหยุดตัดยาง เนื่องจากราคายางถูก จะตายกันอยู่แล้ว เมื่อวานที่ อ.สิชล ก็ผูกคอตายให้เห็นแล้ว 1 ราย สาหัสจริงๆ
"ให้เราเข้าพบเถอะครับ นายกฯต้องให้เราพบ เราเชื่อท่าน เราอยากให้ท่านรู้จริงๆ เราไม่มีการเมืองไม่ว่าพรรคใดหนุน เราไม่มีข้าราชการหนุน เราไม่มีผลประโยชน์อะไร แต่เราเป็นตัวแทนคนเดือดร้อนจริงๆ ให้เราได้พูดเถอะครับ เราไม่ได้มาร้องขอเงิน แต่เรามาบอกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ความหวังของเรามีเพียงเท่านี้เอง"
@ สวนยางนครศรีฯทยอยกลับ
ส่วนกรณีนายกฯมอบหมายให้ 8 กระทรวงหลักรับซื้อยาง นายทศพลกล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง หากทำได้จริงนายกฯจะได้ใจจากชาวสวนยางรายย่อยไปอีกนาน ในเมื่อรัฐบาลมีอำนาจพิเศษสามารถนำมาใช้ได้เท่ากับช่วยชีวิตคน ที่สำคัญต้องรับฟังแกนนำเหล่านี้นำเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ไม่ได้หวังค่าตอบแทนแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในสนามหน้าศาลาประชาคม อ.ทุ่งสง ยังคงมีเกษตรกรรายย่อยปักหลักอยู่บางตา เนื่องจากบางส่วนต้องรีบกลับไปตัดยางในช่วงหลังเที่ยงคืน จึงทำให้บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา และเริ่มเก็บข้าวของเพื่อเตรียมตัวกลับ ขณะที่นายมนัส บุญพัฒน์ และนายทศพล ขวัญรอด เดินทางออกจากนครศรีธรรมราชเพื่อเข้า กทม.