- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 11 January 2016 09:59
- Hits: 8674
ปชป.ซัดรบ.แก้ยางอืด 'บิ๊กตู่'สั่ง 8 กระทรวงซื้อ ชงครม.ถกอุ้มชาวสวน แนวร่วมฯกู้ชีพขอ 5 ข้อ เจรจาเมืองคอนวงแตก ผช.รมต.ลุกหนีที่ประชุม
ปชป.โวยรัฐแก้ปัญหายางพาราช้าทำราคาดิ่งเหว ชี้เลิกเกรงใจบริษัทนำเข้าแอสฟัลต์ได้แล้ว คนกรีดยางเครียดผูกคอตาย
@ ทหาร-ตร.คุมเข้มชาวสวนยาง
เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะจำกัด หมู่ 10 ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง นายกิตติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี นายสมปราชญ์ วุฒิจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและโฆษกแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง พร้อมสมาชิกกว่า 20 คน ร่วมประชุมแนวทางปัญหาราคายางตกต่ำ และอ่านแถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง โดยทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 30 นาย ร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
นายสุนทร กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยแถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางคือ 1.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วน 2.ให้รัฐบาลยุติการขายยางพาราในสต๊อก 3.6 แสนตัน โดยประกาศให้เป็น Dead Stock และใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้ใช้ยางในประเทศต่อไป 3.ให้การยางแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องมือและกลไกในการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ โดยให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดการยาง) ทันที เมื่อเปิดประชุมคณะรัฐมนตรีและเร่งสรรหาผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยให้เร็วที่สุด
@ ยื่นเงื่อนไขกก.60-ขู่ม็อบใหญ่
นายสุนทรกล่าวว่า 4.มีมติสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับทุกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ในการต่อสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยางและเข้าร่วมประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ในการต่อสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยางและเข้าร่วมประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ที่ จ.ตรัง ในวันที่ 12 มกราคมนี้ พร้อมข้อเสนอเรียกร้องราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท หากรัฐบาลไม่ให้พร้อมจัดชุมนุมใหญ่ 5.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนการทำงานของที่ปรึกษารัฐมนตรี (นายอำนวย ปะติเส) และผู้ช่วยรัฐมนตรี (นางจินตนา ชัยยวรรณาการ) เพราะไม่มีความสามารถและสร้างความแตกแยกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
"ทางกลุ่มและผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นพ้องกันสนับสนุน นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้เคลื่อนไหวเรื่องราคายางพารา ซึ่งทางกลุ่มยังให้เกียรติรัฐบาลยังไม่มีการเคลื่อนไหวโดยการชุมนุม แต่รอมติการประชุมของแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มกราคมนี้ ที่ จ.ตรังก่อน ที่จะยื่นต่อรัฐบาล หลังจากนั้นจะรอดูท่าทีของรัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายาง หากไม่เป็นที่พอใจตามข้อเรียกร้อง คงจะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ต่อไป" นายสุนทรกล่าว และว่า ขอเรียกร้องไปยังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะเจ้าของพื้นที่และแกนนำ กปปส.ที่ชาวสวนยางภาคใต้ได้ไปร่วมชุมนุม ให้เข้ามาช่วยชาวสวนยางเรียกร้องราคายางพารา รวมถึงช่วยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เหมือนเช่นที่ชาวสวนยางเคยไปร่วมชุมนุมกับทาง กปปส.ที่ผ่านมา
@ เร่งหาตลาดเพิ่ม-ชดเชยส่วนต่าง
นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้อง อ.เวียงสระและพันธมิตร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จะไปร่วมกับกลุ่มแกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มแห่งประเทศไทยที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรอดูแนวทางการแก้ปัญหาของคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันอังคารที่ 12 มกราคมที่ จะถึงนี้ โดยขณะที่ราคายางตกต่ำรัฐจะอ้างว่าทั่วโลกประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะการควบคุมพ่อค้าคนกลางไม่ควรใช้กฎหมายมาควบคุมแต่ประชาชนที่มีความเดือดร้อน
"รัฐบาลต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง ผู้รับผิดชอบควรลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรโดยตรงแทนที่จะรับข้อมูลจากการรายงาน สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้นเพื่อให้นำไปสู่การแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างถาวรในระยะสั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเทขายยางในสต๊อกเพื่อระบายยางออก โดยรัฐจะต้องเร่งหาตลาดเพิ่มมากขึ้น พร้อมชดเชยส่วนต่างราคายางพาราในท้องตลาดด้วย ซึ่งการไปรวมตัวครั้งนี้ตั้งใจจะปักหลักรอฟังคำตอบ หากไม่มีความคืบหน้าทางแนวร่วมฯจะกำหนดทิศทางเคลื่อนไหวไปตามลำดับ" นายไพโรจน์กล่าว
@ แนะนายกฯลงมารับฟังปัญหา
นายสมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ กล่าวว่า ในวันที่ 12 มกราคม ที่ทางเครือข่ายฯจัดเวทีประชุมนั้น อยากให้ผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนนตรีลงมารับฟังโดยตรง ให้เข้าถึงเกษตรกร ไม่ใช่นั่งรอรายงานในห้อง การรับสารไปจะไม่เหมือนกับการมารับฟังโดยตรง การลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ ตรงนั้นเป็นโลกสวย ทุกอย่างจัดดูดีหมด อยากให้หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้บริหารประเทศมาร่วมประชุม อาจจะใช้เวลา 2-3 วัน ให้จบ ด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้วยกัน การประชุมในวันที่ 12 มกราคม มีการให้เกษตรกรได้เข้าร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ถือว่าเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นการนำเสนอและเป็นภาพสะท้อนให้ทางรัฐบาลได้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรจริงๆ อยากให้การประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะนำไปเป็นข้อสรุปในการให้ความช่วยเหลือ ที่มีผู้ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ทั้งส่วนราชการ ผู้บริหารระดับประเทศ และเครือข่ายเกษตรกร
"หลังการประชุมเสร็จจะมีมติและข้อเรียกร้องที่จะนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป ที่ทางรัฐบาลจะจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตั้งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย บอร์ดการยางประเทศไทย รวมทั้งเงินชดเชย 1,500 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นเงินสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ในช่วงฤดูร้อนที่ชาวสวนยางต้องปิดกรีด ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นถึงช้า ทุกอย่างช้าไปหมด ทั้งประเทศเพิ่งได้ไปกว่า 2,000 คนเท่านั้น ที่เหลือยังไม่มีคำตอบว่าจะได้เมื่อไหร่" นายสมเกียรติกล่าว
@ อดข้าวประท้วงเริ่มสัปดาห์หน้า
ขณะที่ นายศักร์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย จ.ตรัง กล่าวว่า ตนและเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ อ.รัษฎา 40-50 คน เดินทางไปร่วมเปิดเวที เรียกร้องการแก้ปัญหายางพารา และราคาสินค้า ณ อำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งการจัดเวทีดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติในส่วนของการอดอาหารประท้วงนั้น จะเริ่มในสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่กำหนดวัน ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลต่อข้อเรียกร้อง โดยจะเป็นผู้คัดเลือกคนที่จะมาอดอาหารเอง ไม่อยากให้เป็นภาระของคนอื่น โดยคนที่สนับสนุนมาลงชื่อให้การสนับสนุน และกลับบ้านได้ สำหรับสถานที่ จะขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ใช้สถานที่หน้าศาลากลางจังหวัด ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายทั้งหมด ทั้งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวก
@ ชาวสวนยางทยอยชุมนุมทุ่งสง
ที่สนามหน้าศาลาประชาคม อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ได้ทยอยเดินทางมาเตรียมความพร้อมตั้งในการชุมนุม โดยมีการตั้งเต็นท์ ทั้งสองฝั่งสนาม ขณะที่เวทีปราศรัยใช้รถกระบะตั้งเครื่องเสียง พร้อมขึ้นป้ายไวนิล รอบเวที ท่ามกลางการรักษาความสงบเรียบร้อยของ ฝ่ายทหาร ปกครอง ตชด.และตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ
นายมนัส บุญพัฒน์ เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวสวนยางกำลังทยอยเดินทางมา เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ห่างไกลจาก อ.ทุ่งสง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีผู้มาเข้าร่วมจำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่ได้จัดตั้ง แต่มาเพราะความเดือดร้อน มาเพื่อบอกกล่าว และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การตั้งเวทีเรียกร้องตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 3 ประการก่อนหน้านี้ คือ 1.ร่วมกันออกมาแสดงความเดือดร้อน เพื่อขอคำยืนยันแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล 2.ประสานงานชาวสวนยางในทุกจังหวัด ทุกภาค ทุกองค์กร ที่เดือดร้อนถ้วนหน้า 3.ร่วมแสดงตนของผู้เดือดร้อน อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างจริงจังเสียที เวทีนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ชาวสวนยางรายย่อยเดือดร้อนอย่างหนัก
@ ปธ.17 กลุ่มโรงงานรอความช่วยเหลือ
ด้านนายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 17 กลุ่มโรงงาน กล่าวว่า มาเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล จะสรุปข้อเรียกร้องและยื่นข้อเสนอต่อผู้ช่วย รมว.เกษตรฯ ซึ่งจะมีกี่ข้อนั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง ซึ่งข้อเสนอในครั้งนี้หากผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่สามารถช่วยเหลือได้ ก็ไม่ยื่น เพราะหากมาเพื่อรับเรื่องแต่ไม่แก้ปัญหา เมื่อยื่นไม่ได้ก็ไม่ยื่นจะรอการจนกว่าจะมีคำตอบให้การช่วยเหลือ จะนั่งจะนอนกันจนกว่าจะได้คำตอบ ไม่อยากให้เหมือนๆ ครั้งที่ผ่านมา
นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า ชาวสวนยางรายย่อยทั่วภาคใต้ เปิดเวทีเสวนาที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จะปักหลักค้างคืนจนกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นการเสวนาครั้งใหญ่ของประเทศของชาวสวนยางรายย่อย ไม่ได้จัดในนามองค์กร สมาคม ชมรม แต่อย่างใด เพื่อแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง มีหัวข้อเสวนา 'ราคายาง''การช่วยเหลือชาวสวนยาง 1,500 บาท/ไร่' พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้พิสูจน์ทราบว่าไม่มีประสิทธิภาพให้มีการพิจารณาตนเอง "เรื่องช่วยเหลือ 1,500 บาท/ไร่ มีเรื่องซับซ้อน และระเบียบมาก เหมือนกับการประวิงเวลาการจ่ายเงินของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ราคายางก็ต่ำลงสุด มีน้ำยางสด ราคา 18 บาท/กก. และราคา 20 บาท/กก. แต่ขณะเวลานั้นยางแผ่นดิบรมควัน ราคาอยู่ที่ 37 บาท ซึ่งความจริงค่าจัดการบริหาร จากน้ำยางสด เป็นยางแผ่นดิบรมควัน เพียง 6 บาท/กก. แต่นี้มีระยะห่างถึง 17 บาท ความจริงน้ำยางสดจะต้องเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30-31 บาท/กก.
@ ร้องเปลี่ยนตัวคนเกี่ยวข้องยาง
นายทศพลกล่าวว่า จากการดิ่งของราคายางอย่างไร้ทิศทาง ความจริง มี พ.ร.บ.ควบคุมยาง ดูแล กำกับ โดยมี รมว.เกษตรฯ และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้มีอำนาจใช้ โดย พ.ร.บ.ควบคุมยาง ออกมาถึง 17 ปี กลับไม่มีการนำมาบังคับใช้ ซึ่งกรณีนี้ รมว.เกษตรฯ และผู้ว่า กยท. จะต้องตอบคำถามให้ได้เพราะความไม่มีประสิทธิภาพ และบกพร่อง จนเป็นจังหวะและโอกาส ให้กับพ่อค้าบางกลุ่มทำราคายางต่อเกษตรกรให้ต่ำลง จึงมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวบุคคลทุกคนเกี่ยวกับการยาง
@ ผู้ช่วยรมต.รับฟังข้อเสนอ
ที่ห้องประชุม ที่ว่าการ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ รับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย โดยมีนายมนัส บุญพัฒน์ นายทศพล ขวัญรอด นายวัชรพล เพิ่ม นายศักดิ์สฤษฎ์ ศรีประศาสน์ และผู้นำเกษตรกรรายย่อยจาก 8 จังหวัดใต้ และตัวแทนเกษตรกรรายย่อยต่างนำเสนอข้อเรียกร้อง
นายมนัส กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.ขอแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางสดที่ ค่าดีอาร์ซี ซึ่งเป็นราคาของเกษตรกรรายย่อยโดยตรง โดยกำหนดเพดานต่ำสุดที่ ราคายางแผ่นรมควันของตลาดกลางยางพาราลบด้วยค่าการจัดการไม่เกิน 6 บาท 2.ขอให้ทบทวนปรับลดขั้นตอนระเบียบหลักเกณฑ์การเข้าถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชาวสวนยาง ให้เข้าถึงการช่วยเหลือโดยเร็วตามความเดือดร้อน 3.ขอให้พิจารณาการทำงานด้านนโยบาย และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐมนตรีและคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นตรงตามบริบทที่เป็นจริง 4.ขอให้กำหนดการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักรในการแปรรูปยางแผ่นดิบตามวิถีของชาวสวนยางแต่เดิมที่สามารถสต๊อกยางธรรมชาติเพื่อมีอำนาจในการต่อรองด้านราคาได้ และรัฐบาลต้องหาแหล่งทุนในการขายฝากหรือรับจำนำโดยให้สถาบันเกษตรกรที่ไม่ประกอบกิจการเพื่อทำธุรกิจหากำไรดูแลและรับรอง
@ วงแตก-เจรจาไม่ลงตัว
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากนั้นได้มีตัวแทนเกษตรกรขึ้นเสนอแนะข้อเดือดร้อนและต้องการการแก้ไขจากรัฐบาล จนกระทั่งนางจินตนา ต้องชี้แจงว่าการมาในครั้งนี้เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน และฟังแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อนำความขึ้นไปเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง 4 ข้อรับปากว่าแก้ไขได้เพียงข้อ 2 เท่านั้นเพราะทางรัฐบาลได้เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ต่อมาได้มีตัวแทนเกษตรกรลุกขึ้นชี้แจงและต่อว่าการทำงานของรัฐบาล จนทำให้นางจินตนา ไม่พอใจ พร้อมบอกหากยังพูดจาเสียดสีอยู่อีกจะไม่ฟังเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะกลับทันที จนกระทั่งนายทศพล ได้ลุกขึ้นอ่านข้อเรียกร้องโดยข้อสุดท้ายขอให้รัฐบาลเปิดสัญญาการซื้อขายยางจำนวน 1.6 หมื่นตัน กับบริษัทชิโนแคม โดยขายในนามของ 5 เสือ จากนั้นนางจินตนาจึงลุกขึ้นออกจากที่ประชุม ส่งผลให้การเข้าประชุมรับฟังขอเสนอแนะปัญหายางเป็นอันต้องจบลง
@ ปัดแอบขายยางให้'ชิโนแคม'
นางจินตนากล่าวว่า รับทุกข้อเสนอแต่ต้องไปพิจารณาว่าอันใดจะแก้ไขอย่างไร เฉพาะเรื่องช่วยเหลือ 1,500 บาท รัฐบาลตั้งใจช่วยเหลือโดยให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคมนี้ ส่วนข้อเสนออื่นๆ ต้องไปพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งว่าจะแก้อย่างไร
ส่วนเรื่องกล่าวหา กยท.ได้แอบทำสัญญาขายยางกับ บ.ชิโนแคม นางจินตนากล่าวว่า ไม่ได้แอบขายความจริงแล้วเป็นยางของเกษตรกรที่อยู่ในสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะต้องส่งออกในนามบริษัทส่งออกที่มีชื่อในรัฐบาล โดยนำยางเหล่านั้นไปรมควัน อัดแท่งประทับยี่ห้อตามชื่อของบริษัทดังกล่าวเท่านั้นเอง แต่จะให้มาขอเปิดสัญญาการซื้อขายยาง เป็นเอกสารของทางราชการไม่สามารถเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตามกระแสข่าวที่จะมีการนำยาง 400 ตัน ที่ จ.ตรัง มาขายด้วยนั้นไม่เป็นความจริง ยังยืนยันว่าทุกอย่างโปร่งใส มั่นใจว่าทุกอย่างจะเดินไปได้ ไม่รู้สึกหนักใจ และการออกมาจากห้องเพราะไม่อยากคุยด้วย ไม่ชอบการต่อว่า อยากได้อะไรก็บอกแต่อย่ามาแขวะกัน ปัญหามีต้องแก้ได้ แต่ต้องคุยกัน ส่วนม็อบวันที่ 12 มกราคม จะเป็นม็อบจัดตั้งและมีการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับตนหรือไม่นั้นไม่ทราบ
@ 'ชวน'แนะปลูกไม้อื่นแซมสวนยาง
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล ว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการรวมตัวกันของสหกรณ์ต่างๆ 16 แห่งของจังหวัดสตูลในการเพิ่มมูลค่ายางพาราในครั้งนี้จนสำเร็จในก้าวหนึ่งไปได้ และเชื่อว่ารัฐบาลพร้อมจะยินดีสนับสนุนหากเกษตรกรมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งฝ่าวิกฤตยางพารานี้ไปได้ และขอให้กำลังใจเกษตรกรชาวสวนยางทุกคน และเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวสวนยางต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับปัญหาราคายางที่ตกต่ำ ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองปลูกไม้ชนิดอื่นแซมสวนยาง เพื่อเป็นรายได้เสริม ไม่ว่าจะเป็น ต้นสะตอ ต้นลูกเนียง มังคุด หรือไม้ชนิดอื่น เพราะราคายางพาราที่ตกต่ำที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกที่แก้ยาก เชื่อว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขแล้ว แต่หากเกษตรกรไม่ปรับตัวเองจะอยู่อย่างยากลำบาก และได้มีโอกาสได้พบกับ รมว.เกษตรฯ โดยได้ฝากให้ดูแลเกษตรกรภาคใต้เป็นกรณีพิเศษแล้วว่าเกษตรกรที่ภาคใต้ไม่เหมือนกับภาคอื่นที่ปลูกยาง เป็นอาชีพเสริม โดยภาคใต้จะปลูกยางอย่างเดียวเป็นอาชีพหลัก เมื่อยางราคาตกจึงประสบปัญหาตามๆ กัน
@ คนเพาะพันธุ์กล้ายางเดือดร้อน
นายสืบศักดิ์ จินดาพล ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนโคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้ส่งผลกระทบต่อ เกษตรกรที่มีอาชีพเพาะพันธุ์ต้นกล้ายางพาราจำหน่ายกว่า 1,000 ครัวเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง ซึ่งมีการเพาะพันธุ์กล้ายางพาราจำหน่ายเป็นอาชีพ กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หนี้สินรุงรัง หลังจากยางพารา ราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศเลิกปลูกยางพารา ต้นกล้าที่เพาะพันธุ์ไว้เพื่อจำหน่ายราคาตกต่ำ จนขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนสั่งซื้อ ต้องแบกภาระต้นทุนดูแลรักษาต่อไป ไม่มีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือ
นายสุชัย ศุภนาม เกษตรกรเพาะพันธุ์ยางพารา ต.โคกกลอย กล่าวว่า แม้ราคาต้นพันธุ์ยางพาราตกต่ำเหลือเพียงต้นละ 2-3 บาท ขณะที่ต้นทุนสูงถึงต้นละ 3-4 บาท ก็ยังไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะไม่มีคนซื้อ เพราะปัจจุบันไม่มีคนปลูกยางพาราอีกเลย ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ในอนาคตคงต้องเลิกทำ และเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น แต่สาเหตุที่ยังเลิกกิจการไม่ได้ตอนนี้ เพราะยังมีต้นกล้ายางพาราที่จะต้องดูแลต่อไปอีก เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด จะได้มีเงินไปใช้หนี้ธนาคารที่กู้ยืมมาลงทุน แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะขายได้
@ ร้องบิ๊กตู่ใช้ม.44 ระบายสต๊อก
นายสาย อิ่นคำ คณะกรรมการสมาคมยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือแก้ปัญหายาง ในวันที่ 12 มกราคม นั้น คงเป็นส่วนของการชุมนุมในพื้นที่ภาคใต้ สำหรับภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งภาคอื่นๆ ขณะนี้ได้ประสานงานกันส่งตัวแทนเกษตรกรภาคละ 3-4 คน เดินทางเข้าประชุมด่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 11 มกราคม นี้ เพื่อวัตถุประสงค์หลักประการเดียว คือ ร้องขอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจมาตรา 44 ขอให้หน่วยงานของรัฐในระดับประเทศ เข้ามาช่วยบริหารจัดการดำเนินการระบายสต๊อกยาง 3.5 แสนตัน ที่ค้างสต๊อกอยู่ในขณะนี้ออกไปทำประโยชน์ต่างๆ เช่น ถนน สนามกีฬา เครื่องมือเครื่องใช้ ที่สามารถนำยางพาราไปเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเมื่อระบายสต๊อกยางดังกล่าวได้แล้ว กลไกทางการตลาดของยางพาราจะดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมาตรการอื่นที่ดำเนินการไม่เห็นผล
@'สมคิด'ชี้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ความเดือดร้อนพี่น้องชาวสวนยางทางภาคใต้ก็ไม่แตกต่างกันมากกับทางอีสาน เพียงแต่ทางใต้มี 11 ล้านไร่ ทางอีสานมีเกือบ 4 ล้านไร่ หากเป็นแบบนี้ต่อไปก็ยิ่งทวีความเดือดร้อนมากขึ้น สำหรับชาวนาแล้ว ก็สาหัสยิ่งกว่า ซึ่งตนยังไม่เห็นรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือพี่น้องชาวนาแต่อย่างใด ขายข้าวในราคาที่ถูกกดจากโรงสีแถมผลผลิตลดลงเนื่องจากฝนน้อย ยังไม่เห็นมาตรการช่วยชาวนาที่ชัดเจนเลย แต่พ่อค้าส่งออกก็ปลื้มใจกับแชมป์ส่งออกบนคราบน้ำตาชาวนา มันสำปะหลังที่หน้าโรงงานเขียนไว้รับซื้อ กิโลกรัมละ 1.80 บาท พอขายจริงได้แค่ 1.65-1.70 บาท ไม่มีหน่วยงานไหนสนใจไยดี รัฐบาลจะปล่อยไปอย่างนี้หรือ
"ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่า ทุกหย่อมหญ้าของพี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนจริงๆ มันสุดจะทนแล้ว ท่านต้องรับฟังจริงๆ อย่าฟังแต่ตัวเลขสวยหรูของคนบางกลุ่ม และขณะนี้ทางอีสานกำลังจะผจญกับความแห้งแล้ง รัฐบาลควรเตรียมตัวได้แล้ว เพราะโครงการที่ท่านขุดลอกคลองยังไม่เห็นผลอะไร แนวทางที่หาแหล่งน้ำใหญ่ๆ ยังไม่ปรากฏให้เห็น" นายสมคิดกล่าว
@ ยันเคลื่อนไหวยางไม่เกี่ยวการเมือง
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำว่า เป็นเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งตอนนี้ยางราคากิโลกรัมละ 25 บาท เมื่อแบ่งกับคนกรีดยาง เจ้าของสวนจะได้แค่กิโลกรัมละ 10 บาท และการเคลื่อนไหวของชาวสวนยาง ก็ไม่ใช่เพราะนักการเมืองมายุยง และเรื่องราคายางก็ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นปัญหาปากท้องกระทบต่อคนไทยที่ประกอบอาชีพสวนยาง เป็นเพราะประชาชนขาดที่พึ่ง เมื่อไม่สามารถพึ่งระบบราชการได้ ก็ต้องมาหาอดีต ส.ส. เพื่อปรึกษาหารือ แก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออก
"อยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีที่แข็งกร้าวของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และอีกหลายคนที่ออกมาข่มขู่ชาวสวนยางว่า จะคุ้มกันหรือไม่ เพราะชาวสวนยางเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลนี้ และรัฐบาลกำลังทำลายฐานเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลนี้ ทั้งที่จริงๆ มีมาตรการที่แก้ไขได้ ถ้ารัฐบาลได้ฟังผู้ที่รอบรู้เรื่องยางที่แท้จริงหรือไม่ เพราะถ้าฟังพ่อค้าอย่างเดียวก็ไม่มีทางแก้ได้" นายวิรัตน์กล่าว
เมื่อถามว่า จะร่วมเคลื่อนไหวกับชาวสวนยางหรือไม่ นายวิรัตน์กล่าวว่า ไม่ร่วมเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต้องไม่ตัดสิทธิอดีต ส.ส.ในการชี้แนะชี้แจงต่อชาวสวน เพราะถ้าไม่เอาประชาชนซึ่งเป็นกำลังหลักของรัฐบาล แล้วรัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร
@ นัดถกตัวแทนเกษตรกร 11 ม.ค.
นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 11 มกราคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญทั้งผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางจาก 12 ภาค ทั่วประเทศ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย นายกสมาคมยางพาราไทย ที่ปรึกษาน้ำยางข้นไทย รวมทั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนคณะทำงานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 15 คน เพื่อมาหารือร่วมกัน โดยในส่วนของผู้ประกอบการนั้นจะหารือถึงการให้ความร่วมมือภาครัฐซื้อยางไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นอยู่ เพื่อหยุดการไหลของราคายางที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางในต่างจังหวัดเข้าใจว่า มีการส่งเจ้าหน้าที่ รวมทั้งนางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและรับฟังปัญหาเกษตรกรที่ จ.นครศรีธรรมราช
"ราคายางที่ลดลงทุกวันเป็นเรื่องผิดปกติ จำเป็นต้องเร่งหามาตรการภายในเพื่อต้านมาตรการภายนอก หยุดยั้งไม่ให้กระทบยาว จนถึงเดือนมีนาคม หรือก่อนช่วงปิดกรีด ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกนี้ ผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดรวม 1 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 4 แสนตัน ซึ่งรัฐบาลต้องกำหนดแผนระยะสั้นในการช่วงเหลือยางกลุ่มนี้ก่อน" นายอำนวยกล่าว
@ ชี้ราคายางเป็นเรื่องกลไกตลาด
นายอำนวยกล่าวว่า ส่วน กยท. นั้นหารือถึงเรื่องของสวัสดิการเเละการช่วยเหลือเกษตรในระยะยาวเนื่องจาก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มีกลไกสำหรับการดำเนินงานในปี 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2518 เป็นต้นมา จากบทเฉพาะกาลจะเข้าสู่บทถาวรต่อไป ซึ่งในกฎหมายกำหนดให้มีกองทุนพัฒนายางพารา (กองทุนระยะยาว) มีเงินหมุนเวียนซึ่งได้จากการเก็บเงินเซส ประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท/ปี เพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์ 6 ด้าน ได้แก่ 1)การบริหารงาน 2)สงเคราะห์เกษตรกรปลูกยางทดแทน 3)การใช้ยางภายในประเทศ 4)สนับสนุนองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง 5)สวัสดิการเกษตรกร 6)การวิจัยและพัฒนายางพารา ทั้งนี้ครม.ได้เห็นชอบระเบียบหลักแล้ว ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงแก่เกษตรกรนอกจากเงินสวัสดิการที่จะได้รับ 7% เปิดโอกาสให้องค์กรเกษตรกรและภาครัฐมีส่วนร่วมในการบริหารสวัสดิการร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาองค์กร สร้างความเข้มแข็งต่อระบบบริหารงาน
นายไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล รองเลขาธิการ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ที่ภาครัฐขอให้ผู้ประกอบการซื้อยางไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นอยู่นั้น คงต้องดูกลไกตลาดด้วย เพราะภาคเอกชนควบคุมไม่ได้ เช่น ตลาดล่วงหน้าต่างประเทศที่ซื้อยางเป็นหมื่นถึงล้านตัน แล้วตลาดล่วงหน้าต่างประเทศล้วนอิงกับปัจจัยราคาน้ำมันโลก และราคาหุ้นที่ตกลง โดยราคายางตอนนี้เป็นเรื่องกลไกตลาด สมาคมเองก็พร้อมจะซื้อ ถ้าขายได้เราก็พร้อมซื้อแน่นอน
@ รบ.ใช้ 16 มาตรการแก้ยาง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหายาง และได้ติดตามปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกันกับตัวแทนทุกฝ่ายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยางตกลงกันจะซื้อยางไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท โดยจะยังไม่พูดถึงข้อกฎหมาย นอกจากนี้รัฐบาลยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม และเชื่อว่านี่เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน แม้อาจไม่ทำให้เป็นที่ถูกใจทั้งหมดได้ แต่ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาผ่อนจากหนักเป็นเบาได้ ขณะเดียวกัน จากวันนี้ถึงวันที่ปิดกรีดยางคือ อีก 3 เดือน ประมาณการกันว่า จะมียางออกสู่ตลาดประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งกลุ่มที่ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่าจะแบ่งสันปันส่วนกันซื้อยางให้หมด ไม่ให้มียางตกค้าง นอกจากนี้ ยังมีการแก้ปัญหาโดยใช้ 16 มาตรการของรัฐบาลที่เคยประกาศไว้เพื่อดำเนินต่อไป และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเรื่องนี้ไปชี้แจงให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับทราบ
@'ไก่อู'หวังคุยม็อบยางไม่ใช้ยาแรง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า การยกราคาให้สูงตามที่มีการเรียกร้องกันนั้นยาก เพราะทุกคนทราบดีว่า ราคายางโลกตก ปริมาณล้นตลาด จึงอยากให้คุยด้วยเหตุผล ไม่อยากเห็นการกดดันรัฐบาลแล้วทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันการชุมนุมกระทำไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่อยากพูดเรื่องกฎหมาย เพราะมันเป็นยาแรง และเกษตรกรกำลังเดือดร้อนอยู่ ถ้าใช้ยาแรงเกรงว่าจะบั่นทอนความรู้สึก แต่ยืนยันว่าไม่อยากให้มีการชุมนุม กดดัน แต่ถ้าจะรวมตัวกันประชุมเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมด แล้วรายงานมาให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก็ยินดีรับฟัง แต่หากจะปิดถนน เดินขบวน หรือเข้ากรุงเทพฯ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง นอกจากนี้ เรื่องบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จ นายกฯได้สั่งการเร่งรัดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้ ซึ่งหากวันที่ 12 มกราคม เข้า ครม.ไม่ทัน ก็นำเข้าสัปดาห์หน้าแทน เชื่อว่าถ้าบอร์ดเรียบร้อยแล้ว กลไกทั้งหลายจะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
"หลังจากตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม จะมีส่วนต่างๆ ติดตามตรวจสอบว่า มีผู้รับซื้อคนใดไม่ปฏิบัติตามกติกาหรือไม่ ซึ่งถ้ามี เราจะติดต่อเป็นรายบุคคลโดยการตักเตือน และถ้ายังประพฤติอยู่ เราก็ต้องว่ากันด้วยกฎหมาย แต่เราจะยังไม่พูดถึงมาตรา 44 เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ คือ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 และ กฎหมายควบคุมสินค้า เป็นต้น ดังนั้น จึงเชื่อว่าอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ราคายางตกไปกว่านี้" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ "บิ๊กตู่"สั่ง 8 กระทรวงรับซื้อยาง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นอกจากนั้น นายกฯมีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะต้องรวบรวมความต้องการไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะช่วยรับซื้อยางเพื่อนำไปใช้ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงอย่างไรบ้าง จากนั้นให้ส่งสำเนามายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรวบรวมภายในเวลา 12.00 น. วันที่ 11 มกราคมนี้ โดยนายกฯให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณตัวเองในการรับซื้อ และมีความเป็นไปได้ว่าจะรายงานเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 12 มกราคมนี้ทันที ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และวิงวอนว่าอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล เพราะการกดดันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากคุยด้วยเหตุผลยอมรับว่าราคาไปแค่ไหนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้
เมื่อถามว่า อะไรเป็นหลักประกันว่าราคายางจะไม่ตกลงมากไปกว่านี้ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ความจริงใจที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาทุกเรื่อง เกษตรกรทุกกลุ่มรัฐบาลรับฟังปัญหามาหมด อะไรที่เป็นปัญหาของเกษตรกร รัฐบาลพยายามลงไปให้ถึงต้นตอจริงๆ รับฟังว่า จะทำได้แค่ไหน เพราะหากใช้การอุดหนุน ก็จะแค่ทำให้เกษตรพึงพอใจแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง
@ "ถาวร"ยันไม่เลิกประชุม 12 ม.ค.
นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่โฆษกรัฐบาลออกมาระบุว่านายกฯสั่ง 8 กระทรวงควักงบรับซื้อยาง ว่า ก็ดี ทำให้สบายใจขึ้น เพราะต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาก็ต้องขอบคุณ แต่การนัดประชุมในวันที่ 12 มกราคมนี้นั้น ก็ยังมีการประชุมเหมือนเดิม ไม่มีการยกเลิก เพราะเป็นการประชุมเพื่อระดมความเห็นเพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยอาจมีวิธีการที่ดีกว่า ถูกต้องกว่าก็ได้
ออกงาน - นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ เดินชมกระบวนการผลิตในระหว่างเป็นประธานเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราแห่งแรกของไทย เกิดจากการรวมกลุ่มของสหกรณ์ 16 แห่งใน จ.สตูล เมื่อวันที่ 10 มกราคม