- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 11 January 2016 09:27
- Hits: 6448
ดึง'เทือก' นำม็อบยางภาคใต้ แถลง 5 ข้อจี้รบ. คำขาดต้อง 60 บ. ตู่สั่ง-8กระทรวง เร่งหางบฯรับซื้อ
มติชาวสวนยางใต้ ส่งเทียบเชิญ'สุเทพ เทือก' มานำม็อบ เพื่อตอบแทนที่เคยส่งคนไปชุมนุมร่วมกลุ่มกปปส. ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ ถกร่วมกลุ่มม็อบที่ทุ่งสงแต่ล่ม แถมถูกโห่ไล่จนต้องรีบเผ่นออกนอกพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้านชี้ทหารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ควรขอคำปรึกษาจากมืออาชีพ พิษราคายางตกต่ำหนุ่มเมืองคอนผูกคอฆ่าตัว 'บิ๊กตู่'สั่ง 8 กระทรวงหามาตรการช่วยรับซื้อยางโดยใช้งบฯ ของแต่ละแห่งเอง พร้อมส่งข้อมูลให้ รมว.เกษตรฯโดยด่วน
วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9175 ข่าวสดรายวัน
เชิญเทือก - แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี อ่านแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมเรียกร้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมานำม็อบ เหมือนครั้งที่ชาวสวนยางเคยส่งคนไปร่วมชุมนุมกับ กปปส.
รบ.ยันเร่งช่วยยางพารา
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหายาง และติดตามปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ประชุมกันกับตัวแทนทุกฝ่ายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน แม้อาจไม่ทำให้เป็นที่ถูกใจทั้งหมด แต่ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ข้อยุติในวันนั้นคือ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยางตกลงกันจะซื้อยางไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท โดยจะยังไม่พูดถึงข้อกฎหมาย และจะยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จากวันนี้ถึงวันที่ปิดกรีดยางคือ อีก 3 เดือน ประมาณการกันว่าจะมียางออกสู่ตลาดประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งกลุ่มที่ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่าจะแบ่งสันปันส่วนกันซื้อยางให้หมด ไม่ให้มียางตกค้าง นอกจากนี้ ในส่วนของ 16 มาตรการของรัฐบาลชุดนี้จะยังดำเนินต่อไป แล้วเรามั่นใจว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องนี้ไปชี้แจงให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับทราบ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า การยกราคาให้สูงตามที่มีการเรียกร้องกันนั้นยาก เพราะทุกคนทราบดีว่าราคายางโลกปริมาณล้นตลาด จึงอยากให้คุยด้วยเหตุผล ไม่อยากเห็นการกดดันรัฐบาลแล้วทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันการชุมนุมกระทำไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่อยากพูดเรื่องกฎหมายเพราะมันเป็นยาแรง เกษตรกรกำลังเดือดร้อนอยู่ จะบั่นทอนความรู้สึกเขา แต่เรียนไว้ว่าไม่อยากให้ทำเลย หากจะรวมกันประชุมเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหลายแล้วรายงานมาให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเรายินดีรับฟัง แต่หากจะปิดถนน เดินขบวนมากรุงเทพฯ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง
บิ๊กตู่สั่ง 8 กระทรวงช่วย
"สำหรับความคืบหน้าที่นายกฯ ได้ติดตามและฝากคือ เรื่องบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จ นายกฯ สั่งการเร่งรัดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอาเข้าที่ประชุมครม.ให้ได้ หากวันที่ 12 ม.ค.ไม่ทันก็นำเข้าสัปดาห์หน้า ซึ่งถ้าบอร์ดเรียบร้อยกลไกทั้งหลายจะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หลังจากตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค.จะมีส่วนต่างๆ ไปไล่ตรวจสอบว่ามีผู้รับซื้อคนใดไม่ปฏิบัติตามกติกาหรือไม่ ถ้ามีจะติดต่อเป็นรายบุคคลเป็นการเตือน ถ้ายังประพฤติอยู่ต้องว่ากันด้วยกฎหมาย แต่จะยังไม่พูดถึงมาตรา 44 เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ คือพ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 กับกฎหมายควบคุมสินค้า ทั้งนี้เชื่อว่าอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ราคายางตกไปกว่านี้" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ มีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คมนาคม มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข กลาโหม อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นจะต้องรวบรวมความต้องการว่าจะช่วยรับซื้อยางในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงอย่างไร เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วส่งสำเนามาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมภายในเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ม.ค.นี้ โดยให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณตัวเองในการรับซื้อ และมีความเป็นไปได้ว่าจะรายงานเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้เลย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และวิงวอนว่าอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล เพราะการกดไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากคุยด้วยเหตุผลยอมรับว่าราคาไปแค่ไหนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้
ปชป.ฮึ่มอย่าข่มขู่เกษตรกร
วันเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีที่แข็งกร้าวของผบ.ตร. และอีกหลายคนที่ออกมาข่มขู่ชาวสวนยาง จะคุ้มกันหรือไม่เพราะชาวสวนยางเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลนี้ และรัฐบาลกำลังทำลายฐานเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลนี้ ซึ่งจริงๆ มีมาตรการที่แก้ไขได้ รัฐบาลฟังผู้ที่รอบรู้เรื่องยางที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าฟังพ่อค้าอย่างเดียวไม่มีทางแก้ได้ เพราะถ้าไม่เอาประชาชนซึ่งเป็นกำลังหลักของรัฐบาล แล้วรัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร
ขณะที่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีตส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ เพราะจะชี้ว่าปัญหาราคายางพาราตกต่ำขณะนี้อย่าให้ "ยางตก เลือดออก" เหมือนที่ผ่านมา และหากคิดว่านักการเมืองอาชีพ อดีตส.ส.ช่วยคิดแก้ปัญหาราคายางพาราได้ ขอให้บอกมา ยินดีช่วยและรัฐบาลต้องแก้ปัญหาราคายางตกต่ำแบบจริงใจ อย่าใช้อำนาจแบบผู้มีอำนาจข่มขู่ชาวสวนยาง เพราะเขาเดือดร้อนจริงๆ ให้เขาหดมือหดเท้าทนลำบากอยู่ได้อย่างไร เมื่อท้องหิว หากรัฐบาลสร้างสุขด้วยการให้เขากินอิ่ม มีเงินให้ลูกกิน ลูกเรียน ให้เขาอยู่ได้ ก็คงไม่ออกมาเรียกร้องเสี่ยงคุกอย่างนี้
"วันนี้ ราคายางพาราตกต่ำอย่างมาก เป็นภาวะที่ชาวสวนอยู่ไม่ได้จริงๆ หนี้สินที่ต้องหยิบยืมมา ไม่มีปัญญาใช้ บางรายต้องฆ่าตัวตาย แม้รัฐบาลจะบอกว่า อย่ามาชุมนุมผิดกฎหมาย มาก็ไม่ได้อะไร ผมเชื่อว่ายามนี้ชาวสวนคงไม่ฟัง เพราะเขาเดือดร้อน ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาล รีบลงไปรับฟังปัญหาหาวิธีแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมทั้งปรึกษาผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาราคายาง ดีกว่ามาข่มขู่ชาวสวนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าต้องติดคุก หรือแนะนำแบบประชดแดกดันว่าให้ไปขายที่ดาวอังคาร เหมือนที่ผ่านมา หากคิดว่าเรื่องนี้พวกผมช่วยได้ก็ยินดีช่วย" อดีตส.ส. ตรังกล่าว
จี้เปลี่ยนตัวผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ
ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะ จำกัด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ พร้อมนาย กิติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมชาวเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน สุราษฎร์ ธานี นายสมปราชญ์ วุฒิจันทร์ โฆษกแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และสมาชิกกว่า 20 คน ร่วมประชุมเรื่องแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ และอ่านแถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาว สวนยาง
นายสุนทร กล่าวว่า การรวมตัวในวันนี้ไม่ใช่การชุมนุมเรียกร้อง แต่เป็นการร่วมประชุมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยแถลงการณ์แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง คือ 1.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรชาวสวนยาง อย่างเร่งด่วน 2.ให้รัฐบาลยุติการขายยางพาราในสต๊อก 3.6 แสนตัน และใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้มีการใช้ยางในประเทศต่อไป 3.ให้กยท. ขับเคลื่อนโดยเกษตรกรมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องมือและกลไกในการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ โดยให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกยท. (บอร์ดการยาง) ทันทีเมื่อเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี และเร่งสรรหาผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ให้เร็วที่สุด
4.มีมติสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับทุกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ในการต่อสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยางและเข้าร่วมประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ในการต่อสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยางและเข้าร่วมประชุมแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 12 ม.ค. พร้อมข้อเสนอ "เรียกร้องราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท หากรัฐบาลไม่ให้ พร้อมจัดชุมนุมใหญ่" 5.ให้รมว.เกษตรฯ ทบทวนการทำงานของที่ปรึกษารัฐมนตรี นายอำนวย ปะติเส และผู้ช่วยรัฐมนตรี นางจินตนา ชัยยวรรณการ เพราะไม่มีความสามารถและสร้างความแตกแยกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
จ่อให้"สุเทพ เทือก"นำม็อบ
นายสุนทรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ทางกลุ่มและผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นพ้องกันในการสนับสนุนนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในการเคลื่อนไหวเรื่องราคายางพารา ทั้งนี้ทางกลุ่มยังให้เกียรติรัฐบาลยังไม่มีการเคลื่อนไหวโดยการชุมนุม แต่รอมติการประชุมของแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ก่อนจะยื่นต่อรัฐบาล หลังจากนั้นจะรอดูท่าทีของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายาง หากไม่เป็นที่พอใจตามข้อเรียกร้อง คงจะมีการดำเนินการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ต่อไป
"ทั้งนี้ทางแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางพาราขอเรียกร้องไปยังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะเจ้าของพื้นที่และแกนนำ กปปส.ที่ชาวสวนยางภาคใต้ได้ไปร่วมชุมนุม ให้เข้ามาช่วยชาวสวนยางเรียกร้องราคายางพารา รวมถึงช่วยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เหมือนเช่นที่ชาวสวนยางเคยไปร่วมชุมนุมกับทาง กปปส.ที่ผ่านมา" นายสุนทรกล่าว
ด้าน จ.สงขลา นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า ชาวสวนยางรายย่อยทั่วภาคใต้ เปิดเวทีเสวนาที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จะปักหลักปักค้างจนกว่าจะได้ข้อยุติ เป็นการเสวนาครั้งใหญ่ของประเทศของชาวสวนยางรายย่อย ไม่ได้จัดในนามองค์กร สมาคม ชมรม แต่อย่างใด เพื่อแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง มีหัวข้อเสวนา "ราคายาง" "การช่วยเหลือชาวสวนยาง 1,500 บาทต่อไร่"
นายทศพลกล่าวว่า จากการดิ่งลงของราคายางอย่างไร้ทิศทาง ความจริงมีพ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 โดยมีรมว.เกษตรและสหกรณ์ และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้มีอำนาจใช้ กลับไม่มีการนำมาบังคับใช้ ซึ่งกรณีนี้ รมว.เกษตรฯ และผู้ว่าการ กยท. จะต้องตอบคำถามให้ได้ เพราะความไม่มีประสิทธิภาพและบกพร่อง จนเป็นจังหวะและโอกาสให้กับพ่อค้าบางกลุ่มทำราคายางต่อเกษตรให้ต่ำลง จึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวบุคคลทุกคนเกี่ยวกับการยาง
ฮึ่มนัดชุมนุมใหญ่
นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ พร้อมนายไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง รองประธานชุมนุมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ร่วมกันยืนยันการเปิดเวทีประชุมพิจารณาข้อเรียกร้องของตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันอังคารที่ 12 ม.ค.นี้ ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (สกย.ตรัง)
เพื่อพิจารณาปัญหาข้อเรียกร้องร่วมกัน 4 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.ให้เปิดเผยเนื้อหาสัญญาซื้อขายยางจำนวน 2 แสนตัน ที่กยท. ทำกับบริษัท ไซโนแคม จำกัด ประเทศจีน 2.ให้แต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยโดยด่วน 3.ให้เร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยางตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง อัตราไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยเร็วที่สุด เพราะล่าสุดทั่วประเทศจ่ายไปได้แค่ประมาณ 2,000 รายเท่านั้น เหลืออีกกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้รับเงิน
และ 4.เรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี หรือรมว.เกษตรฯ มารับฟังปัญหาข้อเรียกร้องของเกษตรกร หรือเปิดเวทีรับฟังปัญหาหาทางออกด้วยตัวเอง ไม่ใช่ส่งตัวแทนตระเวนรับข้อเรียกร้องจากแต่ละกลุ่มแล้วรอรับฟังรายงานเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของเกษตรกรที่เสนอผ่านตัวแทนที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหารจะผิดเพี้ยนไม่ตรงจุดความต้องการของเกษตรกร จนนำสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ล่าช้า ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ทำให้เกษตรกรยังได้รับความเดือดร้อน
ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ยังระบุอีกว่า การเปิดเวทีเรียกร้องปัญหาราคายางตกต่ำในวันที่ 12 ม.ค. จะขอให้เป็นครั้งสุดท้าย โดยที่รัฐบาลต้องนำเอาข้อเสนอแนะไปดำเนินการแก้ไขให้แก่ชาวสวนยางอย่างจริงจังและเร่งด่วน หากไม่รับฟังกันอีก ก็พร้อมจะหารือกันในที่ประชุมดังกล่าว เพื่อกำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา หรือจะมีการเดินหน้ายกระดับการเรียกร้องอย่างไรหรือไม่ต่อไป
ม็อบนครโห่ไล่ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ
ส่วนที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีการจัดเตรียมเป็นสถานที่รวมตัวชุมนุมของเกษตรกรรายย่อยชาวสวนยางพารา ใน 8 จังหวัดภาคใต้ตอนบน โดยนำรถยนต์กระบะมาตั้งเป็นเวทีการปราศรัย ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีไม่มากนัก ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีมากกว่าผู้ชุมนุมเข้ามาตรึงกำลังอย่าง เข้มงวด
ต่อมานางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ พร้อมคณะเดินทางไปรับข้อเสนอของเกษตรกร โดยเชิญตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราประมาณ 20 คน ร่วมหารือรับทราบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งสง ซึ่งการเจรจาเป็นไปอย่างเคร่งเครียดกระทั่งมีการโต้เถียงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้นางจินตนาต้องลุกออกจากที่ประชุม เนื่องจากเห็นว่าการเจรจาไม่สามารถดำเนินการต่อไป
นางจินตนาให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะรับข้อเสนอทุกข้อ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนจะต้องดูเงื่อนไข เพื่อพิจารณาร่วมกันเรื่องของการช่วยเหลือ 1,500 บาท ที่ล่าช้าจะไปพิจารณาอยู่แล้ว เพราะรมต.สั่งมาแล้วว่า 31 ม.ค.นี้ เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องได้เต็ม 100 ยอมรับว่ากระบวนการมันล่าช้าต้องปรับ แต่เรื่องที่จะให้พยุงราคา ก.ก.ละ 60 บาท คงทำไม่ได้จะเอาเงินมาจากที่ไหน ราคาตลาดอยู่ที่ 40 บาท แล้วยังมียางในสต๊อกอีกกว่า 3 แสนตัน
"ท่านนายกฯ เองก็พยายามจะช่วย แต่ก็อยากให้ชาวสวนยางช่วยตัวเองได้ด้วย ปัญหาการแทรกแซงราคาเหมือนในอดีตแล้วเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้ และท่านนายกฯ เองก็บอกว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณ และการที่จะมีการออกมาเคลื่อนไหว ถามว่าเคลื่อนไหวเพื่ออะไร การท้าทายรัฐบาลแล้วจะได้อะไรในเมื่อรัฐบาลเองก็ช่วยอย่างเต็มที่แล้ว" ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่นางจินตนากำลังให้สัมภาษณ์อยู่นั้น มีตัวแทนชาวสวนยางเดินออกตามมาและพูดตะโกนว่า ผช.รมต.เกษตรฯ คนนี้แหละที่เป็นคนทำให้ราคายางปั่นป่วนโดยไปเจรจาขายยางให้กลุ่ม 5 เสือ ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ชุมนุมอยู่พากันตะโกนโห่ร้อง นางจินตนาจึงรีบขึ้นรถออกจากพื้นที่ชุมนุมทันที
ติงทหารไม่ได้เก่งทุกเรื่อง
นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์หลังเจรจากับนางจินตนาล้มเหลวว่า อยากจะบอกว่านางจินตนา ซึ่งเป็นผู้ช่วยรมต.เกษตรฯ และมาเป็นตัวแทนในการเจรจากับชาวสวนยาง แต่ท่านเป็นคนที่ไม่มีมารยาทเพราะตั้งแต่ที่มานั่งรับฟังปัญหามีความพยายามพูดแทรกตลอด จนต้องบอกว่าขอให้ชาวสวนพูดให้เสร็จก่อนแล้วท่านค่อยพูด ส่วนกรณีที่นางจินตนาลุกขึ้นออกจากห้องประชุม เมื่อเราพูดถึงการเอายางของกลุ่ม 5 เสือไปขาย นางจินตนาก็ลุกขึ้นออกมาทันทีโดยไม่ได้สนใจกลุ่มตัวแทน
"พวกผมก็ไม่ได้เสียใจกับเรื่องนี้เพราะทำใจไว้แล้ว และอยากจะบอกว่าราคายางที่ตกต่ำนั้น มาจากความผิดพลาดในนโยบายของรัฐบาลทั้งนั้น คืนนี้เราจะชุมนุมไปจนถึงเวลา 22.00 น. ตามที่ขออนุญาตหลังจากนั้นจะเลิกเวที แล้วพรุ่งนี้ก็จะเดินเข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อประชุมร่วมกับคณะทำงาน ก่อนจะสรุปปัญหาทั้งหมดนำเสนอนายกฯ ในวันอังคารนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะที่ผ่านมานายกฯ ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดไม่ตรงจริงทั้งนั้น และจะเอาเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่มีการนำยางของบริษัท 5 เสือไปขายโดยไม่มียางจากสถาบันเกษตรกรเลย ถึงท่านจะปฏิเสธแต่หลักฐานมันชัดเจน ที่ผ่านมาเรามีเอกสารที่ชัดเจนว่า สาเหตุที่ยางราคาตกต่ำนั้นมาจากความผิดพลาดทางนโยบายรัฐบาลที่ผิดพลาดไม่ใช่ตลาดโลก" นายทศพลกล่าว
วันเดียวกัน นายสืบศักดิ์ จินดาพล ปราชญ์เกษตรประจำปี 2558 ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนโคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะพันธุ์ต้นกล้ายางพาราจำหน่ายกว่า 1,000 ครัวเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หนีสินรุงรัง หลังจากยางพาราราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศเลิกปลูกยางพารา ต้นกล้าที่เพาะพันธุ์ไว้เพื่อจำหน่ายราคาตกต่ำจนขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนสั่งซื้อ ต้องแบกภาระต้นทุนดูแลรักษาต่อไป
"เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ยางพารากลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทั้ง จ.พังงา ไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เหมือนกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพารา ที่มีทั้งหน่วยงานราชการ และกลุ่มเกษตรกร คอยให้ความช่วยเหลือดูแลอยู่ ซึ่งรัฐบาลควรหันกลับมามอง เพื่อหาทางช่วยเหลือ และหาคนที่มีความรู้จริงๆ ในเรื่องการแก้ปัญหาราคายางพารามาดูแลรับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร ก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะทหารไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจการค้าและเกษตรกรรม" ปราชญ์เกษตรกล่าว
เครียดยางราคาตกผูกคอดับ
ร.ต.ท.อุทัย ยอดราช พงส.สภ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ตรวจสอบเหตุคนผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านเลขที่ 4/3 ม.5 ต.เขาน้อย ที่เกิดเหตุเป็นบ้านปูน 2 ชั้น บริเวณลานหน้าบ้านพบรถจักรยานยนต์ฮอนด้าคลิก สีฟ้า ทะเบียน คจจ 48 นครศรีธรรมราช ถูกเผาวอดทั้งคัน ภายในบ้านพบที่นอนถูกเผาได้รับความเสียหายไม่มากนัก ส่วนที่ห้องนอนบนชั้น 2 พบศพนายวีรพงค์ สุวรรณนุรักษ์ อายุ 35 ปี เจ้าของบ้านใช้ผ้าขาวม้าผูกคอแขวนกับขื่อบ้าน เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง
สอบสวนทราบว่า ผู้ตายมีอาชีพกรีดยางพารา ก่อนเกิดเหตุทะเลาะกับภรรยา เพราะเครียดเรื่องราคายางพาราตกต่ำจนรายได้จากการกรีดยางไม่พอใช้ กระทั่งภรรยาหนีออกจากบ้าน หลบไปหาแม่ยายของผู้ตาย ก่อนพากันกลับมาเพื่อปลอบโยนผู้ตาย แต่เมื่อมาถึงบ้าน พบว่ารถจักรยานยนต์ที่จอดไว้หน้าบ้านถูกเผาวอด จึงตะโกนเรียกผู้ตายอยู่นาน แต่ไม่มีเสียงตอบรับ เมื่อขึ้นไปดูที่ห้องนอนชั้นบนจึงพบว่าผูกคอฆ่าตัวตายไปแล้ว ส่วนสาเหตุคาดว่ามาจากเรื่องปัญหาราคายางตกต่ำ จนทำให้ครอบครัวมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไม่เพียงพอ ทำให้เครียดและทะเลาะกับภรรยาก่อนจะผูกคอตายดังกล่าว หลังเจ้าหน้าที่ได้ชันสูตรเสร็จได้มอบศพให้ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป