- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 10 January 2016 08:31
- Hits: 7483
ยางใต้เมินบิ๊กตู่ขู่ ชุมนุมใหญ่'3จว.'ตรัง-นครศรีฯ-สงขลา นายกฯลั่นใช้กม.เข้ม อย่าโทษรังแกคนจน
'ประยุทธ์'ย้ำใช้เงินรัฐช่วยชาวสวนยางคงไม่ได้ หวั่นเกษตรกรกลุ่มอื่นตามมาขอบ้าง ฮึ่มแน่ใครประท้วงว่ากันตาม กม. อย่าหาว่ารังแกคนจน เมืองคอน-ตรังนัดชุมนุม 10 ม.ค. สงขลาจัดที่หาดใหญ่ 12 ม.ค.
'บิ๊กตู่'ยันช่วยเหลือชาวสวนยาง
เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 8 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมงานเลี้ยงฉลองวันปีใหม่ 2559 จัดโดยสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า "เนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ ทุกคนมีเวลาพักผ่อน ส่วนผมก็มีเวลาแต่ไม่ได้หยุดคิด เพราะต้องเตรียมขับเคลื่อนงานในปี 2559 ถ้าเริ่มไม่ได้ ต่อไปก็จะเดินหน้าไม่ได้ ที่ผมตัดสินใจเข้ามาเพราะคนจน ต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไร ไม่ใช่ใช้แต่เงิน วันนี้จะลำบากถ้าไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อยากให้เข้าใจในภาพรวม ส่วนราคายาง ถ้าขึ้นราคาให้ใครจะเป็นคนจ่ายเงิน ตอนนี้ก็กำลังเร่งให้ แต่ไม่ได้พูดออกมา ยืนยันว่าเข้าใจความลำบากของเกษตรกรชาวสวนยาง แต่ตอนรายได้ดีก็ไม่บ่น ตอนนี้ก็ขอให้ช่วยกันให้ความร่วมมือ เราใช้งบประมาณอย่างเดียวไม่ได้ หากใช้ในส่วนนี้เกษตรกรอื่นก็จะตามมา ตอนนี้กำลังลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน"
เตือนประท้วงบนถนนเจอคดี
เมื่อถามว่าข้อเสนอที่ให้นำยางไปทำถนน ทั้งพยุงราคายางและข้อเสนอเกษตรกรที่ขอราคายางอยู่ที่ กก.ละ 60 บาท นายกฯกล่าวว่า "รัฐบาลทำอยู่ นำไปทำถนน แต่ตอนนี้ราคาถนนสูงขึ้น 15% ถ้าอุดหนุนราคายางให้ได้ 60 บาท จะกลายเป็นอัฐยายซื้อขนมยาย ค่ายางและค่าถนนจะแพงขึ้น เสียทั้ง 2 อย่าง ซึ่งไม่ขอบอกว่าตอนนี้กำลังทำอะไร ขอให้เป็นไปตามระบบ และใช้งบประมาณไปกว่า 2.5 แสนล้านบาทแล้ว ไม่อยากให้กลไกตลาดบิดเบือน แต่กำลังสร้างกลไกเพื่อนำไปสู่การผลิตให้ได้ ในอดีตเคยสั่งให้มีการลดการผลิต ลดการปลูกแต่ก็ไม่สำเร็จ เกษตรกรจะยอมไหม เรื่องนี้มีการพูดมานาน พูดแล้วก็ไม่มีใครเชื่อ ผมรู้ใครพูดใครทำอยู่เพราะเขาเชื่อนักการเมืองท้องถิ่นมากกว่า ที่ผ่านมามีการส่งเสริมการปลูกยาง บุกรุกป่าเพื่อปลูกยางบนเขา เมื่อสั่งตัดก็หาว่าทำร้ายคนจน จึงต้องทำให้เกิดจากความสมัครใจ ส่วนการชุมนุมประท้วง ผมสั่งการไปแล้ว กระทรวงเกษตรฯได้พูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรไปแล้ว ผมรักเกษตรกรทุกคน แต่ไม่มีเงินจะให้ทำอย่างไร ทุกเรื่องถ้าเรียกร้อง ประท้วง ข่มขู่ ผมไม่ทำให้ แต่จะทำในแบบของผม ไปประท้วงบนถนนก็โดนคดี ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย อย่าหาว่ารังแกคนจน"
"บิ๊กป้อม"เล็งใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีม็อบสวนยางเตรียมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาราคาตกต่ำว่า จะชี้แจงว่ารัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาทุกอย่าง เขาต้องเข้าใจ ถ้ามาก็อยากถามว่ามาแล้วได้อะไร ตอนนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงและลงพื้นที่แก้ปัญหาอยู่ ฝ่ายความมั่นคงได้ลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจว่ารัฐบาลได้แก้ทุกปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อน แต่ถ้ารัฐบาลปล่อยปละละเลยค่อยว่ากัน แต่นี่ทำทุกอย่างแล้วจะให้ทำอย่างไร ในเมื่อราคาน้ำมันลงขนาดนี้ จะให้ราคายางสูงขึ้นได้อย่างไร ไม่น่าจะต้องคิดอะไรมาก ต้องมองว่าจะช่วยกันอย่างไร
เมื่อถามว่า เป็นห่วงที่จะมีผู้ชุมนุมหลายกลุ่มเข้ามาทั้ง สสส.และสวนยาง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่ห่วง เขาไม่เข้ามาหรอก เข้ามาแล้วจะได้อะไร มาก็ไม่ได้อะไร ผิดกฎหมายด้วย เพราะมี พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนใจน่าจะต้องมา นี่รัฐบาลสนใจทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถ้าจะมากดดัน แค่นี้ก็กดดันจะตายอยู่แล้ว"
ผบ.ตร.เบรก"ถาวร"นำม็อบยาง
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวกรณีนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะนำมวลชนชาวสวนยางประท้วงราคายางที่ตกต่ำนั้นว่า นายถาวรเป็นนักกฎหมายย่อมรู้ว่าทำอย่างไรได้บ้าง ไม่ทราบแนวคิด แต่อะไรที่เกินกรอบกฎหมายก็ต้องดำเนินคดี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีอยู่ นายถาวรย่อมรู้ว่าทำอย่างไรได้บ้าง อ่านกฎหมายเป็น ตีความออกว่าอะไรควรไม่ควรในเวลานี้
"ผมไม่รู้เจตนาของท่าน แต่รู้จักกันดีไม่ต้องแนะนำอะไร ท่านรู้ขั้นตอนหมดอยู่แล้ว ส่วนตัวผมไม่ต้องประสานอะไร ไม่มีความจำเป็นอะไร แต่ได้สั่ง พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผบช.ภ.8 และ พล.ต.ท.วีระพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.9 ให้บังคับใช้กฎหมาย ย้ำว่าจะทำอะไรก็ทำ อย่าฝ่าฝืนกฎหมาย หากไม่มีคนกำราบ อันธพาลก็ยิ่งกำเริบ มีกฎหมายอยู่ ที่ผ่านมากฎหมายไม่เป็นกฎหมาย บ้านเมืองเป็นอย่างไรรู้อยู่ มันถึงยืดเยื้อจนถึงขนาดนี้ อย่างไรก็ตามแม้รู้จักกันแต่ผมเชื่อว่ากฎหมายไม่เกรงใจกัน กฎหมายเคยเกรงใจใครที่ไหน กฎหมายคือกฎหมาย ตำรวจมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ผมเห็นใจพ่อแม่พี่น้อง รัฐบาลพยายามแก้ไขทุกปัญหา" ผบ.ตร.กล่าว
บิ๊กฉัตรชี้ราคาตกเพราะศก.โลก
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางตกต่ำในขณะนี้เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมทั่วโลกยังชะลอตัว ตลาดส่งออกหลักอย่างจีนกำลังประสบปัญหาภายในอย่างหนัก และราคาน้ำมันเป็นสินค้าทดแทนยางกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายางตกต่ำลงไปเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในระยะสั้นคือ การผลักดันการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการขยายผลสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากขึ้น อาทิ พื้นยางสนามกีฬา ทางเดินผู้สูงอายุและอิฐตัวหนอน ที่ผ่านมาได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมใช้ยางพาราในการก่อสร้างถนนจำนวน 2 หมื่นตัน แล้วเสร็จในต้นปี 2559 รวมถึงเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาทิ อบต.และ อบจ. ให้นำน้ำยางไปใช้ก่อสร้างถนน ดูดซับยางออกจากตลาด หาก อปท.ใดติดขัดงบประมาณ รัฐบาลยินดีสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้
ใช้โครงการสินเชื่อหาอาชีพเสริม
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า การดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม วงเงิน 10,000 ล้านบาท ภายหลังเพิ่มวงเงินอีก 5,000 ล้านบาท รวมเป็น 15,000 ล้านบาทนั้น มียอดผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 159,270 ราย คุณสมบัติผ่านเงื่อนไขการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งหมด 96,563 ราย มีเกษตรกรจำนวน 61% นำไปใช้ในกิจกรรมปศุสัตว์ เกษตร 13% ในกิจกรรมปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร และไม้ประดับ ส่วน 10% นำไปใช้ในกิจกรรมพืชไร่ 9% นำไปใช้ในกิจกรรมประมงและอื่นๆ ในปัจจุบันมีเงินเหลือจากโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 2,861 ล้านบาท กระทรวงเกษตรฯจึงเตรียมขยายโครงการออกไป จะเปิดรับเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมเป็นต้นไป หากวงเงินที่เหลืออยู่ดังกล่าวไม่พอกับชาวสวนยางที่เข้าร่วม พร้อมขอที่ประชุม ครม.ขยายวงเงินได้ตลอดเวลา
ส่งผู้ช่วย-ที่ปรึกษาลงเมืองคอน
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ในวันที่ 10 มกราคม กระทรวงมอบหมายให้นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง และนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อทำความเข้าใจกับชาวสวนยางถึงมาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนในวันที่ 11 มกราคม กระทรวงเกษตรฯจะหารือร่วมกับตัวแทนจากเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศจำนวน 12 กลุ่ม หาทางออกร่วมกันถึงการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ รวมทั้งเตรียมหารือกับนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ถึงแนวทางการใช้กลไกของกองทุนมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ นอกจากนี้ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯเร่งสรุปรายชื่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อเสนอให้ทันในการประชุม ครม.วันที่ 12 มกราคมนี้ ให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายางในอนาคต
เผยนายกฯโทรจี้ทุกวัน
"นายกรัฐมนตรีโทรมาหาผมทุกวันเลย ติดต่อผมตลอดเวลาให้เร่งแก้ไขปัญหา ให้ช่วยแก้ไขปัญหาราคายาง นายกฯเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก สั่งทุกวัน ผมก็เร่งแก้ไขปัญหา เช้าก็เรียกประชุม เย็นก็เรียก จากการแก้ไขปัญหาของกระทรวงเกษตรฯมันไม่ใช่การพลิกฝ่ามือ บางหน่วยงานสั่งครั้งเดียวลดภาษีได้เลย กระทรวงเกษตรฯทำได้หรือไม่แบบนี้ สั่งวันนี้แก้ไขวันนี้ บางทีต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะได้ ต้องรู้ว่านี้คือข้อเท็จจริง การเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่อยากทำแบบนี้หรอก เพราะถ้าทำแบบผมต้องรอ 1 ปี แต่ถ้าผมไม่ทำแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น ปัญหาก็จะวนเวียนแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถ้าถามว่าผมอยากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯหรือไม่ ผมขอตอบว่าไม่อยากเป็น แต่วันนี้เมื่อนายกฯได้มอบหมายผม นายกฯเหนื่อยกว่าผม ผมเงยหน้ามองดูนายกฯ ผมรู้สึกว่า ผมต้องทำต้องสู้ ผมก็เป็นทหาร ทหารถอยยาก" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
สมาพันธ์ฯนัดรวมพล12ม.ค.
นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา เปิดเผยว่า แกนนำชาวสวนยางสงขลาหารือมีข้อสรุปว่าจะนัดรวมตัวที่ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 12 มกราคมนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ชาวสวนยางก้าวข้ามเรื่องราคาไปแล้ว จึงไม่ได้เรียกร้องว่ายางต้องมีราคากิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท แต่ขอให้รัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางระยะสั้นและระยะยาว เพราะเหตุที่ราคายางตกต่ำเกิดจาก 5 ปัญหา คือ 1.กลไกการตลาดในประเทศ ทั้งกรณีไม่มีการใช้ยางผสมในการทำถนน 2.กลไกการตลาดตกอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลาง กำหนดราคารับซื้อยางได้เอง 3.ขอร้องให้นายกฯใช้มาตรา 44 เพื่อตรวจสต๊อกยางทั้งในส่วนของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ว่ามีปริมาณค้างสต๊อกเท่าไหร่ เพราะไม่เชื่อตัวเลขของทางการในขณะนี้ และการสำรวจสต๊อกยางต้องมีตัวแทนชาวสวนยางร่วมตรวจสอบ 4.ขอให้รัฐบาลเร่งออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้หน่วยงานของรัฐใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมของการทำถนนไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับที่ในอดีตเคยมีมติ ครม.บังคับให้ทุกหน่วยงานราชการและวิสาหกิจต้องใช้น้ำมัน ปตท. เพื่อแสดงความจริงใจว่ารัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาให้ชาวสวนยางพาราจริง
ให้"บิ๊กฉัตร"ลงมารับปัญหาเอง
นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า 5.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ต้องลงมารับเรื่องการแก้ไขปัญหายางพาราด้วยตนเอง พร้อมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 คน คือ นายอนุมัติ อาหมัด นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล และนายบัญญัติ จันทน์เสนะ เพื่อที่ สนช.จะได้นำเรื่องความเดือดร้อนของชาวสวนยางไปหารือ และใช้กลไกของ กมธ.เกษตรและพาณิชย์ของ สนช.แก้ไข ขอให้รัฐเป็นเจ้าภาพประชุมตัวแทน 4 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายรัฐบาล 2.ตัวแทนข้าราชการ หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง 3.ตัวแทนเกษตรกรทุกจังหวัดที่ปลูกยางพารา และ 4.กลุ่มตัวแทนนายทุนอุตสาหกรรมยางในการหาทางออกแก้ไขปัญหา
"การที่ พล.อ.ฉัตรชัยรายงานนายกฯว่า ยางพาราปัจจุบันอยู่ที่ราคา กก.ละ 35-36 บาทนั้น เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นราคายางแผ่นรมควันสำเร็จที่พร้อมส่งออก แต่ราคายางแผ่นและน้ำยางสดที่ชาวสวนยางขายได้ในชุมชนของจริงอยู่ที่ กก.ละ 23-25 บาท อย่ามัวแต่นั่งรอรายงานตัวเลขจากข้อราชการในห้องแอร์ ขอให้กล้าลงพื้นที่มาดูความทุกข์ความเดือดร้อนของครอบครัวชาวสวนยาง เพราะเกษตรกรจะนำท่านไปดูของจริง จะได้ตาสว่างเสียที" นายชัยวุฒิกล่าว
นัดที่ตลาดยางหาดใหญ่12ม.ค.
เมื่อเวลา 11.00 น. ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.สงขลา 16 อำเภอ ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพารา ที่สำนักงานของนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลาหลายสมัย ปชป. ที่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในที่ประชุมมีการกำหนดแนวทางการแสดงออกถึงความเดือดร้อนใน
วันที่ 12 มกราคมนี้ โดยเกษตรกรต่างนำเสนอความเดือดร้อนของแต่ละครัวเรือนกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงอยากให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลรับทราบปัญหาทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว แม้นายกฯจะออกมาบอกชัดเจนหากมีการชุมนุมก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย
นายปรีชา สุขเกษม เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา กล่าวเชื่อมั่นว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่จับกุมประชาชนที่มาแสดงออกถึงความเดือดร้อน เพราะไม่ได้มาชุมนุมกันเพื่อล้มล้างรัฐบาล แต่เป็นการบอกให้ทราบถึงความเดือดร้อน ช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลจะจับกุมผู้เดือดร้อนก็คงจะจับกุมกันทั้งประเทศ หัวใจของชาวสวนยางก้าวข้ามความกลัวนั้นมาแล้ว
"ชาวสวนยางมีมติรวมพลังกันเดินทางไปยังตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อตรวจสอบราคาที่แท้จริง พร้อมกันนั้นจะเชิญ สนช. 3 คนใน จ.สงขลา มารับหนังสือ ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด เป็นการเรียกร้องให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเท่านั้น" นายปรีชากล่าว
"ถาวร"ชี้รัฐชอบอิงราคาพ่อค้า
นายถาวรกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องชาวสวนยางเรื่องปัญหาราคายางตกต่ำต่อเนื่องกันมานาน ส่วนตัวได้ยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ที่สำคัญผู้รับผิดชอบยังไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าราคาตกต่ำแค่ไหน ยังอิงราคาที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ ดูแต่ราคายางแผ่นรมควันที่ราคา กก.ละ 40 บาทเศษ แต่นั่นคือราคาของพ่อค้า ส่วนราคาท้องถิ่นของเกษตรกรจำหน่ายน้ำยางสดในตลาดทั่วไป วันนี้ราคา กก.ละ 28 บาท ปรับเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เหลือ กก.ละ 23 บาทเท่านั้น จึงอยากให้เร่งรัดแก้ไข ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางก็พยายามหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ
พ่อค้าคนกลางบิดเบือนราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ประชุมของกลุ่มชาวสวนยางพารากับนายถาวรนานกว่า 1 ชั่วโมง ต่อมานายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา ได้อ่านแถลงการณ์เชิญชวนให้เกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันเดินทางมาตรวจสอบสถานการณ์ราคายางพาราที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ในเวลา 13.00 น. ของวันที่ 12 มกราคมนี้ หลังจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้แล้ว จะรอระยะเวลาดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้กับชาวสวนยางอย่างเป็นรูปธรรมแค่ไหน
นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า ตอนแรกว่าจะหันมาแต่งชุดดำแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินซื้อ และในการเรียกร้องราคายางในครั้งนี้ถือว่าสามารถทำได้ เพราะไม่ได้ไปสร้างปัญหาให้กับประชาชน จะถูกจับหรือไม่ถูกจับก็เป็นเรื่องของอนาคต หากรัฐบาลจะจับผู้เดือดร้อนก็จะจับไม่เฉพาะชาวสวนยาง มีทั้งนาข้าว ประมง และอื่นๆ ต่างก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน จับไม่ไหวแน่เพราะต่างก็ได้รับความเดือดร้อนกันหมด
อ้างพ.ร.บ.สาธารณะฯจัดชุมนุม
นายไชยา ยีหวันจิ ชาวสวนยางใน อ.สะเดา กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง 15,000 บาทต่อครัวเรือน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน การให้เปลี่ยนไปปลูกไม้ผลก็ไม่เห็นด้วย ในแต่ละอย่างก็จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะให้ผลผลิต แนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางนั้น ควรหาตลาดในการส่งออกมากกว่าแนวทางอื่นๆ มีอีกหลายประเทศที่ตลาดของประเทศไทยยังไปไม่ถึง หากให้ปลูกกล้วยกันมากๆ ต่อไปราคาก็จะตกต่ำ และก็จะมีการประท้วงราคากล้วยเกิดขึ้นอีกไม่รู้จักจบ ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีด้วยการหาตลาดใหม่ก็จะช่วยให้ราคาขึ้นไปเองตามธรรมชาติ
นายสุรเชษฐ์ บิลสัน ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชาวสวนยางในครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ตามมาตรา 10 เชื่อว่าทำได้และไม่ผิดกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.อนุญาตให้ชุมนุมได้ แต่ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา ไปยังหัวหน้า สภ.เจ้าของพื้นที่ เมื่อทำตามขั้นตอนแล้วใครก็ไม่สามารถจับกุมได้อย่างแน่นอน เป็นการแสดงออกเรียกร้องไปยังรัฐบาล นำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น
"เมืองคอน"นัดเจอทุ่งสง10มกราฯ
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ห้องปฏิบัติงานผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมพร ศรีเพชร นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดนครศรีธรรมราช นายทศพล ขวัญรอด นายมนัส บุญพัฒน์ นายกมล ขาวทอง ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย พร้อมด้วยนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าพบนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช เพื่อหารือปัญหาความเดือดร้อนชาวสวนยาง โดยจะมีการรวมตัวกันที่ศาลาประชาคม เทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 10 มกราคมนี้
นายทศพลกล่าวว่า การรวมตัวครั้งนี้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทางรัฐบาลได้รับทราบว่านโยบายทั้งหมดที่ช่วยเหลือชาวสวนยางล้มเหลว ดังนั้นเราจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดและร่วมหารือหาทางออกร่วมกัน ทราบแต่เพียงว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ จะเดินทางมารับข้อเสนอจากตัวแทน พร้อมลงนามร่วมกันแก้ปัญหา
ด้านนายพีระศักดิ์กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลความเรียบร้อย อย่าให้เกิดความวุ่นวาย โดยวันที่ประชุมได้สั่งขนมจีนไว้เลี้ยงพี่น้องชาวสวนยางอีกด้วย
แกนนำตรังขู่ประท้วงอดอาหาร
นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ แกนนำเครือข่ายชาวสวนยางรายย่อยจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า การที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หากไม่เห็นความสำคัญของความเดือดร้อนจะประท้วงด้วยการอดอาหาร หากชาวสวนยางรายใดเห็นด้วยกับการชุมนุมด้วยสันติ ชุมนุมเรียกร้องด้วยการอดอาหารเพื่อเรียกร้องครั้งนี้ ตนก็ยินดี แต่ขอบอกว่าไม่ได้ประท้วงรัฐบาล
นายศักดิ์สฤษดิ์ยังกล่าวว่า ราคายางปัจจุบันควรจะอยู่ที่ กก.ละ 50-60 บาท เชื่อว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากกลไกของรัฐบาล โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ทำงาน องค์กรที่อ้างว่าเป็นองค์กรเกษตรกรชาวสวนยางยังมีความขัดแย้งกันเอง นายกฯต้องลงมาดูแลด้วยตนเอง
ส.ส.ตรังแนะรง.ไฟฟ้าพลังปาล์ม
นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง ที่รัฐบาลจะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการนำยางมาใช้สร้างมูลค่าให้มากที่สุดและเร่งด่วน ที่ผ่านมาเป็นแค่แนวคิด ต้องใช้คำสั่งที่มีอยู่สั่งการทุกหน่วยงาน ให้หาแนวทางเพื่อสร้างมูลค่ายางให้สูงขึ้น เช่น นำไปเป็นส่วนผสมในการสร้างถนน สร้างสนามกีฬา ลู่วิ่ง พื้นยางโรงยิม ทุกโครงการที่สามารถใช้ส่วนผสมจากยางได้ ควรจะดำเนินการทันที
"ปัจจุบันภาคใต้เรามีปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลพยายามสร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากถ่านหิน ซึ่งถูกคัดค้านมาตลอด มองว่าอีก 100 ปี โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในภาคใต้ก็ไม่ได้สร้าง จึงมีแนวคิดว่าให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมันพืชหรือน้ำมันปาล์ม ส่งเสริมให้ชาวสวนยางหันมาปลูกปาล์มแทนการปลูกยางพารา เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพารา" นพ.สุกิจกล่าว
สภาเกษตรกรตรังหาแนวทางช่วย
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สภาเกษตรกรจังหวัดตรัง นายสมคิด สังขมณี ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง พร้อมสมาชิก ได้ประชุมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นประวัติการณ์
นายสมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาเกษตรกรจังหวัดตรังขับเคลื่อนตั้งแต่จัดตั้งสภา ไม่ว่าจะเป็นตลาดกลางยางพารา การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนยาง รวมทั้งการสร้างอาชีพเสริม โดยเฉพาะการผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยกู้ครอบครัวละ 1 แสนบาท เพื่อประกอบอาชีพเสริม ในส่วนของการเคลื่อนไหว ทางสภาเกษตรกรจังหวัดตรังจะเป็นแกนนำประท้วงไม่ได้
ผู้ว่าฯตรังอ้างเหตุตลาดหุ้นจีนร่วง
นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าฯตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังได้ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยาง มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมราคายางในช่วงต้นปีนี้จึงตกต่ำอย่างผิดสังเกต เหลือ กก.ละ 25 บาท หรือ 4 กก.ต่อ 100 บาท พบว่าเกิดจากการผันผวนของตลาดหุ้นจีนลดลง สินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงยางได้รับผลกระทบไปด้วย ยางพารามีการซื้อขายล่วงหน้า เป็นโอกาสที่ทำให้นักเก็งกำไรมาบีบ ทำให้ราคายางตกต่ำ ประกอบกับสต๊อกยางในจีนเองก็มีอยู่มาก ไทยเองก็มีปริมาณยางเป็นจำนวนมาก
นายเดชรัฐกล่าวอีกว่า สิ่งที่จังหวัดแก้ไขตามมาตรการที่ ครม.กำหนด ได้มีแนวทางจ่ายเงินชดเชยชาวสวนยางรวมทั้งผู้กรีดยาง ตรังจ่าย
เงินไปแล้วกว่า 3 ล้านบาท แต่ยังมีปัญหาความล่าช้าการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ข้อเรียกร้องของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเร่งให้ทางรัฐบาลซื้อยางจำนวน 2 แสนตัน ที่จะขายให้กับจีน รัฐบาลพยายามตั้งใจซื้อยางจากชุมนุมสหกรณ์ทั้งหลาย แต่ทางจีนวางเงื่อนไขว่าจะต้องซื้อยางที่มีคุณภาพ ยางที่มีคุณภาพจะต้องผ่านกลุ่ม 5 เสือ เพราะฉะนั้นทำให้ขั้นตอนการซื้อล่าช้า เพราะรัฐบาลต้องการซื้อยางตรงจากกลุ่มสกรณ์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเองก็คงแก้ไข
นายเดชรัฐกล่าวอีกว่า ในส่วนกลุ่มเกษตรกรที่จะมีการเคลื่อนไหวนั้น สั่งการให้ทางตำรวจจับตาเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด และทราบว่ากลุ่มเกษตรกรจะมาประชุมที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพาราจังหวัดตรัง คิดว่าไม่น่าจะก่อเหตุความวุ่นวาย
ตรังชุมนุมแจง5ประเด็นให้รบ.
นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสหกรณ์ชาวสวนยางจังหวัดตรัง กล่าวว่า วันที่ 12 มกราคม เครือข่ายชาวสวนยางพารา 14 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 200 คน จะร่วมประชุมที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพาราจังหวัดตรัง เพื่อเสนอประเด็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราต่อรัฐบาล 5 ประเด็น
นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ จะนัดชุมนุมในวันที่ 12 มกราคม ที่ จ.ตรัง เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความจริงตัวแทนนัดประชุมกันเพื่อรวบรวมและสรุปปัญหา ความเดือดร้อนต่างๆ เสนอไปยังรัฐบาล คาดว่าในวันที่ 12 มกราคมนี้ จะมีองค์กรตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมประชุมกว่า 300 คน ไม่ใช่ชุมนุมเรียกร้องแต่อย่างใด อาทิ เร่งหามาตรการหยุดการไหลของราคาไม่ให้ตกต่ำ เรียกผู้ผลิตในกลุ่มอาเซียนมาหารือ เกษตรกรทุกประเทศขณะนี้เดือดร้อนหนัก และให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 นำยางในสต๊อก 3 แสนตัน มาทำถนน ส่งยางพาราทั้งหมดให้ อปท.นำไปเป็นส่วนผสมสร้างถนน
กระบี่ขนยางแผ่นขายราคาต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ชาวสวนยาง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ต่างเร่งนำยางแผ่นที่เก็บไว้ออกขายให้กับร้านรับซื้อ ราคา กก.ละ 30 บาท กังวลว่าราคาอาจตกต่ำกว่านี้ แม้ราคาที่ขายได้จะต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่อยู่ที่ กก.ละ 60 บาทก็ตาม เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว
นายปรีชา จันทร์ย่อง ชาวสวนยางพารา อ.เหนือคลอง เปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีมาตรการช่วยเหลือให้ราคายางปรับสูงขึ้น แต่ขอให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินค่าชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,500 บาท ที่ชาวสวนยางขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ก่อนหน้านี้ เพื่อบรรเทาความเดือดของชาวสวนยางพาราได้ระดับหนึ่ง ขณะที่คนงานรับจ้างกรีดยางต้องหยุดกรีดยางชั่วคราว หันไปรับจ้างทั่วไปเพราะรายได้ดีกว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว
ชาวสวนยางนครพนมเลิกกรีด
นายทัยฮง พ่อสาร อายุ 57 ปี ประธานสหกรณ์ชาวสวนยางตำบลพุ่มแกจำกัด อ.นาแก จ.นครพนม พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง นำสื่อมวลชนเข้าสำรวจผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาราคายางตกต่ำในพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม มีที่ตั้งสหกรณ์ชาวสวนยางและถือเป็นแหล่งรับซื้ออีกจุดที่สำคัญของ จ.นครพนม เพื่อสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันกำลังประสบปัญหาหนักจากปัญหาราคายางตกต่ำในรอบ 10 ปี ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปัจจุบันราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ประมาณ กก.แค่ 13 บาท ส่วนราคายางแผ่นประมาณ กก.ละ 25-30 บาท ส่งผลให้เกษตรกรสวนยางในพื้นที่เดือดร้อนหนักต้องแบกภาระต้นทุน ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ค่าแรงงานกรีดยาง ทำให้บางรายยอมหยุดกรีดยาง ปล่อยทิ้งชั่วคราว เนื่องจากกรีดไปขายแต่ได้ราคาต่ำ ขาดทุน ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ในพื้นที่ จ.นครพนม มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่กรีดยางพาราประมาณ 2.6 แสนไร่ เฉพาะพื้นที่ อ.นาแก มีประมาณ 90,000 ไร่ เดิมสหกรณ์ชาวสวนยางตำบลพุ่มแกจำกัด อ.นาแก จ.นครพนม จะมียอดรับซื้อประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันราคาตกต่ำเหลือยอดรับซื้อแค่วันละประมาณ 1 แสนบาท ส่วนใหญ่งดกรีดยางมาขาย อีกทั้งไม่มีพ่อค้าคนกลางมาประมูลรับซื้อเลย ชาวบ้านต้องเดือดร้อนแบกภาระหนี้สิน และต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือแก้ไขเร่งด่วน บางคนต้องหันไปทำอาชีพอื่น
"บึงกาฬ"หาทางเพิ่มมูลค่ายาง
นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ชาวสวนยางบึงกาฬกว่า 95% นิยมขายยางเป็นยางก้อนถ้วย โดยราคายางก้อนถ้วยที่พักค้างคืนในวันนี้อยู่ที่ กก.ละ 14 บาท ส่วนยางก้อนถ้วยสด กก.ละ 12-13 บาท เป็นราคาที่ถูกที่สุด แต่หลายคนก็มองว่าชาวบึงกาฬไม่เห็นเดือดร้อนกับราคา ไม่มีการประท้วง ขอเรียนว่าชาวบึงกาฬมีแนวคิดแก้ปัญหา เชื่อมั่นจะทำได้หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ยืนยันเงินกู้ผ่าน ธ.ก.ส. ยกตัวอย่าง ที่ทางบึงกาฬเดินทางไปเมืองชิงเต่า ก็ไปประสานงานกับบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ จำกัด ที่ถือได้ว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน เขาบอกเราว่าต้องเพิ่มมูลค่าเท่านั้นถึงจะแก้ไขปัญหาได้
ผู้ว่าฯบึงกาฬแนะปลูกไม้ผลร่วม
นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าฯบึงกาฬ กล่าวว่า บึงกาฬจะพึ่งรายได้หลักจากยางอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว อยากจะให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางแบ่งพื้นที่สวนยางสัก 30 เปอร์เซ็นต์ มาปลูกไม้ผล เพื่อชดเชยรายได้จากราคายางตกต่ำ มั่นใจว่าพื้นดินในบึงกาฬดีพอที่จะปลูกไม้ผล
อย่างแน่นอน ขณะนี้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาในการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพื่อปลูกไม้ผลต่อไปแล้ว
นายวาสนา บุญคำ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบ้านนาดงน้อย ต.นาดง อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ปลูกยางกว่า 120 ไร่ ต่อมาแบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกผลไม้ ทำแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้น้ำไม้ผล เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง ทุเรียน ลำไย ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี เป็นการแบ่งพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่ง โดยไม้ผลขายได้ราคาดี สร้างรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทดแทนราคายางที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
"เต้น"แนะรบ.คุยชาวสวน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า "ปัญหาเรื่องราคายางนั้น รู้สึกเป็นห่วงท่าทีของนายกฯ ให้สัมภาษณ์แบบไม่คุย ไม่ให้ม็อบมาผิดกฎหมาย ลักษณะนี้เหมือนตัดรอนความหวัง ทำให้ประชาชนที่ทุกข์หนักอยู่แล้วเสียความรู้สึกมากขึ้นไปอีก ส่วนที่แนะนำให้ปลูกสตรอเบอรี่แทนนั้น ไม่รู้ท่านพูดจริงหรือยิงมุข โดยเฉพาะภาคใต้นั้นผมยังนึกภาพไม่ออกว่าจะปลูกสตรอเบอรี่กันอย่างไร สิ่งที่ควรจะเป็นคือ นายกฯหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบควรร่วมพูดคุยกับตัวแทนชาวสวนยางจากทั่วประเทศ เพื่อรับฟังข้อเสนอต่างๆ และประกาศมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว แล้วลงมือทำทันที เพราะที่ผ่านมาการประกาศยุทธศาสตร์เรื่องยางขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อน จะเอายางไปทำถนนและทำอีกหลายอย่างแต่ไม่เห็นความคืบหน้า"