- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 08 January 2016 11:41
- Hits: 6751
บิ๊กตู่ ฮึ่มยางใต้ ชุมนุมเจอคดี ชาวสวน ขู่อดข้าว ประท้วง
'บิ๊กตู่' ฮึ่มม็อบยางใต้ออกมาเจอคดี ยันไม่คุย-ชุมนุมไปก็ไร้ประโยชน์ แนะปลูกสตรอว์เบอร์รี่-กล้วยหอมทอง เพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้าง เล็งนำยางทำถนน-รองสระน้ำ ขณะที่รมว.เกษตรฯ ยันยางโลละ 34 บาท ชี้ราคาน้ำมันทำยางดิ่ง ฮึ่ม ผู้ประกอบการกดราคา-โดนคุก 2 ปี แถมตัดโควตาส่งออกด้วย ด้านม็อบยางฮือ นัดชุมนุมอดข้าว 10 ม.ค. หวังกดดัน-จี้รัฐบาลแก้ยางราคาดิ่ง พร้อมบี้เปลี่ยนรมว.เกษตรฯ เหตุสั่งขายยางแบบจีทูจีกับจีน ขณะที่ชาวสวนยาง 6 จว.ใต้ก็ชง 10 ข้อช่วยเหลือ ทั้งประกันราคา-พักหนี้-อุ้มลูกหลานสวนยาง-คุมตลาดยางด้วย ชี้เดือดร้อนกันหนัก จะซื้อข้าวกินยังลำบาก แถมไม่มีเงินให้ลูกเรียน-จนต้องหยุดเรียนหลายพื้นที่ ส่วนสุราษฎร์ฯ ปลุกกดดันรบ.-คสช.
วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9172 ข่าวสดรายวัน
4 โลร้อย - ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 6 จังหวัดภาคใต้ ประชุมหารือเรื่องราคายางตกต่ำอย่างหนักและมีแนวโน้มต่ำลงต่อเนื่อง โดยสรุปปัญหาและวิธีการแก้ไขยื่นต่อ ผู้ว่าฯ สงขลาเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป ที่สำนักงานสภาเกษตรกร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 ม.ค.
บิ๊กตู่ แนะปลูกสตรอว์เบอร์รี่
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีเกษตรกรชาวสวนยางจะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ถ้าจะออกมาชุมนุมก็ออกมา หากออกมาก็มีคดี ตนก็ทำของตนไป แต่ปัญหาราคายางตกต่ำ มีการช่วยเหลืออยู่แล้ว และกำลังทำอยู่ ซึ่งการจะทำอะไรนั้นต้องใช้เงินหรือไม่ เดี๋ยวตนจะเสียอารมณ์อีก
ผู้สื่อข่าวถามว่าเกษตรกรชาวสวนยางระบุว่าราคายางตกต่ำทุกวันทนไม่ไหวแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ไหวแล้วทำอย่างไร ต้องปรับปรุง ปฏิรูปตัวเองด้วยหรือเปล่า ต้องปลูกพืชเสริม เพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้างหรือเปล่า ที่เหลือรัฐบาลก็จะช่วย แต่ถ้าทั้งหมดยังแบกรับอยู่แบบนี้ ยางทั้งหมดที่ปลูก 5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตกี่ล้านตัน เกินหรือไม่ มันก็เป็นแบบนี้ แล้วใครทำให้ปลูกเยอะ ถ้าปลูกอย่างพอประมาณ โดยวันนี้หลายแห่งช่วยตัวเองได้ ด้วยการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในสวนยาง ปลูกกล้วยหอมทองแทรก จะปลูกอะไรก็ปลูกกันเพื่อให้เกิดรายได้ ให้อยู่กินทดแทนราคายางที่ตกไปก่อน
ยันไม่คุยม็อบยาง-ไม่มีประโยชน์
"รัฐบาลกำลังทำรับเบอร์ซิตี้ กำลังสร้างโรงงานผลิตใหม่ กำลังแก้ไขในเรื่องของการนำไปสู่การทำถนนหนทาง ยางปูพื้น ปูสระ แต่จะเกิดวันเดียวได้หรือไม่ บอกเขาสิที่ผ่านมาทำไมไม่คิดแบบนี้กัน เคยได้เงินชดเชยกันเท่าไหร่ เอาเงินจากไหน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ก.ก.ละ 30 บาท เอาเงินจากไหนตอบมา และเงินที่ใช้แบบนี้กันอยู่ทุกวันเอามาจากไหน เป็นเงินภาษีประชาชน แล้วจะเอาภาษีนี้ไปให้คนกลุ่มใด กลุ่มเดียวหรือ เดี๋ยวอย่างอื่นอีก ฉะนั้นต้องทำโครงสร้างบรรเทาความเดือดร้อนไป 1,500 บาทต่อไร่ นั่นคือการให้ที่ถูกวิธี เคยแต่ให้ชดเชยไปเรื่อยเปื่อย ใช้เงินแบบทิ้งโครมๆ แล้ววันหลังจะใช้อะไรกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าหากเกษตรกรจะชุมนุมวันที่ 12 ม.ค. รัฐบาลจะส่งใครไปคุยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ชุมนุมกันไปสิ ตนไม่คุย ซึ่งเขามีเจ้าหน้าที่ที่จะคุยอยู่แล้ว แต่ผมบอกอย่างเดียว ชุมนุมไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคงไม่ให้ตามนั้นอยู่แล้ว แต่จะช่วยในแบบวิธีการที่ยั่งยืน เขาก็ต้องร่วมมือกับตนด้วย นี่คือเรื่องของการปฏิรูป ให้ตนเป็นคนปฏิรูป แต่ไม่พร้อมจะปฏิรูปกับตนเลย แล้วจะสำเร็จทุกอันหรือไม่ ไม่มีสำเร็จหรอก เขียนกฎหมายมาก็ไม่เชื่อมั่น บังคับใช้ไม่ได้
เมื่อถามถึง ส.ค.ส.จากเด็กที่เขียนถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยเหลือเรื่องราคายาง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้อ่านแล้ว ก็ทำอยู่ทุกวัน
เมื่อถามต่อว่าชอบ ส.ค.ส.ฉบับใดที่เด็กเขียนมาเป็นพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ชอบในความจริงใจของเด็กๆ เพราะเด็กไม่มีมารยาสาไถย ไม่มีดัดจริต
เล็งนำยางทำถนน-รองสระน้ำ
ต่อมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นำคณะเด็กและเยาวชนดีเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ 772 คน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ โดยนายกฯ กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่า เด็กที่วาดรูปส่งมาให้ ก็เห็นใจ สงสาร กดดัน เพราะรู้ว่าลำบาก พ่อแม่ไม่มีรายได้ เขียนมาว่าอยากให้ราคายางสูงขึ้นก็พยายามทำทุกอย่าง แต่ถ้าใช้วีธีการแก้ปัญหาเดิมๆ ก็ลำบาก เพราะมีสวนยางเกินที่ควรจะปลูก ทำให้ผลผลิตเกินความต้องการ ซึ่งทุกประเทศราคาถูกกว่าประเทศเรา ก็ต้องเร่งรัดการพัฒนาผลิตใช้ในประเทศ วันนี้เป็นช่วงเตรียมการผลิตให้เร็วอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสั่งไปแล้ว โดยจะนำไปทำถนน สนามกีฬาตามโรงเรียนต่างๆ ยางสำหรับรองสระน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ หรือยางกันลื่นในห้องน้ำ หรือใช้เพื่อออกกำลังกาย วันนี้เราต้องคิดใหม่ การคิดนอกกรอบไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่อย่าไปสร้างความขัดแย้ง อย่าไปฝืนกติกา ซึ่งต้องดูถึงกฎระเบียบและกติกาด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รู้หรือไม่ว่ากว่าจะมาถึงการกู้ชาติได้เรารู้ถึงความลำบากแค่ไหน ฝากไว้ให้ทุกคนในฐานะอนาคตของชาติในวันเด็กในวันที่ 9 ม.ค. ขอให้เป็นก้าวชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น จึงขอเป็นตัวแทนรัฐบาลส่งความปรารถนาดีไปให้คนทั้งประเทศทั้งบุคลากรครู เดินหน้าสำเร็จเพื่อประเทศ
รมว.เกษตรฯ ยันยางโลละ 34 บ.
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ระหว่างตรวจราชการ จ.พิษณุโลกว่า ปัญหาราคายางตกต่ำจนกระทบต่ออาชีพสวนยาง ได้มอบเงินปัจจัยการผลิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งคนกรีดและเจ้าของสวนแล้ว วันนี้ได้ประชุมที่กระทรวงเกษตรฯ ถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเชื่อว่าเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวฉุดสำคัญที่กดราคายางพาราลดลง จนการสั่งซื้อยางธรรมชาติ ลดลงทันทีเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลทราบดี โดยแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นได้สนับสนุนเงินทุนไปบ้างแล้ว แต่ระยะยาวจะดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนจะยันราคาไว้ได้แค่ไหน คณะกรรมการหลายภาคส่วนกำลังพิจารณา
"เกษตรกรสวนยางพาราก็ต้องเห็นใจด้วย เพราะปลูกยางพาราอย่างเดียวคงไม่ได้ จะรอความหวังราคายางพาราขึ้นคงไม่ได้ด้วย เชื่อว่ายังเป็นปัญหาในอนาคตอีก ฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนยางต้องทำอาชีพเสริมในแปลงไร่ยางพาราของตัวเอง วันนี้รัฐบาลได้สนับสนุนแก่เกษตรกรแล้ว ปล่อยกู้รายละ 100,000 บาท เพื่อทำอาชีพเสริม อาทิ เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ มั่นใจว่าเกษตรกรหลายคนได้ทำแล้ว อีกทั้งมีรายได้ดีกว่า ดังนั้นต้องเพิ่มอาชีพในสวนยาง แต่ไม่ใช่เปลี่ยนอาชีพและเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังสั่งกระทรวงคมนาคม รับนโยบายนำยางธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ คือ ทำถนนเร็วๆ นี้ อีกทั้งสั่งการให้อบจ. และอบต. ผสมยางธรรมชาติ 2 หมื่นตัน เพื่อดึงปริมาณยางที่ล้นตลาด ฉุดราคายางพาราขึ้น ส่วนราคายางพาราจะไม่ต่ำกว่า 50 บาทนั้น เป็นเพียงข้อเสนอของเกษตรกร แต่ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนผู้รับซื้อยาง ทั้งน้ำยางข้น ยางแผ่นและยางแท่ง ว่าจะประชุมกันอย่างไร นอกจากนี้ต้องพิจารณาปัจจัยต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเชียที่ร่วมมือกันอยู่ ส่วนมาตรการ อื่นๆ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ต้องดูก่อน แต่ยืนยันราคายางวันนี้ไม่ใช่ 4 ก.ก. 100 บาท เพราะตรวจสอบแล้ว พบว่ายางพาราก.ก.ละ 34 บาท โดยจะพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำลงทุกวัน แต่ต้องหารือกันก่อน
ขณะที่รายงานจากสถาบันวิจัยยางระบุว่า ราคายางตลาดกลาง ยางแผ่นดิบก.ก.ละ 34.05 บาท และยางแผ่นรมควันก.ก.ละ 34.12 บาท ปรับตัวลดลง 0.20 บาทต่อก.ก. และ 0.39 บาทต่อก.ก.
ฮึ่มกดราคายาง-โดนคุก 2 ปี
วันเดียวกัน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยนายธีรภัทรกล่าวว่า เรียกประชุมกรรมการเพื่อเตรียมรับมือปัญหายางตกต่ำในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือม.ค.-มี.ค. ที่คาดว่าผลผลิตจะออกมาอีกประมาณ 8 แสนตันถึง 1 ล้านตัน ในขณะที่ปัจจุบันราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่องแบบไม่ปกติ จึงต้องร่วมมือกันหาทางสกัดไม่ให้ราคายางพาราลดลงอีก
"เกษตรกรเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำ จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 3 สมาคม คือ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย และกลุ่มสหกรณ์ ให้รับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม ในช่วงที่ผลผลิตจะออกมาจำนวนมากใน 3 เดือนจากนี้ เบื้องต้นจะประเมินผลการประชุมและสรุปเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องของการประชุมและการร่วมมือ เพราะนายกฯ ห่วงเรื่องนี้มาก ห่วงเกษตรกรชาวสวนยางจึงกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลอย่างเร่งด่วน" นาย ธีรภัทรกล่าว
ขณะที่นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ กล่าวว่า หวังว่าผู้ประกอบการจะไม่กดราคาเกษตรกรโดยการซื้อถูกแล้วขายแพง แต่หากราคาลดลงอีกจะถือว่าผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น อาจต้องใช้ไม้แข็งคือนำพ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ออกมาใช้เพื่อสกัดอาการเลือดไหลของเกษตรกร โดยกฎหมายนี้มีโทษหนักถึงจำคุก 2 ปี เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือแล้วยังกดต่ออีกก็อาจจะนำกฎหมายควบคุมการนำเข้า-ส่งออกของกระทรวงพาณิชย์มาใช้ เพื่อตัดโควตาการส่งออกของผู้ส่งออกที่กดราคารับซื้อจากเกษตรกร
สมัชชาสวนยางแนะใช้ม.44
นายไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงกรณีภาครัฐขอให้ผู้ประกอบการซื้อยางเพื่อไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นอยู่ว่า เรื่องนี้ต้องดูกลไกตลาดด้วย เพราะภาคเอกชนควบคุมไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลเอง ราคายางที่ขึ้นลงมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตลาดล่วงหน้าต่างประเทศที่ซื้อยางเป็นหมื่นถึงล้านตัน แล้วตลาดล่วงหน้าต่างประเทศล้วนอิงกับปัจจัยราคาน้ำมันโลกและราคาหุ้นที่ตกลง แต่ไม่ได้อิงกับปัจจัยพื้นฐานตลาดยาง การที่จะให้ภาคเอกชนเข้าไปซื้อก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เราต้องสร้างตลาดที่ซื้อขายและส่งมอบยางจริงได้
นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้าต่างประเทศก็ลงมากกว่าตลาดจริงด้วยซ้ำ ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งตลาดโตคอมของญี่ปุ่น ตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน และตลาดในไทย ราคายางเทียบกันได้หมด ดังนั้น จะมาบอกว่าเอกชนซื้อกดโดยไม่อิงราคาที่ขายก็ไม่ได้ เพราะเราก็ทำเท่าที่ทำได้
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยกล่าวว่า รัฐบาลต้องหาตลาดให้เกษตรกรเพื่อนำยางในสต๊อกระบายออกไปแปรรูป ทั้งให้สร้างคอนกรีตหมู่บ้านละ 1 ก.ม. สร้างสนามฟุตซอล กรวย และอีกหลายอย่างก็สามารถทำได้แต่ยังไม่ดำเนินการ หากเป็นไปได้อยากขอร้องรัฐบาลใช้ม.44 ช่วยเกษตรกรได้น่าจะเป็นเรื่องดี
6 จว.ใต้สรุป 10 ข้อช่วยเหลือ
ที่สำนักงานสภาเกษตรกร อ.เมือง จ.สงขลา ตัวแทนเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 30 คนเข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และมีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพอย่างมาก จึงเร่งหารือเพื่อนำข้อเสนอของสภาเกษตรกรยื่นต่อนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผวจ.สงขลา ให้ส่งต่อไปยังรมว.เกษตรและสหกรณ์
นายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกรจ.สงขลาเปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมสภาเกษตรกรชาวสวนยาง 6 จังหวัดภาคใต้ มีพัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สตูลและยะลา ได้ข้อสรุป 10 ประเด็นคือ ให้ประกันราคายางพารา (น้ำยางสด) ที่ก.ก.ละ 80 บาท พักหนี้เกษตรกรชาวสวนยางและให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับยางตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ย.58 อย่างจริงจัง อีกทั้งรัฐบาลต้องเร่งรัดจ่ายเงินในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง 1,500 บาท พร้อมลดเงื่อนไขและอุปสรรคในการจ่ายเงินเพื่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้น
ชี้ไม่มีเงินให้ลูกเรียนแล้ว
นายชยันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของบุตรหลานเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ พร้อมเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้สภาเกษตรกรแห่งชาติอย่างเร่งด่วน ในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน อีกทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ชาวสวนยาง บริษัทและรัฐบาลร่วมกันแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ และประการสุดท้ายให้รัฐบาลบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 การควบคุมตลาดซื้อขายยาง ผู้ค้ายาง เพื่อให้การซื้อ-ขายยางระดับท้องถิ่น น้ำยางสดถึงยางแผ่นรมควันอัดก้อนมีความยุติธรรมต่อเกษตรกร โดยจะให้เวลารัฐบาล 30 วันในการหาทางแก้ไข หากไม่ดำเนินการใดๆ จะมีมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป
"เกษตรกรชาวสวนยางพาราหวังว่าจะได้รับใบบุญจากรัฐบาล คสช. หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยต่อข้อเสนอจะประสานกับสภาเกษตรกรทั่วประเทศยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป"นายชยันต์กล่าว
ด้านนายยูโซะ อาเก๊ะ ประธานเครือข่ายสภาเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า จากปัญหาเกษตรกรที่ปลูกยางพาราได้รับผลกระทบราคายางต่ำ ตอนนี้เกษตรกรหลายอำเภอกำลังเดือดร้อนหนักจนไม่ไหวแล้ว จะซื้อข้าวกินก็ลำบาก ล่าสุดไม่มีเงินให้ลูกเรียน จนต้องหยุดเรียนหลายพื้นที่ เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของเกษตรกรคือปลูกยาง เมื่อราคาตกต่ำจึงส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ส่วนรัฐบาลจะแก้ปัญหาประกันราคายางหรือช่วยเหลือต้นทุนปลูกยางเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งรัฐต้องแก้อย่างเป็นระบบและถาวร เพื่อจะได้ไม่มีผลกระทบต่อราคายางอีก
ตรังจี้เปลี่ยนตัวรมว.เกษตรฯ
ที่สวนสาธารณะอนุสาวรีย์ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ อ.เมือง จ.ตรัง นายศักร์สฤกษ์ ศรีประศาสตร์ ตัวแทนแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย จ.ตรัง กล่าวว่า จากการประชุมแกนนำสวนยางรายย่อยที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยชาวสวนยางรายย่อยภาคใต้ต้องการให้เปลี่ยนรมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยที่ประชุมเห็นว่า รมว.เกษตรฯ ตอนเป็น รมว.พาณิชย์ มีการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มลดลงทันทีในขณะนั้น พอมาเป็นรมว.เกษตรฯ สั่งให้ขายยางให้ประเทศจีน 2 แสนตัน เป็นเหตุให้ราคายางลดลงมาจนถึงขณะนี้ชนิดเหนือความคาดหมาย
นายศักร์สฤษดิ์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่สั่งให้ขายยางและราคายาพาราลดลง เพราะยางพารา 2 แสนตันที่ตกลงขายให้ประเทศจีนแบบ จีทูจี เป็นการขายตกลงส่งมอบในเดือนมี.ค. โดยบริษัทจากประเทศจีนตกลงว่าจะเอาราคา ณ เดือนส่งมอบ บวกให้อีก 15 บาท เพราะฉะนั้นถ้าเดือนส่งมอบในเดือนมี.ค. ราคา ก.ก.ละ 40 บาท บริษัทจะซื้อในราคา 55 บาท บริษัทที่จะซื้อของจีนทำอย่างไรที่จะให้เดือนม.ค.หรือก.พ.ต่ำสุด ดังนั้นเป้าหมายจะอยู่ในราคาก.ก.ละ 15 บาท ขณะที่ช่วงม.ค.และก.พ.ของปีก่อนๆ ยางพาราจะมีราคาแพง เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปิดกรีด แต่ม.ค.ปีนี้ยางพารากลับมีราคาลดลงเหลือก.ก. 20 กว่าบาท และจะดิ่งลงเหลือ 10 กว่าบาท ด้วยเหตุผลที่บริษัทจีนต้องการซื้อยางในราคาถูก ด้วยเหตุนี้รมว.เกษตรฯ ควรพิจารณาตัวเอง
ขู่ร่วมตัวอดอาหารประท้วง
นายศักร์สฤษดิ์กล่าวต่อว่า ชาวสวนยางรายย่อยภาคใต้ยังต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นวาระประชาชน โดยด่วน เพราะไม่ว่าราคาสินค้า ราคายางพาราจะราคาสักเท่าไหร่ แต่หากราคาสินค้าแพงชาวบ้านจะเดือดร้อน ขณะที่เงินเดือนข้าราชการขึ้น ราคาสินค้าก็ขึ้น ชาวบ้านจึงเดือดร้อน จึงขอให้รัฐบาลกำหนดควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยด่วน นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาล กำหนดโครงการให้ชาวบ้านยางพาราหยุดกรีดยาง และรัฐบาลต้องชดเชยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้มีรายได้ ไม่ใช่ชดเชยเฉยๆ แต่ให้ชดเชยเกษตรกรที่หยุดกรีดยาง จะทำให้การกรีดยางลดลง ที่บอกว่าขณะนี้ยางมีจนล้นตลาด โครงการหยุดกรีดจะทำให้ปริมาณยางลดลงและจะทำให้ชาวสวนยางมีรายได้
นายศักร์สฤษดิ์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ เกษตรกรชาวสวนยางจะกำหนดมาตรการ โดยเริ่มวันที่ 10 ม.ค.เป็นต้นไป ใช้สถานที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจุดรวม จนกว่ารัฐบาลจะให้ความสนใจต่อข้อเรียกร้อง อีกทั้งยังมีมาตรการต่างๆ อีกมาก เพื่อยกระดับความกดดัน ทั้งนี้ในส่วนของจ.ตรัง จะไม่ชุมนุม แต่จะใช้มาตรการอดอาหาร และเปิดให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนลงรายชื่อร่วม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจ เพราะที่ผ่านมามีการยื่นหนังสือจนเหนื่อยแล้ว
สุราษฎร์ฯปลุกกดดันรบ.-คสช.
ที่จ.สุราษฎร์ธานี นายกิตติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย จะจัดประชุมใหญ่ที่จ.ตรัง ในวันที่ 12 ม.ค. ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สาขาตรังนั้น สมาคมเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี จะเดินทางไปคัดค้านการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่โปร่งใส เพราะผู้จัดการประชุมต้องการให้ระบายยาง 3 แสนตันในสต๊อกออกไปยังประเทศจีนที่ได้ทำสัญญากันไว้แล้ว หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้ราคายางในประเทศยิ่งตกต่ำอีก ซึ่งตนได้เสนอไปยังรัฐบาลให้นำยาง 3 แสนตันมาแปรรูปใช้ภายในประเทศแทนการส่งออก
วันเดียวกัน นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี แนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางบ้านส้อง อ.เวียงสระ โพสต์เฟซบุ๊กให้เตรียมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอย่างแตกหักที่ 1/2559 (7 ม.ค.2559) เรื่องเตรียมเคลื่อนไหว เพื่อกดดันรัฐบาลอย่างแตกหัก โดยทำจดหมายเปิดผนึกถึงเกษตรกรชาวสวนยางว่า ตามที่แนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตร จ.สุราษฎร์ธานี เปิดประเด็นเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลและคสช. เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลทำหน้าที่ล้มเหลวและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซ้ำยังทำร้ายพี่น้องด้วยการเมินเฉยและข่มเหงด้วยการบีบโค่นต้นยางพารา โดยอ้างว่ายางพารามีจำนวนมากจนล้นตลาด และสร้างภาระหนี้โดยการสนับสนุนให้กู้ยืมและสนับสนุนเงินอุดหนุนเสมือนการให้ปลา แต่ไม่ให้คันเบ็ด
จึงขอใช้สื่อนี้ปลุกและเรียกร้องพี่น้องให้ออกมากดดันรัฐบาลอย่างแตกหัก โดยให้ยึดถือว่ากล้าดีกว่ากลัว ซึ่งแนวร่วมฯ จะกำหนดทิศทาง พร้อมจะรับผิดชอบผลต่างๆ ที่จะตามมาจากการเคลื่อนไหว จึงขอให้กระจายข่าวและติดตามความเคลื่อนไหว
บิ๊กตู่เมินม็อบยาง แนะปฏิรูปตัวเอง ปลูกกล้วย-สตรอฯแซม สภาเกษตรขอกก.80บาท ปชป.จี้รัฐบาลช่วยด่วน ธกส.ฉุนสมคิด-แต่งดำ
นายกฯไม่คุยม็อบยาง ฮึ่มชุมนุมเจอคดีแน่ บอกไม่มีประโยชน์ที่จะเรียกร้อง ลั่นไม่ให้ตามที่ขอ แนวร่วมกู้ชีพฯนัด 10 ม.ค. ย้ำไม่มีการเมือง ส่วน 6 จว.ใต้รวมพลัง 12 ม.ค. เสนอให้ประกันราคาโลละ 80 บาท พักหนี้-ชดเชยดอกเบี้ย
@ 'ประยุทธ์'ถกช่วยเอสเอ็มอี
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 4/2558 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมเกี่ยวการพัฒนา สสว. เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดเวทีประชาคมโลก โดยทุกประเทศต้องส่งเสริมความเข้มแข้งจากภายใน คือการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง ประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.7 ล้านแห่ง จดทะเบียนแล้ว 8แสนแห่ง ที่เหลือยังไม่จดทะเบียน จึงต้องหาทางนำเข้าสู่ระบบโดยการมีมาตรการต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการสบายใจ ว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะสนับสนุน โดยจะมีการจัดกลุ่มกิจกรรม จัดกลุ่มตามความเร่งด่วน ให้มีมาตรฐานในการคัดแยก ว่ามีกี่ประเภทมีกี่กิจการ "ประเภทที่น่าเป็นห่วงคือ ธุรกิจขนาดเล็กไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้ในเชิงนโยบายได้สั่งการไปหมดแล้ว ในส่วนของภาคการค้าอุตสาหกรรมเขาจะร่วมมือด้วย ขอย้ำเรื่องภาคธุรกิจรายใหญ่ทั้ง 12 ราย รัฐบาลไม่ได้อะไรจากเขา ไม่ได้เอื้ออะไรให้ เอาเขามาช่วยทุกอย่าง โดยเอา 12 กิจกรรมมายึดโยงกับกิจกรรมเอสเอ็มอีด้วย เรียกว่าเป็นพี่จูงน้อง ว่าเขาจะช่วยเหลือเราได้อย่างไร เรื่องการพัฒนาออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่า และเรื่องการตลาด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ทุ่มกว่า 1.9 พันล้านช่วยเหลือ
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า มติที่ประชุมเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนของ สสว. จำนวน 1,977.645 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยจัดสรรเงินกองทุนออกเป็น 6 ส่วน เช่นการจัดสรรเงินกองทุน 437.17 ล้านบาท ให้กับ 3 กระทรวง ดำเนินงาน 9 โครงการ ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์เอมเอ็มอีสู่ตลาดโลก โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
"กระทรวงพาณิชย์ งบประมาณ 187.17 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างนักการค้ามืออาชีพ โครงการกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : สร้างโอกาสเอสเอ็มอี ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโครงการแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี งบประมาณ 150 ล้านบาท ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะต่อเนื่อง โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ และโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์"นางสาลินี กล่าว
@ ชี้ปีหน้าเศรษฐกิจยังท้าทาย
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า การทำงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีชุดนี้ สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดทรุดตัวได้จริง แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวในปี 2559 แต่ยังต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่วนเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปในระบบผ่านการอัดฉีด โดยโครงการต่างๆ ในปี 2558 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจปี 2559 อย่างไรนั้น ส่วนตัว มองว่า การเบิกจ่ายการและการใส่เงินเข้าระบบต้องใช้เวลา จึงต้องขอเวลา 6 เดือน เพื่อติดตามสถานการณ์ว่า จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเพียงใด
"การตั้งเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งเป้าไว้ 5% ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากจะทำได้ตามเป้าต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ทำตลาดกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม" นายเกียรติอนันต์กล่าว และว่า เชื่อว่า รัฐบาลมีเป้าหมายรายได้อยู่แล้วเพียง แต่ไม่ได้แถลงต่อสาธารณะชน
@ คาดส่งออกโตไม่ถึง 5%ตามเป้า
นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะดีกว่าปี 2558 มาจากปัจจัยบวกภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการฟื้นตัวของการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ ที่จะเริ่มเห็นผลภายในปี 2559 ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวอย่างเด่นชัดในช่วงครึ่งปีหลังปี 2559
นายสมประวิณ กล่าวว่า การส่งออกที่ฟื้นตัวอาจจะไม่ได้บวกแรงถึงโต 5% ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ คาดว่าจะทำได้เพียง 2% เท่านั้น เพราะเศรษฐกิจจีนที่โตแบบชะลอตัว ส่งผลลูกโซ่ต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งประเทศเหล่านี้จะต้องส่งออกสินค้าไปยังจีนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังกระทบต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีนโดยตรงด้วย
@ 'สมคิด'ถก 2 แบงก์รับมือแล้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 8 มกราคมนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมผู้บริหาร 2 ธนาคารรัฐ คือ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาหารือที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงาน พร้อมหามาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรและผู้มีรายได้น้อยในการรับมือกับปัญหาภัยแล้ง และการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้น้ำน้อย
นายชาติชาย พยุหานาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การหารือกันถึงแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี มี 3 ส่วนสำคัญคือ 1.การปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร โดยธนาคารออมสินจะร่วมมือกับทาง ธ.ก.ส. 2.การส่งเสริมเอสเอ็มอีรายใหม่ หรือเอสเอ็มอีสตาร์ตอัพ และ 3.การส่งเสริมเอสเอ็มอีภาคเกษตร
@ เงินประมูล4จีทำงบกลางปี
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า งบประมาณที่จะใช้ทำงบประมาณกลางปี วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มาจากรายได้การประมูล 4จี ที่ส่งเข้าเงินคงคลัง ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามหลักการของการจัดทำงบกลางปี รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงสามารถนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้ ขณะนี้สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวให้มากกว่า 7 หมื่นล้านบาท อาจถึง 1 แสนล้านบาท โดย 3 หมื่นล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมานั้น จะมาจากการกู้เพิ่มเติม แต่จะต้องพิจารณาในแง่ของกฎหมายว่าจะสามารถทำได้หรือไม่
@ 'บิ๊กตู่'ฮึ่มยางชุมนุมโดนคดี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา จะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในวันที่ 12 มกราคมนี้ว่า ถ้าจะออกมาชุมนุมก็ออกมา หากออกมามีคดี ทั้งนี้ปัญหาราคายางตกต่ำมีการช่วยเหลืออยู่แล้ว และกำลังทำการจะทำอะไรนั้นต้องใช้เงินหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกษตรกรชาวสวนยางบอกว่าราคายางตกต่ำทุกวันนี้ไม่ไหวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ไหวแล้วทำอย่างไร ต้องปรับปรุง ปฏิรูปตัวเองด้วยหรือไม่ ต้องปลูกพืชเสริมเพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้าง ที่เหลือรัฐบาลจะช่วย วันนี้หลายแห่งช่วยตัวเองได้ ด้วยการปลูกสตรอเบอรี่ในสวนยาง ปลูกกล้วยหอมทองแทรก
"เคยได้เงินชดเชยกันเท่าไหร่ เอาเงินจากไหน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท กิโลกรัมละ 30 บาท เอาเงินจากไหนตอบมา เป็นเงินภาษีประชาชน แล้วจะเอาภาษีนี้ไปให้คนกลุ่มใด กลุ่มเดียวหรือ ฉะนั้นต้องทำโครงสร้างบรรเทาความเดือดร้อนไป 1,500 บาทต่อไร่ นั่นคือการให้ที่ถูกวิธี เคยแต่ให้ชดเชยไปเรื่อยเปื่อย ใช้เงินแบบทิ้งโครมๆ แล้ววันหลังจะใช้อะไรกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า หากเกษตรกรชุมนุมวันที่ 12 มกราคม รัฐบาลได้ส่งใครไปคุยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ชุมนุมกันไปสิ ผมไม่คุย เขามีเจ้าหน้าที่ที่จะคุยอยู่แล้ว แต่ผมบอกอย่างเดียว ชุมนุมไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคงไม่ให้ตามนั้นอยู่แล้ว แต่จะช่วยในแบบวิธีการที่ยั่งยืน เขาก็ต้องร่วมมือกับผมด้วย นี่คือเรื่องของการปฏิรูป"
@ 'ฉัตรชัย'ไม่รับรองโลละ 50 บ.
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ที่ จ.พิษณุโลก ถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่า ได้มอบเงินปัจจุบันการผลิตเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งคนกรีดและเจ้าของสวนแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเป็นตัวฉุดสำคัญที่กดราคายางพาราลดลงมา คำสั่งซื้อยางธรรมชาติลดลงทันที ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลทราบดี แนวทางระยะสั้นจึงได้สนับสนุนเงินทุนไปบ้างแล้ว แต่ระยะยาวนั้นจะดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง และเกษตรกรสวนยางพาราต้องเห็นใจด้วย เพราะปลูกยางพาราอย่างเดียวคงไม่ได้ จะรอความหวังราคายางพาราขึ้นคงไม่ได้ ฉะนั้นชาวสวนยางจะต้องทำอาชีพเสริมในแปลงไร่ยางพาราของตัวเอง
"ไม่ขอยืนยันว่า ราคายางพาราจะไม่ต่ำกว่า 50 บาท เพราะนั่นเป็นข้อเสนอของเกษตรกร แต่ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนผู้รับซื้อยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น และยางแท่ง ว่าจะประชุมกันอย่างไรถึงปัญหา และปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อไป อีกทั้งต้องพิจารณาปัจจัยต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ร่วมมือกันอยู่" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
@ กก.แก้ยางฮึ่มเอาผิดกดราคา
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ที่กระทรวงเกษตรฯ มีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานการประชุมว่า สมาคมยางพาราไทยชี้แจงว่ามีการซื้อยางเก็บตลอด เพราะตลาดโลกยังมีความต้องการ และมีการส่งมอบตามรอบที่ตกลงซื้อขายกันไว้ แต่ในฐานะรัฐบาลรู้สึกงงกับคำตอบ เพราะถ้าเอกชนซื้อยางตลอดทำไมราคายังลดลง ดังนั้นจากนี้ไม่เกิน 7 วัน จะขอความร่วมมือให้ซื้อต่อไปและราคาต้องไม่ต่ำกว่าปัจจุบัน
"ราคายางพาราลดลงทุกวัน หวังว่าผู้ประกอบการจะไม่กดราคา โดยการซื้อถูกแล้วขายแพง หวังว่าหลังการประชุมวันนี้แล้วราคาจะไม่ลดลงอีก หากลดลงอีกถือว่าผู้ประกอบการที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยางไม่ให้ความร่วมมือ อาจต้องใช้ไม้แข็งคือ การนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ออกมาใช้ เพื่อสกัดอาการเลือดไหลของเกษตรกร โดยกฎหมายนี้มีโทษหนักถึงจำคุก 2 ปี เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือแล้วยังกดต่ออีก ก็อาจจนำกฎหมายควบคุมการนำเข้า-ส่งออกของกระทรวงพาณิชย์มาใช้ เพื่อตัดโควต้าการส่งออกของผู้ส่งออกที่กดราคารับซื้อจากเกษตรกร" นางจินตนากล่าว
@ ขอ 3 สมาคมซื้อราคาเป็นธรรม
นายธีรภัทรกล่าวว่า ที่เรียกประชุมกรรมการ เพื่อเตรียมรับมือปัญหายางตกต่ำในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ระหว่างมกราคม-มีนาคม 2559 คาดว่าผลผลิตจะออกมาอีกประมาณ 8 แสนตันถึง 1 ล้านตัน ขณะที่ปัจจุบันราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้มีราคาลดลงต่อเนื่องแบบไม่ปกติ จึงต้องร่วมมือกันหาทางสกัดไม่ให้ราคายางพาราลดลงอีก โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 3 สมาคมคือ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สมาคมยางพาราไทย และสมาคมน้ำยางข้นไทย ให้รับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม ในช่วงที่ผลผลิตจะออกมาจำนวนมากใน 3 เดือนจากนี้
นายไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงการที่ภาครัฐขอให้ผู้ประกอบการซื้อยางไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นอยู่ว่า ต้องดูกลไกตลาดด้วย เพราะภาคเอกชนควบคุมไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลเอง ราคายางที่ขึ้นลงมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ ที่อิงกับปัจจัยราคาน้ำมันโลกและราคาหุ้นที่ตกลง ไม่ได้อิงกับปัจจัยพื้นฐานตลาดยาง
@ เอกชนโต้ไม่ใช่องค์กรการกุศล
"ตลาดยางมีตลาดซื้อขายล่วงหน้าจากต่างประเทศที่ใหญ่กว่ามาชี้นำราคา หากไม่มีตลาดส่งมอบจริงก็ต้องอิงราคาตลาดโดยราคายางตอนนี้เป็นเรื่องกลไกตลาด เราเองก็พร้อมจะซื้อ ถ้าขายได้เราซื้อแน่นอน แต่ถ้าขายไม่ได้ ยิ่งซื้อเยอะยิ่งขาดทุน เราก็ไม่ใช่องค์กรการกุศล" นายไพฑูรย์กล่าว และว่า สำหรับราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้าต่างประเทศ ลดลงมากกว่าตลาดจริงด้วยซ้ำ ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปีเลย ทั้งตลาดโตคอมของญี่ปุ่น ตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน และตลาดในไทย ราคายางเทียบกันได้หมด
นายไพฑูรย์ กล่าวถึงการที่มีข้อกล่าวหาว่าภาคเอกชนมีการซื้อยางกดราคาว่า ถามว่าภาคเอกชนจะทำเพื่ออะไร คำถามคือบริษัทได้กำไรจริงไหม เพราะเท่าที่พูดกันขอให้ดูต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตรงไหนที่กำไร อย่างอุตสาหกรรมกลางน้ำแค่ซื้อมาขายไป จะราคามากหรือน้อย ส่วนแบ่งตลาดก็เท่าเดิม
@ 'อภิสิทธิ์'จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนและเร่งเครื่องให้ชัดเจนขึ้น ในการใช้ยางภายในประเทศในโครงการของรัฐบาล เช่น เอาไปทำถนน ถ้ากรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทเอาจริงทำเรื่องนี้ ก็จะเห็นผลชัดเจนขึ้น แล้วต้องไปกระตุ้นโครงการที่ทีมเศรษฐกิจวางแนวไว้อยู่แล้ว เรื่องของเครือข่ายวิสาหกิจ (คลัสเตอร์) เรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางว่าจะทำอย่างไร ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องลงไปช่วยประชาชนในการปรับโครงสร้างการผลิตว่า จะมีรายได้เสริม หรือจะปรับเปลี่ยนบางพื้นที่ที่สามารถที่จะทำรายได้จากเรื่องอื่นได้มากกว่า
@ นัดแสดงพลังเดือดร้อน 12 มค.
นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว อดีต ส.ส.สงขลา ปชป. ในฐานะประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า มติของสมาพันธ์คือ จะมีการรวมตัวกันของชาวสวนยางเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเดือดร้อน ในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช.ใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบสต๊อกยางที่แท้จริงว่ามีอยู่เท่าไหร่ รวมถึงการระดมสมองจาก 4 ภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ราชการ เกษตรกร และพ่อค้า พื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะขณะนี้ราคายางพาราตกต่ำจนเข้าขั้นวิกฤตเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 100 ปี
"การรวมตัวกันในวันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อแสดงพลังความเดือดร้อน พร้อมยื่นหนังสือถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้ง 3 คนของ จ.สงขลา เพื่อนำเสนอต่อไปถึงนายกรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างการขออนุญาตชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอน" นายชัยวุฒิกล่าว
@ เสนอประกันราคา 80 บาท/กก.
ที่สำนักงานสภาเกษตรกร อ.เมืองสงขลา ตัวแทนเกษตรกร 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล พัทลุง) ประมาณ 30 คน ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อสรุปข้อเสนอของสภาเกษตรกรยื่นผ่านนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สงขลา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป 10 ประเด็น เช่น ให้ประกันราคายางพารา (น้ำยางสด) ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 80 บาท พักหนี้เกษตรกรชาวสวนยางและให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย รัฐบาลเร่งการจ่ายเงินในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง ให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของบุตรหลานเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้หวังว่าได้รับใบบุญจากรัฐบาลและ คสช. หากรัฐบาลนิ่งเฉยต่อข้อเสนอ จะประสานกับสภาเกษตรกรทั่วประเทศยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป
@ อบจ.สงขลารับร้องเรียนอื้อ
นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เปิดเผยว่า มีชาวสวนยางในหลายพื้นที่ที่เดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำร้องเรียนมายัง อบจ.พร้อมขอให้เร่งรัดการช่วยเหลือ โดยในส่วนของ อบจ.สงขลา ได้พยายามดำเนินการหามาตรการในการนำยางพารามาใช้ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากได้นำยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนสายกาญจนราเมศวร์-เกาะหมี อ.หาดใหญ่ มาแล้ว 1 สาย เมื่อปีที่ผ่านมา ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ในปีนี้ได้ขยายผลทำถนนยางพารา เพิ่มอีก 1 สายในควนเนียง-บางเหรียง อ.ควนเนียง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ได้ประสานไปยังสมาพันธ์ อบจ.ภาคใต้ เพื่อให้หันมาส่งเสริม และใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการทำถนนสายใหม่ ในความรับผิดชอบของ อบจ.ในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง เช่น สนามฟุตซอล และสระน้ำสำหรับใช้หน้าแล้ง หากสามารถทำได้ก็จะตั้งงบประมาณในการดำเนินการทันที
@ อดีตส.ส.ตรังออกแถลงการณ์
ขณะที่สำนักงานงานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จ.ตรัง เขต 1 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ อดีต ส.ส.ตรัง เขต 1 ปชป. ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างจริงจัง ตอนนี้ชาวสวนยางกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก แต่ดูแลรัฐบาลยังไม่เดือดร้อนเท่าที่ควร ทั้งที่ชาวสวนยางบางคนตอนนี้ไม่มีแม้แต่เงินแม้จะซื้อข้าวสารกรอกหม้อหรือให้ลูกไปโรงเรียน หลังจากราคายางตกต่ำสุดสุด บางรายต้องประกาศขายสวนยางเพื่อนำไม้ยางพารามาเป็นค่าใช้จ่าย และดูแล้วอาชีพสวนยางพารามืดมนเต็มทีในช่วงนี้
นายบุญมาก บุญเต็ม ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยูงทอง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความชัดเจน โดยเฉพาะเสถียรภาพของราคายางพาราอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกษตรกรอยู่ในภาวะเดือดร้อนอย่างหนัก หากจะเปลี่ยนจากการทำสวนยางไปทำอย่างอื่นนั้นต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยถึง 7 ปี บางคนทุนก็ไม่มี สวนยางก็จำนำจำนอง บางรายถูกยึดเป็นค่าดอกเบี้ย
@ จี้ให้เปลี่ยนตัวรมว.เกษตรฯ
ด้านนายมนัส บุญพัฒน์ เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ได้เชิญเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเข้าร่วมหารือถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่อาคารอเนกประสงค์ ตลาดถ้ำพรรณรา อ.พรรณรา จ.นครศรีธรรมราช ที่ประชุมมีมติ 3 ข้อ คือ 1.ร่วมกันออกมาแสดงความเดือดร้อน เพื่อขอคำยืนยันในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล โดยใช้สถานที่หน้าศาลากลางจังหวัดเป็นจุดรวม 2.ประสานงานชาวสวนยางในทุกจังหวัด ทุกภาค ทุกองค์กร ที่เดือดร้อนถ้วนหน้า และ 3.ร่วมแสดงตนของผู้เดือดร้อนในวันที่ 10 มกราคม เวลา 09.09 น.
"ที่ประชุมมีมติสรุปข้อเรียกร้องที่จะต้องนำเสนอต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนรับผิดชอบ เช่น ราคาน้ำยางสดต้องกิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท ทั้งที่ต้นทุนจริง กก.ละ 64.25 บาท และขอให้พิจารณาการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถือว่าไม่มีความสามารถในการบริหารนโยบาและแก้ไขปัญหา" นายมนัสกล่าว
@ ยาง 16 จว.ใต้โพสต์นัดรวมตัว
นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนชาวสวนยางลงในโลกโซเชียล กรณีจะมีการชุมนุมกันในวันที่ 10 มกราคมนี้ว่า "กระทะต้องร้อนกว่าตะหลิว หมดยุคลัทธิหวังพึ่งและทำแทน ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นวิกฤตชาติ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางได้เคยประกาศเป็นเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำมาแล้ว ความทุกข์ของชาวสวนยางต้องข้ามพ้นสีเสื้อ ความยากเข็ญของประชาชนจะสลายความขัดแย้ง กลุ่มไหนจะประชุมหรือชุมนุมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางเห็นด้วยและยินดีสนับสนุน แต่มีข้อแม้เดียว กรุณารับใช้ชาวสวนยางอย่างสุดหัวจิตหัวใจ อย่าเอาความทุกข์ของพี่น้องชาวสวนยางมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองและเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เพราะเราจะไม่ยอมอีกต่อไป วันที่ 10 มกราคม 2559 เวลา 10.00 น. พบกับพวกเราได้ที่สหกรณ์การเกษตรท่าแซะ อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี"
@ ชาวสวนยางตรังผูกคอตาย
พ.ต.อ.สิทธินันท์ สังฆพันธ์ ผกก.สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง กล่าวถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Samrt Yaranee ได้โพสต์รูปชายสวมชุดกรีดยางผูกคอตายในสวนยางพารา และข้อความว่า "ตายหมดคนตัดยาง" ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุการผูกคอตายอาจจะมาจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ส่วนผู้ตายคือ นายชัยรัตน์ ชุมศิริ หรือเอ็ม อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 122 หมู่ 9 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด มีอาชีพทำสวนยางพารา โดยคืนวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา นายชัยรัตน์ออกจากบ้านเพื่อไปกรีดยาง จากนั้นเช้าวันที่ 3 มกราคม มีชาวสวนมาพบศพผูกคอตายใต้ต้นยางพารา ซึ่งจากการสอบสวนญาติผู้ตายทราบว่า ผู้ตายมีปัญหาครอบครัว ดังนั้นสาเหตุของการผูกคอตายจึงมาจากปัญหาครอบครัว ไม่ใช่เรื่องยางพารา
@ ธ.ก.ส.แต่งดำประท้วงสมคิด
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 มกราคม มีการส่งข้อความทางไลน์ของพนักงาน ธ.ก.ส. ระบุเป็นแถลงการณ์จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. (สร.ธ.ก.ส.) เชิญชวนให้พนักงานแต่งชุดดำในวันที่ 8 มกราคม เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านคำพูดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ไปปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 6 มกราคมว่า การมอบหมายงานจากรัฐถือเป็นหน้าที่โดยตรงของ ธ.ก.ส. ถ้าหากทำไม่ได้ให้ยุบทิ้งไป โดยแถลงการณ์ระบุว่าเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ บั่นทอนขวัญและกำลังใจของพนักงานผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทำหน้าที่สนองนโยบายของรัฐอย่างเต็มกำลังเพื่อดูแลเกษตรกรของชาติด้วยดีเสมอมา
ทั้งนี้ แถลงการณ์ถูกส่งไปยังกลุ่มไลน์ของพนักงาน ธ.ก.ส.ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด รวมถึงได้ส่งกำหนดการที่นายสมคิดจะไปตรวจเยี่ยมธนาคารออมสินในวันที่ 8 มกราคม เพื่อมอบนโยบายแก่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรและเอสเอ็มอี ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าทาง สร.ธ.ก.ส.จะเคลื่อนไหวไปที่ออมสินหรือไม่