- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 03 January 2016 15:15
- Hits: 6292
บิ๊กป้อมปาร์ตี้ปีใหม่ ขอผบ.ทัพหนุนบิ๊กตู่ ลุยงานตาม'โรดแมป' พอใจกห.สอบราชภักดิ์ 'มีชัย'ชี้ร่างรธน.คืบหน้า วางกรอบ'ปฏิรูป 2 ด้าน' การศึกษา-บังคับใช้กม.
งาน'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เปิดบ้านพักย่านมีนบุรี กทม. จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่เมื่อค่ำวันที่ 1 มกราคม โดยมี ครม.สายทหารและนายทหารระดับสูงจาก 3 เหล่าทัพร่วมงานคับคั่ง
งาน'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เปิดบ้านพักย่านมีนบุรี กทม. จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่เมื่อค่ำวันที่ 1 มกราคม โดยมี ครม.สายทหารและนายทหารระดับสูงจาก 3 เหล่าทัพร่วมงานคับคั่ง
'บิ๊กป้อม'จัดปีใหม่'ครม.-ผบ.เหล่าทัพ'แห่ร่วมแนะทำงานเพื่อชาติยึดโรดแมป 'บิ๊กตู่'บ่นเหนื่อยทำอะไรก็ถูกด่า 'มีชัย'แย้มบัญญัติปฏิรูปการศึกษา-บังคับใช้ กม.ใน รธน.เล็งยกเครื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หวังคัดคนดีเข้าสู้การเมือง
@ "ป้อม"จัดปีใหม่"บิ๊กตู่"นำครม.ร่วม
เมื่อวันที่ 2 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดบ้านพักส่วนตัวภายในหมู่บ้านกฤษดานคร เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่เมื่อวันที่ 1 มกราคม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมถึงนายทหารระดับสูงของกองทัพบก มาร่วมงานอย่างคึกคักกว่า 500 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย แขกภายในงานพูดคุยหยอกล้อกัน และมีร้านอาหารมาออกร้านกว่า 30 ร้าน
@ บอกขอให้ทำงานตามโรดแมป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทั่งเวลา 21.54 น.พล.อ.ประวิตรขึ้นเวทีกล่าวอวยพรผู้มาร่วมงานว่า พรที่น้องๆ ให้มาขอให้น้องๆ ได้กลับไปทั้งหมด ขอให้ทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ ช่วยกันขับเคลื่อนงานตามโรดแมป ช่วยเหลือนายกรัฐมนตรีและพี่น้องประชาชน ส่วนที่ทำงานหนักมาทั้งปีเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป ปี 2559 ขอให้ทางเหล่าทัพร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน และเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศต่อไปให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์พร้อมรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขึ้นเวทีร่วมกันร้องเพลง 3 เพลง ได้แก่ เพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย เพลงเพราะเธอคือประเทศไทย และเพลงมาร์ชสามัคคีสี่เหล่า ก่อนที่จะลงเวทีมาพูดคุยร่วมกัน และแยกย้ายกันกลับบ้านประมาณเที่ยงคืน
@ "บิ๊กตู่"บ่นทำงานเหนื่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวกับผู้ที่มาร่วมงานว่าทำงานมารู้สึกเหนื่อยมาก ทำอะไรก็มักถูกด่า และขอให้ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อประเทศชาติ แหล่งข่าวใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรเปิดเผยว่า การจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ทาง พล.อ.ประวิตรจัดเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดทุกวันที่ 31 ธันวาคม แต่ในปีนี้เลื่อนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม เพราะ พล.อ.ประวิตรต้องการให้น้องๆ ได้เข้าวัดทำบุญสวดมนต์ข้ามปีและฉลองข้ามปีพร้อมกับครอบครัว เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรตั้งใจไว้ อีกทั้ง พล.อ.ประวิตรได้ไปสวดมนต์ข้ามปีด้วยเช่นกัน เพราะต้องการทำตามนโยบายและโครงการสวดมนต์ข้ามปีที่วางไว้
@ "มีชัย"ชี้รธน.ปชช.มีส่วนร่วม
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า อยากชักชวนให้ดูกลไกที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และกลไกการขจัดทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในหน้าที่และการเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเมืองบริสุทธิ์ ประเทศเดินหน้าไปได้ โดยไม่ติดกับดักเหมือนที่เป็นอยู่
"การมีส่วนร่วมของประชาชนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.การรับรองการมีส่วนร่วมที่เกี่ยวกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ประชาชนมีสิทธิรับรู้และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น 2.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกบุคคลเป็นผู้บริหารประเทศที่จะมีกลไกทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลการเลือกตัวบุคคล พรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรี และ 3.การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาสมัครเป็น ส.ว.โดยกระบวนการเลือกกันเองแบบทางอ้อม ทำให้ประชาชนที่สนใจทางการเมืองสามารถมาลงสมัครได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงพรรคการเมืองหรืออยู่ใต้อาณัตินักการเมือง" นายมีชัยกล่าว
@ วางกรอบคัดคนดีสู่การเมือง
นายมีชัยกล่าวถึงการวางกลไกให้การทุจริตลดลงอย่างเป็นรูปธรรมว่า จะกำหนดคุณสมบัติของคนที่เข้าสู่การเมืองทุกองคาพยพ จะต้องไม่เคยถูกตัดสินว่าเป็นผู้ทุจริตทั้งในหน้าที่และการเลือกตั้ง ถ้าใครถูกตัดสินเช่นนั้นต้องถูกห้ามตลอดชีวิต เป็นมาตรการแรง
"หวังว่าคนที่เข้าสู่การเมืองจะตระหนักถึงความรุนแรงอันนี้ และจะหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิด ขณะเดียวกันระหว่างการเข้ามาทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองก็จะมีกลไกควบคุมไม่ให้ประพฤติในทางที่ไม่สุจริตอย่างชัดแจ้งและทางจริยธรรมที่มีการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง หากใครถูกตัดสินว่ากระทำแบบนั้นก็จะถูกห้ามเข้าสู่การเมืองตลอดชีวิตเช่นกัน" นายมีชัยกล่าว และว่า กลไกเหล่านี้จะกระจายไปอยู่ตามองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ โดยปรับปรุงการทำหน้าที่และที่มาขององค์กรอิสระให้มีความเข้มข้นเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน สิ่งที่เคยห้ามในรัฐธรรมนูญ แต่ถูกละเลย กลายเป็นการปฏิบัติที่ทุกคนวางเฉย เช่น การห้าม ส.ส.แปรญัตตินำงบประมาณไปใช้เป็นงบ ส.ส. ซึ่งมีการละเมิดเป็นประจำ แต่ไม่มีบทลงโทษชัดเจน ครั้งนี้จะให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหากฝ่าฝืนก็จะให้พ้นจากตำแหน่งและไม่สามารถเข้าสู่วงการเมืองได้อีก ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง ส.ส. ส.ว. ครม.และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตั้งเป้าให้ร่างรัฐธรรมนูญสั้น กระชับ จะมีทั้งหมดกี่หมวด กี่มาตรา นายมีชัยกล่าวว่า ขณะนี้มี 250-260 มาตรา แต่เป็นเพียงแค่ร่างเบื้องต้น ต้องไปปรับให้กระชับมากขึ้น จะเหลือมากน้อยเท่าใดยังบอกไม่ได้ แต่วิธีการเขียนจะเขียนให้กระชับ แม้จะมีเลขมาตรามาก แต่เนื้อหาแต่ละมาตราจะไม่ยืดยาว เว้นแต่บางมาตราที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องบรรยายให้ยืดยาว แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเขียนให้กระชับ
@ แย้มวางปฏิรูป 2 เรื่องในรธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปฏิรูปจะระบุลงไปในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า กำลังอยู่ในการพิจารณาว่าจะมีเรื่องการปฏิรูปเรื่องใดที่มีความจำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้การปฏิรูปเดินไปข้างหน้าได้ เท่าที่คิดมี 2 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญทำให้รัฐธรรมนูญสามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.การปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแบบที่เป็นมา
"ส่วนการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ทาง กรธ.กำลังมีหนังสือสอบถามไปยังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า มุ่งปฏิรูปเรื่องใด และเรื่องใดมีความรีบด่วน ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี จะมีในรูปแบบใด ยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าหลังจากที่รัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จแล้ว จะส่งไปให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง ครม.อาจจะมีข้อเสนอในเรื่องยุทธศาสตร์แห่งชาติและการปฏิรูปที่อยากให้ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ถึงตอนนั้น กรธ.จะกลับมาดูอีกที" นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปจะทำในภาพรวม หรือมีองค์กรขึ้นมากำกับดูแล ว่า กำลังรอดูว่าทาง สปท.มีความคิดอย่างไร หากคิดว่ามีกฎหมายออกมาฉบับหนึ่งแล้วการปฏิรูปเดินหน้าไปได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือถ้าจำเป็น เพียงแต่เขียนบังคับให้มีกฎหมายเท่านั้น
@ ไม่สรุปปฏิรูปตำรวจในรธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอให้ปฏิรูปตำรวจโดยให้แยกการสอบสวนออกจาก ตร.จะเขียนในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ปัญหาของตำรวจมีอยู่เรื่องเดียวคือ การเจริญเติบโต ไม่ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ การเลื่อนตำแหน่งขึ้นอยู่กับการวิ่งเต้น เป็นจุดอ่อน ทำให้ตำรวจเสียกำลังใจในการทำหน้าที่ ถ้าขจัดเรื่องวิ่งเต้นได้ ตำรวจทั้งประเทศจะมีขวัญกำลังใจ สามารถเจริญก้าวหน้าตามหน้าที่ของตนเอง
"ส่วนเรื่องอื่นปรับเปลี่ยนแก้ได้ง่าย ไม่ยาก การเสนอให้แยกงานสอบสวนออกมา เป็นผลมาจากคนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่สามารถเลื่อนขึ้นไปได้ตามลำดับขั้น ทั้งนี้ การปฏิรูปตำรวจยังไม่ได้คิดว่าจะเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญหรือไม่" นายมีชัยกล่าว
@ รอผลศึกษาปฏิรูป-ปรองดอง
เมื่อถามว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.จะนำข้อโต้แย้งของฝ่ายต่างๆ มาประกอบการพิจารณาว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แต่ยังไม่เคยคิดว่าจะมี และยังนึกไม่ออกว่าจะมีไปทำไม หน้าตาไปอย่างไร
"ส่วนข้อวิจารณ์ระบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้การเลือกตั้งเกิดความรุนแรง และมีการซื้อเสียงมากขึ้น ยังไม่เห็นว่าจะทำให้การเลือกตั้งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แต่หากใครไปซื้อเสียงขอให้นึกถึงผลลัพธ์ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องไปหมดและไปแบบไม่กลับมา มาตรการแซงก์ชั่นจะเป็นตัวสำคัญจะทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจได้พอสมควร" นายมีชัยกล่าว
เมื่อถามว่าการปฏิรูปและการปรองดองจะแยกหรือจะเชื่อมโยงกันในรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.กำลังรอฟังผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการของ กรธ.ที่กำลังพิจารณาอยู่ แต่ที่สื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอความเห็นเรื่องนี้ไปแล้ว ไม่รู้ว่านำมาจากไหน แต่ยืนยันว่า กรธ.ยังไม่ได้พิจารณา อย่างไรก็ตาม กรธ.พร้อมนำข้อเสนอมาพิจารณาประกอบร่วมกัน ไม่ทิ้งต้องมีกลไกปรองดองในรธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ขณะนี้จำเป็นต้องมีกลไกมาสร้างความปรองดองในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่น่าจะต้องมีกลไกอะไร ถ้าคิดออกว่าจะปรองดองกันอย่างไร ค่อยมาดูกันอีกทีว่าจะทำให้เกิดผลได้อย่างไร หากตั้งเป้าว่าจะต้องมีนั่นมีนี่ อาจจะไม่ตรงกับความจำเป็น
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเขียนเรื่องการปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า อาจจะต้องมีกระบวนการทำให้เกิดความปรองดองขึ้นมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ ลำพังการเขียนในรัฐธรรมนูญให้ทุกฝ่ายดำเนินการให้เกิดความปรองดอง ถ้าเขียนเพียงเท่านั้นแล้วทำให้เกิดการปรองดองได้ เราเขียนไปนานแล้ว มันไม่น่าสัมฤทธิ์ผลได้เพียงแค่การเขียนเท่านั้น
@ เล็งยกเครื่ององค์กรตามรธน.
นายมีชัยกล่าวถึงการเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ได้คิด เพราะต้องรอให้เนื้อหาเสร็จสมบูรณ์ก่อน จึงจะเริ่มเขียนบทเฉพาะกาล หากการไปประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่สามารถพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดเสร็จ อาจจะพิจารณาเรื่องบทเฉพาะกาลได้ในช่วงนั้น แต่หากเสร็จไม่ทัน จะพิจารณาหลังจากนั้น
เมื่อถามว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญใหม่ ควรให้ชุดเดิมอยู่ทำงานครบวาระ หรือเปลี่ยนตามโครงสร้างใหม่ นายมีชัยกล่าวว่า มีการหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร มีแนวคิดหนึ่งว่า ควรให้เริ่มต้นใหม่ เพราะบางองค์กรระยะเวลาอายุเปลี่ยนไป สมควรเริ่มต้นใหม่ แต่อีกความคิดหนึ่งบอกว่า ถ้าให้เริ่มต้นใหม่พร้อมกันทั้งหมดจะเกิดความโกลาหลได้ บางองค์กรเพิ่งมีคนใหม่เข้ามา ถ้าให้ไปเริ่มต้นใหม่เหมือนไปฆ่าเขาให้สิ้นชีวิต จึงยังไม่มีข้อยุติออกมาว่าจะทำอย่างไร
@ เชื่อรธน.ผ่านประชามติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ามีปัจจัยใดทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ นายมีชัยกล่าวว่า "ยังไม่เคยคิดในแง่นั้น คิดว่า เราทำดีที่สุดแล้ว ถ้าประชาชนเข้าใจอย่างที่เราพยายามอธิบาย ก็น่าจะผ่าน จริงอยู่แม้พรรคการเมืองจะคัดค้าน แต่อาจเป็นการพูดด้วยอารมณ์ ถึงเวลาต้องเห็นแก่ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ"
เมื่อถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ประชาชนจะได้อะไร จะกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า แน่นอนอยู่แล้ว ถ้าไม่ผ่านต้องไปร่างกันใหม่ คือยังไงก็ต้องไปทำกันใหม่ เมื่อถามว่าจะรับผิดชอบอย่างไรกับความเสียหายหากประชามติไม่ผ่านทำให้เสียงบประมาณใครจะรับผิดชอบ นายมีชัยกล่าวว่า คนที่ทำให้ไม่ผ่านก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อถามว่าหมายถึงประชาชนหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ ใครที่บิดเบือนจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด คนนั้นต้องรับผิดชอบ เมื่อถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านแสดงว่ามาจากการบิดเบือนใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า มาถามคนร่าง คนร่างต้องตอบอย่างนั้น เพราะคนร่างก็ร่างดีที่สุด เท่าที่สติปัญญาจะมี
@ เผยยกร่างรายมาตรา11-17ม.ค.
นายมีชัยกล่าวถึงรูปแบบการประชุม กรธ.ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 11-17 มกราคม ว่าจะพิจารณาตั้งแต่มาตรา 1 เป็นต้นไป จะดูถ้อยคำและความสอดคล้อง ความสมบูรณ์ คิดว่าน่าจะเห็นออกมาเป็นรายมาตราได้ และคิดเหมือนกันว่าจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังได้ หากไม่มีเรื่องหารือที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่มีเงื่อนไขว่าเข้าไปแล้วห้ามลุกออก ต้องอยู่ด้วยกัน จะได้รู้ว่าเหนื่อยแค่ไหน
เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีเนื้อหาในส่วนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยในการตีความหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เจตนารมณ์ของการตีความกฎหมายไม่ได้ดูที่คนร่างคิด แต่ดูที่เขียนออกมาอย่างไร เวลาตีความจะดูจากถ้อยคำทั้งหมด แล้วนำมาประมวลว่าเจตนารมณ์จากตัวหนังสือเหล่านั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร เพราะไปถามคนร่างไม่ได้ คนร่างอาจลืมไปบ้าง เปลี่ยนความคิดบ้าง หรือตายไปแล้ว ตีความไม่ได้จะแย่ เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว มีเนื้อหาในส่วนบันทึกเจตนารมณ์ประกอบด้วย นายมีชัยกล่าวว่า เป็นความตั้งใจที่จะบังคับคนตีความว่าจะต้องมา แต่เอาเข้าจริง หลักการตีความไม่ใช่แบบนั้น
@ แย้มมีกลไกผ่าทางตัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีกลไกในรัฐธรรมนูญไม่ให้ประชาชนออกมาเรียกร้องตามท้องถนนอีกอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า วางเป็นขั้นตอนในทุกเรื่อง โดยมีองค์กรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยจะสิ้นสุด ไม่ปล่อยให้เรื่องคาราคาซัง
อยู่จนต้องไปตีความบนท้องถนนอีก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ออกมาใช้บังคับแล้วชาวบ้านจะเดินขบวนแสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้เลย มันไม่ใช่ เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ ตราบเท่าที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือละเมิดสิทธิคนอื่น ซึ่งอันนี้จะเป็นจุดเน้นอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าสิทธิที่รับรองไว้ จะต้องใช้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
เมื่อถามว่า ควรมีเวทีให้พรรคการเมืองได้รณรงค์ในช่วงการทำประชามติหรือไม่ นายมีชัยกล่าว ไม่รู้ ไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ.จะไปคิดแทนคนอื่น กรธ.มีหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมายและผลที่ต้องการคืออะไร เพื่อให้ประชาชนทราบอย่างกระจ่างเท่านั้น
@ กรธ.ย้ำ29ม.ค.ร่างแรกเสร็จ
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงการทำงานของ กรธ.หลังปีใหม่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญเกือบเสร็จสิ้นหมดแล้ว เหลือเพียงการปฏิรูปและการปรองดอง เพราะทาง กรธ.ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะนำเรื่องเหล่านี้ไปใส่ไว้ตรงไหน และอีกเรื่องคือบทเฉพาะกาล ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญเรื่องอื่นนั้น หลักการยุติเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้อาจจะทบทวนในส่วนที่มีการทักท้วงหรือเห็นต่าง
นายอุดมกล่าวว่า วันที่ 4 มกราคม กรธ.จะประชุมตามปกติ จะนำส่วนที่อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯสรุปความเห็นที่ได้ไปรับฟังที่ต่างๆ มาให้ที่ประชุมใหญ่รับทราบว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง และประเด็นใดที่ประชาชนจับตามอง รวมถึงที่ประชาชนท้วงติง ส่วนการกลั่นกรองคำและรายละเอียดอื่นจะไปทบทวนกันในวันที่ 11-17 มกราคม ที่ทาง กรธ.จะออกนอกสถานที่ เพื่อที่จะได้เสร็จสิ้นและเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนตามกำหนดการ คือวันที่ 29 มกราคม และหลังจากวันที่ 29 มกราคม จะรับฟังความเห็นและรับมาปรับเปลี่ยนดูข้อดีข้อเสียให้ชัดขึ้น
@ รบ.-คสช.รับผิดชอบประชามติ
นายอุดมกล่าวถึงการทำประชามติว่า ที่ประชุมเกือบจะไม่มีการพูดถึงเลย กรธ.พูดกันแต่แผนประชาสัมพันธ์ เมื่อข้อมูลเสร็จก็ส่งมอบให้อนุกรรมการฝ่ายรับฟังฯมาทำงานดูว่าประชาชนมองสิ่งที่ร่างออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไร กรธ.จะมีเวลาทบทวนอีกครั้งหลังวันที่ 29 มกราคม
เมื่อถามว่า ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 37 วรรคท้ายกังวลหรือไม่จะส่งผลให้ประชามติไม่ผ่าน นายอุดมกล่าวว่า เรื่องประชามติจะผ่านมากน้อยหรือไม่ผ่าน ในส่วน กรธ.ถือว่าให้ข้อมูลประชาชนแล้ว ส่วนประชามติจะออกมาเป็นอย่างไรอยู่ที่รัฐบาลและ คสช.จะปรับออกมาเป็นอย่างไร ไม่ได้พูดถึงเลยเพราะเราทำหน้าที่ในการยกร่างและก็ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลประชาชนเท่านั้น
@ ไม่ผ่านประชามติกลับเลี้ยงหลาน
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. คนที่ 1 กล่าวถึงการทำประชามติโดยที่ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันแล้วว่าไม่เป็นปัญหา ที่เป็น
กระแสข่าวนั้นเพราะมีคนพยายามหยิบยกมาเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ดีการทำประชาชามติเป็นเสียงของประชาชนและเสียงของประชาชนก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล และเมื่อรัฐบาลบอกว่าไม่มีปัญหา แล้วทำไมเราต้องมาตื่นเต้นกัน ซึ่ง กรธ.มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
"กรธ.พูดแต่เพียงทำอย่างไรให้เสร็จ ให้ดีที่สุด นอกจากนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา และนายมีชัยพูดบ่อยๆ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ กรธ.ก็กลับไปเลี้ยงหลานกันเหมือนเดิม" นายปกรณ์กล่าว
@ สปท.ดันยุทธศาสตร์ชาติ4แผน
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (กมธ.) ด้านบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงการมีส่วนร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติของ กมธ.ว่า เป็นงานที่สานต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายกรัฐมนตรีได้ความเห็นชอบ จึงทำให้ ครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และที่ผ่านมา กมธ.ยังได้เสนอความเห็นในเรื่องนี้ต่อ กรธ.ด้วย หนึ่งในนั้นมีข้อเสนอว่าให้บรรจุเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทาง กรธ.รับเรื่องไปแล้ว
"ทั้งนี้ กมธ.มีแผนการดำเนินงานเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 4 แผนด้วยกันคือ 1.ทำให้เรื่องยุทธศาสตร์ชาติมีการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2.ให้กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ ก่อนที่จะมีรัฐบาลต่อไป 3.สนับสนุนความมุ่งมั่นของรัฐที่จะให้มียุทธศาสตร์ชาติ วันที่ 16 มกราคมนี้ ทาง กมธ.จะจัดงานสัมมนาเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้น โดยจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาด้วย และ 4.สร้างปณิธานร่วมในการขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน" พ.ต.ต.ยงยุทธกล่าว
@ "ปึ้ง"แจงแจกปฏิทิน"ปู-แม้ว"
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีส่วนราชการบางส่วนพยายามกล่าวหาว่าการแจกปฏิทินขึ้นปีใหม่ที่มีรูปนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมืองว่า คิดว่ามันจะบ้ากันไปใหญ่แล้วเพราะการส่งความสุขให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นมีเงินมีทองก็ซื้อหากันมาไม่ได้ คนที่รับไปก็จะมีความสุขและจะได้หายคิดถึงคนที่เขาเคารพรัก ทั้ง 2 คนและอดีตนายกทั้งสองท่านก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ถูกห้ามไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. ไม่ทราบว่าจะเกรงกลัวอะไรกันนักกันหนา
"แบบนี้ความคิดที่จะให้เกิดความปรองดองจะเป็นไปได้อย่างไรและโดยเฉพาะส่วนราชการถึงกับมีหนังสือเวียนของทางการออกมาแบบนี้และเป็นหนังสือประทับตราว่า "ลับ" ยิ่งรังแต่จะก่อให้เกิดการแบ่งแยก" นายสุรพงษ์กล่าว และว่า อยากเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้ข้าราชการได้ปฏิรูปการทำงานของตนเองในทางสร้างสรรค์เฉกเช่นเดียวกันกับที่นายกฯตั้งปณิธานเอาไว้ว่าปีนี้จะเริ่มปฏิรูปที่ตัวเองก่อนโดยจะไม่หงุดหงิด โมโหโกรธาง่ายๆ เหมือนปีที่ผ่านมา
"ความปรองดอง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมจะเกิดขึ้นได้ต้องใจกว้าง ไม่คิดเล็กคิดน้อย ประเภทที่ชอบทำงานเอาใจนายควรเลิกได้แล้ว ประเทศไทยจะได้ก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งไปได้และต้องรู้จักเคารพในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานส่วนบุคคลไว้บ้างประชาธิปไตยในไทยจึงจะเป็นที่ยอมรับในสากลโลก" นายสุรพงษ์กล่าว
@ พท.สับรธน.ไม่ยึดโยงปชช.
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เปรียบเทียบได้กับหมาชะเง้อดูกระต่ายบนดวงจันทร์ ประชาชนไม่มีทางได้กระต่ายบนดวงจันทร์แน่นอน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยังมีความก้าวหน้ากว่า เช่นยังมี ส.ว.เลือกตั้งส่วนฉบับนี้เป็น ส.ว.สรรหาทั้งหมด แม้จะบอกว่าคัดสรร แต่เป็นวิธีการลากตั้งทางอ้อมอย่างแยบยลเท่านั้น
"เนื้อหาสาระที่เปิดเผยออกมา ชาวบ้านค้านเต็มที่ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด แต่ไม่ว่าใครออกมาพูดท้วงติงแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรธ.ยังไม่ฟังเลย ตั้งหน้าตั้งตาทำไปตามพิมพ์เขียว อาจจะมีลักษณะให้กรรมาธิการสงวนคำแปรญัตติแล้วมาอภิปรายบ้าง แต่ในที่สุดก็แพ้มติอยู่ดีดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่หนักกว่าเดิม" นายวรชัยกล่าว
@ ซัดรธน.ฉบับกินรวบ
นายวรชัยกล่าวถึงบทบาทของ ส.ว.ว่า อาจถอดถอนนักการเมืองไม่ได้ก็จริงแต่มีการบัญญัติให้ ส.ว.มีอำนาจในการตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่องทางคุมรัฐบาลเลือกตั้งที่บริหารประเทศ โดยหาเรื่องตีรวนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าผิด ส่วนการที่รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจาก ส.ส.จะมีการตีรวนในสภาว่าต้องเลือกตั้งใหม่ก็จะเกิดความวุ่นวายในสภา แล้วจะไปสอดคล้องกับการตั้งองค์กรใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษ
ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ถ้าผ่าน ก็จะมีการตั้งคนกับองค์กรไว้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้อยู่ในกลไกนี้ถ้าไม่ผ่านรัฐบาลนี้ก็อยู่ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้บริหารประเทศต่อดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ
กินรวบผ่านก็ได้ไม่ผ่านก็ได้
@ "ป้อม"พอใจผลสอบราชภักดิ์
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงผลการสอบสวนโครงการอุทยานราชภักดิ์ของกระทรวงกลาโหมว่า พอใจกับผลการสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการทุกคนที่ถูกคัดเลือกมาดำเนินการอย่างเป็นละเอียด บริสุทธิ์ และยุติธรรม และตรวจสอบข้อมูลอย่างโปร่งใส ภายใต้กฎหมายรองรับ
"คณะกรรมการทั้งหมดไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ ที่เกินกว่าหน้าที่ และจากนี้จะส่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในเดือนมกราคมนี้" พล.อ.ประวิตรกล่าว และว่า โครงการอุทยานราชภักดิ์เป็นโครงการที่ดี มีแรงศรัทธาของประชาชนร่วมกันสร้าง เพื่อต้องการเทิดทูนแด่องค์บูรพกษัตริย์ที่ทรงสร้างคุณูปการต่อประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต ให้ไทยอยู่เป็นไทยตราบจนทุกวันนี้
@ สตง.สอบใช้งบ-เงินบริจาค
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า มีการใช้งบประมาณของรัฐในส่วนงบกลาง 63 ล้านบาท คาดว่างบดังกล่าวน่าจะเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 80% ซึ่ง สตง.จะดูว่าการใช้งบตรงนี้เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่นเดียวกับการตรวจสอบโครงการตามโครงการที่ใช้งบประมาณทั่วไป แต่ทั้งนี้อุทยานราชภักดิ์ไม่ได้ใช้งบประมาณอย่างเดียว เนื่องจากมีทั้งเงินบริจาคที่รับเข้าบัญชี เงินบริจาคจากรายการโทรทัศน์ เงินมูลนิธิและเงินอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นในการตรวจสอบของ สตง.คงต้องเข้าไปดูทั้งหมด ทั้งการรับเงินและจ่ายเงิน การจ้างงาน ซึ่งในการตรวจสอบต้องดูตามเอกสารและหลักฐานต่างๆ อย่างละเอียด คาดว่าต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกสักระยะ ไม่สามารถบอกได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะขณะนี้เพิ่งเริ่มเข้าไปดูในเรื่องของเอกสารต่างๆ เท่านั้น
นายพิศิษฐ์กล่าวถึงการเข้าตรวจสอบและขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานจากกระทรวงกลาโหมว่า ได้รับความร่วมมือที่ดีจากฝ่ายทหาร และยังสามารถนำสำเนาเอกสารในเรื่องที่สำคัญออกมาได้ ไม่ได้สั่งห้ามและแทรกแซงการทำงานของ สตง.แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ สตง.คงไม่มีนโยบายที่จะเอาเอกสารการตรวจสอบทั้งหมดมาไว้ที่ สตง. เพราะจะเป็นภาระในการจัดเก็บ
"การตรวจสอบเน้นในเรื่องของการใช้งบประมาณก่อน ยังไม่ได้เน้นตัวบุคคล ถ้าพบความผิดปกติในการใช้งบประมาณจะมีการตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบเป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง" นายพิศิษฐ์กล่าว
@ ลุยสอบโรงหล่อ-จนท.รัฐ
นายพิศิษฐ์กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหมเปิดเผยผลการตรวจสอบและตัวเลขงบประมาณของโครงการราชภักดิ์ว่ามีการใช้งบเป็นไปตามขั้นตอนว่า จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่าตัวเลขงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้เปิดเผยสู่สาธารณชนมีความถูกต้องจริง ตรงตามรายงานที่ สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบ และการจัดทำบัญชีงบประมาณก็ค่อนข้างรัดกุม และละเอียดเรียบร้อยดี ทั้งนี้ สตง.จะเดินหน้าตรวจสอบต่อ โดยเฉพาะประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก คือกรณีการว่าจ้างโรงหล่อพระบรมรูปว่ามีความผิดปกติอย่างไร และส่อไปในการทุจริตจริงหรือไม่ อาทิ ราคาการว่าจ้างโรงหล่อเมื่อเปรียบเทียบกับราคากลางสูงเกินปกติหรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโรงหล่อกับเจ้าหน้าที่รัฐมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร
"หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบตัวบุคคลเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่ามีการทุจริตหรือไม่ แต่คงไม่สามารถระบุเวลาได้ว่าจะทำการตรวจสอบเสร็จเมื่อใด เพราะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของบุคคลที่ถูกเชิญมาตรวจสอบด้วยว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด ขอเวลาในการตรวจสอบเพื่อความละเอียดรอบคอบ" นายพิศิษฐ์กล่าว
@ เรืองไกรยื่น"รับ-จ่าย"ให้ป้อม
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณผิดประเภทของอุทยานราชภักดิ์ว่า จะทำหนังสือแจงรายละเอียดเรื่องงบประมาณเป็นตัวเลขรับ-จ่าย ส่งให้ พล.อ.ประวิตร ในวันที่ 4 มกราคม เพื่อให้ พล.อ.ประวิตรส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาจะมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือที่จะส่งให้ พล.อ.ประวิตร ชุดนี้ด้วย
"ทั้งนี้ข้อมูลในเอกสารที่จะส่งไปเป็นข้อมูลเฉพาะส่วนที่ได้หลังจากการรับฟังการชี้แจงจาก พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เท่านั้น" นายเรืองไกรกล่าว
@ โพลเผยผิดหวังแก้ศก.-ยากจน
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,763 คน ระหว่างวันที่ 2-30 ธันวาคม ถึง "ความสมหวัง" และ "ความผิดหวัง" ของประชาชนในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในรอบปี 2558 โดยในด้านความสมหวัง พบว่าร้อยละ 90.92 สมหวังในกิจกรรมเทอดพระเกียรติ "ปั่นเพื่อพ่อ" และ "ปั่นเพื่อแม่" ร้อยละ 74.53 คือการจัดระเบียบของรัฐบาล ทำให้ผู้มีอิทธิพลลดน้อยลง ร้อยละ 63.30 คือความตั้งใจทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 58.70 การเร่งโครงการรถไฟฟ้า สาธารณูปโภคต่างๆ และร้อยละ 50.88 คือการเอาใจใส่ประชาชน
เรื่อง "ความผิดหวัง" ของประชาชน ร้อยละ 90.36 ระบุ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน พืชผลเกษตรราคาตกต่ำ รองลงมาร้อยละ 88.15 การปราบปรามทุจริตยังไม่สำเร็จ ยังมีการทุจริตอยู่ ร้อยละ 68.75 คือการร่างรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาข้อขัดแย้ง ขณะที่ร้อยละ 57.52 ระบุการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และร้อยละ 55.93 เรื่องการปฏิรูปประเทศยังไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
@ นครฯแบ่งข้างเชียร์"สุรินทร์"
ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังมีกระแสข่าว นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน จะเข้าชิงการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายหลังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ครบวาระในเดือนธันวาคม 2561 แม้นายสุรินทร์จะออกมาปฏิเสธถึงกระแสข่าวดังกล่าวแล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่ในโลกโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อความดังกล่าว