WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1เสวนา

ถลกไก่อู เพื่อไทยแถลงป้อง30บาท กรธ.โต้ทำรธน.ให้ถูกคว่ำ'ปู'ทวีตตัวชี้วัดฝีมือรัฐบาล ผลเลือกตั้ง-ไม่ใช่คิดเอง

     'บิ๊กตู่'บินไปสุราษฎร์ธานี-สงขลา วันนี้ ลุยตรวจงานตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาล'ปู'ทวีตผลเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดฝีมือรัฐบาล ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกตัวเอง เพื่อไทยรุมถล่ม'ไก่อู'โวยใส่ร้ายคนเพื่อไทยพูดเท็จเรื่องโครงการ 30 บาท-พาดพิงจำนำข้าว เหน็บ ไม่ต่างจากตอนเป็นโฆษกศอฉ.ที่มั่วผังล้มเจ้า ไล่ไปฟัง'หมอปิยะสกล'พูดเองเตรียมรื้อโครงการ 30 บาท รักษาการเลขาฯสปสช. เผยเคยศึกษาให้ประชาชนร่วมจ่ายจริง'โต้ง'ฉะรัฐบาลลุแก่อำนาจ-ไร้ยางอาย คิดรวบรัดสอบเพื่อเอาผิดทางละเมิดคดีข้าว โฆษก กรธ.ยันร่างรธน.ไม่มีเกี้ยเซี้ยเรื่องปรองดอง โต้จงใจทำให้มีตำหนิเพื่อให้โดนคว่ำอีก 'เรืองไกร'จี้กลาโหมเคลียร์ 8 ปมราชภักดิ์

28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9161 ข่าวสดรายวัน


เสวนา - กลุ่มภาคีนักกิจกรรม นักศึกษาเพื่อสังคม และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดเสวนา "สอ-อิ-ดอ=สิทธิ ว่าด้วยสิทธิของผู้ต้องหา" โดย ธเนตร อนันตวงศ์ ผู้ต้องหา เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และงามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.

 

'บิ๊กตู่'ลงพื้นที่สุราษฎร์ฯ-สงขลา

     เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะมีกำหนดการลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี และจ.สงขลา ในวันที่ 28 ธ.ค. เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ตรวจโครงการ'รับเบอร์ ซิตี้' และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งด่านศุลกากรชายแดน

     โดย พล.อ.ประยุทธ์ ออกเดินทางจาก ฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 07.00 น. ไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการปลูกกล้วยหอมทองแซมในสวนยางพารา ที่บ้านนายวิสูตร คันธรักษา (สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด) หมู่ 4 ต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี และตรวจเยี่ยมกิจกรรมประชารัฐ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและพบปะประชาชน ที่โรงเรียนบ้านหนองเรียน หมู่ 5 ต.นาใต้ อ.บ้านนาเดิม

ปีหน้าเดินสายทั่วประเทศ

      จากนั้นในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์เดินทางต่อไปที่.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรับฟังบรรยายสรุป "โครงการ Rubber City และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ที่อาคารศูนย์บริการการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง เยี่ยมชมและทำพิธีเปิดอาคารศูนย์บริการการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมพบปะประชาชน ก่อนเดินทางต่อไปยังอ.สะเดา เพื่อทำพิธีเปิดอาคารด่านพรมแดนสะเดาขาออก พบปะประชาชนและเยี่ยมชมอาคารด่านพรมแดนสะเดาขาออก ที่ด่านศุลกากรสะเดา

    เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ นายกฯและคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 56 อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ถึงฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลา 18.40 น. ทั้งนี้ในปี 2559 นายกฯมีกำหนดการเดินทางลงพื้นต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานที่สั่งการตามนโยบายของรัฐบาลว่าแปลงไปสู่การปฏิบัติเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดตามดัชนีชี้วัดได้จริงหรือไม่

'ปู'ทวีตเหน็บรัฐบาล

      วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ส่วนตัว ว่า "การเมืองคือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อันจำกัดของประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ เป็นการวัดความสามารถของรัฐบาลผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกหรือความตั้งใจของตัวเองเป็นตัววัด"

     ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีพล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ อบรมสื่อมวลชนเนื่องจากนำเสนอข่าวสารที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สบายใจและขอให้สื่อกลับตัวกลับใจหยุดทำร้ายสังคมและประเทศชาติว่า หากไม่มีการพาดพิงถึงโครงการรับจำนำข้าวในทางเสียหาย ตนจะไม่ออกมาให้ความเห็นเพราะกลัวจะถูกป้ายสีว่าเอาใจสื่อ จึงขอแสดงความเห็น ดังนี้

เพื่อไทยชักแถวอัด'ไก่อู'

     นายอนุสรณ์ ระบุว่า 1.อยากเตือนสติโฆษกรัฐบาล ผ่านถึงรัฐบาลว่าประชาชนจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อ เพราะสื่อเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของประชาชน หากนำเสนอข่าวสารที่ขัดต่อความเป็นจริง ประชาชนจะเลิกเชื่อถือและเลิกบริโภคสื่อนั้น โฆษกรัฐบาลจะวิตกไปทำไม

    2.โฆษกรัฐบาลกล่าวหาว่าสื่อมวลชนบางค่าย ช่วยปกปิดกลบเกลื่อนความผิด ความเสียหายที่รัฐบาลเก่าทำไว้กับประเทศชาติ ละเลยที่จะนำเสนอความจริงให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องเข้ามาจัดการปัญหานั้น ตนคิดว่าสื่อทุกชนิดได้นำเสนอข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จนประชาชนทราบดีแล้วว่าคดีนี้เป็นคดีแรก ที่นายกฯ ผู้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรถูกดำเนินคดีด้วยวิธีที่แปลกพิสดาร แต่เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สื่อจึงไม่วิจารณ์เรื่องนี้อีกเพราะต้องรอผลของคำพิพากษาของศาลที่จะชี้ถูกผิด จะได้ไม่กดดันการพิจารณาคดีของศาล นับได้ว่า สื่อมีจรรยาบรรณหรือมีมารยาท และมารยาทเหล่านี้ โฆษกรัฐบาลน่าจะศึกษาหรือหามาอ่าน แต่คงต้องซื้อมาหลายฉบับ

ชี้ต้องมีจรรยาบรรณด้วย

      3.ขอให้ความรู้เป็นวิทยาทานแก่โฆษกฯ ว่า การทำงานของทุกรัฐบาล เป็นการทำงานต่อเนื่อง รัฐบาลใหม่จะต้องรับผิดชอบงานเดิมที่รัฐบาลเก่าทำไว้ซึ่งเป็นหน้าที่ เช่น รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรต้องรับผิดชอบใช้หนี้เงินกู้ไอเอ็มเอฟ แม้ไม่ได้เป็นผู้ก่อหนี้ แต่ไม่เคยเห็นนายทักษิณ ต่อว่ารัฐบาลเก่า ซึ่งรัฐบาลหน้าก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากการยึดอำนาจหรือความเสียหายที่รัฐบาลนี้ก่อไว้โดยไม่มีสิทธิปฏิเสธ รวมถึงรัฐบาลต้องชำระหนี้ซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ หรือ ซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดที่ลวงโลก ก็ไม่เคยเรียกร้องให้สื่อโจมตีหรือช่วยกันใส่ร้าย เพราะเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว แม้จะล่าช้ากว่าคดี ของพวกตน

    4.แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้หญิง ก็พร้อมต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกฎหมาย ไม่เคยคิดให้ใครออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของพวกขี้ขลาดที่หนีการตรวจสอบ สิ่งนี้คือความสง่างามของพวกเรานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โฆษกรัฐบาลกล่าวถึงจรรยาบรรณของสื่อ แต่ต้องไม่ลืมว่าโฆษกฯก็ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่และต้องมีจรรยาบรรณด้วยเช่นกัน สิ่งที่ต้องทำ คือพิจารณาตัวเอง หากบกพร่องก็ควรแก้ไข ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนดี ไม่ใช่แก้ตัวด้วยการให้ร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนอีกประเภท

ถามกลับใครปูดผังล้มเจ้า

      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุว่า "พล.ต.สรรเสริญ ไหนครับ คนที่พูดเรื่องผังล้มเจ้า ที่การพูดสร้างความชอบธรรมให้ใช้เขตกระสุนจริงทำร้ายประชาชน จะไปใส่ใจทำไม พล.ต.สรรเสริญ คนนี้ที่ตอน มีระเบิดลงที่สี่แยกราชประสงค์และมีคน เสียชีวิตจำนวนมาก เพียงไม่กี่นาทียังไม่ถึงชั่วโมงในขณะที่ยังไม่ได้เข้าไปตรวจจุดเกิดเหตุ ยังไม่มีการไต่สวนใดๆ ก็ออกมาแถลงโยน ความผิดไปให้กลุ่มการเมืองที่คิดต่างทันที คนอย่างนี้มีอะไรที่ควรค่าแก่การใส่ใจ กลับไปทำงานในหน้าที่โดยตรงของท่านเองในหน่วยงานเดิมที่สังกัดดีกว่าไหม ที่พูดไม่ทราบว่าสร้างความนิยมหรือทำลายความนิยมของรัฐบาลลงทุกวัน เบื่อจริงๆ"

      นายภูมิธรรม ระบุว่า 30 บาทรักษาทุกโรค จะยกเลิกหรือจะเปลี่ยนแปลงเพราะรัฐบาลแบกภาระไม่ไหว ล้วนเป็นคำพูดที่เริ่มต้นและออกมาจากปากของผู้นำและรัฐมนตรีในรัฐบาลทั้งสิ้น เพียงชั่วค่ำคืนพลิกกลับเป็นไม่ได้พูดแล้ว ยังจะเหลือสิ่งใดให้เชื่อถือ ก่อนจะถามหาจริยธรรมของผู้อื่น เริ่มต้นค้นดูจริยธรรมของตนเองก่อนดีกว่าว่าจะหาได้สักเท่าใด ตนแค่เริ่มต้นสะท้อนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ยังลำบากอยู่ให้รัฐบาลทราบว่า ถ้ายกเลิก คนส่วนใหญ่ของประเทศจะเดือดร้อนหนัก ถ้ารัฐบาลไม่มีความสามารถจะบริหาร ก็หลีกทางให้คนที่เขาทำได้มาทำง่ายนิดเดียว เสนอแค่นี้ ทนฟังไม่ได้ แล้วจะไปรับฟังความเห็นเรื่องใหญ่ๆ ที่จะนำไปแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศได้อย่างไร เหนื่อยจริงๆ

แนะอดทนเสียงวิจารณ์

     ส่วนนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความจริงรัฐบาลควรอดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วมองที่สาเหตุว่าวิจารณ์เพราะอะไร โดยไม่ควรวิตกกังวลเนื่องจากผลโพลสำรวจความนิยมที่มีต่อรัฐบาลก็มีคะแนนนิยมออกมาอย่างท่วมท้น สำหรับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการรับจำนำข้าวนั้น เมื่อรัฐบาลมองต่างมุมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวก็ เป็นธรรมดาที่ พรรคเพื่อไทยจะต้องออกมา ปกป้องโครงการที่มั่นใจว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

     "ผมเคยกล่าวไว้หลายครั้งว่า โครงการรับจำนำข้าว ในส่วนคดีอาญา เรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฝ่ายรัฐบาลจึงควรระมัดระวังการให้ความเห็น ที่อาจก้าวล่วงหรือชี้นำไปยังกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา สำหรับคดีแพ่ง เมื่อรัฐบาลเลือกใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง ไม่เลือกใช้วิธีฟ้องเรียกค่าเสียหายตามกระบวนการศาลยุติธรรม รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้นำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้ตามกฏหมายและระเบียบที่กำหนดไว้เพื่อความเป็นธรรม" นายชวลิตกล่าว

อย่าแจงแต่เรื่องที่ได้เปรียบ

      นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.ต.สรรเสริญ ระบุมีสื่อมวลชนบางฉบับ กล่าวหาใส่ร้ายและค้านการทำงานของรัฐบาลทุกเรื่อง รวมทั้งต่อว่าส.ส.พรรคเพื่อไทยใส่ร้ายหรือพูดชวนเชื่อว่ารัฐบาลจะยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษา ทุกโรค คนที่เป็นโฆษกรัฐบาลควรรู้บทบาทและหน้าที่ หากสื่อนำเสนอไม่ตรง ก็ชี้แจงได้อยู่แล้ว เพราะมีเครื่องมือมากมายที่ได้เปรียบใครๆ อยู่แล้ว อย่ากลัวที่จะชี้แจงความจริง และควรชี้แจงทุกเรื่อง ไม่ใช่เลือกชี้แจงแต่เรื่องที่ได้เปรียบคนอื่น ที่สำคัญไม่ควรสร้างความขัดแย้งเพิ่ม ไม่ใช่คิดอะไรไม่ออกก็กล่าวหานักการเมืองที่ตนเองไม่ชอบ

    นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่าคนพรรคเพื่อไทยพูดชวนเชื่อว่าจะยกเลิกนโยบาย 30 บาทนั้น คนเพื่อไทยไม่ได้คิดเอง คนพูดผ่านสื่อคือนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขและคนก็แสดงความเห็นว่าหากทำจริงก็ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่มีแต่คนเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วย ใครกันแน่ที่ชอบชวนเชื่อ สร้างความเสียหาย ระเบิดตูมราชประสงค์ก็รีบใส่ร้ายคนอีกด้านหนึ่ง ใครกันที่แถลงโครมๆ เรื่องผังล้มเจ้า สุดท้ายเป็นอย่างไร หากคนนี้ยังเป็นโฆษกต่อไปจะสร้างปัญหาต่อไป ถ้าเป็นรัฐบาลปกติเขาไล่ให้ลาออกไปแล้ว

ไล่ไปฟังหมอปิยะสกลพูด

      นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ผ่านยูทูบเมื่อ 27 ธ.ค.ว่า พล.ต.สรรเสริญ ออกมาด่าแบบ ค้ากำไรเกินควร ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดมาจาก เมื่อครั้งเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อปี 2553 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้ข่าวเป็นเท็จ แต่เป็นการแถลงผลงานของ นพ.ปิยะสกล ที่ระบุชัดเจนว่าถ้ายังจ่ายเงิน 30 บาทรักษาทุกโรคต่อไปแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ไม่ได้แน่นอน จึงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะต้องให้ประชาชนมาร่วมออกเงินตามหลักประชารัฐ

       "ผมไม่มีหน้าที่มาให้คุณดุด่าได้ คนเผาความรัก ความสามัคคีก็อย่างที่คุณทำอยู่นี่ไง ถ้าไม่เลิก 30 บาท ต้องไปบอก รมว.สาธารณสุขว่า มาพูดอย่างนั้นทำไม เมื่อทำหน้าที่เป็นโฆษกของผู้มีอำนาจ อย่าคิดว่า จะด่าใครได้ คิดผิดแล้ว ถ้าไม่อธิบายตามหลักการโฆษกที่ควรเป็น ก็อย่ามาหลอกด่าคนอื่น ถ้าพูดดีไม่ได้ ก็อย่าพูดชั่ว อย่าเข้าใจว่า ตัวเองพูดอะไรก็ได้" นายจตุพรกล่าว

"โต้ง"ฉะไม่ยืดเวลาสอบคดีข้าว

      ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปีว่า วันคริสต์มาสของตนปีนี้ไม่ชื่นมื่นหัวใจ เพราะเผลอไปฟังการกล่าวปิดแถลงสรุปผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปี นอกจากจะจับเนื้อหาของสุดยอดผลงานน่าภาคภูมิใจของรัฐบาล จนมีความนิยมจากประชาชนเกือบเต็มร้อยไม่ค่อยได้แล้ว ยังได้ยินการพาดพิงถึงรัฐบาลก่อนในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มีใจความสำคัญว่าจะไม่ขยายเวลาสอบสวนเพื่อเอาผิดทางละเมิด เพื่อสั่งให้ชดใช้เป็นทรัพย์สิน และจะไม่ยอมรับผิดชอบใดๆ จากการขายข้าว

     นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ขอแสดงความรู้สึกอย่างกระชับที่สุดว่า ลุแก่อำนาจ และไร้ยางอาย การให้โอกาสแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงและให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ เป็นสาระสำคัญของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 ที่เอามาใช้ และระเบียบสำนักนายกฯ ที่ใช้ ประกอบพ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น การกล่าวว่าจะไม่ขยายเวลาสอบข้อเท็จจริงจนครบถ้วนกระบวนความ ทั้งที่ผู้เกี่ยวข้องยังมีคำชี้แจง และข้อมูลที่จะแสดงต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอยู่อีกมาก ย่อมตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะสรุปได้ว่าผู้มีอำนาจ ช่างใหญ่โตเสียจนอยู่ในภาวะลุแก่อำนาจ ไม่คำนึงถึงกฎหมายของบ้านเมือง

โยนผิดระบายข้าว-ไร้ยางอาย

    อดีตรมว.คลัง ระบุว่า ส่วนเรื่องการระบายข้าวด้วยวิธีการและกระบวนการที่อาจไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะปิดโกดังไว้เนิ่นนานจนมีการเสื่อมสภาพเกินควร จนถึงการระบายข้าวที่น่ากังขา โดยเฉพาะการประมูลข้าวที่อ้างว่าเสื่อมสภาพ กว่า 37,000 ตัน ที่ถูกจับตาและทักท้วง แม้จะดูเหมือนมีประกาศตามมาตรา 44 มาคุ้มกันไว้ ก็ชัดเจนในประกาศว่าคุ้มครองแต่การดำเนินการที่สุจริตเท่านั้น การที่คิดจะไปเที่ยวโยนอะไรต่อมิอะไรให้คนก่อนที่ไม่ได้รู้เห็นการปฏิบัติอันอาจไม่สมควรของพวกท่านนั้น อยากถามดังๆ ว่า ไม่มียางอายกันบ้างเลยหรือ

   "ผมเข้าใจว่า ผู้นำคงจะเข้าใจผิดเรื่องค่าเสียหายชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะการขายข้าวราคาถูกกว่าคุณภาพที่ถูกต้องนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบคือเซอร์เวเยอร์ หรือเจ้าของโกดังไม่ใช่รัฐบาล แต่ถ้าขายราคาถูกกว่าราคาตลาดจนเกินสมควรนี้ คนที่ได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาคือผู้ซื้อและคนที่ไม่สุจริต ซึ่งรัฐบาลควรรีบตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามเหมือนโครงการอุทยานราชภักดิ์" นายกิตติรัตน์ ระบุ

จี้"ดอน"พูดความจริงให้ครบ

      นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ระบุว่าที่ผ่านมาใช้เวลาชี้แจงสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติได้เข้าใจถึงการที่ทหารต้องปฏิวัตินั้น เห็นได้ชัดว่านานาชาติเฝ้าติดตามและรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในไทย อยากให้พูดความจริงให้ครบถ้วน ที่อยากเห็นมากที่สุดคือชี้แจงให้คนไทยรับรู้ว่า การไปร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ของผู้นำรัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง การไปขอให้เขาเชิญไทยไปเยือนประเทศเขาอย่างเป็นทางการ มีการตั้งแถวทหารกองเกียรติยศต้อนรับหรือไม่

     นายสุรพงษ์กล่าวว่า ส่วนที่ไทยเสนอตัวเข้าแข่งขันเป็นสมาชิกไม่ถาวรในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่จะมีการเลือกตั้งกันในปีนี้ โดยใช้งบรณรงค์หาเสียงไปกว่า 600 ล้านบาทนั้น โอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นอย่างไร หรือเราต้องสูญงบ 600 ล้านบาท ถ้ารู้อย่างนี้แล้วนำเงินมาใช้ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยเหลือคนยากจนดีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ การดูแลจัดการขบวนการหลบหนีเข้าเมือง การบังคับใช้แรงงานเด็ก จะเป็นปัญหาใหญ่อยู่ดี ขอให้กำลังใจรัฐบาลแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ต้องให้โฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงผิดๆ ให้คนไทยเข้าใจอะไรผิดๆ อีกต่อไป

สปสช.กางงบบัตรทอง

      นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งดำเนินการโดย สปสช.มาตั้งแต่ปี 2545 ว่า ที่ผ่านมาระบบการเงินการคลังมาจากงบประมาณแผ่นดินที่ได้จากภาษีที่ประชาชนทุกคนจ่ายอยู่ ซึ่งกองทุนโตขึ้นจริง แต่มีความเข้าใจผิดอยู่ว่า กองทุนบัตรทองใช้จ่ายงบของรัฐร้อยละ 16-17 ของงบประมาณประเทศ แต่ข้อเท็จจริงบัตรทองใช้เพียง ร้อยละ 5 ส่วนตัวเลข ร้อยละ 16-17 นั้น เป็นตัวเลขงบประมาณด้านสุขภาพโดยรวมของกองทุนสุขภาพทุกระบบที่รัฐให้ประชาชน

     งบประมาณของบัตรทองปีนี้ อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินเดือนของบุคลากร ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. 4 หมื่นล้านบาท เหลือซื้อบริการจริง 1.1 แสนล้านบาท ภายใต้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศ และน่าจะมีการเพิ่มใหญ่จริงในปี 2549 เพิ่มมากกว่าร้อยละ 5 และไม่เพิ่มเลยในช่วงหลังน้ำท่วม ปี 2556-2557 ปี 2558 รัฐบาลมีแผนไม่เพิ่ม แต่โรงพยาบาล มีปัญหาขาดสภาพคล่องเลยเพิ่มร้อยละ 3

เผยแนวทางร่วมจ่าย

      นพ.ประทีปกล่าวว่า ที่ผ่านมา นักวิชาการทั้งภายในและภายนอก สปสช.ได้ร่วมกันศึกษาหาวิธีการเพิ่มงบประมาณเข้ามาในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันหมดว่าระยะยาวต้องมีส่วนร่วมจ่าย แต่วิธีการอาจจะเป็นการร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น 1.เก็บเงินสมทบคล้ายกับกองทุนประกันสังคม ส่วนอัตราจะอยู่ที่เท่าไหร่ต้องขึ้นอยู่กับการคำนวณทางคณิต ศาสตร์ประกันภัย 2.เก็บภาษีผู้บริโภค ภาษีการทำธุรกรรมทางการเงิน ภาษีน้ำมัน แต่ต้องระบุว่าสำหรับกองทุนบัตรทอง คือ ให้เป็นภาษีสำหรับกองทุนเฉพาะ (Earmarked Tax) ตรงนี้ยังต้องศึกษา เพราะมีผลกระทบกับแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกัน

       ส่วนถ้าหากจำเป็นต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือหลังการเจ็บป่วย เดิมเก็บ 30 บาทนั้น ถ้าจะทำต้องไม่เป็นอุปสรรคกับคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคนรายได้น้อยเข้าไม่ถึงบริการ หรือเกิดความรู้สึกว่าถูกแบ่งชนชั้น ดังนั้น อาจจะให้มีการร่วมจ่ายกรณีที่ต้องการบริการที่มากกว่ามาตรฐานด้านสาธารณสุข เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าบุคลากรพิเศษ เป็นต้น ดังนั้น โดยสรุปคือ ต้องมีการหาแหล่งงบประมาณจากหลายแหล่งมาเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบยั่งยืน ส่วนแนวทางขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล

'วันชัย'โดดป้องรัฐบาล

      นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมา ธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีนักการเมืองหน้าเดิมๆ หลายคนออกมากล่าวหาโจมตีรัฐบาล รวมทั้ง สปท.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ว่าไม่เข้าใจปัญหาของประเทศ แก้ปัญหา ไม่ถูกจุด ไม่รู้ปัญหาของประชาชน ไม่เข้าใจปัญหาการเมือง พูดเหมือนว่าตัวเองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะรู้ปัญหาเข้าใจปัญหา

     "แม้รัฐบาล คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สปท.และกรธ. จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็เข้าใจปัญหาของประเทศไม่ได้ ยิ่งหย่อนไปกว่านักการเมืองบางคนเสียอีก เพราะคนพวกนั้น มักจะจมปลักอยู่ในวังวนของการเมืองเก่าๆ ซึ่งเป็นการเมืองที่แสวงประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องมากกว่า ที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน" นายวันชัยกล่าว

    นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่รัฐบาลทำงานมา ปีเศษและได้แถลงผลงานมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แก้ปัญหาการบุกรุกป่าไม้ทำลายทรัพยากร ธรรมชาติ จัดระเบียบสังคม วางรากฐาน การบริหารราชการแผ่นดินและงบประมาณ รวมทั้งการปราบปรามคอร์รัปชั่น ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผลงานมากกว่ารัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้ง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

"ชาติชาย"ยันรธน.ไม่มีเกี้ยเซี้ย

      นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานช่วงสุดท้ายก่อนได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก เดือน ม.ค.2559 ว่า ขณะนี้เหลือในส่วนของการปฏิรูป ที่เบื้องต้นกรธ.ได้หารือกัน แต่ยังไม่เป็นกิจจะลักษณะ ความเห็นส่วนตัวมองว่า คงไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง แต่จะมีเพียงเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเท่านั้น เนื่องจากมองว่า หากสามารถผลักดันการปฏิรูปได้แล้ว จะนำไปสู่ความปรองดองเอง เราจะไม่เขียนให้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์มา จับมือกัน เพราะหากกระบวนการต่างๆ ยังเหมือนเดิม เดี๋ยวก็ทะเลาะกันอีก

      นายชาติชาย กล่าวว่า เนื้อหาในส่วนนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกหรือรูปแบบใหม่ให้เกิดการปฏิรูป ด้วยการกำหนดหลักการปฏิรูปที่สำคัญไว้ 2-3 เรื่อง ลงรายมาตราสัก 2-3 มาตรา ส่วนปฏิรูปด้านอื่นๆ จะเขียนไว้กว้างๆ แล้วไปใส่รายละเอียดไว้ในกฎหมายลูก เช่น การปฏิรูปกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องใส่รายละเอียดว่า จะทำอย่างไร ให้ทุกฝ่ายต่างยอมรับได้ ลบคำครหาเรื่องสองมาตรฐานทิ้งไป

โต้จงใจทำตำหนิให้โดนคว่ำ

      โฆษกกรธ. กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า แนวทางปฏิรูปจะใส่ไว้เป็นหมวดเฉพาะ หรือจะกระจายไปอยู่ตามส่วนต่างๆ อย่างหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดหน้าที่ของรัฐ และบทเฉพะกาล ที่จะกำหนดวิธีและเวลาการดำเนินการอย่างชัดเจน ซึ่งหากกำหนด อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐและบทเฉพาะกาล จะมีสภาพบังคับ รัฐบาลต้องทำตาม หากไม่ทำมีโทษ

       ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ฝ่ายการเมืองมองว่า กรธ.จงใจร่างรัฐธรรมนูญให้มีตำหนิ เพื่อ ไม่ให้ผ่านประชามติ นายชาติชายกล่าวว่า เป็นคำพูดที่เกินไป ไม่มีใครที่ไหนอยากเสียเวลามานั่งคิดให้ระบมสมอง เพื่อจะให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน มันไม่มีเหตุจูงใจพอที่จะให้ทำแบบนั้น ตนไม่รู้สึกกังวลอะไรต่อถ้อยคำดังกล่าว แต่ยังคงทำตามหน้าที่ ใช้ความรู้เชิงวิชาการ มาเขียนกฎกติกาให้ทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง

เชื่อนักการเมืองหวังตีรบ.

     นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนที่เรียกร้องให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.และกรธ. รับผิดชอบ ขอถามกลับว่า จะให้รับผิดชอบอะไร เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จพวกเราทั้ง 21 คน ต้องไปอยู่แล้ว ขอเรียกร้องให้ ทุกฝ่ายช่วยกันทำความเข้าใจกับประชาชนมากกว่าว่า สิ่งที่กรธ.กำลังร่าง มันมีมูลเหตุที่มาจากความบกพร่องบางอย่าง แล้วกรธ.กำลังทำหน้าที่คลายปมนั้นอยู่

   "การร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การกระทำทางอาญา หรือทางแพ่ง ที่จะมาฟ้องร้องกันภายหลังได้ หากที่สุดร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พวกเราก็เสียชื่อ อีกทั้งกรธ.ไม่ใช่นักการเมือง ที่จะต้องลาออกจากตำแหน่ง แสดงความรับผิดชอบ เพราะเมื่อร่างไม่ผ่าน กรธ.ก็ไม่มีตำแหน่งอะไรแล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องเชิงการเมือง ที่นักการเมืองสร้างขึ้นมา โดยเป้าหมายที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่กรธ. แต่อยู่ที่รัฐบาล กรธ.เป็นเพียงส่วนที่ต้องรับแรงกระแทกนี้เท่านั้น" นายชาติชายกล่าว

อนุกก.วางกรอบปรองดอง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดองของกรธ. ที่มีนายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ เป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ ผ่านมา เห็นควรกำหนดแผนการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 การสร้างบรรยากาศที่ดีในการนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการหยุดพฤติกรรมการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกันผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ รัฐบาลควร มีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างความขัดแย้งในสังคม

    นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ผ่านการใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม เช่น การห้ามการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หยุดพฤติกรรมการปลุกปั่นของแกนนำแต่ละฝ่ายที่ยังสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องให้ประชาชนหลงเชื่อเป็นไปตามวาทกรรมของตน

     ระยะ 2 จัดตั้งคณะกรรมการปรองดอง เพื่อสร้างความปรองดองหรือสมานฉันท์ผ่านกระบวนการเจรจาของคู่ขัดแย้งให้เกิดผล อย่างจริงจัง โดยจะต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

     ระยะ 3 การใช้กระบวนการเยียวยา นิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ผ่านการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน คู่กรณีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด แล้วจึงจะพิจารณาเรื่องการเยียวยา นิรโทษกรรม อภัยโทษ ตามกระบวนการของกฎหมาย ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีอาญาร้ายแรง ?

ทุกคดีต้องขึ้นศาลก่อน

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.กระบวนการยุติธรรมถือเป็นเสาหลักของสังคมที่จะยึดเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น โดยการขับเคลื่อนกระบวนการด้านกฎหมายจะต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้การยอมรับ

     ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการสร้างความเข้าใจให้กับคู่ขัดแย้งว่าคดีที่เกิดขึ้นจากผลการชุมนุมจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายและทุกฝ่ายต้องให้การยอมรับผลดังกล่าว แล้วจึงมาเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสร้างความปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม ควรมีการนำคดีต่างๆ ในส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งในหลายคดีที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล ควรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะได้นำผลของกระบวนการยุติธรรมมาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อค้นหาวิธีการที่จะนำข้อมูลและสาเหตุความขัดแย้งมาป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นัดถกอีกครั้ง 8 ม.ค.ปีหน้า

    2.กรณีที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการทุจริตถือเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม จึงควรมีการพิจารณาศึกษาเพื่อคิดค้นกระบวนการในการหาแนวทางการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ โดยการสร้างกลไกที่สามารถขับเคลื่อนยุทธวิธีในการป้องกันอย่างรอบด้าน ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดรูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ โดยการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติให้มีแผนในการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านตามบริบทของแต่ละยุคสมัยของสังคม โดยให้มีรูปแบบคณะกรรมการรับผิดชอบโดยตรง

      นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการป้องกันการทุจริตต่อการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดต่างๆ ทั้งในมิติของภาคประชาชน เช่น การต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และภาคประชาชนสามารถใช้กลไกในการเรียกร้องการตรวจสอบการทุจริตของภาครัฐได้ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการในแต่ละมิติเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน สามารถป้องกันการทุจริตอันเป็นสาเหตุของความ ขัดแย้งในระยะยาว

     ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้นัดประชุม ครั้งต่อไปในวันที่ 8 ม.ค.2559 และจะส่งผลการศึกษาเข้าสู่ที่ประชุมกรธ.เพื่อกำหนดเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดอง ก่อนไปประชุมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในวันที่ 10-17 ม.ค.2559

"คณิน"ย้ำไม่ต้องมีศาลรธน.

       นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตส.ส.ร.ปี 2540 และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กรธ.เสนอแนวคิดให้นำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วย แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็น ผู้วินิจฉัยว่าจะนำร่างใดไปให้ออกเสียงประชามติว่า เห็นด้วยที่จะให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เพราะเท่ากับให้ศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ารัฐสภา

      นายคณิน กล่าวว่า กรธ.ชุดนี้ให้ความสำคัญกับศาลรัฐธรรมนูญมากเป็นพิเศษจนผิดสังเกตโดยไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ยืนยันว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งเห็นท่าทีและจุดยืนของกรธ.ชุดที่นายมีชัยเป็นประธาน เริ่มแน่ใจว่ากรธ.จะออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกทางการเมือง สกัดกั้นและควบคุมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากเป็นจริงเท่ากับทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยและการตรวจสอบถ่วงดุล และยังทำลายเสถียรภาพทางการเมือง ส่วนที่บอกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการปฏิวัตินั้นเอาเข้าจริง จะกลายเป็นก่อวิกฤตเพื่อเชื้อเชิญการปฏิวัติมากกว่า

หวั่นเป็นโรดแม็ปสู่หายนะ

    นายคณิน กล่าวว่า ส่วนที่มีผู้อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้นมีหน้าที่แค่ดูว่าร่างพ.ร.บ.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเห็นว่าขัดก็ส่งคืนให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ให้รอบคอบมากขึ้น และดูว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ประการหลังนี้ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุชัดว่า ต้องเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภาเท่านั้นที่จะเสนอได้ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้ง 2 ประการนี้ ถือเป็นหลักที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญบัญญัติแล้วจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย

      นายคณิน กล่าวว่า ปัญหาคือในตอนท้ายของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ศาลรัฐธรรม นูญใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหลายเรื่อง แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะบัญญัติเพิ่มอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอีก แต่ยังวินิจฉัยเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติจนกลายเป็นวิกฤตนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ดังนั้น การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเท่ากับเป็นโรดแม็ปสู่หายนะทางการเมือง

"เรืองไกร"ขอฟังแถลงราชภักดิ์

     เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 28 ธ.ค.จะส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) ไปที่กระทรวงกลาโหมถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อขอเข้ารับฟังการแถลงผลสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวว่าจะมีการแถลงผลสอบในวันที่ 30 ธ.ค. จึงมีความสนใจจะขอเข้าร่วมรับฟังการแถลงผลสอบข้อเท็จจริง และจะขอสำเนาผลสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบเป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่จะส่ง ให้หน่วยงานต่างๆ ได้ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่อย่างยุติธรรมต่อไป อย่างไรก็ตามหาก มีการแถลงข่าวในวันที่ 30 ธ.ค.นี้จริง ตนพร้อมไปร่วมฟังการแถลงข่าวอย่างแน่นอน

      โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ดังนี้ 1.ต้นเรื่องของโครงการ เริ่มมาอย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด โดยใคร 2.มีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อใด 3.แบบรูปการก่อสร้างจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานใด มีแผนการก่อสร้างแบ่งเป็นสองระยะใช่หรือไม่ ปัจจุบันเป็นเพียงระยะที่หนึ่งใช่ หรือไม่ และงานก่อสร้างระยะที่สองยังไม่แล้วเสร็จใช่หรือไม่

     4.สัญญาการซื้อจ้างมีหรือไม่ กี่สัญญา มีการเลือกคู่สัญญาโดยวิธีใด 5.หน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมีทั้งสิ้นกี่หน่วยงาน 6.งบประมาณของรัฐทั้งหมดที่ใช้ไปจนถึงวันตรวจสอบเป็นจำนวนเท่าใด 7.เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคสมทบทุนมีจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด ใช้ไปและคงเหลือเท่าใด มีหลักฐานการรับ-จ่ายครบถ้วนหรือไม่ 8.คณะกรรมการเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์มีกี่คณะ มีอำนาจหน้าที่อย่างไร และใครเป็นผู้แต่งตั้ง

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จะแถลงผลสอบการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!