- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 24 December 2015 23:32
- Hits: 8426
'กรธ.'เคาะแล้ว 20 กลุ่ม ที่มาสว.จบ ไร้ข้อห้าม'สภาผัวเมีย' วาระ 5 ปี-เป็นได้หนเดียว รบ.โชว์ 1 ปีลุยประชารัฐ ศาลสั่งกปปส.ใช้ 9 แสน ชัตดาวน์มหาดไทย-ปค.
- มติชนออนไลน์ :
'บิ๊กตู่'นำแถลงผลงาน รบ. 1 ปี เดินหน้าประชารัฐ 'บิ๊กป๊อก'คาดโทษพื้นที่ใดมียาเสพติด 'นายอำเภอ-ผู้ใหญ่บ้าน'ต้องรับผิดชอบ กรธ.เคาะที่มา ส.ว. 20 กลุ่ม
@ 'บิ๊กตู่'นำแถลงผลงานรบ.1 ปี
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเปิดการแถลงผลการดำเนินงานรัฐบาลรอบ 1 ปี โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจาก คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ข้าราชการระดับสูงจากทุกกระทรวงเข้าร่วมตอนหนึ่งว่า การเตรียมการแถลงครั้งนี้มีความตั้งใจมาก พร้อมมา 3-4 วันแล้ว อยากให้เข้าใจตรงกัน อะไรเป็นปัญหาต้องแก้ระยะสั้นระยะกลางและระยะยาว ในฐานะมารับผิดชอบวันนี้ ต้องเป็นผู้นำทำให้เกิดความแตกต่างในการปฏิรูปอย่างที่ทุกคนต้องการ ภาพความขัดแย้งต้องเอาออกทั้งหมด วันนี้จะมาพูดเรื่องอนาคต อย่าเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่เกิดไปแล้วใครรับผิดชอบก็ว่ากระบวนการยุติธรรมก็ว่ามา การแถลงผลงานในระยะที่สองนั้นยากกว่าช่วงปีแรกในการสื่อให้คนทั้งประเทศ ต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างหลายอย่างด้วยกันทั้งอาชีพ รายได้ การศึกษา ความเข้าใจ การบิดเบือนต่างๆ ทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน จึงต้องสร้างความเข้าใจให้ได้
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ คสช.มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ไม่อยากให้ทุกคนเข้าใจผิดว่า คสช.มีพิมพ์เขียว เพราะรัฐบาลไม่มีพิมพ์เขียวอะไรเลย ในเมื่อประเทศต้องการระดมความคิดเห็น เมื่อ กอ.รมน. กองทัพเขาเสนอเข้ามาก็เอาไปรวบรวมเท่านั้น ท่านจะเอาอันไหนก็เอา ไม่เอาก็คัดออกเพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็น ฉะนั้นวันนี้หน้าที่ของแม่น้ำ 5 สายต้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันในระยะที่ 1 ส่วนที่เหลือ สปท. สนช.ก็ต้องทำ ทำให้การเมือง 20 ปีข้างหน้าแข็งแรง
@ "บิ๊กป้อม"ชูปฏิรูปความมั่นคง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลงานว่า ปัญหาทางการเมืองเรื่อความสงบเรียบร้อยนั้น ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในความสงบ แต่ยังมีโซเชียลมีเดียและคำถามจากนักข่าวทำให้ไม่สงบ ตามที่นายกฯบอกกำลังตั้งไข่แต่ถูกสกัดขา อยากให้ความมั่นคงเป็นอย่างไรใน 5-10-20 ปี ฝ่ายความมั่นคงต้องทำให้รวมกันทั้งหมด ต้องประสานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องปฏิรูปกระทรวงกลาโหมในด้านต่างๆ เช่น ดูเรื่องกำลังคน กำลังทัพ และดูว่าอีก 20 ปีข้างหน้ากองทัพจะเป็นอย่างไร ดังนั้นที่มีคนถามว่าประเทศนี้มีทหารทำไม เป็นคำถามใช้ไม่ได้ ตนกำลังปฏิรูปอยู่ในขั้นที่ 1 ไม่ได้นิ่งเฉย
@ ชี้ปัญหา 3 จว.ใต้ลดลง 50%
"เรื่องตามแนวชายแดน รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราตั้งกองกำลังในทุกพื้นที่ ที่สำคัญคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีนโยบายต่างๆ มาดูแล ปัญหาต่างๆ ในปีที่ผ่านมาปัญหาลดลงกว่า 50% และเมื่อประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ให้แนวทางไปว่าใครเคยไม่เข้าใจรัฐบาลเมื่อครั้งที่ผ่านมาแล้วอยากกลับบ้านก็สามารถกลับเข้ามาได้ เพื่อเป็นการลดความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่ ที่ผ่านมาเราใช้วิธีเดิน 3 ขามาตลอด คือ ข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ทำงานร่วมกันในการดูแลพี่น้องประชาชน หลังจากจบการปฏิรูประยะที่ 1 แล้ว เราจะส่งต่ออะไรให้รัฐบาลต่อไป ถ้าทำได้แบบนี้อีก 20 ปีข้างหน้าเราจะได้คนรุ่นใหม่ ได้อะไรใหม่ๆ ประเทศของเราจะรุ่งเรือง" พล.อ.ประวิตรกล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ต่อมาคือเรื่องปัญหาไอยูยู ปัญหาไอเคโอ ฯลฯ รัฐบาลก็กำลังเร่งดำเนินการ และล่าสุดเรื่องปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ นายกฯมอบหมายมา ก็บูรณาการกับหลายหน่วยงานต่างๆ ในการหาข่าว อาทิ กระทรวงมหาดไทยและตำรวจ ใน 2 เดือนได้รายชื่อมาเยอะมาก จากนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินงานในลักษณะ 3 ขา ได้ขออนุญาตนายกฯว่าจะปั่นป่วนทั้งประเทศแน่นอน ตนขอเตือนว่าใครสร้างความไม่เรียบร้อยในแผ่นดินนี้ก็ขอให้หยุดเสีย
@ "วิษณุ"โชว์แก้ปัญหา 8 ประการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงผลงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คนไทยเสียโอกาสทำอะไรดีๆ หลายอย่าง ไม่ได้โทษรัฐบาลใด รัฐบาลชุดก่อนแก้ไขไม่ได้เพราะมีเหตุขัดข้อง ทำให้กฎหมายต่างๆ ยังค้างอยู่ แต่รัฐบาลนี้โชคดีเพราะไม่มีเหตุขัดข้อง จนสามารถออกกฎหมายแก้ปัญหาต่างๆ ได้ 8 ประการคือ 1.เร่งออกกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ อาทิ พันธสัญญาไซเตส พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันอุดหนุนการเงินก่อการร้าย กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ 2.กฎกติกาทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เข้มแข็ง จึงเกิดกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่นักธุรกิจและธนาคารโลกเฝ้ารอ 3.จัดระเบียบสังคมให้สมดุล 4.พยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้คนจนคนรวยมีช่องว่างห่างกันไม่มาก จึงออก พ.ร.บ.ความเสมอภาค พ.ร.บ.การทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม 5.ระบบราชการของประเทศก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 57 มีลักษณะเป็น 4 ช
คือ 1.เชย 2.เชื่องช้า 3.ใช้งบประมาณมาก 4.เปิดช่องให้ทุจริต รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลดลง โดย พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกทางราชการ ให้งานราชการทำให้เร็วขึ้น ประชาชนได้รับความสะดวก 6.โลกเปลี่ยนไปแต่กฎหมายถอยหลัง รัฐบาลพยายามทำกฎหมายให้ทันโลก แก้ปัญหาโดยออก พ.ร.บ.อุ้มบุญ 7.ออกกฎหมายแก้ปัญหาทรัพยากรของประเทศ เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายคุ้มครองทรัพยากรชายฝั่ง 8.สางคดีความรกโรงรกศาล วิธีพิจารณาคดีล่าช้า ไม่ทันสมัย มีการใช้มาตรา 44 มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ออกกฎหมายล้มละลาย คดีแพ่ง ให้เริ่มจากศาลชั้นต้นและจบที่ศาลอุทธรณ์ไม่ต้องถึงศาลฎีกาฯ ยกเว้นบางคดี
@ เล็งฟันขรก.ประพฤติมิชอบอีก
นายวิษณุกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเสนอกฎหมายเข้าสภาแล้ว 164 ฉบับ ยังค้างอยู่ในชั้น สนช. 26 ฉบับ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 138 ฉบับ มีทั้งกฎหมายแก้ปัญหาก่อน 22 พฤษภาคม 57 และกฎหมายที่รัฐบาลตั้งใจออกเพราะหากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งจะออกกฎหมายได้ยาก ส่วนงานด้านปกครองมีการกล่าวหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำมิชอบโดยรัฐได้ออกคำสั่งพักงานระงับการปฏิบัติหน้าที่ไปกว่า 100 ราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ส่งรายชื่อข้าราชการผู้บริหารท้องถิ่น บริหารการศึกษาที่ถูกกล่าวหาอีก 50 รายชื่อมาให้นายกฯ คงจะมีการออกคำสั่งในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้รัฐบาลยังเร่งดำเนิน 12 คดีที่สำคัญ รัฐเป็นทั้งโจทก์และจำเลยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
นายวิษณุ กล่าวว่า ในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะทำต่อไปในปี 2559 ประกอบด้วย 1.วางระบบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทั้งปลัดกระทรวง อธิบดี ใหม่ทั้งหมด โดยใช้หลักเกณฑ์เป็นธรรม ไม่ให้ใช้เส้นสาย จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 59 2.การประเมินหน่วยงานราชการในทุกกระทรวง สูตรการประเมินจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ 3.การปฏิรูปตำรวจ ทั้งเรื่องของการแต่งตั้ง การบริหารงานบุคคล การกระจายอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา เรื่องระบบสวัสดิการ และในเรื่องอำนาจและอุปกรณ์จะต้องพร้อม เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปร้องขอจากประชาชนจนเป็นบุญคุณกันไม่สิ้นสุด 4.การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นการทำงานแบบประชารัฐ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเอกชนต้องเข้ามาช่วยกันคิด เพราะรู้ถึงปัญหา จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 59
@ ปลื้มผลงานกม.ดิจิตอล-ศก.
นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ในปี 2559 รัฐบาลจะนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาคดีในปี 2559-2560 ตั้งใจจะให้มีกฎหมายเชิงนโยบายเพื่อจะถึง สนช.หลายฉบับ แต่กฎหมายชิ้นเอกของรัฐบาล ได้แก่ กฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล กฎหมายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ กฎหมายวิธีการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ นอกจากนี้นายกฯยังให้ความสำคัญเพื่อออกกฎหมายบูรณาการการทำงานข้ามกระทรวง เพราะปัญหาที่ผ่านมาในช่วงเลือกตั้งคือ กระทรวงหนึ่งเป็นของพรรคหนึ่ง แต่อีกกระทรวงเป็นของอีกพรรค จึงทำงานร่วมกันไม่ได้ จึงต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อให้การบริหารงานโครงการสำคัญสามารถทำงานร่วมกันได้
"การพัฒนาประเทศนั้นเหมือนการขี่จักรยานเพื่อไปถึงเป้าหมาย เป้าหมายคือความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การจะไปถึงเป้าหมายได้ต้องมีเครื่องมือ กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือที่เราใช้ปั่น รัฐบาลคือคนปั่นจักรยานเพื่อขับเคลื่อนกลไก กฎหมาย รัฐบาลปั่นอยู่คนเดียวก็ได้จักรยานคันเดียว ถือว่าไปสนุกและไม่น่าดู เพราะต้องมากันเป็นขบวน ดังนั้นแม่น้ำทั้ง 5 สาย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชน จะต้องอยู่ในขบวนนี้เพื่อช่วยกันเคลื่อนให้ถึงเป้าหมาย" นายวิษณุกล่าว
@ "บิ๊กเข้"รับงานสังคมไม่หวือหวา
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม แถลงผลการดำเนินงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปีว่า การทำงานด้านสังคมเป็นงานบริการ ลักษณะงานไม่หวือหวา ทำให้ประชาชนหรือแม้แต่สื่อมวลชนเองไม่ได้ให้ความสำคัญ สำหรับผลงานด้านสังคมของรัฐบาลในปีที่ผ่านมาเน้นแก้ปัญหาค้ามนุษย์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยด้านสังคมจะเข้าไปเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบ เรื่องพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย นอกจากนั้นมีอีกหลายโครงการที่เข้าไปช่วยเหลือ เช่น โครงการพัฒนาชุมชนแฟลตดินแดง การดูแลแม่ตั้ง ครรภ์ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ ทีมหมอครอบครัว โรคอุบัติใหม่ การจัดทำคู่มืออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตด้วย
@ "บิ๊กป๊อก"ขันนอต"ปค.-สถ."
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวแถลงผลงานว่า เริ่มจากกรมการปกครอง (ปค.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็น 2 กรม ที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปสู่ประชาชนมากที่สุด สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยทำไปแล้วคือให้กลไกนี้ตอบสนองและเอานโยบายไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ในอนาคตถ้ามีจับยาเสพติดที่ไหน นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ ต่อมาคือกรมที่ดิน ได้เข้มงวดในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ ต้องไม่มีทุจริต ส่วนทางเทคนิคการออกโฉนดจะต้องรอบคอบ และไม่ทับซ้อนกัน
"ประชารัฐเขาต้องการอะไร หน่วยงานราชการต้องเข้าไปช่วยกัน โครงการหนึ่งคือโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท นายกฯต้องการให้ช่วยประชาชนในลักษณะเสริมความเข้มแข็ง ให้ข้างล่างเป็นผู้เสนอโครงการเป็นที่ต้องการของประชาชนขึ้นมา โครงการนี้ใช้เงินทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท เรื่องภัยแล้ง เรามีปัญหาเรื่องน้ำน้อย รัฐบาลจึงมีมาตรการไม่ให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก นายกฯสั่งการว่าหากไม่ให้เกษตรกรปลูกพืชจะต้องมีมาตรการลงไปสร้างอาชีพให้เขา บูรณาการกับหลายๆ หน่วยงาน ส่วนปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทยได้ทำร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เช่น ออกกฎหมายค่าเช่านา ฯลฯ สุดท้ายโครงการที่นายกฯอยากให้ผมพูดคือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สื่อนำเสนอข่าวไป วิพากษ์ได้แต่ขอให้อยู่บนข้อเท็จจริง เราคงจะได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
@ "ดอน"ชี้ผลงานกต.แจงรัฐประหาร
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลงานกระทรวงต่างประเทศรอบ 1 ปีว่า สิ่งแรกที่ได้เร่งดำเนินการคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะเมื่อได้ยินคำว่ารัฐประหาร จะนึกถึงความรุนแรง แต่คนต่างชาติในประเทศไทยเองไม่เชื่อสิ่งที่ได้เห็น เพราะทุกอย่างสงบเรียบร้อย จึงเป็นภารกิจของ กต.ต้องสื่อสารไปยังต่างประเทศ ผลได้อยู่ในระดับน่าพอใจมาก จากการรับฟังข่าว ความวางใจต่อเหตุการณ์ การยอมรับประเทศไทย ความสัมพันธ์ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งภาคธุรกิจ สื่อ ประชาชน นักวิชาการ เราจึงได้เห็นภาพนายกฯ เดินทางร่วมประชุมนานาชาติในเวทีต่างๆ รวมถึงล่าสุด นายแดเนียล อาร์ รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางมาหารือกับประเทศไทย มายืนยันความร่วมมือที่มีอยู่ต้องมีต่อไป
@ แถลงผลงาน 9 ชม.ไม่จบต่อ 25 ธค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงผลงานในรอบ 1 ปี ของรัฐบาลใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30-17.15 น. ช่วงเช้านายกฯ เป็นประธานกล่าวเปิดและแถลงนโยบายด้วยตัวเองกว่า 1 ชั่วโมง 20 นาที การแถลงผลงานครั้งนี้นอกจากสำนักนายกรัฐมนตรีจะทำหนังสือบทสรุปสำหรับผู้บริหารผลงานรัฐบาลรอบ 1 ปีแล้วนั้น กระทรวงต่างๆ ยังจัดทำผลงานเป็นเอกสารเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนได้รับทราบด้วย สำหรับบรรยากาศของการแถลงผลงานในช่วงบ่ายนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นำแถลงผลงานด้านเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเศรษฐกิจแถลงผลงาน ส่วนรัฐมนตรีกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ท่องเที่ยว กลุ่มสังคม ได้ยกยอดไปแถลงในวันที่ 25 ธันวาคม เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น.ตามลำดับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะแถลงสรุปปิดท้ายอีกครั้งในเวลา 16.00 น. เนื่องจากบางกระทรวงมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงใช้เวลานานกว่าที่วางไว้
@ "บิ๊กตู่"เขียนบทความจม.ข่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์เขียนบทความจากใจนายกรัฐมนตรีลงในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 16 ระบุว่า 10 ปีแล้วประเทศไทยป่วยร่างกายอ่อนแอ เพราะไม่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ไม่ได้รับการส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขัน ปราศจากการวางรากฐานการพัฒนาที่ดีอย่างต่อเนื่อง ขาดภูมิคุ้มกัน ปล่อยให้เชื้อโรคร้ายกัดกินสังคมไทย อาทิ การทุจริตคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ คนจนถูกเอาเปรียบ จิตใจไม่สงบจนขาดสติ ขัดแย้งกันทางการเมืองนำไปสู่การแตกแยก และไม่มีทุนชีวิตในการต่อสู้โรคร้าย เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกดึงมาใช้อย่างไร้วินัย ปราศจากการทดแทนจนขาดความมั่นคง ประเทศไทยจึงป่วยเรื้อรัง ด้วยขาดสมดุลใน 4 มิติ คือการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
"คสช.เปรียบเสมือนหมออาสาเข้ามาดูแลและรักษาอาการป่วยของประเทศด้วยแผนการรักษา 3 ระยะ 1.การให้ยาตามอาการป่วยและผลข้างเคียง มุ่งระงับความขัดแย้งทางการเมือง แก้ไขปัญหาเร่งด่วนทางสังคม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปให้ได้ 2.การผ่าตัดเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอวัยวะทั้งภายในและภายนอก อาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหมอในหลายสาขาด้วยกันอาสา รัฐบาลบริหารขับเคลื่อนประเทศ สนช.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายล้าสมัย สปช.ในเบื้องต้นและ สปท.ในปัจจุบัน กำหนดกรอบแนวทางการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ กรธ.ในการปกครองและบริหารประเทศที่มีกลไกเครื่องมือแก้ไขปัญหาในอดีต ป้องกันปัญหาในอนาคต และ 3.การคืนนักกีฬาสู่สนามแข่งขันคือเป้าหมายสุดท้ายในการทำงานของผม รัฐบาลและ คสช.ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่า" นายกฯระบุ
@ "มีชัย"แจงเคาะที่มาส.ว.
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ฝากอะไรมายัง กรธ.เป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นการหารือเกี่ยวกับการทำแผนปฏิรูปประเทศและการแถลงผลงานของรัฐบาล สำหรับความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างของวุฒิสภา (ส.ว.) เสร็จสิ้นแล้ว ส.ว.จะแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม จะกำหนดรายละเอียดและวิธีการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มา ส.ว.ต่อไป อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตรวจดูการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีจำนวนมาตราเท่าไหร่ คงต้องพิจารณาในหลักการและเนื้อหาให้เสร็จก่อน
เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นหรือไม่ต้องบัญญัติการนิรโทษกรรมให้กับ คสช. นายมีชัยกล่าวว่า คงต้องมีกำหนด การกำหนดไว้เหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีต เพราะเป็นสูตรต้องมีไว้ในรัฐธรรมนูญ
@ อบจ.-อบต.-สทท.ยื่น"มีชัย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย พร้อมนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย และตัวแทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กว่า 10 คน เดินทางเข้าพบนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือและข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ภายหลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาค คือ เชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา และชลบุรี โดยมีประเด็นนำเสนอ 1,200 เรื่อง ให้ กรธ.พิจารณา และแยกหมวดหมู่ ภายในวันที่ 10 มกราคม 2559 ก่อนพิจารณารอบแรกวันที่ 29 มกราคม
นายบุญเลิศ กล่าวว่า ประเด็นที่นำเสนอ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิหน้าที่พลเมืองและการเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม อาทิ ที่มาของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การคงสถานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อทำงานแบบบูรณาการ รวมทั้งการบริการสาธารณะยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก นายมีชัยให้ความสนใจและมีท่าทียอมรับ เป็นการแสดงออกในเชิงบวกที่มีต่อ 3 องค์กรท้องถิ่น
"นายมีชัยขอให้ 3 องค์กรท้องถิ่น คือ สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย และ ส.ท.ท. เป็นกลไขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญระดับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมจะเปิดเวทีสัญจรพบปะกับท้องถิ่นอีกครั้ง เพื่อบอกทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนำร่องที่ จ.เชียงใหม่เป็นแห่งแรก คาดดำเนินการต้นปีหน้า" นายบุญเลิศกล่าว
@ กรธ.เคาะที่มาส.ว. 20 กลุ่ม
หลังจากนั้น มีการประชุม กรธ.โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณากระบวนการได้มา ส.ว. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงว่า กรธ.ได้พิจารณาหลักการการได้มา ส.ว.เบื้องต้นคงหลักการวิธีการได้มา ส.ว.จากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ทางสังคมจากกลุ่มต่างๆ 20 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2.ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3.ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรืองบประมาณ 4.ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5.ด้านการสาธารณสุข 6.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา 8.ด้านกสิกรรมหรือป่าไม้ 9.ด้านปศุสัตว์หรือประมง 10.ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง 11.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12.ด้านผู้ประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13.ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 14.ด้านผู้ประกอบวิชาชีพ 15.ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16.ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน 17.ด้านองค์กรชุมชน 18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19.ด้านอาชีพอิสระ และ 20.ด้านประชาสังคม รวม 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เป็นได้เพียงวาระเดียวตลอดชีวิต
@ กรองกม.-คุมรบ.-คัดองค์กรอิสระ
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.มี 3 ประการ คือ 1.กลั่นกรองกฎหมาย 2.ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และ 3.คัดเลือกคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขณะที่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ว.นั้นมีสาระสำคัญคือ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาว่าต้องจบการศึกษาปริญญาตรี มีความเกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญด้านที่ลงสมัครเป็นระยะเวลา 10 ปี ไม่ห้ามผู้มีบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงสมัคร ส.ว. สามารถสมัครได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีองค์กรนิติบุคคลไม่แสวงหาผลกำไรมารับรอง เพื่อไม่ให้ผู้สมัครผูกพันกับนิติบุคคลนั้นๆ และผู้จะลงสมัคร ส.ว.จะต้องผูกพันกับพื้นที่นั้นๆ ประกอบไปด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งคือ การเกิดอยู่ในทะเบียนบ้าน ประวัติการศึกษาในพื้นที่ และประวัติการทำงานในพื้นที่
@ ชี้คดียังไม่สิ้นสุดหมดสิทธิ
โฆษก กรธ.กล่าวว่า ผู้สมัคร ส.ว.ต้องเปิดเผยหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 1 ปี และหาก ส.ว.จะออกไปดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ไปผูกพันกับผลประโยชน์กับฝ่ายการเมือง ในทางกลับกันหากอดีต ส.ส.ต้องการมาสมัคร ส.ว.ก็ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.มาแล้ว 5 ปีเช่นกัน และสิ่งสำคัญหากอยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของศาลและองค์กรอิสระ แม้คดียังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ จะไม่สามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้
เมื่อถามว่า อดีต ส.ว. สปช. สนช. สปท.สามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้อีกหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า ที่ประชุม กรธ.ยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะสมัครได้ เนื่องจากระบบของ ส.ว.เป็นรูปแบบใหม่ รวมไปถึง สปช. สปท. สนช. ล้วนมาจากการแต่งตั้ง ยังไม่เคยใช้หลักเกณฑ์ตามร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ส่วนตัวจึงเชื่อว่าคนเหล่านี้น่าจะสมัคร ส.ว.ได้ แต่เบื้องต้นทาง กรธ.ก็คงต้องกลับไปพิจารณาว่าจะมีคุณสมบัติลงสมัครได้หรือไม่อย่างไร
เมื่อถามว่า เหตุผลที่เปิดช่องให้คู่สมรส บุพการี-บุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาสมัคร ส.ว.ได้ นายอุดมกล่าวว่า ส.ว.ตามระบบใหม่จะมาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยผู้เลือกอยู่ในแวดวงเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีความรู้ ความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ไม่ได้เป็นการเลือกจากประชาชน จึงไม่ได้มีลักษณะการหาเสียง หรือการระดมความนิยม อีกทั้งการได้มามีการเลือกกันตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนมาถึงระดับประเทศ ดังนั้น เชื่อว่ามีการกลั่นกรองมาระดับหนึ่ง การใช้อำนาจครอบงำคงจะน้อยกว่าระบบการเมืองทั่วไป การไปห้ามอาจเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล
@ อดีตส.ว.ถามปชต.เต็มใบยังไง
นายตรี ด่านไพบูลย์ อดีต ส.ว.ลำพูน กล่าวถึงกรณีที่มา ส.ว.ว่า การเลือก ส.ว.เลือกตั้งทางอ้อมถือว่าความพยายามของ กรธ.จะเลือกคนสายวิชาอาชีพเข้ามาเป็นเรื่องที่ดี เป็นความงดงาม ตนไม่ปฏิเสธ แต่การกำหนดให้ทั้ง 200 คนมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มวิชาชีพทั้งหมด 20 กลุ่ม โดยไม่มีสัดส่วนจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแบบนี้จะอธิบายความหมายของคำว่าผู้แทนปวงชนได้อย่างไร เพราะไม่มีทางจะจัดกลุ่มวิชาชีพได้ครบตามความเป็นจริงได้ เพราะคนในสังคมมีความหลากหลายมาก เมื่อ กรธ.ปฏิเสธการเลือกตั้ง ส.ว.ถือว่าเป็นตัวแทนหนึ่งของประชาชนไม่สามารถอธิบายคำว่าผู้แทนปวงชนได้ คนที่ได้เป็น ส.ว.จากกลุ่มอาชีพก็คงไม่พ้นคนจากส่วนกลาง คนในเมือง หอการค้า จะสนใจแต่กลุ่มอาชีพตัวเอง จึงไม่ค่อยมีความเชื่องโยงกับคนชนบทเลย
"แนวคิดดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริง อยากถามว่าหากไม่มีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศแล้ว จะเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยเต็มใบได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องพูด กรธ.ตัดอำนาจถอดถอนไปแล้ว จึงไม่ปล่อยให้มี ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อให้มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนบ้าง" นายตรีกล่าว
@ สปท.ลุยขับเคลื่อนปรองดอง
นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิก สปท. กล่าวถึงความคืบหน้าแนวทางการนิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมืองว่า ตอนนี้ไม่ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาแล้ว เพราะเปลี่ยนเป็นใช้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองแบบเต็มคณะ เพื่อทำเรื่องการปรองดองและนิรโทษกรรมแทน โดยประเด็นดังกล่าวจะเริ่มพิจารณาหลังจากช่วงปีใหม่ การพิจาณาเรื่องดังกล่าวจะทำคู่ไปกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และของ สนช. เบื้องต้นวาระการพิจารณาจะประเมินจากทุกฝ่าย เช่น จากพรรคการเมือง และผู้รู้ รวมถึงแนวทางที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับบรรยากาศของบ้านเมือง
"ตอนนี้จะค่อยๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องนี้กับ กอ.รมน.อยู่ รัฐบาลมีแนวทางนิรโทษกรรมและสร้างความปรองดองที่ต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้งในปี 2559-60 นาทีนี้ทุกคนก็อยากให้มีการนิรโทษ แต่ไม่ใช่สุดโต่งไปทางหนึ่งทางใด ผมยืนยันเหมือนเดิมว่าต้องนิรโทษทุกฝ่าย ยกเว้นแกนนำ แต่หากสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น และคดีต่างๆ ตัดสินแล้ว ก็ค่อยมาว่ากันอีกทีว่าจะนิรโทษให้แกนนำอย่างไร" นายสมพงษ์กล่าว
@'เสรี'เตือนที่มาส.ว.มีข้อเสีย
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท. กล่าวถึงกรณี กรธ.กำหนดที่มาของ ส.ว.แบบเลือกตั้งทางอ้อม โดยมาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ว่า การกำหนดเช่นนี้มีข้อเสียเรื่องการบล็อกโหวตหรือการกำหนดคะแนนได้ ทำให้เกิดการซื้อเสียงได้ในแต่ละกลุ่ม และจะได้คนไม่ได้คุณสมบัติอย่างที่ต้องการ กรธ.ควรออกรูปแบบมาไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เชื่อว่า กรธ.คงต้องแก้ไขอีก เพราะถ้าตอบไม่ชัดก็ต้องแก้ข้อเสนอเหล่านี้ การคิดอย่างนี้เป็นการหนีเสือปะจระเข้ หนีปัญหาอย่างหนึ่งไปเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่ง
"ยิ่งให้มีการเลือกไขว้กัน กลายเป็นให้คนที่ไม่รู้จักกันเลือกกันเอง คนที่ได้คะแนนคือ คนซื้อเข้ามาเท่านั้น แม้จะกำหนดกลุ่มอาชีพอย่างไร เชื่อว่าก็จะได้ไม่ครบทุกอาชีพ ทางที่ดีที่สุดคือต้องเปิดให้เลือกอย่างอิสระ โดยให้ผู้สมัครทั้งจังหวัดเลือกกันเอง 1 คน จะเลือกได้ 3 คน โดยเอาคะแนนสูงสุด 3 เท่าของจำนวนที่จะได้เป็น ส.ว.ในจังหวัดนั้นๆ แล้วส่งชื่อให้รัฐสภาเป็นผู้เลือก จนเลือกจำนวนที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.แต่ละจังหวัด หากทำเช่นนี้จะไม่สามารถบล็อกโหวตได้ และไม่มีการซื้อใครทั้งสิ้น รวมถึงยังมีความได้มาซึ่งความหลากหลายด้วย" นายเสรีกล่าว
@ บิ๊กหมูขอสื่ออย่าให้พื้นที่คนไม่ดี
ที่ฝูงเครื่องบิน กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมในขณะนี้ว่า ขอร้องสื่อว่าอย่าไปเพิ่มช่องทางให้กับคนไม่ดีได้ทำความแตกแยก เพราะว่าคนดีๆ คนอื่นจึงไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์ เพราะสื่อไปนำเสนอข่าวให้กับคนต้องการมีปัญหา และให้ความสำคัญกับใครก็ไม่รู้เพียงคนเดียว จนสร้างความแตกแยกนั้นอย่าเลย ตนคิดว่าใกล้จะปีใหม่แล้ว ทุกคนต้องเป็นมิตรกัน และเป็นเพื่อนกันอย่างมีความสุข เลิกแตกแยกกัน ต้องไปข้างหน้าเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขและลูกหลานจะได้อยู่อย่างสบาย
@ ปชป.ให้คะแนนรบ.เต็ม 100
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการแถลงผลงาน 1 ปีรัฐบาลว่า ผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลขอให้ 100 คะแนนเต็ม คือเรื่องความมั่นคง สร้างความสงบเรียบร้อย สมานฉันท์ให้คนในชาติได้ ปี 2559 มี 4 ปัจจัยหลัก เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ 1.การบริโภคภายในประเทศน่าจะติดขัด เพราะประชาชนมีหนี้สินครัวเรือนสูงจนจุกคอหอย 2.การลงทุนมองว่ายังไม่มีความชัดเจน ไม่น่าจะเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดในไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะรายละเอียดในทีโออาร์ของหลายโครงการยังไม่ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนอย่างไรบ้าง 3.ดุลการค้าระหว่างประเทศ มองว่าไม่สู้ดีเพราะมีปัญหาเรื่องการส่งออก 4.เรื่องใช้จ่ายภาครัฐ ตั้งงบประมาณ ปี 2559 มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดของรัฐบาลนี้ เห็นความตั้งใจจริงรัฐบาลต้องการจะให้เกิดสิ่งใหม่ แต่ต้องรอดูฝีมือเรื่องการจัดการงบค้างท่อ ขับเคลื่อนไม่ดี ขอเสนอให้รัฐบาลนำเงินจากการประมูล 4จี บางส่วนไปจัดสรรเป็นงบประมาณ ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ฉบับเพิ่มเติม เพื่อก่อให้เกิดงบลงทุนเพิ่มขึ้น
@ แนะรัฐบาลเร่งปฏิรูปราชการ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปีว่า การแถลงผลงานเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลทำงานแล้วสรุปให้ประชาชนเข้าใจว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่ทั้งหมดต้องขับเคลื่อนผลงานให้นำไปสู่การปฏิรูปด้วย โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือเรื่องระบบข้าราชการที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เช่น การขจัดเรื่องสินบนหรือการทุจริตคอร์รัปชั่น ตนขอเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนเป็นนโยบายให้ข้าราชการทุกส่วนมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการปฏิรูปอย่างชัดเจนในแง่การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เรายังไม่เห็นปรากฏในผลงานของรัฐบาล จึงอยากให้ทำเป็นตัวอย่างให้ชัดเจน
@ พท.ย้ำรบ.แห่งชาติไม่เกี่ยวพรรค
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข