- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 05 July 2014 14:46
- Hits: 4171
บิ๊กตู่ให้สมัครสภาปฏิรูป รับทุกกลุ่ม เล็งตั้งกก.สรรหา'อปท.'เตือนสื่อหยุด'เฮทสปีช'จัดทีมธุรกิจเคลียร์ตปท.'ประจิน'แย้มธรรมนูญ คสช.ทำงานขนานครม.'พิชญ์'แจงทหารเชิญคุย
รับแขก -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. ให้การต้อนรับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.ประเทศพม่า ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม
|
โฆษก คสช.เข้าใจมะกันไม่เชิญบิ๊กทหารร่วมงานวันชาติ ผบ.สส.พม่าเยือนไทย มั่นใจโรดแมป คสช.สำเร็จ เข้าพบ'ป๋าเปรม'นับถือเป็นพ่อบุญธรรม 'บิ๊กจิน'เผยธรรมนูญชั่วคราวมี 45 มาตรา รอฝ่ายกฎหมายแก้ไขรายละเอียดก่อนทูลเกล้าฯ ยัน คสช.ต้องทำงานร่วมกับ ครม.ชุดใหม่ บิ๊กเจี๊ยบต้อนรับผบ.สส.พม่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 กรกฎาคม ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ให้การต้อนรับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประเทศพม่า ในฐานะแขกของ บก.ทท.ที่มีกำหนดการมาเยือนระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม โดย บก.ทท.จัดพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสมสามเหล่าทัพ พร้อมทั้ง สักการะพระพุทธนวรราชบพิตร ประดิษฐาน ณ ชั้น 3 และพระพุทธนวราชบรมบพิตรศักดิ์สิทธิชัยมงคล ประดิษฐาน ณ ชั้น 7 บก.ทท. จากนั้น พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย แลกเปลี่ยนข้อราชการกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าความร่วมมือกันทั้งในระดับรัฐบาลและระดับกองทัพ มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้านการทหาร กองทัพไทยและกองทัพพม่ามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือระหว่างกันเป็นปกติ มีการแลกเปลี่ยนการศึกษาของกำลังพลทั้งสองประเทศ และการส่งกำลังพลเข้าร่วมการฝึกร่วม/ผสมคอบร้า โกลด์ ในปีนี้ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ พม่าเชื่อโรดแมปคสช.สำเร็จ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า ไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีความจริงใจต่อกัน รวมทั้งมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กองทัพไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้มีความเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะกองทัพมีภารกิจอันสำคัญยิ่ง คือ การปกป้องประเทศชาติให้มีความมั่นคงและดูแลประชาชนให้มีความปลอดภัย "กองทัพพม่าเคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ถือเป็นความเลวร้ายยิ่งกว่า เมื่อปี ค.ศ.1988 หากพิจารณาจากโรดแมปของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) แล้ว เรามีความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และขอบคุณทางการไทยที่สนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการ การเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรพม่า เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนชาวพม่า" พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว บุตรบุญธรรมเข้าเยี่ยม"ป๋าเปรม" ต่อมาเวลา 11.00 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ พร้อมคณะนำ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย และคณะรวม 21 คน เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เนื่องจากมีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวในฐานะบุตรบุญธรรมของ พล.อ.เปรม เพราะสมัยที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีความสนิทสนมกับบิดาของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่ดำรงตำแหน่ง ผู้นำทางทหารของพม่าในสมัยนั้น ก่อนหน้านี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าเยี่ยมคาวระ พล.อ.เปรม มาแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2555 และเดือนพฤษภาคม 2556 การพบกันครั้งนี้ พล.อ.เปรม รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะ โดย พล.อ.เปรม มอบของที่ระลึกให้ ผบ.สส.พม่า เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี ภายในพิมพ์ประวัติเป็น 3 ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน พร้อมเนคไท มีลายเซ็น พล.อ.เปรม, นาฬิกา, ภาพปักดิ้นทองของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จากนั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ นำ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก "บิ๊กตู่"ฮึ่มสื่ออย่าเพิ่มขัดแย้ง เมื่อเวลา 20.30 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ขอทำความเข้าใจสื่อต่างๆ ว่า คสช.ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันอีกต่อไป วันนี้บ้านเมืองอยู่ในห้วงเวลาไม่ปกติ จำเป็นต้องขอร้องให้ลดการนำเสนอข่าวที่จะเพิ่มหรือขยายความขัดแย้ง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีสื่อทั้งที่เลือกข้าง และเป็นกลาง ทำให้สังคมและประชาชนสับสน มีความเกลียดชังกัน ดังนั้น เราต้องช่วยกัน ทั้ง คสช. สมาคมผู้สื่อข่าว นักข่าว บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์ต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้การกระจายข่าวสารรวดเร็วมาก หากเสนอข่าวใดที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ก็จะสร้างความเกลียดชัง หรือที่เรียกว่า Hate Speech ความขัดแย้งจะไม่มีวันจบไม่สิ้น หากปล่อยเป็นเช่นเดิม ความแตกแยกจะมากขึ้น ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้นได้ยาก น้อยใจคนวิจารณ์โรดแมป "ผมขอร้องอีกครั้งให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทั้งผู้สื่อข่าว สำนักพิมพ์ บรรณาธิการ กรุณากำหนดมาตรฐาน มีมาตรการควบคุมเนื้อหาสาระของสื่อ ให้ช่วยเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง หากสื่อใดนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง หรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ท่านต้องรับผิดชอบด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว "สำหรับโรดแมป 3 ระยะ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ต่างๆ บางครั้งผมก็รู้สึกน้อยใจเหมือนกันว่าท่านฟังเวลาเราพูดหรือไม่ รู้ว่าทุกท่านมีความห่วงใย มีความหวังดีกับประเทศชาติ แต่ขอให้กรุณาฟังเราบ้าง หากท่านไม่ฟังเลย จะไม่ได้เป็นการติเพื่อก่อ แต่จะเป็นการติเหมือนจะทำลายกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เผยรับสมัครคนนั่งสภาปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปในระยะที่ 1 และ 2 วันนี้เป็นขั้นการเตรียมการ โดย คสช.อำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ร่วมแสดงความคิดเห็นถกแถลงกัน ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ระยะที่ 2 เมื่อมีรัฐบาลแล้วมีการจัดตั้งสภาปฏิรูป วิธีการคือรับสมัครบุคคลทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การเมือง คู่ขัดแย้ง นักวิชาการ การศึกษา พลังงาน เศรษฐกิจ สังคม สมาคมต่างๆ ตลอดจนผู้แทนแต่ละจังหวัด จะต้องมีครบทุกกลุ่ม เราจะกำหนดไว้ในธรรมนูญชั่วคราว "ระบบการบริหารราชการ ระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการ จำเป็นต้องปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง บุคลากร คุณภาพ ความซื่อสัตย์ รวมถึงรูปแบบการปฏิบัติงาน ส่วนการปรับย้ายข้าราชการระดับ 10-11 เพื่อความเหมาะสม คสช. ไม่ได้มุ่งหวังจะสืบทอดอำนาจ หรือเปลี่ยนกลุ่มผลประโยชน์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ได้รับรายงานว่า สถานีวิทยุบางแห่งไม่เปิดเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว ขอร้องว่าอย่ากระทำผิดดังกล่าว เพราะอาจถูกระงับการออกอากาศ จ่อหมายจับเอี่ยวอาวุธอีก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องอาวุธสงครามยังจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง จากการสอบสวนพบว่ามีความเชื่อมโยง มีบุคคลเกี่ยวข้องมากมายจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งกรณีโมเดลในจังหวัดต่างๆ ด้วย อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า เจ้าหน้าที่หมุนเวียนอาวุธมาสร้างภาพการจับกุมหรือไม่ ขอเรียนว่าเป็นไปไม่ได้ และยังมีเป็นจำนวนมาก เร็วๆ นี้ จะมีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวขึ้นเพิ่มเติมอีก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาขายแดนภาคใต้ เรื่องการพูดคุยสันติภาพนั้น คสช.ยังดำเนินการอยู่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายไทย ยังคงต้องให้ประเทศมาเลเซีย ช่วยเป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้มีการพูดคุยบุคคลระดับสูง วันนี้ทางมาเลเซีย เขาใช้หลักการการแก้ไขปัญหาที่ว่า "Win Heart and Mind" แต่สำหรับประเทศไทย เราคงยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะดำเนินการโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน ภายใต้กฎหมายไทย จัดคณะเอกชนแจงต่างชาติ "มีการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว รายละเอียดในการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตั้งรัฐบาล และการตั้งสภาปฏิรูป ประมาณเดือนกันยายน จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 ตามโรดแมปของ คสช. คือการทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญชั่วคราวและตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการสร้างความปรองดอง ระดับชุมชน เราจะใช้มวลชนที่จัดตั้งไว้แล้วมาร่วมด้วย เช่น อาสาสมัครสาธารสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.), ครูอาสา และอื่นๆ นั้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนกระทรวงต่างๆ ในแต่ละจังหวัด สร้างโครงข่ายภาคประชาชน ระดับอำเภอ ตำบล สนธิเข้ากับโครงข่ายงานสร้างความปรองดองที่ คสช.จัดตั้งไว้ "เรื่องการสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ คสช.กำลังจัดคณะผู้แทนของ คสช. ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ประชาชน เดินทางไปทำความเข้าใจกับต่างประเทศอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากส่วนราชการ ซึ่งกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราจะเริ่มในภูมิภาคเอเชียก่อน" หัวหน้า คสช.กล่าว แจงเหตุปว.สกัดจลาจล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ต่างประเทศแสดงความห่วงใยต่อการรัฐประหารในไทยนั้น ตนขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ คสช.ดำเนินการครั้งนี้ เพื่อยุติความรุนแรงและแยกคู่ขัดแย้งออกจากกัน เนื่องจากสถานการณ์มีแนวโน้มมุ่งสู่การจลาจล การใช้อาวุธสงครามทำร้ายซึ่งกันและกัน รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม เราได้ตรวจยึดอาวุธสงครามได้มากมาย ส่วนเรื่องการเรียกรายงานตัวบุคคล เป็นการเชิญคู่ขัดแย้งมาพบปะพูดคุย ไม่ได้เรียกมาเพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยว หัวหน้า คสช.กล่าวว่า คสช.ส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ในการยุติความขัดแย้งตามระบบกฎหมายอย่างถูกต้อง เป็นกลาง ไม่บิดเบือนหลักการแห่งกฎหมาย โดย คสช.ไม่แทรกแซงในผลแห่งคดีเพื่อช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อไปในอนาคต "คสช.เข้าใจดีว่าการทำรัฐประหารนั้น โดยรูปแบบเหมือนเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นภัยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามความเข้าใจของโลกตะวันตก แต่วันนี้เราทำ เป็นการกระทำที่จำเป็นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ และเพื่อส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้เจริญงอกงามต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ขอบคุณ"ฮุนเซน"ปล่อยวีระ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการต่างประเทศ มีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปพบท่านนายกฯฮุน เซน ท่านเข้าใจสถานการณ์ของไทยและร่วมมือแก้ปัญหาแรงงานกับไทย รวมทั้งปล่อยตัวนายวีระ สมความคิด กลับมาด้วย ตนในนาม คสช. ขอขอบคุณนายกฯฮุน เซน และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อองค์พระมหากษัตริย์กัมพูชาด้วย หัวหน้า คสช.กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานชาวกัมพูชาทยอยเดินทางกลับเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง เรารับว่าจะดูแลแรงงานต่างด้าวให้ดีที่สุด แต่ต้องขอจดทะเบียนให้ถูกต้องกฎหมายทุกคน "บิ๊กจิน"เผยธรรมนูญมี45มาตรา ที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ดูแลงานฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวถึงการประชุม คสช.ชุดใหญ่ ในการพิจารณาเนื้อหาสาระร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เป็นเพียงการพูดคุยภายในของ คสช. นำหลักการมาชี้แจงและพิจารณาปรับแก้เนื้อหาร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราว จากนั้นมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย คสช. ไปปรับแก้ไขรายละเอียดให้สมบูรณ์และนำมาเสนออีกครั้ง ก่อนนำร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวทูลเกล้าฯต่อไป เบื้องต้นทราบว่าธรรมนนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีประมาณ 45 มาตรา พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า ส่วนตัวยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ เนื่องจากอยู่ในชั้นการรับฟังหลักการ แต่ขอเรียนว่า คสช.จะทำหน้านี้จนกว่าจะปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จ ตามโรดแมป คสช. คือตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย คสช. จะยังคงทำงานร่วมกับ ครม.ชุดใหม่ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ก่อนเลือกตั้งต่อไป ส่วนจะบัญญัตินิรโทษกรรมให้ คสช. ในธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่นั้น ยังไม่เห็นรายละเอียด เพียงแค่รับฟังที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. พูดในหลักการให้ฟัง เพื่อให้ คสช.แสดงความเห็นถึงข้อห่วงใยเท่านั้น ส่วนจะทำประชามติก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุป "วิษณุ"เผยรธน.ใหม่แก้10ปม นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราว กล่าวถึงการประชุมร่วมกับ คสช. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า คสช.มีข้อสังเกตให้นำกลับไปแก้ไขในบางประเด็น คือ ประเด็นเรื่องอำนาจของ คสช. ที่ต้องการคงอำนาจหน้าที่ด้านความมั่นคงไว้ แต่เกรงว่าอาจจะมีปัญหาทับซ้อนหาก คสช.บางคนเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับกรอบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มี 10 ประเด็น อาทิ การสร้างกลไกการป้องกันการและปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ การทบทวนการมีองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยให้คงอยู่เท่าที่จำเป็น การใช้จ่ายงบประมานแผ่นดินและการป้องกันนำงบประมาณไปใช้ในนโยบายหรือโครงการประชานิยม จนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลัง โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเวลายกร่างให้แล้วเสร็จ 120 วัน จากนั้นส่งให้สภาปฏิรูปเห็นชอบ ภายใน 15-30 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย คาดว่าใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 9 เดือน ผบ.สส.พม่าให้กำลังใจ"บิ๊กตู่" พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษก คสช. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.ให้การต้อนรับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า มีการหารือถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทส รวมถึงสถานการณ์การเมืองไทย โดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า พม่าเข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศไทยเป็นอย่างดี และปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย อยากให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาภายในของประเทศไทยให้สำเร็จ โดยดำเนินการตามโรดแมปที่ทาง คสช.วางเอาไว้ ซึ่งกองทัพพม่ายินดีที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนพม่า-ไทยให้เกิดความเรียบร้อย ทบ.ยันมะกัน-ออสซี่ยังร่วมฝึก เมื่อเวลา 15.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมว่า ทบ. ยังคงจัดการฝึกอบรมร่วมกับกองทัพสหรัฐและออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการฝึกอบรมช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2 ครั้ง ได้แก่ 1.การฝึกอบรมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการต่อต้านเครือข่ายวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง (C-IED/Attack the Network (ATN) 2014) ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม-6 มิถุนายน ณ โรงเรียนข่าวกรมข่าวทหารบก เป็นการฝึกร่วมระหว่างกองทัพบกไทยและกองทัพสหรัฐ ในลักษณะการบรรยายให้ความรู้และฝึกเป็นกลุ่มย่อย เนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์เครือข่ายวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า 2.การอบรมหลักสูตรการจัดเตรียมสนามรบด้านการข่าว สำหรับงานป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ เป็นการฝึกระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกออสเตรเลีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 มิถุนายน ณ โรงเรียนข่าวกรมข่าวทหารบก มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกข่าวกรองกลาโหม ประเทศออสเตรเลียเข้าร่วม เผยออสเตรเลียร่วมมือ90% พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการฝึกตามหลักสูตรการฝึกตามที่วางแผนร่วมกันกับสหรัฐและออสเตรเลียไว้แล้ว เช่นกับทางสหรัฐ ทางกรมข่าวทหารบกรายงานว่ายังมีการฝึกด้านยุทธการ ภายใต้รหัสคอบร้าโกลด์ บาลานซ์ ทอช และหนุมาน การ์เดี้ยน ถือเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับสหรัฐ ส่วนการฝึกเรื่องการส่งกำลังบำรุง เป็นการฝึกแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกองทัพบก กับกองกำลังทางบกสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิกที่ยังคงมีการดำเนินการอยู่ รวมถึงการฝึกและแลกเปลี่ยนการข่าวด้านกิจการพลเรือน หรือการสนับสนุนกิจการด้านงบประมาณตามกิจกรรมของสหรัฐด้วย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า อีกทั้งการประชุมสัมมนาเวทีใหญ่ๆ เช่นการประชุมสัมมนาการบริหารงานกองทัพบกภาคพื้นแปซิฟิก หรือแพม การประชุมผู้บัญชาการทหารบกภูมิภาคแปซิฟิกก็ยังคงเดินหน้าต่อไป สำหรับประเทศออสเตรเลียถือว่าร้อยละ 90 ถือว่าความร่วมมือด้านการทหารยังคงปฏิบัติเช่นเดิม ผู้นำกาตาร์ฝากชื่นชม"คสช." ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) พล.อ.ท.มณฑล สัชฌุกร โฆษก ทอ. กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ ให้การต้อนรับนายญะบัร อะลี เอช.เอ.อัดเดาะซะรีย์ เอกอัครราชทูตรัฐกาตาร์ประจำประเทศไทย และคณะเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัฐกาตาร์ พล.อ.ท.มณฑลกล่าวว่า เอกอัครราชทูตกาตาร์ระบุว่าผู้นำรัฐกาตาร์ฝากแสดงความชื่นชมมายัง คสช.ที่เข้ามาสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชน พร้อมทั้งกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยกับกาตาร์ ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนั้น กาตาร์พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทางด้านพลังงานซึ่งกาตาร์เป็นประเทศมีแหล่งพลังงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงอยากพัฒนาการติดต่อทางด้านการค้า การลงทุนให้มากขึ้น คสช.เข้าใจมะกันไม่เชิญร่วมงาน ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เชิญ คสช.ร่วมงานวันชาติสหรัฐในวันที่ 4 กรกฎาคม ว่า ถือเป็นเรื่องของทางเจ้าภาพ ในการพบปะสมาคมอย่างเป็นทางการกันในช่วงนี้เป็นไปได้ที่ทางสถานทูตสหรัฐ อาจจำเป็นต้องระมัดระวัง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ที่ผ่านมาการพบปะหารือข้อราชการของทูตสหรัฐกับกองทัพ อย่างเป็นทางการยังมีอยู่ตามขอบเขตที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายพยายามไม่ให้เกิดความลำบากใจต่อกัน พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ประเทศไทยเข้าใจถึงกฎระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติประเทศนั้นๆ และความรู้สึกของประเทศนั้นจะมีความเข้าใจในประเทศไทย แต่เรื่องการแสดงออกน่าจะยังเป็นข้อจำกัดอยู่ ทั้งนี้ในโอกาสข้างหน้า ข้อจำกัดในการแสดงออกน่าจะผ่อนคลายขึ้นตามลำดับ ยืนยันว่าความร่วมมือระดับกองทัพ ซึ่งมีโครงการหลายๆ ด้าน ระหว่างประเทศสหรัฐ ออสเตรีย และกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ส่วนใหญ่ยังดำเนินการไปตามปกติ ศาลไม่คุมตัว"บก.ลายจุด" ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เดินทางไปตามนัดหมายของพนักงานสอบสวนเพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดที่สามจากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาที่ห้องพิจารณาคดี 3 องค์คณะตุลาการศาลทหารนั่งบัลลังก์พิจารณาคำขอฝากขังของพนักงานสอบสวนที่ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องสอบพยานและหาหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนนายสมบัติไม่ขอคัดค้านคำขอดังกล่าวแต่อย่างใด จากนั้นศาลพิจารณาแล้วอนุญาตตามคำขอ ฝากขังผู้ต้องหาผลัดที่สาม 12 วัน ระหว่างวันที่ 6-17 กรกฎาคม แต่เนื่องด้วยนายสมบัติได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมจึงไม่ต้องถูกคุมขัง ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ "สมบัติ"ชี้บรรยากาศคลี่คลาย นายสมบัติให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตในเรือนจำว่า มีการพบปะพูดคุยกับผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง และ กปปส. มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับมือปืนป๊อบคอร์น มีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น มีความเข้าใจจุดยืนทางการเมืองมากขึ้น และการถูกดำเนินคดีไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองได้ นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ขณะนี้มีการยืดหยุ่นทำให้คลี่คลายและบรรยากาศที่ดีซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยในอนาคต ส่วนจากนี้ไปคงต้องดูสถานการณ์และไม่ขอวิจารณ์บุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ในขณะนี้ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับระยะแรกที่ยึดอำนาจ ปปท.ให้ส่งจุดอ่อนทุจริต15กค. ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตในวงราชการ นายประยงค์กล่าวว่า จะฟื้นฟูระบบราชการให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม ที่ผ่านมาปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นหลายจุด ดังนั้นหากทุกส่วนกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม พี่น้องประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหา ในส่วน ป.ป.ท. กำหนดกรอบเวลาดำเนินการภายใน 3 เดือน และมีกรอบการทำงาน คือ 1.ทุกส่วนราชการต้องสำรวจจุดอ่อนในองค์กรตัวเอง ที่มีโอกาสเกิดการทุจริตตามอำนาจหน้าที่ 2.ให้หัวหน้าส่วนราชการสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้กระทำการทุจริต หากพบเห็นให้ดำเนินการตามวินัยทันที 3. การจัดซื้อจัดจ้างให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส การกำหนดราคากลางต้องเปิดเผย หากหัวหน้าส่วนราชการนั้นไม่ดำเนินการถือว่าผิดวินัย เบื้องต้นให้แต่ละหน่วยงานเสนอจุดอ่อนที่จะก่อให้เกิดการทุจริตมายัง ป.ป.ท.ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม "ปนัดดา"เร่งแก้"ค่าน้ำชา" ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ข้าราชการต้องเป็นแบบอย่างต่อสังคมในเรื่องความถูกต้องโปร่งใส เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ข้าราชการไทยให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคมต่อไป การทุจริตในวงราชการสั่งสมมานาน โดยเฉพาะเรื่องค่าน้ำชากาแฟ จึงตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ครู อาจารย์เพื่อสะท้อนความคิดอ่านภาคเอกชน ม.ล.ปนัดดากล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปข้าราชการว่า หลายส่วนเริ่มทยอยส่งกรอบแนวทางเข้ามาบ้างแล้ว กรอบความคิดแต่ละกระทรวงจะมีบริบทการแก้ไขปัญหา อำนวยความสะดวกและรวดเร็ว ความมีอัธยาศัยไมตรี เช่น ผู้ที่ดูแลประชาชนประจำวัน หากใครไม่มีอัธยาศัยไมตรีต้องเปลี่ยนทั้งหมด รวมถึงรัฐวิสหกิจด้วย จะประชุมแต่ละกระทรวงอีกครั้งเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและตรวจเยี่ยมโครงการที่แต่ละกระทรวงกำหนดขึ้นให้เป็นรูปธรรมและร่วมกันทำงานอย่างยั่งยืน |