- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 16 December 2015 14:25
- Hits: 3148
'วัชรพล'ฉลุย 7 ต่อ 2 ปธ.ปปช. 'ฎีกา'สั่งประหาร แกนนำแดงอุบล คดีเผาศาลากลาง ก่อนลดให้เหลือ จำคุกตลอดชีวิต
'วัชรพล'ฉลุยมติ 7-2 นั่งประธานป.ป.ช. เผยเตรียมสะสางคดีคั่งค้าง 'บิ๊กตู่'ลั่นแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบปี 23-25 ธ.ค.นี้ เตรียม 194 โครงการลดราคาสินค้า-ปล่อยกู้ เป็นของขวัญปีใหม่ บ่นคนในอินเตอร์เน็ต ชี้บัตรประชาชนไม่ใช่เรื่องตลก ศาลจังหวัดอุบลฯ ตัดสินฎีกา 13 นปช.เผาศาลากลาง สั่งเพิ่มโทษ'ดีเจ.ต้อย' ให้ประหารก่อนลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนที่เหลือโดนคุกถ้วนหน้า
วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9149 ข่าวสดรายวัน
ประธานใหม่ - กรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ร่วมประชุมคัดเลือกประธาน ป.ป.ช. คนใหม่ โดยใช้วิธีลงคะแนนลับ ผลปรากฏว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (นั่งกลางภาพ) ชนะไปด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 เสียง ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.
บิ๊กตู่ลั่น 23-25 ธค.แถลงผลงานรบ.
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยจะหารือเพื่อเตรียมความพร้อมของแต่ละกระทรวงในการแถลงผลงานรอบ 1 ปีต่อประชาชน ที่จัดขึ้นวันที่ 23-25 ธ.ค.นี้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมประชุมร่วมนายกฯและรัฐมนตรีไทย-กัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า การแถลงผลงาน 1 ปีรัฐบาล ตนอยากให้ทุกอย่างนำเสนอในรูปแบบใหม่ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่ไหน เราจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศอย่างไร วันนี้เราทำอะไรถึงไหนแล้ว นำเสนอเป็นกิจกรรมของทุกกระทรวง อาจจะต้องเปรียบเทียบโครงการน้ำเก่ากับน้ำของเรามันต่างกันอย่างไร ไม่เช่นนั้นคนก็ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่ารัฐบาลนี้ทำให้ช้าลง
บ่นอย่าให้เสียสมองเรื่องอื่น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลต้องนำข้าราชการ ภาคธุรกิจ ประชาชนไปด้วยกัน สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกอย่างต่อเนื่องไปในวันข้างหน้า ในวันที่ตนพ้นจากตำแหน่ง ไม่ได้หมายความว่าจะสืบทอดอำนาจ แต่สืบทอดในสิ่งที่ทำว่าทำอย่างไรให้ทำต่อไป แต่ถ้าเขาไม่ทำก็เรื่องของเขา คนตัดสินคือประชาชนในฐานะผู้เลือกตั้ง แต่จะทำแผนไว้ทั้งหมดว่าในเวลา 20 ปีของยุทธศาสตร์ควรเป็นอย่างไร
"อย่างวันนี้ ผมไม่ได้ปฏิเสธ มีบางเรื่องที่เอาแนวทางทำไว้แล้วเดิมมาปรับแก้ กำหนดระยะเวลา ไม่ใช่ทำพรวดทีเดียว และอนุมัติงบประมาณล่วงหน้าไปหลายสิบปี มันไม่ไหว แค่ผูกมัน 3-4 ปีก็แย่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในปี 2560 ตนสั่งแล้วว่าจะเน้นการลงพื้นที่ให้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะไปจับผิดใคร แต่ไปดูความก้าวหน้าในเชิงนโยบาย ดูสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ให้มาต้อนรับรัฐมนตรี รับรองนายกฯ แต่ตนจะไปดูเรื่องนวัตกรรม การวิจัยพัฒนา ดูความก้าวหน้าทั้งในระยะ 1-2 และปฏิรูประยะ 3 ในรัฐบาลหน้าวันนี้ต้องลดภาระตน อย่าให้เสียสมองกับเรื่องอื่นเยอะ มันไม่ไหว มันปวดหัว มันโมโหด้วย ทำให้การทำงานลำบาก
เตรียมสินค้าลดราคาเป็นของขวัญ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงรัฐบาลเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนว่า นอกจากจับมือกับภาคเอกชน ลดราคาสินค้าแล้ว ยังขอให้ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าหรือตั้งจุดบริจาคให้ประชาชน ที่สำคัญคือการส่งใจให้กำลังใจทุกฝ่าย รัฐบาลพยายามทุ่มใจ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีเงินซื้อ เพราะถึงจะลดราคาสินค้า บางกลุ่มก็อาจไม่มีเงินซื้อ กำลังคิดว่าอาจมีเม็ดเงินอะไรลงไป ให้เป็นของขวัญอีกก้อนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการออกกฎหมายเพื่อคนจน และกฎหมายกระบวนการยุติธรรมก็ถือเป็นของขวัญที่ตนได้มอบให้ประชาชนทั้งสิ้น และวันนี้ได้สั่งให้ยกเลิกพ.ร.บ.จีเอ็มโอแล้ว
นายกฯกล่าวถึงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่นี้ว่า ตนไม่ไปเที่ยวไหน ไม่เคยเที่ยวมา 30 ปีแล้ว ไม่เคยไปไหนเลย ปีนี้ก็ไม่คิดจะไปไหนด้วย ตนจะนั่งดูแลเป็นกำลังใจและสแตนด์บายว่ามันจะเกิดเรื่องอะไรหรือไม่ แล้วคอยแก้ปัญหาให้ทุกคนมีความสุข
ชี้รธน.ขาดเรื่องหน้าที่พลเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนดูโทรทัศน์ไม่ว่าคณะโฆษกใดแถลงเรื่องรัฐธรรมนูญ จะพูดถึงพลเมือง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ ตนคิดว่ามันหายไปหนึ่งคำคือคำว่า หน้าที่ ซึ่งหน้าที่พลเมืองสำคัญที่สุดคือการเคารพกฎหมาย มันจะไม่ยุ่งเหยิง ไม่วุ่นวาย รู้ขั้นตอนการบริหารราชการบ้าง ไม่ใช่ตีรวนทุกเรื่องก็ไม่ได้ ต้องดูความตั้งใจ ดูเจตนารมณ์ แล้วเสนอแนวคิดต่างๆ ว่าจะเป็นแบบนี้ เพิ่มตรงนี้อย่างไร ไม่ใช่ล้มมันทุกเรื่อง ไม่ได้ ใครทุจริตไปว่ามา ไปร้องทุกข์กล่าวโทษมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องหน้าที่พลเมือง จะสั่งการกรธ.หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าตนไม่ได้สั่งการไป แต่ให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ทำหน้าที่วิป นำข้อหารือจากครม.ไปประสานร่วมกับกรธ.อีกทีหนึ่ง เราหารือกันแล้วว่าควรมีเรื่องหน้าที่พลเมืองด้วย เพราะปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาเรื่องความร่วมมือ ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ส่งผลให้ทำอะไรไม่ได้ จะทำถนนทั้งทีติดอยู่ 3-4 ปี กว่าจะทำได้เพราะไม่ยอมกัน บางทีติดอยู่บ้านหลังเดียว หรือบ้าน 20 หลัง ทำให้คนอีก 2,000 คนไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
โวยบัตรปชช.ไม่ใช่เรื่องตลก
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงแนวคิดการระบุอาชีพและรายได้ไว้ในบัตรประชาชน ว่าเรื่องบัตรประชาชนตนพูดเร็วไป บางทีก็ไม่เข้าใจ จะมีใครเอาข้อมูล ไปลงบัตรได้เยอะขนาดนั้น มีคนเขียนในโซเชียล ว่าในบัตรเขียนชื่อ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ อาชีพนักฆ่ามหาประลัย รายได้สามสิบหลัก อะไรของมัน นี่ไม่ใช่เรื่องตลกแต่มันกลายเป็นเรื่องตลกไปหมด
"หาว่าผมคิดโง่ๆ รู้หรือไม่ว่าข้อมูลคนมีรายได้เป็นยังไง รายได้ไม่ได้เอามาโชว์ มันอยู่ในแถบแม่เหล็ก ในชิพ ถ้าใส่ในบัตรประชาชนไม่ได้ ก็หาบัตรอื่นมาอีกใบ บางคนถือบัตรเครดิตหลายใบอยู่แล้วก็มีอีกใบ ขึ้นรถเมล์ก็เอาไปเสียบที่เครื่องอ่าน ถึงจะขึ้นได้ หรือจะไปรถไฟฟ้าวันหน้า คนจนจะขึ้นไหวหรือ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแล ไม่งั้นคนจนก็ไม่มีสิทธิ์ขึ้น มันต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่เอามาตีแผ่ว่าคนนี้รายได้เท่าไร บางคนบอกว่าอย่างนี้ก็เปลี่ยนอาชีพไม่ได้ ทำไมคิดแบบนี้ได้วะคนไทย ถ้าจะเปลี่ยนก็ไปแจ้งเปลี่ยนเหมือนทำบัตรประชาชนหาย ไปทำใหม่ ข้อมูลก็อยู่ในเครื่องเหมือนในอดีต เรื่องข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานดิมที่มีอยู่ แต่มันไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจน ต้องให้เจ้าตัวมาแจ้งด้วยตัวเอง" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สมมติว่ามีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำในการเสียภาษีปีละ 150,000 บาท จะแจ้งเมื่อไร เขาก็ยังไม่ได้ตรวจ อีกอย่างชื่อคนพวกนี้จะไม่มีชื่อในระบบภาษีเลย แต่เราต้องใช้เงินสนับสนุนเขาตลอดเวลา สู้เราทำให้ชัดเจน มีจำนวนแน่นอน อาชีพอะไร รายได้เท่าไร เมื่อทำก็ไม่เสียภาษีเหมือนเดิม มันจะเสียหายตรงไหน แต่สามารถเอาบัตรนี้ไปขึ้นรถไฟฟรี รถเมล์ฟรีได้ ไม่ใช่ใครก็ขึ้นได้ ทุกวันนี้คนจนขึ้นไม่ได้ เพราะคนรวยขึ้นไปหมดแล้ว บางคนรายได้เกิน ที่ตนต้องการคือทำให้คนเหล่านี้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ นั่นคือเจตนารมณ์ของตน
บิ๊กป๊อกชี้เป็นข้อมูลดูแลคนจน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการระบุอาชีพและรายได้ลงในฐานข้อมูลว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประชาชน แต่เป็นเรื่องที่นายกฯให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ โดยกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ทำ 2 เรื่อง แบ่งเป็น 2 คณะคือ 1.หาข้อมูลประชาชนทั้งหมด เพื่อใช้บริหารงานของรัฐบาล เราต้องดูว่าแต่ละกลุ่มอาชีพใครเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น เกษตรกร ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับไปหาข้อมูลว่ามีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์และมีรายได้เท่าไรบ้าง ส่วนข้าราชการ กรมบัญชีกลางก็รับผิดชอบ บริษัทห้างร้าน กรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบ
ประหาร - 13 จำเลยคดีเผาศาลากลางจังหวัด ขึ้นศาลจังหวัดอุบลราชธานี ฟังคำพิพากษา ของศาลฎีกา โดยศาลตัดสินประหารชีวิต นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา จำเลยที่ 1 (เดินนำหน้า) แต่ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. |
รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ดังนั้น จะเหลือ กลุ่มอาชีพเดียวที่ยังไม่มีคนรับผิดชอบคือกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่อยู่ในสารบบ มีรายได้ต่ำกว่าที่จะเสียภาษีแต่ไม่มีข้อมูล นายกฯจึงเน้นกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพื่อช่วยเหลือตามนโยบายช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนข้อมูลจะเก็บไว้ที่ใดนั้นจะพิจารณาอีกครั้ง แต่ถ้าจะให้กระทรวงมหาดไทยเก็บจะเอาไปเกี่ยวกับฐานข้อมูลเดิมไม่ได้ เพราะบัตรประชาชนไม่มีกฎหมายให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใส่ แต่คิดว่าควรเก็บไว้ที่เดียวกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องรายได้ของคนทั้งประเทศก็คือกระทรวงการคลัง
ย้ำไม่ลิดรอนสิทธิ์
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า 2.เชื่อมโยงข้อมูลที่มีเพื่อให้บริการประชาชน เช่น การทำวีซ่า ก็นำบัตรประชาชนใบเดียวไปใช้ได้เลย เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ ที่จะทำข้อตกลงกับเราว่าจะทราบข้อมูลอะไรได้บ้าง เรื่องดังกล่าวไม่ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์ เพราะขณะนี้เรามีฐานข้อมูลของประชาชนที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ต้องทำบัตรประชาชนใหม่ และไม่ได้นำข้อมูลไปใส่ในชิป แต่นายกฯให้แนวทางว่าถ้าทำแล้วติดกฎหมาย จะทำขึ้นมาใหม่ก็ได้หรือทำบัตรขึ้นมาอีกใบก็ได้ เพื่อใช้ประโยชน์ เช่น การรักษาพยาบาล หรือใช้สิทธิประโยชน์ในการใช้รถโดยสารสาธารณะ
เมื่อถามว่า คณะกรรมการมีแผนตั้งศูนย์ขึ้นมาใหม่เพื่อเก็บข้อมูลไว้ที่เดียวหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่นิยมทำกัน แต่รัฐบาลทำได้โดยใช้ระบบคราวน์ ซึ่งใช้รูปแบบเหมือนศูนย์ราชการ คือไปเก็บไว้รวมกัน แต่แบ่งเป็นข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน
ครม.เร่งกม.เวนคืนที่ข้างรางรถไฟ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมครม.โดยเน้นย้ำกระบวน การทำงานของแม่น้ำ 5 สาย ทั้งเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ หลักการกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องเสรีภาพ ในประเด็นนี้นายกฯมองว่าประเทศไทยจะสงบและสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ประชาชนมีความสุข นอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงเรื่องหน้าที่ที่มีต่อบ้านเมือง จะคำนึงถึงสิทธิเสรีอย่างเดียวไม่ได้ จึงขอให้ฝ่ายต่างๆ ไปทำความเข้าใจในเรื่องนี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเร่งรัดให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปพิจารณากฎหมายที่ค้างและเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถไปดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง 2 เรื่อง โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาคือ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ เช่น พื้นที่สองข้างทางรถไฟ แม้จะแก้กฎหมายรองไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำได้ เพราะต้องแก้กฎหมายหลักคือ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน และเมื่อทำแล้วจะใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน อีกเรื่องคือกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ให้พิจารณาว่ามีประเด็นในข้อกฎหมายใดบ้างที่ต้องมีการปรับปรุง
ไก่อูแจงของขวัญ 194 โครงการ
พล.ต.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์ถึงของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลว่า นายกฯให้แต่ละกระทรวงไปรวบรวมของขวัญแต่ละกลุ่มงานทั้ง 16 หน่วยงาน รวมทั้งหมด 194 โครงการ แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ 1.โครงการกิจกรรมเทศกาลปีใหม่ เช่น การจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การอวยพรปีใหม่ผ่านระบบออนไลน์ 2.โครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยลดค่าครองชีพ ลดรายจ่าย ซึ่งกลุ่มงานเศรษฐกิจได้ไปขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าให้ลดราคาสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ให้ผู้มีรายได้น้อยจับจ่ายได้จริง หรือแจก มอบเป็นของรางวัลให้ประชาชนที่อุดหนุนสินค้า เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้มีรายได้น้อย 3.โครงการหรือกิจกรรมท่องเที่ยว บริการ และ 4.โครงการเพื่อการพัฒนาคน พัฒนาสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า กระทรวงการคลังเสนอให้ของขวัญเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้สินเชื่อระยะยาวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้อยละ 4 ปรากฏว่ามีความต้องการเยอะมาก วงเงินขั้นต้น 5 หมื่นล้านบาทนั้นหมดไปแล้ว กระทรวงการคลังจึงขอขยายวงเงินอีก 5 หมื่นล้านบาทให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกู้เงินมาใช้ในกิจการของตน โดยธนาคารออมสินยินดีปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อไปให้กู้ต่อ
สนช.สรุปผลผ่านกม.-ผลงานรบ.
ที่รัฐสภา นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงว่า ทางสนช.จะร่วมสนับสนุนการแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปี ระหว่างวันที่ 23-25 ธ.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสนช.จะสรุปผลงาน โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายสำคัญของรัฐบาลว่ามีกี่ฉบับ มีเนื้อหาอะไรบ้าง ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของ สนช.ร่วมกับรัฐบาล จำนวน 22 คน ประกอบ สมาชิก สนช.และเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการวุฒิสภา โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธาน เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของ สนช.ที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของรัฐบาลอันเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณารูปแบบ และดำเนินการเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน สนช.
กรธ.ให้สภาเลือกนายกฯ
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกรธ.ในวาระพิจารณาหมวดคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าที่ประชุมกรธ.ได้พิจารณาจำนวนครม. โดยให้มี 35 คน และให้นายกฯเป็นผู้เลือกตามสูตรเดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรีจะต้องผูกโยงประเด็นการให้พ้นจากตำแหน่ง จึงได้กำหนดเงื่อนไขว่ารัฐมนตรีต้องเป็นผู้มีความสุจริต เป็นที่ประจักษ์และไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม เพื่อเป็นเกณฑ์ให้นายกฯพิจารณา โดยยึดในประเด็นดังกล่าวเป็นหลักเพื่อให้สังคมยอมรับ ไม่ใช่เอานายบ่อนหรือคนไม่ดีเข้ามาบริหาร นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีถูกตรวจสอบพบว่าไม่สุจริตมีปัญหาด้านจริยธรรม สามารถให้ผู้ที่พบเห็นสามารถร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งได้ เบื้องต้นยืนยันว่ากรธ.กำหนดให้ส.ส.สามารถเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง
นายอุดม กล่าวว่า ขณะที่เรื่องของนายกฯยังกำหนดให้ต้องเลือกนายกฯผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯจำนวน 5 รายชื่อนั้น จึงได้กำหนดเกณฑ์ว่า พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อให้ สภาโหวต ต้องได้จำนวนส.ส.ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เข้าใจว่าการโหวตเลือกนายกฯ พรรคการเมืองต้องมีการเจรจากับพรรคอื่นๆ เพื่อรวบรวมเสียงข้างมากอยู่แล้ว ขณะที่เสียงโหวตของสภายังได้ยึดเกณฑ์เดิม คือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา ผู้แทนฯ
ห้ามสร้างความนิยมทางการเมือง
นายอุดม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กรธ.ได้ตัดประเด็นที่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดว่า เมื่อพ้น 30 วันนับจากการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯแล้วไม่มีผู้ใดได้รับเลือกด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนฯ ให้ประธานสภาทูลเกล้าฯชื่อบุคคลผู้ได้รับเสียงข้างมากเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น หากเกิดกรณีเสียงไม่ถึงเกณฑ์เกิดขึ้น พรรคการเมืองก็ต้องไปหาเสียงมาให้ได้ เพราะหากทำไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่งก็อาจต้องยุบสภา
"นอกจากนี้ กรธ.ยังได้เตรียมวางหลักการเรื่องหน้าที่ของครม.เพื่อให้ครม.มีความรับผิดชอบต่อสภาและการบริหาร ตามที่รัฐธรรม นูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ ให้มีกลไกเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองจนอาจก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและกลไกต่อการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม" นายอุดมกล่าว
กก.อิสลามขอโควตาส.ว.
วันเดียวกัน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายวินัย ดะห์ลัน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ขอให้พิจารณาจัดสรรโควตาส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการกลาง อิสลามฯ ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลาง อิสลามฯ เคยเสนอบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ทั้งนี้ บุคคลที่เสนอมีความเชี่ยวชาญและเชื่อว่าหากเข้ามาทำงานจะช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ได้ แม้ในส.ว.ชุดที่ผ่านมาจะมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าไปทำหน้าที่แต่ไม่ใช่บุคคลที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ที่มีความเชื่อมโยงกับพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ
ด้านนายมีชัย กล่าวว่าตนจะนำข้อเสนอที่ยื่นให้กับที่ประชุมกรธ.พิจารณา
กรธ.สปท.ชงปฏิรูป 6 ข้อ
ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สปท. กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อสรุปประเด็นแนวทางการปฏิรูปการเมือง ส่งให้กรธ.ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ว่า มีสาระสำคัญ 6 ข้อคือ 1.ปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ปฏิรูประบบพรรคการเมือง 3.ปฏิรูปการกำกับควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 4.ปฏิรูปการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 5.ปฏิรูปการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ 6.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะเน้นตัดวงจรไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาหาผลประโยชน์กัดกินประเทศเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกมธ.เชื่อว่าแนวทางทั้งหมดจะเป็นการปฏิรูปเพื่อพลิกโฉมหน้าการเมืองไทย
ปปช.โหวต"วัชรพล"นั่งปธ.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย กรรมการเก่า 4 คน ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และกรรมการใหม่ 5 คน ได้แก่ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ประชุมคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งประธานป.ป.ช.คนใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 45/2558 โดยมีนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. ทำหน้าที่เลขาฯการประชุม และเริ่มให้กรรมการทั้ง 9 คน พูดคุยทำความรู้จักกัน จากนั้นที่ประชุมคัดเลือกให้นายปรีชา ซึ่งมีความอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนจะแจ้งกฎเกณฑ์วิธีการคัดเลือกประธานป.ป.ช.ให้กับทุกคนทราบ ขณะที่บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ใช้เวลา 1 ชั่วโมง
จากนั้นนายสรรเสริญแถลงผลการประชุมว่า การคัดเลือกประธานป.ป.ช.ครั้งนี้ มีผู้แสดงความประสงค์ 2 คนคือ พล.ต.อ.วัชรพลกับนายปรีชา และได้ลงคะแนนลับ เมื่อนับคะแนนแล้วผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ให้พล.ต.อ.วัชรพล เป็นประธานป.ป.ช.คนใหม่ หลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการป.ป.ช.จะทำหนังสือเพื่อส่งรายชื่อประธานป.ป.ช. และกรรมการใหม่รวม 5 คน ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำความกราบบังคมทูลต่อไป
ผ่านฉลุยมติ 7 ต่อ 2
รายงานข่าวป.ป.ช. เผยว่า สำหรับเสียงข้างมาก 7 คนที่เลือกพล.ต.อ.วัชรพล ประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล พล.อ.บุณยวัจน์ นายวิทยา นางสุวณา นายสุรศักดิ์ โดยมีคะแนนเสียงจากกรรมการป.ป.ช.ชุดเดิมอีก 2 คนช่วยเทคะแนนให้ด้วยคือ นายณรงค์ และน.ส.สุภา ขณะที่เสียงข้างน้อยที่เลือกนายปรีชา ประกอบด้วยนายปรีชา และพล.ต.อ.สถาพร ส่วนพล.ต.อ.สถาพร ที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าจะเสนอตัวลงสมัครชิงประธานป.ป.ช.ด้วยนั้น ได้เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย ไม่ขอลงสมัคร เนื่องจากประเมินแล้วเห็นว่าไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอ
นายปรีชา กล่าวว่า ยอมรับมติที่เป็นไปตามขั้นตอนและกติกา ยินดีที่ได้ร่วมงานกับชุดใหม่ 5 คนที่มีความรู้ ประสบการณ์ จะได้มาช่วยสะสางงานในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อยากให้บรรยากาศการทำงานมีแต่ความสามัคคี ช่วยกันปรับปรุงแก้ไของค์กร ทำงานเพื่อประเทศ เน้นคุณภาพเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ดูแลองค์กรให้ยืนอยู่ในจุดที่เหมาะสม ถูกต้องเป็นธรรม ช่วยกันพัฒนาระบบงานโดยเฉพาะการเตรียมรับมือกฎหมายใหม่ ให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.มีความเข้มแข็ง นำพาองค์กรให้มีคุณภาพมากขึ้น
ปธ.ใหม่เร่งเคลียร์คดีค้าง
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ว่าที่ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า แนวทางการทำงานของป.ป.ช. ต้องรอโปรดเกล้าฯลงมาก่อน จากนั้นจะเรียกประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อวางยุทธศาสตร์การทำงานของป.ป.ช. ซึ่งต้องใช้มติกรรมการป.ป.ช.ร่วมกันเพื่อวางแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะในระยะสั้นที่มีเรื่องท้าทายมาก เช่น จำนวนคดีที่ค้างอยู่จำนวนมาก จะทำให้ป.ป.ช.มีความโปร่งใส
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวต่อว่า ส่วนข้อครหาว่าตนมีที่มาจากคสช.นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ แม้จะเคยถูกเรียกมาช่วยงานเป็นรองเลขาธิการนายกฯของพล.อ.ประวิตร แต่เมื่อตนเห็นโอกาสที่จะมาช่วยงานในมิติอื่น ในฐานะเคยผ่านงานมามาก จึงสมัครเป็นป.ป.ช. ตนไม่รู้สึกหนักใจที่ถูกตั้งข้อครหาเพราะคิดว่าคนเพียง 1 คน จะไปมีอิทธิพลเหนือคนอีก 8 คนได้อย่างไร มั่นใจว่าการทำงานป.ป.ช.จะโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถือเป็นเรื่องดีที่สื่อสนใจตรวจสอบเรื่องนี้ จะช่วยให้การทำงานของป.ป.ช. มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
บิ๊กป้อมลั่นไม่มีล็อบบี้'ปปช.'
พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงผลโหวตประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ว่า ป.ป.ช.เป็นคนเลือก ก็ต้องไปถามป.ป.ช. ส่วนที่วิจารณ์ว่าพล.ต.อ. วัชรพลเป็นคนใกล้ชิดพล.อ.ประวิตรนั้น เป็นคนในครอบครัวเดียวกันหรืออย่างไร คนละนามสกุลจะใกล้ชิดได้อย่างไร ซึ่งเขาเป็นราชการ ทุกคนทำเพื่อประเทศชาติ ใครจะเป็นอะไรก็ต้องรักกัน อย่าให้เกิดเรื่องความไม่เป็นธรรมขึ้นอีก อย่าฟังกระแสมากนัก เพราะจะทำให้ตีกันไปมา แล้วก็จะทะเลาะกันไม่เลิก บางคนมาด้วยความหวังดี บริสุทธิ์ใจ ด้วยอารมณ์บริสุทธิ์ แต่บางคนไม่ใช่ พอตีกันไปมากลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกแบบนั้น และมันก็แก้อะไรไม่ได้ ก็ทะเลาะกันไปอยู่แบบนี้ไม่เลิก แก้ที่ตนพูดไม่ได้เลยสักอย่าง เพราะทะเลาะกันอยู่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ผู้ที่คัดเลือกพล.ต.อ.วัชรพล เข้ามาเป็นกรรมการป.ป.ช. ประกอบด้วยประธานจากหลายองค์กร และผ่านการพิจารณาจาก สนช.ด้วย
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถึงไปล็อบบี้เขาก็ไม่ฟัง คิดไปเอง ไม่มี คะแนนเขาได้ตั้ง 7 ต่อ 2 อยู่ดีๆ ก็ทำให้เป็นประเด็น ไม่เห็นมีอะไรเลย ไปคิดเรื่องอื่นดีกว่า ทั้งนี้ตั้งแต่เขาออกไปก็ไม่ได้เจอกันเลย ก็คงไม่ฝากอะไร
ฎีกาประหาร'ดีเจ.ต้อย'
วันเดียวกัน ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษากลุ่ม ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ซึ่งมีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี 21 คน แต่ยกฟ้องและอัยการโจทย์ไม่ติดใจยื่นฎีกา 8 ราย คงเหลือผู้ต้องหาที่มาขึ้นศาลฟังคำตัดสินของศาลฎีกาวันนี้รวม 13 คน
นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยเปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษา ว่าศาลได้กลับคำพิพากษาจำเลยเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย 1.นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือดีเจ.ต้อย แกนนำนปช.อุบลราชธานี จากเดิมจำคุก 1 ปี เป็นประหารชีวิต แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต 2.นายชัชวาลย์ ศรีจันดา ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต 3.นางอรอนงค์ บรรพชาติ จากจำคุก 2 ปี เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน 4.นายลิขิต สุทธิพันธ์ จากจำคุก 2 ปี เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน
5.นางสุมาลี ศรีจินดา 6.นายประดิษฐ์ บุญสุข 7.นายไชยา ดีแสง 8.นายพิสิษฐ์ บุตรอำคา ศาลฎีกายื่นตามศาลอุทธรณ์ คือจำคุก 2 ปีเช่นเดิม 9.จ.ส.อ.สมจิต สุทธิพันธ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเป็นจำคุก 1 ปี
10.น.ส.ปัทมา มูลนิล 11.นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ 12.นายสนอง เกตุสุวรรณ์ และ 13.นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ซึ่งทั้ง 4 คนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุก 33 ปี 12 เดือน ศาลฎีกาพิพากษาลดให้เหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน โดยลดโทษให้คนละ 8 เดือน
ทนายแจงคดีเผาศาลากลางอุบลฯ
นายวัฒนา กล่าวว่า การอ่านคำพิพากษาลงโทษจำเลยบางรายที่เคยถูกยกฟ้อง หรือได้รับโทษไม่มาก เพราะศาลฎีกาเชื่อตามพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานว่าทุกคนมีส่วนร่วมกระทำความผิด โดยเฉพาะนาย พิเชษฐ์ ศาลเชื่อว่าเป็นผู้บงการให้เผาศาลากลางจังหวัดตามที่อัยการยื่นฟ้องจริง
ทั้งนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา ทางเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี มารับตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปคุมขังตามคำพิพากษาในช่วงเย็นวันเดียวกัน มีเพียงจ.ส.อ.สมจิตรที่จะได้รับการปล่อยตัว เพราะได้ถูกคุมขังมาเกินกว่าโทษที่ศาลได้ตัดสินแล้ว
ขอนแก่นโมเดล-ฟ้องกลับคสช.
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ผู้ต้องหาในคดีขอนแก่นโมเดล เป็นโจทก์ฟ้องพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมายส่วนรักษาความสงบ คสช. และพ.ต.ท.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน กก.1ป. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ตามลำดับ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท ศาลได้รับคำร้องไว้เพื่อพิจารณาและนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 2 พ.ค.2559 เวลา 13.30 น.
น.ส.เบญจรัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตัวเองทำหน้าที่ในฐานะทนายผู้รับมอบอำนาจจากนายธนกฤตผู้ต้องหาในคดีขอนแก่นโมเดล ทั้งที่นายธนกฤตถูกคุมขังในเรือนจำกลางขอนแก่น เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพล.ต.วิจารณ์ และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. แต่กลับถูกแจ้งความกลับ จึงเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งทนายความที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งตนนำหนังสือที่รับมอบอำนาจจากนายธนกฤต ยื่นต่อศาลเป็นหลักฐาน และเตรียมพยานกว่า 10 ปาก อาทิ ทนายความ พนักงานสอบสวน รวมถึงนายธนกฤต
'จรัญ'สวนวิลาศอย่า'เหมารวม'
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้นายกฯใช้มาตรา 44 ยกเลิกหลักสูตรอบรมขององค์กรอิสระและศาลว่า ในสังคมเสรีประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอข้อมูลอะไรก็ได้ ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน จะไปปิดปากไม่ให้พูดคงไม่ถูก การที่เสนอมาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากอยากทราบข้อเท็จจริงที่ถูกที่ควรเป็นอย่างไรก็ให้มาตรวจสอบกันดู เพียงแต่ผู้ที่เสนอความเห็นนั้นต้องระวังในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลก่อนให้ละเอียด อย่างกรณีนี้ต้องไปถามคนที่เสนอข้อมูลว่าทำไมไม่บอกหรือเปิดชื่อให้ทราบ ถ้าเป็นตนจะได้ไปชี้แจง แต่ธรรมดาก็ไม่เคยบินไปเมืองนอกกับโครงการเหล่านี้หรือดื่มไวน์เพราะทำลายเงินตรา แต่ประเด็นดังกล่าวต้องแยกแยะระหว่างพฤติกรรมตัวบุคคลกับวัตถุประสงค์ของทั้งหลักสูตร ในระหว่างกิจกรรมที่ทำนั้นมีประโยชน์กับบ้านเมืองเพียงพอหรือไม่ ถ้าเห็นว่าคุ้มค่ากว่าก็ค่อยๆไปปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง แต่ถ้าเห็นว่าเสียหายมากไม่คุ้มค่าก็ต้องยกเลิกไป อย่าไปวิเคราะห์แบบเหมารวม
รายงานข่าวจากศาลปกครองเปิดเผยว่า สำหรับหลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง(บยป.) ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ดำเนินการหลักสูตรมาถึงรุ่นที่ 6 แล้ว อีกทั้งนายปิยะ ปะทังตา รองประธานศาลปกครองคนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานศาลปกครองสูงสุด ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลว่าการดำเนินการหลักสูตรบยป. ที่ผ่าน มานั้น อะไรที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอย่างไรบ้างเพื่อนำไปปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่ศาลาว่าการกทม. แหล่งข่าวระดับสูงฝ่ายการเมือง กล่าวถึงม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ตั้งใหม่ว่า เขาต้องปฏิเสธอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะตอบแฟนคลับได้อย่างไร แต่ที่ผ่านมาผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์และนอกพรรคเห็นถึงวิธีการที่ผิดปกติจากวัฒนธรรมของพรรค จึงมีผู้ใหญ่รักและต้องการสนับสนุน ผู้ว่าฯกทม.ตั้งพรรคใหม่ ซึ่งมีการคุยกันอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่มีใครสื่อสารชัดเจน เพราะการเมืองไม่ใช่พูดวันนี้แล้วจะทำได้พรุ่งนี้ แต่การเมืองเป็นเรื่องของอนาคต