- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 14 December 2015 09:12
- Hits: 3658
หนี'ปชป.'ไปพรรคใหม่ 'ชายหมู' ผนึกสาย'เทือก' ทุน 3 พันล.-อดีตสส.ร่วม ไก่อูยันใส่"อาชีพ-รายได้' อ้างไม่ละเมิดสิทธิ์ปชช. วิลาศขู่ยื่นทั้งปปช.-สตง. สอบกทม.จัดซื้อเปียโน
สะพัด'คุณชายหมู' ทิ้งปชป.แน่ ผนึกกลุ่มเทพเทือก ตั้งพรรคใหม่ อ้างปชป.ไม่ให้เกียรติ เตรียมนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เผยมีผู้สนับสนุนให้ทุนแล้ว 3-4 พันล้าน เชื่อมีผู้ใหญ่- สมาชิกปชป.มาร่วมทีม 'วิลาศ จันทร์พิทักษ์'ปัดข่าว'สุเทพ'ล็อบบี้ให้หยุดสอบโกงจัดซื้อเปียโน ขู่ลงพื้นที่สอบโรงเรียนกทม. เล็งยื่นป.ป.ช.-สตง.สัปดาห์หน้า ยุส่ง'บิ๊กตู่'งัดมาตรา 44 ห้ามองค์กรอิสระจัดอบรมดูงานต่างประเทศ เหตุผลาญงบ 'ไก่อู'โต้ละเมิดสิทธิ์ประชาชน ยันใส่'อาชีพและรายได้' บนบัตร เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย 'เสรี สุวรรณภานนท์'ซัดปชป. ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วรีบโวยวาย ยันไม่ได้เสนอยกเลิกซักฟอกนายกฯ-ครม. แต่ปรับมาอภิปรายเพื่อถอดถอน กมธ.เตรียมสรุป 3 ข้อเสนอปมพรรคการเมืองให้กรธ. 'ปรีชา-วัชรพล'ชิงดำประธานป.ป.ช. นัดโหวตวันอังคารนี้
วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9147 ข่าวสดรายวัน
หึ่ง'ชายหมู-เทือก'ตั้งพรรคใหม่
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แหล่งข่าวคนสนิท ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แจ้งว่า หลังจากกรณีอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาโจมตีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อย่างมีนัยไม่ปกติ โดยเฉพาะกระแสการถูกขับออกจากสมาชิกพรรค ทำให้ผู้สนับสนุนทั้งภายในและนอกพรรคประชาธิปัตย์ มีการพูดคุยเรื่องการตั้งพรรคการเมือง โดยให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับกลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. จะร่วมกันตั้งพรรคใหม่ขึ้น เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในครั้งหน้า โดยสนับสนุนให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองคนได้ตกลงในหลักการเเล้ว 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่จากนี้จะรอจังหวะ เพื่อขับเคลื่อนแนวทางยุทธศาสตร์และชื่อพรรคใหม่ที่จะตั้งขึ้น คาดว่าจะมีผู้ใหญ่และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนจะมาร่วมงานกับพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย
อ้างปชป.ไม่ให้เกียรติ
แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากนี้ ทราบว่าขณะนี้มีผู้สนับสนุนประมาณ 7-10 ราย แจ้งความจำนงที่จะสนับสนุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตั้งพรรคใหม่ คาดว่าจะมีเงินทุนร่วมสนับสนุน 3-4 พันล้านบาท แต่ทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาจากม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกกระทำจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนไม่ให้เกียรติกัน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีการหารือกันภายในพรรค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็รับทราบเนื้อหาการพูดคุยมาตลอดและก็พร้อมให้มีการตรวจสอบทุกกรณี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เกิดจากการสะสมความรู้สึกจากหลายเหตุการณ์ ทำให้รู้สึกว่าจะอยู่ทำไม สิ่งที่ เกิดขึ้นวันนี้ก็เป็นการเสียหายในภาพรวม ของพรรค
"คาดว่า หลังมีการเลือกตั้ง ฝ่ายทหารก็ยังคงอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากมีการตั้งรัฐบาลจากพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด ยังต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ดี ซึ่งขณะนี้นายสุเทพ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ก่อตั้งพรรคภูมิใจไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สนับสนุน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ มาจากความเชื่อใจ ความใจถึง และความเชื่อมั่นในการทำงาน จึงเชื่อว่าจะทำงานคล้ายกับในยุคนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรคได้ในขณะนั้น" แหล่งข่าวระบุ
'เทือก'หนุนหลัง-ลงผู้ว่าฯ สมัยสอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก้าวสู่วงการเมืองโดยเริ่มจากเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ ในช่วงปี 2531-2534 จากนั้นปี 2537 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับ นายอำนวย วีรวรรณ และดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย โดยลงสมัคร ส.ส. ที่สนามเลือกตั้งเขต 6 กทม. แต่สอบตก
กระทั่งปี 2539 ย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับลงสมัครส.ส.เขต 6 และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยแรก และหลังจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.สมัยนั้น ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง นายอภิรักษ์ ตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ทางคณะกรรมการบริหารพรรค จึงมีมติเมื่อ 22 พ.ย. 2551 ส่ง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และได้รับชัยชนะเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก
ตลอดเวลาการเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มีผลงานโดดเด่น เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการบริหารพรรคจะไม่ส่งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงสมัครอีก แต่นายสุเทพ เลขาธิการพรรคขณะนั้น ยืนยันและช่วยหาเสียง จนได้เป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยที่สอง ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. สมัยที่สอง ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 6 เดือน หลังจากศาลอุทธรณ์กลางรับคำร้องกกต. ที่ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนจะพิพากษายกคำร้องกรณีดังกล่าว
จ่อยื่นปปช.-สตง.สอบซื้อเปียโน
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารของกทม.ว่า ต้องรอดูว่าคสช. จะอนุญาตให้พรรคประชุมหรือไม่ เพราะถือว่าพรรคใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาแล้ว หากคสช.ไม่อนุญาต ก็เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจว่าพรรคได้แสดงความรับผิดชอบในระดับหนึ่งแล้ว และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค คงจะหารือกับผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเปียโน ของสำนักการศึกษากทม.นั้น ตนให้โอกาสกทม. 1 สัปดาห์แล้ว เพื่อให้กทม.ชี้แจง แต่ขณะนี้ครบเวลาแล้ว ตนจะเริ่มลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ ให้เด็กนักเรียนแสดงให้ดูว่าเล่นเปียโนเป็นหรือไม่ ส่วนที่บางโรงเรียนบอกว่าไม่มีเครื่องดนตรีนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในเอกสารจัดซื้อจัดจ้างระบุว่าจัดซื้อให้โรงเรียนกทม.ทั้งหมด 437 โรงเรียน จาก 438 โรงเรียน ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าตนจะไปยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ปัด'เทือก'ล็อบบี้หยุดสอบโกง
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ได้ล็อบบี้ให้หยุดตรวจสอบเรื่องดังกล่าว นายวิลาศกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่นายสุเทพเป็นผู้ใหญ่ เชื่อว่าอาจจะมีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้ใหญ่ในพรรค แต่ตนไม่ทราบรายละเอียด อย่างไรก็ตาม หลังจากยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.และสตง.แล้ว ตนจะหยุดพูดเรื่องนี้ เพราะได้แถลงไปหมดแล้ว ถ้าหากพูดอีกจะถือว่าซ้ำซาก รวมถึงไม่เกี่ยวว่ามีผู้ใหญ่ในพรรคออกมาบอกให้หยุดพูด ส่วนกระบวนการตรวจสอบจะโยงถึงม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องเรียนถึงตัวผู้ว่าฯกทม. เพราะมีการแบ่งงานให้กับรองผู้ว่าฯกทม.อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนจะเชื่อมโยงไปถึงหรือไม่ เป็นหน้าที่หน่วยงานที่จะต้องตรวจสอบ
ยุ'ตู่'งัดม. 44 ห้ามดูงานตปท.
นายวิลาศ กล่าวว่า ขอคัดค้านการที่องค์กรอิสระจัดอบรมหลักสูตรพิเศษต่างๆ เนื่องจากใช้งบประมาณภาษีของประชาชน จากการตรวจสอบรายชื่อองค์กรอิสระที่เข้าอบรมในระยะหลังเพิ่มปริมาณนักธุรกิจเป็นหลัก โดยไม่ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อประเทศ และยังพบว่ากรรมการในองค์กรอิสระไปเรียนไขว้กัน ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้มีการไปดูงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่ไปดูงานในประเทศที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญในประเทศนั้น รวมถึงหลักสูตรเหล่านี้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเรียนเพื่อสร้างเครือข่าย ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่ใกล้เกษียณอายุราชการ เมื่ออบรมเสร็จก็ไม่ได้นำความรู้กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อประเทศ
นายวิลาศ กล่าวว่า จึงขอเสนอให้ปฏิรูปองค์กรอิสระด้วย โดยให้มีคณะกรรมการวิสามัญปฏิรูปองค์กรอิสระ และขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 สั่งห้ามองค์กรอิสระจัดอบรมหลักสูตรพิเศษ เพราะเป็นการสร้างสัมพันธ์กันมากกว่า ทั้งนี้ มีตัวเลขการใช้งบประมาณไปดูงานของบางหลักสูตรขององค์กรอิสระที่ไปดูงาน 4 ครั้ง ใช้เงิน 14-21 ล้านบาท ซึ่งสิ้นเปลืองมาก
แนะตั้งกก.บริหารกลางคุมงบ
นายวิลาศ กล่าวว่า ชัดเจนที่สุดคือกรณี นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. ที่ออกมาเปิดโปงความไม่โปร่งใสของ กกต. ว่ามีอิสระมากเกินไป เพราะทำได้เกือบทุกอย่างโดยอาศัยมติของกรรมการองค์กร ทั้งไปต่างประเทศบ่อยมาก และพานักธุรกิจเอกชนไปเพื่อสนับสนุนในรายการที่เบิกจ่ายไม่ได้ และยกไปทั้งคณะผู้ติดตาม เพราะมีการออกระเบียบตั้งที่ปรึกษา หรือที่ศาลมีการตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฉพาะราย รวมถึงกำหนดอัตราเงินเดือนเอง ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยตัดสินให้ ป.ป.ช.บางชุด มีความผิดกรณี ขึ้นเงินเดือนตัวเองมาแล้ว แต่ก็ยังอ้างมติกรรมการองค์กรนั้นๆ มาแปรญัตติงบประมาณ หรือโอนงบประมาณ เพื่อตั้งงบไปทำเรื่องอื่นได้โดยไม่ต้องจ่ายคืนคลัง
"จึงเสนอว่า เมื่อจะปฏิรูปกันแล้ว ขอให้ กรธ.กำหนดให้ชัดว่า เพื่อไม่ให้องค์กรอิสระแต่ละแห่งแต่งตั้งกันเอง ขอให้ตั้งกรรมการบริหารกลางองค์กรอิสระเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน" นายวิลาศกล่าว
กมธ.ชง 3 ข้อเสนอส่งกรธ.
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวว่า ตามที่กมธ.ด้านการเมืองแถลงว่าได้จัดทำแผนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองให้สัมฤทธิผล โดยกำหนดประเด็นศึกษาเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาและทำให้การเมืองดีขึ้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูปคือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ระบบพรรคการเมือง 3.การกำกับควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 4.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 5.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ 6.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ซึ่งทั้ง 6 ประเด็นนี้ กมธ.เห็นว่าการปฏิรูปใน 3 เรื่องคือตำแหน่งทางการเมือง ระบบพรรค และการกำกับควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น จะต้องขับเคลื่อนโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก มีตัวบทกฎหมายกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น มีมาตรการต่างๆ เข้มข้น เพื่อบังคับใช้ให้มีผลอย่างจริงจัง
นายวันชัย กล่าวต่อว่า กมธ.จึงจะเร่งทำข้อสรุปเสนอแนวทางใน 3 เรื่องนี้ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในสัปดาห์หน้า โดยมั่นใจว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ดีขึ้นและแก้ปัญหาข้อบกพร่องในอดีต เพราะกมธ.แต่ละคน นักการเมืองแต่ละฝ่ายที่เป็นกมธ. นำประสบการณ์ตรงมาเป็นแนวทางสนับสนุนข้อเสนอ ส่วนอีก 3 เรื่องนั้น จะต้องพิจารณาทุกข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ได้จริงก่อนเลือกตั้ง จึงตั้งอนุกมธ. 3 คณะเพื่อดำเนินการ อาจมีบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องแต่ละเรื่องมาร่วมเป็นกรรมการด้วย ยืนยันว่าทุกประเด็นเราจะรีบเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อเสนอต่อรัฐบาล
เสรีจวกนิพิฏฐ์ฟังไม่ได้ศัพท์
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนฯด้านการเมือง สปท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โต้ข้อเสนอยกเลิกการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า นายนิพิฏฐ์คงฟังแบบครึ่งๆ กลางๆ ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด ซึ่งตนเสนอให้แยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการเกื้อกูลกัน ดูแลหาผลประโยชน์ให้แก่กัน จนเป็นการทุจริตทั้งระบบ โดยให้ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด เพื่อค้ำจุนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ก่อให้เกิดระบบโควตา ใครมีส.ส. 10 คน ได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง หรือคนที่จะตั้งรัฐบาลต้องไปรวบรวมเสียงในสภาให้ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง และใช้เสียงข้างมากตั้งรัฐบาลและรองรับให้รัฐบาลอยู่ได้ จึงต้องหาผลประโยชน์ดูแล ส.ส.ในสภา รวมถึงหาเงินเพื่อเตรียมซื้อเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไป ซึ่งที่ผ่านมานักการเมืองจำนวนมากใช้วิธีนี้หาผลประโยชน์เข้าตนเอง พวกพ้อง และเข้าพรรคเพื่อการเลือกตั้งคราวต่อไป จึงเกิดทุจริตอย่างมโหฬาร
แจงปรับเป็นอภิปรายเพื่อถอดถอน
นายเสรีกล่าวว่า ระบบการถ่วงดุลเดิมใช้วิธีให้ ส.ส.เปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และให้นายกฯมีอำนาจยุบสภา ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ และหลายครั้งที่รัฐบาลอยู่ไม่ได้ แต่กลับใช้วิธียุบสภา ทั้งที่สภาไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งแนวคิดที่เห็นว่าควรแยกอำนาจหน้าที่ โดยส.ส.ไม่ควรใช้กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯหรือรัฐมนตรี ขณะเดียวกันนายกฯก็ไม่ควรมีอำนาจยุบสภา ให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่จนครบวาระ แต่หากคนใดกระทำผิด ให้ใช้การอภิปรายแสดงพยานหลักฐาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือให้ดำเนินคดีอาญากับคนทุจริต หรือคนที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง ไม่ว่าส.ส.หรือเป็นรัฐบาล ตนเข้าใจว่าส.ส.รุ่นเก่า ไม่ต้องการวิธีนี้เพราะทำให้ขาดโอกาส ขาดผลประโยชน์ โดยเฉพาะการให้ฝ่ายรัฐบาลมาคอยดูแลหาผลประโยชน์ให้ ส.ส.และหาเงินเข้าพรรคเพื่อเป็นทุนเลือกตั้งครั้งต่อไป
นายเสรี กล่าวว่า ยืนยันว่าการอภิปรายในสภายังคงมีอยู่ต่อไป แต่เป็นการขุดคุ้ยหาพยานหลักฐานนำมาแสดงและตรวจสอบหรือเสนอหลักฐานในการถอดถอน เพื่อการดำเนินคดีอาญากับทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร วิธีนี้จะทำให้ส.ส.และรัฐบาลอยู่ครบวาระ หากใครผิดให้ถอดถอนหรือลงโทษเป็นรายบุคคล จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ แต่หากนายกฯกระทำผิดต้องถูกถอดถอนหรือพ้นจากตำแหน่ง ครม.ทั้งคณะก็จะพ้นไปด้วย เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแยกอำนาจหน้าที่กันแล้ว รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องไปเลี้ยงดูหรือหาผลประโยชน์ให้ส.ส. เพื่อให้ได้คะแนนเสียงส.ส.มาค้ำจุนรัฐบาล แต่ ส.ส.ทั้งสภาคือคนที่มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ทั้งหมดจะทำให้การตรวจสอบรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากเพิ่มขึ้น จึงอยากให้นายนิพิฏฐ์เข้าใจแล้วเลิกโวยวาย เลิกอวดฉลาด เลิกวิธีคิดเก่าๆ และเลิกกล่าวหาคนอื่นให้เสียหายได้แล้ว
'บิ๊กตู่'แถลงผลงาน1ปี 23-25 ธ.ค.นี้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลกำหนดจัดแถลงผลงานรอบ 1 ปี วันที่ 23-25 ธ.ค. เพื่อรายงานสิ่งที่ดำเนินการตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต จะครอบคลุมในทุกมิติทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยนายกฯให้ความสำคัญกับงานทุกด้านที่มีส่วนขับเคลื่อนประเทศ จึงให้ทุกกระทรวงมาแถลงผลงานที่ทำเนียบรัฐบาล ใช้เวลา 3 วัน แบ่งเป็นช่วงเช้าและบ่าย แต่ละช่วงแบ่งเป็นกลุ่มภารกิจด้านต่างๆ เช่น ด้านความมั่นคง กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม โดยแต่ละกลุ่มจะนำผลงานเด่นมานำเสนอ พร้อมเปิดให้สื่อมวลชนได้ซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีได้โดยตรง ทั้งนี้ นายกฯจะเยี่ยมชมนิทรรศการและกล่าวเปิดการแถลงข่าวในวันที่ 23 ธ.ค. และกล่าวปิดในวันที่ 25 ธ.ค.
ซัดประชานิยมทำศก.ชะลอตัว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ต้องการให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ โดยจะจัดนิทรรศการแสดงผลงาน เล่าเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญในด้านต่างๆ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 อาทิ ปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านการบิน การประมงที่ผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะ การนำเงินในอนาคตมาใช้ในโครงการประชานิยมจนสภาพเศรษฐกิจบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว การขาดการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง จนนำมาสู่การควบคุมอำนาจการบริหารของคสช.และรัฐบาลนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน ออกกฎหมาย ปฏิรูปประเทศ และการผนึกพลังของภาคเอกชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมและนำประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กลับคืนสู่ประเทศ นอกจากนั้นยังเปิดให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ ของหลายหน่วยงาน บริเวณนอกรั้วทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนนครปฐมอีกด้วย
ไม่ละเมิด-ใส่รายได้อาชีพบัตรปชช.
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวถึงนโยบายบัตรประชาชนระบุอาชีพและรายได้ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องทำให้เสร็จในปี 2560 ว่า ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เช่น นโยบายรถเมล์และรถไฟฟรีที่ใครก็ใช้บริการได้หมด ดังนั้น การทำฐานข้อมูลที่ระบุรายได้และอาชีพแบบใหม่นี้จะเป็นการแสดงตัว ช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมระบบภาษี ซึ่งนายกฯอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ไม่ใช่การรีดภาษี แต่อยากให้ประชาชนอยู่ในระบบภาษีที่เหมาะสมตามลำดับรายได้ เพื่อนำเงินมาใช้พัฒนาประเทศ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังช่วยเอื้อประโยชน์ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ผ่านมามีปัญหาการตรวจสอบที่ยากเพราะต้องผ่านหลายหน่วยงาน จึงมีความผิดพลาด เงินช่วยเหลือที่จ่ายไปไม่ตรงตัวบุคคล ส่วนที่มีบางฝ่ายกังวลว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพและรายได้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ยืนยันว่าการแสดงข้อมูลเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศสับสนและขอให้มองที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วย
'ปู'โพสต์คลิปบูมรุ่นน้องมช.
เมื่อเวลา 16.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์คลิปลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra พร้อมข้อความว่า "เก็บตก สิงห์ขาวรุ่นที่ 21 บูม น้องๆ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ"
ในคลิปดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเพื่อนร่วมรุ่น สวมเสื้อเชิ้ตสีกรมท่า มีสัญลักษณ์ สิงห์ขาว เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะ ล้อมวงบูมให้กับรุ่นน้องนักศึกษาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
'ปรีชา-วัชรพล'ชิงดำปธ.ปปช.
วันที่ 13 ธ.ค. รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ในวันที่ 15 ธ.ค. เวลา 09.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เพื่อคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งประธานป.ป.ช.คนใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 45/2558 ซึ่งตามขั้นตอนที่ประชุมจะมอบให้ผู้ที่อาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานที่ประชุมเพื่อเปิดการประชุม จากนั้นเลขาธิการป.ป.ช. รายงานถึงระเบียบ กฎเกณฑ์ และวิธีเลือกประธานป.ป.ช. โดยมี 2 วิธี คือ 1.ในทางเปิดเผย และ2.ลงคะแนนในทางลับ โดยให้ที่ประชุมตกลงกันจะใช้วิธีไหน
รายงานข่าวแจ้งว่า หากวิธีในทางเปิดเผยจะให้ทั้ง 9 คน เสนอรายชื่อและแจ้งต่อที่ประชุมว่าพร้อมดำรงตำแหน่ง จากนั้นให้ที่ประชุมลงคะแนนโหวตทันที ไล่เรียงทีละคน ขณะที่การลงคะแนนในทางลับจะให้ทั้ง 9 คน ถือเป็นผู้มีสิทธิ์ได้ลงคะแนนในบัตรที่เตรียมไว้ และนำไปหย่อนในกล่องลงคะแนน เพื่อให้เจ้าหน้าที่นับคะแนนในที่ประชุมทันที ทั้งนี้ ผู้ที่รับเลือกเป็นประธานป.ป.ช. จะต้องได้คะแนนกึ่งหนึ่งขึ้นไป ขณะนี้มีผู้ที่จะเสนอตนในการเข้าชิงตำแหน่งประธานป.ป.ช. 2 คน คือ นายปรีชา เลิศกมลมาศ และพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เบื้องต้นเลขาธิการป.ป.ช.ทำหนังสือเชิญให้ร่วมประชุมแล้ว ส่วนวิธีการนั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุมตกลงกัน แต่เข้าใจว่าคงไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ ส่วนที่มีกระแสข่าวมีผู้เสนอชื่อให้เป็นประธานป.ป.ช.นั้น พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตรงนี้ไม่ทราบเหมือนกัน เมื่อถามว่าหากมีผู้เสนอจริงยินดีรับตำแหน่งประธานป.ป.ช.หรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ต้องดูก่อน
ด้านนายปรีชา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะใช้วิธีเลือกประธานป.ป.ช.แบบไหน ส่วนที่มีผู้สนับสนุนให้เป็นประธานป.ป.ช.เพราะมีความอาวุโสนั้น นายปรีชากล่าวว่า ต้องดูว่าคนใหม่ว่าอย่างไร เมื่อถามว่าจะแสดงความประสงค์เป็นประธานป.ป.ช.หรือไม่ นายปรีชากล่าวว่า ขอดูบรรยากาศในที่ประชุมก่อนว่ามีความเคลื่อนไหวหรือเหตุการณ์อะไรหรือไม่