WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1หอมลอม


ใส่ อาชีพ-รายได้ด้วย บัตรปชช.
ไอเดียเด็ดบิ๊กตู่ ให้เริ่มใช้ปี'60 ปปช.จ่อเอาผิด อดีตสส.โคราช

      'บิ๊กตู่'ไอเดียบรรเจิด สั่งให้ใส่'รายได้-อาชีพ' ลงบนบัตรประชาชน เริ่มปี 2560 กังวลคนไม่เคารพกฎหมาย ไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไร วอนทุกภาคส่วนจับมือเป็นประชารัฐ ย้ำไม่ใช่เวลามาพูดเรื่องประชาธิปไตย หวังปีใหม่ประเทศ ลดขัดแย้ง เข้าสู่ประชาธิปไตยถาวร'มีชัย ฤชุพันธุ์'หวั่นวุ่นหากให้ตรวจสอบทรัพย์สิน เครือญาตินายกฯ-ครม. เล็งหากลไกให้ป.ป.ช.สอบเชิงลึกได้ โฆษก กรธ.แจงให้พรรคเปิดชื่อนายกฯก่อนเพื่อสกัดไอ้โม่ง 'ชาติชาย'รับเป็นความเห็นส่วนตัว ให้ประธาน 3 ศาลแก้วิกฤต เพื่อไทยห่วงกรธ.ตีโจทย์ไม่แตก ด้าน"ยิ่งลักษณ์"ทำบุญ วัดสีกันดอนเมือง ชาวบ้านแห่ต้อนรับ ให้กำลังใจล้นหลาม ปชป.ลุ้นคสช.ให้ประชุมพรรค อ้าง'ชายหมู-ผู้บริหารกทม.'เมินชี้แจงปมทุจริต จึงต้องเร่งสางปัญหา หวั่นพรรคเสียหาย

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9146 ข่าวสดรายวัน


      ห้อมล้อม - ประชาชนจำนวนมากห้อมล้อมขอถ่ายรูปและให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มาร่วมทำบุญถวายผ้าป่าสามัคคี ที่วัดสีกัน(พุทธสยาม) เขตดอนเมือง กทม. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.

'ตู่'ผุดใส่อาชีพ-รายได้ในบัตรปชช.

       เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 12 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งเลื่อนการออกอากาศมาจากวันที่ 11 ธ.ค. ตอนหนึ่งถึงการเตรียมความพร้อมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะเริ่มในปีใหม่นี้ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างบูรณาการและประสานสอดคล้อง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกด้าน อาทิ การผลักดันการส่งออก เพื่อเปิดประตูการค้า และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

    นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2564 มุ่งสู่แนวทางจัดตั้งคลัสเตอร์หรือซูเปอร์คลัสเตอร์ เดินหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นสากล 367 ฉบับ ทั้งกฎหมายเรื่องอำนวยความสะดวก การค้าการลงทุน สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่ประชาชนได้ประโยชน์ และการเตรียมความพร้อมบุคลากรในด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องแรงงานต้องควบคุมกันให้ได้ อย่าไปเอาเปรียบเขา การค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่ร้ายแรง วันนี้มีโทษมากเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล ไม่ว่าการทำความผิด เรื่องประมง ค้ามนุษย์ จะต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด

      "ผมเน้นว่าปี 2560 บัตรประชาชนน่าจะมีการระบุอาชีพและรายได้ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมากๆ วันหน้าก็ดีขึ้นเอง ทุกคนคงลืมตาอ้าปากกันได้ หมดหนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มแบบผมทำวันนี้ ไปไม่ได้แน่นอน จะจนไปเรื่อยๆ อยากขอร้อง ขอความร่วมมือด้วย" นายกฯ กล่าว

ห่วงคนไม่เคารพกฎหมาย

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของบ้านเราเวลานี้มีอยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกคือการไม่เคารพกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ไม่ใช่ว่ากฎหมายเหล่านี้จะทำเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องถามว่าแล้วไปละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอื่นเขาหรือไม่ ประเด็นอย่าพูดข้างเดียว วันนี้กำลังปฏิรูปอยู่ สิ่งกังวลคือถ้าเขาละเมิดกฎหมายเหล่านี้ เดือดร้อนคนอื่น ต้องมีคนไม่ชอบ อันตรายจะเกิดขึ้น เกิดการตีกัน ทะเลาะกัน รัฐบาลก็ต้องไปแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อน ขอร้องไม่ว่าจะกลุ่มไหน อย่าฝ่าฝืนกฎหมายเลย กฎหมาย ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้วจะอยู่กันอย่างไร ถ้าไม่มีกฎหมายก็เหมือนเดิม

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องที่ 2 ความไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม วันนี้ยุ่งไปหมด ตนพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย จะเห็นว่ามีความยุติธรรมและให้โอกาสทุกคน เรื่องที่ 3 คนไทยต้องทราบขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถพัฒนาใดๆ ได้ เพราะมีการประท้วงล้มล้างกันในทุกเรื่อง

วอนปรับแนวคิดสู่ประชารัฐ

    นายกฯ กล่าวว่า เรื่องที่ 4 ประชาชนไม่ทราบว่าจะร่วมมือกับรัฐบาล ตรงไหน เมื่อไร หลายคนใช้ความรู้สึกความคิดส่วนตัวมาตัดสินปัญหา ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง แล้วมีคนนำมาใช้ประโยชน์ หลายเรื่องที่ประชาชนน่าจะเข้าใจแต่ปรากฏว่าไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม ตนจึงพยายามให้ทุกคนรับทราบ แต่บางทีไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะเคยชิน ดังนั้น ทุกคนต้องปรับตัวเอง ทั้งข้าราชการ ประชาชน และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน

       "ถ้าคนไม่รู้กฎหมายแต่มีเจตนาบริสุทธิ์ ก็เป็นเครื่องมือของเขา เคลื่อนไหวไปโน่นไปนี่ จึงต้องดูกฎหมายก่อนว่าสิ่งที่จะทำนั้นผิดกฎหมายหรือเปล่า การแสดงความคิดเห็นนั้น ถ้าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางประชาธิปไตย มันใช่เวลาหรือยัง แล้วการกระทำต่างๆ มีผลกระทบกับการจราจร ผลกระทบกับคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ ขอให้คิดร่วมกันถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ วันนี้ผมอยากขอร้องนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า ภาคธุรกิจเอกชน ต้องร่วมมือกัน เข้าใจตรงนี้ ทำอย่างไรจะร่วมมือ จับมือกันได้ในลักษณะการเป็นประชารัฐ ทั้งข้างบน ข้างล่าง" นายกฯ กล่าว

หวังปท.ลดขัดแย้งสู่ปชต.ถาวร

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการเดินทาง ไม่อยากให้มีการสูญเสีย บาดเจ็บเล็กน้อยก็ไม่อยากให้เกิด เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข โดยเฉพาะรัฐบาลพยายามทำทุกอย่าง อยู่ในขั้นตอนสร้างความเข้มแข็ง จะดูแลเรื่องถนนหนทาง ทางเลี้ยว ทางโค้ง พื้นที่เสี่ยงต่างๆ การควบคุมความเร็วรถ การควบคุมพลขับ ทุกอย่างต้องทำใหม่ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ เจ้าหน้าที่ที่เตรียมการมาตลอด ทั้งกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่พลเรือนทั้งหมด วันหยุดยาว ก็เสียสละไม่ได้ไปเที่ยวกับครอบครัว มาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับ พี่น้องประชาชนทุกคน

      "หวังอย่างยิ่งว่า ปีใหม่หน้านั้นเราคงจะพบแต่ในสิ่งที่ดีๆ ประเทศชาติ เดินหน้าไปได้ ความขัดแย้งลดลง หรือ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย จะเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ถาวรสักที" นายกฯ กล่าว

มีชัย ปัดสอบทรัพย์สินญาตินายกฯ

    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวคิดการตรวจสอบทรัพย์สินเครือญาติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะคงเดือดร้อนกันเป็นแถว ยิ่งคนในตระกูลใหญ่ มีเครือญาติมาก เพราะการตรวจสอบไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เป็นภาระมาก ที่สำคัญต้องระวังไม่กระทบคนอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม กรธ.จะหากลไกตรวจสอบให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถตรวจสอบได้เข้มข้นขึ้น ให้ป.ป.ช.ล้วงลึกตรวจสอบได้อย่างละเอียด

      นายมีชัย กล่าวว่า แม้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีกระบวนการถอดถอน แต่มีกระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งชัดเจน ประชาชนสามารถตรวจสอบได้เอง อีกทั้งได้ติดดาบ ติดปืนองค์กรอิสระ ให้มีกลไกดูแล หากใครทำไม่ดี จะมีกลไกนำไปสู่การพ้นจากตำแหน่ง และยังมีกลไกควบคุมจริยธรรมให้นักการเมืองตระหนักและไม่ละเมิด เพราะหากผิดจริยธรรมรุนแรง จะมีผลให้พ้นจากตำแหน่งตลอดไปได้ ด้วยกลไกต่างๆ ที่วางไว้ เราหวังว่าจะสร้างความเกรงกลัวและขจัดคนไม่สุจริตออกไปจากวงการเมือง เพื่อให้วงการเมืองใสสะอาด ให้คนดีมีความสามารถเข้ามาสู่วงการเมือง

กรธ.แจงวุ่น-ชง 3 ศาลผ่าทางตัน

       นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ. กล่าวถึงข้อเสนออาจให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้หาทางออกเมื่อเกิดวิกฤตประเทศว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของตน ไม่ใช่ข้อเสนอของที่ประชุม กรธ. ซึ่งตนอยากเสนอกฎเกณฑ์ใหม่ไม่ ให้เกิดทางตัน ประเทศเรามี 3 เสาหลัก คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ หากฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเกิด ความขัดแย้งกันหรือเกิดวิกฤตทำงานไม่ได้ เราควรให้ฝ่ายตุลาการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งประธานทั้ง 3 ศาล อาจจะประชุมหารือเพื่อหาทางออกหรือเชิญบุคคลที่ ขัดแย้งมาพูดคุยกัน ไม่ได้แปลว่าจะให้ตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครผิดใครถูก เพียงแค่พูดคุยเพื่อหาทางออกเท่านั้น

ชี้พรรคเลือกเอง"นายกฯ"คนนอก

     นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนการประชุมของกรธ.จากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาเรื่องฝ่ายบริหาร เช่น ที่มาและคุณสมบัติของ นายกฯและครม. ซึ่งประเด็นนายกฯคนนอกนั้น ขอชี้แจงว่าไม่มีประเทศไหนในโลกกำหนดว่านายกฯต้องเป็นส.ส. เท่านั้น ในเมื่อกรธ.กำหนดไว้ว่า พรรค การเมืองจะต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็น นายกฯ เวลาเลือกตั้งส.ส.แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก คนที่พรรคไม่ได้เสนอชื่อก็เป็นนายกฯไม่ได้ เป็นการสกัด อีแอบหรือไอ้โม่งได้อยู่แล้ว และพรรคก็ต้องหารือกับสมาชิกและผู้สนับสนุนเวลาจะเสนอชื่อด้วย เมื่อคุยกันรู้เรื่องก็จบ ดังนั้น ไม่ว่านายกฯคนนอก หรือคนในก็ขึ้นอยู่กับพรรค เพราะพรรคเป็นคนเลือกมาเอง

ซัดพท.อย่าอคติ-ย้ำไม่เอาคปป.

      นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.กล่าวถึงกรธ.มีเเนวคิดให้ประธานศาล 3 ศาล หาทางออกยามเกิดสุญญากาศทางการเมืองว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของนายชาติชาย กรธ.ยังไม่มีข้อสรุป แต่ประธานกรธ.ฝากการบ้านให้กรธ.ทุกคนไปช่วยนอนฝันว่า แนวทางใดจะเหมาะสม ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนที่นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย ระบุการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ แก้ไขวิกฤตผ่าทางตัน เป็นการซ่อนรูปคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น อยากถามนายวรชัยและพรรคเพื่อไทยว่า ประชาธิปไตยแบบยึดโยงประชาชนอย่างที่ต้องการคือให้เสียงข้างมากในสภาตัดสินทุกอย่างใช่หรือไม่ ซึ่งตนไม่ได้ตอบโต้ แต่อยากให้นายวรชัย ช่วยเสนอมา เพราะเคยอยู่ในวิกฤต เอาชัดๆ เลยว่าสรุปเวลาเกิดเรื่องขัดเเย้ง อยาก ให้ใครองค์กรใดทำหน้าที่ ไม่ใช่ติติงอย่างเดียว ทุกคนต้องช่วยกันคิด อย่าไปอคติ

      นายอุดม กล่าวว่า ธงของกรธ.ไม่อยากให้มีฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รู้จะเขียนอย่างไรเพื่อป้องกัน ซึ่งทุกคนรู้อยู่เเล้ว ไม่มีใครเอาคปป. ส่วนที่บอกว่าซ่อนรูปแบบนั้นเเบบนี้ กรธ.ไม่ได้คิดคดในข้อง้อในกระดูก เราร่างโดยยึดตามกฎหมาย ไม่อคติต่อใคร ก็เเล้วเเต่จะคิดกันเพราะทุกคนมีสติ มีปัญญา ไม่มีใครฉลาดหรือโง่กว่าใคร ส่วนที่ว่าจะเเปลงร่าง คปป.นั้น กรธ.ไม่ได้คิดเลวร้ายขนาดนั้น ไม่ได้ใครเป็นพวกหรือศัตรู

      นายอุดม กล่าวว่า เหตุผล หลักการที่กรธ.ให้นายกฯมาจากคนนอกได้ คือการให้ นายกฯต้องมาจากส.ส.อย่างเดียวเหมือนในอดีต ป้องกันเผด็จการ หรือคนไม่ดีเข้ามาได้หรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่พรรคการเมือง ผู้ร่างไม่ได้บังคับว่าต้องเอาคนนอกมาอยู่ในรายชื่อนายกฯ ที่จะเสนอต่อประชาชน ถ้าพรรคยังเอาคนนอกมาอีก เราก็ช่วยไม่ได้

พท.ค้านให้อำนาจ 3 ศาลแก้วิกฤต

     นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.ระบุ กรธ.อาจให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้หาทางออกเมื่อเกิดวิกฤตประเทศว่า หากประเทศเกิดวิกฤตขอเสนอว่า 1.นายกฯ ต้องลาออกเมื่อเกิดวิกฤต 2.ห้ามยุบสภา เพราะสภาไม่มีความผิด 3.ห้ามยึดอำนาจ และ 4.พรรคการเมืองต้องลงเลือกตั้งทุกพรรค หากไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งให้ตัดสิทธิยุบพรรค ถ้าทำตามทั้ง 4 ประเด็นไม่จำเป็นต้องให้ทั้ง 3 ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินวิกฤตของประเทศ

     "ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตถึง 2 ครั้งเนื่องจากบางพรรคไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง จนเกิดการยึดอำนาจ การให้ 3 ศาลมาตัดสินวิกฤตประเทศมองว่าไม่ใช่ และเหมือนเป็น ซูเปอร์องค์กรมาครอบรัฐบาลอีก" นายอำนวยกล่าว

"ปึ้ง"ห่วงกรธ.ตีโจทย์ไม่แตก

     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ตนเฝ้าติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. แต่ยังเห็นว่าฉบับที่ร่างอยู่นี้คงแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นไม่ได้ หากพวกเสียงข้างน้อย หรือฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งว่าแพ้เลือกตั้ง ได้เสียงส.ส.น้อย และยังมีนิสัยขี้แพ้ชวนตี ตีรวนในสภา ทำทุกอย่างเพื่อล้มรัฐบาลทั้งในและนอกสภา มีขบวนการนอกระบบต่างๆ คอยผสมโรงจ้องร่วมวงล้มรัฐบาล บ้านเมืองคงเวียนว่ายอยู่ในวังวนเดิมๆ แบบนี้ โดยเฉพาะขบวนการยุติธรรมควรเป็นกลางและมีความยุติธรรมอย่างแท้จริงจึงจะแก้ปัญหาประเทศได้

      นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อดูการยกร่างของ กรธ.เห็นว่ากำลังแก้ไขไม่ตรงจุด เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาแบบมีอะไรบังตาอยู่ เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ บอกว่าเหมือนม้าลากรถที่เขาเอาที่บังตามาปิดข้างๆ ไว้เพื่อให้มันมองตรงไปข้างหน้าได้เท่านั้น ตนห่วงว่าการเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะแก้ไม่ตรงจุด พูดง่ายๆ ว่าตีโจทย์ไม่แตก เสียเวลาเปล่า หาก กรธ.ยังมีแนวคิดว่าเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเข้ามานั้น เป็นเผด็จการรัฐสภาก็จบกันแล้วกับความเป็นประชาธิป ไตยของไทยเรา เพราะไม่ได้เคารพเสียงข้างมากในสภา และเคารพเสียงประชาชน

       "ยิ่งติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ก็ยิ่งเห็นว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามตินั้นน่าจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะทุกวันนี้ประชาชนเข้าใจหลักการความเป็นประชาธิปไตยดีมากๆ ก็อยากให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เตรียมใจเอาไว้บ้างและคิดเผื่อไว้ว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คสช.ควรทำอย่างไรต่อไป จะใช้เวลาอีกเท่าไร นายมีชัยจะได้ให้คำแนะนำที่ดูดีแก่ คสช." นาย สุรพงษ์กล่าว

หนุนนิรโทษแก้ขัดแย้ง

       นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านการเมือง สปท. ให้นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทุกประเภท ยกเว้นคดีอาญาและคดีทุจริตเพื่อการปรองดองว่า วันนี้คำว่าปรองดองของรัฐบาลคือการหันหน้าเข้าหากันทุกฝ่าย ทั้งมวลชน เจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายการเมืองทุกกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมามีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน นำมาสู่การยึดอำนาจ ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแก้ปัญหาของทุกกลุ่ม หากมีคดีติดตัวจะมีปัญหาไม่จบสิ้น ดังนั้น หากทำให้ประเทศสงบก็เห็นด้วย ถึงเวลาต้องเดินหน้าประเทศไทย รีบดำเนินการให้ความขัดแย้งหมดไป

      "มีข้อแม้ว่า รัฐธรรมนูญที่ กรธ.ร่างอยู่นี้ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เห็นหัวประชาชนบ้าง การจะปรองดองได้ต้องมีองค์ประกอบนี้ควบคู่ด้วย ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มาเป็นนายกฯ หรือให้อำนาจ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แล้วเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขวิกฤตและผ่าทางตันของประเทศ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมาจากส.ว.ที่คัดสรร ก็ไม่ต่างจากการมีคปป. แต่ซ่อนรูปไว้อย่างมิดชิด เหมือนซ่อนปืนไว้ในกางเกง ดังนั้น ประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยถ้า กรธ.ไม่แก้ไข คิดว่ารัฐธรรมนูญแท้งแน่ ประชาชนจะหมดความเชื่อถือคสช. และคงไม่ให้โอกาสเป็นครั้งที่สาม" นายวรชัยกล่าว

"ปู"ควงอดีตส.ส.ถวายผ้าป่าวัดสีกัน

     นายวรชัยกล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐสภา ยุโรปเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ไปร่วมหารือนั้น รัฐบาลควรอนุญาตให้ไป ในฐานะที่รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์เป็นรัฏฐา ธิปัตย์ ถ้ารัฐบาลอนุญาตทำไมจะทำไม่ได้ เพราะมีอำนาจเหนือ ฝ่ายอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องอ้างศาล ทั้งนี้ ไม่ต้องห่วงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปพูดให้ร้าย เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคนไทย รักประเทศไทย จะทำร้ายประเทศได้อย่างไร ที่สำคัญน.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกกระทำมาตลอด แต่ไม่เคยตอบโต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และกลุ่มอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นาย การุณ โหสกุล อดีตส.ส.กทม. น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางไปร่วมทำบุญถวายผ้าป่าสามัคคีที่วัดสีกัน (พุทธสยาม) ถนนสรงประภา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง โดยมีประชาชนเข้าโอบกอด ให้กำลังใจ และขอถ่ายรูปกับน.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก

จี้คสช.ทบทวนพรรคจัดประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการขอให้คสช. ทบทวนคำสั่งขอให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมได้ว่า ยังคงรอคำตอบที่ชัดเจนจาก คสช.อย่างเป็นทางการก่อน ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ระบุให้ทำเรื่องมายัง คสช. ส่วนจะอนุญาตหรือไม่จะพิจารณาอีกครั้งนั้น ส่วนตัวเข้าใจว่าพล.อ.ประวิตรคงยังไม่เห็นหนังสือจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ขอให้เปิดประชุมพรรคและทำกิจกรรมได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง เพราะขอเปิดประชุมเพื่อคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การขอรับเงินบริจาค และแก้ปัญหาเรื่องท้องถิ่นของกรุงเทพ มหานครที่ยังคงมีเรื่องของข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตในหลายเรื่อง

"ชายหมู"เมินชี้แจงปมทุจริต

นายองอาจกล่าวว่า จนถึงขณะนี้พรรคยังไม่สามารถติดต่อกับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ได้ รวมถึงยังไม่มี ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครมาชี้แจงให้เกิดความชัดเจนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณของกรุงเทพฯ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ สังคมรอคำตอบที่ชัดเจนอยู่ ดังนั้น หากยังไม่สามารถจัดประชุมพรรคได้ จะเกิดผลเสียต่อพรรค เนื่องจากคนคิดว่าเรื่องปัญหาของกรุงเทพฯ เกี่ยวข้องกับพรรค จากการ ที่ผู้ว่าฯ กทม.ลงสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งความจริงแล้วการบริหารงานแยกจากกันชัดเจน ดังนั้น อยากให้ คสช.เห็นความจำเป็นและพิจารณาด้วยเหตุผล อนุญาตให้จัดกิจกรรมและประชุมพรรคได้ ในบางเรื่องเพื่อหาทางออกของปัญหา อย่างไรก็ตาม พรรคจะยังไม่ทำหนังสือขออนุญาตเป็นฉบับที่ 2 ส่งไป แต่ยังคงรอคำตอบจาก คสช.อยู่

ติงองค์กรอิสระตรวจสอบยาก

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "รัฐศาสตร์กับวิกฤตการเมืองไทย" โดยนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากการเมืองไทยเผชิญกับวิกฤต สิ่งที่ต้องมีคือพลเมือง ต้องเข้มแข็ง และองค์กรอิสระต้องเป็นสถาบัน ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่กระบวนการตัดสินใจให้ผูกพันกับคนในประเทศต้องวางอยู่บนฐานของเสียงส่วนใหญ่

ด้านน.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสร้างความเป็นสถาบันขององค์กรอิสระว่า จุดอ่อนขององค์กรอิสระของไทยคือ ไม่มีภาระและความรับผิดชอบ มีสาเหตุมาจากการออกแบบ เนื่องจากกำหนดองค์กรไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้หลุดพ้นจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง แต่ส่งผลให้คนเข้าใจว่าเป็นสถาบันที่ 4 ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะทำให้ไม่ถูกตรวจสอบ เกิดการทับซ้อนของอำนาจขององค์กรนำไปสู่วิกฤต

น.ส.สิริพรรณกล่าวว่า จะเห็นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่องค์กรอิสระ ยกสถานภาพมีอำนาจการควบคุมกฎกติกา ยกตัวอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีปัญหาสำคัญคือกลไกใกล้เคียงกับระบบราชการ เพราะบุคลากรมาจากระบบราชการเดิม หน้าที่หลักของ กกต.ต้องทำตามเจตนารมณ์สังคม แต่ตนรู้สึกว่าการออกแบบโครงสร้างนั้นไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีกลไกมาคัดง้าง เสียงข้างมาก กกต.ยังขาดการบริหารอย่าง มืออาชีพภายในองค์กร จึงอยากเสนอว่าองค์กรอิสระไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ใส่ไว้ในพ.ร.บ.แทน โดยให้สังคมเป็นผู้กดดันให้การทำงานสอดคล้องกับเจตนารมณ์ ทั้งนี้ หากจะออกแบบใหม่ให้ตำแหน่งและกลไก การตรวจสอบอยู่ภายใต้อธิปไตย ต้องมี นักรัฐศาสตร์ร่วมออกแบบด้วย

ชี้ปชต.ไทยอยู่ในเขาวงกต

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงวิกฤตประชาธิปไตยไทย สถานการณ์ประชาธิปไตยโลกว่า ปัญหาของประชาธิปไตยล่มลง เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งถูกตั้งคำถามเรื่องการขาดธรรมาภิบาล ความพร้อมรับผิดทางการเมือง และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ขาดความโปร่งใส การเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของตนเอง ซึ่งวิกฤตประชาธิปไตยไทยคือการใช้อำนาจนิยมแก้ประชาธิปไตยบกพร่อง กลับไปสู่ภาวะการเมืองก่อนเป็นระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งการแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองยืดเยื้อเป็น 2 ขั้ว มุ่งการทำลายล้าง ขณะเดียวกันเกิดวิกฤตรัฐซ้อนรัฐ และมีกลุ่มอำนาจที่ไม่ปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนเข้ามาครอบงำ

นายประจักษ์กล่าวว่า เราต้องมองว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ไม่ใช่วิกฤตการเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ สร้างสถาบันการตรวจสอบถ่วงดุล ไทยเปลี่ยนผ่านเยอะมาก และเปลี่ยนผ่านก่อนคนอื่น เรามีประสบการณ์เยอะมาก แต่วิกฤตของไทยทุกครั้งที่ประชาธิปไตยเผชิญปัญหาสังคมไทยแก้ปัญหาผิดตลอด เราหันไปเอาอำนาจนิยมมาใช้แก้ปัญหาตลอด เราก็เลยอยู่ในเขาวงกตวนเวียนอยู่แบบนี้

จ่อแจ้งข้อหาอดีตสส.โกงฟุตซอล

วันที่ 12 ธ.ค. แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่สรุปสำนวนพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนเกี่ยวข้องด้วยประมาณ 200 ราย และมีพยานหลักฐานชี้ชัดว่านักการเมืองระดับชาติ เป็นอดีตส.ส.ในพื้นที่ เกี่ยวข้องด้วย หลังจากนี้จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป ส่วนการตรวจสอบในพื้นที่ จ.มุกดาหาร และอำนาจเจริญนั้น อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่ามีข้าราชการระดับสูงในพื้นที่และเอกชนเกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อย และจากการสอบปากคำข้าราชการระดับล่างที่กันไว้เป็นพยานนั้น ยังไม่พบว่ามีนักการเมืองระดับชาติเกี่ยวข้อง เพราะพยานหลักฐานยังไปไม่ถึง ต้องรอการตรวจสอบต่อไป

"พฤติการณ์ของพวกนี้คือ มีนักการเมืองระดับชาติกับข้าราชการระดับสูงอย่างน้อย 3-4 ราย เข้าไปนัดคุยเกี่ยวกับการใช้งบไปสร้างสนามฟุตซอล แต่ตรงนี้หาพยานยืนยันค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่นัดคุยกันที่ร้านลาบหรือร้านอาหาร ทำให้การสาวข้อมูลไปถึงตัวค่อนข้างลำบาก แต่พื้นที่จ.นครราชสีมา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า อดีตส.ส.ในพื้นที่เกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน" แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้คณะกรรมการป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 2 ชุด ชุดแรกตรวจสอบพื้นที่ภาคเหนือ ชุดที่สองตรวจสอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ภาคเหนือนั้น ตรวจสอบเบื้องต้นพบผู้เกี่ยวข้องรวม 30 ราย ทั้งข้าราชการระดับสูง ข้าราชการท้องถิ่น และเอกชน ขณะเดียวกันในภาพรวมมีผู้เข้าข่ายถูกกล่าวหา ได้แก่ เลขาธิการ สพฐ. ข้าราชการระดับสูงใน สพฐ. ผอ.โรงเรียน เครือข่ายการเมือง เอกชนที่ประมูลก่อสร้าง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!