- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 29 November 2015 20:11
- Hits: 2140
ทนายลุย ฟ้องกลับคดีป่วนกรุง แฉ 1 ใน 9 คนยังอยู่คุก-จับเพิ่ม 2 บิ๊กตู่บินฝรั่งเศส-ถกโลกร้อน
ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล ส่งทนายแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ เผยถูกจำคุกตั้งแต่พ.ค. 57 แต่ดันตกเป็นผู้ต้องหาคดีวางแผนป่วนกรุง ทนายแฉลูกความถูกข่มขู่ให้รับสารภาพนปช.ซัดการข่าวไม่น่าเชื่อถือ หวั่นชนวนรุนแรง เจ้าหน้าที่จับเพิ่มอีก 2 ที่ขอนแก่น-บึงกาฬ ส่งฝากขังศาลทหารทันที กรธ.จ่อเปิดช่องให้ผู้สนใจนั่งเก้าอี้ส.ว. เสนอชื่อตัวเอง โพลชี้ประชาชนค้านเลิกส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หนุนเลือกตั้งส.ว.ยกชุด เฟ้นคนดี-คนเก่ง'บิ๊กตู่' บินถกผู้นำโลกที่ฝรั่งเศส ประชุมแก้ปัญหาโลกร้อน
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9132 ข่าวสดรายวัน
จับเพิ่มอีก 2 ขอนแก่นโมเดล
วันที่ 28 พ.ย. พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) หนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูง แอบอ้างสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กล่าวถึงความคืบหน้าคดีขอนแก่นโมเดลหมิ่นเบื้องสูงว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดีนี้เพิ่มเติมได้อีก 2 คน จับกุมตัวได้ในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) ดำเนินการแล้ว แต่เบื้องต้นยังไม่มั่นใจว่าได้นำผู้ต้องหายื่นฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญไปแล้วหรือไม่ เนื่องจากเพิ่งมีการส่งมอบตัวในช่วงเย็นของวันที่ 27 พ.ย. ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 5 คนซึ่งยังอยู่ระหว่างหลบหนีนั้น เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจับกุม ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงกลุ่มขอนแก่นโมเดล ว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 คนคือ นายวัลลภ บุญจันทร์ จับกุมได้ที่จ.ขอนแก่น และนายพาหิรัณ กองคำ ถูกจับกุมได้ที่จ.บึงกาฬ ทั้งสองเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารเลขที่ 51/2558 และเลขที่ 56/2558 ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งหลังการจับกุมฝ่ายทหารได้นำตัวส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม แจ้งข้อหา และนำตัวฝากขังศาลทหารไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เป็นมือจัดหาอาวุธ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าวมีผู้ต้องสงสัยที่ถูกออกหมายจับไปแล้วทั้งหมด 9 ราย จับกุมไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 รายคือ จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ อายุ 60 ปี อดีตข้าราชการตำรวจ และนายณัฐพล ณ วรรณ์เล อายุ 26 ปี ก่อนจะขยายผลจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 รายตามที่เป็นข่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสืบสวนพบข้อ มูลว่านายพาหิรัณถือเป็นบุคคลสำคัญอีกหนึ่งคนของขบวนการ ทราบว่าเป็นผู้ทำหน้าที่จัดหาอาวุธเพื่อนำมาใช้ก่อเหตุ ส่วนผู้ต้องหาอีก 5 คนที่ยังหลบหนี ทราบว่ายังคงอยู่ในประเทศ ไทยโดยประสานไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังช่องทางตามชายแดนทั้งทางถูกกฎหมายและทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการหลบหนีออกนอกประเทศอีกด้วย
ส่งทนายแจ้งความกลับจนท.
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความคดีขอนแก่นโมเดล กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีว่า ได้พูดคุยกับบุคคล 4 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาและที่โดนหมายจับในคดีหมิ่นสถาบัน และเป็นกลุ่มคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลด้วย ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายล้วนปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ก็มีการข่มขู่เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพตามข้อกล่าวหาด้วย ทั้งนี้ น.ส.เบญจรัตน์ มีเทียน ทีมทนายความที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้พบข้อมูลว่านายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม 1 ในผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลและข้อหาหมิ่นสถาบันนั้น ได้ตกเป็นผู้ต้องหาถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 57 แล้ว จากกรณีขอนแก่นโมเดล
ต่อมาเมื่อได้รับการประกันตัวก็ถูกอายัดตัวและกักขังต่อในคดีปลอมแปลงเอกสารเพื่อขายรถยนต์ของอดีตภรรยา จึงถูกอดีตภรรยาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี นายธนกฤตจึงถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี
นายวิญญัติ กล่าวว่า สรุปนายธนกฤตถูกขังต่อเนื่องมาจากเดือนพ.ค. 57 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีส่วนเกี่ยวพันกับข้อกล่าวหาในคดีร้ายแรง น.ส.เบญจรัตน์จึงส่งทีมทนาย ความเข้าพบและได้รับการแต่งตั้งจากผู้เสียหายเพื่อแจ้งความดำเนินคดี โดยจะแจ้งความเอาผิดต่อพนักงานเจ้าของคดี ผู้กล่าวโทษอันเป็นเหตุให้นายธนกฤตต้องตกเป็นผู้เสียหาย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่กองปราบฯ ในวันที่ 29 พ.ย. เวลา 10.00 น.
นปช.หวั่นขยายความรุนแรง
นางธิดา โตจิราการ แกนนำนปช. กล่าวถึงกรณีทีมทนายขอนแก่นโมเดล เปิดเผยข้อมูลที่นายธนกฤตต้องโทษจำคุกในเรือนจำตั้งแต่เดือนพ.ค. 57 จึงไม่อาจตกเป็นผู้ต้องสงสัยรอบล่าสุดได้ ว่าสะท้อนชัดว่าการข่าวของฝ่ายความมั่นคงไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นห่วงว่า หากรัฐบาลทำงานด้วยความรีบร้อนแบบนี้ก็จะทำให้ประชาชนถูกตั้งข้อกล่าวหาเกินเลย อย่างที่ไม่ควรจะเป็น เหมือนอย่างครั้งนี้และครั้งที่ผ่านได้
นางธิดา กล่าวว่า กรณีนายธนกฤตและตชด.อีกหนึ่งผู้ต้องหาที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่ถูกกล่าวหาอย่างหนักหน่วงว่าจะยึดค่ายทหารและลอบสังหารบุคคลสำคัญนั้น สุ่มเสี่ยงที่จะขยายเป็นความขัดแย้งรุนแรง และนี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่คงจะไม่เกิดขึ้น ส่วนฝั่งประชาชนฝั่งที่มักจะถูกกล่าวหาและถูกกระทำอยู่ตลอดเวลาก็จะได้บทเรียนรู้เพิ่มขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ที่ทำให้เห็นแล้วว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโดยเร็ว รัฐบาลเองก็ต้องเลิกมองประชาชนด้วยทัศนคติของคู่ตรงข้ามสักที
ชทพ.หนุนรบ.ล้อมคอกก่อนวัวหาย
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการจับกุมกลุ่มป่วนที่ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการกลบข่าวการทุจริตการก่อสร้าง อุทยานราชภักดิ์ว่า ไม่อยากให้ทุกคนมองรัฐบาลไปเช่นนั้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลเองมีหน่วยข่าวกรอง มีข้อมูล และกิจกรรมสำคัญๆ ของบ้านเรา รวมถึงใกล้เทศกาลปีใหม่ ก็ล้วนแต่เป็นช่วงที่สำคัญของคนไทยทั้งสิ้น หากเกิดเหตุขึ้นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบเต็มๆอยู่แล้ว การที่จะลุกขึ้นมาหาทางป้องกันเมื่อมีข้อมูลรัฐบาลเองก็ต้องเปิดเผยและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรัฐบาลด้านการทำงานความมั่นคง ไม่ใช่ให้เกิดเหตุขึ้นก่อนเหมือนที่ประเทศฝรั่งเศส ตนมองว่าเป็นการล้อมคอกก่อนวัวหาย ดีกว่าปล่อยให้วัวหายแล้วล้อมคอก
ส่วนกรณีที่นายกฯ ระบุชัดว่ามีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวเชื่อมโยงนั้น ไม่อยากมองว่าเป็นกลุ่มไหน แต่คนที่เป็นถึงนายกฯ คงไม่เอาเรื่องที่ไม่มีข้อมูลมาพูดบนสถานการณ์ที่ใกล้วันมงคล เพราะไม่เกิดผลดีต่อรัฐบาลเอง
ให้ผู้สนใจส.ว.เสนอชื่อตัวเอง
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวกรณีการจัดกลุ่มทางสังคมเพื่อเลือกส.ว.ทางอ้อมว่า ขณะนี้กรธ.ยังไม่ตกผลึกเรื่องการเรียงลำดับจัดกลุ่มทางสังคมว่าจะประกอบด้วยใครบ้าง เท่าที่หารือมีการพูดคุยว่าอาจให้มูลนิธิทางด้านความเชื่อทางศาสนาส่งคนลงสมัครได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องกลุ่มอาชีพหรือนิติบุคคลมีข้อเสนอว่าเพื่อความหลากหลายน่าจะให้ ผู้ที่ต้องการสมัครสามารถเสนอตัวเองได้ แต่ต้องมีหน่วยงาน นิติบุคคล รองรับว่าตนเองสังกัดกลุ่มนั้นๆ จริง โดยไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานดังกล่าวส่งลงสมัครก็ได้ กระบวนการอาจให้คัดเลือกกันเองตั้งเเต่ในระดับจังหวัด แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือกกต.จังหวัด ส่งมาหน่วยงานส่วนกลางเพื่อคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาการล็อบบี้
เมื่อถามว่า มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่มาจากกลุ่มกปปส. หรือ เเนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเเห่งชาติ(นปช.) ส่งคนเข้ารับการคัดเลือกได้หรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า กรธ.ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าทั้งนปช.และกปปส.หากลาออกจากองค์กรแล้วทำตามกระบวนการการคัดเลือก ไม่สังกัดพรรคการเมืองเเล้ว น่าจะร่วมเข้ามาสังฆกรรมได้ไม่มีปัญหา เราไม่ได้กีดกันคนการเมืองเข้ามาเป็นส.ว. เพราะเชื่อว่าทุกอาชีพก็มีความคิดทางการเมืองอยู่เเล้ว แต่กลัวจะไปคล้ายกับเวทีส.ส.จึงใช้วิธีเลือกส.ว.ทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในกรธ.สัปดาห์หน้าอีกครั้งว่าทั้งนปช.และกปปส.เข้าข่ายเป็นส.ว.ทางอ้อมได้หรือไม่
หนุนแก้รธน.ชั่วคราว
นายเธียรชัย ณ นคร สมาชิกกรธ.กล่าวถึงการจัดกลุ่มทางสังคม 20 กลุ่ม เพื่อให้มีการเลือกตั้งส.ว.ทางอ้อมกลุ่มละ 10 คนว่า ก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุป แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง กรธ.แต่ละคนยังมองไม่ตรงกัน จึงต้องหาจุดลงตัวต่อไปว่าจะให้มีกลุ่มทางสังคมกี่กลุ่ม เพื่อให้มีความครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด ส่วนการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรแทบจะยึดตามหลักการเดิมทั้งหมด จะไม่กำหนดโครงสร้างประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 คนว่าต้องมาจากพรรคเสียงข้างมาก หรือพรรคฝ่ายค้านเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา
นายเธียรชัย กล่าวว่า การทำงานสัปดาห์หน้าคาดว่าจะอยู่ในการพิจารณาประเด็นที่มาของส.ว.จากการเลือกตั้งทางอ้อม และหมวดรัฐสภา ที่ยังขาดเนื้อหาในส่วนของการทำงานร่วมกันระหว่างส.ส.และส.ว. จากนั้นก็ต้องดูว่าอนุกรรมการชุดไหนจะเสนอประเด็นถัดไปเข้าสู่การหารือ ซึ่งขณะนี้เนื้อหาที่สำคัญที่ยังรอการพิจารณาได้แก่ คณะรัฐมนตรี การทำงานร่วมกันระหว่าง 2 สภา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 37 วรรค 7 เพื่อความชัดเจนในการลงประชามติหรือไม่ นายเธียรชัยกล่าวว่า ถ้าทำให้ชัดเจนก็จะดีกว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและสนช.ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร เชื่อว่าถ้าผู้มีอำนาจแก้ไขเห็นว่ามันเป็นข้อสงสัย และไม่อยากให้มีการตีความถกเถียงกันก็คงจะมีการแก้ไขในที่สุด
นิพิฏฐ์ ค้านเลือกส.ว.ทางอ้อม
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรธ.พิจารณาที่มาส.ว.กำหนดให้ส.ว.มี 200 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มสังคมต่างๆ ว่าตนไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าเรื่องไหนตกผลึกแล้วและใช้มานานประชาชนเคยชินไม่ควรไปเตะเยอะ อยากเสนอ ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และสรรหาครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม เพราะหากจะบอกว่าเพื่อป้องกัน ส.ว.ไม่ให้ถูกครอบงำจากนักการเมือง ตรรกะแบบนี้ก็ต้องไปดูว่าให้ส.ว.มีอำนาจอะไรบ้าง การกำหนดให้เลือกตั้งส.ว.ทางอ้อม เราเห็นตัวกันอยู่แล้ว เช่น กลุ่มวิชาชีพนักกฎหมาย เราก็เห็นอยู่ว่าใครเป็นใคร แล้วเขาจะเสนอใคร ดังนั้น เมื่อกำหนดให้เลือกแบบนี้จะไม่สามารถบอกได้ว่าส.ว.เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง
"ผมเห็นไม่ตรงกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ แต่ไม่มีปัญหาอะไรกัน เพราะผมเห็นไม่ตรงกันกับหัวหน้าพรรคอีกหลายเรื่อง เช่น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) เป็นต้น" นายนิพิฏฐ์กล่าว
โพลค้านเลือกปาร์ตี้ลิสต์
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับการเลือกส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ และส.ว." เก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,192 คน พบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ไม่อยากให้ยกเลิกระบบเลือ นร้อยละ 11.1 ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการเลือกส.ว. พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 58.6 เห็นว่าส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด รองลงมาร้อยละ 25.7 เห็นว่าส.ว.ควรเป็นแบบผสมทั้งจากการสรรหาและการเลือกตั้ง และมีเพียงร้อยละ 9.0 เท่านั้นที่เห็นว่าควรมาจากเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้แต่ละกลุ่มวิชาชีพเป็นผู้คัดเลือก ส่วนผู้ที่เห็นว่าควรมาจากการสรรหาทั้งหมดมีร้อยละ 3.6 ที่เหลือร้อยละ 3.1 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.6 เห็นว่าการเลือกตั้งส.ว.จะช่วยให้ได้คนเก่งและดีมาทำงานมากกว่าวิธีการสรรหา ขณะที่ร้อยละ 24.4 เห็นว่าวิธีการสรรหาเป็นวิธีที่ดีกว่า ที่เหลือร้อยละ 14.0 ไม่แน่ใจ
สุดท้ายเมื่อถามว่าการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรเป็นหน้าที่ของใคร ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.0 เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ร้อยละ 35.0 คิดว่าควรเป็นหน้าที่ของส.ว.เหมือนเดิม และร้อยละ 13.0 ไม่แน่ใจ
บิ๊กตู่บินฝรั่งเศส-ถกภูมิอากาศ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการเดินทางของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะในการเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชา ชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) สมัยที่ 21 (COP 21) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสาร เกียวโต สมัยที่ 11 (CMP 11) เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแนวแน่ของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล COP 21 และ (CMP 11) กำหนดจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุม Parc des Expositions du Bourget กรุงปารีส ในวันที่ 30 พ.ย. 2558 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป โดยนายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส จะทำหน้าที่ประธานการประชุม และนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ จะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในระหว่างการประชุมด้วย
โดยทั่วไปการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำร่างความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีค.ศ.2015 ให้แล้วเสร็จภายในช่วงการประชุม เพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปีค.ศ.2020 ดังนั้น สาธารณรัฐฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพการประชุมจึงได้จัดการประชุมระดับสูงของประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลขึ้น เพื่อสร้างพลวัตในการเจรจาความตกลงฯ
ผู้นำโลกมากันพร้อมหน้า
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้นำประเทศต่างๆ แสดงการสนับสนุนทางการเมืองในระดับสูงสุดต่อการเจรจาจัดทำความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จในระหว่างการประชุม COP 21/CMP 11 รวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าจะมีผู้นำเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลจาก 139 ประเทศ
ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้นำส่วนใหญ่ อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก เจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 พระประมุขแห่งราชรัฐโมนาโก ประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานาธิบดีจีน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายกฯ ญี่ปุ่น นายกฯ แคนาดา และนายกฯ อินเดีย ยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุม อนึ่งในส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นมีประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายกฯ เวียดนาม
ไทยเสนอตัวเป็นสะพานเชื่อม
โอกาสนี้นายกฯ ของไทยจะกล่าวถ้อยแถลง มีประเด็นสำคัญดังนี้ เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับฝรั่งเศสต่อเหตุความรุนแรงในกรุงปารีส แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเสนอว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ละประเทศควรมีแนวทางการดำเนินการพัฒนาใหม่ที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทาง พร้อมเน้นย้ำว่าประเทศต่างๆ จะไม่สามารถบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หากยังคงต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร ความพยายามในการขจัดความยากจนและการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปีค.ศ.2030 ที่ร้อยละ 20 ถึง 25 รวมถึงบทบาทของไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 และความพร้อมที่จะเป็น "สะพานเชื่อม" ระหว่างประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ นายกฯ และคณะออกเดินทางจากประเทศไทยในเวลา 00.05 น. วันที่ 29 พ.ย. จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ TG930 ไปยังสาธารณรัฐฝรั่งเศส และเดินทางถึงท่าอากาศยานปารีส-ชาร์ลส์เดอโกล กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 06.50 น. (เวลาที่กรุงปารีสช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) และเดินทางกลับไทยโดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG931 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันพุธที่ 2 ธ.ค. เวลา 06.25 น.