- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 20 November 2015 14:54
- Hits: 3461
'โอบามา'บอกบิ๊กตู่ ห่วงไทย ปัญหาสิทธิมนุษยชน มีชัยชี้ 10 ข้อเสนอคสช. แค่รับฟัง-ไม่เขียนก็ได้'สนช.'ผ่าน 5 ปปช.ใหม่ ชาวนาพิจิตรพรึบรับ'ปู'
'บิ๊กตู่'เผยโอบามาห่วงสิทธิมนุษยชน อจ.ศิลปากร โวย ไปทำงานที่นครศรีฯแต่ถูกทหารแจ้งจับมั่วสุมที่เชียงใหม่จี้คสช.หยุดละเมิดสิทธิ 'ปู'ทอดกฐิน-ชาวนาพิจิตรแห่รับ ขณะที่ทหารยังตามเฝ้า'มีชัย'ยันไม่มีพิมพ์เขียวรธน. ลั่นต้องปฏิรูปการศึกษา-ตำรวจ ไม่เช่นนั้นประเทศเดินหน้าไม่ได้ เผย 10 ข้อเสนอคสช.ไม่ต่างคนอื่น อู้อี้ตั้ง"คปป.' กรธ.ยังไม่สรุปที่มา"ส.ส.-ส.ว.' เพื่อไทยชี้ 10 ข้อคสช.เหมือนใบสั่ง สนช.ลงมติรับรอง 5 ป.ป.ช.ใหม่
วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9123 ข่าวสดรายวัน
สัมผัสมือ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. สัมผัสมือนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างปิดการประชุมเอเปก ครั้งที่ 23 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.
'ปู'ทอดกฐิน-ชาวนาพิจิตรแห่รับ
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเป็นประธานในการทำบุญทอดกฐินที่วัดทุ่งใหญ่ อ.โพธิ์ ประทับช้าง จ.พิจิตร ร่วมกับน.ส.สุนีย์ เหลืองวิจิตร อดีตส.ส.พิจิตร พร้อมประชาชนในอำเภอโพธิ์ประทับช้างและพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 1,000 คน ระหว่างที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงจากรถเพื่อเข้าบริเวณพิธี มีชาวบ้านนำดอกกุหลาบแดงมามอบให้กำลังใจจำนวนมาก หลังเสร็จพิธีน.ส.ยิ่งลักษณ์ลงจากศาลาวัดเพื่อนำข้าวสาร 2,000 ถุง มอบให้กับโรงเรียนในจังหวัดพิจิตร 29 โรงเรียน เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันให้กับเด็กยากจน
โดยระหว่างนั้นมีชาวนาออกมาแสดงสัญลักษณ์ใส่เสื้อสีขาว ด้านหน้ามีรูปการ์ตูน ชาวนาและสุนัข เขียนไว้ว่า "ครอบครัวของฉัน วันที่ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว" ส่วนด้านหลังเป็นรูปหัวใจสีแดง เขียนไว้ว่าหัวใจเดียวกัน ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้บอกความหมายว่า ชาวนากำลังจะตาย เพราะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว
ทหารยังตามเฝ้า'ยิ่งลักษณ์'
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมา สักการะหลวงพ่อโต ที่วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นพระเก่าแก่ มีอายุกว่า 300 ปี พร้อมสักการะศาลพระพุทธเจ้าเสือ ซึ่งมีกิตติศัพท์เลื่องลือในเรื่องการสู้รบและเป็นผู้ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่กตัญญูรู้คุณแผ่นดินเกิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางไปทำบุญทอดกฐินที่จ.พิจิตรในครั้งนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าสังเกตการณ์และติดตามความเคลื่อนไหวเช่นเคย
จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมนางมณฑาทิพย์ ชินวัตร นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นายวราเทพ รัตนากร และอดีตส.ส.กำแพงเพชร อีกหลายคน เช่น นายเกียรติชัย ติรณศักดิ์กุล นายสุรสิทธิ์ วงศ์ วิทยานันท์ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นางอุดมรัตน์ อาภรณ์รัตน์ และนายไผ่ ลิกค์ เดินทางจากพิจิตรมาเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าอาหารโอท็อปชื่อดังของกำแพงเพชร "เฉาก๊วยชากังราว" (ตราเพชร) ที่ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยนายเสริมวุฒิ และนางอมรรัตน์ สุวรรณโรจน์ เจ้าของร้านและชาวกำแพงเพชรต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้ทดลองชิมเฉาก๊วยในน้ำขิง จากนั้นคณะของอดีตนายกฯจะเดินทางไปที่บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ต.ลานดอกไม้ อ.เมือง เพื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารเย็นที่บ้านนายเกียรติชัย ติรณศักดิ์กุล อดีตส.ส.กำแพงเพชร และในเวลา 09.00 น. จะกราบไหว้พระบรมธาตุ ต.นครชุม
อจ.ศิลปากรโวยถูกทหารแจ้งจับ
วันเดียวกัน นายคงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองนครปฐม เดินทางมาหาที่ทำงาน เพื่อนำหมายเรียกจากสภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ มาให้ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตนไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง'มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร'ที่โรงแรมไอบิส จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2558 และได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาแจ้งความดำเนินคดี
นายคงกฤช กล่าวว่า โดยหมายเรียกดังกล่าว ลงวันที่ 11 พ.ย. 2558 ระบุว่า พ.ท.อภิชาต กันทะวงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารผู้รับมอบอำนาจให้มาเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ต่อนายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ กับพวกในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยระบุให้นายคงกฤชไปพบ ว่าที่พ.ต.อ.ประยูร กาศทิพย์ พนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก ในวันที่ 24 พ.ย.58 เวลา 09.00 น.
จี้คสช.หยุดละเมิดสิทธิ
นายคงกฤช กล่าวต่อว่า ตนอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และไม่ได้เดินทางไป จ.เชียงใหม่ และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นำหมายมาให้ พร้อมโทรศัพท์ไปหาพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก เพื่อแจ้งว่าไม่ได้เดินทางไปที่เชียงใหม่ในวันดังกล่าวแต่อย่างใด และยืนยันว่าจะไม่เซ็นรับหมายเรียกดังกล่าว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองนครปฐม จึงได้เขียนระบุไว้ที่ด้านหลังหมายเรียกว่า ได้เจอตัวนายคงกฤชแล้ว และนายคงกฤชยืนยันว่า ไม่ได้ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่ได้ให้เซ็นรับหมายแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่ายังต้องเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามวันนัดดังกล่าว
"สิ่งที่ คสช.ทำได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน คือการแสดงออกทางความคิด แม้จะเป็นนักวิชาการที่พูดในหลักวิชา คสช.ก็ยังไม่เว้นการใช้อำนาจ สะท้อนว่าสังคมยังไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งการคุกคามด้วยการออกหมายเรียกก็ยังผิดพลาดด้านข้อเท็จจริง สภาวะเช่นนี้จะสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน ซึ่งผมอยากให้ คสช.หยุดการละเมิดเสีย"นายคงกฤชกล่าว
โดนแจ้งดำเนินคดีถึง 8 คน
ด้านนายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า ทางคณาจารย์ท่านอื่นยังไม่ได้รับหมายเรียกดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเมื่อทราบเรื่องได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับว่าที่พ.ต.อ.ประยูร และยืนยันว่าอาจารย์คงกฤชไม่ได้อยู่ในการแถลงข่าว "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.แต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาพบกับพนักงานสอบสวนในวันนัดดังกล่าวแล้ว แต่ได้รับทราบจากพนักงานสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่ทหารไปแจ้งความดำเนินคดีต่อคณาจารย์ 8 คน ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีผู้ใดบ้าง เบื้องต้นถ้ามีหมายเรียกมายังอาจารย์ท่านอื่น ก็จะเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับแถลงข่าวถึงกรณีนี้อีกครั้ง ส่วนตัวอาจจะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนก่อน ซึ่งในวันที่ 24 พ.ย. ตนอาจจะไม่อยู่ที่เชียงใหม่
"ผมรู้สึกแปลกใจมากที่โดนข้อหานี้ แปลกใจว่าทำไมจึงยังมีการข่มขู่โดยใช้กฎหมาย ผมเองและอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็ได้คุยกับนายทหารผู้ใหญ่หลายครั้งแล้ว เราบอกว่าเรามีหน้าที่นักวิชาการที่ต้องทำ เราก็บอกไปแล้วว่า ปล่อยพวกนักวิชาการมันพูดไปเหอะไม่มีใครฟังหรอก ยิ่งห้ามยิ่งเป็นข่าว เราก็เคลียร์กันแล้วว่า ให้เราไม่พูด ไม่ได้หรอก"นายอรรถจักรกล่าว
นายอรรถจักร กล่าวด้วยว่า ที่ตนจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ก็เพื่ออธิบายให้นายกฯได้เข้าใจว่า มหาวิทยาลัยต้องมีพื้นที่และเสรีภาพ เราต้องการให้คนอ่านแถลงการณ์คิด ถ้านี่คือยุยง เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
'ตู่'เผยโอบามาห่วงสิทธิมนุษยชน
ที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ครั้งที่ 23 กรุงมะนิลา ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกว่า ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจได้พบกับนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากนั่งประชุมติดกัน จึงขอบคุณสหรัฐ ที่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทย ซึ่งนายโอบามาตอบว่ายินดี เพราะไทย-สหรัฐเป็นพันธมิตรมายาวนาน ทอดทิ้งกันไม่ได้ และยินดีสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยตนได้ยืนยันว่าจะพยายามให้ดีที่สุด เพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน
อบอุ่น - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเป็นประธานทอดกฐินสามัคคีที่วัดทุ่งใหญ่ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างอบอุ่น โดยมีทหารตามเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. |
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นายโอบามาได้ย้ำว่าทราบดีถึงความซับซ้อนทางการเมืองของไทย แต่สิ่งที่ห่วงใยคือเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันว่าพยายามดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเรื่องของการข่าวจากผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งบางครั้งนำเสนอโดยไม่มีข้อเท็จจริงทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน จึงอยากขอร้องสื่อมวลชนว่าอย่ารับข้อมูลที่ผิดๆ มานำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นเหตุหนึ่งทำให้อีกฝ่ายมากดดันเรา ในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง
สหรัฐย้ำห่วงไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยจีน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ว่า ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงหรือหารือเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง แต่หารือในเรื่องของพลังงาน การศึกษา เทคโนโลยี รวมทั้งการหาแนวทางเพื่อให้สองประเทศทำงานร่วมกันให้ดีขึ้น
เมื่อถามกรณีสหรัฐเป็นห่วงที่ไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวจีน 2 คน นายกลิน ที. เดวีส์ กล่าวว่า ไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้กับ พล.อ.อ.ประจิน เพราะไม่ได้ดูแลงานด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวสหรัฐมีความเป็นห่วงและผิดหวังต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ได้ส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวจีน 2 คน เพราะประเทศไทยมีพันธสัญญากับทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ว่าผู้ใดที่ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยกับทาง UNHCR ต้องได้รับการดูแลและปฏิบัติตามฐานะที่เป็นผู้ลี้ภัย ทางสหรัฐจึงเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของทาง UNHCR และวานนี้ (18 พ.ย.) กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ก็ได้ออกแถลงการณ์แล้วว่าเมื่อประเทศไทยมีพันธกิจและลงนามในสันธิสัญญาแล้วก็ควรปฏิบัติตาม
'มีชัย'ยันไม่มีพิมพ์เขียวรธน.
ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะในคณะกรรมาธิ การร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเฉพาะต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ร่วมเสนอความคิดเห็น อาทิ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศ ไทย สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย มูลนิธิสถาบันการศึกษาและพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ฝ่ายกิจการสตรี เยาวชน และครอบครัวของมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมผู้ประกอบการโฮสติ้ง มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า กรธ.ที่ตั้งขึ้นมา 21 คน มาด้วยกระดาษเปล่า มีคนถามว่ามีโพลหรือพิมพ์เขียวหรือไม่ ก็นึกภาวนาว่าถ้ามีก็ดีจะได้ทำงานน้อยไม่ต้องไปคิดอะไร แต่ปรากฏว่าให้กระดาษเปล่าพร้อมกับกรอบ 5 ข้อ คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย แก้ไขปัญหาของประเทศ ไทยได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล 2.กำหนดให้มีกลไกการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ 3.กำหนดให้มีมาตรการไม่ให้การเมืองใช้เงินหลวงไปอ่อยเหยื่อประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือหาประโยชน์ส่วนตน 4.กำหนดมาตรการป้องกันทุจริตและประพฤติมิชอบ และ5.สร้างกลไกให้มีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติจะเกิดผลจริงจังในการมีส่วนร่วมแบบมีความรับผิดชอบได้อย่างไร
แย้มต้องคิดกลไกตรวจสอบใหม่ๆ
นายมีชัย กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายพูดเหมือนกันหมดว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนต้องสั้น กะทัดรัด ไม่ต้องมีรายละเอียดมาก แต่ในทางกลับกันคนทั้งบ้านทั้งเมืองกลับส่งความคิดเห็นมามากมายและบอกว่าต้องใส่ไว้ในร่างรัฐธรรม นูญ ก็กำลังชั่งน้ำหนักว่าจะใส่อะไรบ้าง ภารกิจของกรธ.จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เมื่อจะปฏิรูปประเทศ สิ่งหนึ่งที่ กรธ.คิดคือประเทศมีปัญหาอะไร เกิดจากอะไรจะได้ปฏิรูปกันถูก เพราะถ้าไม่รู้ปัญหาก็ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญตรงกันได้ พบว่ากลไกทางการเมืองที่ผ่านมาไม่เอื้อต่อการตรวจสอบ หรือรับรู้ต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อาจนึกได้ว่าเวลาพรรคการเมืองหาเสียงจะทำอะไรแต่ไม่รู้เลยว่าเมื่อเข้ามาแล้วเขาทำอะไรบ้าง จึงเป็นความจำเป็นที่กรธ.ต้องคิดกลไกและมาตรการใหม่ๆ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่ใครเคยทำมาก่อน เพราะถ้ามีใครทำมาก่อนสิ่งนั้นย่อมไม่ใช่ ของใหม่
นายมีชัย กล่าวอีกว่า โลกนี้ไม่มีรัฐบาลใดที่ตัดงบประมาณเพียงเพราะจังหวัดนั้นไม่เลือกพรรคนั้นๆ ปัญหาที่เราประสบไม่เหมือนใคร ดังนั้นเวลาแก้ก็ไม่เหมือนใคร กรธ. 21 คนไม่ได้มีขีดความสามารถถึงขนาดไปรู้จิตใจประชาชนหรือรู้วิธีการแก้ไขปัญหาได้หมด มีความจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นและนำไปใช้ เพราะเราคิดเองไม่ออก
ลั่นต้องปฏิรูปการศึกษา-ตร.
"เรารู้ว่าบ้านเมืองไม่มีวันจะเดินไปได้เลยถ้าระบบการศึกษาเป็นแบบนี้ เนื่องจากระบบการศึกษาไม่ได้สร้างคนให้มีวินัย การไม่มีวินัยได้สร้างปัญหามากมาย ต้องมีการปฏิรูปอย่างรุนแรงในกระบวนการศึกษา อีกประเด็นหนึ่งถ้าทำไม่ได้การปฏิรูปหรือการเขียนรัฐธรรมนูญไม่มีวันที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ คือ กลไกของตำรวจ" นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวว่า ดังนั้นการศึกษาและกลไกของตำรวจคือสิ่งที่ทำให้ประเทศเดินไปไม่ได้ ถ้ากฎหมายที่ออกมาแล้วไม่มีการบังคับใช้ หรือบังคับตามใจตนหรือเจ้านาย ตามใจผู้มีอิทธิพลก็ไม่เกิดความสงบเรียบร้อย ที่ผ่านมากลุ่มเอ็นจีโอเรียกร้องกฎหมายนั้นกฎหมายนี้ แต่รู้หรือไม่ว่ากฎหมายนั้นไม่เคยสร้างประโยชน์แก่สังคม เป็นเพียงเครื่องผูกมัดคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยิ่งมีกฎหมายมากเท่าใดถ้าการบังคับทางกฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์กฎหมายนั้นจะเป็นเพียงโซ่ตรวน ไม่ได้ช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น จึงคิดว่าถ้าปฏิรูป 2 เรื่องนี้ไม่ได้บ้านเมืองไม่ไปไหนแน่และรัฐธรรม นูญจะไม่มีทางสำเร็จ
ย้ำ"กรธ."ไม่ฝักใฝ่พรรคใด
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ความคิดเห็นที่หลากหลายเราคงไม่ได้ลอกไปหรือรับไปเขียนทั้งหมด แต่ความคิดเห็นที่เสนอมานั้นจะจุดประกายความคิดของกรธ.ให้ต่อยอดได้ ซึ่งเป็นคุณูปการมหาศาลสำหรับกรธ. โดยจะเอาประกายที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นนั้นไปเขียนในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อกำหนดให้รัฐธรรมนูญต้องสั้น กระชับ กะทัดรัด ไม่เยิ่นเย้อ เราก็ต้องสกัดว่าสิ่งใดพอจะอยู่ในรัฐธรรมนูญได้บ้างตามที่สติปัญญาของเราจะเอื้อให้ได้
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.มีระยะเวลาทำงานเพียง 6 เดือน ไม่สามารถจัดรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงได้ แต่จะทำเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย ขอให้มั่นใจว่ากรธ.ไม่มีฝักใฝ่ในพรรคการ เมืองใด ไม่ได้คิดว่าพรรคใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เรามองเฉพาะกลไกที่วางจะ เอื้อต่อประชาชนอย่างแท้จริง เคารพสิทธิประชาชน ให้ประชาชนมีข้อมูล เมื่อสิ่งที่เราทำสำเร็จ ประชาชนจะเลือกพรรคใด กรธ.ไม่เกี่ยวข้อง เพราะระบอบประชาธิปไตยเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องยอมรับ กรธ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ไม่ได้คิดเอาใจช่วยพรรคใดโดยเฉพาะ
เผย 10 ข้อเสนอคสช.ไม่ต่างคนอื่น
นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ถึง 10 ข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ว่า ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าข้อเสนอของคนอื่น ทุกข้อเสนอที่ส่งมาจะมีผลต่อการตัดสินใจของกรธ. โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนส่งมา แต่ขึ้นอยู่กับว่า ข้อเสนอนั้นเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ อย่างสิ่งที่ คสช. เสนอมาคือ สิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วทั้งนั้น ซึ่งบางเรื่องเรายังพิจารณาไปไม่ถึง
"ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ กรธ.ไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด กรธ.ยังคงความอิสระในการทำหน้าที่ เพราะบางเรื่องมันชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ข้อ 7 ช่วงท้าย พูดถึงการใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของภาครัฐจากภัยที่มาจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง เป็นสิ่งที่เราอาจไม่ต้องเขียน เนื่องจากกฎหมายอาญาเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ข้อนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรม มันเป็นไปตามหลักสากล เช่นในยามศึกสงคราม หากทหารพลาดยิงไปถูกคนที่ไม่ใช่ข้าศึก ก็ไม่ผิด" นายมีชัยกล่าว
อู้อี้ข้อเสนอตั้ง"คปป."
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอที่ 6 เรื่องผ่าทางตัน หากเกิดสุญญากาศทางการเมืองคือ คปป. ใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า คสช.ไม่ได้เขียนคำว่า คปป. เลย การเขียนรัฐธรรมนูญเผื่อไว้สำหรับการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้น มันเป็นหน้าที่เรา ซึ่งได้เริ่มคิดไว้แล้วบางส่วน เช่น หากเป็นวิกฤตธรรมดา อาจจะให้อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตนเดาว่า การที่ คสช. เสนอมาแบบนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นว่า เมื่อเกิดปัญหาและไม่มีทางออก ที่สุดแล้วจะไปถึงการขอนายกฯมาตรา 7 ซึ่งไม่ถูกต้อง ความหมายของมาตรานี้คือ เมื่อไม่มีบท บัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ จะให้ใช้ตามประเพณีการปกครอง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 เขียนยืดยาวจนเกินขอบเขตประเพณีการปกครองไปแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหา คนยังเรียกร้องนายกฯใหม่ตามมาตรา 7 เพื่อจะไปแทนนายกฯเก่าที่ไม่ลาออก เราจึงทำความเข้าใจใหม่ด้วยการตัดมาตรา 7 ส่วนนั้นทิ้ง แล้วกำลังดูอยู่ว่า จะเอาเนื้อหาที่ตัดนี้ไปไว้ตรงไหน เพื่อให้เป็นประโยชน์กับการแก้วิกฤตมากที่สุด ซึ่งตอนนี้เรายังคิดไม่ออกและยังไม่ถึงส่วนนั้น
เมื่อถามว่า จะมีองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แก้วิกฤตการเมืองหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ปัญหานี้ อยากให้ศาลทำหน้าที่ ถ้าไม่ศาลปกครอง ก็ศาลยุติธรรม ไม่ก็ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ที่จำเป็นต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งคอยชี้ ถ้าองค์กรที่มีอยู่ใช้ไม่ได้จริงๆ อาจต้องสร้างองค์กรใหม่ แต่กรธ.ยืนยันว่า หลักคิดของเราไม่อยากให้มีการตั้งองค์กรใหม่ เรากำลังพยายามคิดว่า จะนำเอากลไกทั้งหมดที่มีอยู่ผูกโยงกันอย่างไร เพื่อให้แก้วิกฤตการเมืองได้
ชี้รธน.แก้ได้แต่ต้องแก้ยาก
นายมีชัยกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ แต่จะต้องไม่แก้ไขได้ง่ายเหมือนกฎหมายธรรมดา เพื่อคงความเป็นกฎหมายสูงสุดเอาไว้ อีกทั้งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ย่อมต้องมีการแก้ไข ซึ่งแนวทางนี้ไม่ได้ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น ดุลอำนาจจะยังมีอยู่ แต่ต้องไม่ตายตัว เช่น สูตรการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งจะใส่ไว้ในกฎหมายลูก หากอนาคตมีใครคิดวิธีนับคะแนนที่ดีกว่าได้ ก็ไปแก้ไขในกฎหมายลูก ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือในส่วนของศาล จะเขียนเพียงอำนาจหน้าที่ แต่จะไม่ลงรายละเอียดว่า ต้องมีตุลาการกี่คน กำลังคิดจะทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก โดยกำลังพยายามจะหากลไกให้การแก้ไขนั้นต้องได้รับความยินยอมจากทุกภาคส่วนก่อนจึงทำได้ แต่อาจไม่ใช่จากการทำประชามติ
เมื่อถามว่า ในฐานะคนใกล้ชิด คสช. ข้อเสนอทั้ง 10 นี้ ต้องการอะไร นายมีชัย กล่าวว่า ให้เดาคือ คสช. เห็นว่า เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น จะมีคนกลุ่มหนึ่งเรียกให้ทหารออกมา ทั้งที่เค้าไม่อยากออกมา พอไม่ออกจะถูกกล่าวหาว่า กองทัพไม่ยอมทำเพื่อประเทศ จนที่สุดก็ต้องออกมา คสช.จึงอยากให้เขียนทางออกสำหรับปัญหา เพื่อที่กองทัพจะไม่ต้องออกมาอีก ซึ่งแบบนี้ไม่ได้จำเป็นต้องไปมอบอำนาจเต็มให้แก่ใคร เช่น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรก็จบ หวังว่า เราจะแก้ปัญหานี้ออก ซึ่งไม่อยากใช้แนวทางเหมือน กมธ.ยกร่างฯชุดที่ผ่านมา เนื่องจากหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย
กรธ.ยังไม่สรุปที่มา"ส.ส.-ส.ว."
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่อง ที่มา จำนวน คุณสมบัติวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่วุฒิสภายังไม่เสร็จ ขณะนี้มีหลักการเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการให้พรรคการ เมืองเข้ามาครอบงำ โดยแนวคิดที่คาดว่าจะไม่เอา คือ ไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงเพราะจะมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องเนื่องจากผู้สมัคร ส.ว.จะต้องไปหาเสียงและยังไม่ต้องการระบบสรรหา เนื่องจากทำให้เกิดความไม่ประทับใจเพราะผ่านการเลือกเพียงไม่กี่คน ดังนั้นทางออกที่คาดว่ากรธ.จะเลือกใช้มีแนวโน้มอาจจะเลือกตั้งทางอ้อม โดยรูปแบบกำลังพิจารณาอาจเป็นการคัดเลือกในกลุ่มสังคมพื้นที่ ให้มีการคัดเลือกกันเอง เป็นต้น
นายอุดม กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเรื่องการคำนวณเพื่อปรับจำนวนสมาชิก ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนที่นั่งหรือโอเวอร์แฮง 150 ที่นั่ง ให้สอดคล้องกับสัดส่วนที่ได้รับ โดยขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะไม่ปล่อยไหลจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 ที่นั่ง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนและเป็นจารีตมานานแล้วที่มีจำนวน ส.ส.แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเป็นห่วงใยกรณีพรรคที่ได้คะแนนส.ส.เขตมาก แต่เมื่อไปคำนวณใน ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับทำให้ได้ที่นั่งในภาพรวมน้อยกว่าพรรคที่ได้คะแนน ส.ส.เขตต่ำกว่า เนื่องจากพรรคแรกได้สัดส่วนเพียงพอแล้ว ดังนั้นกรธ. ต้องไปคำนวณหาวิธีการให้ได้ความเป็นธรรมมากที่สุด
พท.ชี้ 10 ข้อคสช.เหมือนใบสั่ง
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณี คสช.ส่งข้อเสนอ 10 ข้อถึง กรธ.ว่า ใน 10 ข้อนี้ก็มีบางประเด็นที่เป็นเหมือนใบสั่ง เช่น หากบ้านเมืองเกิดปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมือง รัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติช่องทางผ่าทางตันเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย หรือการเกิดปัญหาสุญญากาศด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น เท่ากับว่ายังห่วงอยู่ว่าจะมีวิกฤตของประเทศจนแก้ไม่ได้ ความจริงถ้าหากเรายึดหลักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเมื่อเกิดวิกฤตก็คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ ก็จะสามารถผ่านไปได้ แต่ที่ผ่านมาคนไปสร้างวิกฤตให้เลือกตั้งไม่ได้
"หรือเรื่องนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐการใช้กำลังทหารโดยสุจริต เพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญาและทางปกครอง อันนี้ไม่เห็นจำเป็นต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ เพราะหากทำหน้าที่โดยสุจริตก็จะได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ดังนั้นการเขียนแบบนี้ส่อเจตนาบางอย่าง แล้วใครจะเป็นคนตัดสินว่าแบบไหนสุจริต แบบไหนไม่สุจริต ข้อเสนอของ คสช.อาจเป็นธงในใจให้ กรธ. วันนี้ก็มีธงตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 อยู่แล้ว อันนี้จะกลายเป็นธงนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญเข้ามาอีก ซึ่งก็อาจจะทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์และสับสนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จึงได้เสนออะไรแบบนี้" นายสามารถกล่าว
จาตุรนต์ติงเลิกส.ว.เลือกตั้ง
วันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักไทย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็น กรณีข้อเสนอของกรธ.เกี่ยวกับที่มาของส.ว. โดยระบุว่าจะไม่เหลืออำนาจไว้ให้ประชาชนบ้างเลยหรือ กรธ.กำลังจะทำสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มากด้วยการอ้างเหตุผลง่ายๆเหมือนการร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องใช้หลักการหรือความรู้อะไรกันเลย กรธ.บอกว่าการให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งคงเป็นทางเลือกสุดท้าย มิฉะนั้นจะมีที่มาเหมือนกับส.ส. ทั้งๆที่ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่ไหนที่บอกว่าส.ว.กับส.ส.ต้องมีที่มาที่ต่างกัน และตามหลักประชาธิปไตยแล้ว ถ้าส.ว.จะมีอำนาจมากๆ ต้องมาจากประชาชน คือ มาจากการเลือกตั้ง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กรธ.กระโดดข้ามไปทึกทักเอาดื้อๆ ว่าถ้าอย่างนั้นจะตัดอำนาจ ส.ว.ออก คือ ไม่ให้มีอำนาจในการถอดถอนอย่างที่เคยมีมา ฟังดูก็ง่ายดี แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น ที่ผ่านมาส.ว.มีอำนาจสำคัญๆ หลายอย่าง ทั้งที่เป็นอำนาจของส.ว.เองตามลำพังและในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภา เช่น การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การเห็นชอบในการที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายสำคัญในด้านการต่างประเทศ การยับยั้งหรือไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติ และส.ว.ยังมีอำนาจเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกจำนวนมากด้วย ถามว่า ส.ว.ที่จะมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่นี้จะมีอำนาจเหล่านี้หรือไม่ คาดว่ากรธ.คงจะบอกว่ามี ซึ่งจะมีปัญหาไปแบบหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีต้องถามต่อว่าแล้วจะเอาอำนาจเหล่านั้นไปยกให้ใคร
เตือนกรธ.ทำผิดหลักถ่วงดุล
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ยังไม่นับว่า เรายังไม่รู้ว่าพอไปถึงเรื่องคปป.เจ้าปัญหา กรธ.จะเขียนให้ส.ว.มีอำนาจตั้งกรรมการในคปป.หรือไม่ และจะให้สามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปและการปรองดองได้เองหรือไม่ด้วย ส่วนที่บอกว่าจะเอาอำนาจในการถอดถอนไปยกให้ศาลนั้น ฟังเร็วๆ ก็เหมือนไม่น่ามีปัญหา แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่มาก คือ เป็นเรื่องที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงหลักการและระบบเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งหลายเลยทีเดียว ในรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ฉบับที่ผ่านมา ส.ว.ไม่ได้มีอำนาจถอดถอนเฉพาะนักการเมือง แต่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในองค์กรตามรัฐธรรมนุญ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการด้วย
"ที่เขากำหนดไว้อย่างนี้เพราะเป็นการให้อำนาจแก่รัฐสภา ซึ่งทั้งหมดหรือส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การถอดถอนนี้เป็นคนละเรื่องกันกับการตัดสินลงโทษ ผู้กระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาล การที่กรธ.จะเอาอำนาจถอดถอนซึ่งพึงเป็นของรัฐสภาไปยกให้ศาล จึงเป็นการผิดหลักการถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งหลายและเป็นการยึดเอาอำนาจไปจากประชาชน" นายจาตุรนต์ระบุ
มาร์คแนะเขียนให้ชัดปม"คนนอก"
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวทางที่ กรธ. จะกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ ว่า กรธ.คงกังวลประเด็นที่ว่าถ้ามีแต่ส.ส.เป็นนายกฯ จะแข็งตัวไปหรือไม่ จึงคิดว่าเปิดช่องให้คนนอก พอเปิดช่องให้คนนอกนั้นถ้าจะทำโดยอ้างว่าอาจจะมีเงื่อนไขหรือเหตุการณ์พิเศษก็ควรจะทำแบบที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิ การยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยทำ คือ กำหนดว่ามันต้องมีเงื่อนไขพิเศษ แต่กรธ.ไม่ได้ทำ จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าที่ให้มีนายกฯคนนอกนั้นเตรียมสืบทอดอำนาจใช่หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวตนเห็นควรว่า 1.ยืนยันหลักการก่อนว่านายกฯ ต้องมาจากส.ส. 2.มีข้อยกเว้นให้นายกฯมาจากคนนอกได้ในกรณีไหนได้บ้าง และ 3.ถ้าอยากจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองเอาคนไปหลบๆ ซ่อนๆ แล้วอยู่ดีๆ กลับขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับพรรคการเมืองในเรื่องนั้นไป คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด แต่ถ้าวางอยู่อย่างนี้คงจะขัดแย้งกันมาก เพราะยังไม่เห็นว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะลดราวาศอกในเรื่องนี้ ตนเคยบอกว่า กรธ.ชุดนี้ทำงานเราไม่ค่อยเห็นการไปตอบโต้กล่าวหากัน แต่พอมาถึงประเด็นนายกฯคนนอก เริ่มจะมีลักษณะของการตอบโต้ในเชิงกล่าวหากันไปกันมา ซึ่งจะทำให้บรรยา กาศไม่ดี การพยายามจะทำอะไรที่แตกต่าง แล้วเป็นการเปิดช่องก็จะเกิดการโต้แย้งกัน
วิทยาเชื่อข้อเสนอคสช.บริสุทธิ์ใจ
นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท. กล่าวกรณี คสช.มีหนังสือถึง กรธ. เสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.ส่งข้อเสนอแนะอย่างตรงไปตรงมาถึงกรธ. ข้อเสนอส่วนใหญ่ถือว่าเป็นหลักการทั่วไปของการร่างรัฐธรรมนูญ ตนไม่มองว่าเป็นการชี้นำ เนื่องจากกรธ.ต้องรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ทั้งจากประชาชน สนช. และองค์กรอื่นๆ ซึ่งคสช.ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีสิทธิ์ส่งความเห็นไปยังกรธ. เพราะมีความรับผิดชอบเยอะ การส่งความเห็นไปยังกรธ.จึงเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนข้อเสนอที่ให้นายกฯ มีวาระ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระนั้น เป็นข้อเสนอที่เคยมีการพูดคุยกันหลายรอบแล้ว เป็นแนวทางหนึ่งที่กรธ.ต้องพิจารณาว่าจะกำหนดอย่างไร
เมื่อถามว่า การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มาจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง เป็นการเปิดช่องเพื่อเป้าหมายอะไรหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า คงไม่มีอะไรแอบแฝง เป็นเพียงข้อคิดเห็นโดยสุจริตข้อหนึ่งเท่านั้น
ส่อง 10 ข้อเสนอ'คสช.' บอกอะไร ความหมายอย่างไร
หมายเหตุ - มุมมองจากภาคส่วนต่างๆ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
จตุพร พรหมพันธุ์
ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ข้อเสนอของ คสช.มีใจความสำคัญอยู่ข้อ 5 ถึงข้อ 10 สะท้อนให้เห็นว่าเป้าประสงค์ที่แท้จริงอยู่ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เป็นเรื่องของ คสช.โดยเฉพาะ สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญโดย คสช. เพื่อ คสช. เพราะ คปป.ก็คือ คสช.ที่ย้ายที่ทำการเท่านั้นเอง ส่วนประเด็นข้อเสนออื่นเป็นการคุ้มครองการกระทำความผิดของทหารตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต เรียกว่าการอภัยโทษล่วงหน้า
สรุปว่าทั้ง 10 ข้อที่ คสช.เสนอ ไม่มีประเด็นใดอธิบายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อประชาชนเลย ตัวอย่างเช่น
ข้อ 7.ถือเป็นการคุ้มครองการกระทำของทหารตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2553 ตลอดจนไปถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะกฎหมายบ้านเมืองตามปกติก็มีอยู่แล้วว่าใครมีอำนาจกระทำการอย่างไรก็ให้นิรโทษกรรมหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป แต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำในอนาคตด้วย
ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับพม่าเรียกพี่ เพราะพม่าปกครองด้วยระบบเผด็จการยาวนานกว่า 50 ปี แต่บางเรื่องสู้ประเทศไทยไม่ได้ และคงคาดไม่ถึงว่าไทยจะกล้าเสนอสิ่งเหล่านี้ให้คนร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา จะเห็นว่าข้อเสนอที่ 5 ถึงข้อ 10 เป็นเจตนารมณ์ชัดเจนของ คสช.ที่ไม่ต้องคืนอำนาจ แล้วยังเพิ่มอำนาจให้ตัวเองอีกต่างหาก
ข้อ 8.ถือเป็นการบอกเจตนาชัดเจนว่า รัฐบาลในอนาคตถ้าไม่ใช่นายกฯคนนอกก็จะต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของทหารและข้าราชการซึ่งก็ถือว่ามีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับประชาชนอยู่แล้ว แต่ว่าในปัจจุบันที่ไม่มีรัฐบาล สิทธิเสรีภาพของข้าราชการกับทหารก็มากกว่าประชาชนหลายเท่าอยู่ดี ดังนั้นเรื่องทั้งหมดคือการข่มขวัญทางการเมืองว่า ถ้าไม่เอาตามนี้ก็ไม่มีการเลือกตั้ง และหากมีการเลือกตั้งก็ต้องได้นายกฯคนนอก หากยังไม่ได้นายกฯคนนอกก็ต้องมี คปป.แน่นอน
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ข้อที่บอกว่าถ้าทหารใช้กำลังโดยสุจริตไม่ผิด มองว่าถ้าใช้กำลังตามกฎหมาย ไม่ต้องเขียนอะไรไว้ ก็ไม่ผิดอยู่แล้ว เพราะเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ทำโดยสุจริตไม่ต้องรับผิดอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องสิทธิทหารให้เท่าเทียมกับประชาชน ก็มีสิทธิอยู่แล้ว แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารมีข้อบังคับอยู่ จึงเหมือนจะให้รับรองว่าให้ทหารออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองได้เหมือนกับประชาชน เช่น กรณีเคยมีนายทหารนอกราชการแต่งเครื่องแบบเต็มยศขึ้นไปกล่าวปราศรัยบนเวทีการชุมนุม
ความจริงโดยหน้าที่ของทหารก็ขัดแย้งกับหลักการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในระบอบประชาธิปไตยที่ถือกันเป็นสากล โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จะมีหลักอยู่ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจพลเรือนจะต้องเป็นอำนาจที่อยู่เหนือทหาร การให้ทหารมีสิทธิเสรีภาพอย่างที่ว่าเป็นการขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ต้องการให้ทหารมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เช่น สหรัฐ เมื่อออกนอกราชการแล้วจะเข้าสู่การเมืองยังใช้ยศไม่ได้ ต้องเป็น "นาย" ทั้งหมด
สำหรับข้อที่บอกว่าต้องสร้างให้พลเมืองเป็นใหญ่อย่างแท้จริง อาจมีอะไรแอบแฝงอยู่ตรงนั้น คำว่า "เป็นใหญ่อย่างแท้จริง" มีความหมายแฝงอยู่ คือสามารถออกมาปิดกรุงเทพฯหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นคิดว่าขัดกับหลักประชาธิปไตย เพราะเป็นอนาธิปไตย
จริงๆ แล้วการที่ประชาชนเลือกว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็คือการใช้อำนาจที่เป็นใหญ่โดยแท้จริงอยู่แล้ว หากรัฐบาลใช้ไม่ได้ ลุแก่อำนาจ เลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนก็ไม่เลือก
นี่คือความเป็นใหญ่ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องไปเขียนอะไรมาก
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์
ข้อเสนอนี้สะท้อนว่า คสช.ตั้งใจรักษาฐานอำนาจต่อไปแน่นอน เป็นการพยายามบอกว่าเมื่อมีทางตันของประชาธิปไตยตามระบบปกติ จะเปิดช่องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงได้ หากเป็นประเทศอื่นเมื่อถึงทางตัน วิธีการที่ง่ายที่สุดคือจัดให้มีการเลือกตั้ง
ติดใจข้อที่ว่า เมื่อระบบการเมืองถึงทางตัน ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้มีทางออก อันนี้คู่กับข้อที่บอกว่าต้องเปิดโอกาสให้ทหารหรือข้าราชการสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เท่ากับเป็นการเปิดช่องไว้ให้ โดยพยายามเพิ่มอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย
หรือกรณีข้อ 7 จับใจความได้ว่า เอา ม.44 ไปไว้ในรัฐธรรมนูญนั่นเอง และเป็นการทำ ม.44 ให้ชัดขึ้น เมื่อรวมกับเจตจำนงในการลดอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้อำนาจทางการทหารรวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีบทบาทในการควบคุมประชาชนในการเมืองเยอะขึ้น
ส่วนข้อที่พูดถึงพลเมืองเป็นใหญ่เป็นแค่โวหาร แต่ถ้าสังเกตคำที่ใช้จะตลกมาก คือ "ต้องเป็นอิสระจากนักการเมือง สามารถตรวจสอบนักการเมือง" เป็นการโยนแพะให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นการมุ่งไปหาพลเมือง ชุมชน คนดี ถ้าพลเมืองเป็นใหญ่แต่ไม่มีประชาธิปไตย ก็เป็นการปกครองแบบคนดี คุณธรรมนำทุกอย่าง เป็นคำใหญ่ๆ ภายใต้ธงของอำนาจนิยม
วิโรจน์ อาลี
คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ในภาพรวมถ้าดูไล่ลงมาตั้งแต่ข้อ 1 ก็เป็นไปโดยหลักการสากล หรือข้อ 8 ก็ถูกต้องและเป็นไปตามหลักการ
แต่เมื่อไปข้อ 4 ต้องถกกันว่าหมายถึงอะไร ต้องมีความชัดเจน มีขอบเขตแค่ไหน และขัดกับหลักสากลหรือไม่ แม้กระทั่งกลุ่มของผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ยกเรื่องนี้มาพูดอยู่ตลอดว่าให้สอดคล้องกับสังคมไทย แต่บางทีก็ไม่เข้าใจ เช่น การเลือกตั้งเปลี่ยนจากระบบ 2 ใบ มาเป็น 1 ใบ ก็มีการอ้างถึงความง่าย อ้างว่าให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย ส่วนตัวก็ยังไม่เข้าใจว่าสอดคล้องอย่างไร
อีกข้อที่น่าจะเป็นปัญหาคือข้อ 6 ที่กำหนดให้มีวิธีแก้วิกฤตหรือทางตัน เข้าใจได้ว่านี่คือความต้องการของ คสช. ให้นำ คปป.กลับเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือเปล่า ทั้งที่การแก้วิกฤตมีกลไกของอยู่แล้วด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยการออกมาชุมนุมเรียกร้อง ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ที่สากลใช้โดยทั่วไป
จึงไม่เข้าใจว่าที่เสนอให้มีกลไกแก้วิกฤตเมื่อถึงทางตัน ให้คิดระบบใหม่ขึ้นมาหมายถึงอะไร หมายถึง คปป.หรือเปล่า แล้วมีความจำเป็นอย่างไร ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือ
ทั้ง 2 ข้อนี้มองว่าจะเป็นหัวใจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในอนาคต ส่วนข้ออื่นเป็นไปตามปกติ ถือว่าถูกต้องตามหลักการ
วิทยา แก้วภราดัย
สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และแกนนำ กปปส.
เป็นเรื่องดีที่ คสช.ส่งข้อเสนอแนะอย่างตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่เป็นหลักการทั่วไปของการร่างรัฐธรรมนูญ และไม่มองว่าเป็นการชี้นำ คสช.ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีสิทธิส่งความเห็นไปยัง กรธ. เพราะมีความรับผิดชอบเยอะ ส่วนข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระนั้น เป็นข้อเสนอที่เคยมีการพูดคุยกันหลายรอบแล้ว เป็นแนวทางหนึ่งที่ กรธ.ต้องพิจารณาว่าจะกำหนดอย่างไร
หรือในกรณีข้อเสนอที่ 7 ที่มีผู้มองว่าเปิดช่องเพื่อเป้าหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ คิดว่าคงไม่มีอะไรแอบแฝง เป็นเพียงข้อคิดเห็นโดยสุจริตข้อหนึ่งเท่านั้น
สาระสำคัญในข้อเสนอแนะของ คสช.ที่เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
1.ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำกำกวม หรือมีความหมายหลากหลายแง่มุม ไม่ควรนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ
2.รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น รัฐธรรมนูญที่บัญญัติยืดยาวมีรายละเอียดมากเกินไปจะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศหรือกฎหมายย่อยอื่นๆ ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมาย
3.ควรกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายไว้ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การมีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง
4.บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมืองการปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เหมาะสมสอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม
5.การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครอง ในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้องชอบธรรม โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อนหรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
6.ปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติช่องทางเผื่อในอนาคตในการผ่าทางตันไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
7.แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ ยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
8.ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะทหารจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไป ไม่ควรถูกจำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร
9.ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเผด็จการทางการเมือง
10.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ ผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เฉียบขาดและรุนแรง