WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1เอเปก

จ่อตุลาการศาลปค. ปลัดมท. แค่รอสนช.ไฟเขียว กรธ.เปิดช่องอุทธรณ์ แผนกคดีนักการเมือง บิ๊กตู่จับเข่าเมดเวเดฟ ปูทางบินเยือนมอสโก

    'กฤษฎา บุญราช'จ่อนั่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เตรียมทิ้งปลัดมหาดไทย หลังได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ 4 ด้านเจ้าตัวยังแทงกั๊กลาออกจากเก้าอี้ อ้างยังมีเวลาตัดสินใจ เพราะขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด ด้านกรธ.เปิดช่องให้นักการเมืองที่ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน แต่ต้องมีหลักฐานพยานที่จะทำให้คดีเปลี่ยน คสช.ส่งหนังสือถึงกรธ.เสนอแนวทางร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องสั้นกระชับ ยืดหยุ่น พลเมืองเป็นใหญ่ ทหารต้องมีสิทธิ์มีเสียงเช่นเดียวกับประชาชน รวมทั้งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่หากใช้กำลังโดยสุจริตโดยไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา พรรคเพื่อไทยรุมค้านส.ว.ลากตั้งทั้งหมด ระบุไม่ยึดโยงกับประชาชน เปิดช่องให้วิ่งเต้นซื้อเก้าอี้

วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9122 ข่าวสดรายวัน

เอเปก - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำนานาชาติ รวมถึงนายบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเปก ณ กรุงมะนิลา ประเทศ ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.

 

บิ๊กตู่ถกปาปัวนิวกินี-โคลัมเบีย

      เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ที่โรงแรมดุสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช.พบหารือทวิภาคีกับนายปีเตอร์ โอนีล นายกรัฐมนตรีรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 23

     ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯกล่าวยินดีและพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และสนับสนุนปาปัวนิวกินี ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้องในปี 2561 และไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะการประมง และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านเกษตร ซึ่งนายกฯปาปัวนิวกินี เห็นความสำคัญของสินค้าการเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าว และสนใจจะขอคำแนะนำปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวของปาปัวนิวกินี

     ทั้งนี้ นายกฯขอบคุณปาปัวนิวกินี ที่สนับสนุนสั่งซื้อข้าวจากไทย และขอให้มั่นใจในคุณภาพข้าว และไทยยังมีสินค้าเกษตร ประเภทอื่นๆ ที่ขอให้ปาปัวนิวกินีพิจารณาสั่งซื้อเพิ่มเติม ในตอนท้าย นายกฯทั้งสอง ยังต่างเชิญชวนเยือนประเทศในโอกาสแรกที่สะดวก

      ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่ชั้น 27 โรงแรมไดมอนด์ พล.อ.ประยุทธ์ พบหารือทวิภาคีกับนายฆวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีสาธารณรัฐโคลัมเบีย โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ร่วมหารือด้วย โดยนายกฯ กล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจว่า ไทยพร้อมส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับโคลัมเบียในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ ขอเชิญชวนผู้แทนภาคธุรกิจโคลัมเบียเยือนไทยด้วย

ร่วมหารือผู้นำรัสเซีย-เม็กซิโก

     เวลา 15.00 น. ที่ห้อง Reception Hall ชั้น G ศูนย์การประชุม PICC พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมหารือระหว่างผู้นำเอเปกกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก(ABAC) จากนั้นเข้าร่วมหารือกลุ่มย่อย ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ไทยอยู่ในกลุ่มที่ 3 โดยนายกฯ ร่วมหารือกับผู้นำจากรัสเซีย เม็กซิโก เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง และพบกับสมาชิก เอเปก ซึ่งเป็นผู้แทนธุรกิจจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

      พล.ต.วีรชน เผยว่า นายกฯร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย โดยผลักดันนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ และเห็นพ้องกับเอเปกในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ผ่านกิจกรรมส่งเสริมขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งลงทุน การเข้าถึงตลาด และการปกป้องนวัตกรรม

ถกเมดเวเดฟปูทางเยือนมอสโก

      เวลา 18.00 น. ที่โรงแรม Crown กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ พล.อ.ประยุทธ์ พบปะหารือทวิภาคีกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกฯรัสเซีย ในโอกาสการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 23 โดยกล่าวว่าเตรียมเยือนรัสเซีย ช่วงพ.ค.ปีหน้า ตามคำเชิญของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อสานสัมพันธ์ 120 ปีไทย-รัสเซีย

      ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณนายปูติน ที่ฝากนายกฯรัสเซีย เชิญไปเยือนรัสเซีย พ.ค. 2559 และเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และตั้งเป้าหมายจะสร้างความสัมพันธ์ต่อไปอีก 120 ปีข้างหน้าในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปีจะมอบหมายให้รองนายกฯแต่ละด้านทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเยือนรัสเซียเพื่อเจรจาด้านการค้าการลงทุนให้มีผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้ในช่วงไปเยือนพ.ค.สามารถทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกันได้

เร่งรัดเบิกจ่ายตำบลละ 5 ล้าน

     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลหรือ (กขร.) ว่าที่ประชุมย้ำให้ทำความเข้าใจกรอบการทำงานระหว่างรัฐบาลกับกระทรวงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลในระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ต.ค.-ก.ค. 2560 เพื่อเชื่อมต่อการขับเคลื่อนและการปฏิรูป โดยให้ทุกกระทรวงทำแผนยึดโยงการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมติ ครม.แบ่งเป็น 4 ช่วง ซึ่งทุกหน่วยงานต้องส่งเอกสารภายในวันที่ 14 ธ.ค.นี้

     นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนการใช้จ่าย งบประมาณภาครัฐและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะนี้สามารถเบิกจ่าย งบประมาณเกินเป้าไปแล้วกว่าร้อยละ 3.6 และกำชับในเรื่องงบลงทุนที่ต้องเร่งรัดเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงินงบประมาณ 39,000 ล้านบาท มีการส่งคำขอมาแล้ว 36,000 ล้านบาท จัดสรรไปแล้ว 23,000 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องเร่งรัดเบิกจ่าย งบประมาณต่อไป

เตรียมตีปี๊บผลงานรัฐบาลธ.ค.นี้

     นายสุวพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการหารือถึงเตรียมการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลว่า จะจัดขึ้นใน 21,23,24 ธ.ค.นี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กำหนดการณ์ที่แน่ชัดต้องรอการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง โดยวันแรกจะมีการจัดนิทรรศการจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

     ทั้งนี้ นายกฯจะกล่าวเปิดงานและจะให้รองนายกฯในแต่ละด้านทยอยแถลงผลงานในส่วนที่ได้รับผิดชอบ และจะเลี้ยงอาหารกลางวันและเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถาม ข้อสงสัยกับผู้แถลง และวันสุดท้ายนายกฯ จะกล่าวสรุปและร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับสื่อมวลชน ขณะนี้มีการจัดเตรียมเอกสารเสร็จสิ้นแล้ว อีกทั้งจะมีการจัดพิมพ์เเอกสารดังกล่าวแจกจ่ายไปยัง สนช. สื่อ มวลชน และประชาชน เนื้อหาจะครอบคลุมนโยบายทั้ง 11 ด้านที่รัฐบาลดำเนินการมาตลอด 1 ปี โดยจะพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ส่วนจะมีการแถลงผลงานต่อ สนช.อย่างเป็นทางการหรือไม่นั้นจะต้องหารือ วิปสนช.อีกครั้ง

โฆษกพท.ถูกทหารเรียกพูดคุย

      เมื่อเวลา 14.40 น. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์หลัง คสช.เรียกไปพูดคุยที่กองทัพภาคที่ 1 ว่า ที่มีข่าวว่าถูกเรียกปรับทัศนคติคงไม่ถึงขั้นนั้น เรียกว่าเป็นการไปพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมาตนกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลตน จะพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมถึงการขอเดินทางไปต่างประเทศกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

      วันเดียวกัน พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ อาตมาเดินทางไปร่วมงานถวายกฐินที่วัดในต่างประเทศ แต่เมื่อช่วงประมาณวันที่ 16 พ.ย.2558 ทราบจากพระอาจารย์เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีทหารประมาณ 10 กว่านาย มาขอพบอาตมาที่ทำงานในมหาจุฬาฯ ไปเช้าและบ่าย 2 รอบ โดยเจ้าหน้าที่สอบถามว่ามีธุระใด ทหารตอบว่า มานิมนต์อาตมาไปฉันเพล แต่อาตมาไม่อยู่


เอเปก - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับประธานาธิบดีเจือง เติ๋น ซาน ผู้นำเวียดนาม ระหว่างประชุมเอเปก ประจำปี 2558 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.

ทหารบุกพบ"เจ้าคุณประสาร"

    พระเมธีธรรมาภรณ์กล่าวต่อว่ารู้สึกแปลกใจที่มีทหารเข้ามาขอพบ โดยไม่แจ้งรายละเอียดล่วงหน้า หรือแจ้งกำหนดการนิมนต์อย่างละเอียด แจ้งแต่เพียงจะนิมนต์ไปเท่านั้น โดยไม่บอกเจ้าหน้าที่ว่าจะนิมนต์ไปฉันเพล ที่ใด ใครเป็นผู้นิมนต์ หรือว่ามาจากหน่วย งานใด

     "อาตมาไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และไม่คิดว่ามีปัญหากับกลุ่มบุคคลใดทั้งสิ้น แม้ว่ากลุ่มองค์กรพุทธฯ ประกอบด้วย ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) และสภาพุทธบริษัท จะเดินหน้าให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเราคิดว่าการดำเนินการขององค์กรพุทธฯ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เราทำเพื่อส่วนรวมทั้งสิ้น ไม่มีปัญหา อาตมาไม่หนีอยู่แล้ว เสร็จธุระกฐินกลับมหาจุฬาฯ ก็ยินดีพบกับทหาร ต่างคนต่างทำหน้าที่ มีอะไรไม่เข้าใจยินดีคุยกัน" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว

เพื่อไทยตอกกลับ"หมอวรงค์"

    วันเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวว่า เป็นไปตามคาดที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบิดเบือนสังคม แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยอาศัยศาลปกครองเป็นที่พึ่ง ตามเจตนาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยต้องการ แต่ยังดาหน้าใช้ทฤษฎีปลูกฝังชุดความคิด ตีซ้ำๆ ล่าสุด นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ ก็บิดเบือนโดยชี้ให้เห็นตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถูกดำเนินคดีจากการกำกับนโยบาย แค่ประเด็นสำคัญที่นายวัฒนา ยกตัวอย่างก็รับรู้แล้วว่านายวัฒนา อ่านกฎหมายไม่ครบทุกมาตรา นำมาบิดเบือนสังคมซ้ำๆ เพื่อให้รู้สึกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

     นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนพ.วรงค์ ระบุน.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่เข้าใจว่าอำนาจตุลาการเหนืออำนาจรัฐบาล และบอกว่าได้ปล่อยปละละเลยให้มีการโกงในโครงการจำนำข้าว ชอบท่องคาถาข้าวหาย-ข้าวเสีย-ข้าวเน่า พร้อมลามถึงการซื้อขายแบบจีทูจี ทั้งสนับสนุนรัฐบาลออกคำสั่งทางปกครองเป็นการถูกต้องว่า นพ.วรงค์ต่างหากที่ไม่ยอมเข้าใจว่าการใช้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ถูกต้อง เป็นกระบวนการผิดปกติ ที่จะออกคำสั่งมาบังคับอดีตนายกฯ ชดใช้เงินค่าเสียหาย เพราะเป็นคนกำหนดนโยบาย ทำไมไม่ฟ้องร้องทางแพ่ง

      ส่วนที่บอกปล่อยปละละเลยนั้น นายสมคิดกล่าวว่าก็ไม่จริง เรื่องนี้ได้มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด มีการจับกุมเกือบสามร้อยคดี ส่วนเรื่องข้าวหาย ข้าวเสีย ขอบอกว่ามีคนรับผิด เช่น เจ้าของโกดัง บริษัทประกันภัย แม้กระทั่งธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกัน มีกระบวนการของมันอยู่แล้ว ส่วนการขายข้าวจีทูจี รัฐบาลทุกรัฐบาลก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และยังอยู่ในศาล

ป.ป.ช.ตั้งกก.ไต่สวนเช็ค 9.6 หมื่นล.

      รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณีไต่สวนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รอบใหม่ กับบริษัทจีน 4 แห่งโดยมิชอบ ซึ่งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นถูกกล่าวหาว่า เบื้องต้นคณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบแคชเชียร์เช็ค 1,822 ใบ รวมมูลค่ากว่า 96,390 ล้านบาท ที่พบว่าเป็นเอกสารชำระหนี้ ไม่ได้มีการขายข้าวส่งออกต่างประเทศ หรือทำจีทูจีจริงเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสืบเส้นทางการเงินว่า แคช เชียร์เช็คเหล่านี้เป็นของใครบ้าง และบุคคลที่มีพฤติการณ์เหล่านี้ในอดีตเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ หากพบว่าเป็นของใคร หรือบุคคลที่มีพฤติการณ์ในอดีตเป็นคนกระทำอีก จะอายัดแคชเชียร์เช็คเหล่านั้นทันที ทั้งนี้ ต้องรอผลการลงมติของคณะอนุกรรมการไต่สวนในเร็วๆ นี้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้ ตรวจสอบพบว่า มีเอกสารการชำระหนี้ที่ไม่ได้ขายข้าวส่งออกต่างประเทศ แต่กลับมีการซื้อขายข้าวในประเทศไทย เป็นแคชเชียร์เช็ค 1,822 ใบ วงเงินกว่า 96,390 ล้านบาท พร้อมดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นแคชเชียร์เช็คจากใคร มาจากธนาคารไหน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจีน 4 แห่งอย่างไร

ตั้งอนุฯไต่สวน 4 บริษัทเอกชนด้วย

      สำหรับ กรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังการไต่สวนคดีของนายบุญทรง กรณีระบายข้าวแบบจีทูจีโดยมิชอบ โดย ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งมีนางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวเป็นผู้เสนอ และมีนายบุญทรง เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ กับ 1.บริษัท Haikou Liangmao Cereals and Oils Trading Co.,Ltd. ปริมาณ 3 ล้านตัน 2.บริษัท Haikou Liangyunlai Cereals and Oils Trading Co.,Ltd. ปริมาณ 2 ล้านตัน 3.บริษัท Hainan Province Land Reclamation Industrial Development ปริมาณ 4 ล้านตัน และ 4.บริษัท Hainan Land Reclamation Commerce and Trade Group Co.,Ltd. ปริมาณ 5 ล้านตันนั้น

       ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าว มิได้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้ทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี แต่กระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตตามกฎหมายอื่น เห็นควรไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 โดยตั้งนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการไต่สวนฯ

คสช.แนะกรธ.เขียนรธน.ชัดเจน

     ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีหนังสือด่วนที่สุดที่คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่องขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. โดยมีเนื้อหาดังนี้ 1.ตามที่กรธ.มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่กรธ.จะนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป 2.คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้

2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุมหรือกำกวม อาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณี ไม่ควรนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ

อย่าเขียนให้ยาว-แต่ต้องยืดหยุ่น

2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น รัฐธรรมนูญที่บัญญัติยืดยาว มีรายละเอียดมากเกินไปจะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้นและจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร เพราะบทบัญญัติซึ่งมีรายละเอียดฟุ่มเฟือยเกินไป อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เกิดมีการแก้ไขบ่อยจนเกินไปจนดูเสมือนหนึ่งเป็นกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองอื่นๆ สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศหรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญจะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญในความเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ


รวมญาติ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อุ้มหลานถ่ายภาพกับขันโตกอาหารพื้นบ้านภาคเหนือ ระหว่างร่วมงานเลี้ยงรวมญาติ ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค เมื่อวันที่ 18 พ.ย.

2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้กำลัง อันไม่เป็นที่นิยมของนานาอารยประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง โดยเฉพาะการปฏิวัติและรัฐประหาร

พลเมืองเป็นใหญ่กว่านักการเมือง

2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวน การการเมืองการปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสมสอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองและอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ

2.5 การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริงในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครอง ที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อนหรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น หลังเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุน สร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง

ต้องมีทางออกเมื่อการเมืองตีบตัน

2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤตหรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอและรัฐธรรม นูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคต ผ่าทางตันเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศ ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพื่อให้การบริหารดำเนินการต่อไปได้อย่าง ต่อเนื่อง

2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ ยังต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโน โลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆด้าน เช่นเดียวกับประชาชน ไม่ควรถูกจำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพเป็นข้าราชการทหาร

นายกฯวาระ 4 ปี-ห้ามเกิน 2 วาระ

2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกฯ มีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือเผด็จการทางการเมืองและสอดคล้องกับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในระบอบประชาธิป ไตยของอารยประเทศ

2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ

คดีการเมืองอุทธรณ์ได้-ไม่เคาะส.ว.

ที่รัฐสภา นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. แถลงความคืบหน้าการประชุมกรธ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหลักการร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวดศาล ในส่วนบททั่วไป และศาลยุติธรรม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากมีความผิดคดีอาญาระหว่างดำรงตำแหน่ง ให้ส่งฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกผู้พิพากษา 9 คน มาเป็นองค์คณะ เพื่อมาตัดสินคดี โดยจะเปิดให้จำเลยอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งต้องมีประเด็นข้อกฎหมายใหม่ มีข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของมูลคดี ส่วนการพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการตุลาการยุติธรรม (ก.ต.) ที่ประชุมไม่ได้กำหนดรายละเอียด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องไปกำหนดกันเอง

นายชาติชายกล่าวต่อว่า ส่วนของที่มาและจำนวนของส.ว. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่มาส.ว. มีอยู่ 3 แนวทาง คือ การสรรหา การเลือกตั้งทางอ้อม และการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งการเลือกตั้งโดยตรง ที่ประชุมกรธ.เห็นว่าคงเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะเลือกเพราะหากให้ส.ว.เลือกตั้งโดยตรง จะมีที่มาไม่ต่างจากส.ส. อีกทั้งอำนาจของส.ว.นั้น กรธ.จะไม่ให้มีการถอดถอนทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และบุคคลในองค์กรอิสระ โดยจะให้อำนาจถอดถอนไปอยู่ที่ศาลแทน ขณะที่ส.ว.ยังคงมีอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย รวมถึงเห็นชอบแต่งตั้งองค์กรอิสระตามเดิม ทั้งนี้ ประเด็นที่มาส.ว. ที่กรธ.ใช้เวลาพิจารณานาน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน

สุชนแนะที่มาส.ว.ให้สุดโต่งเลย

นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสปท. กล่าวกรณีกรธ.มีแนวคิดให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นแนวทางสุดท้ายที่กรธ.จะเลือกว่า ตนในฐานะอดีตส.ว.เลือกตั้ง อยากให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งมากกว่าแต่งตั้ง ในสัดส่วน 120 ต่อ 80 จะเป็นสัดส่วนที่ดูยึดโยงประชาชนมากกว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่รังเกียจส.ว.แต่งตั้ง แต่หากใช้สัดส่วนที่เสนอ จะก้าวไปสู่ประชาธิป ไตยได้มากกว่า อยากให้ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน เหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ขอพบกันครึ่งทาง ไม่สูดโต่งทางใดทางหนึ่ง

ด้านนายสุชน ชาลีเครือ สมาชิกสปท. กล่าวว่า การกำหนดสัดส่วนและที่มา ส.ว. อยู่ที่ให้อำนาจมากแค่ไหน ถ้าส.ว.มาจากแต่งตั้งทั้งหมด ควรให้กลั่นกรองกฎหมายอย่างเดียว ไม่ควรมีอำนาจถอดถอน แต่ถ้ามาจากเลือกตั้งทั้งหมดก็ควรให้อำนาจถอดถอน ซึ่งที่ผ่านมาเคยใช้ทั้งหมด ทั้งส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด เลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งผสมกับแต่งตั้ง ไหนๆ จะปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็ให้สุดโต่ง ไปเลย โดยให้ใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งระหว่าง ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด กับส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด อย่าไปลอกของเก่าๆ กันมาก แต่ต้องดูเรื่องอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการถอดถอน ส่วนที่กรธ.มีแนวคิดให้ อำนาจการถอดถอน ไปอยู่ที่ตุลาการนั้นถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมามีข้อครหาว่าถอนถอนใครไม่ค่อยได้ มาตรฐานไม่ค่อยมี ใช้แต่อารมณ์เล่นพวก

พท.ระบุวิ่งเต้นซื้อเก้าอี้สนุกแน่

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ กรธ.ที่จะให้ ส.ว.ทั้ง 200 คนมาจากการแต่งตั้ง เพราะย้อนยุคกลับไปเป็นแบบเดิม คือจะมีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ส.ว.เพื่อเป็นเกียรติประวัติวงศ์ตระกูล ถึงแม้ต้องจ่ายเงิน 20-30 ล้านบาท และตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะไปเอาตัวแทนมาจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพราะจะอุปโลกน์กลุ่มตัวเองแล้วเสนอตัวเข้ามา และพร้อมทำตามผู้มีพระคุณทุกประการ ขอเพียงตัวแทนจากกลุ่มตัวเองได้เป็น ส.ว. ประเทศไทยจึงก้าวข้ามไม่พ้นปัญหาเดิมๆ

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ผ่านประสบการณ์และรู้เห็นถึงปัญหาเหล่านี้มาตลอด อยากถามนายมีชัยว่าไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่ เพื่อให้คนไทยออกมาใช้สิทธิเลือกตัวแทนของเขาเป็นส.ว.ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเลย หรือเห็นว่ามีพวกคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ว. เพราะคนพวกนี้รู้ตัวดีว่าถ้าไปลงเลือกตั้ง จะไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงมักจะกล่าวหาว่ามีการใช้เงินซื้อเสียง เป็นสภาผัวเมีย พูดใส่ร้ายดูถูกเสียงของประชาชน จึงอยากฝากนายมีชัย ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะ ส.ว.ลากตั้งไม่มีอิสระ ต้องตอบแทนบุญคุณ

เหวงก็ชี้ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช. กล่าวว่า กรธ.มีแนวโน้มจะผลักดันให้ ส.ว.มาจากการสรรหาขององค์กรวิชาชีพต่างๆ ตนขอคัดค้าน เนื่องจาก ส.ว.เป็นตัวแทนของประชาชนไทย 67 ล้านคน ไม่ใช่ตัวแทนขององค์กรวิชาชีพไม่กี่แสนคน แล้วยังมาใช้อำนาจอธิปไตยของคน 67 ล้านคน จึงเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง องค์กรวิชาชีพมีไม่ครบทุกสาขา จึงไม่สะท้อน เสียงเรียกร้องของคนไทยทั้งประเทศได้

นพ.เหวงกล่าวว่า ส.ว.ต้องทำหน้าที่นิติบัญญัติพิจารณากลั่นกรองและลงมติรับรองกฎหมายต่างๆ รวมถึงแก้ไขรัฐธรรม นูญ แต่องค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ในกรอบแคบๆเฉพาะวิชาชีพของตน จึงไม่อาจทำหน้าที่นิติบัญญัติออกกฎหมายบังคับใช้กับคนทั้งประเทศไปยาวนาน อีกทั้งส.ว.ต้องตั้งองค์กรอิสระมาตรวจสอบลงโทษรัฐบาล และต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของคน 67 ล้านคน จะเอาตัวแทนวิชาชีพระดับพันคนมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ ถ้าจะมีส.ว.ก็ต้องเลือกตั้งมาจากประชาชนทั้งประเทศโดยตรงเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ยกเลิกส.ว.ไปเลย

กมธ.ปฏิรูปประเทศตั้ง 3 อนุกมธ.

ที่รัฐสภา พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. แถลงผลการประชุมของกมธ.ว่า กมธ.ได้แต่งตั้ง อนุกมธ. 3 คณะ คือ 1.คณะอนุกมธ.โครงสร้างองค์กรภาครัฐ มีนางเบญจวรรณ สร่างนิทร เป็นประธาน 2.คณะอนุกมธ.ประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาล และการพัฒนาบุคลากร มีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกมธ.งบประมาณ มีพล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์ เป็นประธาน

พ.ต.ต.ยงยุทธกล่าวว่า การทำงานจะเน้นยกระดับการบริการของหน่วยงานภาครัฐ มีการปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมและคุ้มค่า รองรับสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย และใน 18 เดือนหลังจากนี้จะดำเนินการปฏิรูปตามแผนที่กำหนดไว้ ยึดถือแนวทางการปฏิรูปที่สปช.จัดทำไว้และยุทธศาสตร์เป็นหลัก เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีการบูรณาการในทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

กมธ.ปฏิรูปสื่อเล็งคุมออนไลน์

นายอภิชาติ จงสกุล โฆษกกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สปท. แถลงผลการประชุมกมธ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอแนวทางปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ด้านวิทยุ โทรทัศน์ ด้านโทรคมนาคม และด้านสื่อออนไลน์ ควบคู่กับแนวทางของสปช. 3 ด้าน คือ 1.เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ 2.การป้องกันการแทรกแซงและครอบงำสื่อ และ 3.การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอการปฏิรูปพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

นายอภิชาติกล่าวว่า สำหรับการปฏิรูปสื่อออนไลน์ จะต้องจัดการปัญหาด้านการขาดจริยธรรมแพร่ข้อมูลข่าวสาร บิดเบือน ให้ร้าย ปลุกระดม ที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านกลไกบังคับใช้กฎหมายและเทคโนโลยี ปัญหากลไกควบคุมอินเตอร์เน็ตอยู่ในการดูแลภาคเอกชน และปัญหานโยบายรัฐที่เน้นการขยายการใช้งานอินเตอร์เน็ต โดยขาดนโยบายป้องกันและปราบปราม

ทั้งนี้ได้ตั้งอนุกมธ. 3 คณะ ทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ ได้แก่ 1.คณะอนุกมธ.ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ มีนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด เป็นประธาน 2.คณะอนุกมธ.ด้านวิทยุ โทรทัศน์ และด้านโทรคมนาคม มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกมธ.ด้านสื่อออนไลน์ มีพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ เป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิรูปสื่อออนไลน์ ครอบคลุมเรื่องกฎหมายและในส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

เล็งหั่นปาร์ตี้ลิสต์-ส.ส.ลงอิสระได้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท. ในฐานะประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง กล่าวว่า กมธ.ด้านการเมืองได้หารือถึงแนวทางการปฏิรูประบบพรรคการเมือง และการเลือกตั้งส.ส. โดยการปฏิรูปพรรค สมาชิกเห็นตรงกันว่าควรมีแนวทางให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง และลดบทบาทการครอบงำพรรคจากนายทุนพรรค ซึ่งมีการเสนอแนวทางหลากหลายเช่น การยกเลิกส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อขจัดปัญหานายทุนพรรค การควบคุมการใช้จ่ายเงินบริจาคของพรรค หากพบว่าที่มาของเงินบริจาคไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีมาตรการลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง มีโทษสูงสุดคือการยุบพรรค

นายเสรีกล่าวว่า ส่วนการปฏิรูประบบเลือกตั้งส.ส. มีการเสนอให้ผู้สมัครส.ส.ลงในนามอิสระได้ แต่แนวทางเหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอของสมาชิก ยังไม่ใช่ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ต้องนำไปหารือกับกรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนนำกลับมาหารือที่ประชุมอีกครั้ง ส่วนวันที่ 20 พ.ย. กมธ.ด้านการเมืองจะหารือเรื่องแนวทางแก้ปัญหาการซื้อเสียง

ปลัดมท.จ่อนั่งตุลาการศาลปค.

วันที่ 18 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง ออกประกาศ ก.ศป. เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ระบุการดำเนินการคัดเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 16 ราย ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯนำรายชื่อเสนอ ขอความเห็นชอบต่อ สนช. เมื่อ สนช. เห็นชอบ นายกฯ จึงจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้ง หากดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือการใดอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ประกอบกับมาตรา 36 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ การดำรงตำแหน่ง หรือการประกอบการที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลปกครอง พ.ศ.2544 ต้องลาออกหรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพหรือการใดๆ อันมีลักษณะต้องห้ามต่อนายกฯ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ สนช.เห็นชอบ

รายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1.นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ 2.นายประสาท พงษ์สุวรรณ์ 3.นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ 4.นายกฤษฎา บุญราช 5.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์

6.นายชั่งทอง โอภาสศิริทรัพย์ 7.นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง 8.นายสุชาติ ศรีวรกร 9.นายชูชาติ อัศวโรจน์ 10.นายมานิตย์ วงศ์เสรี

11.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ 12.นางรดาวรรณ วานิช 13.นายอนุพงศ์ สุขเกษม 14.นาย กมล สกลเดชา 15.นายประนัย วณิชชานนท์ 16.นายรัฐกิจ มานะทัต

ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังทราบผลสอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้ลำดับที่ 4 ว่า ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ แม้จะสอบผ่านแล้วแต่ยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีก ทั้งการตรวจสอบประวัติ จากนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาและรับรองจาก สนช. ก่อน จึงจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อรอการโปรดเกล้าฯต่อไป อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านการพิจารณาจากสนช.ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้สอบผ่านมีเวลาตัดสินใจได้อีก 1 เดือน ดังนั้น จึงยังไม่ขอตอบว่าจะลาออกจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อไปดำรงตำแหน่งตุลาการหรือไม่ เพราะยังมีเวลาตัดสินใจ

'อจ.นักการเมือง'วิพากษ์ ที่มา ส.ว.-สูตรไหนลงตัว

      หมายเหตุ - ความคิดเห็นของนักวิชาการและอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อกรณีรูปแบบที่มาและอำนาจหน้าที่ ของ ส.ว. ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดจะตัดอำนาจการถอดถอนของ ส.ว.ออก โดยให้ศาลทำหน้าที่แทน และให้มีที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

  • มติชนออนไลน์ :

  • นิคม ไวยรัชพานิช-สิงห์ชัย ทุ่งทอง



    อัษฎางค์ ปาณิกบุตร-ชำนาญ จันทร์เรือง

    นิคม ไวยรัชพานิช
    อดีตประธานวุฒิสภา
          ส่วนตัวเห็นว่ารูปแบบแนวทางของ ส.ว.ควรใช้รูปแบบผสม คือ ทั้งแบบเลือกตั้ง และแบบสรรหา โดยให้มีจำนวนทั้งหมด 154 คน ใช้สัดส่วนที่เท่าๆ กัน คือ คนละครึ่ง ให้ ส.ว.จังหวัด 77 คน และ ส.ว.สรรหา 77 คน แบบนี้น่าจะแฟร์ๆ และยุติธรรมต่อกัน 
          กรณีที่หาข้อยุติไม่ได้ว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากการสรรหาทั้งหมด แนวทางนี้น่าจะผสมผสานไปได้ เชื่อว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นรูปแบบให้ประชาชนยอมรับได้ เพราะการมีทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา ประเทศเราก็เคยมีใช้กันมาแล้ว 

    นอกจากนี้ปัญหาที่ว่า สภาผัวเมีย นั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่พูดกันไปเอง ว่าเป็นสภาผัวเมีย มาจากฐานประชาชนเดียวกัน เรื่องนี้คนละประเด็น อย่าไปคิดว่าจะเป็นสภาผัวเมีย ตรงนี้สามารถแก้ปัญหา ระบุคุณสมบัติของผู้สมัครได้ ถ้าไม่อยากให้มีสภาผัวเมีย สภาพี่น้อง หรือแม้แต่สภาผองเพื่อนก็ตาม

    สำหรับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ต้องดูที่มาที่ไปก่อนว่า มี ส.ว.เพื่ออะไร ถ้าบอกว่ามี ส.ว.เพื่อที่จะเป็นสภาพี่เลี้ยง หรือเป็นสภาตรวจสอบแนะนำ ถ้าบอกว่าจะให้มีสภาเพื่อควบคุม ตรงนี้เห็นว่าบทบาทหน้าที่จะเลยเถิดเกินไป หรือถ้าอำนาจอาจมากเกินไป ต้องดูว่าหน้าที่ของ ส.ว.มีแค่ไหน ถ้าหน้าที่มีแค่เสนอ กลั่นกรองกฎหมายเราก็รับได้ ส่วนการกลั่นกรองการพิจารณาแต่งตั้งการได้มาขององค์กรอิสระ ก็ทำได้ แต่ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ไม่ใช่ว่าให้เขามาแต่งตั้ง ส.ว. และ ส.ว.มาแต่งตั้งเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอีก แบบนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกันก็ไม่ได้ 

    ทั้งนี้ หาก กรธ.มีแนวทางในการพิจารณาจำกัดหน้าที่ ส.ว.ไม่ให้มีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเห็นว่าช่วงที่ผมเป็นประธานวุฒิสภา ส.ว.ถอดถอนใครไม่ได้สักคน แต่ที่ถอดถอนได้ผมก็เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ซึ่งอำนาจถอดถอนอาจให้ศาลเป็นผู้รับผิดชอบก็ดี

    แนวคิดที่คล้ายๆ กับ ส.ว.ลากตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการที่คณะกรรมการแต่ละสาขาอาชีพให้คัดเลือกบุคคลเข้ามา แล้วให้ประชาชนเลือกอีกครั้งนั้น ผมเห็นว่า ไหนๆ จะให้ประชาชนเลือกเองแล้ว ทำไมไม่ให้สิทธิประชาชนในการเลือกเองโดยตรง หรือตัดสินใจเอง ถ้าประชาชนเขาต้องการอาชีพใดให้เขาเลือกเอง 

    ไม่ต้องสรรหามาให้เขาเลือก แบบนี้ถึงจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้ เพราะเราไม่สามารถระบุว่าใครจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้ นอกจากประชาชนที่เขาจะตัดสินใจเอง

    สิงห์ชัย ทุ่งทอง

    อดีต ส.ว.อุทัยธานี 

    ที่ผ่านมาผมพูดเสมอ ไม่ว่า ส.ว.จะมีที่มาจากการเลือกตั้งหรือการสรรหาไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่การกำหนดอำนาจมากกว่า ผมเห็นด้วยถ้า ส.ว.มีที่มาจากการสรรหาอย่างเดียวและมีอำนาจเป็นเพียงแค่สภาพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือ ท้วงติง เท่านั้น และตัดอำนาจในการถอดถอดนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนออกไป เพราะหากกำหนดให้ ส.ว.มาจากสรรหาทั้งหมด แล้วยังคงอำนาจในการถอดถอนไว้ จะเป็นปัญหาในอนาคตได้

    เพราะจะกลายเป็นประเด็นที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มการเมือง หรือนักการเมือง ภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ได้ เพราะเมื่อมีการถอดถอนนักการเมืองเมื่อไหร่ แม้ว่าจะเป็นการถอดถอนคนที่กระผิดจริงๆ และ ส.ว.ที่ลงมติก็ทำหน้าที่โดยไม่มีอคติแม้แต่นิดเดียว จะไม่สามารถหลีกหนีกระบวนการทางการเมือง ซึ่งเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาในการถูกโจมตีอันเป็นข้อครหาที่ว่า จ้องล้มล้าง หรือมุ่งที่จะจัดการกับนักการเมืองไปไม่ได้

    ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ กรธ.ยังคงอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลตามองค์กรอิสระไว้ เพราะถ้าที่สุด กรธ.กำหนดให้ ส.ว.มาจากการสรรหาหมด ตัดอำนาจถอดถอนออก แล้วยังคงอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลไปเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไว้ ก็เท่ากับ กรธ.ยังซ่อนอำนาจอื่นๆ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี เสมือนเป็น ศรีธนญชัย เพราะต้องยอมรับที่ผ่านมา ทั้ง ส.ว.สรรหา ทั้งบุคคลตามองค์กรอิสระ ล้วนเป็นองคาพยพเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน และทั้งหมดล้วนมีภาพที่สังคมรับรู้ว่าเป็นพวกที่มุ่งจัดการแต่นักการเมืองด้วย 

    ถ้าจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง รูปแบบ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยทำหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาเป็นสภาพี่เลี้ยง หรือสภาสูง ให้แนะนำ หรือท้วงติง งานของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากกว่า เช่นเดียวกับการเลือกองค์กรอิสระควรให้ตัวแทนของประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของการเมืองของประเทศมากกว่า

    ไม่ต้องกังวลว่า หาก ส.ว.หรือ สภาสูงท้วงติงการกระทำใดๆ ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะไม่ฟังกัน เพราะถ้าการท้วงติงนั้นเป็นไปด้วยเหตุด้วยผลแล้วเชื่อว่า นักการเมืองจะรับฟัง ไม่กล้าดำเนินการใดด้วยความประพฤติมิชอบ เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้ว อย่างเมื่อครั้งที่ ส.ว. ร่วมกันลงมติคว่ำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2556 เป็นต้น

    อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

    นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

    ถ้าเขาคิดว่า องค์กรวิชาชีพจะช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษารัฐบาลได้ น่าจะตั้งเป็นสภาเลย เป็นสภาที่ปรึกษาวิชาชีพให้รัฐบาล แล้วก็ไม่ต้องมี ส.ว. คือไม่ต้องมาเป็นนักการเมือง เป็นสภาเดียว ไม่ต้องกลั่นกรองกฎหมาย เพราะมีหน่วยงานอื่นๆ แล้ว เพียงแต่กฎหมายต้องเสนอให้สาธารณะได้รับทราบ 

    อีกทัศนคติหนึ่ง สมมุติอยากให้มติ ส.ว. มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายหรือตรวจสอบการทำงานของรัฐ ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ตราบใดที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ต้องผ่านอำนาจจากประชาชนมา หมายความว่าถ้า ส.ว. จะมีอำนาจ ต้องเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด ถ้าจะเป็นแบบผสมก็ต้องถามกันก่อนว่า กรธ. ยึดหลักประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้ายึดก็ต้องเอาหลักการ คืออำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นหลัก 

    สมมุติให้ ส.ว. ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ออกกฎหมายเองได้ ก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเพราะอำนาจเป็นของประชาชน ถ้าเป็นแบบผสม ก็ต้องไม่มีอำนาจ ถ้ามาจากสรรหาเมื่อไหร่ต้องเอาอำนาจออก ถ้าตั้ง ส.ว. แบบอังกฤษก็ให้ค่าตอบแทนเฉยๆ ไม่มีอำนาจอื่น เรียกว่าสภาขุนนาง ซึ่งตั้งเป็นพิธีการ โดยทั่วไปลักษณะแบบ 2 สภามีไม่ถึง 40 ประเทศ แต่แบบสภาเดียวมี 100 กว่าประเทศ ส.ว. ของประเทศฝรั่งเศสก็มาจากสมาชิกสภาท้องถิ่น 

    อยากแนะนำให้เอาหลักประชาธิปไตยเป็นหลัก ถ้าให้ ส.ว. มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลตรวจสอบอำนาจ ก็ต้องมาจากประชาชนเพราะใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน เมื่อเขาอยากเป็นตัวแทน ก็ต้องเลือกตั้งโดยตรง ไม่อย่างนั้นก็ตั้งสภาวิชาชีพ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ไม่มีเงินเดือน เป็นสภาที่ให้คำปรึกษาตามแต่จะถามไป แต่นี่จะไปตั้งสภาปฏิรูปประเทศ ก็ยังมีปัญหาว่าสภานี้ค้างอยู่ ต้องตัดสินใจได้ว่าเอามาเพื่ออะไร

    ชำนาญ จันทร์เรือง

    อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

    วัตถุประสงค์ของการมี 2 สภาคือกลั่นกรองกฎหมาย แน่นอนว่าเพื่อให้การผ่านกฎหมายมีความรอบคอบ เพราะกลัวว่าถ้าผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วกฎหมายนั้นเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ไม่ครบถ้วน 

    แต่มีข้อสงสัยว่า ที่มาของกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น ช่างตัดผม หมอ ซึ่งมีหลายสาขาวิชา ทั้งหมอศัลยกรรม อายุรกรรม เป็นต้น แล้วยังมีบางอาชีพไม่ได้จดแจ้งไว้อีก นี่จึงเป็นประเด็นในการคัดเลือก

    ถ้าให้ดีต้องมีการเลือกตั้งตัว ส.ว. โดยตรง และเลือกตั้งกรรมการที่จะไปคัดเลือกกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เอาคนที่มีความรู้ และกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ ต้องจัดกลุ่มให้ดี แต่เข้าใจได้ว่าจัดกลุ่มยาก ต้องทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบอย่างยิ่ง

    ที่ให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจถอดถอนคนอื่นนั้นถูกแล้ว เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือถ้าจะมาจากสรรหาก็ย่อมได้ แต่คนจะไปสรรหาต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ใช่ให้ประธานศาล 3-4 ศาลมาเลือกตั้งกันเอง เพราะนักกฎหมายไม่ได้รู้ทุกเรื่อง 

    สำหรับในต่างประเทศ แล้วแต่รูปแบบของรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นสหพันธรัฐ จะรัฐเล็กหรือใหญ่ก็มี ส.ว. 2 คนเท่ากัน อำนาจหน้าที่เทียบเท่า ส.ส. แต่บางรัฐ อย่างประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนประเทศไทย กึ่งหนึ่งก็มาจากท้องถิ่นระดับล่างขึ้นมา อีกกึ่งก็มาจากการสรรหาเลือกตั้ง แล้วแต่เราจะออกแบบวัตถุประสงค์ ส.ว. เพื่ออะไร

    apm

     

     

    Facebook

    5 ข่าวฮอตนิวส์!