- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 18 November 2015 16:50
- Hits: 3934
กรธ.เล็งเลิก สว.เลือกตั้ง บิ๊กตู่ให้เกียรติปู จวกคนใกล้ชิด
'บิ๊กตู่' ให้เกียรติ 'ปู' ตลอด แต่ซัดคนรอบข้างใช้ไม่ได้ ลั่นไม่เกี่ยวประเด็นรธน.เปิดช่องนายกฯคนนอก ย้ำไม่อยู่ต่อ กรธ.เล็งเคาะที่มาส.ว. ไม่เลือกตรง แต่คัดจากตัวแทนสาขาวิชาชีพ ครม.ตั้งกรรมการขับเคลื่อนแม่น้ำ 5 สาย แปลงนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติ มอบรองนายกฯ ขับเคลื่อน 6 กลุ่มงาน อนุมัติเกือบหมื่นล้านจ่ายค่าโง่คลองด่าน 'วัฒนา"ทำจดหมายเปิดผนึกถึง'วิษณุ' จี้ทบทวนใช้อำนาจปกครองสั่งชดใช้จำนำข้าว ป.ป.ช. เตรียมสรุปผลสอบทรัพย์สิน 5 อดีตรัฐมนตรีคดีข้าวใน 1-2 เดือน
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9121 ข่าวสดรายวัน
ลอยกระทง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พับกระดาษเป็นรูปเรือ วางไว้บนศีรษะของชุดรปภ. ระหว่างที่รมว.วัฒนธรรมรณรงค์ประเพณีลอยกระทง ที่ทำเนียบ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.
บิ๊กตู่วอนอย่าติรัฐบาลผิดหมด
เวลา 09.00 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทั้งนี้ ก่อนประชุม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นำศิลปินดาราเข้าพบนายกฯ เชิญชวนร่วมรณรงค์จัดงานลอยกระทง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เดือนนี้มีหลายกิจกรรมและจากนี้ตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.ถึงต้นปีหน้า เป็นช่วงที่คนไทยมีความสุขและเป็นฤดูท่องเที่ยว จะมีผลต่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเรื่องความปลอดภัยและความเชื่อมั่นต่างๆ อยู่ที่คนไทยทั้งหมดต้องช่วยกัน ถ้ามีเหตุผล วิพากษ์วิจารณ์อะไรก็บอกมา อะไรที่ยังไม่สมบูรณ์ก็บอกแต่อย่าเพิ่งติว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมันผิดทั้งหมด ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น แต่บางครั้งมันก็จำเป็นที่ต้องทำ จากนั้นนายกฯ พับเรือกระดาษร่วมประชาสัมพันธ์การลอยกระทงโดยกล่าวว่าพับเรือรบ
ครม.ตั้งกก.ขับเคลื่อน 5 สาย
เวลา 12.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ หลังประชุมครม.ว่า ครม.ได้หารือและเห็นชอบร่วมกันตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนจากข้างบน เขียนโครงสร้างใหม่ให้ชัดเจนขึ้น ตนต้องการให้แม่น้ำ 5 สาย ครม. คสช. กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สภานิติ บัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อยู่ข้างบนทั้งหมด ทำงานร่วมกัน ลงมาข้างล่างจะแปลงนโยบายลงสู่การปฏิบัติ คือรองนายกฯที่ดูแล 6 กลุ่มงาน ใน 6 กลุ่มนี้จะมีหน่วยงานภายใน เอาเรื่องใส่เข้าไปแต่ละกลุ่มให้รองนายกฯแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
นายกฯ กล่าวว่า จากนั้นจะลงไปข้างล่างให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ (คตร.) คอยตรวจสอบความโปร่งใสควบคู่ไปด้วย เป็นเครื่องมือของรัฐบาลและรองนายกฯนำไปขับเคลื่อนต่อ และจะมีของแต่ละกระทรวงด้วย ส่วนคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธ นะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน ก็ยังอยู่ เป็นตรงกลางคอยขับเคลื่อนแต่ละกระทรวงตามยุทธศาสตร์เร่งด่วนสำคัญ
ผุดศูนย์ว่าการอำเภอ
นายกฯกล่าวว่า ในทางปฏิบัติเมื่อเราตั้งรองนายกฯขับเคลื่อน 6 กลุ่มงาน จะมีความรับผิดชอบชัดเจนขึ้น รองนายกฯทุกคนต้องคุยกันก่อนและต่างคนต่างเสริมให้กันโดยตนต้องรู้ทุกเรื่อง ฉะนั้น ทุกคนในระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติต้องรู้เหมือนที่ตนรู้ จะได้ถ่ายทอดข้างล่าง ประชาชนจะได้เข้าใจว่าทำตรงนี้จะมีผลกับตรงนี้ ถ้าค้านตรงนี้ ตรงนั้นก็ไม่เกิด ถ้าเกิดต้องเกิดด้วยความร่วมมือของหน่วยไหนบ้าง กระทรวงต้องรู้ ประชาชนก็ต้องรู้ ต้องทำให้พื้นที่เจริญเท่าเทียมกัน เกื้อหนุนกัน จากนั้นพอลงไปข้างล่างตนจะเรียกว่าประชารัฐ จาก 6 กลุ่มงานจะโยงลงไปข้างล่างในลักษณะแนวดิ่ง บนลงล่าง ลงไปที่ผู้ว่าฯ กระทรวงมหาดไทย เขาต้องบูรณาการพื้นที่
นายกฯ กล่าววา ดังนั้น พื้นที่ข้างล่างจะมีคน 2 กลุ่ม ตนจึงสั่งการให้ตั้งศูนย์ว่าการอำเภอ ตนจะลงไปกวดขันนายอำเภอด้วย โดยศูนย์ว่าการอำเภอคือผู้รับงานจากผู้ว่าฯไปสู่การปฏิบัติ แต่รัฐบาลจะเข้าไปยุ่งมากไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้ประกอบด้วยภาคประชาสังคม กองทุนหมู่บ้าน กองทุนใหญ่ก็นำมาช่วย นักสิทธิมนุษยชนและตำรวจทหารในพื้นที่ด้วย ทั้งหมดคือกลุ่มปฏิบัติในพื้นที่ ต่อไปนี้นายอำเภอและผู้ว่าฯต้องรู้ทุกเรื่อง รู้เหมือนกันหมด รู้ทุกงานว่ารัฐบาลเดินหน้าเรื่องอะไรบ้างและอะไรเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง ทุกคนต้องร่วมมือกับรัฐ ไม่ใช่ติดนั่นติดนี่ ห่วงภาษี จะไปไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คสช.จะลงมาช่วยข้างล่าง เป็นเครื่องมือของรองนายกฯ ที่อยู่ในแต่ละกลุ่ม โดยตนเป็นประธาน ในทุกกลุ่มอยู่แล้ว ให้รองนายกฯเป็นผู้ขับเคลื่อน มีปัญหาก็แก้ให้ ฉะนั้น คสช.ต้อง จัดกลุ่มตามและลงไปดูจังหวัดและอำเภอ เป็นการขับเคลื่อนในระยะต่อไป
ยันไม่เกี่ยวปมที่มานายกฯ
นายกฯกล่าวว่า เรื่องการเป็นประชาธิป ไตยตนไม่เคยขัดแย้ง ไม่เคยรังเกียจนักการเมืองที่ดีๆ เพราะโตมากับสิ่งเหล่านี้ อยากถามว่าจะร่วมมือกับตนแค่ไหนที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ถ้าเราพูดกันเรื่องเดิมๆ กับคนเดิมๆ มันก็จะได้แบบเดิมๆ ออกมา มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และกลับไปสู่วงจรเดิม ฉะนั้นวันนี้นอกจากมากดดันให้ตนทำนั่นทำนี่แล้ว สื่อต้องไปกดดันคนที่จะมาสู่กระบวนการบริหารต่อไปด้วยว่าเขาจะทำอะไร ให้เขาพูดแบบที่ตนพูด นั่นคือสิ่งจำเป็นในนโยบายหาเสียง มากกว่าจะเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นประเด็นแล้วต้องทำตามนั้น มันไม่ใช่ นโยบายมันต้องมีหลัก รอง เสริม แล้วปัญหาหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ที่ตนเจอเป็นร้อยๆปัญหา เขาจะแก้อย่างไร
"ถ้าไปพูดกันเรื่องที่มานายกฯ มันก็ได้แค่นี้ มันจะมายังไงก็ช่างมันให้เป็นคนดีแล้วกัน ถ้ามาได้จากการเป็นส.ส.ก็ดีอยู่แล้ว แล้วใครเป็นคนเสนอ ก็พรรคทั้งนั้น ผมไม่ได้ไปบ้าบอคอแตกกับตรงนี้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นอย่าให้เขามาบิดเบือนจนเป๋ไปเป๋มา สังคมเกิดความไม่แน่ใจขึ้นว่าผมอยากจะ อยู่ต่อ ซึ่งมันไม่ใช่ คนละเรื่อง กฎหมายคือกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ผมเป็นนักการเมืองหรือไม่ เป็นพรรคหรือไม่ หรือเขาจะมาเสนอผมได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เสนอผมผมก็ไม่ไปแค่นั้นเอง เพราะผมไปไม่ได้ เขาบอกพรรคต้องเสนอไม่ใช่หรือ แล้วจะมีพรรคไหนเสนอคนอื่นที่ไม่ใช่คนของตัวเอง ไม่มีอยู่แล้ว" นายกฯกล่าว
แนวโน้มไม่ให้"พิชัย"ไปสหรัฐ
เมื่อถามว่านายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน เตรียมขออนุญาตคสช.ไปร่วมงานประจำปี ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามคำเชิญของสมาชิกสภาคองเกรส นายกฯกล่าวว่านายพิชัยต้องขออนุญาตจากคสช. ให้เขาก็ไปทวงคสช. ถ้าคสช.ยังไม่อนุญาตแสดงว่าเขาไม่อนุญาต หรืออีกอย่างคือเอกสารยังไม่ถึง หากเอกสารถึงแล้ว คสช.ยังไม่ตอบก็แสดงว่าเขาไม่อนุญาต
"ทำไมเขาเชิญมาแล้วต้องไปตลอดหรือ ถ้าอยากจะทำอย่างนั้นก็ต้องไม่ไปพูดให้เกิดความเสียหาย และต้องไม่พูดให้เกิดความเสียหายในประเทศด้วย แล้วนี่จะไปพูดให้เกิดความเสียหายในต่างประเทศหรือเปล่ายังไม่รู้ คสช.คงคิดตรงนั้น ซึ่งผมไม่รู้ เรื่องนี้คสช.เขาดูอยู่" นายกฯกล่าว
ยันให้เกียรติ"ปู"
เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯช่วงนี้ ทำให้ เสียสมาธิหรือไม่ นายกฯกล่าวว่าก็เรื่องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ให้เกียรติ เขาเป็นผู้หญิง ไม่มีมาทำลายสมาธิตนได้ จะผู้ชายผู้หญิงเหมือนกันหมด ตนกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ทำงานมาด้วยกันก็ให้เกียรติเสมอ แต่ไอ้คนรอบข้างน.ส.ยิ่งลักษณ์ บางทีก็ใช้ไม่ได้ เมื่อถามว่าเป็นการยั่วอารมณ์นายกฯหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่ยั่วหรอก ผมไม่ใช่คนยั่วง่ายอยู่แล้ว"
นายกฯพูดถึงตรงนี้สื่อและทีมงาน นายกฯพร้อมใจกันหัวเราะ พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า ทำไม ยั่วอารมณ์ ตนหมายถึงว่าอะไรจะมาทำให้ยั่วอารมณ์ไม่มี ตนมีความเป็นตัวเองพอสมควร อะไรก็ยั่วไม่ได้ แต่โมโหนั้นธรรมดาเพราะเป็นคนใจร้อน อยากให้อะไรมันเสร็จ อะไรมันเรียบร้อย แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย ความชอบธรรม ธรรมาภิบาล ตนพยายามใช้อย่างนี้มาตลอด แต่ก็ยังมีการกล่าวพาดพิงโน่นนี่ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องดูว่ากฎหมายเขียนอย่างไร ซึ่งเราต้องทำ ฉะนั้นอย่ามาอ้างในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำมาแล้วมาให้ตนทำตามที่เขาพูด การจะทำอะไรเป็นเรื่องของตน แต่ต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนเพราะมาทำให้ประชาชน
รองนายกฯคุมงาน 6 ด้าน
เวลา 13.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าครม.แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน รวม 6 คณะ ตามที่สำนักเลขาธิการครม.เสนอ ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินการ แนวทางการแก้ไขปัญหา กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินการของส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติงานตามความจำเป็น เพื่อให้การขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการในขอบเขตความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพ มีรายละเอียดดังนี้
1.คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษา มีนายกฯ เป็นประธาน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เป็นรองประธาน 2.คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การลงทุนภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน นายกฯเป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นรองประธาน 3.คณะกรรมการด้านระบบราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ นายกฯเป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นรองประธาน 4.คณะกรรมการด้านสาธารณสุข นายกฯเป็นประธาน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เป็นรองประธาน
5.คณะกรรมการด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระ เร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ นายกฯ เป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นรองประธาน และ 6.คณะกรรมการด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการกีฬา นายกฯ เป็นประธาน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯเป็นรองประธาน
ตั้ง"พะโยม"รองกพฐ.
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.เห็นชอบกรอบการเจรจาและลงนามในปฏิญญาร่วมของการประชุมอัยการสูงสุดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 9 ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) เสนอดังนี้ เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมอสส.จีน-อาเซียน ครั้งที่ 9, มอบให้สำนักงานอสส. เป็นผู้เจรจาร่างปฏิญญาร่วมฯ ภายในกรอบที่สอดคล้องกับกฎหมายภายใน, ให้อสส.เป็นผู้ลงนามในปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานอสส.รายงานในครม.ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา อสส.จีนมีหนังสือเชิญอสส.ไทยให้เข้าร่วมการประชุม อสส.จีน-อาเซียน ครั้งที่ 9 ในหัวข้อเรื่อง "ความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการติดตามเอาทรัพย์ สินคืน" วันที่ 24-27 พ.ย. ที่หนานหนิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอสส.ในประเทศอาเซียนและจีน ส่งเสริมสนับสนุนให้การทำงานของพนัก งานอัยการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะมีการลงนามในปฏิญญาร่วมของการประชุม อสส.จีน-อาเซียน ครั้งที่ 9 ในวันที่ 25 พ.ย.
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งนายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และแต่งตั้งน.ส.พรพรรณ มณีสถิตย์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรมต.ประจำสำนักนายกฯ
จ่อให้ส.ว.คัดจากตัวแทนวิชาชีพ
เวลา 15.10 น. ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสณี โฆษกกรธ. แถลงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญว่า กรธ.ได้พิจารณาประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือเรื่องของจำนวนและที่มายังไม่ตกผลึกตามที่มีข่าวออกมา ยังเป็นเรื่องของหลักการ อำนาจหน้าที่ของส.ว.โดยเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย การได้มาซึ่งองค์ประกอบขององค์กรอิสระ โดยอำนาจหน้าที่ของส.ว.ที่ คุยกันไว้อาจจะจำกัดลงมา อาจไม่มีหน้าที่ถอดถอน ดังนั้น รูปแบบการได้มาซึ่งส.ว. จะทำให้หลายคนสบายใจ เพราะที่ประชุม เห็นว่าจะไม่มีการเลือกตั้งโดยตรง แต่ยังไม่ใช่มติของที่ประชุม คาดว่าที่ประชุมจะได้มติในวันที่ 18 พ.ย.นี้
นายนรชิต กล่าวว่า กรธ.ต้องการให้ส.ว.มีอิสระ ปราศจากความครอบงำทางการเมือง ไม่เป็นสภาผัวเมีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นจริง ไม่ใช่สิ่งที่กรธ.คิดขึ้นเอง กรธ.จึงคิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้สภาผัวเมียเกิดขึ้นอีก โดยอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาระบบการได้มาซึ่งส.ว.จากทั่วโลก พบว่ามี 3 รูปแบบคือ แบบแต่งตั้งทั้งหมด แบบเลือกตั้งทั้งหมด และแบบแต่งตั้งกับเลือกตั้ง ที่ประชุมมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นลักษณะของตัวแทนวิชาชีพต่างๆ แต่วิธีการได้มายังไม่สรุปว่าจะเป็นรูปแบบใดยัง อยู่ระหว่างการหารือ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 18 พ.ย.นี้เช่นกัน ทั้งนี้ ส.ว.ตัวแทนวิชาชีพที่ระบุวิธีการที่ได้มาอาจมาจากการให้ตัวแทนวิชาชีพสรรหากันเอง หรือให้เลือกตั้งก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องกรธ.คุยกันอีกที นอกจากนี้ ที่ประชุมกรธ.ยังกำหนดให้มีสโลแกนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ"
ปชป.จวกปมนายกฯคนนอก
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ข้อเสนอของกรธ.ที่ระบุให้พรรคการเมือง ต้องมีส.ส. 5 เปอร์เซ็นต์ในมือจึงจะเสนอชื่อนายกฯต่อสภาได้ว่า น่าจะเป็นการเปิดทางให้นายกฯคนนอก คือให้พรรคต่างๆ เสนอชื่อใครก็ได้ ที่ถูกต้องคือควรให้พรรคที่มีส.ส.ในสภาเป็นผู้เสนอ และควรเสนอตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งให้ประชาชนรู้ว่าเลือกพรรคนี้แล้วจะได้นายกฯคนนี้ โดยตัวนายกฯน่าจะปรากฏโฉมตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และเมื่อเข้าสภาแล้วก็ให้เลือกนายกฯจากส.ส.ในสภา แต่หากไม่สามารถเลือกได้ด้วยประการใดก็ตามค่อยใช้นายกฯคนนอกในตอนนั้น แต่กรณีนี้นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. รวบรัดเพื่อให้เกิดนายกฯคนนอกใช่หรือไม่ ขอย้ำว่าตน ไม่เห็นด้วยกับหลักการของกรธ.ในเรื่องนี้
"วัฒนา"ร่อนจม.ถึง"วิษณุ"
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าฟังนายวิษณุแถลงเหตุผลที่รัฐบาลใช้วิธีออกคำสั่งทาง ปกครองให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพ.ร.บ. ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพราะหากใช้วิธีฟ้องคดีแพ่งธรรมดารัฐบาลจะเสียเปรียบรูปคดีนั้น ตนมีความเห็นแย้ง ดังนี้ 1.เจตนารมณ์หรือเหตุผลการออกพ.ร.บ.ความรับผิดในทาง ละเมิดฯ ในหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.คือ ต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลภายนอกในมูลละเมิด
2.จากเหตุผลดังกล่าวต้องประกอบด้วย คู่กรณี 3 ฝ่ายคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำความเสียหายให้กับบุคคลภายนอก หน่วยงานรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอก และรัฐใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้เงินดังกล่าวคืน หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (ตามมาตรา 8) แต่กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีข้อกล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้น นายวิษณุจะบอกว่าไม่ใช่คู่กรณี ไม่มีอคติ หรือไม่มีส่วนได้เสียได้อีกหรือ การมีส่วนได้เสียไม่ได้หมายความว่าเงินค่าสินไหมทดแทนต้องเข้ากระเป๋าใคร แค่พล.อ. ประยุทธ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลอดีตนายกฯ ถือเป็นคู่กรณีที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองและมีส่วนได้เสียตามกฎหมาย
ใช้คำสั่งปกครองขัดหลักนิติธรรม
3.นายวิษณุยกตัวอย่างว่ากฎหมายดังกล่าว ใช้มากว่า 19 ปี ดำเนินการกว่า 5,000 คดี ล้วนเข้าหลักเกณฑ์ที่มีคู่กรณี 3 ฝ่าย แต่กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอก แต่ถูกดำเนินคดีจากการกำกับนโยบายในโครงการช่วยเหลือชาวนา ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 4.หลักสำคัญอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม คือความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายจากผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสีย แต่การที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และเป็นคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองจะมาใช้คำสั่งทางปกครอง จึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม
5.นายวิษณุระบุเรื่องนี้รัฐดำเนินการได้ 2 ทาง คือการฟ้องคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรม ซึ่งกระทำได้และเคยทำมาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548 หากรัฐเลือกดำเนินการในทางนี้จะไม่ขัดกับหลักการที่เคยทำมา ส่วนกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์มีความแตกต่างกับคดีที่ผ่านมาสิ้นเชิง การให้ศาลยุติธรรมที่ไม่มีส่วนได้เสีย เป็นผู้พิจารณาความเสียหายจะมีความชอบธรรมกว่าการใช้บุคคลในรัฐบาลที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลก่อน มาเป็นผู้กำหนดความเสียหายและออกคำสั่งทางปกครอง เสียเอง การฟ้องคดีแพ่งไม่ทำให้ส่วนรวม เสียประโยชน์ รัฐไม่ต้องตกเป็นจำเลยและไม่ทำให้ถูกถอดถอน รวมทั้งไม่อาจถูกผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยคำสั่งทางปกครอง 5,000 คดี มาร้องขอความเป็นธรรมให้ไปฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาได้ เนื่องจากคดีเหล่านั้น สิ้นสุดไปแล้ว อีกทั้งเป็นดุลพินิจของรัฐที่ จะเลือกดำเนินการทางใดทางหนึ่งได้ ยกเว้นรัฐบาลกลัวเสียเปรียบรูปคดี เลยเลือกวิธี เอาเปรียบน.ส.ยิ่งลักษณ์แทน
ให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง
6.เหตุผลที่น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวกตน ต่อสู้ในเรื่องนี้เพื่อผดุงหลักนิติธรรม การที่ นายกฯในฐานะหัวหน้าคสช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำตามคำสั่งในโครงการรับจำนำข้าวยังไม่ทำให้นายวิษณุเห็นหรือว่ากระบวนการในเรื่องนี้มีความผิดปกติและไม่ชอบธรรม จึงต้องออกคำสั่งมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทางแก้มีอยู่แล้วคือให้เจ้าหน้าที่รวบรวม หลักฐานส่งอัยการสูงสุดให้ฟ้องเป็นคดีแพ่งในมูลละเมิด นอกจากจะลดข้อครหาในทุกเรื่องแล้ว ความจำเป็นที่ต้องพึ่งคำสั่งที่ 39/2558 ก็ไม่มีอีกต่อไป
"ผมดีใจที่ได้ยินว่าในชั้นนี้รัฐบาลจะเลือกการออกคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีเหตุผลที่ดีกว่า จึงกราบเรียนเหตุผลข้างต้นมาประกอบกับหลักการที่เคยถูกสอนมาว่า ในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายเราเรียกสังคมนั้นว่านิติรัฐ แต่กฎหมายจะต้องอยู่บนหลักนิติธรรม จึงจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายที่ถูกบังคับตามกฎหมายนั้นด้วย หาไม่แล้วการบังคับตามกฎหมายดังกล่าวจะไม่สร้างการยอมรับในกระบวนยุติธรรม แม้จะเป็นไปตามกฎหมาย แต่ยังขาดหัวใจสำคัญคือความชอบธรรม จะกลายเป็นสังคมที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ปราศจากหลักนิติธรรม ขอให้พิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้ง" นายวัฒนากล่าว
ปปช.จ่อสรุปสอบ 5 อดีตรมต.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว 5 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ว่าขณะนี้ได้ตรวจสอบทรัพย์สินเสร็จสิ้น 2-3 รายและจะสรุปสำนวน คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ น่าจะสรุปเรื่องดังกล่าวได้
สนช.ลงมติตั้ง 5 ปปช.19 พย.
เมื่อเวลา 15.45 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญกิจการ สนช.(วิปสนช.) แถลงหลังการประชุมว่า การประชุมสนช.วันที่ 19 พ.ย.นี้ มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบ 5 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป.ป.ช. ประกอบด้วย 1.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 2.นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 4.นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และ 5.พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผอ.สำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก หลังกมธ.วิสามัญตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติธรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ การพิจารณาจะมีทั้งประชุมแบบเปิดเผย และประชุมลับ โดย ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสนช.ทั้งหมด
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ในการประชุมวิปสนช.สัปดาห์หน้า จะหารือเพื่อเตรียมแก้ไขระเบียบข้อบังคับการประชุมสนช. โดยเสนอกว่า 10 ข้อ อาทิ 1.จะเพิ่มจำนวนคณะอนุกมธ.เป็น 4 คณะ จากเดิมให้แต่ละกมธ.สามัญมีเพียง 3 คณะ เนื่องจากสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่เห็นว่าน้อยเกินไป 2.แก้ไขขั้นตอนการตั้งญัตติซักถามเพื่อถอดถอนบุคคล ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมต้องยื่นญัตติซักถามก่อนวันแถลงเปิดสำนวนคดี เพราะที่ผ่านมามีการยกเว้นข้อบังคับบ่อย ให้ส่งญัตติได้หลังวันแถลงเปิดสำนวน เพื่อให้สมาชิกรับฟังคำแถลงเปิดสำนวนคดีก่อนยื่นญัตติซักถามคำถาม และ 3.ประเด็นอื่นๆ เช่น การแก้ไขชื่อกมธ.สามัญ และเสนอตั้งกมธ.วิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
"ปานเทพ"คุมกมธ.ปราบโกง
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสปท. มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธาน โดยแจ้งต่อที่ประชุมว่า การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญปราบปรามคอร์รัปชั่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน นอกจากนี้ สปท.ได้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของกมธ.ปฏิรูปชุดต่างๆ ไปยังครม.แล้ว อาทิ เรื่องรัฐวิสาหกิจ เรื่องงบประมาณ แผนเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมือง เพื่อให้ครม.ดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งขณะนี้ครม.ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวแล้ว จากนี้จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลกาดำเนินการให้สปท.ทราบต่อไป
เวลา 11.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ และคุณหญิงพญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ โฆษกสปท. ร่วมกันแถลงถึงแผนการปฏิรูปของกมธ.ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการทำงานของสปท.เข้าสู่โรดแม็ป เลข 1 ตัวที่ 2 ตาม 1+1+18 หลังจากนี้กมธ.แต่ละด้านต้องทำแผนปฏิรูปเพื่อมาเสนอต่อสปท. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ถึงวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ซึ่งร.อ.ทินพันธุ์กล่าวถึงแนวทางการทำแผนการปฏิรูปคือ 1.แผนการปฏิรูปจะต้องเป็นเรื่องที่กมธ.เห็นว่าสมควรปฏิรูป คำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิ์ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 39/2 รวมทั้งต้องระบุปัญหาต่างๆ ที่จะต้องปฏิรูป 2.วิธีการปฏิรูป กมธ.ต้องวิเคราะห์จัดทำแนวทางการปฏิรูปและแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อหนึ่ง
จี้กมธ.ทำแผนปฏิรูปสั้น-ยาว
3.จะต้องกำหนดระยะเวลาการปฏิรูปให้ชัดเจนไว้เป็น 3 ระยะ ตามหนังสือสำนัก นายกฯ ที่ นร.0404/13183 เรื่อง ดำรินายกฯเกี่ยวกับการอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน 4.แหล่งที่มาของงบประมาณ กรณีต้องใช้เงินงบฯในการปฏิรูป กมธ.จะต้องเสนอแหล่งที่มาของเงินงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และ 5.หน่วยงานที่รับผิดชอบ กมธ.จะต้องเสนอในรายงานเรื่องที่จะปฏิรูปนั้นๆ ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าแนวทางการทำแผนการ ปฏิรูปเป็นไปตามหนังสือจากสำนักนายกฯ หมายความว่ากมธ.ทั้ง 11+1 ด้าน ต้องมีแผนงานที่เป็นวาระเร่งด่วนสำหรับการปฏิรูปที่ต้องทำในรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งต้องทำแผนงานในระยะยาวเพื่อมอบให้กับรัฐบาลชุดต่อไปมารับช่วงต่อ
คุณหญิงพญ.พรทิพย์กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับรองรายงานของคณะกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองการดำรงตำแหน่งกมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 21 คน โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน และรายชื่อกมธ.อาทิ นายกษิต ภิรมย์ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายธวัชชัย ไทยเขียว นายอนุสิษฐ คุณากร นายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นต้น เน้นการขับเคลื่อนใน 3 เรื่องคือ 1.การปลูกฝังจิตสำนึก 2.การป้องกัน และ 3.การปราบปรามการทุจริต
กมธ.เศรษฐกิจตั้งอนุ 3 ชุด
ต่อมานายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สปท. แถลงว่า ที่ประชุมตั้งคณะอนุกมธ.ตามข้อบังคับสปท. พ.ศ.2558 จำนวน 3 คณะคือ 1.อนุกมธ.ด้านการเงินการคลัง มีนายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พิจารณาศึกษาการปฏิรูปเรื่องระบบภาษีอากร รายจ่าย งบประมาณ เงินกู้ และความเลื่อมล้ำในประเทศ 2.อนุกมธ.เศรษฐกิจกระแสหลัก มีนายมนู เลียวไพโรจน์ เป็นประธาน พิจารณาเศรษฐกิจด้านอุปทาน เกษตร อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และ 3.อนุกมธ.เศรษฐกิจกระแสใหม่ มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน พิจารณาศึกษาเศรษฐกิจดิจิตอล เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เศรษฐกิจเพื่อสังคม และเศรษฐกิจฐานชีวภาพ
นายสถิต กล่าวว่า การทำงาน อนุกมธ.จะคำนึงถึง 4 ประเด็นได้แก่ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำและปากท้องประชาชน และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อนุกมธ.ทั้ง 3 ต้องทำงานสอดคล้องกันและต้องต่อเนื่องกับงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้ศึกษาและส่งไปยังนายกฯด้วย
วิพากษ์พิมพ์เขียวรธน. เสียงเกิน 5%-ชงนายกฯ
- หมายเหตุ - นักวิชาการ-นักการเมืองแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุพรรคที่จะเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกฯได้ต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือ 25 คน จาก 500 คน
- มติชนออนไลน์ :
-
คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย
เห็นไหมว่าแค่เริ่มต้นก็มีปัญหาในทางปฏิบัติแล้ว ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว จะไปเขียนให้พิสดารทำไม ไม่มีประโยชน์ที่จะไปคิดแทนประชาชน เพราะเดิมก็เห็นกันอยู่แล้วว่าใครจะเป็นนายกฯ พรรคใดได้เสียงข้างมากก็เสนอปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคตัวเอง ผมคิดว่าไม่ควรใช้วิธีที่ กรธ.เสนอ อย่างไรก็ตาม วันนี้ กรธ.ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักการประชาธิปไตย แต่ร่างโดยคิดที่จะกันพรรคโน้นพรรคนี้ เลยร่างขึ้นมายาก ขอให้ กรธ.ทบทวนเรื่องนี้และร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักประชาธิปไตย อย่าคิดแทนประชาชน เพราะวันนี้ประชาชนพัฒนาไปมากแล้ว อะไรที่จะทำให้เกิดปัญหา ทำให้การปฏิบัติมันยากก็อย่าไปทำ ที่ผ่านมาดูเป็นรูปแบบมาเลย
ตั้งแต่เลือกตั้งบัตร 1 ใบ เสนอชื่อใครก็ได้เป็นนายกฯ อีกหน่อยก็เกิดพรรคนอมินีต่อมา วันนี้เจอปัญหาก็มาหาทางแก้อีก เชื่อว่าจะต้องหาทางแก้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แหละ ผมมองว่าการปรับแก้สูตรไปมาไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย
รศ.ยุทธพร อิสรชัย
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
จริงๆ แล้วแนวคิดการที่จะให้พรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 คน จากจำนวน 500 คน เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้นั้น ประเด็นคือเป็นสิ่งที่ทุกพรรคมีสิทธิเสนอได้อยู่แล้วในระบบรัฐสภาปกติ แต่การกำกับว่าพรรคที่มีสิทธิเสนอต้องมีเสียง ส.ส.เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าเป็นการละเลยพรรคเล็ก จะยิ่งทำให้โอกาสที่พรรคเล็กจะได้เกิดยากขึ้น ผมไม่เห็นด้วยว่าทำไมต้องมากำหนดสัดส่วนร้อยละ ในเมื่อทุกพรรคก็มีสิทธิเสนอได้อยู่แล้วโดยหลักการ ถ้าสามารถมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาก็จะได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดบทบัญญัติตรงนี้เลย
หากมีการกำหนดแบบนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหา เพราะว่าอาจจะทำให้พรรคเล็กหมดโอกาสเสนอคนขึ้นเป็นนายกฯ นอกจากนี้การระบุว่าทุกพรรคสามารถเสนอชื่อนายกฯได้ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพในการโหวต เพราะท้ายที่สุดต่อไปถ้ามีพรรคการเมืองได้ ส.ส.เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ สัก 10 พรรค เราก็จะมีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 10 ชื่อเลย มันมากเกินไป
โดยทั่วไปกลไกการทำงานของรัฐสภาก็จะมีวิป มีการพูดคุยกันนอกรอบก่อนอยู่แล้ว การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาในอดีตเราก็จะเห็นว่ามีแค่ 2 ชื่อเท่านั้น มาจาก ส.ส.ของฝ่ายค้านกับ ส.ส.จากฝ่ายว่าที่รัฐบาล เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 ท่าน แต่ถ้าไปกำหนดแบบต่อไปทุกพรรคก็เสนอได้หมด อาจจะทำให้เกิดการวิ่งเต้น ซื้อเสียงในสภาได้
ส่วนแนวคิดที่ว่าการกำหนดให้พรรคที่ได้ ส.ส.เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เสนอชื่อนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาอาจจะมีผู้ไปตั้งพรรคเล็กขึ้น หวังให้ได้ ส.ส. 1 คนแล้วมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ มันก็แก้ปัญหาได้คล้ายกับกรณีรัฐธรรมนูญปี 2540 ตัดเสียงที่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ให้นับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ก็จะยิ่งทำให้เกิดพรรคใหญ่ขึ้น ตอนนี้รัฐบาลก็บอกว่าไม่ต้องการให้มีพรรคใหญ่มากนัก ผมเลยค่อนข้างสับสนกับทิศทางของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บางมาตราที่ออกมาบอกว่าจะส่งเสริมพรรคเล็ก เช่น ระบบจัดสรรปันส่วนการเลือกตั้ง แต่พอเป็นเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีกลับเป็นการส่งเสริมพรรคใหญ่ เลยสับสนว่าตกลงจะส่งเสริมพรรคเล็กหรือส่งเสริมพรรคใหญ่กันแน่ เพราะถ้าออกมาลักษณะแบบนี้มันไม่ได้ส่งเสริมพรรคเล็กแน่ครับ ยิ่งทำให้พรรคเล็กหมดโอกาสทางการเมืองไปด้วย และการให้ทุกพรรคเสนอชื่อได้จะทำให้เกิดความวุ่นวายในสภา เพราะท้ายสุดจะทำให้มีผู้เข้าชิงนายกฯจำนวนมาก
ผมว่า ควรใช้หลักการเดิม คือไม่มีการไปกำหนดอะไรเลยทั้งสิ้น ใครได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะเสนอจากใครพรรคไหนก็ตาม ถ้ารวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้มีคู่แข่งแค่ 2 คน คือ ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน กับ ส.ส.จากพรรคฝ่ายว่าที่รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งระบอบประชาธิปไตยหลายแห่ง เช่น ประเทศอังกฤษ แม้ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร เขายังดำเนินการในลักษณะอย่างนี้เลย
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดเลยที่จะเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอได้ทุกพรรคแล้วมาห้ามพรรคที่มี ส.ส.ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์หมดสิทธิเลือกนายกฯ
วิรัตน์ กัลยาศิริ
คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์
น่าจะเป็นการเปิดทางให้นายกฯคนนอก คือให้พรรคต่างๆ สามารถเสนอชื่อใครก็ได้ ที่ถูกต้องคือควรให้พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ และควรเสนอตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ให้ประชาชนรู้ว่าเลือกพรรคนี้แล้วจะได้นายกฯคนนี้ โดยตัวนายกฯน่าจะปรากฏโฉมตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อเข้าสภาแล้วก็ให้เลือกนายกฯจาก ส.ส.ในสภา แต่หากไม่สามารถเลือกได้ด้วยประการใดก็ตาม ค่อยใช้นายกฯคนนอกในตอนนั้น แต่กรณีนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. รวบรัดเพื่อให้เกิดนายกฯคนนอกใช่หรือไม่
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการเรื่องนี้ของ กรธ.
ชำนาญ จันทร์เรือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
กรณีที่จำกัดพรรคจะต้องได้จำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากจำนวน 500 คน ก็ประยุกต์มาจากเยอรมนี ป้องกันไม่ให้พรรคเล็กพรรคน้อยที่กระเส็นกระสายมาเสนอ วัตถุประสงค์น่าจะเป็นอย่างนี้ โดยปกติแล้วก็รู้อยู่แล้วว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติเป็นเบอร์ 1 ใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ แต่กรณีแนวคิดของ กรธ.ต้องการคนนอกมาเป็นนายกฯจริงๆ ก็ไม่ต้องเขียนอะไรมาก ไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมาก คุณสมบัตินายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องพูดถึง แต่ก็พยายามกั๊กให้รัฐสภาเป็นคนเสนอเพื่อหาความชอบธรรม คุณสมบัตินายกฯ ประกอบด้วยอะไรบ้าง เขาไม่ต้องพูดถึงก็จบแล้ว ทำให้เรื่องมันยากไปเปล่าๆ
แน่นอนว่า เป็นการละเลยพรรคเล็ก คือการตอนพรรคใหญ่และไม่ให้พรรคเล็กได้ลืมตาอ้าปาก ตัดตั้งแต่แรกเลย ปกติพรรคเล็กก็หาคนสมัครยากอยู่แล้ว ที่สำคัญคือนายกฯต้องมีความสมัครใจ ชื่อคนที่มาเป็นนายกฯก็ไม่ได้หาได้ง่ายๆ จะเอา นายหมู นายแมวที่ไหนมาก็ได้ เสนอแล้วเขาต้องเต็มใจด้วย แค่หา ส.ส.มาสมัครในสังกัดพรรคก็ยากอยู่แล้ว นี่หาชื่อนายกฯมาเสนออีก เขาต้องการตัดตรงนี้ออกไป
เวลาคนนอกที่ต้องการอยากได้ พอเลือกตั้งเสร็จคะแนนจะออกมา หลังปิดคูหาสัก 20.00-21.00 น. ก็เริ่มรู้แล้วว่าพรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่ เริ่มจับขั้ว ปั่นกระแสว่าเอาใคร ยังไง ชื่อคนเป็นนายกฯอาจไม่ได้ถูกเสนอโดยพรรคหลักอย่างประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทยก็ได้ หากมีการเจรจาปั่นกระแสขึ้นมาโยนหินถามทาง แน่นอนว่าเจตนาต้องการเอาคนนอก จะมีกระแสว่าคนนี้เป็นนายกฯ ฉันจะร่วม คนนั้นเป็นนายกฯ ฉันจะไม่ร่วม และอนาคตที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งแน่นอน
ตัวนี้จะเป็นปัจจัยในการต่อรองร่วมรัฐบาลด้วย มันก็แยบยลนะ แทนที่จะเอาโควต้ารัฐมนตรีมาแบ่งกัน แต่เป็นการเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นแกนในการเจรจาต่อรองในการร่วมรัฐบาล มันซ้อนจากการแบ่งโควต้ารัฐมนตรีอีกที ที่ไม่เอาวิธีเก่าเพราะเขาไม่ต้องการคนที่ประชาชนนิยมมากๆ เพราะมันปฏิเสธยาก ถ้าประชาชนเลือกมากๆ ที่เห็นได้ชัดคือพม่า ผลการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปออกมานั้นทำให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็หนาวนะ
ถ้าเสียงได้มาถล่มทลาย มันปฏิเสธไม่ได้ จึงล็อกไว้ก่อนว่าก่อนหย่อนบัตรก็เสนอชื่อนายกฯไว้ก่อน