- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 14 November 2015 20:55
- Hits: 3260
เสียตือได้เฮ รอด'สนช.'ถอดถอน มีชัยโต้ลั่นสูตรวิตถาร พท.จี้-รับฟังประชาชน ม.เกษตรตัดไฟไล่นศ. ตร.คุมเข้มจัดกิจกรรม
'ตือ'รอด โหวตถอดแค่ 108 ต่อ 82 ไม่ถึงเกณฑ์ 132 เสียง 'มีชัย'โต้ ปชป. งงร่างรธน.วิตถารตรงไหน ยันยึดโยงประชาชน เพื่อไทยสงสัยเป้าหมายร่างรธน. เตือนอย่าตัดสินเองโดยไม่ฟังเสียงประชาชน 'บิ๊กตู่'ย้ำทูตไทยทั่วโลกช่วยผลักดันงานรัฐบาล ปรามสื่อเสนอข่าว'ขรก.' ทำผิด เชื่อมโยงหลายฝ่ายทำเสียหาย ห่วงโดนฟ้อง ย้ำอีกอยากให้คดีข้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนม.44 แค่ใช้ระบายข้าว ครม.มอบวิษณุแจงฟ้องแพ่ง'ปู'
วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9117 ข่าวสดรายวัน
พลังน.ศ.- กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรีและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะ รู้ทันเผด็จการซีรีส์ 2 แต่ถูกห้ามไม่ให้ใช้อาคารและตัดไฟ จึงออกมาจัดด้านนอก โดยมีตร.เฝ้าสังเกตการณ์ ที่ม.เกษตรฯ บางเขน เมื่อวันที่ 13 พ.ย.
'บิ๊กตู่'ถกทูตไทยทั่วโลก
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการทำงานด้านการต่างประเทศ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ที่ประจำการอยู่ทั่วโลกรวม 98 แห่ง ข้าราชการและผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงาน และผู้แทนภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม
โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมได้ถ่ายรูปหมู่เพื่อเป็นที่ระลึกร่วมกันบริเวณลานน้ำพุด้านหน้ากระทรวงการต่างประเทศ และในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะหารือกับเอกอัครราช ทูตและกงสุลใหญ่ในประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อมุ่งสร้างความสำเร็จในมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี 2558 โดยพล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลามอบนโยบายนานกว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางกลับทันที และในขณะขบวนรถแล่นผ่านกลุ่มสื่อมวลชน พล.อ.ประยุทธ์ได้เลื่อนกระจกรถลงและชูนิ้วทำสัญลักษณ์ไอเลิฟยู พร้อมกับยิ้มให้สื่อ
ย้ำช่วยผลักดันงานรัฐบาล
เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ตอนหนึ่งว่า เมื่อเช้าเป็นประธานมอบนโยบายให้แก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ที่ประจำการอยู่ทั่วโลกของเรารวม 98 แห่ง ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้น ในหัวข้อ 'การทูตเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย' เพื่อทำงานผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของไทยในต่างประเทศ ภายใต้คำว่า 'ทีมประเทศไทย'ได้ย้ำให้เอกอัครราช ทูตและกงสุลใหญ่เดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ที่จะสร้างความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทย ส่งเสริมบทบาทไทย ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ผลักดันการเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจ-การค้าที่จะเป็นประโยชน์กับไทย และมิตรประเทศ
"ที่สำคัญจะต้องมีข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองในไทย การเตรียมการสู่การเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูประยะที่ 1 ระยะ 2 เพราะมีผลต่อการค้าการลงทุนด้วยทั้งสิ้น ขอบคุณทุกอย่างในความร่วมมือ ขอบคุณทุกอย่างที่เข้าใจ แล้วขอบคุณในกำลังใจของทุกคนที่ให้กับรัฐบาล และคสช."พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แนะนักการเมืองปรับตัวเอง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป รัฐบาลและคสช. มุ่งหวังให้ประเทศไทยมั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดี อนาคตที่ดี มีที่ยืนในเวทีโลก ทุกคนจะได้ภูมิใจ มีศักดิ์ศรี จากสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่ง่าย แต่เราพยายามอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์พิเศษ เราไม่สามารถให้มีการดำเนินการผิดกฎหมาย ไม่ถูกต้องในลักษณะเดิมๆ อีกได้ ไม่งั้นเราก็ไม่อาจหลุดพ้นจากกับดักตัวเองได้เลย สำหรับนักการเมือง พรรคการเมือง อยากให้เตรียมการปรับเปลี่ยน ปรับตัวเอง เตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งในอนาคต เตรียมความพร้อมบริหารประเทศ ให้มีธรรมาภิบาล ทุกคนคือคนไทยด้วยกัน เป็นผู้ได้รับประโยชน์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประชาชนต้องเข้าใจว่าเราจะต้องมีประชาธิปไตยที่เหมาะสม คือมีนักการเมือง พรรคที่จะร่วมมือกันบริหารประเทศแล้วทำให้ทุกคนมีความสุข คนทั้ง 70 ล้านคนในประเทศไทยมีความสุข คงไม่ใช่เฉพาะประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลหรือพรรคเท่านั้น นักการเมืองทุกคนต้องช่วยตนคิดว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก กรุณาอย่าสร้างความขัดแย้งกันอีก เอาปัญหาของชาติก่อน ดังนั้นอย่าเพิ่งมาตำหนิตนมากนัก ตนจำเป็นต้องรักษาความมีเสถียรภาพ ให้ไปสู่การเลือกตั้งให้ได้เท่านั้น
ปรามสื่อเสนอข่าว'ขรก.'ทำผิด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การเสนอข่าวของสื่อมวลชน อยากให้ระมัดระวังผลกระทบในแง่มุมอื่นด้วย ทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปและการเลือกตั้ง ดังนั้นหากการพูดจาต่างๆ ยังมีการให้ร้าย บิดเบือนข้อมูล สร้างความขัดแย้ง ก็ไม่เป็นผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และบ้านเมืองก็ยากจะกลับสู่ภาวะปกติ การปรองดองต่างๆ ที่เราคาดหวังก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก หากว่าเรามัวแต่นำความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นมาขยายความ เรื่องใดที่เป็นการทำความผิดของ เจ้าหน้าที่ ของข้าราชการก็อีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นตนไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ระวังการเสนอข่าว ถ้ามีความเชื่อมโยงหลายๆอย่างที่จะเกิดความเสียหาย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือสื่อทุกแขนง ช่วยกันเสนอข่าวในทางสร้างสรรค์ ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากให้พูดจาในเชิงให้ร้าย หรือไปตัดสินตั้งแต่ยังไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม ก็จะเกิดความแตกแยก ซึ่งเป็นห่วงสื่อเหมือนกัน เดี๋ยวถูกฟ้องร้องจากผู้เสียหาย ให้ดำเนินคดีโทษฐานหมิ่นประมาท หรืออื่นๆ อีก ทั้งนี้ รัฐบาลและคสช. ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับสื่อหลายครั้งแล้ว ทั้งเจ้าของ บรรณาธิการและ คอลัมนิสต์บางคน เราไม่ได้บีบบังคับแต่พูดคุยเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน มีสำนึกในหน้าที่ซึ่งกันและกัน ทำอย่างไรให้บ้านเมืองเราปลอดภัย มีเสถียรภาพ สื่อมีส่วนกับรัฐบาล กับคสช. และประชาชน เจ้าหน้าที่ ข้าราชการทุกคนต้องร่วมมือกัน
"รัฐบาลเข้าใจดี คำว่าจรรยาบรรณ สิทธิ เสรีภาพคืออะไร แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของ ผู้อื่นจนเขาเกิดความเสียหาย ทั้งส่วนบุคคล และประเทศชาติ ก็ขอร้องกัน ผมเป็นห่วง เดี๋ยวสื่อจะถูกฟ้องร้อง ก็ลำบากกับตัวเอง ครอบครัวลำบากเดือดร้อน ไม่มีใครอยากทำ" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
แจงอีกใช้ม. 44 ระบายข้าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการระบายข้าวในคลังว่า เป็นปัญหาอย่างมาก หากจำหน่ายราคาสูงมากก็ไม่มีผู้สนใจ ต่ำไปก็กลายเป็นว่ารัฐบาลขายข้าวราคาต่ำ ขาดทุน แต่ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ การเก็บรักษาข้าวไว้ในคลังจำนวนมากนั้น มีทั้งคุณภาพดี และที่เสียหาย นับวันจะเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาระด้านงบประมาณอย่างมากในอนาคต ดังนั้นปัจจัยหลักสำคัญในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมนั้น อยากให้เข้าสู่กระบวนการปกติ โดยไม่ไปกล่าวอ้างให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียหายเพราะอยู่ในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลทำตามกฎหมายทุกประการ ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะทำลายนักการเมือง หรือพรรคใด เราต้องทำตามกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนที่ใช้มาตรา 44 ในเรื่องนี้ก็หยุดต่อต้านกันเสียทีในเรื่องของระบายข้าว เราใช้เพื่อป้องกันการบิดเบือนให้ร้าย โดยเฉพาะกรณีต้องเร่งระบายข้าวให้เร็วขึ้น ส่วนการสอบสวนคดี ในเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อให้เกิดความชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการผลิตและจำหน่ายข้าวของเราในระยะต่อไป จะได้สร้างการรับรู้ ความน่าเชื่อถือ ทั้งในประเทศและตลาดโลก
มอบวิษณุแจงฟ้องแพ่ง'ปู'
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจากการที่มีบางกลุ่มบางฝ่ายยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการรับจำนำข้าวสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบางฝ่ายพยายามให้ข้อมูลจนอาจจะทำให้สังคมเข้าใจเรื่องดังกล่าวคลาดเคลื่อน คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการดำเนินการเรียกค่าเสียหายแพ่ง โดยอาศัย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ เพื่ออธิบายให้สังคมรับทราบเหตุผลที่ดำเนินการด้วยกระบวนการดังกล่าว มีที่มาอย่างไร รัฐบาลได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลคิดขึ้นมา ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการทำให้สังคมเกิดความสบายใจและความเข้าใจที่ถูกต้องว่ารัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมาย
เมื่อถามว่าการลงพื้นที่จ.อุบลฯได้ผลตอบรับในทางที่ดีจะส่งผลให้นายกฯจะลงพื้นที่บ่อยขึ้นหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังจากนายกฯ ระบุว่าต้องการลงพื้นที่ให้บ่อย และเชื่อว่าในปี 2559 นี้ หลังจากที่การประชุมต่างๆ ได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะเป็นช่วงที่นายกฯจะติดตามการขับเคลื่อนนโยบายที่ได้ให้ไว้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ว่านำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้สัมฤทธิผลแค่ไหน จึงต้องลงไปติดตามผลด้วยตนเองเพื่อจะได้นำเสียงสะท้อนมาปรับแก้ไขต่อไป
วิษณุให้รอ'กรธ. แจงที่มานายกฯ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีพรรคการเมืองคัดค้านข้อเสนอของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ประเด็นที่มานายกฯคนนอก โดยให้แต่ละพรรคเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯให้ประชาชนทราบก่อนเลือกตั้งว่า รอเวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะรู้ วันนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่นายกฯเป็นคนนอกหรือไม่ แต่อยู่ที่พรรคจะเสนอรายชื่อนายกฯล่วงหน้า 5 รายชื่อก่อนหรือไม่ ถ้าตกลงร่วมกันได้ก็ค่อยพูดกันต่อ ซึ่งต้องรอให้กรธ.แบไต๋ออกมาก่อนเท่านั้นว่าเอาประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดกรธ.จึงหยิบยกประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาขึ้นมา โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งและที่มานายกฯ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร
'มีชัย'งงวิตถารตรงไหน
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.แถลงถึงเสียงวิจารณ์จากพรรคการเมืองต่อแนวคิดที่จะกำหนดให้พรรคเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 5 คน ต่อ กกต. ก่อนเลือกตั้ง ว่า กรธ.สรุปเสียงไม่เห็นด้วยได้ทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1. วิตถาร ไม่เข้าใจว่าวิตถารตรงไหน การให้ประชาชนรู้รายชื่อนายกฯล่วงหน้าวิตถารอย่างไร จึงไม่รู้จะชี้แจงอะไร 2.เปิดช่องให้ มีคนนอก เหมือนกล่าวหาว่า กรธ.จะไปกำหนดว่าจะให้มีนายกฯคนนอกหรือคนใน ทั้งที่ ข้อเท็จจริงไม่ใช่ กรธ.ต้องการเพียงให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อนายกฯก่อนเท่านั้น การเสนอรายชื่อนายกฯ จึงขึ้นอยู่กับมติของพรรคที่จะเป็นผู้กำหนดด่านแรก และด่านที่สองคือส.ส.ทั้งหมดในสภา จะเป็นคน ลงมติเลือก
"คำถามคือ หากพรรคการเมืองไม่ชอบคนนอกแล้วจะมีเหตุอะไรที่พรรคจะเสนอชื่อคนนอก ไม่ชอบคนนอกก็ไม่ต้องเสนอ อีกทั้งด่านแรกที่เปิดให้เสนอก็ยังไม่มีใครได้เป็น ส.ส. เพราะเพิ่งจะเริ่มรณรงค์เลือกตั้ง หรือหากมีพรรคไหนเสนอชื่อคนนอก ส.ส.ในสภาที่มีอำนาจลงมติ ก็ไม่ต้องไปเอา ถ้าพรรคการเมืองและส.ส. 500 คน ไว้ใจไม่ได้แล้วเราจะพึ่งใครได้" นายมีชัยกล่าว
โต้วุ่น-ยันยึดโยงประชาชน
3.ขัดเจตนารมณ์ประชาชน ไม่ทราบว่าขัดอย่างไร ทั้งที่ประชาชนเห็นรายชื่อนายกฯตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง กลับกันหากเป็นระบบเดิมพรรคจะเสนอใครก็ได้ที่อยู่ในสภา เราก็ไม่รู้ก่อนเลยว่าส.ส.จะเลือกใคร 4.ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ตนเห็นว่ายึดโยงที่สุด มันจะทำให้เห็นว่าประชาชนจะเอาใครเป็นนายกฯ ส่วนพรรคจะเสนอคนเดียว ไม่ต้อง 5 คนก็ได้ แต่หากเกิดง่อยเปลี้ยเสียขาขึ้นมา เวลาจะโหวตก็ต้องไปหยิบชื่อของพรรคอื่นมาแทน
5.ก้าวก่ายพรรคการเมือง กรธ.ยืนยันว่า ไม่ได้ก้าวก่าย ไม่ได้บังคับ พรรคการเมือง มีอำนาจเสนอรายชื่อนายกฯ กันเองก่อนเลือกตั้ง แล้วก็มาเลือกกันในสภา แต่หากก้าวก่าย ในหมายความว่า เป็นการกำหนดกรอบเพื่อไม่ให้พรรคไปหยิบชื่อใครที่คนไม่รู้จักมาก็ได้ ก็ต้องอย่าลืมว่านี่คือประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิรับรู้ก่อนได้
ลั่นยังไม่เห็นเหตุผลในคำวิจารณ์
"ข้อวิจารณ์ที่ผ่านมา กรธ.ยังไม่เห็นเหตุผลที่แท้จริง เพราะทั้งหมดเข้าใจยาก ที่ฟังมาก็ยังไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร ผมจะขอลองฟังดูอีกสัก 2-3 วัน" ประธานกรธ.ทิ้งท้าย
เมื่อถามถึงการเสนอ 5 รายชื่อนายกฯ แต่ละพรรคต้องเรียงลำดับหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.กำลังหารืออยู่ยังไม่มีข้อยุติว่าจะให้เรียงลำดับ หรือเปิดให้เลือกกันเองได้ แต่เบื้องต้นมองว่าไม่จำเป็นต้องจัดลำดับเนื่องจากเห็นว่าการเรียงลำดับ มีข้อดีคือ ประชาชนจะรู้ว่ารายชื่อนายกฯแต่ละคนจะอยู่ในลำดับใด แต่ข้อจำกัดคือหากเป็นรัฐบาลผสมแล้วอาจทำให้ถึงตันได้ ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเกิดไม่เอาชื่อตามลำดับนั้น
เมื่อถามว่า เมื่อตั้งรัฐบาลแล้วรายชื่อนายกฯจากพรรคใดบ้างที่จะมาใช้เสนอให้ ส.ส.เลือก นายมีชัยกล่าวว่า เฉพาะของพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งก่อนจะเลือกพวกเขาก็จะเจรจากันแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า พรรคที่คะแนนมากสุดจะได้นายกฯ หรือพรรคที่มีคะแนนน้อยที่สุดจะได้นายกฯ แต่ทั้งนี้ กรธ. ก็จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่จะสามารถนำรายชื่อนายกฯมาเสนอให้สภาเลือกได้ จะต้องมี ส.ส. ในสภาอย่างน้อยร้อยละ 5 หรือ 25 คน เพื่อแก้ข้อห่วงกังวลว่า อาจมีผู้ไปตั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กขึ้นมา หวังให้ได้ ส.ส.สัก 1 คน เพื่อร่วมรัฐบาล แล้วมีอำนาจเสนอชื่อนายกฯให้สภาโหวต
ปัดเอื้อทหารตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่าการเสนอรายชื่อนายกฯจะให้ซ้ำกันหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เบื้องต้นจะไม่ให้ซ้ำกัน ส่วนรายชื่อที่เสนอนั้นจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็แล้วแต่พรรคการเมือง เราจะไม่เข้าไปยุ่งมากจนเกินเหตุ กรธ.เพียง 21 คน จะไปสร้างข้อผูกมัดเขาไม่ได้ แต่จะเขียนให้กว้างแล้วให้พรรคไปกำหนดเอง หากไม่ชอบพรรคก็แก้กันเองได้จะได้ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า จะป้องกันการฮั้วกันของพรรคขนาดใหญ่ขนาดกลางก่อนการเลือกตั้งอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า ระบบไหนก็มีโอกาสเกิดขึ้น ไม่มีอะไรห้าม เขาเป็นพันธมิตรกันก็เรื่องของเขา เราเชื่อว่าการยอมที่นั่งกันในสภาจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิม ส่วนการเป็นพันธมิตรกันทางการเมืองกันเป็นเรื่องปกติ อะไรไม่เป็นอันตรายก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ
"ส่วนที่มองว่าเป็นการเอื้อให้ทหารจัดตั้งรัฐบาล ผมมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น มันมีกรอบป้องกันเป็นชั้นๆ แล้ว การจะทำให้เป็นอย่างนั้นก็ต้องรู้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดประชาชนจะรู้ล่วงหน้า" นายมีชัยกล่าว
ชี้ส.ว.ต้องไม่อยู่ในอาณัติการเมือง
ผู้สื่อข่าวถามถึงรูปแบบการถอดถอน นายมีชัยกล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่จะใช้ ส.ว. ถอดถอนเหมือนเดิมคงยาก เพราะพรรค การเมืองมีโอกาสครอบงำ ส.ว.ได้มาก จึงคิดว่าจะไม่ให้อำนาจ ส.ว. ถอดถอน ส่วน ป.ป.ช.ที่มีอำนาจสอบสวนทำสำนวนอยู่แล้ว ก็คงไม่สามารถให้อำนาจถอดถอนได้ มิเช่นนั้น ป.ป.ช.ก็จะเป็นคนทำเองทุกกระบวนการจึงกำลังหาอยู่ว่าจะใช้กลไกอะไรได้บ้างที่ไม่ใช่การลงคะแนนถอดถอนโดยส.ว. ส่วนจะไปศาลหรือไม่ก็กำลังมองอยู่ ส่วนโทษก็คือพ้นจากตำแหน่งไปเลยไม่ใช่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหมือนคดีอาญา แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความหนักเบาของโทษที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ส่วนจะตัดสิทธิตลอดชีวติหรือไม่ก็กำลังคิดอยู่
เมื่อถามว่า ถ้าส.ว.ไม่มีอำนาจถอดถอนจะมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดแต่เราอยากทำให้แน่ใจว่าที่มาของส.ว. จะต้องทำให้ไม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติของนักการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องยึดโยงกับประชาชนพอสมควรด้วย เพราะยังต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งตามสาขาวิชาชีพหรือไม่ กรธ.ก็ยังไม่ตกผลึกในเรื่องนี้
ปชป.โวย'วิตถาร'หนักกว่าเก่า
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า หลังจากตนแสดงความเห็นถึงการร่างรัฐธรรมนูญของกรธ. ที่ให้พรรคเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ 1-5 คน ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เป็นความคิดวิตถารในทางการเมืองนั้น ยังไม่ทันไรก็มีผู้เสนอขึ้นมาอีกว่าในการกาบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ให้หมายถึงการเลือกตัวผู้สมัคร เลือกระบบบัญชีรายชื่อ และเลือกตัวนายกฯไปด้วยเลย โดยเรียกระบบนี้ว่า "1 กา 3 ได้" หมายถึงกา 1 ใบได้ 3 อย่าง รู้สึกว่าระบบนี้เหมือนกาแฟสำเร็จรูปประเภท 3 in 1 (ทรีอินวัน) ซึ่งวิตถารหนักเข้าไปอีก เพราะคนที่ให้พรรคเสนอชื่อเป็นนายกฯ อาจเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ แล้วจะไปทึกทักว่าคะแนนที่ประชาชนเลือกเป็นคะแนนของเขาได้ยังไง เพราะเขาไม่ได้ลงสมัคร ประชาชนเขากาไปเพราะเขาชอบส.ส.ก็ได้ แต่ได้นายกฯแถมมาด้วย ที่สำคัญประเทศไทยมีการปกครองในระบบรัฐสภา ระบบนี้ตัวนายกฯมาจากการเลือกในสภา ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ยิ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ลงสมัคร เพียงแต่พรรคเสนอชื่อจะทึกทักเอาว่าประชาชนเลือกมาแล้วจากระบบ 3 อิน 1 ได้อย่างไร
"ระยะหลังผมไม่ค่อยแสดงความเห็น เรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเบื่อคนที่วันๆ เอาแต่จีบปากจีบคอพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ แถลง เรื่องรัฐธรรมนูญเสร็จก็ยกพวกไปกินข้าวในโรงแรม 5 ดาว โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะกินข้าวกับอะไร ประชาชนได้แต่ตักข้าวเปล่าใส่จานให้ลูกกินกับร่างรัฐธรรมนูญของท่านกันต่อไป แต่ผมจะไม่พูดอะไรเลยก็น่ากังวล เพราะจะเข้าทางคนคิดวิตถาร จึงต้องออกมาแสดงความเห็นไว้บ้าง ส่วนจะกันความวิตถารได้ขนาดไหน ผมไม่รู้ เพียงบอกว่า ผมไม่เล่น พิเรนทร์กับท่านด้วย วิตถารสนุกๆของท่านไปคนเดียวเถอะพ่อคุณ"นายนิพิฏฐ์กล่าว
พท.สงสัยเป้าหมายร่างรธน.
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงท่าทีของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ว่า พรรคได้แสดงจุดยืนถึงร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปหลายครั้งว่าเรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน อะไรที่ผิดไปจากนี้ อยู่นอกหลักการ เช่น ประสงค์ใช้นายกฯ คนนอก หรือการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งให้ยุ่งยากกว่าเดิมนั้น พรรคไม่เห็นด้วย ส่วนที่ล่าสุดบอกให้ส่งรายชื่อว่าที่นายกฯไม่เกิน 5 คนนั้น ถามว่าต่างจากระบบเดิมอย่างไร ในเมื่อปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 1 คือว่าที่นายกฯ อยู่แล้ว ดังนั้นอะไรที่ผิดจากหลักการในเรื่องอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน เราไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า การให้พรรคเสนอชื่อบุคคลที่เป็นนายกฯ ซ้ำกัน จะทำให้พรรคจับมือกันก่อนเลือกตั้งหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น แต่ทุกพรรคต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ระบบนี้อาจทำให้เกิดการแตกแขนงของพรรค ซึ่งเป็นไม่ผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ทั้งนี้หลักการของรัฐธรรมนูญทั้งปี 40 และปี 50 ตกผลึกแล้วโดยประชาชน และประชาชนก็พอใจกับระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมา สังเกตว่าตั้งแต่ปี 40 ประชาชนมาเลือกตั้งมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง หากจะเปลี่ยนแปลงคงมองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากพยายามลดคะแนนพรรคใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เจตนาหรือเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขอตั้งคำถามว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย หรือมีเป้าหมายทางการเมือง ที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร มักจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป้าหมายทางการเมือง
เตือนกรธ.ฟังเสียงประชาชน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคได้แสดงจุดยืนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการออกแถลง การณ์ส่งถึง กมธ.ยกร่างฯและ กรธ.แล้ว ซึ่งหลักการสำคัญที่เรายึดถือเป็นหลัก คือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย รับฟังเสียงของประชาชน และเป็นไปตามหลักสากลที่สังคมโลกยอมรับ ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ กรธ.อย่าประดิษฐ์วาทกรรมเพื่ออธิบายสิ่งที่ตัวเองปรารถนา อย่าตัดสินเองโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้ประชาชนไม่ขัดข้องในการเข้าคูหากาบัตร 2 ใบ และที่ผ่านมาพรรคก็เอาบุคคลที่อาสาเข้ามาทำงานให้ประชาชนเลือก จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะไปเอาคนนอกที่ไม่ได้อาสาเข้ามาทำงาน มาให้ประชาชนเลือก นี่เป็นหลักปรัชญาขั้นพื้นฐานว่าต้องเลือกคนที่พร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน ทั้งนี้วิธีที่จะใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อให้ได้ตามสิ่งที่ตนเองปรารถนานั้นไม่ถูกต้อง กรธ.ต้องซื่อตรงต่อตนเองและระบอบประชาธิปไตยด้วย
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า การจะให้พรรคเพื่อไทยเลือก 5 หรือ 10 รายชื่อไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขอถามว่ารายชื่อเหล่านั้นจะเอามาจากไหนจากเขต หรือจากบัญชีรายชื่อ นี่เป็นภาคพิสดารเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างใช่หรือไม่ เช่น เอาคนที่ไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ แล้วแต่ยังมีคนเคารพ มาใส่ไว้เพื่อให้ประชาชนเลือกหรือไม่
'ตือ'รอด-โหวตถอดไม่ถึงเกณฑ์
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานประชุมสนช. พิจารณากระบวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตามข้อกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ จากกรณีสร้างบ้านมูลค่า 16 ล้านบาท ที่จ.อ่างทอง โดยเป็นขั้นตอนการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน โดยการลงมติถอดถอนจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของเสียงทั้งหมด 220 เสียง คือต้องได้ 132 เสียงขึ้นไป ส่วนขั้นตอนการลงมติ ให้สมาชิกกาบัตรในช่องที่ระบุว่า ถอดถอนและไม่ถอดถอน แล้วนำบัตรไปใส่ในกล่องเพื่อนับคะแนนต่อไป
นายพรเพชร แจ้งผลการลงมติหลังการนับคะแนนว่า ที่ประชุมมีมติถอดถอนด้วยคะแนน 109 ไม่ถอดถอน 82 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน บัตรเสีย 1 ใบ จากจำนวนบัตรที่ลงคะแนนทั้งหมด 195 ใบ ส่งผลให้นายสมศักดิ์ไม่ถูกถอดถอน เนื่องจากคะแนนถอดถอนไม่ถึง 132 เสียง จึงถือว่าสนช.มีมติไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ หลังจากนั้นจะแจ้งมติให้ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทราบ ส่วนบัตรลงคะแนน ให้เจ้าหน้าที่ทำลายต่อไป จากนั้นส่งปิดการประชุมในเวลา 11.43 น.
สมศักดิ์ ขอบคุณสนช.
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอขอบคุณทุกเสียงของสมาชิกสนช.ทุกคนที่ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ตนตระหนักดีว่าเป็นภาระของ สนช.ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ในสถานการณ์ที่ต้องการการปฏิรูปการเมือง การกำจัดนักการเมืองชั่วให้พ้นจากการเมืองเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันการผดุงความเป็นธรรมกับนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่ชอบธรรม ก็ถือเป็นเกียรติยศของสภาแห่งนี้ และเชื่อมั่นว่า สนช.ทุกคนเป็นคนดีพิจารณาด้วยเหตุและผลจากการที่ได้ฟังการชี้แจงของตนจากการแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจา ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สมาชิกได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้เสียงไม่ถอดถอนจะน้อย แต่เสียงถอดถอนมีไม่ถึงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นกำลังใจให้ตนและครอบครัว ทำสิ่งที่ดีและเดินไปบนเส้นทางของระบอบประชาธิปไตย ที่จะมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องมีกลไกในการถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริตต่อไปหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า จำเป็นต้องมีสถาบันที่ทำหน้าที่ถอดถอน เพราะเห็นว่ายังมีประโยชน์ เพราะจะทำให้สังคมมีหลักประกัน ว่านักการเมือง ข้าราชการ หากส่อกระทำการทุจริต หรือทุจริตจริงสมควรที่จะได้รับการลงโทษจากสังคม
ติงแนวคิดกาบัตรใบเดียว
เมื่อถามว่า วางแผนอนาคตทางการเมืองอย่างไรหลังจากนี้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า คงต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน ส่วนข้อกังวลที่ตนเคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีนั้น เรื่องนี้จบไปแล้ว และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ตนมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลอะไรอีก รอเพียงการเริ่มต้นของกระบวนการประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีกรธ.ออกแบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมว่า ตนมองว่าระบอบประชาธิปไตยควรเคารพสิทธิประชาชน เมื่อตั้งใจให้มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ควรให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการเลือกผู้แทน ซึ่งอดีตที่ผ่านมากำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถือว่าเป็นความคุ้นเคยของประชาชนที่จะเลือกใครและพรรคใดที่ชื่นชอบ ซึ่งการกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวแต่สามารถเลือกได้ทั้งคนละพรรค ตนมองว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เช่น พรรคการ เมืองหนึ่งมีคะแนนนิยมดีมาก ใครก็ต้องเลือกพรรคนี้ และถ้าพรรคนี้อยากได้นักการเมืองคนหนึ่ง แต่มีภูมิหลังไม่ดี เพราะต้องการ 1 เสียงจากนักการเมืองคนนี้ แต่ประชาชนในเขตเลือกตั้งไม่ต้องการที่จะได้นักการเมืองคนนี้ แต่ชอบพรรค จะทำอย่างไร กรธ.ต้องกลับไปคิดทบทวนให้ดี อย่าใช้หลักซื้อเหล้าแถมเบียร์
เชื่อเสนอ 5 ชื่อนายกฯแค่โยนหิน
"ระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบแน่นอน เพราะหากมองจากสภาพความเป็นจริง และจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา พบว่าพรรคการเมืองใหญ่ เช่นพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัครครบเกือบทุกเขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลาง ไม่สามารถที่จะส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขต การส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตถือว่าเสียเปรียบแล้ว ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงการเปิดกว้าง เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ กรธ.วางหลักการให้พรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯได้ไม่เกิน 5 รายชื่อนั้น เห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่ตกผลึกทางความคิด เป็นการโยนมาตั้งแต่ทีแรกว่านายกฯมาจากคนนอกโดยเปิดกว้าง ต่อมาก็กำหนดให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ เชื่อว่าพรรคการเมืองคงอึดอัด ถ้าหากไม่เสนอรายชื่อหัวหน้าพรรคของตัวเอง หรือไม่เสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในพรรค เวลาไปลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งจะตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร คนในพรรคไร้ฝีมือแล้วหรือ ถึงต้องไปเลือกคนอื่นมา ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พรรคตอบคำถามสังคมได้ยากมาก
เมื่อถามว่า หลังจากนี้พรรคชาติไทยพัฒนาจะเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อ กรธ.หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า พรรคเรามีนายนิกร จำนง กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้ว ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มากประสบการณ์คนหนึ่ง จึงมั่นใจว่าน่าจะสามารถนำข้อเสนอที่พรรคได้มีการหารือกันทางโทรศัพท์ไปเสนอได้ เนื่องจากพรรคไม่สามารถประชุมได้
ม.เกษตรฯขวางเสวนา'เผด็จการ'
เวลา 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์(บางเขน) กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ร่วมด้วยกลุ่มเสรีนนทรี และขบวนการประชาธิป ไตยใหม่ จัดกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะ รู้ทันเผด็จการซีรีส์ 2 ภายในงานจะมีการเสวนาภายใต้หัวข้อ "จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน : เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย" มีนายธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.อุลัยรัตน์ ชูด้วง ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากรการเสวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงเวลาจัดเสวนา มีคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเข้ามาแจ้งกลุ่มผู้จัดงานว่า ไม่สามารถอนุญาตให้จัดงานได้ เนื่องจากกลุ่มผู้จัดงานทำเรื่องขออนุญาตจัดสถานที่ไม่ถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่ได้ยกโต๊ะ เก้าอี้ของงานออกนอกบริเวณ
ตัดไฟไล่น.ศ.จัดกิจกรรม
ต่อมากลุ่มผู้จัดงานและนักศึกษาได้หารือกันว่า เมื่อไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ก็จะขอจัดงานเช่นเดิม ซึ่งทุกคนได้นั่งรอบวงกันเพื่อเสวนาพูดคุย บรรยากาศภายในงาน นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าเข้าร่วมฟังกว่า 20 คน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและ นอกเครื่องแบบกว่า 30 นายสังเกตการณ์อยู่โดยรอบบริเวณ
จากนั้นเวลา 17.00 น. มีการตัดไฟฟ้าของตึกดังกล่าว เพื่อไม่ให้ทางกลุ่มผู้จัดงานใช้เครื่องเสียง จากนั้นพ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ ผกก.สน.บางเขน ได้มาเจราจากับกลุ่ม ผู้จัดงาน และอนุญาตให้จัดงานได้ โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์โดยรอบ เนื่องจากล้อมวงพูดคุย ร้องเพลงกันเท่านั้น ไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดข้อหาใด
'เลี้ยบ'สู้คดีแก้สัมปทานดาวเทียม
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลย คดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี้ยบ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติและอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยจำเลยทั้ง 3 เดินทางมาศาล และให้การปฏิเสธ ซึ่งศาลกำหนดนัดตรวจหลักฐานคดี ในวันที่ 25 ธ.ค. นี้ เวลา 09.30 น.
ภายหลัง นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ตนให้การต่อศาลแล้ว จะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรอีก ซึ่งศาลกำหนดให้ยื่นภายใน 30 วัน นับจากวันนี้ ตนได้ประกันตัวซึ่งศาลมีเงื่อนไขเหมือนคดีที่ผ่านมา ที่ห้ามออกนอกประเทศ หลังจากนี้เตรียมตรวจหลักฐานคดีอีกครั้งเดือนธ.ค.นี้
ดีเอสไอสั่งพักงาน'ซี 8'ทุจริต
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยพ.ต.ต.สุริยา สิงหกล ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 และพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ร่วมแถลงผลการตรวจสอบข้อร้องเรียน กรณีปฏิบัติงานล่าช้าและการเรียกรับผลประโยชน์ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า กรณีบริษัทดิจิตอล คราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด มีพฤติการณ์กระทำความผิดฝ่าฝืนพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ที่ได้รับการร้องเรียนนั้น ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาล ต่อมาคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายมาแสดงตัวเพิ่มขึ้น จึงแยกออกมาดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาอีกเป็นคดีพิเศษ หลังจากที่พ.ต.ต.สุริยา เข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน จึงเร่งติดตามและปรับแนวทางการทำงานใหม่ทั้งหมด จนสามารถยึดอายัดทรัพย์ 600 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่เป้าหมาย 3 แห่ง พบสลิปฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ
ด้าน พ.ต.ต.สุริยากล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีเงินเข้าบัญชีจริง คือ 1.สลิปฝากเงินเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอผู้ถูกกล่าวหา 20,000 บาท ในวันที่ 16 ส.ค.56 และ 2.เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.55 มีเงินเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอผู้ถูกกล่าวหา 300,000 บาท ตรงกับหมายเลขเช็คคืนเงินประกันตัวผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 114/2555 และพบลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ดีเอสไออยู่ในเช็คสั่งจ่ายผู้ต้องหาด้วย จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวพักราชการ เพื่อรอผลการสอบสวนไว้ก่อน เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาดำเนินการชี้แจง ซึ่งหากมีความผิดจริงก็จะถูกดำเนินการทางวินัยด้วยการให้ออกจากราชการ
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับข้าราชการดีเอสไอที่ถูกสั่งพักราชการ เป็นพนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ เทียบเท่าระดับ 8
ประกวดภาพถ่าย'ปั่นเพื่อพ่อ'
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นประธานมอบโล่รางวัลการประกวดภาพถ่ายในกิจกรรม "Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ทั่วแผ่นดิน" เมื่อ วันที่ 16 ส.ค.2558 ให้กับผู้ชนะการประกวดภาพถ่าย 5 หัวข้อ จำนวน 60 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับโล่รางวัลจากนายกฯ 5 รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 รับโล่รางวัลจากรองนายกฯ 5 รางวัล รางวัลชมเชย รับโล่รางวัลจากรมว.วัฒนธรรม 50 รางวัล โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะคัดเลือกภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล 1,000 ภาพ จัดทำเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำในประวัติศาสตร์ "Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่" พิมพ์ 10,000 เล่ม ออกเผยแพร่ทั่วประเทศต่อไป
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม 'ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad'ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายพิธีการและอำนวยการจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ได้หารือกับทางคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดประกวดภาพถ่ายกิจกรรม เช่นเดียวกับกิจกรรมปั่นเพื่อแม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดหัวข้อในการประกวดภาพถ่ายว่าจะออกในลักษณะใด คาดว่าจะทราบในเร็วๆ นี้
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะซ้อมย่อยในวันที่ 14, 16 พ.ย.นี้ และวันที่ 29 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับการรับมอบเสื้อพระราชทาน ในระหว่างนี้จะมีการแบ่งกลุ่มต่างๆ เพื่อซักซ้อมเตรียมความพร้อมในแต่ละส่วน