WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ทำบญเมอง

พระปกเกล้าชี้ เชื่อมั่น'บิ๊กตู่'พุ่ง ทีดีอาร์ไอค้าน ระบบลต.ใหม่

     สปท.'ถวิลวดี บุรีกุล' อ้างโพลสถาบันพระปกเกล้าที่ร่วมกับสำนักงานสถิติฯ ระบุคะแนนเชื่อมั่น'บิ๊กตู่-คสช.'เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่คนเชื่อมั่นทหารมากกว่าตำรวจ พร้อมแนะกรธ. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเข้มกระบวน การเข้าสู่อำนาจการเมือง เพื่อสกัดระบบ 'โจราธิปไตย' ด้านกรธ.แจงนับทุกคะแนน เป็นธรรมกับทุกพรรค ลั่นถ้าพรรคคัดคนดีมีความสามารถลงสนามแข่ง อาจได้คะแนนล้นหลาม ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ประธานทีดีอาร์ไอก็ค้านระบบจัดสรรปันส่วนผสม เชื่อได้รัฐบาลอ่อนแอแน่ แนะยึดระบบรัฐสภา-รธน.ห้ามแก้ยากเกินไป เพื่อไทยย้ำจุดยืน หนุนระบบเลือกตั้งแบบเดิม กาบัตร 2 ใบ อดีตรมช.'ยรรยง พวงราช' จี้รัฐบาลแถลงตัวเลขข้าวเน่า ให้เร่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้เก็บข้าวตามสัญญา'วิษณุ'ย้ำคำสั่งคสช.คุ้มครองเจ้าหน้าที่ทำคดีสุจริต เชื่อมีคนลองของ-ฟ้องคนทำคดีข้าว

วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9111 ข่าวสดรายวั

ทำบุญเมือง - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกอบพิธีบวงสรวงทำบุญเมือง เพื่อให้เกิดความสงบสุข ที่วัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มีครูบาอริยชาติ อริยจิตโต เจ้าอาวาส ประธานฝ่ายสงฆ์ เมื่อ 7 พ.ย.

 

'บิ๊กตู่'ห่วงอนาคตประเทศ

     เมื่อวันที่ 7 พ.ย. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เขียนข้อความแสดงความในใจระบุถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันและสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตว่า การกำหนดอนาคตประเทศไทยในระยะปฏิรูป ทั้งในปัจจุบัน หลังเลือกตั้งและอนาคต ไม่ควรถูกกำหนดโดยนักการเมืองหรือฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องช่วยกันปฏิรูป วางพื้นฐานประเทศให้เข้มแข็งในระยะเปลี่ยนผ่าน สร้างประชาธิปไตยไทยให้มั่นคง ยั่งยืน แก้ปัญหาที่เป็นกับดักประเทศมายาวนาน

     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดขณะนี้ คือความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการลงทุนประเทศ การปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การปรับโครงสร้างเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การสร้างนวัตกรรมการศึกษา วิจัย และพัฒนา การหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความสมดุลกับสิ่งที่รัฐต้องลงทุนเป็นสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างเหมาะสมและตามขีดความสามารถที่มีอยู่ มากกว่าหวังผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว และสร้างการรับรู้ของประชาชนให้มากขึ้นในทุกมิติ

วอนอย่าเปิดประเด็นขัดแย้ง

       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯเน้นว่า ประชาชนต้องรู้เท่าทันทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และรัฐบาลต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งการเมือง การบริหาร การมีส่วนร่วมโดยไม่สร้างความขัดแย้ง ใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่า ยกระดับอาชีพและรายได้ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกเรื่องอย่างเป็นธรรม เมื่อประเทศชาติและประชาชนเข้มแข็งจากภายในประเทศ จะมีประชาธิปไตยที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นสากลโดยสมบูรณ์

      โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกฯได้กล่าวว่าสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือ การพูดจาให้ร้าย ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมทำงานตามหน้าที่ มีการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม เสนอข่าวที่เป็นความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ทำให้ประเทศถูกมองว่ายังไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นอันตรายที่สุดในขณะนี้ จึงอยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่เปิดประเด็นขัดแย้งใหม่หรือขยายความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น คนไทยจะต้องทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลดลง เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับคนทั้งในและต่างประเทศ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายทุกคน ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

'ดอน'เชื่อต่างชาติเข้าใจมากขึ้น

     ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวระหว่างการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรปว่า ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป มีผู้สอบถามสถานการณ์ในไทยอยู่บ้าง ตนได้อธิบายว่ารัฐบาลทหารของไทย มีรูปแบบที่ต่างจากภาพที่ต่างชาติคิด โดยไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ สื่อสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้ และไม่คิดจะอยู่ยาว เพียงแต่ในประเทศ มีผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาอยู่ไม่กี่คนที่รัฐบาลต้องดูแล หากจะเอาภาพของคนไม่กี่คนมาแทนว่าทั้งสังคมขาดเสรีภาพคงไม่ได้

     รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ได้อธิบายเป้าหมายของรัฐบาล คือการปฏิรูปและ สร้างประชาธิปไตยที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้เล่าเรื่องโครงการจำนำข้าวที่ใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงความขัดแย้งระหว่างคนในสังคม ว่าเป็นปัญหาที่ต้องดูแลไม่ให้เป็นวงจรและเกิดขึ้นอีก ตนยอมรับว่าที่ผ่านมา ต่างชาติอาจไม่เข้าใจรัฐบาลเนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการชี้แจงสื่อสารไม่ครบถ้วน และไม่รายงานให้ผู้ที่ควรจะรายงาน แต่เชื่อว่าหลังการพูดคุย ต่างชาติเข้าใจไทยดีขึ้น และตนได้ชวนผู้แทนประเทศต่างๆ เดินทางมาประเทศไทย เพื่อให้เห็นกับตาว่าไทยมีความสงบสุข

สปท.นัดถกความเห็นร่างรธน.10 พย.

     ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ร.อ. ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ(สปท.) มีคำสั่งนัดประชุมครั้งที่ 8/2558 ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน อภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอวิธีการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงาน

     นอกจากนี้ ประธานสปท.ได้นัดประชุมครั้งที่ 9/2588 ในวันที่ 10 พ.ย. ที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนคือ การอภิปรายแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ต่อไป

กรธ.ยันระบบเลือกตั้งใหม่ไร้ปัญหา

     นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ระบบการเลือกตั้งที่กรธ.ออกแบบว่าจะเกิดการทุจริตที่รุนแรงและรัฐบาลจะอ่อนแอว่า ตนไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น กรธ.พยายามออกแบบให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด รูปแบบการเลือกตั้งนี้ หากพรรคคัดสรรส่งคนที่ดีที่สุดมาให้ประชาชนเลือกในทุกเขต พวกเขาอาจจะได้คะแนนส.ส.เขตแบบล้นหลามได้ อาจเกินครึ่งหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นว่าระบบนี้จะทำให้เป็นรัฐบาลผสมเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากไม่อยากได้รัฐบาลผสม แต่ละพรรคก็ต้องคัดเลือกคนดี มีความสามารถ และออกแบบนโยบายของพรรคให้ดี

     นายอมร กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลว่าจะทำให้การทุจริตรุนแรงมากขึ้นนั้น รัฐธรรมนูญยังมีกลไกอื่นๆ เพื่อป้องกันการทุจริต เช่น บทลงโทษของคนทุจริตที่จะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต หรือการยุบพรรคที่ยังมีอยู่ หากกรรมการหรือคนทั้งพรรครู้เห็นและทำการทุจริต ซึ่งเราจะไปลงรายละเอียดอีกครั้ง นอกจากนี้หากประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ การซื้อเสียงก็แทบไม่มีผลเมื่อดูจากผลการวิจัยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา

ย้ำทุกคะแนนเป็นธรรมทุกพรรค

    นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวกรณี กรธ.มีแนวโน้มนำคะแนนของประชาชนทุกคะแนนมาคิดคำนวณเพื่อ จำนวนส.ส.ว่า วิธีการดังกล่าวจะเกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค เนื่องจากทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้ไม่ว่าจะลงให้กับพรรคใดจะถูกนำมาคิดคำนวณว่าจะได้ส.ส.เท่าใด ซึ่งหลักการดังกล่าวจะคล้ายกับระบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional : MMP) แต่ของกรธ.จะไม่มีโอเวอร์แฮง คือ ไม่ปล่อยให้จำนวนส.ส.ไหลไปตามทศนิยม เพราะเรากำหนดให้มีส.ส. 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน หลักการที่เราคิดแบบนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนลงคะแนนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีบัตรเลือกตั้งแค่เพียง 1 ใบ และนับคะแนนของทุกคน เท่ากับว่าคะแนนของทุกคนจะมีความหมาย เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคต้องพิถีพิถันคัดสรรคนที่ดีที่สุดลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนนโยบายพรรคก็ต้องแน่น นำไปสู่การพัฒนาระบบการเมืองที่แข็งแรง ท้ายที่สุดพรรคนายทุนจะค่อยๆ หายไป

     "เราฟังเสียงทุกเสียงที่สะท้อนมา ติติงอย่างไร เราฟังหมด เนื่องจากกรธ.ทั้ง 21 คนไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญมาใช้กันเอง แต่เราร่างให้คนทั้งประเทศโดยเฉพาะรุ่นใหม่ได้ใช้และเป็นแนวทางคิดหลักการต่อในอนาคต และการกำหนดหลักการเลือกตั้งแบบนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกพรรคได้แสดงฝีมือและแข่งขันกันอย่างจริงจัง" นายชาติชายกล่าว

สัปดาห์หน้าถกหมวดองค์กรอิสระ

      นายชาติชาย กล่าวต่อว่า ส่วนที่กรธ.กำหนดให้มีกกต. 7 คน เนื่องจากเราพิจารณาจากปัญหาการทำงานของกกต.ที่ผ่านมา โดยกกต.กลางมี 5 คน แต่ขอบเขตการทำงานมาก จัดการเลือกตั้งและต้องทำหน้าที่สืบสวนการทุจริตการเลือกตั้งด้วย จึงเห็นว่าควรมีกกต.เพิ่มขึ้นอีก 2 คน เพื่อมาช่วยกันทำงาน เน้นให้ทำงานแบบองค์คณะ เราเห็นความสำคัญของกกต.กลาง จึงควรมีบทบาทที่เข้มข้นขึ้น

นายชาติชายกล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญนั้น สัปดาห์หน้า กรธ.จะพิจารณาเนื้อหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะพิจารณาในส่วนของกกต. จากนั้นจะไล่เรียงไปยังองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ

พท.ย้ำจุดยืนเลือกตั้ง 2 ใบ

     นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรธ.ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่เป็นแบบใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบเพื่อเลือก ส.ส.แบ่งเบต แล้วนำคะแนนทั้งหมดไปคำนวณหาที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อว่า เรายังยืนยันว่าระบบการเลือกตั้งแบบเดิม ที่เดินเข้าคูหามีบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคน อีกใบเลือกพรรค มันเป็นระบบที่อธิบายเจตนาของผู้เลือกได้ชัดเจนว่าเขาจะเลือกคนในเขตคนใด และเลือกพรรคใด ฉะนั้น การเปลี่ยนวิธีใช้บัตรใบเดียวโหวตเราไม่สามารถแยกเจตนาของผู้ลงคะแนนได้ว่าเขาเลือกพรรคหรือเลือกคน การที่เหลือบัตรใบเดียวเหมือนไปบังคับให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ซึ่ง มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตย หลักคือให้ผู้เลือกตั้งได้แสดงเจตนาว่าเขาปรารถนาจะมอบอำนาจที่เขามีให้กับใคร

     นายสามารถ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนระบบให้มันยุ่งยาก ทั้งที่หลักการของกรธ.ที่ประกาศออกมา 5 ข้อ 1 ในนั้นก็บอกว่าจะต้องเป็นระบบการเลือกตั้งที่ไม่ยุ่งยากสับสน แต่ระบบใหม่นี้จะยุ่งยากสับสน และถึงเวลาปฏิบัติ มี กกต.กำกับดูแล ถ้าคนใดคนหนึ่งไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ต้องโดนใบเหลืองใบแดง มีปัญหา ในที่สุดก็ประกาศผลคะแนนไม่ได้เลย เพราะมันเอาไปปนกันหมด พรรคยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการแบบนี้ ไม่ทราบว่ามีเจตนาเพื่ออะไร อยากฟังคำอธิบาย จากกรธ.

นักวิชาการหนุนระบบปี 40-50 ดีกว่า

   นายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการออกแบบระบบเลือกตั้งส.ส.แบบใหม่ของกรธ.ว่า ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ทำให้ทุกคะแนนมีคุณค่า ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนตามที่กรธ.เคยบอกไว้ แต่เท่าที่ดู ข้อเสียมีมากกว่าข้อดี คือบิดเบือนวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งในแต่ละแบบ ส.ส.แบบเขตนั้นต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อเรียกร้องปัญหาต่างๆ เนื่องจากระบบการกระจายอำนาจของไทยยังไม่สมบูรณ์ ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อคือการให้โอกาสนักวิชาการหรือคนที่บริหารงานเก่งแต่ไม่ใช่นักเลือกตั้ง ไม่ถนัดลงพื้นที่หาเสียง ดังนั้น ระบบใหม่นี้จึงเหมือนการผิดฝาผิดตัว และระบบพรรคการเมืองจะอ่อนแอ การแข่งขันในพรรคมีสูง ความไม่พอใจจะเกิดขึ้น พรรคขนาดกลางมีความได้เปรียบจะได้ส.ส.เพิ่มขึ้น และเกิดรัฐบาลผสม รัฐบาลก็อ่อนแอ และการทุจริตซื้อเสียงจะมากขึ้น ตนมองว่าหากจะใช้ระบบนี้ดูแล้วระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 ยังจะดูดีกว่า

จรัญหนุนโยกศาลรธน.อยู่หมวดศาล

      ที่องค์การสหประชาชาติ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางที่กรธ.อาจปรับให้ศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดศาลแทนหมวดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญควรอยู่ในหมวดศาล เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการตรวจสอบทั้งระดับการเมืองและระดับรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าให้มีศาลรัฐธรรมนูญแล้วอยู่ในสถานะองค์กรอิสระ จะทำให้มีปัญหาในแง่ของการตรวจสอบ หากตัวบุคคลในองค์กรอิสระถูกครอบงำแล้ว การทำงานจะไม่เกิดประสิทธิ ภาพ รัฐบาลจะมีอำนาจอย่างเต็มที่ และเสียงข้างน้อยจะถูกรังแก ซึ่งปัญหานี้ถือว่าน่า กลัวมาก

     นายจรัญ กล่าวว่า ตนมั่นใจในตัวนาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เพราะตนก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง จึงเชื่อว่าผู้ที่มีความรู้ความสามารถในกรธ. จะไม่ทำให้ประเด็นนี้เป็นปัญหาต่อบ้านเมืองอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นข้อยุติของ กรธ. อาจมีการปรับเปลี่ยนในภายหน้าได้ ส่วนที่มีการนำเสนอออกมาก็เชื่อว่า เพื่อรับฟังความเห็นจากสังคมว่าเป็นอย่างไร และไม่ว่าผลของกรณีนี้จะออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญพร้อมจะยอมรับผลนั้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ชี้ขึ้นศาลทหารควรแค่ศาลชั้นต้น

     เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 17 โดยนายวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง หลักนิติธรรมกับการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า หลักนิติธรรมในปัจจุบันจะไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศาล หรือกระบวน การยุติธรรมเท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงความโปร่งใส ปัญหาการทุจริต ซึ่งหลักนิติธรรมไม่ได้เน้นเพียงอิสรภาพของศาล แต่รวมถึงคุณภาพของศาล และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และในอนาคตจะมีมิติระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

      "หลักนิติธรรมจะต้องเป็นกฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญหลักประชาธิปไตยจะต้องคู่กับหลักนิติธรรม ต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชาธิปไตยต้องป้องกันมากกว่าการแก้ไข ต้องให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมาย ส่วนกรณีใช้ศาลทหารพิจารณาคดี ควรเป็นลักษณะใกล้เคียงกับสภาพศาลพลเรือนมากที่สุด กรณีถูกนำตัวขึ้นศาลทหารต้องขึ้นเฉพาะศาลชั้นต้นเท่านั้น หากมีการอุทธรณ์ ฎีกา ต้องไปที่ศาลพลเรือน ซึ่งผู้พิพากษาจะมีความเป็นอิสระในการพิจารณา" นายวิทิตกล่าว

      นายวิทิต กล่าวว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีการหารือเพื่อกลั่นกรองว่าใครจะเป็นผู้ฟ้องคดี รวมถึงข้อยกเว้นในการแสดงออก กรณีหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในการหารือของสหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ดำเนินการทางแพ่งมากกว่าทางอาญา และเริ่มต้นโทษจากศูนย์มากกว่าเริ่มต้นจาก 3 ปี ขณะที่กระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น เห็นว่าดีขึ้นในหลายส่วน

ทีดีอาร์ไอ ชี้อย่าใส่ทุกอย่างในรธน.

     นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อภิปรายหัวข้อ "หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย : ต่างมุมมอง ต่างความเข้าใจ จุดหมายเดียวกัน" ตอนหนึ่งว่า ความขัดแย้งในประเทศไทยมาจากคน 2 กลุ่ม คือเสื้อแดง เสื้อเหลือง ถึงแม้ปัจจุบันไม่ได้แสดงออกมา แต่รากเหง้าความคิดยังมีอยู่ การจะให้ทั้ง 2 ฝ่ายออกจากความขัดแย้งทางการเมือง คือจะต้องไปสู่ประชาธิป ไตยที่สมบูรณ์ อาทิ ต้องมีการออกแบบความสมดุล มีนิติรัฐโดยเพิ่มบทบาทในบางเรื่อง รัฐสภาต้องมีบทบาทมากขึ้น มีการกระจาย อำนาจมากขึ้น ลดบทบาทองค์กรอิสระให้ตรวจสอบเฉพาะการละเมิดด้านกฎหมาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเสนอกฎหมาย

     นายสมเกียรติ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเป็นรถยนต์ จะพบว่าในการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง รถคันนี้จะมีสัมภาระเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีถ้อยคำมากขึ้น เพราะเราเอาทุกอย่างไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วนำทุกเรื่องไปฝากไว้กับองค์กรอิสระ ดังนั้น ความขัดแย้งเลยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ องค์ประกอบของรถรัฐธรรมนูญต้องมี 3 ส่วน คือ 1.คันเร่ง หมายถึงจะต้องมีรัฐที่เข้มแข็ง 2.เบรก คือต้องมีนิติรัฐที่เหมาะสม 3.พวงมาลัย คือต้องมีรัฐบาลที่สะท้อนและต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน


ข้าวปุก - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กโชว์ "ข้าวปุก" ขนมพื้นบ้านจังหวัดเชียงราย ที่พี่สาวส่งให้รับประทาน ระบุทำให้นึกถึงข้าวจี่ภาคอีสาน เป็นสัญญาณว่าลมหนาวจะมาเยือน เมื่อวันที่ 7 พ.ย.

เชื่อระบบเลือกตั้งใหม่ได้รบ.อ่อนแอ

      นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.จัดทำอยู่ จะเห็นว่า เบรก คือรัฐสภาและองค์กรอิสระ ส่วนคันเร่งคือ ระบบเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ซึ่งตนมองว่าตัวระบบเลือกตั้งจะเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าเราจะได้รัฐบาลที่ดีหรือไม่ ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่กรธ.คิดอยู่ขณะนี้ ตนมองว่าจะทำให้คันเร่งอ่อนลง จะมีปัญหาตามมาคือเราจะได้รัฐบาลที่อ่อนแอ และในอนาคตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องไปทำอะไรอีกมาก เช่น การลงนามเซ็นสัญญาต่างๆ อาจทำไม่ได้ ดังนั้น ถ้าออกแบบให้รัฐธรรมนูญอ่อนแอ คนไทยก็จะไม่พอใจ เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีก

     "ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ 1.รัฐธรรมนูญไม่ควรทำหน้าที่หลายอย่างเกินไป 2.คันเร่งอ่อน เบรกแรง แก้ปัญหาใหญ่ไม่ได้ จึงควรปรับคันเร่งและเบรกให้สมดุลกัน ควรใช้เบรกมาตรฐาน ด้วยกลไกรัฐสภา 3.ไม่ควรให้แก้รัฐธรรมนูญยากเกินไปจนต้องทุบรถ เราไม่ควรให้รัฐธรรม นูญใหญ่ เทอะทะ หรือแก้ยากจนเกินไป ควรเปิดช่องให้มีการแก้ไขเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกหรือปฏิวัติรัฐประหารอีก" ประธาน ทีดีอาร์ไอกล่าว

ชงกรธ.สร้างดุลยภาพปชต.-นิติธรรม

     ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อภิปรายว่า หลักนิติธรรมมีความสัมพันธ์กับหลักประชาธิปไตย เพราะมีความเชื่อมโยงกับประชาชน หลักประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่ใช้ตรากฎหมาย เพราะต้องอยู่ตามหลักความชอบธรรม จึงต้องสร้างดุลยภาพระหว่างหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เพราะที่ผ่านมาประชาธิปไตยของไทยเกิดปัญหา เช่น ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเกิดความขัดแย้ง จนศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้หลักนิติธรรมวินิจฉัยปัญหา รวมถึงการทุจริตเชิงนโยบาย ความไม่ชัดเจนของนโยบายประชานิยม

      "การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องสร้างดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตย และนิติธรรม ทั้ง 2 หลักจะต้องเชื่อมโยงกัน แยกไม่ได้ และต้องร่างให้ครอบคลุมเพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้เฉพาะพระราชบัญญัติ โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจะสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้น หากมองลึกเรื่องขัดแย้ง ต้องดูประเด็นความขัดแย้ง หากเกิดจากรัฐ หลักนิติธรรมต้องอยู่เหนือหลักประชาธิปไตย ยกตัวอย่างการเมืองเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างดุลยภาพให้มีหน่วยงานถ่วงดุลระบบรัฐสภา หรือระบบเสียงข้างมาก เพื่อพิทักษ์กติกาประชาธิปไตยและนิติรัฐ หากมองกลับมาระบบรัฐสภาไทย ยังมีปัญหาเพราะยังเป็นระบบสภาเดียวคือเสียงข้างมาก คือฝ่ายรัฐบาล ทำให้การตรวจสอบเกิดปัญหา" นายบรรเจิดกล่าว

ชี้รธน.ใหม่ต้องสกัด"โจราธิปไตย"

    ขณะที่นางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิกสปท.และผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวอภิปรายตอนหนึ่งว่า ในเวทีวิชาการของนักประชาธิปไตย ที่ประเทศเกาหลี อภิปรายไว้ว่า ภัยที่คุกคามและสิ่งท้าทายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศประชาธิปไตยใหม่คือ "โจราธิปไตย" (Kleptocracy) หมายถึงรัฐโจร ถือว่าท้าทายนิติธรรมมาก เป็นภัยคุกคามสำคัญ เป็นรัฐที่ปกครองโดยผู้ปกครองที่มีพฤติกรรมเยี่ยงโจร ปล้นสมบัติชาติ สมบัติสาธารณะ สมบัติประชาชนไปเป็นของตนและพวกพ้อง ด้วยกระบวนการทางการเมือง นโยบาย บริหารราชการแผ่นดิน และกระบวนการกฎหมายปกติไม่สามารถจัดการได้ หลักการของนิติธรรมที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหา โจราธิปไตยได้

   นางถวิลวดี กล่าวว่า ทั้งนี้ มีทางแก้ไขคือสังคมต้องช่วยกันร่วมสร้างวัฒธรรมของการมีธรรมาภิบาล เลือกผู้นำที่ดี ที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม และมีสำนึกรับผิดชอบ พร้อมรับผิดเมื่อตนเองทำผิด จะทำให้เปิดช่องให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรม และรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเข้มกระบวนการเข้าสู่อำนาจการเมือง เพื่อสกัดระบบโจราธิปไตย

โพลพระปกเกล้า-บิ๊กตู่คะแนนเพิ่ม

   นางถวิลวดี เปิดเผยผลงานวิจัยระหว่างสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2558 วันที่ 1-22 เม.ย. 2558 จากประชากร 33,420 คน พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ร้อยละ 58.8 เชื่อมั่นสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ร้อยละ 57.6 ส่วนความเชื่อมั่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 87.5 และคสช.อยู่ที่ร้อยละ 85.9 จากเดิมที่คสช.เริ่มเข้ามาในปี 57 ความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 43.7 ขณะที่ความเชื่อมั่นของรัฐบาลและครม.อยู่ที่ร้อยละ 78.8 จากเดิมในปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 38.1

     ส่วนความเชื่อมั่นของสถาบันพรรค การเมือง อยู่ที่ร้อยละ 41.4 โดยในปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 29 และที่น่าสนใจคือคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนสูงสุดใน 5 จังหวัดคือ สมุทรสาคร พิจิตร สงขลา ตาก และชุมพร

ชาวบ้านเชื่อมั่นทหารมากกว่าตำรวจ

    นางถวิลวดี กล่าวว่า ส่วนความเชื่อมั่นต่อข้าราชการในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ปี 58 พบว่าข้าราชการพลเรือนได้รับความมั่นใจสูงสุด ร้อยละ 73.8 รองลงมาคือผู้ว่าราชการจังหวัด ร้อยละ 70.3 และเจ้าหน้าที่ที่ดิน ร้อยละ 63.1 ส่วนความเชื่อมั่นต่อทหารอยู่ร้อยละ 85.9 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อตำรวจอยู่ที่ ร้อยละ 62.5 ความเชื่อมั่นต่อศาล พบว่าลำดับที่ 1 คือศาลยุติธรรม ร้อยละ 83.6 รองลงมาคือศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 80.4

     ส่วนความเชื่อมั่นต่อองค์กรด้านการตรวจสอบพบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับความเชื่อมั่นสูงสุด ร้อยละ 69.9 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ร้อยละ 67.6 คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ร้อยละ 64.3 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ร้อยละ 63.5

     ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อองค์กรด้านการ ให้คำปรึกษา พบว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ร้อยละ 59.3 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร้อยละ 56.9 ส่วนความเชื่อมั่นต่อองค์กรชุมชน อยู่ที่ร้อยละ 41.8 และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ร้อยละ 38.3

โพลหนุน"จัดสรรปันส่วนผสม"

     กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับแนวคิดการเลือกตั้งแบบใหม่ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" จากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,229 คน วันที่ 3-5 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 86.9 เห็นด้วยมากที่สุดกับข้อดีของแนวคิดการเลือกตั้งแบบใหม่ในประเด็น "การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวทำให้เข้าใจง่ายในการลงคะแนน" ร้อยละ 81.0 เห็นด้วยกับประเด็น "คุณสมบัติของ ผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้งที่กำหนดให้ใครที่ทุจริตการเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต"

      ร้อยละ 69.8 เห็นด้วยกับประเด็น "การเลือกตั้งระบบใหม่เป็นการคำนึงถึงคะแนนของประชาชนทุกเสียงที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยคะแนนเสียงที่ไม่ได้รับเลือกจะไม่ถูกตัดทิ้งไป" ร้อยละ 69.6 เห็นด้วยกับประเด็น "การเลือกตั้งระบบใหม่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนออกมาเลือกตั้ง เพราะถึงแม้ส.ส.ที่ตนเลือกไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ยังสามารถเอาไปนับรวมในระบบบัญชีรายชื่อได้" และร้อยละ 64.5 เห็นด้วยกับประเด็น "การเลือกตั้งระบบใหม่เป็นวิธีการปรองดอง คือให้คะแนนเฉลี่ยกับทุกพรรคการเมืองตามสมควร"

     ทั้งนี้ ร้อยละ 61.9 ชอบแนวคิดการเลือกตั้งแบบใหม่ "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" มากกว่า ขณะที่ร้อยละ 27.4 ชอบการเลือกตั้งระบบเดิมมากกว่า ที่เหลือร้อยละ 10.7 ไม่แน่ใจ ส่วนการเลือกนายกฯนั้น ร้อยละ 73.4 ต้องการเลือกนายกฯได้เองโดยตรง ขณะที่ร้อยละ 21.8 ต้องการเลือกโดยผ่านส.ส.ในสภา และร้อยละ 4.8 ไม่แน่ใจ

"วิษณุ"เชื่อมีคนลองของฟ้องจนท.

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. มอบหมายให้ชี้แจงการดำเนินการเรียกรับผิดทางแพ่งโครงการจำนำข้าวว่า ได้คุยกับโฆษกรัฐบาลแล้ว ให้รออีกระยะหนึ่ง ไม่ต้องรีบ ตนตอบคำถามเรื่องนี้ทุกวัน ประชาชนไม่ได้ตกข่าวเลย ถ้ามีอะไรที่ควรจะรู้มากกว่านี้ ตนจะบอก ส่วนที่นายกฯ ระบุจะเอาข้าวส่วนหนึ่งที่เสื่อมสภาพไปเผาใช้เป็นพลังงานได้อย่างเดียวนั้น คงต้องถามคนที่รู้ในเรื่องดังกล่าว

      เมื่อถามว่า การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.คุ้มครองเจ้าหน้าที่บริหารจัดการข้าว ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 คุ้มครองตรงนี้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คุ้มครองทุกอย่าง หากทำอยู่บนพื้นฐานสุจริต แต่ถ้าเผาโดยไม่สุจริตถือว่ามีความผิด และเมื่อถึงเวลา อย่าคิดว่าจะฟ้องไม่ได้ คงมีคนลองฟ้องเจ้าหน้าที่อยู่ดี คำสั่งนี้ไม่ได้ห้ามฟ้อง แต่คุ้มครองความรับผิด เริ่มต้นคือฟ้องก่อน ส่วนจะรับผิดหรือไม่ ต้องดูว่าสุจริตหรือไม่

ย้ำคำสั่งม.44 คุ้มครองคนสุจริต

      "เหตุผลของคำสั่งดังกล่าว คือไม่ต้องการให้ตระหนกว่าจะต้องรับผิดหากทำโดยสุจริต และให้ตระหนักว่าไม่สุจริตโดนแน่ เพราะหลายคนทำโดยกระหยิ่มยิ้มย่องว่าไม่มีปัญหา เชื่อคสช.ซะอย่าง อีกพวกหนึ่งกลัวว่าหากคสช.ไปแล้ว คนอื่นเข้ามาแล้วฟ้อง หรือตั้งกรรมการสอบวินัย สั่งพักงานหยุดงาน เราต้องการให้คนเหล่านี้มั่นใจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ ถ้าสุจริตปลอดภัยอยู่แล้ว และคำสั่งนี้ยังระบุถึงการทำตามหน้าที่ด้วย คนไม่ได้เกี่ยวแต่เข้าไปทำโดยสุจริตก็มีปัญหา เพราะมีคนเข้าไปทำโดยสุจริตแต่ไม่มีหน้าที่" นายวิษณุกล่าว

     เมื่อถามว่าได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ให้นายกฯ ทราบแล้วหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้รายงานไปแล้ว ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ ถือว่าพ้นจากตนไปแล้ว ต้องให้เวลากับนายกฯ

ยรรยงจี้"บิ๊กตู่"ยกเลิกคำสั่งคสช.

     นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตามที่ นายกฯ แถลงว่าข้าวในสต๊อกรัฐบาล เป็นข้าวเสียมากกว่าข้าวดี และเสียใจที่ต้องขายข้าวไปทำพลังงานเพราะเหมือนเอาหยาดเหงื่อชาวนามาเผาทิ้ง การแถลงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือน จะมีผลทำให้ราคาข้าวไทยทรุดหนัก ทำนองเดียวกับการพูดเรื่องปิดประเทศทำให้ตลาดหุ้นร่วงกว่า 15 จุด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนต่อประชาชนโดยเร็ว และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

       1.ข้าวเน่าเสียจริงที่จะขายให้ผู้ผลิตพลังงานมีปริมาณเท่าใด เพราะข้อมูลที่เปิดเผยโดยรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ขัดแย้งกันเองและสับสนมาก ล่าสุดระบุว่ามีเพียง 1 แสนกว่าตัน บางครั้งระบุว่าหลายล้านตัน ข้อมูลดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้องและบิดเบือนมาก เพราะข้าวสารที่ขายในช่วงรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กว่า 10 ล้านตัน และที่ขายได้แล้วในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 5 ล้านตัน รวมข้าวคุณภาพดีที่ขายไปแล้วกว่า 15 ล้านตัน ข้าวที่เหลือในสต๊อกรัฐบาล ขณะนี้ 13.7 ล้านตัน ที่เป็นข้าวเน่าเสียจริงๆ จึงไม่น่าถึง 2 แสนตัน ซึ่งมีผู้รับผิดชอบตามสัญญาอยู่แล้ว

    2.รัฐบาลต้องเร่งรัดฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้รับผิดชอบตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าคลัง สัญญาฝากเก็บข้าวและสัญญาประกันภัยโดยด่วน แต่ต้องให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และ 3.ขอให้เร่งยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 39/2558 เพื่อคืนสิทธิในการต่อสู้ฟ้องร้องคดีแพ่ง คดีอาญาและคดีปกครอง ให้แก่ชาวนา เจ้าของโรงสี เจ้าของโกดัง และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติของรัฐโดยด่วนที่สุด

แนะรัฐเรียกค่าเสียหายจากผู้เก็บข้าว

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีพล.อ. ประยุทธ์ ระบุเสียใจที่นำหยาดเหงื่อชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวมาเผาทิ้งว่า เสียใจยิ่งกว่า เพราะการบอกว่าการตรวจคลังข้าว พบว่าข้าวสภาพดีเหลือน้อยมาก คำถามคือนายกฯ จะเสียเวลาไปตรวจให้สิ้นเปลืองงบประมาณทำไม เพราะสามารถระบายข้าวในโกดังในสภาพข้าวดีได้เลย หรือถ้าพบข้าวไม่ดีตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ รัฐเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เก็บข้าวตามสัญญาได้อยู่แล้ว หากตรวจพบว่ามีข้าวเสื่อมสภาพ ต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของโกดังผู้รับฝาก จะได้ไม่มีใครเอาเรื่องนี้มาป้ายสีใส่รัฐบาลที่แล้วอีก หากมีข้าวเน่า ข้าวเสีย ที่ต้องเอาไปเผาหรือขายในราคาถูกให้อุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาลต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับฝาก

     นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าต้องออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้เจ้าหน้าที่ระบายข้าวให้เกิดกำไรมากที่สุดนั้น มองไม่ออกว่าเจ้าหน้าที่จะทำกำไรให้มากที่สุดได้อย่างไร เพราะการระบายสินค้าที่รัฐเข้าไปแทรกแซงแล้วได้กำไรนั้นเกิดขึ้นได้ยาก และโครงการรับจำนำข้าว ทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวนาตามมาตรา 84(8) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงไม่สามารถเอากำไรขาดทุนมาเป็นตัวกำหนดได้ รัฐไม่ได้ทำการค้าแสวงหากำไรจากชาวนาถึงจะต้องคำนึงถึงผลกำไร ขาดทุน ส่วนที่นายกฯ บอกว่าไม่ได้ต้องการให้เจ๊งหรือเล่นงานใครนั้น ถือเป็นหลักการที่พึงปฏิบัติเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การดำเนินการตรวจสอบที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตั้งธง ไม่สองมาตรฐาน จะทำให้สังคมได้พิสูจน์ความจริง เชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ

"ปู"โพสต์อวดข้าวปุกของดีคนเหนือ

    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความและภาพถือข้าวปุกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม มีข้อความระบุว่า "พี่สาวส่งข้าวปุกมาให้ เป็นขนมพื้นบ้านของทางภาคเหนือ หาทานได้แถวๆ จังหวัดเชียงราย เห็นแล้วทำให้นึกถึงข้าวจี่ของภาคอีสานเพราะมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ข้าวปุกทำจากข้าวกล่ำดอยนึ่งสุก แล้วตำจนละเอียดเอามาย่างให้กรอบ และทาน้ำอ้อยผสมงาดำลงไป มีรสชาตินุ่ม หอมข้าว งา หวานน้ำอ้อย รสชาติของงาดำนั้นจะต่างจากงาทั่วไปเพราะมีรสชาติหอมคนละแบบกัน เป็นของพื้นบ้านท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ หาทานได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งมีเฉพาะหน้าหนาว ดิฉันเห็นข้าวปุกแล้ว เหมือนเป็นสัญญาณที่จะบอกว่า หน้าหนาวกำลังจะมาถึงแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพเพื่อเตรียมรับลมหนาวกันด้วยนะคะ"

แจ้งข้อหาอดีตบิ๊กอตก.เขต 8 คดีข้าว

   วันที่ 7 พ.ย. รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่าต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา คณะทำงานได้รายงานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2546-47 ที่มีนายเมธี ครองแก้ว เป็นประธานว่า จากการที่คณะอนุกรรมการมีมติแจ้งเมื่อเดือนมิ.ย. 2558 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหานายวิโรจน์ รวงผึ้งทอง เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอำนวยการสำนักงานองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) เขต 8 ทำหน้าที่หัวหน้าคลังสินค้าดีลักกี้กับพวก คือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เมื่อครั้งเป็นผู้บริหารบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด (ปัจจุบันบริษัทล้มละลายแล้ว) นายนิมล รักดี หรือโจ คนใกล้ชิดนายอภิชาติ และบริษัท เพรซิเดนท์ฯ ฐานกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ กรณียอมให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงสีพืชสุวรรณธัญญากิจ และโรงสีอื่นๆ นำข้าวสารปีการผลิต 2545-46 เข้าเก็บในคลังสินค้าลักกี้ จ.นครสวรรค์ ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2546-47 ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายกฯขณะนั้น ตามที่แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วนั้น ขณะนี้นายอภิชาต นายนิมล และบริษัท เพรซิเดนท์ฯ ยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหา

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอภิชาติ นายนิมล และบริษัท เพรซิเดนท์ฯ เคยถูกป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกับนายประทีป อยู่สถาพร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการอ.ต.ก. เขต 9 จ.อุทัยธานี โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคลังสินค้าของบริษัท พิจิตรโรงสีร่วมเจริญ 2 ไรซ์ จำกัด และหัวหน้าคลังสินค้าของบริษัท สยามกสิกิจไรซ์มิลล์ จำกัด ว่ามีพฤติการณ์ทุจริตโครงการรับจำนำข้าวพิจิตร เมื่อปี 2546/2547 คาดว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 1 พันล้านบาทด้วย และต้นปี 2558 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)โดยมิชอบ แก่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ พร้อมด้วยเอกชนอีกหลายราย ซึ่งปรากฏชื่อนายอภิชาติ และนายนิมล เป็นหนึ่งในผู้ถูกชี้มูลด้วย และขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!