WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1เอกอครราชทตเยอรมน

พท.บี้เลิกคำสั่ง ม.44ข้าว วิษณุไม่ตอบโต้ บิ๊กตู่โอดเหนื่อย แต่ก็ทำเพื่อชาติ! 'พ่อเฌอ'เดินอีก

      พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์บี้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 กรณีข้าว ชี้ไม่มีเหตุผล ไม่จำเป็นขัดหลักนิติธรรมและขัดประกาศคสช.เสียเอง อีกทั้งเลือกปฏิบัติ ด้านวิษณุขอรับฟังไว้เฉยๆ ไม่ตอบโต้ใดๆ เตรียมจัดเวลาชี้แจงเรื่องดังกล่าวตามที่"บิ๊กตู่"สั่งการ ส่วนระบบเลือกตั้งใหม่จัดสรรปันส่วนผสมเป็นการโยนหินถามทางที่จะทำอย่างไรให้ไม่มีการซื้อเสียงและเคารพทุกคะแนน มั่นใจมีชัยเข้าใจระบบการเลือกตั้งแบบนี้ดี ปชป.ยื่นแล้วข้อเสนอให้ประธานกรธ. ชงแนวทางร่างรธน.ใหม่ แนะลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจให้ประชาชน 'ประยุทธ์'โอดไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้ บางวันเหนื่อย ท้อแท้ ไม่อยากมาทำงาน แต่ต้องสู้เพื่อประเทศชาติ

วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9108 ข่าวสดรายวัน

เข้าเยี่ยม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้การต้อนรับนายเพเทอร์ พรือเกิล เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ที่เข้าเยี่ยมคารวะและพบปะพูดคุยในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย.

 

พท.แถลงค้านม.44 สต๊อกข้าว

    เมื่อวันที่ 4 พ.ย. พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารการจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้รับผิด ลงวันที่ 30 ต.ค.58 โดยอ้างความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการและการเก็บรักษาข้าวที่คงเหลือไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องดำเนินการต่อผู้รับผิด เพื่อชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอ อีกทั้งเงื่อนไขในการออก คำสั่งยังไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงขอคัดค้านการออกคำสั่งดังกล่าว ด้วยเหตุผล ดังนี้

     1.การบริหารจัดการข้าวไม่ว่าจะเก็บรักษา การระบาย หรือการดำเนินการต่อผู้รับผิด เพื่อชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ ถือเป็นงานประจำของฝ่ายบริหารที่ทำมาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล รวมทั้งมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่มีความเร่งด่วน หรือเป็นการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามมาตรา 44 ที่นำมาเป็นข้ออ้างในการออก คำสั่ง

ขัดกับประกาศคสช.หลักยุติธรรม

     2.คำสั่งตามมาตรา 44 ที่ให้อำนาจแก่คนคนเดียวออกคำสั่งในทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง ที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้หรือพึงใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่เหตุผลที่อ้าง เพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารจัดการข้าวของรัฐที่กระทำไปโดยสุจริต ให้พ้นจากความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัยนั้น ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องออกเป็นคำสั่งดังกล่าวอีก เนื่องจากผู้ที่กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้แล้ว

     3.การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว ยังขัดกับหลักการตามประกาศคสช. ฉบับที่ 63/2557 เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ลงวันที่ 12 มิ.ย.57 ที่ผู้ออกคำสั่งประกาศว่า "ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจะต้องปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนที่สาธารณชนตรวจสอบได้ หลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการบังคับใช้กฎหมาย นำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ" แต่ผลของคำสั่งที่ 39/2558 ที่ปิดกั้นโอกาสของผู้เสียหายไม่ให้เรียกร้องความชอบธรรมด้วยการใช้สิทธิทางศาล ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

สวนทางกับถ้อยแถลงผู้ยึดอำนาจ

    4.ข้ออ้างยึดอำนาจการปกครอง ดังปรากฏในประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ 22 พ.ค.57 "ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย" รวมถึงถ้อยแถลงทางวาจาของผู้ออกคำสั่งที่แสดงต่อสาธารณะในแทบทุกโอกาส เรียกร้องให้ทุกคนเคารพกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงขัดกันโดยสิ้นเชิงกับการออก คำสั่งที่ 39/2558 ที่ผู้ออกคำสั่งกับพวกกลับเป็นฝ่ายหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเอง

      5.ผลการศึกษาปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยจากทุกสถาบันเห็นตรงกันว่า มีสาเหตุสำคัญมาจากการเมือง การปกครอง กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีการเลือกปฏิบัติในลักษณะสองมาตรฐาน คสช.ก็ตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงออกประกาศฉบับที่ 63/2557 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพและดำเนินการตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น การออกคำสั่งที่ 39/2558 นอกจากจะละเมิดต่อหลักนิติธรรมและเลือกปฏิบัติแล้ว ยังทำลายหลักการที่ตนเองประกาศทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร เท่ากับหัวหน้า คสช.เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเสียเอง

นิรโทษล่วงหน้าเช่นเดียวกับปฏิวัติ

      6.การอ้างคำว่าสุจริต แล้วออกกฎหมายหรือคำสั่งยกเว้นความรับผิดไว้ล่วงหน้า เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการในกระบวนการยุติธรรม และกลายเป็นสิ่งที่ทำจนเป็นบรรทัดฐาน หน้าที่การพิสูจน์การ กระทำว่าสุจริตหรือไม่ ต้องเป็นของคนกลางคือศาลหรือสถาบันตุลาการที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ไม่ใช่ให้ตัวผู้กระทำซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิสูจน์หรือบอกกับสังคมเองดังที่ทำมาตลอด

      การออกคำสั่งที่ 39/2558 จึงเป็นเช่นเดียวกันกับการยึดอำนาจการปกครองที่อ้างว่ากระทำโดยสุจริตเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ แต่กลับนิรโทษกรรมตนเองและบริวารให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาไว้ล่วงหน้า หลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าของอำนาจ หากสุจริตจริง ย่อมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" ดังนั้น คำว่า สุจริต จึงเป็นเพียงวาทกรรมที่นำมาเป็นข้ออ้างกระทำตามอำเภอใจเท่านั้น

      แถลงการณ์ระบุว่า พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.ยกเลิกการออกคำสั่ง ดังกล่าว เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างทั่วถึง เสมอภาคและเท่าเทียมกัน นำมาซึ่งความยุติธรรม ที่เป็นหัวใจสำคัญของความปรองดองที่ ทุกฝ่ายในสังคมไทยปรารถนาให้เกิดขึ้น

ปึ้งถล่มซ้ำ-ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ

      ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประกาศใช้ คำสั่ง คสช.ที่ 39/2558 ที่ใช้มาตรา 44 กับการบริหารจัดการข้าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย จากทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เพราะเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เพื่อปกป้องตนเองและเป็นการกระโดดข้ามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน อยากให้หัวหน้า คสช. นำกลับไปคิดทบทวนใหม่ให้รอบคอบ และ เพิกถอนคำสั่งนี้เสียก็ได้ เพราะการใช้มาตรา 44 ในเรื่องจำนำข้าวไม่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง

      นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเข้ามาแก้ปัญหาประเทศในครั้งนี้ หัวหน้าคสช.พูดไม่รู้กี่ครั้งแล้วว่าจะใช้กระบวนการยุติธรรม และขอให้ทุกฝ่ายเคารพขบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่อยากเห็นตัวท่านเองก้าวข้ามกระบวนการยุติธรรม โดยวิธีพิเศษลัดขั้นตอนเสียเอง ซึ่งจะเป็นการทำลายเครดิตในตัวท่านเองไปหมดสิ้น ความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น

บริสุทธิ์ใจกลัวอะไร-คนดีผีย่อมคุ้ม

       นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ในเมื่อท่านพูดเป็นตุเป็นตะ ว่าท่านเสียสละเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งคนอื่นก็แก้ไม่ได้แบบท่าน ดังนั้น ท่านควรทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนได้เห็นเป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างที่ดีด้วย และถ้าหากท่านหัวหน้า คสช.ได้พิจารณาแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยให้ละเอียดถี่ถ้วน จะได้เข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการยกเลิกคำสั่งคสช.ฉบับนี้


ไปศาลทหาร - นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อน้องเฌอ เดินจากบ้านพักย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี เพื่อเข้ารายงานตัวต่อศาลทหาร กทม. ในวันที่ 5 พ.ย. ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. โดยมีตำรวจและทหารติดตามสังเกตการณ์และบันทึกภาพตลอดทาง เมื่อวันที่ 4 พ.ย.

      "ขอร้องให้ท่านประกาศยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 39/2558 นี้เสีย และทุกคนทำตามหน้าที่ของตนเองไป มีความบริสุทธิ์ใจและสุจริตใจอยู่แล้วจะกลัวอะไร ทำความดีเสียอย่างผีคุ้ม ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้ว" นายสุรพงษ์กล่าว

ป๊อกแก้ต่าง-แค่ให้จนท.ไม่กังวล

      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ. ประยุทธ์ ใช้คำสั่งมาตรา 44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐในการบริหารจัดการข้าวคงเหลือว่า เรื่องนี้นายกฯ อธิบายชัดว่าต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ ขอให้ทำตามที่กฎหมายกำหนด

      เมื่อถามถึงเหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 ในเมื่อสามารถดำเนินการตามกระบวนการปกติได้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่มีอะไร ต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำงานโดยไม่กังวล แต่ต้องทำตามหลักกฎหมาย หากทำโดยกลั่นแกล้ง ไม่ยึดอยู่ในหลักกฎหมาย จะไม่ได้รับการคุ้มครอง

     เมื่อถามถึงกรธ. จะพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นป้องกันการทุจริต พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เข้าใจว่าการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นเรื่องโดยรวมของระบบราชการทั้งหมด คงไม่ระบุที่หน่วยงานใด กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การออกรัฐธรรมนูญไปที่กลุ่มใดคงไม่ใช่รัฐ ธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นหลักการในภาพกว้าง ต้องไปออกกฎหมายลูก แต่ยืนยันว่าทุกภาคส่วนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และถือเป็นวาระสำคัญเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ

"ไก่อู"โต้ลั่น-ไม่ผิดจะกลัวอะไร

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกฯ และรัฐบาลอยากเห็นประเทศหลุดออกจากวงจรข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวไร้สาระ และข่าวความขัดแย้ง อยากเห็นการนำเสนอข่าวเพื่อการพัฒนาประชาชนและประเทศชาติให้มากขึ้น และนายกฯยังฝากถึงอดีตส.ส.หลายคน โดยเฉพาะอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่พยายามปลุกระดมให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนในบางพื้นที่ เพื่อออกมาต่อต้านการดำเนินคดีจำนำข้าว หากเชื่อว่าไม่ผิดก็ควรต่อสู้ด้วยหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรม เหมือนผู้ถูกกล่าวหาในคดีอื่น ไม่ควรปลุกปั่นให้สังคมวุ่นวาย และอาจทำให้ต่างชาติเข้าใจกระบวนการยุติธรรมของไทยผิดไปจากข้อเท็จจริง

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การสร้างวาทกรรมให้เข้าใจว่าการใช้มาตรา 44 กับคดีทุจริตจำนำข้าว เป็นการใช้อำนาจที่เกินความจำเป็น ไม่เป็นธรรมต่ออดีตนายกฯและพวกนั้น ขอย้ำว่าคำสั่งคสช.ที่ 39/2558 ใช้เพื่อการบริหารจัดการข้าวในสต๊อก ที่ต้องดำเนินการด้วยความสุจริตเท่านั้น ส่วนการดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในโครงการจำนำข้าว เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามระบบปกติทุกขั้นตอน ขอให้ทุกส่วนเข้าใจอย่างถูกต้องและไม่ตีความผิดจากข้อเท็จจริง

ประยุทธ์เรียกร้องให้หาต้นตอโกง

     ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดตัวมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต พร้อมผู้บริหารจากภาคราชการ ภาคเอกชน นักการเมือง และภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

    นอกจากนี้ มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือต่อต้านการทุจริต ระหว่างมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และสถาบันการศึกษาต่างๆ 11 หน่วยงาน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลเร่งปฏิรูป 11 ด้านหลัก ซึ่งมีความก้าวหน้าตามลำดับ รวมทั้งดำเนินการปราบปรามการทุจริต และการป้องกันด้วยโดยเฉพาะข่าวสารในสื่อโซเชี่ยลมีเดียที่มีการบิดเบือน ส่งผลให้การแก้ไขยากลำบาก เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า ประชาชนมีความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต้องแก้ปัญหาทุกอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้คนไทยเข้าใจในบริบทของปัญหาภาพรวมของทั้งประเทศ ดังนั้น ต้องร่วมกันหาต้นตอของปัญหาทุจริต และปัญหา ของชาติ ประเทศไทยจะต้องไม่ติดกับดักความที่มีรายได้ปานกลาง และกับดักของประชาธิปไตย

ย้ำอยู่ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ

      นายกฯกล่าวว่า วันนี้มีวาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ทุกอย่างเอามาพันกันหมด ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องเอาปัญหาของประเทศมาดูว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร และการลงโทษคนโกงต้องเด็ดขาด ทั้งนี้ ตนเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยเวลาที่มีอยู่ ไม่ได้หวังจะอยู่นาน เพราะอยู่ไปก็ไม่ได้อะไร แต่ที่ได้คือประเทศชาติ

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตามหลักประชาธิปไตย นอกจากฟังเสียงส่วนใหญ่แล้ว ต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่ที่ผ่านมามีการแบ่งคนเป็นส่วนๆ ทำให้ทุกอย่างเสียหายกลายเป็นการเมืองทั้งหมด ซึ่งตนจะไม่ทำอย่างนั้น นักการเมืองไม่ต้องกลัวว่าตนจะเขียนอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมานักการเมืองพูดแต่ว่าจะเข้ามาอย่างไร มีอำนาจเต็มหรือไม่ ไม่เคยพูดถึงการป้องกันการทุจริตหรือการพัฒนาประเทศ ขณะที่สื่อก็ให้ความสำคัญแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ

       "ผมมีเวลาเหลือเพียง 18 เดือน แต่ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งมาหลายครั้ง แต่ก็มีการปฏิวัติหลายครั้ง วันนี้ผมเข้ามารับผิดชอบจึงรู้ว่ามีปัญหามาก ถ้าไม่ให้ความร่วมมือจะปฏิวัติ 100 ครั้งก็ไม่มีประโยชน์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเข้ามาอย่างไร แต่ให้เอาประเทศเป็นหลัก เพื่อไม่ให้วันข้างหน้าเกิดปัญหาขึ้นอีก และต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คนไทยทุกคน และสถาบันปลอดภัย" นายกฯ กล่าว

ลั่นเลือกตั้งก.ค.60-ไม่อยู่เกินนั้น

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอฝากว่าอย่าทำงานด้วยความเกลียดชัง และความรู้สึกส่วนตัว แต่ต้องใช้กฎหมายดำเนินการ ซึ่งจะไม่ยอมให้มีการทุจริตแบบสมยอมเกิดขึ้น และจะไม่ให้อภัยคนกระทำผิดที่ไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม โดยจะพยายามทำให้เข้าสู่กระบวนการให้ได้ ให้ข้าราชการ องค์กรอิสระทำงานสบายใจ ไม่รู้สึกกดดัน ขณะเดียวกันต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น และลดความหวาดระแวงในกระบวน การยุติธรรมด้วย ซึ่งวันนี้มี 2 ส่วนคือ กลุ่มที่เข้าสู่กระบวนการ และที่ไม่เข้ากระบวนการ ซึ่งกฎหมายมีทางออกอยู่แล้ว แต่อย่าตกเป็นเครื่องมือคนที่ไม่เข้าสู่กระบวนการ แล้วพูดจาให้ร้ายเสียหาย

      นายกฯกล่าวว่า ยืนยันว่าจะต้องมีการเลือกตั้งในเดือนก.ค.2560 ซึ่งตนไม่คิดจะอยู่เกินแม้แต่วันเดียว ไม่รู้เป็นกรรมหรือไม่ที่มาเป็นนายกฯ วันนี้ยังมีคนบิดเบือนอยู่ ทำให้เสียสมองไปมาก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว แทนที่จะเดินหน้าประเทศต่อไป ซึ่งในเรื่องกฎหมายจะผิด หรือไม่ ไม่ทราบและพูดไม่ได้ แต่มีข้าราชการเดือดร้อน และต้องมาเสียเวลาในเรื่องที่ไม่ควรจะเสีย โครงการนี้ชาวนาได้ประโยชน์หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ต้องแยกให้ออกเรื่องทุจริต ถ้ายังมีโครงการแบบนี้อีก เราก็ไม่ได้มานั่งตรงนี้เพราะประเทศล้มไปแล้ว เพราะไม่มีเงิน วันนี้จึงต้องมาแก้ให้ได้

ปิดประเทศก็ได้แต่อันตรายฉิบหาย

    นายกฯกล่าวว่า ขออย่าพูดว่าไม่เป็นธรรมเพราะกฎหมายมีอยู่แล้ว วันนี้ที่ต้องพูด เพราะอยากอธิบายว่าไม่ได้เกลียดชังใคร และขอร้องสื่อในฐานะกระบอกเสียงของประชาชน และรัฐบาล มี 2 หน้าที่คือเป็นสื่อ และเป็นคนไทยที่ต้องทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่อยู่ตรงกลางความผิดหรือถูก ขณะเดียวกันต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็ง มีรัฐบาลที่มี ธรรมาภิบาล ต้องฝากกรธ. และสปท. ในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายฉบับ แต่ต้องเขียนให้เป็นสากล และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการปฏิรูป

      "วันนี้ เหนื่อย พูดไปก็เจ็บคอ เครียด ไม่เคยทำงานหนักขนาดนี้ เป็นทหาร ผบ.ทบ. มา 38 ปี ไม่เคยเหนื่อยเท่านี้ ยอมรับว่าบางวันท้อแท้ ไม่อยากมาทำงาน แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำ เพราะเป็นชายชาติทหาร ขอให้เห็นใจผมบ้างเพราะมีเวลาจำกัด เข้ามาแบบนี้ก็อันตราย ครอบครัวก็อันตราย ซึ่งไม่เป็นไร เสียสละอยู่ แม้แต่เพลงคืนความสุข วันนี้ก็มีคนมาทวงในท่อนที่ว่าขอเวลาอีกไม่นาน ก็มาทวงว่าแล้วเมื่อไรจะไปสักที ไม่สนใจเลยว่าทำอะไรไปให้บ้าง แต่วันนี้ต้องเดินหน้าตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่มีหลายคนอยากให้อยู่ต่อไปแบบนี้ จะปิดประเทศก็ได้ แต่อันตรายฉิบหาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

   นายกฯกล่าวขอบคุณการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ถ้าโทษแต่ตำรวจแล้วใครจะมาดูแลประเทศ จะให้ยาม หรืออาสาสมัคร มาดูแลได้อย่างไร วันนี้คนมียศต้องได้รับการดูแลจากรัฐมากกว่าเก่า เพื่อให้มีกำลังใจทำงาน คนไม่ดีก็ออกไป

    ทั้งนี้ ในช่วงท้าย นายวิชามอบพระพุทธรูปประจำป.ป.ช. พระมงคลนาถศาสดา ซึ่งเป็นพระไพรีพินาศ วัดบวรฯ ให้แก่นายกฯด้วย

ปธม.ยื่นค้านสูตรมีชัยโมเดล

      ที่รัฐสภา นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่(ปธม.) เข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ รองประธานคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ คนที่ 1 กรธ. เพื่อคัดค้านการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment:MMA) ที่ ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1 จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.แบบเขต ส่วนผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับรองลงไปจะถูกจัดสรรเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต ครบทั้ง 375 เขต จึงทำให้โอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง

     จึงเสนอข้อคิดเห็นต่อ กรธ. ดังนี้ 1.ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิมคือ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ 2.เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง เพราะการที่พรรคอยู่ภายใต้การควบคุมของกกต. ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา พรรคไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และ 3.เสนอให้บัตรประชาชนสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวได้ มีมูลค่าอย่างน้อย 5 หมื่นบาท

ปชป.แนะลดอำนาจรัฐเพิ่มให้ปชช.

     จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ยื่นหนังสือที่เป็นความเห็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ตามที่ได้ขอความเห็นมา

      โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรเป็นรัฐธรรมนูญฉบับลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน จึงมีข้อเสนอสำคัญ 6 ข้อ โดยเฉพาะการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้มาลงคะแนน ส่วนเรื่องการปรองดอง หากจำเป็นต้องนิรโทษกรรมต้องเฉพาะในคดีที่เป็นความผิดเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ความผิดในคดีทุจริต และเห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาปรับแก้เล็กน้อยก่อนประกาศใช้

กรธ.ให้ศาลรธน.ต้องเที่ยงธรรม

      ต่อมา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงว่า ที่ประชุมพิจารณาหมวดว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอยู่ในหมวดเดียวกันหรือไม่ แต่ต้องการให้ใช้กระบวนการร่วมกัน สรุปสาระสำคัญคือ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระ ใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรม นูญ และองค์กรอิสระ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งยังไม่ชัดเจน จะต้องพิจารณาอีกครั้ง

      โฆษก กรธ. กล่าวว่า ขณะที่ผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ต้องได้ รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา โดยให้ประธานวุฒิสภา นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

     นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม หากไม่สามารถกำหนดร่วมกันได้ก็ให้แต่ละองค์กรไปกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเอง และให้มีหน่วยงานธุรการที่มีอิสระบริหารงานบุคคล และงบประมาณ ทั้งนี้ ทุกอย่างนำกลับมาทบทวนได้ตามความหมาะสม

ส.ส.500'เขต 350-ปาร์ตี้ลิสต์ 150'

      นายนรชิตกล่าวว่า กรธ.ได้พิจารณาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยเสนอต่อสปช. โดยเริ่มพิจารณาเรื่องจำนวนส.ส. ซึ่งมีข้อเสนอให้มีส.ส. 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา บนพื้นฐานทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย ส่วนที่มีแนวคิดการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม แล้วมีคนวิจารณ์ว่าคะแนนผู้แพ้จะถูกนับ 2 ครั้ง และคะแนน ผู้ชนะแต่ละเขตจะไม่ถูกนำมานับอีกนั้น กรธ.ยังไม่ตกผลึกในทุกประเด็น แต่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่

      ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรธ.ไม่มีแนวคิดเพื่อ เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก เพราะกรธ.ไม่ใช่โจทย์ในการทำงาน

เล็งปฏิรูปองค์กรอิสระ-ลดข้อครหา

       ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. เปิดเผยว่า กรธ.ได้พิจารณาเนื้อหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นวางกรอบแนวความคิดว่า ถ้าจะปฏิรูปการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระควรมีหลักการอะไรบ้าง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการใน 3 หลักการ 1.การเป็นอิสระอย่างแท้จริง เช่น จะกำหนดแนวทางการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่อย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซง 2.การทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ จะต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อน และ 3.การกำกับตัวเองและการสร้างความเชื่อมโยงในการทำงานระหว่างองค์กร ที่ผ่านมาองค์กรอิสระยังขาดในส่วนนี้ แม้แต่ละองค์กรจะมีกลไกตรวจสอบกันเอง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการที่เป็นรูปแบบมากนัก เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างองค์กร เท่าที่มีข้อมูลพบว่ามีบางองค์กรเท่านั้นที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง

      นายชาติชาย กล่าวว่า การพิจารณาในส่วนนี้ ยังไม่ได้ลงลึกที่ตัวบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการกำหนดหลักการเท่านั้น รวมถึงยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยุบหรือควบรวมองค์กรใดเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม กรธ.มีเจตนารมณ์ให้เกิดการปฏิรูปองค์กรอิสระในทุกด้าน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างอิสระและลดข้อครหา

กำหนดจริยธรรมคุมองค์กรอิสระ

      รายงานข่าวจาก กรธ.แจ้งว่า การประชุมเกี่ยวกับประเด็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรกำหนดประมวลจริยธรรมขององค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในส่วนของครม. และรัฐสภา เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติว่าสิ่งใดบ้างที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ หากฝ่าฝืนอาจมีบทลงโทษตามมาในภายหลัง

     ขณะที่การกำหนดคุณลักษณะของบุคคลที่จะทำหน้าที่ในองค์กรอิสระนั้น ต้องยึดเป็นบรรทัดฐานเท่ากัน เป็นไปตามเงื่อนไขที่อดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมา พิจารณาไว้เป็นพื้นฐาน เช่น เป็นบุคคลที่มีความดีเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคยต้องคดีอาญา ขณะที่กระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระนั้น เบื้องต้นจะตั้งคณะกรรมการสรรหา 1 คณะ เพื่อดำเนินการสรรหา ส่วนจะประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง กรธ.อยู่ระหว่างหารือถึงความเหมาะสม

วิษณุลั่นไม่ตอบโต้แถลงการณ์พท.

     เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ชี้แจงการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 คุ้มครองข้าราชการที่ดำเนินการเกี่ยวกับคดีจำนำข้าวว่า ความจริงไม่มีอะไร และอธิบายให้ครม.ฟังเหมือนที่พูดกับสื่อทุกวันว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งครม.ได้ฟังก็ตื่นเต้นกันใหญ่ นายกฯจึงขอให้ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจด้วย ขณะนี้รอให้โฆษกประจำสำนักนายกฯ จัดสรรเวลาชี้แจง ตนจะพูดรายละเอียดทั้งหมดให้ทราบ

      เมื่อถามถึงแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44 เพราะเหมือนนิรโทษกรรมให้ล่วงหน้า นายวิษณุกล่าวว่า เรียกร้องไปไม่ว่ากัน ความจริงเจ้าหน้าที่ก็มีกฎหมายปกป้องอยู่แล้ว และการนำมาตรา 44 คุ้มครองอีก ก็ไม่ซ้ำซ้อน เพราะการใช้มาตรา 44 มีนัยอะไรบางอย่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่กล้าปฏิบัติงานมากขึ้น เพราะมีบางคนที่เขาไม่กล้า ซึ่งวันหนึ่งอาจจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ยังพูดไม่ได้

      "เรื่องนี้ถ้าเจ้าหน้าที่สุจริตก็นิรโทษให้อยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนเพิ่มเติม แต่ถ้าไม่สุจริตก็ถือว่าซวยไป สามารถเอาผิดจนถึงประหารชีวิตก็ได้ ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้อง เราคงไม่ตอบโต้ รับฟังไว้เฉยๆ" นายวิษณุกล่าว

เรียกร้องให้คนชี้ข้อเสียสูตรเลือกตั้ง

     เมื่อถามถึงกรณีมีเสียงวิจารณ์ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของกรธ. นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่ทำให้คะแนนของประชาชนมีความหมาย แต่ต้องหาวิธีนำคะแนนไปคิดให้รอบคอบ เชื่อว่า กรธ.จะพิจารณาหาวิธีที่ดีที่สุด

      ส่วนข้อคิดเห็นของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ที่ระบุระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้เสียงของประชาชนมีความหมาย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งได้นั้น นายวิษณุกล่าวว่า หากจะแก้ปัญหาซื้อเสียง จะต้องหามาตรการอื่นออกมารองรับ เช่น ที่ผ่านมาห้ามรัฐมนตรีเป็นส.ส. หากจะเป็นรัฐมนตรี ต้องลาออกจากส.ส.ก่อน เพื่อป้องกันการซื้อเสียงเข้ามาเป็นส.ส. แล้วมาวิ่งเต้นเป็นรัฐมนตรี เพื่อมาถอนทุน

      "ที่ผ่านมาเราใช้วิธีให้คนที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะ ซึ่งใช้มา 70-80 ปี แต่เราทนกับมันมา เพราะเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่วันนี้จะไม่ทนเพราะข้อเสียรุนแรง เลยมีการคิดสูตรพิสดาร ดังนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องชี้ข้อเสียออกมาให้เห็น เป็นข้อเสนอแนะ" นายวิษณุระบุ

ชูมีชัยเข้าใจระบบด๊องท์แบบเยอรมนี

      นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขมีหลายแนว ทาง คือ การใช้ของเดิมที่เคยชิน การคิดใหม่ทำใหม่ และสิ่งที่เคยคิดไม่ดีที่สุด อาจผสมและลดทอนข้อเสียออกไป เมื่อไรที่เราคิดอย่างเดิม ผลก็จะได้อย่างเดิม แต่ถ้าไม่ปรารถนาจะได้อย่างเดิม เราก็คิดใหม่ก็จะไม่ได้ผลเป็นอย่างเดิม อย่างปี 2517 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกฯ ได้รณรงค์ให้เลือกตั้งระบบด๊องท์ (d"Hont) แบบเยอรมนีตะวันตก ที่เสนอว่าทำอย่างไรให้คะแนนเสียงที่แพ้ นำมาคิดเป็นสัดส่วน ซึ่งเรากำลังนำแนวคิดนี้มาใช้จัดสรรปันส่วน แต่ไทยกำลังไปไกลกว่าสัดส่วนที่ใช้กันในยุโรป แต่อยู่ใต้ตรรกกะเดียวกัน คือเคารพคะแนนเสียงที่แพ้ ส่วนข้อห่วงใยต่างๆ ต้องนำมาคิดกัน ซึ่งประธานกรธ. ผ่านงานมามาก และเข้าใจเรื่องระบบด๊องท์เป็นอย่างดี

       เมื่อถามว่า หากระบบจัดสรรปันส่วนผสมออกมาบังคับใช้จริง ส.ส.เหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นส.ส.อกหักหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะมีทั้งอกหักและอกไม่หักปนกัน อาจแยกไม่ออกด้วยซ้ำ

      เมื่อถามว่า การนำคะแนนของคนที่แพ้มารวมกัน ไม่สะท้อนความนิยมของพรรค นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งตนยืนยันว่าการนำเสียงมารวมนั้นเป็นการเคารพเสียงประชาชนส่วนหนึ่ง แต่อาจจะไม่ตรงกับประชาชนส่วนหนึ่ง ซึ่งการที่ประชาชนไม่เอา ไม่ได้แปลว่าเกลียดแต่เขาเลือกได้เท่านี้ หากเลือกได้มากกว่านี้อาจจะเลือกก็ได้ อย่าลืมว่าคนที่ชนะเลือกตั้ง แต่นำคะแนนคนแพ้เลือกตั้งมารวมกัน อาจได้มากกว่าคนที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ก็เป็นได้ นี่คือวิธีคิดของต่างประเทศ

โยนหินถามทางเพื่อระบบเลือกตั้งที่ดี

      เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นับคะแนนของพรรคที่ชนะด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า ก็รับฟังและเห็นว่าหากเป็นเช่นนั้น จะประนีประนอมกัน

      "คาดว่า นายมีชัยจะเก็บรายละเอียดความเห็นของส่วนต่างๆ ที่เสนอทุกประเด็น ตามที่มีเจตนารมณ์โยนหินถามทางแล้วทำให้มีรัฐบาลที่ดี ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผสมหรือไม่ผสม ยืนยันว่าการจัดสรรปันส่วนไม่ได้มีเป้าหมายออกมาให้เป็นรูปแบบของรัฐบาลผสมเท่านั้น เพราะแต่ละแบบจะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย รัฐบาลผสมก็จะไม่เหิมเกริม มีความเกรงใจ โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลอ่อนแอ จะไม่เห็นการเรียกลงมติตอนตี 3" นายวิษณุกล่าว

      ต่อข้อถามถึงข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ให้รัฐบาลใหม่ตั้งสสร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้ง 180 วัน นายวิษณุกล่าวว่า เป็นหนึ่งในข้อเสนอของเขาที่เรารับฟังไว้ และไม่มีอะไรไปวิจารณ์ ส่วนครม.ยังไม่ได้ส่งความเห็นและข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมไปให้กรธ. หากพบว่ามีเรื่องใดที่ต้องการเสนอก็จะส่งไปอีก และยังไม่มีหน่วยงานใดเสนอความเห็นมาที่ครม.เพื่อส่งให้กรธ.

      เมื่อถามถึงจำนวนส.ส.ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะกำหนดให้มี 500 คน อาจจะมากเกินไป รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่ ใกล้เคียงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น กำหนดไว้ 470 คน ซึ่งตัวเลขไม่สำคัญ

พ่อเฌอเดินเท้าอีก-ขึ้นศาลทหาร

     เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ที่ถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ในฐานะผู้ต้องหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จากกรณีจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่รักและพลเมืองรุกเดิน ได้เดินเท้าจากบ้านที่อ.บาง บัวทอง จ.นนทบุรี มีเป้าหมายที่ศาลทหารกรุงเทพ และเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในช่วงเย็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

      นายพันธ์ศักดิ์ ระบุว่า การเดินเท้าครั้งนี้เพื่อยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการนำศาลทหารมาใช้กับพลเรือน ซึ่งตนได้รับหมายจากศาลทหารให้ไปขึ้นศาลทหารในวันที่ 5 พ.ย. และเมื่อคืนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุย ขอความร่วมมือไม่ให้จัดกิจ กรรมดังกล่าว ตนชี้แจงไปว่าถ้าไม่อยากให้ตนเดินเท้า ขอให้เจ้าหน้าที่ไปบอกกับทหารให้ถอนหมายเรียกตน ซึ่งไม่มีใครรับปากว่าจะถอนหมายเรียกให้ ตนจึงต้องเดินเท้าล่วงหน้า 1 วันเพื่อไปขึ้นศาลทหาร ระยะทางกว่า 25 ก.ม. เริ่มเดินจากบ้านตนไปตามถนนบางกรวย-ไทรน้อย เข้าถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนราชพฤกษ์ เข้าเขตตลิ่งชัน กทม. ไปสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรอขึ้นศาลทหารในวันที่ 5 พ.ย.

ประชาชนทักทาย-ให้กำลังใจ

     นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมากที่ครั้งก่อนมีประชาชนที่มาให้กำลังใจมอบดอกไม้ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและฟ้องร้องด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ แต่ยืนยันจะจัดกิจกรรมต่อ เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพันธ์ศักดิ์ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาว มีข้อความภาษาอังกฤษที่หน้าอกว่า COUP BY RICH SUPPORTED BY MIDDLE CLASS TO BLAME POOR PEOPLE พร้อมสะพายเป้ ตลอดทางมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยตามประกบและถ่ายภาพตลอด

       ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะไม่อุ้มนายพันธ์ศักดิ์ขึ้นรถตู้เหมือนที่ผ่านมา แต่จะปล่อยให้เดินไปตลอดเส้นทาง ขณะเดียวกันการเดินเท้าในช่วงแรกๆ มีประชาชนที่สนใจทักทายพร้อมให้กำลังใจระหว่างทางด้วย

ปปช.พร้อมสอบรองผู้ว่าฯกทม.

      วันเดียวกัน นายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯกทม. ฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและร่ำรวยผิดปกติจากการบริหารงานใน กทม.ว่า ทราบเรื่องที่มายื่นแล้วแต่ยังไม่เห็นรายละเอียด เพราะอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายสำนักงานเลขาธิการ โดยเลขาธิการป.ป.ช. จะสรุปเรื่องมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. รับทราบและพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะไต่สวนหรือไม่

      ส่วนการกล่าวหาให้ถอดถอน นายจุติ ไกรฤกษ์ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรณีดำเนินการให้มีการลงนามสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ระหว่างบริษัท ทสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสัญญาการติดตั้งโครงข่าย 3 จีระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับกิจการร่วมค้า เอสแอลคอนซอเดียมนั้น นายวิชากล่าวว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่คณะทำงานสรุปเพิ่มเติม หลังนายจุติ ยื่นหนังสือขอชี้แจงเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ต้องเชิญมาให้ปากคำแล้ว ดังนั้น คณะทำงานจะนำเอกสารมาพิจารณา และสรุปเรื่องก่อนส่งให้คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!