WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1นรโทษ

จตุพรแฉ นัดใส่แดง-เป็นกับดัก เพื่อไทยยืนยันไม่เกี่ยว สปท.ยุใช้ม.44 นิรโทษ ปชป.แจงปมงัดกทม. ชายหมูคุย'มาร์ค'แล้ว

     'จตุพร'ชี้กระแสแต่งแดง 1 พ.ย. เป็นแผนขุดบ่อล่อปลาของฝ่ายตรงข้าม หวังกลบประเด็นจำนำข้าว ยันนปช.ไม่ได้นัด เตือนเสื้อแดงให้ใช้สติ อดทนรอ ด้าน"หมอเหวง" เชื่อเป็นผลจากคนอึดอัด เย้ย"บิ๊กตู่"ใช้ม.44 สั่งห้ามขายเสื้อแดง กรธ.ย้ำรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จม.ค.เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน สปท.หนุนใช้ม.44 ผลักดันนิรโทษกรรม นายกฯ ปราศรัย 70 ปียูเอ็น ยันปฏิรูปประเทศรอบด้าน เครือข่ายสวนยาง 14 จังหวัด ฮึ่มชุมนุมใหญ่ เรียกร้องค่าชดเชยก.ก.ละ 65 บาท

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9097 ข่าวสดรายวัน

ขอพูด - ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดกิจกรรมและเปิดเวทีสาธารณะ "เมื่อประชาชนขอเป็นคนพูด" โดยมีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนมาบอกเล่าปัญหาปากท้อง ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 24 ต.ค

 

บิ๊กตู่ปราศรัย 70 ปียูเอ็น

     วันที่ 24 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ 24 ต.ค.ว่า สหประชาชาติก่อตั้งครบ 70 ปี ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้พิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญในการพยายามระงับการพิพาทระหว่างประเทศที่ใช้กำลัง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมของหลายประเทศ โดยเฉพาะที่ประสบความเสียหายจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนนำความกินดี อยู่ดี มาสู่รัฐสมาชิก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า น่าภาคภูมิใจว่าประเทศไทยมีบทบาทเข้มแข็งในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมาเกือบ 7 ทศวรรษ เนื่องในวันสหประชาชาติ ในนามของรัฐบาลไทย ตนขอส่งความปรารถนาดีไปยังนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาติ ทั้งที่พำนักอยู่ในไทยและทั่วโลก ขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะยึดมั่นในหลักการและความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งจะให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในทุกมิติ ทั้งในอาเซียน และในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติอย่างเต็มความสามารถ

ย้ำปฏิรูปไทยรอบด้าน

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปลายก.ย.ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ "70 ปีสหประชาชาติ เส้นทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน" ในถ้อยแถลง ได้กล่าวถึงบทบาทและการทำงานของไทยที่ผ่านมาในเวทีสหประชาชาติ วิสัยทัศน์ของไทยต่อการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายโลก พร้อมย้ำถึงความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน เพื่อ นำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รวมทั้งยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมทำงานในฐานะเป็นหุ้นส่วนกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 ในปี 2559 กลุ่ม 77 เป็น กลุ่มเจรจาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติเพราะมีประเทศกำลังพัฒนาเป็นสมาชิกกลุ่มถึง 134 ประเทศ และไทยยังได้รับมอบรางวัล ITU Global Sustainable Development Award ในฐานะประเทศที่ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และยังได้รับเชิญให้ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมคู่ขนานอีกหลายรายการ เช่น การประชุมเรื่องน้ำ ความเท่าเทียมทางเพศ การรักษา พยาบาลอย่างทั่วถึง บทบาทในการรักษาสันติภาพ บทบาทของไทยในทุกเรื่องที่กล่าวเป็นที่ยอมรับโดยแท้จริงของสหประชาชาติและประเทศสมาชิกทั้งหลาย เชื่อว่าความสำเร็จที่กล่าวมาจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการที่ไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปีค.ศ.2017-2018

จตุพรเตือนระวังขุดบ่อล่อปลา

      นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวกรณีมีการเผยแพร่คลิปและภาพเชิญชวนสวมเสื้อแดงเพื่อให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า ยืนยันว่าการนัดหมาย ดังกล่าวไม่ใช่นปช.นัด แต่เป็นฝ่ายตรงข้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องการเอาคนเสื้อแดงเป็นเหยื่อล่อ เพื่อกลบเรื่องที่กำลังจะจวนตัวซึ่งจะถูกมองว่ากระทำการเลือกปฏิบัติกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เลือกใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีรับจำนำข้าว

       นายจตุพรกล่าวว่า วิธีการเช่นนี้เหมือนครั้งที่ขุดบ่อล่อคนเสื้อแดงให้ไปล้อมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงการไต่สวนคดีที่ป.ป.ช.ระบุว่าไม่พบการทุจริตและไม่มีพยาน จนเขายกประเด็นเสื้อแดงไปกดดันขัดขวางการทำงานของป.ป.ช. ออกมากลบการไต่สวน และขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำลังจวนตัวที่จะอธิบายต่อสังคมว่าทำไมจึงใช้คำสั่งทางปกครองมาดำเนินการ โดยหลายเรื่องที่ผ่านมา ทั้งคดีคลองด่าน โฮปเวลล์ จีที 200 การก่อสร้างโรงพักทดแทน ฯลฯ กลับไม่ถูกหยิบยกมาดำเนินการใช้คำสั่งทางปกครองเอาผิดเหมือนกับคดีจำนำข้าว เมื่อกำลังจะถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ จึงโยนเรื่องกลับไปที่ป.ป.ช.ว่าเป็นคนส่งเรื่องมา รัฐจะไม่ทำไม่ได้

ยันนปช.ไม่ได้นัด

       นายจตุพรกล่าวว่า การนัดหมายใส่เสื้อแดงเพื่อให้กำลังใจและแสดงความเป็นห่วงอดีตนายกฯ เป็นการเอาคนเสื้อแดงเป็นเหยื่อล่อให้ออกมาปกป้องอดีตนายกฯ ให้เราเดินตามบทของเขา จนกลบสาระหลักคือการตอบคำถามว่าทำไมจึงใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหาย เป็นการขุดบ่อล่อปลา คนเสื้อแดงจะรักและเป็นห่วงน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ แต่อย่าโง่ จะรักคนต้องมีเหตุผลและไม่เป็นภาระของคนที่เรารัก มิเช่นนั้นจะยิ่งเป็นปัญหาและอาจทำให้คนที่เรารักได้รับหายนะได้ เพราะเขาจะอาศัยเหตุการณ์นี้จัดการอดีตนายกฯ ฉะนั้นคนเสื้อแดงต้องฉลาดและรู้เท่าทัน อย่าแตกแยก อย่าหลงเล่ห์กลของคนพวกนี้ อย่าตกเป็นเครื่องมือให้เขาใช้จัดการกับอดีตนายกฯ เพื่อกลบสิ่งที่เขาทำไม่ได้คือการใช้คำสั่งปกครองเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์

       นายจตุพรกล่าวว่า หากนปช.จะสั่งการอะไรตนจะเป็นคนแถลงและแจ้งเอง โดยทำเป็นระบบ มีที่มาที่ไป ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้นถึงเวลาจะรู้เอง ขอให้คนเสื้อแดงอดทน จนถึงวันที่พวกเขาเป็นฝ่ายที่ทนไม่ได้เอง เราจะได้รู้ตัวตนของคนพวกนี้ สำหรับแกนนำ นปช.ในต่างจังหวัดต้องมีสติและชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว การจะใส่สีอะไรถือเป็นสิทธิ์ แต่ให้เข้าใจว่าไม่ใช่นัดหมายของนปช. ให้รอดูสัญญาณนัดหมายจากตน

       "ขอย้ำว่าวันที่ 1 พ.ย.นี้ นปช.ไม่ได้นัด แต่คสช.เป็นคนนัด สังเกตได้จากการที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกคสช.ออกมาพูดเรื่องนี้ จุดประเด็นเพื่อทำลายของจริงที่จะเกิดในอนาคต ดังนั้น พวกเราต้องไม่ทำลายพวกเดียวกันเอง และตนเชื่อว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของคนเสื้อแดงเข้าใจดี" นายจตุพร กล่าว

เหวงเย้ยม.44 ห้ามขายเสื้อแดง

       นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. กล่าวว่า นปช.ไม่ได้นัด และไม่ทราบว่าใคร เป็นคนนัด แต่คงเป็นคนที่อึดอัดกับการเรียก เก็บค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเรื่องดังกล่าวยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงแสดงออกทาง โซเชี่ยล คิดว่าในวันดังกล่าวจะมีคนลุกขึ้นมาใส่เสื้อแดงกัน ยิ่งรัฐบาลออกมาปราม ในเรื่องดังกล่าวก็จะมีคนลุกขึ้นใส่เสื้อแดงมากยิ่งขึ้น และไม่รู้ว่าการใส่เสื้อแดงจะเป็น ความผิดได้อย่างไร เพราะเขาใส่ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ใส่ไปรวมตัวกันชุมนุมแต่อย่างใด ขอฝากไปถึงรัฐบาลว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากจะไม่ให้ใส่เสื้อแดงคงต้องใช้ม.44 ห้ามผลิตและจำหน่ายเสื้อแดงในประเทศ

      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าผู้ใหญ่ในพรรคได้เห็นคลิปและข้อความภาพเชิญชวนแต่งเสื้อแดงแล้ว และชี้แจงไปชัดเจนแล้วว่าพรรคไม่ได้ทำและไม่ใช่สั่งการของพรรคแน่นอน ขณะที่แกนนำนปช.ยืนยันว่าไม่ใช่การนัดหมายของนปช. และหากจะนัดหมายจะทำอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ที่ไม่รู้ที่มาที่ไปในลักษณะนี้ ตนมองว่าใครจะแต่งกายอย่างใดด้วยสีอะไรนั้นไปห้ามไม่ได้เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคน ควรปล่อยตามธรรมชาติ แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมายหรือไปปลุกระดมเคลื่อนไหว ทำให้บรรยากาศบ้านเมืองวุ่นวาย อย่างนั้นพรรคไม่สนับสนุน ส่วนที่มีอดีตส.ส.บางคนยืนยันจะสวมเสื้อแดงนั้น เป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละคนหากไม่ใช่การไปท้าทาย นัดเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไปทำอะไรผิด

เพื่อไทยก็ย้ำไม่เกี่ยวนัดหมาย

       นายชวลิตกล่าวว่าพรรคไม่กังวลกับกระแสเชิญชวนดังกล่าว เพราะเชื่อมั่นว่าเราดำเนินการทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งการให้กำลังใจอดีตนายกฯไม่จำเป็นต้องแต่งกายด้วยสีใดสีหนึ่ง เพราะเวลานี้ไม่ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินไปที่ไหนก็มีคนให้กำลังใจล้นหลามอยู่แล้ว จึงเห็นว่าไม่มีสาเหตุอะไรที่จะต้องนัดแต่งสีแดง การดำเนินทางโซเชี่ยลต่างๆ ในขณะนี้เหมือนต้องการสร้างให้เกิดความแตกแยก เพราะในอดีตที่ผ่านมาบุคคลบางกลุ่มบางคนที่สามารถมีที่ยืนอยู่ได้ก็ด้วยความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคม

      นายชวลิตกล่าวว่า เรามีความหนักแน่น ไม่วิตกกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพรรคคุยกันเสมอว่าต้องมีสติรอบคอบ และย้ำว่าการเชิญชวนดังกล่าวไม่ใช่พรรคทำอย่างแน่นอน ส่วนประชาชนที่ได้รับข้อมูลควรไตร่ตรองให้ดี ใครจะใส่สีอะไรเป็นสิทธิ แต่อย่าไปรวมตัวกันเพราะจะถูกโยงว่าเป็นการปลุกระดมทั้งที่ไม่มีเจตนาเช่นนั้น

       นายชวลิตกล่าวกรณีที่มีทหารบางคนติดตามพฤติกรรมของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในระหว่างทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในพื้นที่ต่างๆ ว่า มองว่าการติดตามประกบ ถ่ายรูปอดีตนายกฯที่กล้าเปิดเผยตัว ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอาความจริงเข้าสู่ในคดีที่ถูกกล่าวหา การลงพื้นที่ไปเป็นการส่วนตัว ไม่ก่อความวุ่นวายหรือคิดจะหลบหนี แต่กลับมีทหารตามติดทุกฝีก้าวถือเป็นการไม่ให้เกียรติ คิดว่าผู้บังคับบัญชาระดับบนคงไม่ได้สั่งให้ทำ แต่อาจจะทำไปเพื่อรายงานสถานการณ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตามประกบถึงขนาดนั้น

แถลงป้อง"ปู"ยึดเหตุผล

    น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อดีตส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้นาง รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ปกป้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ จากคดีโครงการรับจำนำข้าวเป็นการโฆษณา ชวนเชื่อ ว่าแถลงการณ์ของพรรคเป็นการสื่อสารไปถึงประชาชนว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่นโยบายประชานิยมแบบให้เปล่า แต่เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ให้รัฐทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด ที่พรรคไม่ตอบรายละเอียดของข้อกล่าวหาเพราะคำนึงถึงรูปคดีและมารยาททางสังคมที่จะไม่ก้าวล่วงไปกระบวนการยุติธรรม

      น.ส.ธีรรัตน์กล่าวว่า ยืนยันว่าโครงการนี้มีผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบ ควบคุม ในทุกขั้นตอน ไม่ได้ปล่อยปละละเลยตามข้อกล่าวหาแต่ประการใด การออกแถลงการณ์ของพรรค เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่รัฐบาลจะเร่งรีบและรวบรัด ออก คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายทางแพ่งโดยที่คดีอาญาอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบพยาน ยังไม่ไต่สวนและตัดสินว่าผิด จึงถือว่าอดีตนายกฯยังเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนั้นการให้สัมภาษณ์เชิงชี้นำรองนายกฯฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลในคดีโครงการรับจำนำข้าว ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา จึงต้องออกแถลงการณ์และให้สัมภาษณ์ท้วงติง ไม่ใช่มาปกป้องโดยไร้เหตุผล ขอให้น.ส. รัชฎาภรณ์ย้อนกลับไปดูว่าใครที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้บ้านเมือง ไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย ขัดขวางการเลือกตั้ง จูงมือระบอบอำนาจนิยมมาปล้นอำนาจไปจากประชาชน จนขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสทางด้านเศรษฐกิจ ยังไม่รู้สึกตัวอีกว่ากระทำผิดต่อระบอบประชาธิปไตยขนาดไหน

"วิษณุ"ย้ำรับไม้ปปช.สอบ"ข้าว"

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายจตุพรข้องใจเหตุใดรัฐบาลไม่สอบถามป.ป.ช.ว่ายังมีโครงการใดที่ครม.มีมติดำเนินการ แล้วทำให้รัฐบาลเสียหายเพื่อเอาผิด นอกจากการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าคดีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีการทุจริต เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวน ไม่ว่าเรื่องจะเริ่มที่ใครก็ต้องส่งต่อไปที่ป.ป.ช.ไต่สวน รัฐบาลไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวน เพราะมีกลไกของเขาอยู่ จากนั้นจึงส่งมาให้รัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะไปถามว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วรับมาสอบสวน ต้องให้ป.ป.ช.เขาส่งมาเอง หากป.ป.ช.ส่งเรื่องมา ไม่ว่าจะเรื่องของใครรัฐบาลก็พร้อมที่จะดำเนินการให้

มค.ส่งรธน.ร่างแรกเป็นของขวัญ

    นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)กล่าวถึง ข้อเสนอระบบการเลือกตั้งที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 26 ต.ค.ว่า เราได้นำข้อเสนอทุกอย่างมาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือแบบเขตเดียวเบอร์เดียว บทบาทหน้าที่ที่มาส.ว.และส.ส. กระบวนการสรรหาส.ว.ทำอย่างไร ที่มานายก รัฐมนตรีก็อาจจะมีการคุยกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ลงรายละเอียดเป็นเรื่องที่เราคุยกันในคณะกรรมการศึกษาฯเท่านั้น ต้องให้กรธ.เป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ส่วนรูปแบบที่จะมีการเสนอในวันนั้นต้องตีกรอบให้แคบลง ระบุข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน หลังจากนั้นหากกรธ.คนใดมีอะไรจะเสนอก็เสนอได้เต็มที่ ส่วนจะได้ข้อยุติหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับกรธ.

      นายอมรกล่าวว่า ส่วนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญพิจารณามาได้ครึ่งทางแล้วนั้น ในความหมายของตนคือ ในช่วงปลายเดือนต.ค.เราก็จะมีศึกษาความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้เสนอเข้ามา จะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญแรกก่อนเพื่อจะได้ส่งของขวัญเป็นร่างแรกให้ แก่ประชาชนในช่วงเดือนม.ค.ปีหน้า ซึ่งจะคล้ายกับสมัยที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จและนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ก่อน เพื่อนำไปปรับปรุงอีกครั้ง แต่ก่อนไปถึงตรงนั้นเราต้องกลั่นกรองทุกอย่างให้ถี่ถ้วนก่อน

หนุนตัดสิทธิ์คนโกงตลอดชีวิต

       นายอมรยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ในการเขียนข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่พ้นโทษทางการเมือง 5 ปี กลับมาดำรงตำแหน่งอีกว่า ส่วนตัวมองว่าสมัยที่เป็นสปช.มีการพูดเรื่องนี้ว่านักการเมืองควรมีตัวเลือกเยอะขึ้น ไม่มีมลทิน ตนเชื่อว่าประชาชนจะไม่ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้การทุจริตต่างๆ บั่นทอนทำลายเศรษฐกิจ สังคม บางคนมองว่าร้ายแรงพอกับการฆ่าคนตาย ดังนั้น จะมีเหตุผลอะไรให้เราต้องเลือกคนเหล่านี้ หากระบุว่าเป็นเรื่องที่เราควรให้โอกาสคนเหล่านี้เราก็ให้โอกาสมามาก คนเหล่านี้ทำผิดซ้ำพอพ้นโทษทางการเมืองก็ลงสมัครใหม่ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย บางคนก็ใช้ญาติพี่น้องมาลงสมัครแทน

       นายอมร กล่าวว่า ตนจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่เรื่องนี้ที่ประชุมกรธ.ยังไม่มีมติอะไรเลย หากมีข้อสรุปน่าจะเป็นช่วงที่มีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติและ ฝ่ายบริหารเต็มรูปแบบ และต่อไปก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีด้วย ว่าต้องเป็นส.ส.ด้วยหรือไม่ หากไม่เป็นส.ส. คุณสมบัติต้องเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่

กำหนดกรอบประชานิยมทำยาก

      นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. กล่าวถึงข้อเสนอของนายธานินทร์ ห้ามไม่ให้ผู้ที่พ้นโทษทางการเมือง 5 ปีกลับมาดำรงตำแหน่งอีก ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องถามประชาชนว่ารับได้หรือไม่ได้อย่างไร เพราะคงมีความเห็นออกมาสองฝ่าย คือตัดสิทธิตลอดชีวิตหรือจะตัดสิทธิต้องดูเป็นกรณีไป โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของความคิด กรธ.ก็ต้องมาคิดกัน และกรรมการทั้งหมดยังไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกไปในเรื่องนี้ เพราะต้องฟังเสียงแต่ละฝ่าย เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบกับคนอื่น

       นายอุดมกล่าวว่า ส่วนการประชุมใน วันที่ 26 ต.ค. อาจจะเป็นรูปแบบการดีเบต กัน และใช้ระบบเหมือนของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือเมื่อดีเบตกันแล้วอาจมีอะไรที่ทำให้เสียงข้างน้อยยังหลงเหลือในระบบอยู่ ส่วนจะได้ข้อสรุปหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะบางเรื่องอาจจะนำกลับไปศึกษาแนวทางต่อไป เช่น ควรมีตัวเลขส.ส.ที่แน่นอนหรือไม่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ดี ตนก็ไม่ทราบว่าจะเป็นในแนวทางไหนอย่างไร เพราะขณะนี้ก็ยังไม่ได้เห็นผลการศึกษา ข้อเสนอดังกล่าว

       นายอุดมกล่าวถึงการกำหนดกรอบประชานิยมว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ได้นำมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาศึกษาเท่านั้น ว่าคืออะไร ทั้งนี้ การกำหนดกรอบประชานิยมเป็นเรื่องที่ยากและขณะนี้ไกลเกินไป กรธ.ยังไม่ได้คิดว่าใครควรมาดูแลเรื่องนี้

อลงกรณ์แจงทำงาน 4 ประสาน

       นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวถึงการทำงานร่วมกันขององค์กรในสภาว่า เป็นการประสานกันภายใน เรื่องการออกไปพบปะประชาชนเพื่อรับฟังความเห็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมี 4 ประสาน คือ กรธ. สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรงนี้จะเกิดประโยชน์มาก โดยดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายใต้นโยบายของนายกฯ ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ เพราะการปฏิรูปดำเนินมากกว่า 1 ปีแล้ว

      นายอลงกรณ์กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้ เป็นการให้ประชาชนได้เสนอแนะความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน สปท.จะ ได้รับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศพร้อมกันไปด้วย ส่วนผู้แทน ครม.จะได้ไปรายงานความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาแล้ว รวมถึงชี้แจงผลการดำเนินงานของรัฐบาล ตลอดจนรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรงได้ ขณะที่ สนช.ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะได้รายงานถึงการตรากฎหมายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ

ต่อยอดแผนปฏิรูป

      นายอลงกรณ์กล่าวว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะเป็นการประหยัดงบประมาณ ที่เป็นภาษีของประชาชน เพราะไม่ต้องไปกันคนละครั้ง และไม่เป็นภาระของทางจังหวัด ประชาชนจะได้มารับฟังร่วมกัน เบื้องต้นได้หารือกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เกี่ยวกับเรื่องการประสานงานดังกล่าว เนื่องจากสนช.ได้จัดรายการ "สนช.พบประชาชาชน" เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว จึงเป็นการดำเนินการที่รวดเร็วในการเริ่มต้นกิจกรรม 4 ประสานพบประชาชน โดยจะนำเอานโยบายที่นายกฯ จะประชุมร่วมกับแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค. มาประกอบการดำเนินการด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ทันทีอย่างเต็มรูปแบบในเดือนหน้า

      เมื่อถามว่ามีการเสนอให้ สปท.จัดลำดับความสำคัญงานปฏิรูปมาก่อน นายอลงกรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว ขณะนี้ภารกิจเร่งด่วนของสปท. คือการต่อยอดแผนแม่บทการปฏิรูปประเทศ ที่สปช.ได้จัดทำไว้ และส่งมอบให้รัฐบาลไปแล้ว ขณะนี้ สปท.ได้เริ่มจัดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปแต่ละด้านแต่ละวาระรวมทั้งการจัดทำแผนปฏิรูป ซึ่งสำหรับวาระปฏิรูปที่ได้มีการกลั่นกรอง โดยคำนึงถึงความสัมฤทธิผลเป็น รูปธรรม

      นายอลงกรณ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปรองดอง ถึงแม้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีมติของสปท.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือกระบวน การใด ขณะเดียวกันก็ต้องรอร่างข้อบังคับ สปท.ก่อนว่าจะมีกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปในรูปของคณะกรรมาธิการชุดใดบ้าง รวมทั้งต้องรอฟังแนวนโยบายของนายกฯ ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย

หนุนใช้ม.44 ทำนิรโทษ

     นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสปท. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนการปรองดองว่า ในการประชุมกลุ่มย่อยของสปท.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการหยิบยกเรื่องการปรองดองและการนิรโทษกรรมขึ้นมาเป็นหัวข้อหนึ่งในการพูดคุยกันคร่าวๆ เท่านั้น ยังไม่มีกรอบหรือแนวทางชัดเจนออกมา แต่เบื้องต้นก็คงต้องยึดแนวทางบันได 3 ขั้นสู่การนิรโทษกรรมที่พล.อ.ประยุทธ์ย้ำอยู่เสมอว่า จะนิรโทษกรรมได้ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อน เช่นเดียวกับการนำแนวทางคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความ ปรองดองของสปช. ชุดนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้ศึกษาไว้มาสานต่อ เพราะได้ลงรายละเอียดไว้แล้วในหลายเรื่องโดยเฉพาะ ฐานความผิด ซึ่งตนยังมีความเห็นต่างอยู่ในเรื่องการตีความฐานความผิด เพราะคดีอาญาของทุกสีเสื้อไม่ว่าจะร้ายแรงแค่ไหนก็มีเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมืองที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น และที่ผ่านมาได้มีแนวทางการปฏิบัติมาแล้ว อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา 2516 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษาที่มีความผิดอาญาร้ายแรงทั้งหมดโดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

     "ถ้ายกเว้นคดีทุจริตกับคดีมาตรา 112 หากทุกฝ่ายประสงค์จะผลักดันแนวทางการสร้างความปรองดองด้วยการนิรโทษกรรมแล้วต้องสร้างระดับของฐานความผิดทางอาญาว่า ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงมาเป็นเงื่อนไข ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง" นายสมพงษ์กล่าว

       นายสมพงษ์ กล่าวว่า ส่วนที่สปท.บางส่วนเสนอให้มีคณะกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อพิจารณากำหนดเกณฑ์การนิรโทษกรรมนั้น คิดว่าไม่จำเป็น เพราะหากยึดตามแนวทางที่เคยปฏิบัติ สปท.อาจเสนอแนะไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารได้ โดยไม่ต้องมีร่างกฎหมายออกมาด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกัน หัวหน้าคสช.ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่สามารถใช้กับเรื่องนี้ได้ทันที อย่างไรก็ตามทางสปท.คงต้องหารือกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความชัดเจนว่า เราจะเดินไปหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในเรื่องนี้อย่างไร

ปชป.ชี้ปัดฝุ่นนิรโทษ-โปร่งใส

      ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตโฆษกพรรคกล่าวว่า ทราบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสปท.ได้เชิญอดีตสมาชิกสปช.เข้าให้ข้อมูลเรื่องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน และเรื่องอื่นๆ ที่สปช.พิจารณาไว้ ประชาชนทุกคนอยากมีส่วนรับทราบว่าวาระการปฏิรูปที่สปท.จะทำต่อมีเรื่องอะไรบ้าง และจะมีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน และแปลงแผนปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนมีสิทธิ์รับทราบ ส่วนประเด็นใดที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม ควรจัดลำดับความสำคัญตามการดำเนินงานเดิมที่สปช.ได้มีการพิจารณาไว้ เพราะการนิรโทษกรรมควรกระทำด้วยความจริงใจ พรรคประชา ธิปัตย์ไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรม แต่ขอให้ดำเนินการด้วยความจริงใจ โปร่งใส และประชาชนรับรู้ สมาชิกสปท.ไม่ควรหยิบยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาพิจารณาอีก นอกเหนือไปจากประเด็นที่สปช.ทำไว้ มิเช่นนั้นก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่แล้วเมื่อไรจะปฏิรูปเสร็จ

      นายชวนนท์ กล่าวว่า ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่ดีที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ควรเก็บไว้ โดยเพิ่มอำนาจให้ประชาชน หรือการเปิดโอกาสตรวจสอบถ่วงดุล เป็นต้น ส่วนเรื่องใดสุ่มเสี่ยงอ่อนไหว กรธ.ก็ควรใช้ความละเอียดรอบครอบในการพิจารณา เช่น ประเด็นที่มานายกฯ รวมไปถึงระบบการเลือกตั้ง ว่าจะใช้แบบสัดส่วนผสม หรือแบบวันแมนวันโหวต ซึ่งทั้งหมดกระทำอย่าง เปิดเผยให้ประชาชนรับทราบด้วย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยินดีให้ความร่วมมือในการส่งความเห็นไปยังกรธ. โดยขณะนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อจะเสนอเป็นความเห็นของพรรคส่งไปยังกรธ.ได้ในสัปดาห์หน้าต่อไป

"ชายหมู-มาร์ค"ยกหูคุยตลอด

      นายชวนนท์กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับ ผู้บริหารกทม.ว่า เรื่องดังกล่าวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ได้โทรศัพท์พูดคุยหารือกันอยู่ตลอด คุยกันได้ทุกเรื่อง ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารกทม.ทำได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. ออกมาปกป้องการทำงานของ ผู้ว่าฯกทม. จนได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.นั้น ตนคิดว่าทุกคนต้องรับผิดชอบ คำพูดของตัวเองและคงต้องพิสูจน์กันด้วย ผลงาน เพราะเราทำงานเพื่อส่วนรวม การแต่งตั้งนายอรรถวิชช์เป็นที่ปรึกษานั้น เป็นเรื่องของผู้ว่าฯกทม.ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด

มอบยางฮึ่มชุมนุมใหญ่อีก

      นายไพรัช เจ้ยชุม รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ เผยว่า ขณะนี้เกษตรกรสวนยางกำลังประสบปัญหาวิกฤตราคายางตกต่ำจนถึงที่สุดแล้ว หากผลการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ยังไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทางเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทุกจังหวัดทั้งภาคเหนือและอีสาน ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจะนัดรวมตัวกันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคายางที่กิโลกรัม (ก.ก.) ละ 65 บาท

         นายไพรัชกล่าวว่า หากนายกฯ มีความจริงใจในการแก้ไขเรื่องนี้ให้เกษตรกรชาวสวนยางลืมตาอ้าปากได้ อยากเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งบังคับกระทรวงคมนาคมรับซื้อน้ำยางดิบไปผสมทำถนน หรือให้หน่วยงานราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับซื้อแผ่นยางดิบ หรือน้ำยางไปผลิตเป็นสินค้าหรืออุปกรณ์สำหรับจำหน่ายหรือใช้ภายในองค์กร อาทิ หมอน ที่นอนสุขภาพ สนามฟุตซอล ทางเดินสุขภาพ รวมถึงการ ตั้งโรงงานล้อยางที่สามารถแก้ไขได้ในระยะยาว เนื่องจากสามารถดูดซับปริมาณยางที่ ล้นตลาดได้จำนวนมาก ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุน

รอดูผลประชุม 26 ต.ค.

        "วันนี้ชาวสวนยางเราเดือดร้อนจริงๆ เพราะราคายางตกต่ำมาตลอด 3-4 ปีแล้ว ราคารับซื้อในท้องถิ่นขายได้แค่ก.ก.ละ 30 กว่าบาท หลายรัฐบาลก็พูดกันว่าจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นอีก 10 กว่าบาทแต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้จริง ซึ่งเราจะรอฟังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กยน.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ในวันที่ 26 ต.ค.นี้อีกครั้ง ถ้าแนวทางการช่วยเหลือดูแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้ แต่กลับไปตกอยู่กับรายใหญ่หมด ก็เตรียมรอรับม็อบได้เลย เพราะเกษตรกรทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนไม่มีใครกลัวทหาร พวกท่านได้แต่นั่งประชุมกันอยู่ในทำเนียบ ไม่มีใครลงมาดูแลอย่างจริงใจ นี่ถ้าวันนี้ไม่มีมาตรา 44 คุมไว้ รัฐบาลคงได้เจอม็อบเกษตรกรประท้วงทุกวันจนอยู่ไม่ได้แล้ว" นายไพรัชกล่าว

       ผู้สื่อข่าวรายงานที่ผ่านมานายกฯ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ โดยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดฯเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าในการประชุม กยน.วันที่ 26 ต.ค.นี้กระทรวงจะหารือและพิจารณาเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำแบบครบวงจร โดยไม่มีการชดเชยหรือแทรกแซงราคายางแต่อย่างใด แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ชาวสวนยางทั้งระบบ มีมาตรการสินเชื่อให้ความช่วยเหลือและเสริมความเข้มแข็งให้อาชีพชาวสวนยาง ซึ่งจะเป็นมาตรการใหม่ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาในทุกมิติ

      อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะมีการพิจารณาให้เกิดความรอบคอบกว่าในอดีต โดยไม่ชดเชยหรือแทรกแซงราคายาง เพราะอาจขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องพยายามทำให้ครบทุกเรื่องทุกมิติตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินการทำงานภายใต้พ.ร.บ.ยางแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งแผนแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการอย่างไรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้ พร้อมกับต้องพิจารณามาตรการรองรับปัญหาราคาตลาดโลกต่อเนื่องด้วย ขณะที่ ยังไม่มีการพิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรที่ของบปัจจัยการผลิตครัวเรือนละ 25,000 บาทแต่อย่างใด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!