- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 24 October 2015 00:18
- Hits: 10081
ทีมทหาร-ยังประกบติด ตามแชะ'ปู' 'คสช.'สั่ง-จับตา นัดใส่แดง 1 พย. นปช.โต้ไม่เกี่ยว 'พท.'ออกแถลง ปม 6 ข้อจำนำข้าว
รัฐบาล-คสช.จับตาประชาชนนัดกันวันอาทิตย์1 พ.ย.สวมใส่เสื้อแดงให้กำลังใจ'ยิ่งลักษณ์'ถูกไล่บี้กรณีจำนำข้าว ด้าน"ไก่อู"เผย'บิ๊กตู่'ได้รับรายงานแล้วแต่ยังไม่ได้สั่งการอะไร แนะให้ใช้วิจารณญาณชักชวนกันใส่เสื้อสีจะเป็นเหตุให้สังคมแตกแยกหรือไม่ ด้าน'วรชัย'ยันไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณจากแกนนำนปช. แต่เป็นการชักชวนกันเองในโลกโซเชี่ยล ชี้ประชาชนมีสิทธิ์จะสวมเสื้อสีอะไรก็ได้ แต่ถ้าจะสั่งห้ามก็ให้นายกฯใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งมา เพื่อไทยออกแถลงการณ์ป้องอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ย้ำโครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะช่วยเหลือเกษตรกร อัดรัฐบาลไม่ยุติธรรมเร่งรัดดำเนินการเพื่อเอาผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย'วิษณุ'แจงรัฐบาลต้องทำตามที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9095 ข่าวสดรายวัน
ตามถ่าย - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขณะเข้าสักการะพระเทพญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมากายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยตามประกบถ่ายรูปทุกฝีก้าว เมื่อวันที่ 22 ต.ค.
พท.ออกแถลงป้องปู-จำนำข้าว
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ชี้แจงโครงการรับจำนำข้าว มีเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากมีความพยายามเรียกร้องทางแพ่งโครงการรับจำนำข้าวต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงความโปร่งใสและยุติธรรม หลายฝ่ายรู้สึกว่าพยายามสร้างวาทกรรมทางการเมือง ให้เข้าใจคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง อาจส่งผลต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่อดีตนายกฯ พรรคเพื่อไทยมีส่วนนำเสนอนโยบายนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 จึงขอชี้แจง ข้อเท็จจริง 6 ข้อดังนี้
1.นโยบายจำนำข้าวเป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทย ที่จะช่วยเหลือชาวนา ยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาถึง 3.7 ล้านครัวเรือน และไม่ใช่นโยบายประชานิยมแบบให้เปล่า แต่เป็นโครงการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 84(8) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
2.เป็นหนึ่งในสัญญาประชาคม ที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554
ชี้โครงการสาธารณะช่วยเกษตรกร
3.โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเช่นเดียวกับโครงการสาธารณะอื่นๆ เช่น โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน การจัดโครงการสุขภาพถ้วนหน้า โครงการปรส. โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการประกันราคาข้าว โครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตและประกันราคายางพารา แม้กระทั่งการช่วยเหลือชาวนาแบบให้เปล่าไร่ละ 1,000 บาทต่อฤดูกาล ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐใช้เงินจำนวนมากเข้ามาดูแลประชาชน หากพิจารณาในมิติเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ด้านเดียว โครงการสาธารณะเหล่านี้ต้องถูกตีความว่าขาดทุนและทำให้ประเทศชาติเสียหายทั้งสิ้น จะส่งผลให้รัฐบาลและผู้รับผิดชอบต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน
4.โครงการรับจำนำข้าว มีการจ่ายเงินให้ชาวนา 870,018 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนอีกหลายรอบ อีกทั้งมีมาตรการป้องกันการทุจริตโดยจ่ายเงินผ่านตรงเข้าบัญชีชาวนา โดยไม่มีการรั่วไหล หรือใครได้รับผลประโยชน์จากเงินดังกล่าว และรัฐบาลยังเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 1 แสนล้านบาท
ปรักปรำอย่างเลวร้าย-อยุติธรรม
5.การกล่าวหาอดีตนายกฯที่เป็นผู้ควบคุมและกำกับนโยบายรับจำนำข้าว ว่าละเลยปล่อยให้ทุจริตเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่มีการแก้ไขตรวจสอบหรือยกเลิกโครงการ ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ยุติธรรม และไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำเนินโครงการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหาย และสั่งให้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างชัดเจน จากรายงานการไต่สวนของป.ป.ช.เคยมีบันทึกยืนยันว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่าอดีตนายกฯมีส่วนร่วมทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต
ดังนั้น การประโคมข่าวเรื่องทุจริตหรือปล่อยปละละเลยให้มีทุจริต เป็นเพียงกลวิธีหรือวาทกรรมที่สร้างกระแสความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อทำลายและปรักปรำอดีต นายกฯ อย่างเลวร้าย และไม่ยุติธรรมยิ่ง
"วิธีการที่ไม่ชอบธรรมที่สุด คือพยายามสร้างเงื่อนไขและผลักดันให้อดีตนายกฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลายแสนล้านบาทในโครงการ ทั้งที่คดียังมีปัญหาเรื่องการตีความ ความเสียหายที่ถกเถียงกันยังไม่มีข้อยุติและคดียังเพิ่งเริ่มต้นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอยู่ในขั้นเริ่มแรกของการตกลงเรื่องพยานหลักฐาน ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดี นอกจากนั้นยังมีข้อโต้แย้งว่า ป.ป.ช.จะระงับยับยั้งโครงการที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาได้หรือไม่ และหากระงับยับยั้งหรือยุติการดำเนินงาน รัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่" แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุ
เร่งรัดดำเนินคดีเอาผิดทางแพ่ง
6.การฟ้องอดีตนายกฯต่อศาลฎีกาฯ คดียังอยู่ในชั้นตรวจสอบพยานหลักฐานและยังไม่ได้เริ่มต้นสืบพยาน แต่กลับเร่งรัดหาทางดำเนินคดีแพ่ง เพื่อชี้ให้อดีตนายกฯต้องรับผิดในทางแพ่ง โดยที่ความจริงควรพิจารณาบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในอดีต ว่าโครงการที่ นายกฯหรือครม.ทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ไม่เคยปรากฏว่ามีการนำมาฟ้องร้องกัน ไม่ว่าในทางอาญาหรือทางแพ่ง
แถลงการณ์ระบุว่า ในยุคที่ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปฏิรูป โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรม แต่ยังมีปัญหาสองมาตรฐาน การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงขณะนี้เห็นว่ามีการใช้กลไกและเทคนิคทางกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อหวังผลทางการเมืองให้เกิดกับอดีตนายกฯ และผู้เกี่ยวข้อง และการเร่งรัดเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมีลักษณะผิดปกติ ทั้งที่องค์ประกอบทางกฎหมายในการเรียกค่าเสียหายยังไม่ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ พรรคจึงขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่อดีตนายกฯ
"จิ๋ว"ให้พท.คิดหาทางช่วยเกษตรกร
วันเดียวกัน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าช่วงบ่ายวันนี้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี รวมทั้งตน ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ที่บ้านพักซ.ปิ่นประภาคม หลังประสบเหตุไฟไหม้ห้องพระ
นายชวลิต เปิดเผยว่า พล.อ.ชวลิตได้ขอบคุณที่มาให้กำลังใจ พร้อมฝากพรรคให้ความร่วมมือกับกรธ. และรัฐบาล ให้ความเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญตามที่ กรธ.ขอความร่วมมือ และให้ข้อเสนอแนะว่าในภาวะที่เศรษฐกิจบ้านเมืองถดถอย ผู้ที่ลำบากที่สุดคือเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น พรรคเพื่อไทยต้องคิดวิธีช่วยเหลือประชาชน ทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว เมื่อการเมืองเปิดจะได้ช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างทันท่วงที
"ปู"รุดไหว้พระ-ทำบุญราชบุรี
หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ เดินทางกลับจากภารกิจที่ จ.หนองคาย และอุดรธานี เมื่อวันที่ 21 ต.ค. โดยที่ไม่ได้ไปร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี ที่ จ.อุดรธานี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาทำบุญไหว้พระ ตามกำหนดการเดิมที่ จ.ราชบุรี เริ่มจากการ สักการะพระเทพญานมงคล (เสริมชัย ชยมงคโล) เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยมีประชาชนจากพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวกและใกล้เคียงนำดอกไม้ พวงมาลัยมามอบให้อดีตนายกฯ เพื่อเป็นกำลังใจจำนวนมาก
สักการะหลวงพ่อแก่นจันทร์
จากนั้น อดีตนายกฯ เดินทางต่อมายังวัดช่องลม เขตเทศบาลเมืองราชบุรี เพื่อเข้า สักการะหลวงพ่อแก่นจันทร์พระพุทธปฏิมา ศิลปะสมัยทวารวดี พระคู่บ้านคู่เมืองราชบุรี และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์วัดช่องลม โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ อดีตส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายมานิต นพอมรบดี อดีตรมช.สาธารณสุข พร้อมประชาชนจำนวนมากมาต้อนรับ บางคนนำดอกไม้ รูปถ่ายไปมอบให้พร้อมขอลายเซ็น บางคนโผเข้าไปโอบกอด หอมแก้มด้วยความคิดถึง พร้อมมอบของที่ระลึกหลายอย่าง ซึ่งระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์พบปะชาวบ้านอยู่นั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาคอยดูแลความปลอดภัยทั่วบริเวณ ชาวบ้านต่างตะโกน "ยิ่งลักษณ์สู้ๆ" ดังทั่วบริเวณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย อดีต นายกฯ เดินทางต่อไปยังสวนผึ้งแหล่ง ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อท่องเที่ยวทุ่งเกษตร "โคโรฟิลด์" และฟาร์มแกะ ก่อนที่ช่วงค่ำเวลา 20.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานในงานสวดพระอภิธรรมศพนายเฮง พงษ์เรืองรอง บิดาของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ทหารยังตามถ่ายรูป-ประกบแจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางตลอดทั้งวันของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ จ.ราชบุรี ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าติดตาม และถ่ายภาพการทำกิจกรรมต่างๆ ของอดีตนายกฯ อย่างใกล้ชิด ทำให้ชาวบ้านบางคนบ่นว่า "คนไม่ได้ทำ ความผิดและไม่ได้คิดหนีไปไหน ทำไมยังต้องเฝ้าตามเช่นนี้" พร้อมตะโกนให้กำลังใจอดีตนายกฯ ว่า "สู้ๆ"
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์ เดินทางมาเยี่ยมชมฟาร์มโคโรฟิลด์ ซึ่งเป็นฟาร์มปลูกพืชรูปแบบใหม่สไตล์ญี่ปุ่น เมล่อน ออร์แกนิกแห่งใหม่ของประเทศไทย มีหลากหลายกิจกรรม หนึ่งในนั้นคือ กิจกรรมปลูกต้นไม้อุปถัมภ์ โดยอดีตนายกฯ และลูกชาย ได้รับดูแลต้นบอนไซเป็นต้นไม้อุปถัมภ์ พร้อมตั้งชื่อว่า "ต้นพลังใจ" และสัญญาว่าจะดูแลต้นไม้นี้ตลอดไป
วรชัย ยันนปช.เปล่าต้นคิดแต่งแดง
วันเดียวกัน นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มคนเสื้อแดง พากันนัดใส่แดง เพื่อให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ว่า เรื่องนี้ นปช.ไม่ได้เป็นคนต้นคิด แต่เห็นในโซเชี่ยลแชร์ข้อความนี้เยอะมาก คิดว่าการใส่เสื้อแดงเพื่อให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่การชุมนุมและกฎหมายก็ไม่ได้ห้าม ทั้งนี้ การที่คนนัดใส่เสื้อแดงเพราะรู้สึกว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยุติธรรม 2 มาตรฐาน รีบเร่ง เมื่อคนที่ใส่ก็เป็นคนที่สงสารและเห็นใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่วนจะใส่เสื้อแดงอยู่บ้านหรือใส่ไปซื้อกับข้าวก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ได้ใส่เพื่อชุมนุม เพราะข้อความเขาบอกว่าใส่เพื่อแสดงสัญลักษณ์ให้กำลังใจ หากจะห้ามไม่ให้ใส่เสื้อสีแดงก็ดูจะจำกัดสิทธิของประชาชนเกินไป
นายวรชัยกล่าวต่อว่าถ้าจะห้ามกัน ก็ให้ นายกฯ ใช้มาตรา 44 สั่งมาเลยว่าวันที่ 1 พ.ย.นี้ ห้ามใส่เสื้อสีแดง ก็จะได้รู้กันไปว่าบ้านเราใส่เสื้อสีแดงไม่ได้
ไก่อู เผยบิ๊กตู่ทราบแล้ว-นัดกัน 1 พ.ย.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการแชร์ภาพข้อความเชิญชวนให้สวมเสื้อสีแดงในวันที่ 1 พ.ย.นี้เพื่อแสดงพลังให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า รัฐบาลไม่ต้องการขยายความขัดแย้ง ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. รับทราบความเคลื่อนไหวนี้แล้ว และขอให้ประชาชนใช้ดุลยพินิจว่าการแบ่งสี ด้วยการเชิญชวนแต่งเสื้อสี จะทำให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นในสังคมอีกหรือไม่ เราต้องเคารพกฎกติกาและกฎหมาย
โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า ถ้าเอาความรู้สึกส่วนตัวเป็นที่ตั้ง จะทำให้การแก้ปัญหาของบ้านเมืองลำบาก เพราะไม่ใช่วิธีขจัดความขัดแย้งและละลายพฤติกรรม ทำให้คนกลับมาหลอมรวมใจกัน ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักมากกว่าการตอบโต้ไปมา
นายกฯปฏิบัติภารกิจ-งดจ้อสื่อ
ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าได้เข้าปฏิบัติงานตามปกติภายในตึกไทยคู่ฟ้า ตั้งแต่ในช่วงเช้า โดยในเวลา 15.30 น. นายกฯ และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา จะเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และร่วมเป็นเกียรติในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ประจำปี พ.ศ. 2558 ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ในองค์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
พร้อมกันนี้ นายกฯร่วมงานพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ในเวลา 16.30 น. พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวังด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันนายกฯ ปฏิบัติภารกิจอยู่ภายในตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่มีภารกิจนอกสถานที่และไม่มีภารกิจที่สื่อมวลชนจะดักสัมภาษณ์ได้ ซึ่งเป็นไปตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จะทำงานตามปกติ แต่หากมีเรื่องสำคัญก็จะพูด ไม่สำคัญก็จะไม่พูด จะได้ไม่เพิ่มความขัดแย้ง
สำหรับ ภารกิจในวันที่ 23 ต.ค. เวลา 08.00 น. นายกฯ จะนำคณะรัฐมนตรี(ครม.) วางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระบรมราชานุสรณ์พระลานพระราชวังดุสิต เนื่องในวันปิยมหาราช และวันที่ 25 ต.ค. นายกฯ จะร่วมพิธีการบำเพ็ญกุศล เนื่องในโอกาสครบ 102 ปีนับแต่ประสูติกาลและครบ 2 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
มีชัยแจงบทกำหนดหน้าที่ของรัฐ
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดหน้าที่ของรัฐในร่างรัฐธรรมนูญว่า หน้าที่นี้จะมีสภาพบังคับให้รัฐต้องทำ ต่างจากเดิมที่เขียนให้เป็นสิทธิของประชาชนไว้ เช่น ให้ประชาชนมีสิทธิขอข้อมูลจากรัฐได้ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐไม่ให้โดยอ้างระเบียบต่างๆ จึงเขียนกำหนดให้เป็นหน้าที่รัฐแทนว่า ต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน หากไม่ทำตาม สามารถนำไปฟ้องร้องทางอาญา หรือ ฝ่ายรัฐสภาอาจจะยกว่าเป็นเหตุละเลยต่ออำนาจหน้าที่ นำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้ แต่เงื่อนไขเหล่านี้จะไม่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะเขียนไว้เพียงกว้างๆ เช่น กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับ ส่วนอะไรนอกเหนือจากนี้ เป็นเรื่องรัฐบาลแต่ละชุดว่าจะดำเนินการอย่างไร การกำหนดหน้าที่ของรัฐ จึงแตกต่างจากแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ไม่ได้มีสภาพบังคับ รัฐจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้
ให้กำลังใจ - พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำและสมาชิกพรรคเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ที่ประสบเหตุไฟไหม้ห้องพระ ที่บ้านปิ่นประภาคม จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. |
แขวะแจกเงิน-ซื้อข้าวจากชาวนา
เมื่อถามว่าการกำหนดหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องลงพื้นที่ฟังความคิดเห็นประชาชนว่าอยากให้รัฐต้องทำอะไรหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะบางข้อเสนออาจเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ขอให้กำหนดว่า รัฐบาลต้องกำหนดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาเกวียนละ 50,000 บาท ซึ่งมันทำไม่ได้ ถ้าทำก็ล้มละลายกันหมด ส่วนจะกำหนดให้รัฐต้องสร้างความปรองดองหรือไม่นั้น มองว่าเขียนลำบาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะคิดวิธีออก หรือไม่ หากเขียนไปลอยๆ ว่าให้ปรองดอง โดยไม่มีวิธีดำเนินการ เดี๋ยวก็เอาเงินไปแจกอีก
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า พิจารณาต่อในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 43-49 ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 45 เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบุคคลในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายสาธารณะของรัฐ รวมถึงจัดทำร่างกฎหมาย กฎ หรืออื่นใด ที่อาจเกิดผลกระทบกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่โดยปกติสุข มาตรา 46 การคุ้มครองเสรีภาพการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาของสื่อมวลชนตามจรรยาบรรณ ซึ่งการเขียนมาตรานี้ เรามองว่าสื่อมวลชนเป็นง่าย เพียงเขียนข้อมูลลงใน เฟซบุ๊กก็ได้แล้ว จะควบคุมดูแลอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในสมาคม หรือจะตั้งองค์กรขึ้นมาดูแล นอกจากนี้จะมีมาตรการจัดการอย่างไรกับสื่อที่ทำผิด เช่น ถอดถอนหรือแทรกแซง
สปท.เล็งปัดฝุ่นนิรโทษฯทุกสีเสื้อ
ด้านนายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกลุ่มย่อยของสปท.ด้านการเมือง เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการพูดถึงภารกิจเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปทางการเมืองคือ การสร้างบรรยากาศปรองดอง มีการหยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมมาหารือกัน โดยเห็นตรงกันในหลักการว่าควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดทุกสีเสื้อ ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกปปส.ที่มีความผิดคดีเล็กน้อย ซึ่งมีมูลเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่ยังไม่มีการกำหนดประเภทคดีเล็กน้อยที่จะได้รับนิรโทษกรรม ส่วนแกนนำการชุมนุม ตลอดจนความผิดคดีทุจริต คดีมาตรา 112 และผู้ที่หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ จะไม่อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม
สานต่อกก.ศึกษาชุดหนุ่มซินตึ๊ง
นายสมพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นหัวข้อแรกๆ ที่จะผลักดันให้สปท.ดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมก่อนมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่วนจะตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมาเพื่อผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ที่ประชุมยังไม่ได้พูดถึง แต่จะนำแนวทางคณะกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดอง ชุดที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสปช. เป็นประธาน เคยศึกษาไว้ นำมาสานต่อ
นายสมพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมกลุ่มย่อยสปท.ด้านการเมือง ยังหารือถึงเรื่องทุนพรรคการเมือง โดยจะวางแนวทางให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง เพื่อไม่ให้พรรคอยู่ใต้อิทธิพลของนายทุนเหมือนในปัจจุบัน
วิษณุเผยรวมเองประเด็นชงกรธ.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงนายมีชัย ทำหนังสือถึงนายกฯ ขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งให้ที่ประชุมครม.วันที่ 21 ต.ค. รับทราบและเห็นชอบ โดยให้ตนเป็นผู้รวบรวมความเห็นเสนอกลับไปแต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากยังไม่เห็นตัวร่าง ซึ่งความเห็นที่ส่งไปในนามครม.ไม่ใช่การวิจารณ์ตัวร่าง แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลตั้งข้อสังเกต เพื่อให้เขาเตรียมร่างไว้ ขณะนี้นึกได้ 1-2 ประเด็น ที่ทำให้ครม.ประสบปัญหาในการบริหาร
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนกรอบการปฏิรูปประเทศเพื่อให้รัฐบาลต่อไปเดินหน้าต่อนั้น หากคิดได้จะบอกไปด้วย แต่บางเรื่องไม่จำเป็นต้องทำหนังสือเพราะคุยกันส่วนตัวได้ และตนจะรวบรวมความเห็นที่ส่วนต่างๆ เสนอมายังครม. เพื่อกลั่นกรองเหลือแต่เนื้อหาส่งให้กรธ. แต่ไม่ใช่ความเห็นของครม. เช่น ความเห็นที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี หรือประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ส่งถึงนายกฯ ส่วนความเห็นคสช. เขาคงส่งไปที่ คสช.ให้ทราบต่อไป
ยันมีทางออกในใจถ้ารธน.ไม่ผ่าน
ส่วนที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอว่าหากร่างฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติ ให้นำฉบับปี พ.ศ.2540 มาประกาศใช้และปรับแก้บทเฉพาะกาล นายวิษณุกล่าวว่า รับทราบ เพราะมีคนอื่นที่เสนอมาคนละแบบอีกจำนวนมาก และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไรนั้น ขณะนี้คิดไว้ในใจ แต่ยังไม่ได้หารือกัน หากไปพูดมากคนจะนึกว่าตั้งท่าจะไม่ให้ผ่านกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนไม่ห่วงเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ทำประชามติทันที ซึ่ง กรธ.พูดแล้วว่าจะค่อยๆ ปล่อยเนื้อหาออกมาให้เห็น เมื่อคนได้เห็นและเข้าใจ รับรู้ตั้งแต่ต้น เมื่อถึงเวลาทำประชามติ ประชาชนจะเข้าใจเนื้อหาได้ไม่ยาก และเวลามีจำกัด การจะขอเวลาเพิ่มจาก 6-4-6-4 เป็น 6-6-6-6 ก็ไม่ได้ มันนานไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้จะมีปัญหาซับซ้อนกว่านี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องมีแน่ เพราะคนฉลาดและพลิกแพลงขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญต้องคิดแก้ปัญหา แต่ถ้ามองปัญหาการเมืองแบบไทยๆ ต่อไปก็ย่อมมีปัญหาอยู่แล้ว เราถึงเรียกหาความปรองดอง เพราะมันมีโอกาสเกิดความขัดแย้ง จึงต้องคิดมาตรการหลายอย่าง
เมื่อถามว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นตัวเลือกในการแก้ปัญหาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ เมื่อถามว่าหวั่นหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน หากระบุให้มีคปป. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่หวั่น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ยังบอกเลยว่าไม่หวั่นเช่นกัน
แจงเอาผิดจำนำ-เหตุปปช.ชงมา
เมื่อถามถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตเหตุใดรัฐบาลไม่เอาผิดโครงการในรัฐบาลอื่นที่ทำให้รัฐขาดทุน เช่น โครงการรับประกันราคาข้าว สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือการขายยางพาราแบบจีทูจีกับจีนของรัฐบาลนี้ที่ขาดทุนไปกว่า 4 พันล้านบาท แต่ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ตอบตรงนี้ แต่จะตอบว่าที่รัฐบาลดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว เพราะป.ป.ช.ส่งเรื่องมาให้และรัฐบาลไม่ดำเนินการไม่ได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ป.ป.ช.ไม่ได้ส่งมาให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะไปยกขึ้นมาเองก็ไม่รู้จะตั้งต้นจากตรงไหน หากป.ป.ช.ส่งเรื่องมาแล้ว รัฐบาลไม่ทำและปล่อยให้คดีหมดอายุความ รัฐบาลจะผิดเพราะที่เล่นงานเรื่องจำนำข้าวทุกวันนี้ เพราะป.ป.ช.เคยบอกแล้วและเตือนรัฐบาลขณะนั้นแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นเพิกเฉย ถึงได้มีเรื่องอยู่
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีจำนำข้าว นายวิษณุกล่าวว่า ก็รับทราบ ส่วนจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ตนไม่ได้เป็นกรรมการสอบสวนในเรื่องนี้
"มาร์ค"เปลี่ยนท่าที-ไม่เอาคปป.
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานของ กรธ.ว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้เดินไปด้วยดี ซึ่งนายมีชัยทำหนังสือถึงตน เพื่อขอให้สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการต่างๆ ที่เห็นควรบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อีกสักพักตนถึงจะส่งความเห็นไปให้ เพราะคำถามกว้างมาก ต้องใช้เวลาประมวลประเด็นต่างๆ แต่คงไม่ต่างจากที่เคยเสนอในสมัยนายบวรศักดิ์
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่ารัฐบาลมีท่าทีนำ คปป.ใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าใส่ไว้เหมือนเดิมคงไม่ได้ เพราะครั้งที่แล้วเป็นปมปัญหาทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ตนมี 2-3 คำถามที่เคยพูด เช่น เรื่องประชานิยม ต้องตั้งคำถามว่าควรมีกลไกเดียวหรือไม่ ซึ่งนายมีชัยบอกว่าจะต้องมีกลไกจึงต้องอธิบายได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร เพราะ คปป.เดิมไม่มีตรงนี้ ฉะนั้นอย่าพูดว่ามีหรือไม่มีคปป.
แนะมีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุล
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราห่วงการทุจริต ห่วงประชานิยม และห่วงรัฐบาลว่าจะเกิดการประท้วงวุ่นวาย เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก แต่ละเรื่องจะเอาอะไรมาเป็นตัวช่วยไม่ให้บ้านเมืองเจอกับปัญหาเหล่านี้ ถ้าจำเป็นต้องมีคณะบุคคล องค์กร เก่าหรือใหม่รับผิดชอบ หรือได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร ถ้ามาในแนวทางนี้ไม่มีปัญหา ไม่มีใครค้าน
ส่วนความเห็นของนายธานินทร์นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าตนมองว่าความเห็นของนายธานินทร์บอกว่าทำอย่างไรอย่าให้คนทุจริตกลับเข้ามาสู่การเมือง ถือเป็นหลักการที่ดี ใครที่ถูกศาลตัดสินว่าทุจริตก็ไม่ควรเข้าสู่การเมืองได้อีก
ยังไม่ได้คุยชายหมู-รอประสาน
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีนายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. ตรวจสอบการทุจริตการบริหารงานของกรุงเทพฯว่า ยืนยันว่าพรรคไม่มีปัญหาทะเลาะกัน ตนเชิญนายวิลาศมาพูดคุยและโทรศัพท์หาม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ตอนนั้นอยู่ต่างประเทศ แต่ตอนนี้กลับมาแล้ว ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมาพบได้วันไหน กำลังให้คนประสานอยู่
"คงไม่มีใครสบายใจที่มีการตอบโต้กันซึ่งเป็นคนในพรรคเดียวกัน ทำให้ประชาชนสับสน ปกติการประสานระหว่างกทม.กับพรรค เวลามีประชุมเราจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องของกทม.มาประชุมด้วย เพื่อให้รับรู้ปัญหาต่างๆ ที่อาจได้รับเรื่องร้องเรียนมา แต่ปัจจุบันไม่มีการประชุม ก็ยอมรับว่าอดีตส.ส.ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมา อาจไม่มีช่องทางแสดงออกเลยเกิดเหตุขึ้น ผมถือว่าอดีตส.ส.มีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ใช่ก็ตาม" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นผู้ว่าฯกทม.ต้องไปทำให้เกิดความชัดเจนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะกล้องวงจรปิด และต้องทำให้ประชาชนมั่นใจเกี่ยวกับกล้องซีซีทีวีด้วย เพราะเป็นที่วิจารณ์กันว่ากล้องที่ไปติดนั้น บางทีเชื่อมหรือไม่เชื่อมสัญญาณ ส่วนที่นายวิลาศออกมาเปิดเผยนั้น นายวิลาศบอกกับตนว่ามีข้อมูลอะไรบ้างก็จะไปยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นกลางให้ดำเนินการ ไม่ว่าป.ป.ช. หรือปปง. ซึ่งนายวิลาศทำได้ถ้ามีข้อมูลมีหลักฐาน
ยันปชป.ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนการขอใบอนุญาตนั้น ก่อนหน้านี้ตนคุยกับผู้ว่าฯกทม. แล้วว่าได้รับเรื่องร้องเรียนทำนองนี้มาก จึงบอกไปว่าเมื่อรัฐบาลออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางราชการ ก็อยากให้กทม.รื้อระบบตรงนี้เพราะวิจารณ์มาก จึงคิดว่าดีแล้วที่ผู้ว่าฯ บอกไม่ต้องมาเป็นสงครามทางวาจากัน แต่เมื่อมีเรื่องร้องเรียนมาก็ต้องมีคำตอบและต้องแก้ไข รวมทั้งโครงการใดๆ ที่นายวิลาศบอกว่าไม่โปร่งใส เช่น ใครไปซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่เป็นที่ต้องการ มีการพูดถึงว่าไประบุเฉพาะเจาะจงว่าจะต้องซื้อจากรายไหน ก็ต้องตรวจสอบ
"ผมจะคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนสบายใจว่า 1.พรรคไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องการตรวจสอบ 2.สำคัญกว่าเรื่องที่พาดพิงตัวบุคคลขณะนี้ คือเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับงานและประชาชน ไม่ว่าซีซีทีวี เรื่องการขอใบอนุญาต จะต้องช่วยกันแก้ไข เพราะทั้งผู้ว่าฯ และพรรคต้องร่วมกันรับผิดชอบสิ่งที่มันเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หากเป็นสถานการณ์ปกติคงมีการสอบถามกันในที่ประชุมพรรค แต่ปัจจุบันไม่มีประชุมพรรค เท่าที่ทราบอดีตส.ส.บอกกับผมว่าไม่สามารถติดต่อใครได้ในเรื่องนี้ แต่ต้องพยายามแก้ไขเท่าที่ไม่ขัดต่อการห้ามทำกิจกรรมหรือการประชุมต่างๆ ซึ่งทม.และพรรคจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาจากประเด็นที่ร้องเรียนมา อะไรที่ไม่ถูกต้องก็มาแก้ไข" นายอภิสิทธิ์กล่าว
แบะท่าไม่ปิดกั้นสมาชิกกปปส.
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่โยงถึงกปปส. คนที่ออกไปอยู่กับกปปส.หลายคนยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ยกเว้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ที่พูดแล้วว่าจะไม่หวนกลับมาพรรคอีก ส่วนคนอื่นตนไม่เคยปิดกั้น คิดว่าที่ผ่านมาต่างทำหน้าที่ แต่เป้าหมายเดียวกันคืออยากห็นการปฏิรูปประเทศและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบอบทักษิณ
เมื่อถามว่าหลายคนมองไกลถึงคะแนนเสียงของพรรคในส่วนของกทม.ด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้มองเรื่องคะแนนเสียง เพราะเป็นความรับผิดชอบของเรา เมื่อพรรคส่งผู้สมัครและได้รับเลือกตั้ง มีหน้าที่บริหารกทม. เรารับผิดชอบดูแลงานของกทม.ให้เรียบร้อย เมื่อมีเสียงต่อว่า มีความไม่พอใจเราก็ต้องแก้ไข