- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 19 October 2015 12:02
- Hits: 3988
ส่งสัญญาณ'กรธ.'สกัด พท.ข้องใจ จม.ธานินทร์ถึง'บิ๊กตู่'สมบัติเชียร์ให้ดองโกง พร้อมแจงที่มานายกฯ ชงสูตรเลือกตั้งวุฒิสภา'นิกร'จี้ปฏิรูปการเมือง
'สมบัติ'พร้อมให้ความเห็น กรธ.ปมที่มานายกฯ แนะเลือกตั้ง ส.ว. แต่กำหนดคุณสมบัติเป็นผู้เชี่ยวชาญ 15 ปี
@ วิษณุยังไม่เห็นจม.'ธานินทร์'
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอห้ามนักการเมืองที่กระทำผิดเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก หลังพ้นโทษ 5 ปี หรือกรณีจัดตั้งศาลพิเศษระหว่างประเทศเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินนักการเมืองที่ลี้ภัยไปต่างแดนว่า ยังไม่ทราบเรื่องและไม่ทราบว่านายธานินทร์ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่อง และนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ส่งข้อเสนอของนายธานินทร์มาให้
"แต่อาจจะส่งเนื้อหาให้ในเวลาทำงานเพราะขณะนี้เป็นวันหยุด ส่วนข้อเสนอของนายธานินทร์ที่เปิดเผยตามสื่อต่างๆ นั้น ผมเห็นข้อมูลแล้วแต่ไม่ขอแสดงความเห็นเพราะยังไม่ได้รับข้อเสนอ ส่วนข้อเสนอจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อกีดกันคนในพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ" นายวิษณุกล่าว วันที่ 28 ตุลาคม ที่จะประชุมแม่น้ำ 5 สายที่รัฐสภา จะไม่มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 เนื่องจากเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการส่งสัญญาณพูดกับสภาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มากกว่า เพราะเป็นสภาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จะยังไม่มีการพูดถึงการแก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่เคยคิดที่จะแก้ไขมาตรา 35 แต่ คสช.จะแก้หรือไม่แก้อย่างไรนั้น ไม่ทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลใดที่ต้องแก้ไข
@ เผยปรส.อาจอยู่ใน 40 คดีหลัง
ผู้สื่อข่าวถามถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จแห่งชาติ (นปช.) เคลือบแคลงใจในการรื้อฟื้น 12 คดีของรัฐบาล แต่กลับไม่มีการรื้อคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นายวิษณุกล่าวว่า 12 คดีเป็นเรื่องที่รัฐเป็นทั้งจำเลยและโจทก์ในการฟ้อง ส่วนเรื่อง ปรส.ไม่ทราบอยู่ที่ใด ยังไม่โผล่เข้ามาที่รัฐ ข้อสำคัญ 12 คดีเป็นคดีแพ่งไม่มีคดีอาญา
"คดีทางแพ่งไม่ได้มีอยู่แค่ 12 คดี แต่ 12 คดีที่ว่าเป็นคดีสำคัญที่มีเรื่องมีราวในขณะนี้กำลังฟ้องอุตลุด จะแพ้ จะชนะ หรือจะเดินหน้าจะถอยหลัง แต่คดีอื่นๆ ที่สำคัญ ผมเคยชี้แจงในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาว่า มีอีก 40 คดี อย่างคดีรถดับเพลิง ขณะนี้ยังไม่ถึงวาระที่จะรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะ ครม.เขาอยากรู้คดีที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินหรือจะได้เงินตรงนี้มากกว่า ส่วน 40 คดีที่เหลืออยู่จะรายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบเพื่อดำเนินการในช่วงไหนอย่างไรนั้นยังไม่ทราบ" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า ใน 40 คดีที่ยังไม่รื้อฟื้นมีคดี ปรส.อยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่ทราบ จำไม่ได้ แต่ 40 คดีน่าจะครอบคลุมหมดแล้ว หากค้นเจอจะบอกให้ทราบอีกทีว่ามีคดี ปรส.ด้วยหรือไม่ ไม่ได้ลึกลับอะไร"
@ บิ๊กตู่ขอทุกฝ่ายลดความขัดแย้ง
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนบางแห่งนำเสนอเนื้อหาพาดพิงถึงอดีตนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อมโยงกับรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดของอดีตนายกรัฐมนตรี ในลักษณะของความโกรธแค้นเพราะถูกเล่นงานตลบหลัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของความขัดแย้งว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายเปิดประเด็นความขัดแย้งขึ้นในสังคม เพราะสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้นและกำลังเดินหน้าไปสู่การสร้างความปรองดองและการปฏิรูปตามโรดแมปที่วางไว้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การอ้างถึงคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนบุคคลต่างๆ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงจะพบว่าทุกคดีไม่ได้เกิดจากการมุ่งทำลายใคร แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ผิดหรือถูกเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีที่รัฐเป็นโจทก์และจำเลยรวม 12 คดี มูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาทนั้นเกิดขึ้นและฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันตั้งแต่ในอดีต ก่อนที่ คสช.และรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา อย่างไรก็ตามทุกคดีล้วนมีกำหนดเวลาของสัญญาหรืออายุความ ดังนั้น คสช.และรัฐบาลปัจจุบันจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ กฎหมายให้เกิดความชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ยุติธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
"พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ที่สำคัญสื่อมวลชนควรจะได้ร่วมกันพิจารณาว่าแนวทางการนำเสนอข่าวแบบใดที่จะสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดองภายในประเทศ และไม่ต้องการให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหยิบประเด็นขึ้นมาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@'วรชัย'สงสัยจม.ดิสเครดิต
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีจดหมายของนายธานินทร์ว่า การที่นายธานินทร์ออกมาเสนอความคิดเห็นในช่วงที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังร่างรัฐธรรมนูญ โดยเอกสารที่ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์นั้น มีการระบุถึงนักการเมืองที่โกงไม่ควรกลับเข้ามาเกี่ยวข้องในทางการเมืองอีก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็รับลูก โดยบอกว่าจะส่งต่อให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ก่อนที่จะส่งเรื่องให้ กรธ.พิจารณาต่อไปนั้น อยากถามว่านายธานินทร์กำลังส่งสัญญาณให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกีดกันคนของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ลงเลือกตั้งหรือไม่ "เพราะที่ผ่านมาพวกเราถูกกล่าวหาว่าโกง ว่าทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด อย่างล่าสุดในคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงอีก ทั้งที่เป็นนโยบายช่วยเหลือชาวนา ที่สำคัญยังไม่มีการตัดสินว่า น.ส.
ยิ่งลักษณ์ กระทำผิดเลย แต่รัฐบาลมีความพยายามจะออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีก ถือเป็นการดิสเครดิตกันทางการเมืองหรือไม่" นายวรชัยกล่าว และว่า ที่นายธานินทร์ระบุว่ามีคนที่โกงแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้น อยากถามนายธานินทร์ว่าพูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ เพียงแค่อดีตนายกฯเซ็นให้ภริยาไปซื้อที่ดิน แบบนี้เรียกโกงตรงไหน แล้วคดีประกันราคาข้าว คดีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะ คดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก หรือแม้แต่โครงการจัดซื้อจีที 200 เรียกว่าอะไร มาตรฐานการตรวจสอบอยู่ตรงไหนถึงจะบอกได้ว่าใครผิดใครถูก ใครโกงหรือไม่โกง
@ 'อมร'ไร้ความเห็นจม.องคมนตรี
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวถึงการร่างระเบียบข้อบังคับการประชุมร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังคงยึดระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติหน้าที่ตามการประชุมรัฐสภาไปก่อน ส่วนในอนาคตหากมีความคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามถึงความเห็นในจดหมายของนายธานินทร์ นายอมรกล่าวว่า ไม่มีความเห็น ทั้งนี้ นายกฯคงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาแล้วเสนอมาให้ กรธ. ซึ่ง กรธ.ก็ต้องพิจารณาทุกความเห็น
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นการตัดสิทธิตลอดชีวิตนักการเมืองที่โดนคดี รวมถึงการยึดทรัพย์นักการเมืองที่โดนคดีทุจริต เพื่อไม่ให้หนีไปต่างประเทศบ้างหรือไม่ นายอมรกล่าวว่า คุยกันเป็นกรอบกว้างๆ ในหมวดของการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการยกเอาประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอไว้มาศึกษาและพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งก็มีเรื่องเหล่านี้อยู่
@ ตู่ถามนายกฯไม่สนใจรื้อ 396 สภ.
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในรายการมองไกลผ่านยูทูบว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่สนใจให้รื้อคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และโครงการก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่งทั่วประเทศมาตรวจสอบ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการทุจริตครั้งมโหฬารของประเทศไทย โครงการ ปรส.เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับโครงการโฮปเวลล์ และทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6.5 แสนล้านบาท พร้อมกับมีดอกเบี้ยด้วย เงินจำนวนนี้นำมาจ่ายให้นักธุรกิจที่สมคบกับต่างชาติแล้วโกงและล้มบนฟูก ซึ่งเป็นการปล้นประเทศไทย
"ยังมีโครงการก่อสร้างโรงพักทั่วประเทศ 396 แห่งที่มีการประมูลงานเพียงรายเดียว จึงเป็นการคิดทุจริตสำเร็จรูปมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถบริหารสัญญาการก่อสร้างได้ทั่วประเทศ ดังนั้นจึงมีการรับเหมาช่วงแล้วเรียกเก็บค่าหัวคิว กินเปอร์เซ็นต์จาก 15 ได้ 5 หรือสมมุติ 20% ก็ได้ 8%" นายจตุพรกล่าว
@ คดีคลองด่าน'วิษณุ'ต้องร่วมชดใช้
นายจตุพรกล่าวอีกว่า คดีเก่าที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลและให้นายวิษณุรื้อมาตรวจสอบกันใหม่ถึง 12 คดีนั้น ต้องการปราบการทุจริตจริงจังหรือไม่ เพราะการเลือกฟื้นคดีเก่าบางคดีขึ้นมาแล้วละเว้นบางคดีนั้น สะท้อนถึงวิธีคิดที่ไม่สุจริตแล้ว โดยเฉพาะคดีก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคดีที่หลอกให้รัฐกลายเป็นผู้เสียหายแล้วต้องจ่ายเงินชดเชยให้เอกชน ซึ่งนายวิษณุย่อมรู้เรื่องดี นายวิษณุรับรู้โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมาตั้งแต่เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2536-2545 วันยกเลิกสัญญายังเป็นรองนายกรัฐมนตรี (2545-2549) ในรัฐบาลนายทักษิณ ดังนั้นถ้าการยกเลิกสัญญาเป็นความผิดและต้องชดใช้ความเสียหายแล้ว นายวิษณุต้องร่วมชดใช้ด้วย
นายจตุพรกล่าวอีกว่า กรณีรัฐบาลจะออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯนั้น เชื่อว่าเป็นการกระทำด้วยความสะใจในการเห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นความสุขของตัวเอง เพราะคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการทุจริต และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ได้พิพากษา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบพยานเท่านั้น แต่คำสั่งทางปกครองกลับเป็นการพิพากษาถึงขั้นต้องยึดทรัพย์กันแล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์ทำลายคนเก่าเพื่อให้จำคนใหม่ โดยที่คนใหม่ไม่ต้องทำความดีอะไรเลย ประชาชนที่รักความเป็นธรรมจะเกิดความรู้สึกว่าถูกท้าทาย ดังนั้นรัฐบาลควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าเร่งรีบจนไม่สนใจความรู้สึกของคนที่รักความเป็นธรรม
@ 'สมบัติ'พร้อมให้ความเห็นกรธ.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.จะเชิญไปแสดงความเห็นประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี หรือคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ได้ทำการศึกษาไว้ว่า จากการที่ประสานงานเป็นการเชิญไปให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ยินดีจะไปให้ข้อมูล ส่วนวันและเวลาใดคงจะต้องนัดกันอีกที
"การให้ความคิดเห็นต้องขึ้นอยู่กับว่าทางคณะที่เชิญให้ความเห็นจะสอบถามเรื่องอะไร ก็จะเสนอแนะไปตามนั้น ทั้งนี้ ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีและที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นต้องขึ้นอยู่ว่าทางคณะจะถามหรือไม่ เพราะประเด็นที่มานายกฯ ผมมีความชัดเจนมาโดยตลอดว่าต้องเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ตามหลักการอธิปไตยเป็นของปวงชน ถ้าไปกำหนดนายกฯต้องเป็นคนนอกก็ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อันจะส่งผลให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน" นายสมบัติกล่าว
@ แนะส.ว.ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ 15 ปี
นายสมบัติกล่าวว่า สำหรับที่มา ส.ว. เท่าที่มีปัญหาคือ 1.ชนชั้นปกครองต้องการให้มี ส.ว.สรรหา เพราะจะได้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 2.ส่วนประชาชนอยากให้มี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นอยากเสนอว่าต้องทำให้ 2 เป้าหมายผสมกัน ก็มีหนทางทำได้ กล่าวคือ ถ้ากำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ทว่าต้องควรกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครว่าควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี อีกทั้งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านไม่น้อยกว่า 15 ปี เช่น เป็นนักกฎหมาย ต้องทำงานด้านกฎหมายมา 15 ปี เป็นนักการศึกษา ต้องทำงานด้านการศึกษา 15 ปี ถ้าทำแบบนี้ก็จะได้ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและ ส.ว.จากการเลือกตั้งที่ตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 ข้อ ในทำนองเดียวกันจะตัดคนที่ไม่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและสภาเครือญาติ ส.ส.ออกไปได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไรกรณีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กำจัดคนฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ให้มีบทบาททางการเมืองตลอดชีวิต นายสมบัติกล่าวว่า "ได้ติดตามความคิดเห็นของท่าน เพราะเป็นคำแนะนำของผู้ใหญ่ และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องไม่ให้คนทุจริตคอร์รัปชั่นมีอิทธิพลทางการเมือง อีกทั้งต้องคัดเลือกคนดี มีประวัติที่ดีมาใช้อำนาจ ส่วนคนมีประวัติไม่ดีก็ต้องไม่ให้โอกาสใช้อำนาจ" นายสมบัติกล่าว
เมื่อถามว่า จุดประสงค์แท้ที่จริงของจดหมายต้องการกำจัดคนตระกูลใดออกจากการเมืองหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า เป็นการมองโลกในแง่ร้าย อย่าไปคิดว่ามีแต่คนไม่ดี คนดีๆ เขาก็มี ถ้านักการเมืองตระกูลใดเป็นคนดีก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นคนไม่ดี ไม่ว่าจะตระกูลใดก็ตามต้องไม่ให้มีบทบาททางการเมือง ซึ่งต้องเป็นหลักการที่ใช้กับทุกตระกูล
@ นพดลชี้ร่างรธน.ต้องยึด 5 หลัก
นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้ยินทั้งผู้มีอำนาจและ กรธ.ระบุว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลนั้น ถ้าทำได้จริงจะมีผลดีต่ออนาคตของประเทศ รัฐธรรมนูญที่เป็นสากลต้องเคารพและตั้งอยู่บนเสาหลักอย่างน้อย 5 เสาหลัก คือ 1.หลักการประชาธิปไตยที่เคารพการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศ 2.หลักการเคารพเสรีภาพพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสากล 3.หลักการถ่วงดุลระหว่างสามอำนาจคือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ 4.หลักนิติธรรม และ 5.หลักการที่รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขได้เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของประเทศ
"ดังนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่สะท้อนหลักการต่างๆ ข้างต้นไว้ก็น่าจะได้รับการยอมรับและมีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง จะไม่เสียของ โดยเฉพาะหลักนิติธรรมหรือ รูล ออฟ ลอว์ นั้นเราท่องเป็นคาถากันมานาน จึงต้องทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะหลักนี้ยังไม่หยั่งรากลึกในประเทศไทย ถ้ามีหลักนิติธรรมจะเกิดความยุติธรรม เมื่อมีความยุติธรรมก็จะนำสู่ความปรองดอง" นาย
นพดลกล่าว และว่า ตัวอย่างของการยึดหลักนิติธรรมในทางปฏิบัตินั้น เช่น การดำเนินคดีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือชาวบ้าน ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด ต้องมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต้องไม่มีการชี้นำสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมต่อทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ และต้องใช้กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
@ พท.ค้านเพิ่มอำนาจ"กกต.-ป.ป.ช."
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ กรธ.เพิ่มอำนาจให้องค์กรตัวเองว่า ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าที่ผ่านมาอำนาจของ กกต.และ ป.ป.ช.มีมากเกินควรและมีอำนาจเต็มที่แล้ว ขณะเดียวกัน อยากให้มีเพียง ป.ป.ช.ระดับจังหวัด ส่วนกลางให้ยุบทิ้ง ปัจจุบันมีหมื่นคดีอยู่ใน ป.ป.ช.ส่วนกลาง แต่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ บางคดีปล่อยให้หมดอายุความ เห็นควรให้กระจายงานแก่ ป.ป.ช.แต่ละจังหวัดเพื่อความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ไม่คั่งค้าง และให้ศาลแต่ละจังหวัดเป็นผู้ตัดสิน
"อยากให้มีองค์กรตรวจสอบ ป.ป.ช. และประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.ได้ ว่าทำหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้ข้าราชการระดับซี 3 ขึ้นไปทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.เองต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย ทั้งแม่ทัพนายกอง ทุกคนต้องโปร่งใส ใครที่จะมาเป็นตัวแทนของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดโดยแจ้งต่อ กกต.จังหวัด ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ใช่มาตรวจสอบแต่คนอื่น ว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี การทำเช่นนี้จะทำให้สังคมไม่เกิดความเคลือบแคลงสงสัย" นายอำนวยกล่าว
@ ไม่เห็นด้วยตั้งศาลเลือกตั้ง
นายอำนวยกล่าวถึงข้อเสนอ กกต.ให้ตั้งศาลเลือกตั้งว่า ไม่เห็นด้วย ควรให้ศาลแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ควรเพิ่มองค์กรขึ้นอีกเพราะจะเป็นภาระแก่รัฐบาล ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญยังเชื่อว่ารูปแบบจะไม่ต่างจากเดิมเพราะมีกรอบของมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกในอนาคต
"ส่วนการกำหนดนโยบายที่พยายามสกัดประชานิยมมองว่าคิดผิด เพราะทุกรัฐบาลต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข อย่ามองว่าประชานิยมเป็นการมอมเมาประชาชนเพราะเรื่องนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชน ขอให้ยึดโยงประชาชน อย่าไปยึดสิทธิของประชาชนมากเกินไป ขอให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตัวเองให้เต็มที่เพื่อความสุขของประชาชน" นายอำนวยกล่าว
@ นิกรเผยเคาะสูตรปฏิรูป 19 ต.ค.
นายนิกร จำนง สปท. กล่าวถึงกรณีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 ระบุกรอบการทำงานของ สปท.ว่า จะใช้สูตร 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือน กำหนดไว้ 3 ระยะ ว่า วันที่ 19 ตุลาคม สปท.จะประชุมหารือกรอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนระยะของการปฏิรูปนั้นคิดว่าจำเป็นจะต้องสัมพันธ์กับกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญโดย กรธ.ด้วย ซึ่งตัวข้อบังคับจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเดินหน้า เพราะเป้าหมายการปฏิรูปมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำข้อไหนก่อนหลังตามความเร่งด่วน ส่วนกรอบ 3 ระยะ 20 เดือน คงไม่เพียงพอในการปฏิรูปทุกด้าน แต่อาจทำได้เฉพาะการปฏิรูปในระยะเร่งด่วนก่อน
"เรื่องเร่งด่วนที่ สปท.ต้องทำก่อนคือเรื่องที่ต้องทำเฉพาะในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น อาทิ การปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่รอไม่ได้โดยเฉพาะประเด็นการลงหาเสียง การเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจของฝ่ายการเมือง ซึ่งการปฏิรูปการเมือง สปช.ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เราก็นำบางส่วนมาประยุกต์ และรีบให้กรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมืองสรุปข้อมูลส่งต่อให้ กรธ.พิจารณาโดยด่วน" นายนิกรกล่าว และว่า ข้อควรระวังจากที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธาน สปช. เคยระบุไว้ว่าหากดีไซน์เหมือนการออกกฎหมาย หรือการทำเหมือนสภาธรรมดาไม่ได้เด็ดขาด เพราะหากทำจะติดกับตัวเองทันที เพราะการปฏิรูปไม่ได้เป็นการยกร่างกฎหมาย เรื่องนี้ สปท.ต้องนำมาพิจารณาเพราะนายเทียนฉายคงเห็นปัญหาก่อนแล้ว