WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1กลนท.เดวส 

ต๊อกสางงบ สสส. ถกคตร.-ปปช.-สตง.วันนี้ พท.ชี้'ธานินทร์'เตะสกัด

     'บิ๊กตู่'เตือนเลิกเปิดประเด็นขัดแย้งในสังคม ประเทศกำลังก้าวไปสู่ปรองดอง 'วิษณุ' เผยยังไม่เห็นจดหมาย'ธานินทร์'เสนอตัดสิทธินักการเมืองตลอดชีวิต เพื่อไทยโวยหวังสกัด คนของพรรคไม่ให้ลงเลือกตั้ง 'จ้อน'โดดหนุนตั้งกรรมการปรองดอง ลั่นจะทำให้สปท.เป็นสัญลักษณ์-จุดเริ่มต้นการปรองดอง ประกาศโละโควตากรรมาธิการสปท. ให้กรรมการกลั่นกรองเฟ้นคนทำงาน 'บิ๊กต๊อก'ถกหน่วยงานสอบทุจริตวันนี้ เร่งสรุปงบฉาวสสส.ส่งนายกฯ สตง.ลั่น'กฤษดา'แม้ลาออกจากผจก.ก็ต้องรับผิดชอบ จับตาวันนี้ กรรมการสรรหาเคาะ 5 ป.ป.ช. เผยป.ป.ช.นัดชี้ชะตา"ธาริต"ต้นพ.ย.นี้ ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9091 ข่าวสดรายวัน

ทูตมะกัน - นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยภริยา ชิมขนมสาคูไส้หมู ระหว่างตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ในกิจกรรมเฉลิมฉลองวันเด็กหญิงสากล ที่โรงเรียนบ้านดงกระทงยาม จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 18 ต.ค.


'บิ๊กตู่'ติงสื่อเลิกแหย่ให้ตีกัน
    เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อบางฉบับได้นำเสนอข่าวพาดพิงถึงอดีตนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อมโยงกับรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และเคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดของอดีตนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าว ในลักษณะของความโกรธแค้นเพราะถูกเล่นงานตลบหลัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของความขัดแย้งนั้น ขอเรียนว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายเปิดประเด็นความขัดแย้งขึ้นในสังคม เพราะขณะนี้สถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น และกำลังเดินหน้าไปสู่การสร้างความปรองดองและการปฏิรูปตามโรดแม็ปที่วางไว้
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การอ้างถึงคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาล กับบริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนบุคคลต่างๆ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงจะพบว่า ทุกคดีไม่ได้เกิดจากการมุ่งทำลายใคร แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ผิดหรือถูกเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และในหลายคดีทั้งคดีเล็กคดีใหญ่ โดยเฉพาะคดีที่รัฐเป็นโจทก์และจำเลยรวม 12 คดี มูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาทนั้น เกิดขึ้นและมีการฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันตั้งแต่ในอดีต ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ซึ่งทุกคดีล้วนมีกำหนดเวลาของสัญญาหรืออายุความ ดังนั้น คสช. และรัฐบาลปัจจุบันจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้เกิดความชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ยุติธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
      "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และที่สำคัญสื่อมวลชน ควรร่วมกันพิจารณาว่า แนวทางการนำเสนอข่าวแบบใดที่จะสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดองภายในประเทศ และไม่ต้องการให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหยิบประเด็นขึ้นมาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

'วิษณุ'ยันรัฐไม่แตะม.35-คสช.ไม่รู้

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกฯ จัดทำเอกสารเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ให้การร่างรัฐธรรมนูญมีการตัดสิทธินักการเมืองตลอดชีวิต และเสนอจัดตั้งศาลพิเศษระหว่างประเทศเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินนักการเมืองที่ลี้ภัยไปต่างแดน ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องและนายกฯ ยังไม่ได้ส่งข้อเสนอของนายธานินทร์มาให้ตน แต่อาจจะส่งเนื้อหาให้ในเวลาทำงาน ส่วนข้อเสนอของนายธานินทร์ที่เปิดเผยตามสื่อต่างๆ นั้น ตนเห็นข้อมูลแล้วแต่ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะยังไม่ได้รับข้อเสนอดังกล่าว ส่วนข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อกีดกันคนในพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
    นายวิษณุ กล่าวว่า ในวันที่ 28 ต.ค. ที่จะมีการประชุมแม่น้ำ 5 สายที่รัฐสภา จะไม่มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการส่งสัญญาณที่จะพูดกับสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มากกว่า เพราะเป็นสภาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จะยังไม่มีการพูดถึงการแก้ไขมาตรา 35 ของรัฐ ธรรมนูญชั่วคราว อย่างไรก็ตามยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยคิดที่จะแก้ไขมาตรา 35 แต่คสช.จะแก้หรือไม่แก้อย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลใดที่ต้องแก้ไข

เผยมี 40 คดีต้องสะสาง
     ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช ตั้งข้อสังเกต กรณีรื้อฟื้น 12 คดีของรัฐบาล แต่กลับไม่มีการรื้อคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นายวิษณุกล่าวว่า 12 คดีเป็นเรื่องที่รัฐเป็นทั้งจำเลยและโจทก์ในการฟ้อง ส่วนเรื่องปรส.ไม่ทราบอยู่ที่ใด ยังไม่มีเรื่องโผล่เข้ามาที่รัฐบาล ข้อสำคัญ 12 คดี เป็นคดีแพ่งไม่มีคดีอาญา
     "คดีทางแพ่งไม่ได้มีอยู่แค่ 12 แต่ 12 คดีที่ว่าเป็นคดีสำคัญที่มีเรื่องมีราวในขณะนี้กำลังฟ้องร้องกันจะแพ้จะชนะ หรือจะเดินหน้าจะถอยหลัง แต่คดีอื่นๆ ที่สำคัญ ผมเคยชี้แจงในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาว่า มีอีก 40 คดี อย่างคดีรถดับเพลิง อะไรต่อมิอะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงวาระที่จะรายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะครม.เขาอยากรู้คดีที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินหรือจะได้เงินตรงนี้มากกว่า" นายวิษณุ กล่าว
      นายวิษณุกล่าวว่า ส่วน 40 คดีที่เหลืออยู่ จะรายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบ เพื่อดำเนินการในช่วงไหนอย่างไรนั้น ยังไม่ทราบ เมื่อถามว่า ใน 40 คดีที่ยังไม่รื้อฟื้นมีคดีปรส.อยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ จำไม่ได้ แต่ 40 คดีน่าจะครอบคลุมหมดแล้ว หากค้นเจอจะบอกให้ทราบอีกทีว่ามีคดีปรส.ด้วยหรือไม่ ไม่ได้ลึกลับอะไร

'วรชัย'โวยธานินทร์สกัดพท.

     นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เอกสารที่ นายธานินทร์ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์นั้น มีการระบุถึงนักการเมืองที่โกง ไม่ควรกลับเข้ามาเกี่ยวข้องในทางการเมืองอีก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็รับลูก โดยบอกว่าจะส่งต่อให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาก่อนที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)พิจารณาต่อไปนั้น อยากถามว่านายธานินทร์กำลังส่งสัญญาณให้ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกีดกันคนของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ลงเลือกตั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาว่าโกง ว่าทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด อย่างล่าสุดในคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงอีก ทั้งที่เป็นนโยบายช่วยเหลือชาวนา ที่สำคัญยังไม่มีการตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดเลย แต่รัฐบาลก็มีความพยายามจะออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีก ถือเป็นการดิสเครดิตกันทางการเมืองหรือไม่
     "ส่วนที่นายธานินทร์ระบุว่ามีคนที่โกงแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้น อยากถามนายธานินทร์ว่าพูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ เพียงแค่อดีตนายกฯ เซ็นให้ภริยาไปซื้อที่ดิน แบบนี้เรียกโกงตรงไหน แล้วคดีประกันราคาข้าว คดีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะ คดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก หรือแม้แต่โครงการจัดซื้อจีที 200 เรียกว่าอะไร มาตรฐานการตรวจสอบอยู่ตรงไหนถึงจะบอกได้ว่าใครผิด ใครถูก ใครโกงหรือไม่โกง" นายวรชัยกล่าว

รธน.สากลต้องมี 5 เสาหลัก
     นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ยินทั้งผู้มีอำนาจและกรธ.ระบุว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลนั้น ถ้าทำได้จริงจะมีผลดีต่ออนาคตของประเทศ รัฐธรรมนูญที่เป็นสากลต้องเคารพและตั้งอยู่บนอย่างน้อย 5 เสาหลักคือ 1.หลักการประชาธิปไตยที่เคารพการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศ 2.หลักการเคารพเสรีภาพพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสากล 3.หลักการถ่วงดุลระหว่างสามอำนาจคือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ 4.หลักนิติธรรม และ 5.หลักการที่รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขได้ เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของประเทศ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่สะท้อนหลักการต่างๆ ข้างต้นไว้ น่าจะได้รับการยอมรับและมีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง และจะไม่เสียของ โดยเฉพาะถ้ามีหลักนิติธรรมก็จะเกิดความยุติธรรม เมื่อมีความยุติธรรมจะนำสู่ความปรองดอง

    "ตัวอย่างของการยึดหลักนิติธรรมในทางปฏิบัติ เช่น การดำเนินคดีต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือชาวบ้าน ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็น ผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด ต้องมีสิทธิ์ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต้องไม่มีการชี้นำสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมต่อทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ และต้องใช้กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ คนไทยสามารถร่วมกันทำให้หลักนิติธรรมเกิดขึ้นได้ และจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย" นายนพดลกล่าว

ยุกรธ.ยุบป.ป.ช.ส่วนกลาง
      นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่องค์กรอิสระขอเพิ่มอำนาจให้องค์กรตัวเองว่า ไม่เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาอำนาจทั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)มีมากเกินควรและมีอำนาจเต็มที่แล้ว ขณะเดียวกันอยากให้มีเพียง ป.ป.ช.ระดับจังหวัด ส่วนกลางให้ยุบทิ้ง ปัจจุบันมีหมื่นคดีอยู่ใน ป.ป.ช.ส่วนกลาง แต่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ บางคดีปล่อยปละละเลยให้หมดอายุความ จึงควรกระจายงานให้ ป.ป.ช.แต่ละจังหวัดเพื่อความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ไม่คั่งค้าง และให้ศาลแต่ละจังหวัดเป็นผู้ตัดสิน
    ขณะเดียวกัน อยากให้มีองค์กรตรวจสอบ ป.ป.ช. ว่าทำหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้ข้าราชการระดับซี 3 ขึ้นไปทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และป.ป.ช.เองต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย ทั้งแม่ทัพนายกอง ทุกคนต้องโปร่งใส ไม่ใช่ตรวจสอบแต่คนอื่น ว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี การทำเช่นนี้จะทำให้สังคมไม่เกิดความเคลือบแคลงสงสัย
     นายอำนวย กล่าวอีกว่า ส่วนแนวคิดที่จะให้ตั้งศาลเลือกตั้งนั้น ตนไม่เห็นด้วย ไม่ควรเพิ่มองค์กรขึ้นอีกเพราะจะเป็นภาระแก่รัฐบาล ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญยังเชื่อว่ารูปแบบจะไม่ต่างจากเดิมเพราะมีกรอบของมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกในอนาคต

'จ้อน'แจงสูตร 1+1+18

    นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงสูตรการทำงานของ สปท. 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือน ว่า ระยะแรก 1 เดือนนับจากวันที่ 19 ต.ค.เป็นต้นไป คือการยกร่างกลไก ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม และตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ซึ่งจะใช้เวลา 1 เดือน โดยในวันที่ 20 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. จะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง ก่อนนำข้อสรุปเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 28 ต.ค. นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ต.ค. จะมีการเปิดศูนย์สื่อสาร สปท. ที่รัฐสภา เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ส่งวิธีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

     ส่วนระยะที่ 2 สปท.จะใช้เวลา 1 เดือน กลั่นกรอง 37 วาระการปฏิรูป และ 8 วาระการพัฒนา ของ สปช. เพื่อจัดลำดับความสำคัญ ก่อนจะใช้เวลา 18 เดือน ดำเนินการสรุปวิธีการปฏิรูปทั้งหมดส่งให้ครม.ต่อไป ขณะที่การร่างกฎหมายจะส่งต่อไปยังสนช.


พักผ่อน - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยด.ช. ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ ลูกชาย เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนที่โรงแรมย่านเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีประชาชนขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

ชูกก.ปรองดอง-โละโควตากมธ.

    นายอลงกรณ์ กล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองว่า ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการประชุมที่จะร่างขึ้นและนโยบายของ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. แต่จากการหารือร่วมกันระหว่างประธาน และรองประธาน เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดอง สานต่อแนวทางของคณะกรรมการชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้ทำไว้ มั่นใจว่า จะสามารถควบคุมบรรยากาศการประชุม สปท.ได้ แม้ว่าส่วนประกอบของ สปท.จะมีทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้งร่วมด้วย โดยจะทำให้ สปท.เป็นสัญลักษณ์ และจุดเริ่มต้นของการปรองดอง
     "ยอมรับว่า อาจเป็นเรื่องลำบากที่จะประสานแนวคิดทุกกลุ่มให้เป็นเอกภาพ แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยนอกรอบระหว่างสมาชิกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สปท.จะไม่มีการจัดสรรโควตาในตำแหน่งประธานและรองประธานแต่ละคณะกรรมาธิการ(กมธ.) อย่างเด็ดขาด เพราะทุกตำแหน่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมเข้าทำหน้าที่ ซึ่งจะไม่เหมือนกับสภาการเมือง ดังนั้นขอให้ลืมรูปแบบเดิมเรื่องการจับจองโควตา"นายอลงกรณ์กล่าว

หวังรัฐไม่แทรกแซงสื่อ
     เมื่อเวลา 13.30 น. ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาวิชาชีพหนังสือ พิมพ์ภูมิภาคแห่งชาติ (สนภช.) จัดงานเสวนาหัวข้อ นักหนังสือพิมพ์ควรหวังอะไรในรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีนายจรัส สุวรรณมาลา อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.
    นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับแม่น้ำ 5 สาย เพราะสื่อมวลชนเปรียบเสมือนโซ่เชื่อมกลางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ระหว่างการแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย แบ่งพรรค แบ่งพวก ด้วยความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะต้องแก้ไขระบบการเมือง ซึ่งประการแรกที่จะต้องแก้ไข คือ รัฐธรรมนูญ ต่อมาต้องแก้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และแก้ระบบการปฏิรูปประเทศ ส่วน 3 วาระที่จะปฏิรูปสื่อมวลชน คือ สิทธิเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบของสื่อ การแทรกแซงสื่อจากภาครัฐและภาคเอกชน และการกำกับดูแลสื่อ
      ทำไมหัวหน้าคสช. ถึงย้ำว่าให้การรัฐ ประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อไม่มีทางออกประเทศจึงมีการกลียุค เริ่มได้กลิ่นคาวเลือดไม่ต้องการรัฐ แต่ในที่สุดก็เกิดขึ้น แต่หัวหน้า คสช. พูดชัดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายสู่ประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งดัชนีชี้วัดในการประชา ธิปไตยคือ เสรีภาพของสื่อ ซึ่งคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคงมีสิทธิของสื่อมวล ชนไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น

'บิ๊กต๊อก'ถกงบฉาวสสส.
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นัดประชุม ศอตช. ในวันที่ 19 ต.ค. โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาชี้แจงข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า เป็นอย่างไรบ้าง พบการกระทำผิดตรงไหน หรือไม่ อย่างไร เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้วจะให้ตัวแทนของ สสส. เข้ามาชี้แจง และเมื่อได้ข้อยุติแล้วจะส่งเรื่องให้นายกฯ พิจารณาต่อไป
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 09.30 น. ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สตง.เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสสส. กรณีการให้เงินสนับสนุนแก่สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินของ สสส. โดยอยากชี้ให้เห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งระบุว่า สสส.ให้เงินแก่สำนักข่าวอิศรากว่า 100 ล้านบาท ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากข่าวที่สำนักข่าวอิศราลงในเว็บไซต์ของตนเอง
     "สำนักข่าวอิศราระบุว่าได้นำเงินไปจัดกิจกรรมอบรมนักข่าวรุ่นต่างๆ ทั้งได้คืนไปบางส่วนที่เหลือ และมีผู้ตรวจสอบบัญชีมาตรวจเช็กตามขั้นตอน ผมจึงอยากให้สำนัก ข่าวอิศราเปิดเผยบัญชีต่างๆ นั้น นอกจากนี้เมื่อมีข่าวออกมาว่าเกิดปัญหา สตง.ควรเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อความกระจ่าง" นายเรืองไกรกล่าว

สตง.รับลูกเร่งลุยสอบ
      นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสตง. กล่าวว่า จากการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส.ที่ผ่านมา จะดูที่กฎหมาย ดูที่วัตถุประสงค์เป็นหลัก ซึ่งพบหลายโครงการใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่น สนับ สนุนการจัดงานครบรอบวันสำคัญของบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการด้านรัฐศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ งานสาธารณสุขเลย เรื่องนี้ได้นำเรียนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปอยู่
      ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเรียกเงินคืน นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ที่จ่ายไปแล้วอาจจะเรียกคืนไม่ได้ แต่คนจ่ายต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นจะจ้างมาเป็นผู้จัดการ สสส. ทำไม และถึงแม้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ จะลาออกจากผู้จัดการ สสส.ไปแล้ว ก็จำเป็นต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป ต้องดูว่าจะผิดอาญา หรือแพ่ง และต้องดูว่ากรณีดังกล่าวดำเนินการคนเดียว หรือดำเนินการในระบบองค์กรกลุ่ม ถ้าเป็นมติบอร์ดก็ต้องรับผิดชอบทั้งคณะ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ปล่อยให้ช้า เพราะคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) กำลังสรุป และพล.อ.ไพบูลย์ เรียกประชุมคู่ขนานด้วย

ป.ป.ช.ชี้ชะตา"ธาริต"ต้นพ.ย.
     วันเดียวกัน นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีกล่าวหานายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่ำรวยผิดปกติ ว่า ภายหลังคณะอนุกรรมการไต่สวนได้อายัดทรัพย์สินของนายธาริตไปเมื่อเดือน เม.ย.2558 มูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งนายธาริตได้ขอต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม โดยมีการฟ้องศาลอาญาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน แต่ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องไปแล้ว และศาลอุทธรณ์เตรียมจะพิจารณาอยู่ นอกจากนี้นายธาริตยังฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 100 ล้านบาท ด้วย อย่างไรก็ดีในต้นเดือน พ.ย.2558 ป.ป.ช.จะสรุปสำนวนคดีนี้ให้เสร็จสิ้น และดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป
  นายปรีชา กล่าวว่า ส่วนกรณีกล่าวหาทางอาญานายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม กรณีร่ำรวยผิดปกติ เนื่องมาจากกระทำผิดหรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่นั้น ตอนนี้คืบหน้าไปประมาณ 90% สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ในเร็วๆ นี้

ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีของ นายธาริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ จึงได้มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของนายธาริต และนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ คู่สมรส ไว้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้แก่ เงินฝาก ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ รวมมูลค่า 40,954,720 บาท
      ส่วนกรณีนายสุพจน์ คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. กรณีกล่าวหานายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จนั้น ต่อมามีการไต่สวนความผิดในทางอาญาด้วย เนื่องจากกรณีที่นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกตินั้นมาจากกระทำผิด หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หรือไม่

'วิลาศ'ปูดปมเด้ง'จเร'
      ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงกรณีคสช. มีคำสั่งให้ นายจเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่า มีหลายคนมาถามตนว่าเหตุใดจึงมีการปลดนายจเร ซึ่งตนเคยร้องเรียนให้มีการตรวจสอบนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีใช้จ่ายงบประมาณ แต่ผ่านไป 6 เดือน ไม่มีความคืบหน้า ตนจึงประสานไปยังนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หลังจากนั้นจึงมีคำสั่งให้นายจเร รายงานผลการทุจริตในสภาทุกเดือน และที่ผ่านมาตนไปขอเอกสารที่จะมาช่วยตรวจสอบ ก็ได้รับความร่วมมือบ้าง และไม่ได้รับความร่วมมือ
     นายวิลาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้าราชการสภาร้องเรียนนายจเรจำนวนมาก อาทิ กรณีนางอรวรรณ พันธุ์เปรื่อง ภรรยานายจเร ที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการรัฐสภาสามัญ ในตำแหน่งนิติกร ให้เป็นนักกฎหมายนิติบัญญัติ ในปีงบประมาณ 2556-57 ซึ่งมีการอบรม 60 ครั้ง น่าสงสัยว่านาง อรวรรณจะให้คนอื่นเซ็นชื่อเข้าอบรมแทน 29 ครั้ง ปล่อยชื่อว่าง 7 ครั้ง โดยมีการเซ็นชื่อเข้าอบรมด้วยตนเองเพียง 14 ครั้ง และที่ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเซ็นชื่ออีก 10 ครั้ง เท่ากับว่ามาอบรมไม่เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งตนเคยไปร้องเรียนต่อป.ป.ช. เนื่องจากส่อว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ และยังได้ทำหนังสือถึงนายจเร เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและพิจารณาลงโทษด้วย

จับตาขรก.สภาแต่งดำวันนี้
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายนายจเร ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายนัฑ ผาสุข ที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มาเป็นเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรนั้น ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข้าราชการฝั่งสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรบางส่วนไม่เห็นด้วย
     นอกจากนี้ ยังส่งข้อความผ่านทาง แอพพลิเคชั่นไลน์ไปในหมู่ข้าราชการด้วยกัน นัดให้แต่งกายชุดดำมาทำงานในวันจันทร์ที่ 19 ต.ค.นี้ เนื่องจากไม่พอใจที่มีการแต่งตั้งคนจากทางฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แทนที่จะให้ลูกหม้อของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ประกอบกับนายนัฑยังมีอายุราชการยาวถึง 7 ปี ซึ่งจะเกษียณอายุในปี 2564 ทำให้ปิดทางเติบโตของคนของสำนักงานสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!