- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 18 October 2015 19:05
- Hits: 3079
ไม่ตามใจองค์กรอิสระ กรธ.เบรก ขอคุมรบ.-เพิ่มอำนาจ บิ๊กตู่ส่งจม.องคมนตรี ให้มีชัย-กรรมการร่าง จ้อนเปิดสูตร 1+1+18 ห่วงสปท.ตั้งกมธ.เฟ้อ
'นัฑ'โต้ข้ามห้วยนั่งเลขาฯสภา แจงสังกัดเดียวกันแต่คนละหน่วยงาน ขอความเห็นใจ ขรก.ที่ต้องทำงานหนักกว่าเก่า
มติชนออนไลน์ :
@'จ้อน'เปิดกรอบสปท.20 เดือน
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรอบการทำงานของ สปท.ว่า จะใช้สูตร 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือน โดยกำหนดไว้ 3 ระยะ คือ 1.ยกร่างสร้างกลไก ได้แก่ การยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปชุดต่างๆ ใช้เวลา 1 เดือน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า 2.ระยะการกรองกลั่นข้อเสนอ เป็นการนำ 37 วาระการปฏิรูปของ สปช.มาพิจารณาและวิเคราะห์ให้รอบคอบ รวดเร็ว จะเสร็จประมาณกลางเดือนธันวาคม และ 3.ระยะการนำเสนอรายงานการปฏิรูปต่อที่ประชุม สปท. เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหากเป็นร่างกฎหมายจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา จะใช้เวลา 18 เดือน คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งแนวทางปฏิรูปให้รัฐบาลได้กลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้รัฐบาลประกาศเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
@ ตั้งกมธ.ปฏิรูปไม่เกิน13 คณะ
นายอลงกรณ์กล่าวว่า วันที่ 19 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุม สปท.เพื่อตั้ง กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. จากนั้นจะตั้ง กมธ.ปฏิรูปฯ 11 ด้าน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ ทั้งนี้ เห็นว่าไม่ควรจัดตั้ง กมธ.ปฏิรูปเกิน 13 ด้าน เพราะการทำงานของ กมธ.ปฏิรูปฯแต่ละคณะต้องกระชับ รวดเร็ว และต่อยอดการทำงานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนรูปแบบการบริหารงานนั้น จะต้องไม่เหมือน สปช.เพราะมีภารกิจแตกต่างกัน ขณะที่วันที่ 20 ตุลาคม เวลา 09.00 น. จะเปิดศูนย์สื่อสาร สปท. ที่รัฐสภา เพื่อเปิดกว้างช่องทางการสื่อสารระหว่าง สปท.และประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม
"การตั้งชมรม สปช.นั้น ยังคงมีอยู่ เพื่อทำงานเป็นฝ่ายสนับสนุน ส่งเสริม สปท.รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคี องค์กรต่างๆ เดินหน้าสู่การปฏิรูป คาดว่าอาจจะดึงอดีต สปช.บางส่วนเข้ามาช่วยงานใน กมธ.ปฏิรูปฯ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับข้อบังคับการประชุมด้วย" นายอลงกรณ์กล่าว
@ "เสธ.อู้"เล็งยกร่างข้อบังคับ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท.กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท.จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านข้อบังคับ โดยส่วนตัวก็มีความสนใจเรื่องนี้ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมที่จะพิจารณาเลือก กมธ.ชุดดังกล่าวอย่างไร คาดว่าจะใช้เวลายกร่างข้อบังคับการประชุม 2-3 สัปดาห์โดยประมาณ จากนั้นจึงเข้าสู่ที่ประชุม สปท. เพื่อให้สมาชิกพิจารณาให้ความเห็นชอบ ข้อบังคับการประชุมจะบอกว่าจะต้องมี กมธ.กี่ชุดที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท.กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปฯ 11 ด้าน ด้านที่ 11 เป็นด้านอื่นๆ ต้องตกลงกับสมาชิกอีกครั้งว่า จะจัดตั้งเพิ่มหรือไม่ โดยส่วนตัวคาดว่า ถ้าเพิ่มอาจจะตั้งเป็น กมธ.กีฬา หรือ กมธ.ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่อยากให้สมาชิก สปท. 1 คน เป็น กมธ.ถึง 2 คณะ เพราะเคยมีบทเรียนจาก สปช.แล้ว แต่ต้องดูร่างข้อบังคับการประชุมอีกครั้ง ส่วนตำแหน่งประธาน กมธ.ปฏิรูปนั้น ยังไม่มีการพูดคุยกันว่าจะวางใครทำหน้าที่นี้บ้าง
@ "ฐิติวัจน์"สนกมธ.ปฏิรูปการเมือง
พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิก สปท. กล่าวว่า แนวทางการทำงานของ สปท.ที่มีอยู่เกือบ 2 ปี จะต้องขับเคลื่อนไปตามโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยการทำงานของ สปท.จะยึดตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยกรอบการปฏิรูป 11 ด้าน โดยส่วนตัวสนใจเข้าร่วม กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วตอนเป็น สปช. แต่ไม่สนใจที่จะเป็นประธาน เนื่องจากเป็นทหาร ภาพที่ออกมาจะไม่ดี
@ "วิทยา"รอรับนโยบายแม่น้ำ5สาย
นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท. กล่าวว่า แนวทางที่เคยเสนอให้ สปท.จัดสัมมนาเพื่อทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการทำงานนั้น คงต้องรอฟังทิศทางจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในการประชุมเเม่น้ำ 5 สาย วันที่ 28 ตุลาคมนี้ก่อนว่านายกฯจะมอบหมายให้ สปท.มีหน้าที่ใดบ้าง ถ้ามีเรื่องสำคัญที่ สปท.ควรนำมาหารืออย่างกว้างขวางก็ควรจัดสัมมนา วาระปฏิรูปที่ สปช.ส่งต่อมานั้น ถ้าไม่คัดกรองเรื่องปฏิรูปเร่งด่วนหัวกะทิมาทำก่อน แต่ตั้ง กมธ.มาศึกษาเรื่องทั้งหมดเกรงว่า จะไม่ทันเวลา สูญเปล่า เปลืองภาษีประชาชน
"ในความรู้สึกผม ถ้า สปท.จะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ ต้องลงสนามจริงเพื่อเรียนรู้กลโกงการเลือกตั้งก่อน รัฐบาลอาจจะมีส่วนช่วยโดยอาจจะเลือกเปิดสนามเลือกตั้งของเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เคยมีปัญหาค้างอยู่ขึ้นมา เพื่อให้ สปท.ทั้ง 200 คน ได้ลงสนามจริงไปหาวิธีกำจัดการทุจริตเลือกตั้งจะทำอย่างไร" นายวิทยากล่าว และว่า ยืนยันว่า สปท.ต้องไม่เป็นสภารีโมต ถ้าทำงานตามโรดเเมปที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัดแบบนี้ ไม่เรียกถูกกดรีโมต แต่หากกรอบการทำงานคือ การป้องกันคนโกงทุจริต ไม่ให้ลงสนามเลือกตั้ง แต่บังเอิญเรื่องดังกล่าวไปกระทบใครบางคน จน สปท.ยอมถูกกดรีโมตคอนโทรลช่วยพวกพ้องตัวเอง แบบนี้คงไม่ใช่ ตนก็ไม่เอาด้วยแน่ๆ
@ กรธ.ขอความเห็นภาคเอกชน
นายอุดม รัฐอมฤต คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ กรธ.เชิญมาให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า สิ่งที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสนอความเห็นที่ตรงกันคือ กระบวนการที่คำวินิจฉัยหรือข้อเสนอแนะควรได้รับการปฏิบัติจากองค์กร หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ทางองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอตัวขอมีอำนาจตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองหรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น กรธ.ได้แสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนความเห็นในด้านต่างๆ ที่สำคัญยังเห็นว่าการดำเนินนโยบายของฝ่ายการเมืองที่มีหน้าที่นำเสนอแนวคิดให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือก จะบังคับหรือกำกับไม่ได้ แต่การตรวจสอบนั้น หน้าที่ขององค์กรอิสระที่มีบทบาทต่างกัน ดังนั้น กรธ.มีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากองค์กรเอกชนเพื่อให้สะท้อนมุมมองของการดำเนินนโยบายรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาด้วย
@ "อมร"ยันไม่ตามใจองค์กรอิสระ
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า หลังจากได้รับความเห็นจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทาง กรธ.จะประมวลผลแล้วสรุปข้อเสนอแนะขององค์กรต่างๆ แต่จะไม่ตามใจทุกองค์กรที่ส่วนใหญ่จะเสนอเพิ่มอำนาจขององค์กร ถ้าไปตามใจทุกองค์กรก็ไม่มีจุดจบ ไม่ใช่ว่าใครขออะไรมาจะทำตามทุกเรื่อง กรธ.ต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 เป็นตัวตั้ง รวมทั้งประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อน ดังนั้น ขอให้ทุกคนไม่ต้องกังวล นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. รู้ดีว่าเรื่องใดควรเพิ่ม เรื่องใดไม่ควรเพิ่ม
นายอมร กล่าวว่า ต่อจากนี้จะเชิญภาคส่วนใดมาให้ความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเวลา แต่เราเองมีเครือข่ายในการรับฟังความคิดเห็นช่วยงานอยู่แล้ว หรือหากใคร พรรคการเมืองหรือภาคเอกชนใดๆ ต้องการเสนอความคิดเห็นก็ส่งมาให้ได้เลย กรธ.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องฟังความเห็นจากแม่น้ำทุกสายด้วย
@ ระบุมาตรา 35 เป็นตัวช่วย
"สัปดาห์หน้า กรธ.จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งกระบวนการทำงานของ กรธ.ถือว่าเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ โดยตลอดการทำงานของ กรธ.มา 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจมาก สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีเป้าหมายเดียวกันคือทำงานเพื่อประโยชน์ของชาติ" นายอมรกล่าว
นายอมรกล่าวว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ต้องร่างตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 นั้นจะทำให้การทำงานของ กรธ.มีทิศทาง เหมือนเวลาสร้างบ้าน หากไม่มีแบบโครงสร้างมาก็ไม่รู้จะสร้างออกมาเป็นทรงอย่างไร ดังนั้นมาตรา 35 นี้ถือเป็นตัวช่วยมากกว่าอุปสรรค และขอยืนยันว่าการทำงานของ กรธ.ไม่ได้ขาดอิสระ ทุกคนสามารถมีความคิดเห็น แต่การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบที่กำหนดเท่านั้นเอง
@ ยันตรงไปตรงมา-ไม่ยัดไส้
นายอมร กล่าวว่า ส่วนที่หลายคนมีความกังวลว่าการร่างรัฐธรรมนูญนี้ กรธ.อาจจะฝังเรื่องร้อนๆ หรือสอดไส้อะไรลงไปเหมือนร่างที่ผ่านมา เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เรื่องนี้ขอให้ทุกคนไม่ต้องกังวล เพราะ กรธ.มีคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ก่อนจะเลือกอะไรมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญต้องมั่นใจว่าจะได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องสำรวจความเห็น ก่อนที่ประชุม กรธ.จะตัดสินใจ พิจารณากันอย่างรอบคอบ ยืนยันว่าการทำงานของ กรธ.ตรงไปตรงมา ไม่มีการแอบแฝงหรือไปยัดไส้อะไร
@ เชิญ"สมบัติ"แจงที่มานายกฯ
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร กล่าวว่า ในการประชุมอนุกรรมการได้วางกรอบการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหาร เช่น ที่มาของนายกฯ คุณสมบัติของนายกฯ โดยเชิญผู้ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ทั้งนี้ เพื่อประหยัดเวลาการศึกษาข้อมูลของอนุกรรมการ อย่างไรก็ตาม ในแนวทางศึกษาของอนุกรรมการจะไม่ใช่การหาข้อสรุปเพื่อนำมาเขียนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งผลดี ผลเสีย และข้อมูลของต่างประเทศที่บังคับ
"เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้เสนอข้อมูลว่าฝ่ายนิติบัญญัติควรแยกจากฝ่ายบริหาร โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ที่ประเทศไทยใช้ระบบให้นายกฯเลือกรัฐมนตรีในคณะ แต่ของต่างประเทศกลับพบว่าบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์หรือถามความเห็นประชาชนก่อน โดยกรณีนี้อาจทำให้แก้ปัญหาเช่น รัฐมนตรีทำผิด หรือการบริหารที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดที่ได้ศึกษาจะรวบรวมให้ที่ประชุม กรธ.พิจารณาเพื่อนำข้อมูลถกเถียงและแลกเปลี่ยนความเห็น (ดีเบต) ให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง" นายนรชิตกล่าว
@ "ปึ้ง"ฝากร่างรธน.ที่เป็นสากล
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ออกมาเรียกร้องให้สหภาพรัฐสภาติดตามและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุม การข่มขู่คุกคามและการดำเนินคดีกับอดีตสมาชิกรัฐสภาและผู้แสดงความคิดเห็นอย่างสงบ รวมทั้งให้ไทยยกเลิกการใช้อำนาจที่นำไปสู่การจำกัดสิทธิมนุษยชนโดยพลการ ว่าอยากจะขอให้รัฐบาลได้ใส่ใจในเรื่องนี้ให้มาก เพราะการเรียกร้องนี้ตรงกับข้อเรียกร้องที่รัฐสภายุโรปได้ออกแถลงการณ์
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน จะเห็นได้เลยว่าโลกเฝ้าติดตามไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกรณีสหรัฐขอให้ไทยรีบคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว
"อยากฝากถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.และ กรธ.ทุกท่านว่า การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สากลยอมรับและต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติจากประชาชนแบบปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการปฏิรูปบ้านเมือง โดยเฉพาะแม่น้ำ 5 สายต้องทำทุกอย่างโดยยึดหลักคุณธรรม ตรงไปตรงมา นิติรัฐและนิติธรรม โปร่งใส ไม่มีวาระซ่อนเร้น" นายสุรพงษ์กล่าว
@ "นัฑ"ปัดย้ายข้ามห้วยนั่ง
นายนัฑ ผาสุข ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แทนนายจเร พันธุ์เปรื่อง ที่ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กล่าวว่า เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อมีคำสั่งจากเบื้องบนก็ต้องทำตาม
"ที่มีการวิจารณ์ว่าย้ายข้ามห้วยนั้น หากพิจารณาตามกฎหมายข้าราชการรัฐสภาจะพบว่าไม่จริง เพราะผมคือข้าราชการสามัญรัฐสภา สังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เช่นเดียวกับนายจเรที่เป็นข้าราชการสามัญรัฐสภาเหมือนกัน แต่สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร การย้ายครั้งนี้คือการย้ายภายในของข้าราชการสามัญรัฐสภาจากสำนักหนึ่งมายังสำนักหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่การย้ายข้ามห้วย ซึ่งที่ผ่านมามีอยู่ 2 ครั้ง ที่มีการโยกย้ายข้ามห้วยคือ เอาบุคคลจากหน่วยงานอื่นนอกรัฐสภามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ" นายนัฑกล่าว
@ ไม่สนขรก.ขู่แต่งดำต้าน
เมื่อถามถึงกระแสข้าราชการนัดหมายแต่งชุดดำเพื่อแสดงความไม่พอใจในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ นายนัฑกล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าข้าราชการจะมีความเห็นอย่างไรกับการแต่งตั้งครั้งนี้ และคงไปห้ามอะไรไม่ได้ แต่การแสดงออกทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบข้าราชการรัฐสภาที่กำหนดไว้ ส่วนประเด็นเรื่องอายุราชการของตนที่เหลือ 6 ปี จะทำให้ลูกหม้อของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เติบโตนั้นมองว่าไม่ใช่ประเด็น เป็นคนละเรื่องกัน
"ผมไม่ได้แต่งตั้งตัวเองขึ้นมา และอยากให้รู้ว่าการมาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช่จะมีความสุขสบาย กลับกันนี่คือภารกิจที่หนักใจที่สุดสำหรับผม เนื่องจากจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่คืบหน้า ทั้งเรื่องการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ตลอดจนการเดินหน้าตรวจสอบการทุจริตที่ยังล่าช้า ผมไม่อยากได้รับการแสดงความยินดี แต่อยากขอกำลังใจเท่านั้น" นายนัฑกล่าว
@ "บิ๊กตู่"อ่านจม."องคมนตรี"
กรณีวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ได้ทำจดหมายส่วนตัวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.โดยระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีประสิทธิภาพ เพราะได้ให้โอกาสกับนักการเมืองที่เคยกระทำความผิดในตำแหน่งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งหลังพ้นกำหนด 5 ปี โดยไม่ควรให้โอกาสคนเหล่านี้กลับมากระทำผิดอีก ไม่ว่าจะเคยประกอบคุณงามความดีมากน้อยเพียงใดก็ตาม และหนุนให้มีการปฏิรูปเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เรียกร้องทรัพย์สินคืน เพื่อไม่ให้คนทุจริตหนีไปใช้ชีวิตต่างประเทศพร้อมทรัพย์สินที่กอบโกยไปนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับและเห็นเอกสารนายธานินทร์ที่เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมส่งข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้ให้ฝ่ายกฎหมายดูก่อนที่จะส่งให้ กรธ.ต่อไป
จับตา ศก.-ร่างรธน. มรสุมกลางสมุทร ขวาง'บิ๊กตู่'สู่โรดแมป
หากเปรียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับเรือที่กางใบแล่นออกสู่มหาสมุทรเพื่อมุ่งสู่ที่หมาย
ช่วงเวลานี้ก็เหมือนการล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร
จะหันหัวเรือกลับก็ไกลฝั่งที่จากมา จึงต้องมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางให้ได้
พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศโรดแมปสู่เป้าหมายต่อที่ประชุมสหประชาชาติเอาไว้ว่า จะเลือกตั้งและมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2560
ดังนั้น เข็มทิศของประเทศไทยจึงต้องพุ่งเป้าไปตามนั้น
เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์วางไว้
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เสร็จสิ้นภารกิจที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้
พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. 21 คน และตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. 200 คน
ทั้ง กรธ. และ สปท. เป็นคณะทำงานที่เข้ามาแทนคณะกรรมาธิการยกร่างชุดเก่า และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดเดิม ที่ยุบไปตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ต่อไปงานการเมืองสำคัญ คือ การร่างรัฐธรรมนูญจะอยู่ในมือของ กรธ. ส่วนงานการปฏิรูปประเทศจะอยู่ในมือ สปท.
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้นัดแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวมถึง กรธ. และ สปท. ประชุมร่วมกันวันที่ 28 ตุลาคม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวปฏิบัติ
ปฏิบัติไปสู่เป้าหมายตามโรดแมปที่ประกาศไว้
ดังนั้น ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่บรรลุเป้าหมาย คือ เลือกตั้งในปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้กลไกรัฐบาลนำประเทศไปให้ถึงฝั่ง
ในขณะนี้ปัญหาประเทศที่จำเป็นต้องคลี่คลายลงในตอนนี้คือเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลก มีรายได้จากการส่งออกถึง ร้อยละ 70 ของจีดีพี ต้องเผชิญหน้ากับภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้า
คาดว่าในปี 2559 เศรษฐกิจโลกก็ยังเติบโตค่อนข้างต่ำ ซึ่งมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยแน่
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และทีมงานชุดใหม่ที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีเข้ามา ได้ตระเตรียมรับมือเอาไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน
นายสมคิดชูธงเศรษฐกิจ "2 ขา" ขาหนึ่งคือส่งออก ซึ่งผูกติดกับต่างประเทศ ส่วนอีกขาหนึ่งคือการบริโภคภายใน
ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ตัดสินใจกระตุ้นการบริโภคภายใน
เพียงไม่กี่วันหลังนายสมคิดรับตำแหน่ง โครงการ "ประชารัฐ" ก็ทยอยขับเคลื่อนออกมา
การอัดฉีดเงินไปยังกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้นทันที ตามมาด้วยการอัดฉีดเงินลงไปตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ยังมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ล่าสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็เพิ่งคลอด
1.ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เปิดให้กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในวงเงินสูงลิบ 2.ลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ และลดค่าธรรมเนียมการจำนอง จาก 1 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ และ 3.สามารถนำเงินที่ซื้อบ้านไปขอลดหย่อนภาษีได้
ทั้งนี้จะให้แก่ผู้ที่ไม่เคยมีบ้านมาก่อน และซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท
มาตรการต่างๆ ที่นายสมคิด ผลักดันออกมาแล้ว คาดว่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น
ขณะเดียวกันมีสัญญาณดีจากต่างประเทศ เพราะหลายประเทศที่เคยเมินไทยในช่วงหลังการรัฐประหาร กลับมายื่นไมตรีเตรียมคบค้า
แต่สัญญาณดีดังกล่าวกำลังรอการพิสูจน์ว่า เป็นเพียงท่าทีทางการทูต หรือจะมีความร่วมมือกันจริง
หากสัญญาณดีก่อเกิดเป็นรูปธรรมจริง นายสมคิดและทีมงานอาจเบาแรงลงไปเยอะ
แต่ถ้าไม่ใช่ ไทยก็ต้องหาวิธีรับมือผลกระทบ เพราะเศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังเติบโตค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังมุ่งไปสู่เป้าหมาย การดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้นอย่างคึกคัก การประชุม สปท.ครั้งแรกได้ตัวประธานและรองประธาน สปท. เป็นที่เรียบร้อย
แต่มีสัญญาณบางอย่างที่อาจสร้างความยุ่งยากในอนาคตได้ นั่นคือ การ "ส่งลูก" และ "รับลูก" ระหว่างองค์กรอิสระกับ กรธ.
ทั้งนี้ กรธ. ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้กำหนดเรียกองค์กรอิสระเข้าพบและเปิดทางให้นำเสนอแนวทางการทำงาน
ผลการเข้าพบทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ล้วนมีทิศทางไปทำนองเดียวกัน
นั่นคือการขออำนาจเพิ่ม ขอเวลาการอยู่ในตำแหน่งเพิ่ม
การส่งลูก-รับลูกดังกล่าวสวนทางกับท่าทีของ คสช. ในครั้งแรกหลังจากยึดอำนาจ
เพราะหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีกระแสข่าวจาก คสช.ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะทบทวนบทบาทขององค์กรอิสระ เพราะก่อนหน้านั้นมีอำนาจมากเกินไป และไม่มีใครตรวจสอบ
แต่ข้อเสนอและท่าทีการคล้อยตามของ กรธ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูประหนึ่งว่าจะมอบอำนาจให้องค์กรอิสระเพิ่ม
การคล้อยตามความต้องการขององค์กรอิสระนี่เองที่อาจไปสะกิดความรู้สึกของผู้ที่กำลังเฝ้ามองการร่างรัฐธรรมนูญ
อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้ร่างรัฐธรรมนูญจาก กรธ. ต้องผ่านการประชามติ
อย่าลืมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานไม่ผ่าน สปช. เพราะหลายคนเกรงว่าเมื่อผ่านไปถึงประชามติประเทศชาติจะวุ่นวาย
ดังนั้น เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ หากไปกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา อาจจะมีปัญหาในช่วงทำประชามติ
การทำประชามติมีปัญหา ย่อมกระทบต่อโรดแมปสู่การเลือกตั้ง
ดังนั้น ณ ห้วงเวลาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังล่องอยู่กลางมหาสมุทร มุ่งหน้าตามโรดแมปสู่เลือกตั้ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญยังมีผลต่อเสถียรภาพของการเมืองไทย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงต้องชูธงนำหน้าประเทศไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ตามที่สัญญา
ส่วนจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด คงต้องติดตามทุกจังหวะก้าว....